ขออนุญาต share เรื่องเทคนิคการเขียนหนังสือนะครับ
ขอบอกก่อนนะครับว่าเป็นประสบการณ์ส่วนตัว ที่คิดว่าใช้แล้ว work ในมุมมองของผมเอง
แต่ถ้าเทียบกับนักเขียนชั้นนำของประเทศหรือนักเขียนชื่อดังทั้งหลาย รวมถึงอาจารย์อาวุโสและผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่าน ผลงานท่านเหล่านั้นอาจจะมากมายกว่าผมนัก และท่านอาจจะมีเทคนิคที่แตกต่างกันไปนะครับ เอาเป็นว่าถือว่าแลกเปลี่ยนกันแล้วกันครับ
ก่อนอื่นขอบอกผลงานก่อนนะครับ ตอนนี้ ผมมีหนังสือรวมทั้งหมด 10 เล่ม เป็นหนังสือในแนว Pocket Book และแนวตำราวิชาการ รวมถึงบทความที่ตีพิมพ์ใน International Journal และวารสารวิชาการในประเทศไทย รวม ๆ กันน่าจะใกล้ ๆ 100 บทความครับ
เทคนิคที่ผมใช้มีดังต่อไปนี้ครับ
1. เขียนเรื่องที่ชอบ
อันนี้น่าจะเป็นข้อแรก ๆ เลยครับ ที่จะเป็นแรงผลักดันทำให้เราอยากเขียน ถ้าเขียนเรื่องที่เราไม่ชอบ ยิ่งเขียน ยิ่งเบื่อครับ ผมว่ากว่าจะจบสักเล่ม คงยากลำบากน่าดู แต่พอได้เขียนเรื่องที่ชอบ มัน flow ครับ เขียนไปได้เรื่อย ๆ ไม่รู้สึกเบื่อ
ผมชอบเรื่องการวัดผล การวิเคราะห์ข้อมูล ฟุตบอล การลงทุน 2 เรื่องแรกเป็นเรื่องที่สอนหนังสือด้วย ก็เลยมีตำราวิชาการออกมาเยอะ (แต่ก็เขียนอีก version ที่ทำความเข้าใจง่าย ๆ ) ส่วน 2 เรื่องหลัง เรื่องฟุตบอลกำลังเป็น Project สำหรับงานเขียนของผมครับ ส่วนเรื่องการลงทุนก็เคยเขียนไปแล้ว 2 เล่มครับ
2. เขียนเรื่องที่รู้
อันนี้ก็เป็นอีกอันที่ช่วยให้เราเขียนได้ดีครับ คือยิ่งเรารู้มากเท่าไร มันทำให้การเขียนมันง่ายและค่อนข้างมั่นใจ แต่ถ้าเรารู้เรื่องนั้นน้อยเวลาเขียนมันมักจะติดขัด ไม่แน่ใจไปหมด แต่ส่วนใหญ่ข้อที่ 1 กับข้อนี้ มันมักจะไปด้วยกันครับ คือพอเราชอบ เราก็จะอยากค้นคว้าอยู่กับสิ่งนั้นไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเราก็รู้เองครับ
3. เขียนวันละนิด
ใครที่คิดว่าจะหาเวลาหยุดสัก 3 เดือนมาเขียนหนังสือให้เสร็จ 1 เล่ม ผมว่าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้เขียนหรอกครับ เอาแค่โอกาสจะได้หยุด 3 เดือนรวดมาเขียนหนังสือ ผมว่ายังยากเลย ค่อย ๆ เขียนไปทีละหน้า ถ้าทำได้ทุกวัน ปีหนึ่งก็ได้ 365 หน้า หนังสือเล่มหนึ่งแล้วนะครับ
4. เขียนเค้าโครงหนังสือก่อนที่จะเขียน
ข้อนี้ผมใช้เป็นประจำครับ คือถ้าไม่มีเค้าโครง พอเขียนแล้วมันจะสะเปะสะปะ แล้วบางทีมันซ้ำไปซ้ำมา เทคนิคที่ผมใช้คือผมเขียนจาก PowerPoint ที่ผมใช้สอนนั่นแหละครับ เพราะ PowerPoint ที่ใช้สอน มันถูกปรับและเรียบเรียงมาค่อนข้างดีแล้ว คือผมสอนมาหลายครั้งจนกระทั่งรู้ว่า Flow แบบนี้คนเรียนจะเข้าใจได้ดี พอเขียนหนังสือผมก็ยึดตามนั้นแหละครับ
5. หาคนอ่านงานเขียน
หลายคนอาจจะนึกว่า แหม ใครเขาจะมาอ่านให้ บอกอีกเคล็ดลับให้ครับ Facebook Page หรือ Blog นี่แหละครับ
เป็นเครื่องวัดความสามารถในงานเขียนเราได้เป็นอย่างดีเลยครับ
ทุกวันนี้ ผมเขียนบทความเกือบทุกวันใน Page หรือ Blog ต่าง ๆ มันทำให้เราทราบครับว่า บทความเรื่องใดน่าสนใจ
เรื่องใดน่าเบื่อ ดูจากจำนวน people reached ใน post ทุก post มันเป็นข้อมูลที่ดีมากครับ
พอเราทราบว่าบทความแบบไหนเป็นที่สนใจ ก็พยายามเขียนให้ได้แนวนั้นแหละครับ บทความไหน Post ไปแล้วเงียบ ๆ ก็ลองดูว่าเป็นเพราะอะไร มันจะปรับปรุงงานเขียนเราได้นะครับ
ข้อที่ 5 นี้ ใช้ร่วมกับข้อที่ 3 ได้เลยครับ เรา Post วันละบทความ ปีหนึ่งก็ได้หนังสือเล่มหนึ่งแล้วครับ
6. หาแรงจูงใจในการเขียน
ถึงแม้เราจะเขียนเรื่องที่ชอบหรือเรื่องที่รู้ มันก็อาจจะมีบางช่วงที่มันดูเบื่อ ๆ แล้วอยากจะเลิกเขียน
พยายามหาแรงจูงใจครับ การเขียนใน Facebook Page หรือ Blog ผมก็ว่าเป็นแรงจูงใจที่ดีนะครับ
ส่วนหนึ่งคือมันเหมือนเราเขียนเสร็จปั๊บ มีคนอ่านทันที
ถ้าเขียนใน Word เงียบ ๆ คนเดียวมันก็เหงา ๆ แล้วไม่นานก็เบื่อ แต่ใน Facebook Page หรือ Blog เขียนเสร็จแล้วมีคนอ่าน มีคนถาม มีคนชอบ ผมว่ามันจูงใจดี อีกอย่างจำนวน Like ของ Page หรือคนที่ติดตามใน Blog พอมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มันก็มีกำลังใจในการเขียนเพิ่มขึ้น
Page หลาย ๆ Page จริง ๆ ผมก็เปิดมานานนะครับ แต่ก่อนก็ไม่ได้เขียนทุกวัน ออกแนวเอาข้อมูลจาก Web ต่าง ๆ มา share ซะมากกว่าจำนวน Like ก็แค่หลักร้อยเกือบ ๆ พัน อยู่อย่างนั้นมาตั้งนาน
พอเริ่มเขียนจริง ๆ จัง ๆ จากหลักร้อย ตอนนี้เป็นหลักหลายหมื่น Likes แล้วครับ
ยิ่งอยากเขียนใหญ่ เพราะเหมือนเราได้เขียนให้คนหลายหมื่นคนได้อ่าน(ถึงจะรู้ว่าส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เห็น Post ด้วยซ้ำ แต่เข้าข้างตัวเองไว้ก่อนครับ 5555)
7. เขียนเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน
คือนอกจากเป็นสิ่งที่เราชอบและรู้แล้ว ต้องมองในมุมผู้อ่านด้วยนะครับว่าเขาจะได้ประโยชน์อย่างไร บางทีในบทความเราอาจจะต้องสรุปให้เห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับจากบทความนี้ เอาไปใช้อะไรได้บ้าง
จากประสบการณ์ผมนะครับ ถ้าบทความไหน อ่านแล้วผู้อ่านรู้สึกว่าได้ประโยชน์มาก ๆ บทความนั้นมักจะถูก Like และ Share จำนวนมาก ลองเอามาเป็นตัวอย่างในการเขียนรอบต่อไปครับ
8. เขียนให้เข้าใจง่าย ๆ และน่าสนใจ
ถ้าหลีกเลี่ยงได้อย่าใช้ศัพท์เทคนิคที่ยากเกินความจำเป็น การใช้ตัวอย่างประกอบในการเขียน จะทำให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ตัวอย่างนี่แหละครับ จะเพิ่มความน่าสนใจในงานเขียนของเรา
อ้อ อีกอย่างครับ พยายามเขียนให้สั้นเข้าไว้ (อย่างข้อเขียนนี้ผมก็ว่ายาวไปสักหน่อย) ลองอ่านงานเขียนเราดูครับ
แล้วพยายามตัดคำที่มันฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นออก
ตัวอย่างนะครับ (มีตัวอย่างละ 5555) ผมมักจะติดเขียนคำว่า “ทำการ” เช่น เราจะต้อง “ทำการ” วิเคราะห์ จริง ๆ คำนี้ ตัดออกไปก็ไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปเลย “เราจะต้องวิเคราะห์” ก็ได้ความหมายเหมือนเดิม จริงไหมครับ
อีกนิดครับ ระวังเรื่องตัวสะกด การพิมพ์ต่าง ๆ ด้วยครับ ถ้าเล็กน้อยก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเจอบ่อย ๆ คนอ่านจะพาลเบื่อเอาได้นะครับ
9. อ่านเยอะ ๆ
ผมว่าการอ่านหนังสือมีความสัมพันธ์กับการเขียนหนังสือโดยตรงเลยครับ ยิ่งเราอ่านเยอะเท่าไร เรายิ่งมี Idea ในการเขียนมากเท่านั้น ถ้ารู้สึกว่าไม่รู้จะเขียนอะไรดี ลองกลับมาอ่านหนังสือดูครับ เดี๋ยวก็ได้ Idea มาเขียนครับ
10. อยู่ในกลุ่มนักเขียนหรือคนที่ชอบเขียนหนังสือ
ผมโชคดีที่ในที่ทำงานก็รู้จักกับอาจารย์ที่มีผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง เขียนหนังสือคนละหลาย ๆ เล่ม
และนอกจากนั้นผมยังไปสัมมนา เรียนหนังสือเกี่ยวกับการเขียน นอกจากจะได้ทราบเทคนิคการเขียนใหม่ ๆ แล้ว
ยังรู้จักกลุ่มเพื่อนใหม่ ๆ ที่ชอบในการเขียน พอเห็นคนอื่นเขียน มันก็จะมีแรงจูงใจในการเขียนเพิ่มมากขึ้นครับ
คงประมาณนี้ครับ ถ้าเห็นเป็นประโยชน์จะ share ให้ท่านอื่น ๆ ด้วยก็ยินดีนะครับ 🙂 ขออนุญาตกลับไปเขียนหนังสือต่อละครับ
🙂
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
No comment yet, add your voice below!