ผมเขียนเรื่องนี้มา เพราะเหตุว่าระยะหลัง เริ่มมีอาการแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้ก็เลยคิดว่า จะเขียนอะไรดีนะ ก็ตอบได้ว่า เรื่องนี้แหละ เพราะคิดว่าถ้าเราเป็นคนอื่นอาจจะเป็นเหมือนกัน
อาการ Writer’s Block คืออาการที่เราอยากจะเขียน แต่ไม่รู้จะเขียนอะไร หรืออาจจะไม่อยากเขียน แต่ต้องเขียน แต่ก็ไม่รู้จะเขียนอะไรเช่นเดียวกัน
ตรงนี้คงไม่ต้องอธิบายกันมาก เพราะถ้าใครเป็นนักเขียน หรือ ชอบเขียนคงจะมีประสบการณ์มาไม่มากก็น้อย
ส่วนตัวผม เดี๋ยวนี้ลามมาเป็น Podcaster’s Block ด้วย เพราะดันจัด Podcast Nopadol’s Story ทุกวัน มันจะมีบางวัน ที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วคิดในใจว่า เอ วันนี้จะพูดอะไรดีนะ อาการเหมือน Writer’s Block นั่นแหละครับ
เลยขอเอาเทคนิคส่วนตัวมาแบ่งปันด้วยละกันครับ ผมแก้อาการแบบนี้ ตามนี้ครับ
1. อ่านหนังสือหรือบทความ
วิธีนี้ง่ายสุดครับ เวลาเราเขียนไม่ออก ส่วนใหญ่มันมาจากการที่เรามี Input น้อย เพราะฉะนั้นวิธีแก้ที่ตรงไปตรงมาสุด คือต้องเพิ่ม Input จากการอ่านครับ แต่วิธีนี้ ข้อจำกัดคือบางทีมันใช้เวลานาน เช่น ถ้าต้องอ่านหนังสือ มันก็ต้องใช้เวลาพอสมควรล่ะ ถ้าอยากได้เร็ว ๆ หน่อย อาจจะต้องเป็นอ่านบทความแทน แต่ต้องบอกว่า วิธีนี้ใช้ได้ผลมากจริง ๆ ครับ
2. ออกกำลังกาย
อะไรนะ อยากเขียนนะ ไม่ใช่อยากลดน้ำหนัก ไปออกกำลังกายทำไม ใจเย็น ๆ ครับ ถ้าไม่เชื่อลองดูครับ ผมเคยแบบคิดว่าจะเขียนอะไรดี แต่คิดไม่ออก ผมก็ออกไปวิ่งครับ เชื่อไหมครับ พอผมไปวิ่งได้สักพัก Idea มาจากไหนไม่รู้ พรั่งพรูมาเลย แต่ก็วิ่งจนจบตามที่วางแผนไว้นะ กลับเข้ามา รีบเปิดคอมพิวเตอร์ แป๊บเดียวเขียนเสร็จเลย อันนี้ก็อยากลองทำกันดูครับ
3. ฟัง Podcast
ต้องบอกว่า ตอนนี้ Podcast ได้รับความนิยมมาก ๆ ครับ มีหลาย ๆ ช่องที่น่าสนใจ บางที การไปฟัง Podcast ทำให้เราได้ Idea หรือหัวข้อใหม่ ๆ ที่จะทำให้เราสามารถนำไปต่อยอดพูดต่อมากมาย ลองเข้าไปดูชื่อตอนใน Podcast รับรองได้ว่าจะได้ Idea ที่หลากหลายเลยล่ะครับ
4. ตอบคำถามที่มีคนถามมา
ผมโชคดีที่จัด Podcast แล้วมีคนสอบถามเรื่องต่าง ๆ มามากพอสมควร ก็เลยสามารถเอาคำถามที่คนถามนั่นแหละครับ มาเป็นหัวข้อในการเขียน บทความนี้ก็เป็นตัวอย่างครับ ตอนแรกก็จากการที่มีคนถามมาว่า ถ้าเขียนอะไรไม่ออก อาจารย์ทำอย่างไร จนกลายเป็นหัวข้อที่ผมไปคุยใน Podcast และเลยมาเป็นการเขียนบทความนี้เช่นกัน แต่ถ้าใครยังไม่มี คนถามมามากนัก เราเข้าไปใน Page หรือ Group อะไรก็ได้ที่มีคนเยอะ ๆ แล้ว ไปอ่านคำถามเหล่านั้นดู ได้ Idea ดี ๆ อีกเพียบครับ
5. ติดตามกระแสข่าวสารต่าง ๆ
อ่าน Facebook ตาม Twitter บ่อย ๆ เราจะเห็นว่า ชั่วนี้ เขาชอบคุยเรื่องอะไรกัน เราก็สามารถดึงเอาหัวข้อเหล่านั้นมาเป็นหัวข้อในการเขียนของเราก็ได้ครับ แต่ทำใจหน่อยนะครับ บทความแบบนี้ มันจะอยู่ในความสนใจแค่ระยะเวลาที่กระแสนั้นยังมีอยู่เท่านั้น แป๊บเดียวมันจะค่อย ๆ จางหายไปครับ แต่ถ้าไม่สนใจ ขอให้ได้แค่เขียน และมีคนอ่าน ก็ลุยได้เลยครับ
6. เริ่มเขียน
ข้อนี้ดูย้อนแย้งสักหน่อยครับ ก็มันไม่รู้จะเขียนอะไร แล้วจะให้เขียนได้อย่างไร คืองี้ครับ เวลาเราไม่รู้จักเขียนอะไร มันเหมือนเครื่องที่มันกำลังติด ๆ ดับ ๆ น่ะครับ สิ่งที่เราต้องการคือการวอร์มเครื่อง ดังนั้น ลองแบบนี้ครับ เวลาไม่รู้จะเขียนอะไร ก็เขียนไปแบบนั้นเลยครับ เช่น “วันนี้ ไม่รู้จะเขียนอะไร มันงงไปหมด นึกไม่ออกจริง …” อะไรทำนองนี้ เชื่อไหมครับ เขียนไปสักพัก เครื่องจะเริ่มติด แล้วเดี๋ยวมันออกมาเป็นบทความดี ๆ บทความหนึ่งเลยทีเดียว ผมไม่ค่อยได้ใช้เทคนิคนี้บ่อย แต่ก็เคยใช้แล้วก็ work ดีเหมือนกันครับ
อันนี้เป็นเทคนิคส่วนตัวนะครับ ลองไปใช้กันดูได้ครับ ถ้าไม่ work ก็เลิก ถ้า work ผมก็ดีใจด้วยนะครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/
No comment yet, add your voice below!