เป็นวิทยากรผู้ประกอบการวันหยุด

วิทยากรเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่สนใจอยากเป็นผู้ประกอบการวันหยุดครับ ลองมาดูตามหลักการ PALMS กันครับว่า การเป็นวิทยากรตอบหลักการเหล่านี้ได้อย่างไร

1. เป็นงานที่เรารัก (Passion)

อันนี้แน่นอนครับ จะเป็นวิทยากร ถ้าจะต้องไปพูดหรือสอนให้คนอื่นฟังในเรื่องที่เราไม่รัก ก็อาจจะทำได้ แต่รับรองว่าคงไม่นาน เพราะเราคงเบื่อสุดขีด สำหรับผมเรื่องราวที่ผมรักมากที่สุดคือเรื่องระบบการตั้งเป้าหมายที่เราเรียกชื่อย่อกันว่า OKRs หรือ Objectives and Key Results คือให้พูดกี่รอบก็ยังอยากพูดอยู่ดี แบบนี้ เราจะทำได้นานครับ และเชื่อไหมครับ เวลาเราพูดในสิ่งที่เรารัก เราจะมีพลังส่งต่อไปยังผู้ฟังครับ คือเขาจะรับรู้ถึงความอินในเรื่องนั้นของเรา และโอกาสที่เขาจะอินตามเราจะมีสูงกว่าการที่เราพูดแบบแกน ๆ เหมือนโดนบังคับให้พูด ถ้าใครอยากเป็นวิทยากร ลองพิจารณาดูเรื่องที่เราชอบมาก ๆ ถ้าได้พูดหัวข้อนั้นก็จะดีมากครับ

2. เป็นงานที่เราเก่ง (Ability)

ผมว่าเรื่องนี้น่าจะสำคัญมาก ๆ บางที เราอาจจะไม่ได้รักเรื่องนั้นมาก แต่ถ้าเราเก่งเรื่องนั้นจริง ๆ เราก็จะพูดเรื่องนั้นได้ดี อย่าลืมว่าการเป็นวิทยากรนั้น เรามีหน้าที่ทำให้ชีวิตของคนฟังดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราทำไม่ได้หรอกครับ ถ้าเราไม่รู้สิ่งที่เราพูด ดังนั้น เราต้องหาเรื่องที่เรามีความสามารถเพื่อนำมาถ่ายทอดในบทบาทวิทยากร

แน่นอนครับ เราอาจจะยังไม่ได้ต้องถึงกับเก่งเรื่องนั้นที่สุดในประเทศ ถึงจะมาสอนเรื่องนั้นได้ แต่ก็ควรเก่งพอสมควร สิ่งที่เราควรทำคือศึกษาหาความรู้ในหัวข้อนั้นตลอดเวลา มีหนังสือให้อ่านก็อ่าน มีคอร์สให้เรียนก็เรียน ถ้าเราทำเต็มที่ รับรองว่าเราเก่งพอที่จะเป็นวิทยากรได้แน่นอนครับ

3. ใช้เงินลงทุนต่ำ (Low Investment)

ผมว่าการเป็นวิทยากรนั้นแทบไม่มีต้นทุนอะไรเลยนะครับ คือใช้ความรู้กับแรงเราไปแลกล้วน ๆ เลย องค์กรที่เขาเห็นความสามารถเรา เขาก็เชิญเราไปสอน เราก็ไปแต่ตัวนี่แหละครับ เสร็จแล้วก็สอน และก็รับค่าบรรยาย แบบนี้เงินลงทุนแทบไม่ได้ใช้ หรือถ้าเราจะจัดคอร์สเองก็ได้ ก็แค่ประกาศสมัคร ถ้ามีคนมาเรียนก็ไปจองโรงแรมหรือสถานที่ ซึ่งเราก็เอาเงินค่าสมัครนั่นแหละครับไปจ่าย ถ้าไม่มี ก็ไม่จัด ก็แค่นั้น ผมว่านี่เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับคนที่อยากเป็นผู้ประกอบการวันหยุดแต่ไม่มีเงินลงทุนนะครับ

4. ต้องสร้างรายได้ได้ (Money)

รายได้จากการเป็นวิทยากรก็มาจากค่าบรรยายนี่แหละครับ ถ้าองค์กรมาเชิญเขาก็จะมีค่าบรรยายมาให้ บางที่เขาก็มีระเบียบกำหนดมาชัดเจนว่าเขาให้ค่าบรรยายชั่วโมงละเท่าไร บางที่เขาก็ถาม Rate การบรรยายของเรา ช่วงแรก ๆ เราก็อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ค่าบรรยายก็อาจจะยังไม่มากนัก แต่พอเราเริ่มเชี่ยวชาญ เราก็จะสามารถยกระดับค่าบรรยายให้เพิ่มขึ้นได้

อีกส่วนของรายได้ก็คือการจัดคอร์สเอง ก็คล้าย ๆ ค่าบรรยายแหละครับ แต่อันนี้เราเก็บรายบุคคลที่เขาสนใจมาเรียนกับเรา ก็เช่นกัน ถ้าเรามีความสามารถเยอะเป็นที่รู้จัก ค่าสมัครเข้าเรียนคอร์สก็มักจะสูง แต่ถ้าอยู่ในช่วงเริ่มต้นก็อาจจะไม่สูงมากนัก อยากรู้ว่าควรเก็บเท่าไร ลองดูคนอื่น ๆ ที่สอนหัวข้อคล้าย ๆ เราเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ เพราะปกติสิ่งที่เราจะสอน ก็มีหลายคนสอนอยู่เช่นเดียวกัน

5. สามารถขยายใหญ่ได้ (Scalability)

ตรงนี้อาจจะยากหน่อยสำหรับคนที่เป็นผู้ประกอบการวันหยุดที่อยากเป็นวิทยากร เพราะอย่างที่บอกว่า วิทยากรเราต้องเอาแรงเราไปแลก และยิ่งเป็นผู้ประกอบการวันหยุด เราก็มักจะมีเวลาแค่วันหยุด หรือวันธรรมดาที่เลิกงาน ดังนั้น การที่เราจะได้รายได้ เราก็มีเวลาที่จำกัด

หนทางเดียวที่จะขยายรายได้เพิ่มขึ้นก็คือการขึ้น Rate การบรรยาย หรือการที่เราเพิ่มจำนวนผู้เข้าเรียนคอร์สเรา ซึ่งก็ทำได้ แต่มีข้อแม้ว่าเราต้องเก่งเรื่องนั้นมาก ๆ ลองนึก Concert ของศิลปินดัง ๆ แบบนั้นก็ได้ครับ เขาร้องเพลงทีเดียว แต่คนฟังเป็นหลักหมื่น และค่าบัตรเป็นหลักพัน อะไรทำนองนั้น อันนี้อาจจะพอเข้าข่ายการขยายใหญ่ได้ระดับหนึ่งครับ

ลองดูนะครับ การเป็นวิทยากรอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนอยากเป็นผู้ประกอบการวันหยุดครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *