ต้องบอกว่าอันนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทางเลือกหนึ่งก็ว่าได้ครับ เพราะคำว่าผลิตภัณฑ์มันมีความหลากหลายมาก ๆ ถ้าจะแปลเป็นภาษาง่าย ๆ ก็ขายของนั่นแหละครับ เรามีฝีมือในการทำอาหารก็ทำอาหารขาย ใครชอบเสื้อผ้า ก็อาจจะขายเสื้อผ้า หรืออื่น ๆ อีกมากมายที่เราทำได้
ส่วนตัวผมไม่ได้ค่อยได้ทำส่วนนี้สักเท่าไร เพราะถ้าเป็นของที่จับต้องได้ก็จะเป็นหนังสือซะมากกว่า แต่จะว่าไม่มีเลยก็ไม่ใช่ ทุก ๆ ปี ตอนสิ้นปี ผมจะทำ My OKRs Diary ซึ่งเป็นเหมือนแผ่นพับเล็ก ๆ มีประมาณ 6-7 หน้าที่ใช้ในการกรอกข้อมูล OKRs มาจำหน่าย เหตุผลที่ทำคือปกติเป็นคนที่ทำ OKRs อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็จดลงในกระดาษบ้าง สมุดบ้าง ไม่เป็นที่เป็นทาง จดไว้แล้ว เดี๋ยวก็ทิ้งไป ก็เลยไม่รู้ว่าสัปดาห์ที่แล้วเราทำได้เท่าไร รู้แต่ค่าปัจจุบันของสัปดาห์นี้เท่านั้น
ก็เลยอยากมีสมุดจดโดยเฉพาะ เลยได้ออกแบบออกมาเป็น My OKRs Diary แต่จะพิมพ์อันเดียวก็คงไม่คุ้ม เลยลงใน Page ว่ามีใครสนใจบ้าง ปรากฏว่ามีหลายคนเลยครับ ก็เลยเป็นที่มาของการทำ My OKRs Diary จัดจำหน่าย ซึ่งทำเป็นประจำทุกปี ตอนใกล้ ๆ สิ้นปี เพราะคนชอบตั้ง OKRs ซึ่งคือการตั้งเป้าหมายกันในช่วงขึ้นปีใหม่ หรือบางคนก็ซื้อไปฝากคนอื่นเป็นต้น
เราลองมาวิเคราะห์การทำผลิตภัณฑ์จำหน่ายในมุมมองของการเป็นผู้ประกอบการวันหยุดโดยใช้หลักการ PALMS กันครับ
1. เป็นงานที่เรารัก (Passion)
ผมว่าผลิตภัณฑ์ที่เราจำหน่ายได้ดี ควรจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรารักเราชอบนะครับ คือถ้าเราไม่ชอบ ไม่รัก แต่เวลาจะขายให้คนอื่น เราคงขายแบบพูดได้ไม่เต็มปากว่ามันดี อย่าง My OKRs Diary ที่ผมทำนี่คือผมชอบเลย เพราะที่ทำมาจำหน่ายจุดเริ่มต้นก็เพราะว่าตัวเองอยากได้แต่หาคนทำไม่ได้นี่แหละครับ เพราะเราชอบผลิตภัณฑ์ที่เราทำ เวลาเราจะขายหรือแนะนำใคร เราบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า ผมว่าดีนะ ผมชอบ
หรือลองนึกถึงการทำอาหารขายก็ได้ครับ ถ้าเราทำอาหารที่เราชอบกินไปขาย เราจะบอกได้ว่า เราชอบนะ เราว่าอร่อย ลองกินกันสิ แต่ถ้าเป็นอาหารที่เราไม่ชอบกิน เราจะไปบอกคนอื่นให้ซื้อว่าซื้อไปกินกันเถอะ ถ้าเขาถามว่าอร่อยไหม แล้วเราบอกว่า เออ ไม่รู้ เราไม่ชอบกิน แบบนี้ถามว่าเขายังอยากจะซื้ออยู่ไหม ก็อาจจะไม่ อะไรกัน คนทำเอง ยังไม่ชอบเลย แล้วเขาจะชอบไหมเนี่ย อะไรทำนองนี้
2. เป็นงานที่เราเก่ง (Ability)
แน่นอนครับ จะทำอะไรขายก็ตาม เราก็ต้องมีความรู้ในสินค้านั้น ๆ คืออย่างน้อย ๆ คือต้องอธิบายได้ว่าสินค้านั้นคืออะไร มีประโยชน์กับคนซื้ออย่างไร อย่าง My OKRs Diary ที่ผมทำนั้น ถ้ามีคนถามว่าใช้อย่างไร ผมก็ตอบได้ อธิบายได้ บอกได้ว่าประโยชน์คืออะไร แบบนี้คนก็สนใจอยากจะซื้อถ้าตอบโจทย์เขา หรือถ้าไม่ตอบโจทย์เขาก็ไม่ซื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แล้วตอบมั่ว ๆ ไป พอเขาซื้อไปแล้ว มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาเข้าใจอันนี้จะแย่มากกว่าไม่ซื้ออีกนะครับ เพราะเขาย่อมไม่พอใจ และอาจจะบอกต่อไปยังคนอื่น ๆ ต่อมาถึงแม้ว่าเราจะทำอะไรมาขาย ก็อาจจะไม่ค่อยมีคนสนใจแล้ว เพราะมีความประทับใจที่ไม่ดี
ตรงนี้ผมว่าเราควรพยายามหาข้อมูลตลอดเวลานะครับ ยิ่งเรามีความรู้มากเท่าไร ความน่าเชื่อถือในตัวเราก็จะเพิ่มสูงขึ้นมากเท่านั้น เช่น ถ้าเราทำอาหาร แล้วเรารู้ว่ามีสารอาหารอะไรบ้าง เหมาะกับคนแบบไหน หรือไม่เหมาะกับคนแบบไหน และบอกความจริงให้กับลูกค้าทราบ แบบนี้ลูกค้าชอบแน่ ๆ ครับ นอกจากความรู้แล้ว ถ้าเราเป็นคนทำเอง แล้วเราฝึกฝนทำอาหารจนอร่อย ๆ มาก ๆ ก็ยิ่งทำให้สินค้าของเราประทับใจลูกค้ามากขึ้นไปอีกด้วย
3. ใช้เงินลงทุนต่ำ (Low Investment)
ข้อนี้สำหรับการทำสินค้าเพื่อจำหน่ายนั้น เงินลงทุนจะขึ้นอยู่กับลักษณะของสินค้า แต่สำหรับผู้ประกอบการวันหยุดผมก็ยังคิดว่าเราก็ควรจะเลือกสินค้าที่ใช้เงินลงทุนน้อย ๆ ก่อน อย่าง My OKRs Diary เล่มหนึ่งก็ไม่ได้ใช้เงินลงทุนอะไรมากไปกว่าค่าออกแบบ และค่าจัดพิมพ์ โดยเวลาจัดพิมพ์ก็อาจจะเริ่มจากจำนวนน้อยก่อน ถึงแม้ว่าต้นทุนต่อเล่มจะแพงกว่าการพิมพ์จำนวนมากก็ตาม เพราะหากขายไม่ออกเลย ก็จะได้ไม่เดือดร้อนมากสักเท่าไร เอาไว้ ถ้าเกิดขายดีมาก ๆ ตอนนั้นค่อยพิมพ์เพิ่มก็น่าจะดีกว่าที่พิมพ์มามาก ๆ แล้วขายไม่ออกเลย
หรือถ้าอยากทำอาหารขาย เริ่มจากทำน้อย ๆ ก่อน ไม่ต้องเยอะมาก ต้นทุนจะได้ไม่จมอะไรแบบนี้ แต่ถ้าสมมุติสินค้าเราเป็นของที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง แบบนี้ผมแนะนำให้ทำในลักษณะของการทำตามสั่ง เช่น คุยกับลูกค้าก่อนว่าจะทำของแบบนี้ มีใครสนใจซื้อไหม ถ้ามีคนซื้อจริง ๆ เราถึงค่อยทำ แบบนี้เราจะได้ไม่มีความเสี่ยงมากนัก ในต่างประเทศเขาถึงมี Platform ที่จะใช้ทดสอบ Idea เช่น Kickstarter หรือ Indiegogo ที่เขาเปิดโอกาสให้คนที่มี Idea อยากทำอะไร มาลงข้อความใน Platform ชักชวนคนว่าจะสนใจซื้อสินค้าเขาไหม ถ้าสนใจจ่ายเงินไปก่อน ถ้าเงินถึงจำนวนที่กำหนดเขาจะผลิตและส่งไปให้ แต่ถ้าไม่ถึง เขาก็จะคืนเงิน อะไรทำนองนี้
ในมุมนี้ก็ลองไปคิดกันดูนะครับ ลองคำนวณดูว่าเราต้องใช้เงินลงทุนในการผลิตสินค้าที่เราอยากจะขายสักเท่าไร และถ้าขายไม่ได้ เราจะเดือดร้อนมากหรือน้อย พยายามใช้เงินลงทุนขั้นต้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นะครับ
4. ต้องสร้างรายได้ได้ (Money)
สำหรับรายได้ในการขายสินค้าก็ตรงไปตรงมาครับก็คือรายได้จากการขายนี่แหละครับ จะขายแบบ Onsite เช่นเปิดร้านขายเลยก็ได้ หรือ Online คือขายผ่านช่องทาง Social Media หรือช่องทางอื่น ๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน หรือจะไปฝากขายกับคนอื่นก็เป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ ผมมีคนที่รู้จักเขารับขนมมาขาย แต่แทนที่จะขายเอง เขาก็ไปฝากขายกับร้านอาหาร ร้านกาแฟ แบบนี้ก็ได้ ใช้เวลาวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันธรรมดาช่วงเลิกงาน ไปฝากขาย หรือถ้าเป็นช่องทาง Online เราก็สามารถเปิดร้าน Online ผ่าน Shopee Lazada หรืออื่น ๆ เพื่อขายสินค้าของเราก็ได้
5. สามารถขยายใหญ่ได้ (Scalability)
ถ้าสินค้าที่เราขายไม่ใช่สินค้าที่เราผลิตเอง โอกาสที่จะขยายใหญ่ได้จะมีสูงกว่าสินค้าที่เราต้องผลิตเอง ผมยกตัวอย่าง My OKRs Diary ของผมนะครับ พอผมให้คนออกแบบเสร็จ ผมก็จ้างโรงพิมพ์พิมพ์ แบบนี้ จะขายร้อยเล่ม พันเล่ม หมื่นเล่ม ก็ขายได้ เพราะผมแค่สั่งโรงพิมพ์พิมพ์เพิ่มเท่านั้น แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เราต้องทำเอง อันนี้จะขยายยากหน่อย เช่น เราจะทำอาหารขาย แต่เราต้องเป็นคนทำ รายได้จะถูกจำกัดกับเวลาของเรา ถ้าอยากจะขยาย เราจะต้องเริ่มฝึกให้คนอื่นทำได้อย่างที่เราทำ
อีกส่วนหนึ่งที่เราต้องทำหากเราต้องการที่จะขยายธุรกิจ คือการจ้างคนเพิ่มหรือ Outsource ในงานต่าง ๆ ที่จะใช้เวลาเรา เช่น การ Pack ของ ส่งของ อะไรทำนองนี้ เพราะหากเราต้องทำสิ่งนี้เองทั้งหมด เราไม่สามารถขยายธุรกิจได้แน่ ๆ เพราะเรามีเวลาจำกัดแค่วันหยุดเท่านั้น เพียงแต่ว่าในตอนแรก ๆ ก็อย่าเพิ่งไปจ้างคนมาเยอะแยะนะครับ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าจะขายได้ดีขนาดไหน
ลองดูนะครับ จริง ๆ การทำสินค้าขาย ไม่ว่าจะทำเอง หรือจ้างคนอื่นผลิต หรือแม้แต่การซื้อสินค้าคนอื่นมาขายต่อก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่น่าจะยากมากในการเป็นผู้ประกอบการผลิตเช่นกัน
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!