หลายคนอยากเอาเวลาว่างมาทำธุรกิจ และพอทำแล้ว ก็เริ่มมีรายได้ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าดีใจ แต่ไป ๆ มา ๆ หลายครั้ง เราจะเริ่มเหนื่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยิ่งมีลูกค้าเยอะ มันก็ยิ่งยุ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ได้ทำธุรกิจเต็มตัว แต่เป็นคนที่ใช้เวลาว่างมาทำธุรกิจนี่แหละ เพราะว่าวันหยุดแทนที่จะได้หยด แต่เราก็ต้องมาหารายได้เป็นแหล่งที่ 2 ไป ๆ มา ๆ จากวันหยุด ก็กลายเป็นวันทำงาน เผลอ ๆ จะหนักกว่าการทำงานประจำในวันจันทร์ถึงศุกร์อีกต่างหาก
สุดท้าย ถึงจะชอบสิ่งที่เราทำอย่างไร ก็อาจจะลงท้ายด้วยอาการ Burn Out หรือหมดไฟ ไปต่อไม่ไหว หรือสุขภาพอาจจะย่ำแย่ไปเลย แล้วจะให้ทำอย่างไร เพราะถ้าเราต้องการรายได้เพิ่ม เราก็ต้องอดทน เอาแรงไปแลกไม่ใช่หรือ ไม่ใช่เสมอไปครับ
ทางเลือกแรกคือ เราก็ทำเท่าที่ทำได้ เช่น สมมุติเราทำขนมขาย ก็ทำได้แค่ 100 ชิ้น ก็บอกคนซื้อไปว่า เรามีขายแค่ 100 ชิ้นนะ และเราก็พอใจแค่นี้ ก็จบ แบบนี้ก็ได้ครับ แต่ปัญหาคือเราก็จะมีรายได้จำกัดจากการขายแค่ 100 ชิ้นเท่านั้นแหละ แต่ถ้าเราอยากจะทำรายได้มากกว่านั้นจะทำอย่างไร เพราะเราทำมากกว่านี้ก็ไม่ไหว
อันนี้แหละครับ ที่เราควรมาดูรูปแบบทางธุรกิจกันใหม่ ที่จะทำให้มันสามารถขยายใหญ่ได้ โดยไม่ต้องมาติดที่ตัวเรา เอาตัวอย่างการทำขนมข้างต้นก็ได้ เราทำอะไรได้บ้าง
1. จ้างคนมาช่วยเพิ่ม
ที่เราทำได้ 100 ชิ้น อาจจะเป็นเพราะเราทำอยู่คนเดียว แต่ถ้าเรามีลูกมือ เราอาจจะทำได้มากกว่านั้นเป็น 10 เท่า แต่ข้อเสียคือถ้าเราจ้างมาแบบเต็มเวลา มันก็จะต้องมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ถ้ามั่นใจว่า ยังไงก็ขายได้ ก็คุ้มที่จะทำ
2. จ้างคนอื่นทำ
เช่นแต่ก่อน นอกจากทำขนมแล้ว เรายังต้องทำหน้าที่ขับรถไปส่งให้กับลูกค้าด้วย แบบนี้ แน่นอน เวลาเราก็จำกัด จะขับไปส่งได้สักกี่บ้านกัน แต่ถ้าเรา Outsource คือจ้างให้คนอื่นมารับหน้าที่ส่งของไปแทนเรา แบบนี้ เราก็มีเวลามาโฟกัสกับสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการทำขนมได้มากขึ้น และเราก็ผลิตขนมได้เยอะขึ้นตามไปด้วย
Outsource ไม่ใช่แค่การส่งของ การรับจ่ายเงิน บัญชี อะไรพวกนี้ มีคนให้บริการทำแทนให้ทั้งหมดแหละครับ แต่แน่นอนมันก็ต้องแลกกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตาม แต่ถ้าคิดแล้วว่าคุ้ม การ Outsource งานที่ไม่ใช่สิ่งที่เราถนัดจะช่วยเราได้มาก
3. หาตัวแทน
ถึงแม้เราจะทำข้อที่ 1 และ 2 แล้ว แต่สุดท้ายมันก็จำกัดที่ตัวเราอยู่ดี ในแง่ของการทำขนม ถ้าเช่นนั้น เราอาจจะเริ่มหาตัวแทนเพื่อที่จะมาทำแทนเรา หรือจะเรียกว่าการสร้าง Franchise ก็ได้ คือแทนที่เราจะมาอบขนมเอง Pack ของเอง ฯลฯ เราประกาศไปเลยว่า ขนมเราขายดีมาก ใครสนใจมาทำ Franchise กับเราไหม
เราอาจจะมีการฝึกอบรมสอนทำขนมให้ หรือมีการบอกวัตถุดิบต่าง ๆ ให้ พอคนฝึกอบรมกับเราจบ เขาก็ออกไปทำขนมในแบรนด์ของเราได้เลย รายได้ของเราจะมาจาก % ของยอดขายที่เขาขายได้ ซึ่งตรงนี้ อาจจะมีความยากลำบากหน่อยตรงการตรวจสอบว่า เขารายงานได้ถูกต้องไหม บางที่ เขาก็จะมีการให้วัตถุดิบบางอย่างไปด้วย ซึ่งเป็นการตรวจสอบไปในตัวว่า เขาน่าจะขายได้สักเท่าไร
แต่รูปนี้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่อยากทำขนมขายแล้ว รายได้เราก็มีมาตลอด เพราะมีคนทำขายแทนเราในแบรนด์ของเรา ซึ่งเราจะได้ % จากยอดขายตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น
4. เปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจไปสู่ Digital
ใช่ครับ เรากินขนมผ่าน Digital ไม่ได้ แต่เราอาจจะลองคิดหา รูปแบบที่จะส่งต่อความรู้ผ่าน Digital ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะทำช่อง YouTube สอนทำขนม พอมีคนติดตามเยอะ เราก็ได้รายได้จากค่าโฆษณา ตรงนี้เราแค่ลงทุนทำ Clip เท่านั้น คนจะดู 10 คน หรือ 1 ล้านคน เวลาเราก็เท่าเดิม แต่ยิ่งคนดูเยอะ เราก็ได้ค่าโฆษณาเยอะ เผลอ ๆ มีแบรนด์ต่าง ๆ มาขอให้เรารีวิวสินค้าเขาอีกต่างหาก
หรือแม้กระทั่งการทำ Course Online ใน Platform ต่าง ๆ สอนทำขนมเลยครับ เชื่อว่าถ้าเราทำได้อร่อย ลูกค้าเยอะ คนอื่นก็ยิ่งอยากมาเรียน ทำ Course Online อัด Clip ครั้งเดียวเหมือนกัน คนจะเรียน 1 คน หรือ หลายพันคน เราไม่ได้ใช้เวลามากขึ้นเลย แต่รายได้จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนคนที่เรียน
ก็ขอฝากไว้เป็นข้อคิดแล้วกันครับ ไม่ได้หมายความว่าทุกท่านจำเป็นต้องขยายธุรกิจเสมอไป ท่านที่พอใจกับสิ่งที่ท่านทำอยู่ หรือรายได้ที่ได้อยู่ ก็ทำต่อไปได้เลยครับ ไม่มีปัญหาแต่ประการใด แต่สำหรับท่านที่กำลังเข้าโซนที่จะ Burn Out หรือพาลจะเลิกทำ ก็ลองนำเอาข้อเสนอนี้ไปคิดกันดูได้นะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!