ทำ Podcast สำหรับการเป็นผู้ประกอบการวันหยุด

สำหรับคนที่ยังไม่ค่อยรู้จัก Podcast อธิบายง่าย ๆ ว่าคล้าย ๆ วิทยุแหละครับ แต่ฟังผ่าน Application เป็น file เสียง ฟังเมื่อไรก็ได้ เราเข้าไปติดตามช่องที่เราสนใจ เหมือนเราติดตาม VDO ผ่าน YouTube แบบนั้นเลย

ถ้าย้อนเวลากลับไปสักหน่อย ก็ต้องบอกว่า Podcast อาจจะยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับการสร้างรายได้สำหรับผู้ประกอบการวันหยุด เนื่องจากจำนวนคนฟัง Podcast อาจจะยังน้อยอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าจำนวนผู้ฟัง Podcast เพิ่มขึ้นมาก ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ได้มากเท่าสื่ออื่นก็ตาม ดังนั้นการทำ Podcast เริ่มเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากเป็นผู้ประกอบการวันหยุดได้เช่นกัน

ส่วนตัวผมก็ทำ Podcast ช่อง Nopadol’s Story มาโดยตลอด ซึ่งจริง ๆ แล้ว ตอนเริ่มทำนั้นไม่ได้มีความตั้งใจในการสร้างรายได้แต่ประการใด แต่ทำเพราะความสนุก ความชอบล้วน ๆ แต่พอทำมาได้สักระยะหนึ่ง มีคนติดตามจำนวนหนึ่ง ผมกลับพบว่ามีหลายช่องทางในการสร้างรายได้จาก Podcast

เราลองมาวิเคราะห์การทำ Podcast ในมุมมองของการเป็นผู้ประกอบการวันหยุดโดยใช้หลักการ PALMS กันครับว่ามีอะไรน่าสนใจกันบ้าง

1. เป็นงานที่เรารัก (Passion)

คนที่จะทำ Podcast ได้ตลอดรอดฝั่ง เขาต้องเลือกสิ่งที่เขาสนใจมาก ๆ ครับ คือปัจจัยหลักที่สำคัญที่จะทำให้ Podcast ของเรามีคนฟังมากหรือน้อย ปัจจัยหนึ่งคือความสม่ำเสมอครับ ถ้าทำวันนี้แล้วหายไปสองสัปดาห์กลับมาทำอีกตอนหนึ่ง แล้วหายไปอีกเดือน ค่อยมาทำต่ออีก แบบนี้รับรองได้ว่าไม่มีใครติดตามแน่นอน เพราะเขาไม่รู้ว่าสรุปแล้ว ตอนต่อไปจะมาเมื่อไร

อย่าง Nopadol’s Story Podcast ที่ผมทำนั้น ผมทำทุกวันเลยครับ ตอนหนึ่งประมาณ 20 นาที จากคนฟังหลักร้อย ก็กลายเป็นหลักพัน หลักหมื่น แต่เราจะทำแบบนี้ไม่ได้ถ้าเราไม่รักในสิ่งที่เราทำ สำหรับผม ผมรักการอ่านหนังสือ ดังนั้นช่องของผม ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการ Review หนังสือที่ผมอ่านแล้วชอบ หรือมาเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมประทับใจและคิดว่าจะมีประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ ได้ฟังด้วย

ถ้าเราอยากจะทำ Podcast ลองมองหาเรื่องที่เราชอบกันนะครับ เริ่มจะสิ่งที่เราชอบนี่จะทำให้เราอยากทำทุกวัน และจะทำให้คนติดตามเยอะจนกระทั่งอาจจะสามารถสร้างรายได้ได้เลยครับ

2. เป็นงานที่เราเก่ง (Ability)

จริง ๆ ก็คล้ายกับหลาย ๆ ทางเลือกนะครับ ถ้าเราไม่เก่งในเรื่องที่เราทำ โอกาสที่เราจะสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นก็จะน้อย และก็แปลว่าโอกาสที่เราจะสามารถสร้างรายได้ในเรื่องนั้นก็น้อยตาม ความเก่งในเรื่องของการทำ Podcast หมายถึงเราต้องรู้เรื่องสิ่งที่เราพูดใน Podcast ระดับหนึ่งครับ คือถ้าเราไม่รู้เรื่องเลย เราจะพูดหรืออธิบายได้ไม่ดีสักเท่าไร แต่ก็ไม่ต้องถึงกับว่าจะต้องเรียนจบมาด้านนั้นโดยเฉพาะเลย

อย่างผมทำ Podcast ที่ Review หนังสือ ถามว่าผมรู้เรื่องที่ผม Review เท่าคนเขียนเลยไหม คำตอบคือไม่ถึงขนาดนั้น แต่ผมก็ต้องอ่านเล่มนั้นจนจบ และต้องอ่านให้รู้เรื่อง เราจึงจะสามารถนำมา Review ได้ แล้วถ้าเรา Review เรื่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ฝีมือเราก็จะพัฒนาขึ้น เพราะเราจะสามารถจับประเด็นเอาพูดคุยที่จะทำให้คนฟังได้ประโยชน์ได้ แบบนี้เป็นต้น

จะเลือกหัวข้ออะไรมาพูดใน Podcast ก็ได้นะครับ แต่ทำการบ้านให้เข้าใจในหัวข้อที่จะพูด แค่นี้ก็ถือว่าผ่านในข้อนี้แล้วล่ะครับ

3. ใช้เงินลงทุนต่ำ (Low Investment)

การทำ Podcast จริง ๆ แล้วแทบไม่มีการใช้เงินลงทุนเลยนะครับ จะมีก็แค่เงินค่าเช่าพื้นที่ของโปรแกรมที่เราจะเอา Podcast ไปลง และกระจายไปที่อื่น ๆ เช่น Podbean Soundcloud อะไรทำนองนี้ หรือถ้าใครจะทำผ่าน YouTube ก็เรียกว่าฟรีเลยก็ว่าได้

จะมีอีกส่วนที่อาจจะต้องใช้เงินลงทุนบ้างคือไมโครโฟน แนะนำว่าซื้อให้ดี ๆ สักอัน ราคาอาจจะหลักหลายพัน แต่ถ้าเราทำบ่อย ๆ ยังไงเราใช้ได้คุ้มค่าอยู่แล้ว ส่วนเรื่อง Notebook ที่จะลง Program อัดเสียง (ผมใช้ Program Audacity) อันนี้ผมคิดว่าทุกคนน่าจะพอมีอยู่แล้ว เพราะคงต้องใช้ในการทำงาน

ในช่วงแรก ๆ แนะนำยังไม่ต้องลงทุนถึงขนาดไปทำห้องอัดจ่ายเงินหลักแสนหลักล้านขนาดนั้นนะครับ ส่วนตัวผมที่ทำมาตลอดและก็มีคนติดตามมาพอสมควร ก็ไม่ได้มีห้องอัดอะไรเลยครับ ใช้ห้องทำงานธรรมดา คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ไมค์ 1 ตัว แค่นั้นเลยจริง ๆ Program ที่ใช้อัดเสียงอย่าง Audacity ก็ฟรีครับ

4. ต้องสร้างรายได้ได้ (Money)

รายได้จาก Podcast จะมาจาก 2 แหล่ง แหล่งแรก ถ้าเราเอา Podcast ไปลงใน Platform เช่น YouTube เราจะได้ส่วนแบ่งจากค่าโฆษณาที่ YouTube นำมาลงให้ อันนี้แล้วแต่ว่าจะมีผู้ติดตามเรามากน้อยแค่ไหน ในช่วงแรก ๆ ยังไม่มีผู้ติดตามมาก เขาก็ยังไม่เอาโฆษณามาลงให้ แต่พอมีผู้ติดตามระดับหนึ่ง เราไปเปิด Option การทำเงิน ก็จะมีโฆษณามาลง ยิ่งคนติดตามมาก เราก็จะได้ส่วนแบ่งตรงนี้มาก ใครสนใจ ไปหาหนังสือเกี่ยวกับการทำเงินจาก YouTube มาอ่านได้นะครับ แต่บอกได้เลยว่าไม่ยาก เพราะผมก็ทำเอง ไม่ต้องให้ใครทำให้ครับ

อีกส่วนหนึ่งของรายได้ที่จะได้จาก Podcast คือการได้รับรายได้จาก Sponsor ที่เขาจะจ้างให้เรา Review สินค้าหรือบริการของเขา หรือสัมภาษณ์ผู้บริหารเขาเพื่อ Promote บริษัทหรือสินค้าหรือบริการของเขา ส่วนใหญ่รายได้แบบนี้จะได้มาเมื่อมีคนติดตาม Podcast เรามากพอสมควรแล้ว ยิ่งมีคนติดตามมาอัตราค่า Sponsor ก็จะเยอะตาม เป็นต้น

5. สามารถขยายใหญ่ได้ (Scalability)

ถ้าเป็นรูปแบบการได้ส่วนแบ่งโฆษณาจาก YouTube แบบนี้ รายได้เราสามารถขยายใหญ่ได้โดยไม่ต้องใช้แรงไปแลก เช่น ถ้ามีตอนใดตอนหนึ่งคนฟังมาก ๆ ยิ่งฟังมาก เราก็ยิ่งได้รายได้มากตาม แต่ถ้าเป็นรูปแบบของการถูกจ้างใน Review สินค้าหรือบริการ แบบนี้อาจจะขยายได้ยากหน่อย เพราะว่าเราต้องใช้แรงเราในการอัด Podcast เพื่อให้ตอบโจทย์ของผู้ว่าจ้าง เราคงใช้ตอนเก่า ๆ ที่เราอัดแล้วมาใช้ไม่ได้ เพราะคงไม่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการเขา

แต่อย่างไรก็ตามการทำ Podcast นั้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีคนมาจ้าง ผมก็ยังสนับสนุนให้ทำบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะจะมีผลต่อจำนวนผู้ฟังที่ติดตามเราด้วยครับ อย่างที่บอกว่ายิ่งติดตามเยอะ ก็มีโอกาสได้รายได้เยอะขึ้นไปด้วย

ถึงว่า Podcast ยังเป็นสื่อที่ยังไม่ได้ถึงกับเป็นที่นิยมมากนัก เทียบกับสื่ออื่น ๆ แต่ถ้ามองเป็นข้อดีก็คือแปลว่าคู่แข่งเราก็ยังไม่เยอะ ถ้าเราเริ่มก่อน ก็มีโอกาสจะได้รายได้ก่อน และเราสามารถใช้เวลาในวันหยุดหรือเวลาว่างทำได้เช่นกัน เพราะมันไม่ใช่รายการสด เราสามารถอัดเก็บไว้ได้ในเวลาว่าง ลองนำไปพิจารณากันได้นะครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *