ช่วงที่ผ่านมาที่เกิด COVID 19 ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือคนเริ่มยอมรับการเรียนในรูปแบบของ Online มากขึ้น จริง ๆ แล้วการเรียนแบบ Online มีมาก่อน COVID-19 นะครับ แต่ช่วงนั้น หลายคนอาจจะยังไม่แน่ใจ และคิดว่ามันคงไม่สามารถตอบโจทย์ได้ แต่พอช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา เกิดการ Lock Down จึงทำให้ไม่มีทางเลือกอื่น จนทำให้หลายคนต้องเริ่มเรียนผ่าน Online และผู้สอน หรือวิทยากรหลายท่านก็ไม่สามารถออกไปสอนได้ Online จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง
Online Course อาจจะแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ แบบที่ยังเจอหน้ากันผ่านทาง Online ได้พูดคุย ถามตอบได้ ผ่าน Online Platform ต่าง ๆ กับรูปแบบแบบการสื่อสารทางเดียว คืออัดเป็น Clip ใครอยากจะดูเมื่อไรก็เข้ามาดู แต่ถามตอบแบบสด ๆ ไม่ได้
เราลองมาวิเคราะห์การทำ Online Course ในมุมมองของการเป็นผู้ประกอบการวันหยุดโดยใช้หลักการ PALMS กันครับ
1. เป็นงานที่เรารัก (Passion)
การทำ Online Course ไม่ว่าจะเป็นแบบเจอหน้ากันผ่าน Online หรือทำเป็น Clip ก็คงต้องเป็นสิ่งที่เรารักเราถึงจะทำได้ดี เพียงแต่การทำเป็น Clip อาจจะง่ายหน่อย เพราะว่าอัดครั้งเดียวใช้ได้ตลอด แต่ถ้าเป็นการสอนแบบ Interactive คือเจอหน้ากันผ่าน Online แบบนี้ ยิ่งต้องเป็นสิ่งที่เรารัก เพราะเราจะต้องสอนหลายครั้ง ตามความต้องการ เราเปิด Online Course ครั้งหนึ่งก็ต้องสอนครั้งหนึ่ง
2. เป็นงานที่เราเก่ง (Ability)
อันนี้ก็คงคล้ายกับการเป็นวิทยากร คือถ้าเราไม่เก่ง สอนแล้วไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียน ในที่สุดก็จะไม่มีใครมาเรียนกับเรา ดังนั้นเราก็ควรพัฒนาตัวเองโดยการหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา
3. ใช้เงินลงทุนต่ำ (Low Investment)
ปกติ Online Course ถ้าเราสอนแบบเจอหน้ากันผ่าน Online ก็แทบไม่มีต้นทุนอะไรมาก อย่างมากก็ค่าเช่า Platform Online ที่เราเลือกใช้สอน ซึ่งก็ไม่เท่าไร ถูกกว่าค่าใช้จ่ายด้านสถานที่เวลาสอนแบบเจอตัวกันตั้งเยอะ แต่ถ้าใครอยากทำแบบ Clip คุณภาพดีหน่อย อันนี้อาจจะต้องใช้เงินลงทุนเรื่องกล้อง แต่ก็ไม่มาก ยกเว้นเราอยากจะทำเป็น Production ใหญ่โต อันนั้นก็คงต้องจ่ายเยอะ แต่ส่วนตัว ยังไม่อยากแนะนำให้ทุ่มทุนทำขนาดนั้น
อีกทางเลือกหนึ่งคือเดี๋ยวนี้เขามี Platform ที่เขาอยากให้คนอยากทำ Online Course มาเจอกับคนที่อยากเรียน ยกตัวอย่างเช่น Skillane หรือ Cariber ถ้าเราอยากสอน Online และมีการถ่ายทำดี ๆ ลองติดต่อไปยัง Platform เหล่านี้ (หรือที่อื่น ๆ ก็ได้นะครับ) ถ้าเขาโอเค เราเดินไปตัวเปล่าพร้อม Slide ที่ใช้ประกอบการสอน แค่นั้นเลย ไม่ต้องลงทุนอะไร เขาจะถ่ายทำให้เราหมด พอปล่อย Course ลง เราก็จะได้ส่วนแบ่งจากรายได้ที่เขาได้มาจากคนที่เรียนกับเรา
การทำ Online Course จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับผู้ประกอบการวันหยุดที่ไม่อยากใช้เงินลงทุนสูงมากนัก
4. ต้องสร้างรายได้ได้ (Money)
รายได้จาก Online Course ก็มาจากคนสมัครเข้าเรียน Course เรานี่แหละครับ ถ้าเราทำเอง ซึ่งก็ไม่ยากอะไร เราก็เปิดรับสมัครผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การเรียนผ่าน Zoom Microsoft Teams Webex Google Meet หรือ Platform อื่น ๆ ก็ได้ หรือถ้าเราอยากสอนแบบเป็น Clip ให้เขาไปดูเอง เราก็อาจจะลง Clip ใน YouTube ช่องที่เขาต้องเข้าไป Subscribe จ่ายเงินพิเศษถึงจะเห็น Clip เราแบบนี้ก็ได้ หรือจะเอาไปลง Facebook Group เป็นตอน ๆ ให้เขาเข้าไปดูก็ได้ หรือแม้กระทั่งจะทำ Website ที่มี Login ให้เฉพาะคนสมัครเข้าไปเรียนก็ยังได้
นอกจากนี้รายได้อีกทางก็อาจจะมาจากการที่เราเอาไปลงกับ Platform ที่เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ เช่น Skillane Cariber อะไรแบบนี้ ถึงเวลาเขาก็โอนเงินส่วนแบ่งมาให้เราได้ อันนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เอาจริง ๆ จะทำหลาย ๆ ทางก็น่าจะมีปัญหาอะไรนะครับ
5. สามารถขยายใหญ่ได้ (Scalability)
ข้อดีของ Online Course โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบที่มีการสื่อสารทางเดียว คืออัดเป็น Clip และเอาไปวางไว้ที่ไหนก็ได้สักที่ที่ผู้เรียนสามารถสมัครเข้ามาเรียนได้ แบบนี้ต้องบอกว่าถ้าเป็นที่นิยม มันจะสามารถขยายใหญ่ได้ตลอดเวลา คือเราไปเที่ยวเราก็ยังได้รายได้ เพราะคนเรียนเขาไม่จำเป็นต้องมาเจอหน้าเรา ยกเว้น Online ประเภทที่เราสอนสด แบบนั้นอาจจะขยายใหญ่ได้ยากหน่อย เพราะเราจะต้องอยู่ตอนสอนเสมอ
ลองดูนะครับ จริง ๆ ใครเป็นวิทยากรอยู่แล้ว เพิ่มการทำ Online Course ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจจริง ๆ ครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!