สำหรับคนที่สนใจเรื่องการเป็นผู้ประกอบการวันหยุด มักจะมีปัญหาอย่างหนึ่งคล้าย ๆ กัน คือ “ไม่รู้จะสร้างรายได้อย่างไร” มาดูปัญหานี้กันครับ ก่อนอื่น ทำไมถึงมีคำถามประมาณนี้ คำตอบน่าจะมีอยู่ 2 ด้านคือ 1) นึกไม่ออกจริง ๆ ว่าสิ่งที่เราชอบ เราเก่ง มันจะสามารถทำเงินได้ 2) นึกออกแหละ แต่ไม่กล้าที่จะบอกว่า เราจะทำขายนะ ให้เก็บเงินนะ
เริ่มจากข้อที่ 1 ก่อนนะครับ บางคนบอกว่า ชอบทำอันนั้น อันนี้ แต่มันจะทำเงินได้หรือ ผมต้องบอกว่า ส่วนใหญ่แล้วมันมีวิธีการสร้างรายได้ จากสิ่งที่เราชอบได้ “เกือบ” ทุกอย่างแหละครับ อย่าลืมนะครับ ว่าสิ่งที่เราชอบ มันก็น่าจะไม่ใช่เราคนเดียวในโลกมั้งครับที่จะชอบอะไรแบบนี้ ในกรณีส่วนใหญ่ ก็ต้องมีคนเหมือนเราจำนวนไม่น้อย และถ้ามีคนชอบเหมือนเรา การสร้างรายได้ ก็มีทางเป็นไปได้
ขอแบ่งแนวทางการสร้างรายได้ในสิ่งที่เราชอบและมีความสามารถดังนี้ครับ
1. สร้างเป็นสินค้าเพื่อจัดจำหน่าย
นี่คือรูปแบบที่ตรงไปตรงมามาก และเราเห็นกันอย่างแพร่หลาย เช่น เราชอบทำอาหาร เราก็แค่ทำอาหารชิ้นนั้นออกมา และก็จำหน่ายให้คนที่สนใจอาหารประเภทนั้น รูปแบบนี้ยังรวมไปถึงการจ้างคนอื่นผลิต และเราเอามาขายด้วย เช่น เราอยากขายเสื้อยืด แต่เราคงทำเสื้อยืดเองไม่ได้ ก็จ้างเขาผลิตเสื้อยืดและก็จำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ หรือจะเป็นลักษณะของ Drop Shipping เลยก็ได้ เช่น เราประกาศว่าเรามีสินค้าชนิดนี้ขายนะ พอลูกค้าสนใจสั่งมา เราก็ไปสั่งให้โรงงานผลิตให้ และให้โรงงานส่งตรงไปยังลูกค้าเลย
2. ให้บริการ
เป็นอีกแนวหนึ่งที่มีคนทำกันเยอะ เป็นการนำเอาทักษะ ความรู้ ความสามารถที่เรามีเพื่อไปสร้างรายได้ ยกตัวอย่างเช่น เราเก่งบัญชีมาก ๆ เราก็อาจจะให้บริการทำบัญชีให้กับลูกค้า หรือเราเก่งเรื่องภาษามาก ๆ เราก็อาจจะให้บริการรับแปลเอกสารอะไรแบบนี้ แล้วก็เก็บเงินค่าบริการเหล่านั้น
3. ทำ Digital Product
ข้อนี้ก็เป็นอีกข้อที่ระยะหลังมีคนสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำ eBook ขาย การทำหนังสือเสียง หรือแม้กระทั่งทำ Application ต่าง ๆ ให้ Download นอกจากนี้ อาจจะยังรวมไปถึงการเขียน Blog เปิด Page แล้วมีคนมาโฆษณา หรือเป็น Youtuber ที่ได้รายได้จากการโฆษณาเช่นกัน หรือจะเป็น Affiliate Marketing หรืออธิบายง่าย ๆ ว่า ช่วยคนอื่นขายของ แล้วเราก็ได้ส่วนแบ่ง
4. สอน
ผมแยกข้อที่ 4 ออกมาโดยเฉพาะ จริง ๆ แล้ว อาจจะเข้าข่ายทั้งข้อที่ 2 และ 3 ได้เช่นกัน แต่ผมว่าเป็นรูปแบบที่น่าสนใจและมีคนทำกันมาก เลยขอแยกออกมาอีกข้อหนึ่งเลย และการหารายได้จากการสอนนี้ อาจจะใช้ได้กับเกือบทุกสถานการณ์ด้วยซ้ำ การสอนคือการถ่ายทอดความรู้ที่เรามี ให้กับคนอื่น ๆ โดยการสอนอาจจะเป็นแบบเจอหน้ากัน (ซึ่งจะเข้าข่ายข้อที่ 2) หรือสอนแบบ Online (ซึ่งจะเข้าข่ายข้อที่ 3)
จริง ๆ ทั้ง 4 รูปแบบนี้ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องเลือกก็ได้นะครับ เราอาจจะสร้างรายได้ได้ทั้ง 4 รูปแบบพร้อม ๆ กันเลย ยกตัวอย่างนะครับ สมมุติว่าเรามีฝีมือในการทำคุ้กกี้มาก ทำอร่อยเลย เราอาจจะเริ่มจากการทำคุ้กกี้ออกมาแล้วขาย (ข้อที่ 1) ต่อมา เราอาจจะรับให้บริการไปทำคุ้กกี้ให้กับคนที่จัดปาร์ตี้ที่บ้านหรือที่ทำงาน เพื่อให้ได้กินคุ้กกี้ที่สดใหม่ (ข้อที่ 2) ต่อมาเราอาจจะเปิด Blog เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับคุ้กกี้ จนมีคนติดตามมาก และได้รายได้จากการโฆษณา และเอาเนื้อหาไปเขียนเป็น eBook จัดจำหน่าย (ข้อที่ 3) สุดท้าย เราอาจจะเป็น Course สอนการทำคุ้กกี้ ไม่ว่าจะเป็นแบบเจอหน้ากัน หรือ แบบ Online ก็ได้ (ข้อที่ 4)
มาต่อในปัญหาถัดมา คือพอจะทราบแหละว่า หาเงินได้ แต่ไม่กล้าที่จะทำนี่สิ จะแก้ได้อย่างไร คำถามคือ ทำไม เราถึงไม่กล้าขาย ผมว่าคำตอบอาจจะเป็นทำนองที่ว่า เดี๋ยวเขาหัวเราะเยาะเอาว่า ฝีมือแค่นี้ยังมีหน้ามาขาย หรืออะไรกัน ทำไมแพงจัง ไม่ซื้อหรอก คือลึก ๆ คนเรากลัวการถูกปฏิเสธ ผมก็เป็นครับ เขียนหนังสือเล่มแรก ๆ แทบไม่อยากบอกให้ใครรู้เลย เพราะเดี๋ยวจะหาว่าขายหนังสือ กลายเป็นว่า ขายหนังสือ ทำให้เรารู้สึกผิด ซึ่งจะว่าไปมันก็แปลกนะครับ เพราะเราก็ซื้อหนังสือคนอื่นมาอ่านกันทั้งนั้น
ผมอยากให้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ครับ อย่างแรก สิ่งที่เราทำขึ้นมานี้ มันไม่ได้ทำมาสำหรับทุกคน เราไม่มีความจำเป็นต้องทำให้ทุกคนพึงพอใจในสินค้าหรือบริการของเรา และเราไม่มีวันจะทำแบบนั้นได้ มันจะต้องมีคนไม่ชอบ คิดว่าแพงไป คิดว่าไม่ได้เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องปกติครับ เพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่จะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำแน่ ๆ เพราะถ้าเขาไม่ชอบ ก็แปลว่า สิ่งที่เราทำไม่ตอบโจทย์เขา หรือถ้าเขาคิดว่ามันแพง ก็แปลว่าสิ่งที่เราทำ มีคุณค่าไม่พอกับตัวเขา
แล้วเขาจะว่าเราไหม ให้กำลังใจแบบนี้ครับ คือปกติ คนที่เขาคิดว่าสินค้าหรือบริการนั้นมันไม่ตอบโจทย์เขา เขาก็มองผ่านไปครับ กี่ครั้งที่เราเห็นโฆษณาใน Facebook แล้วเราคิดว่า ไม่น่าสนใจ สิ่งที่เราทำส่วนใหญ่ก็คือเลื่อนผ่านไปเท่านั้น
แต่ใช่ครับ จะมีส่วนน้อย ที่จะมาให้ความคิดเห็นในเชิงลบว่า ไม่เห็นได้เรื่องเลย ขายแพงจัง ก็คงไปบังคับเขาไม่ได้ เราได้แต่เก็บมาเป็นข้อมูลของเราเท่านั้นว่า เราอาจจะตั้งราคาสูงไปไหม แต่อย่าเอาคำพูดเชิงลบแบบนั้นมาหยุดยั้งความตั้งใจของเรา และก็ไม่จำเป็นต้องโต้ตอบใด ๆ ด้วยครับ เขาก็มีสิทธิจะคิดและเขียนแบบนั้น เราก็มีสิทธิที่จะนำมาพิจารณาหรือปล่อยผ่านเช่นกัน
ต่อมา อยากให้คิดว่า สิ่งที่เราทำ ไม่ใช่การ “ขอ” แต่มันคือการแลกเปลี่ยนที่ยุติธรรมครับ คนที่กระดากในการขาย เพราะคิดว่าเราต้อง “ขอ” ให้เขาซื้อ ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่นะครับ เขาไม่ได้ให้เงินเราฟรี ๆ เขาให้เพราะเขาคิดว่าสินค้าหรือบริการมันคุ้มค่า หน้าที่ของเราคือการบอกความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับสินค้าของบริการเรา ให้กลุ่มเป้าหมายเราตัดสินใจว่ามัน “คุ้ม” ไหมที่จะซื้อ
อย่างเวลาผมเขียนหนังสือ อย่างแรกที่ผมมักจะทำคือ ผมจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้เขียนเกี่ยวกับอะไร เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด และผมจะไม่พยายามบอกคุณสมบัติที่มันเกินจริงไป สำหรับผม ผมว่าตรงนี้สำคัญมากนะครับ เพราะหากเราพูดเกินเลยไป คนที่เขาซื้อสินค้าหรือได้รับบริการไป เขาจะผิดหวังแน่ ๆ ซึ่งเราคงไม่อยากให้เกิดสิ่งนั้น บางคนอาจจะคิดสั้น ๆ ว่า แค่ขายได้แล้วก็จบ แต่อย่าลืมนะครับ ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจที่ยั่งยืน คือธุรกิจที่จะมอบความสุขให้กับลูกค้า ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความไม่จริงใจแล้ว ผมเชื่อว่าเราจะอยู่ยั่งยืนไม่ได้
อีกอย่าง ที่ผมอยากให้คิด คือสินค้าหรือบริการที่เราทำขึ้นมานั้น มันต้องทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นจริง ๆ แล้ว เราไม่ได้เป็นฝ่ายรับเงินอย่างเดียวนะครับ เราเป็นฝ่ายให้ด้วยซ้ำ ดังนั้นก่อนที่จะขาย ลองคิดก่อนว่า สินค้าหรือบริการนี้มันจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้อย่างไร ใช่ครับ อย่างที่บอก คือคงจะต้องมีคนบอกว่า แหมไม่เห็นช่วยอะไรเลย ขายตั้งแพง มันไม่แปลกครับ เพราะเขาไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเรา และจริง ๆ ก็ถูกแล้วล่ะครับ ที่เขาไม่ซื้อ เพราะมันไม่ได้ช่วยเขา จะให้เขาซื้อไปทำไม เวลามีคนบอกว่า หนังสือผมแค่พลิก ๆ ดู ไม่เห็นน่าสนใจเลย (ซึ่งต้องบอกว่าโชคดีที่มีน้อยมาก ๆ ) ผมก็ดีใจนะครับ ที่เขาไม่ได้ซื้อหนังสือผมไป
อีกเรื่องเคยได้ยินคำประมาณนี้ไหมครับ ถ้าคิดอยากจะช่วยเหลือสังคม ทำไมต้องเก็บเงินด้วย ผมว่าตรงนี้ต้องแยกแยะนะครับ ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ช่วยเหลือ ผมเชื่อว่าทุกคนก็จะช่วยเหลือสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าพอเก็บเงินปุ๊บเป็นการไม่ช่วยเหลือสังคม
บางทีคนที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวเหล่านี้ หลายท่านก็เป็นผู้ประกอบการเหมือนกัน ก็เก็บเงินจากลูกค้าเหมือนกัน หรือหลายท่านถึงแม้ว่าจะไม่เป็นผู้ประกอบการ แต่ก็เป็นผู้รับเงินเดือน ก็ไม่มีใครบอกว่า อ้าว ไปรับเงินเดือนทำไมล่ะ น่าจะทำงานฟรี ๆ ช่วยเหลือสังคม บริษัทจะได้เอาเงินที่เหลือไปลดราคาให้กับประชาชนอะไรแบบนี้ จริงไหมครับ
และในระยะยาวแล้ว ถ้าจะให้ทุกคนทำงานฟรี เพราะจะต้องช่วยเหลือสังคม ผมคิดว่า เขาคงทำไปได้ไม่เท่าไหร่หรอกครับ สุดท้ายเงินหมด เขาก็ไปช่วยใครไม่ได้ จะดีกว่าไหมครับ ที่จะทำให้ธุรกิจนั้นเติบใหญ่และมีแรงมากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นการทำธุรกิจกับการช่วยเหลือสังคมสำหรับผม ผมไม่ได้เป็นเรื่องต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นครับ
หวังว่าข้อเขียนนี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ท่านสามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่ชอบและเก่งได้มากขึ้นนะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!