ควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างไร

ผู้ประกอบการวันหยุดนอกจากที่ควรจะเลือกทำธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนขั้นต้นไม่สูงแล้ว ยังต้องคอยระวังเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย เพราะเป้าหมายหนึ่งของการเป็นผู้ประกอบการวันหยุดคือการที่จะได้รายได้เพิ่มเพื่อทำให้เรามีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้ารายได้เข้ามา ไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไป แบบนี้ไม่ดีแน่ ยิ่งทำ ยิ่งเจ๊ง ในที่สุดแทนที่จะทำให้เรามั่นคงขึ้นกลับกลายเป็นว่า ต้องเอาเงินเดือนประจำที่ได้รับมาชดเชยการขาดทุนจากการเป็นผู้ประกอบการ

แล้วจะทำอย่างไรดี ผมมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ครับ

1. แยกรายได้และค่าใช้จ่ายของการเป็นผู้ประกอบการวันหยุดออกจากรายได้และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเรา

ตรงนี้สำคัญมากนะครับ หลายคนทำผู้ประกอบการวันหยุด มีรายได้เข้ามาก็เอามารวมกับรายได้จากเงินเดือน มีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ เช่นค่าจัดซื้อวัตถุดิบ ก็ควักกระเป๋าเอาเงินที่มีอยู่จ่าย โดยไม่ได้แบ่งแยกอย่างชัดเจน ถ้าทำแบบนี้เราจะไม่รู้เลยครับว่าสรุปแล้ว เราเป็นผู้ประกอบการวันหยุด เรามีรายได้เข้ามาเท่าไร ค่าใช้จ่ายเข้ามาเท่าไร

ข้อแนะนำคือ แยกกระเป๋าให้ชัดเจนครับ เปิดบัญชีที่แยกเฉพาะออกมาเลยก็ได้ หรือใครรับเป็นเงินสด ก็เก็บไว้คนละที่กับรายได้ประจำที่เราได้อยู่ จะให้ดีจดไว้ด้วยครับ ว่าแต่ละวันเราได้รายรับเท่าไร ค่าใช้จ่ายเท่าไร ใครขาย Online ให้เขาโอนเงินเข้ามา ก็อย่าโอนเข้าบัญชีที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน แยกกันให้ชัด แบบนี้เราจะเริ่มเห็นแล้วครับว่า เราได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไร

2. ไม่ใช้เงินในสิ่งที่ไม่จำเป็น

อันนี้ดูเหมือนจะชัดเจนนะครับ แต่เชื่อไหมครับว่าหลายคนมองข้ามไป เช่น เราเริ่มเป็นผู้ประกอบการวันหยุด ยังไม่ได้มีลูกน้อง ทำอยู่คนเดียว แบบนี้อาจจะยังไม่จำเป็นต้องไปเช่า Office ทำป้ายหรูหราว่าเป็นผู้ประกอบการวันหยุด ทำที่บ้านก็ได้ครับ หรือที่บ้านไม่สะดวก ไปตามร้านกาแฟอะไรแบบนี้ก็ได้ คือพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ยังไม่จำเป็นลงให้มากที่สุด

เรื่องเปิดเป็นบริษัทก็เหมือนกัน ผมว่าในช่วงแรก ๆ ยังไม่ต้องก็ได้ครับ เพราะเปิดเป็นบริษัท เราก็จะมีค่าใช้จ่ายทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าทำบัญชี (ถ้าเราทำไม่เป็น) ค่าตรวจสอบบัญชี (อันนี้ต้องจ้างมืออาชีพมาทำอยู่แล้ว เราทำเองไม่ได้) เอาไว้ให้กิจการเริ่มขยายใหญ่ขึ้นก็ค่อยมาทำอีกทีก็ได้ ไม่มีปัญหาครับ

3. เริ่มต้นเล็ก ๆ ก่อน แล้วค่อยขยาย

บางทีผู้ประกอบการวันหยุดได้ความคิดมาว่าจะเอาสินค้านี้มาขาย ก็มีแรงบันดาลใจ คิดว่าขายดีแน่ ๆ รวยแน่ ๆ เลยไปจ้างเขาผลิตมาล็อตใหญ่เลย แบบนี้ยังไม่แนะนำครับ ใช่ครับ ผลิตล็อตใหญ่ต้นทุนต่อหน่วยอาจจะถูกลง แต่มันจะมาพร้อมกับความเสี่ยงครับ เพราะถ้าขายไม่ได้อย่างที่เราคิด คราวนี้หนักเลย เพราะเงินก็จ่ายไปแล้วกับการซื้อวัตถุดิบ การจ้างเขาผลิต ของก็กองอยู่

เริ่มต้นเล็ก ๆ ดีกว่าครับ ไปถามผู้ผลิตดูว่า จะผลิตล็อตเล็กที่สุดได้เท่าไร ยอมจ่ายต้นทุนต่อหน่วยแพงหน่อย แต่ดูจำนวนเงินรวม ๆ แล้วอาจจะไม่เยอะมากนัก ถ้าขายไม่ดี เราก็ไม่เจ็บตัวเท่าไร ถ้าขายดี เดี๋ยวค่อย ๆ พร้อมการสั่งทีหลังก็ย่อมได้

ส่วนคนที่ทำบริการ ก็ยังไม่ต้องทุ่มทุนสร้างกับอุปกรณ์อะไรมากมายนะครับ เช่น จะรับจ้างถ่ายรูป อาจจะยังไม่ต้องซื้อกล้องตัวที่ดีที่สุด แพงที่สุดอะไรแบบนี้ เอาที่ดีพอประมาณ เอาไว้มีลูกค้าเยอะ ๆ แล้ว เขาต้องการคุณภาพดีกว่าที่เรามีค่อยพิจารณาอีกทีก็ได้ครับ

4. อย่ากู้หนี้ยืมสิน

อันนี้เป็นอีกข้อที่อยากเตือนครับ เพราะผู้ประกอบการวันหยุดส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ และก็ยังไม่รู้เลยว่าธุรกิจที่ทำนั้นมันจะไปได้ดีหรือไม่ ดังนั้นไม่ควรอย่างยิ่งที่จะกู้เงินมาทำ ผมถึงได้แนะนำว่าถ้าจะเป็นผู้ประกอบการวันหยุดเราควรจะเลือกธุรกิจที่ยังไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก หรือไม่ต้องใช้เลยจะดีที่สุด

และถ้าทำไปแล้วขาดทุน อย่าดื้อครับ หยุดก่อน เพราะมันแปลว่าธุรกิจนั้นมันยังไม่ใช่ ยิ่งดื้อ ยิ่งถมเงินไปยิ่งหมด เราเป็นผู้ประกอบการวันหยุด ไม่ใช่ Startup ที่จะเอาเงินมาลงทุนเพื่อขยายฐานลูกค้าอะไรแบบนั้น

เอาเป็นว่าลองใช้ 4 แนวทางนี้นะครับ หวังว่าเราจะควบคุมค่าใช้จ่ายได้ และทำให้เราประสบความสำเร็จนะครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *