จากหลักการ PALMS ที่ย่อมาจาก Passion Ability Low investment Money และ Scalability สิ่งแรกที่เราควรจะทำคือการหาสิ่งที่เราลุ่มหลงหรือที่เรียกว่า Passion แปลว่า การเลือกทำในสิ่งที่เรารัก
ทำไมเราจึงควรเริ่มต้นจากจุดนี้ก่อน เหตุผลง่าย ๆ คือ วันหยุด ตามชื่อ ปกติ เราควรจะหยุดทำงานเพื่อเติมพลังให้เต็ม สำหรับสัปดาห์ถัดไป คราวนี้ในการนำวันหยุดมาหารายได้ แต่เราดันไปเลือกทำงานที่เราไม่ชอบ ในระยะยาว เราแย่แน่ ๆ เพราะงานประจำก็ต้องทำ และบางคนก็รู้สึกไม่ชอบอยู่แล้ว วันหยุดยังต้องมาทำในสิ่งที่เราไม่ชอบอีก แบบนี้คงไม่ไหว
ดังนั้นการทำสิ่งที่เรารัก น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเราแทบจะไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยเลย หรือถึงเหนื่อย ก็เหนื่อยแบบมีความสุข แต่ปัญหาคือเราจะหาสิ่งที่เรารักได้อย่างไร บางคน อาจจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ พอถามว่าอยากทำอะไรตอบได้ทันที อันนี้ต้องบอกว่าขอแสดงความยินดีด้วยครับ แต่มีหลายคน บอกว่ายังตอบไม่ได้ นึกไม่ออกจริง ๆ ผมมีข้อแนะนำสำหรับคนที่ยังหาคำตอบไม่ได้ดังนี้ครับ
1. กำหนดนิยามของสิ่งที่รักให้กว้างไว้ก่อน
คือเราอาจจะยังไม่สามารถบอกได้หรอกครับ ว่าเราอยากทำเครื่องปั้นดินเผาออกจำหน่าย หรือ เราอยากเป็น Podcaster อะไรแบบนี้ ถ้าเราจะพยายามลองนึกชื่อสิ่งที่เราจะทำแคบลงไปแบบนั้น ผมว่า เราอาจจะนึกไม่ออก ผมเสนอให้เราลองถอยออกมาหลาย ๆ ก้าวก่อนครับ ถามตัวเองว่าเราชอบ “ทำ” อะไรบ้าง คำว่า “ทำ” ยังไม่ต้องระบุอะไรมากมาย เราแค่ตอบว่าเราชอบ “พูด” “เขียน” “เล่น” อะไรก็ได้ครับ ที่เราชอบ
ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นตัวผม ถามว่าผมชอบทำอะไร คำตอบอาจจะเป็น ผมชอบแบ่งปันความรู้และเรื่องราวต่าง ๆ เอาแบบกว้าง ๆ แบบนี้ก่อน เขียนออกมาให้หมดครับ ยังไม่ต้องสนใจหรอกครับว่า สิ่งที่เราชอบมันจะทำเงินได้ไหม เราจะมีความสามารถพอไหม เอาแค่ชอบก็พอครับ
2. จากสิ่งที่เรารักที่กว้าง ๆ เราลองใส่รายละเอียดเพิ่มลงไป
คราวนี้ พอเราพอจะบอกได้ว่าเราชอบอะไรแล้ว เราค่อย ๆ ใส่รายละเอียดลงไป เอาตัวอย่างของผมนะครับ ผมชอบแบ่งปันความรู้ แต่ไม่ใช่ทุกประเภท ผมอาจจะใส่รายละเอียดไปว่า ผมชอบแบ่งปันความรู้เรื่องการบริหารจัดการ และ การพัฒนาตัวเอง อะไรแบบนี้ หรือเราจะลงรายละเอียดไปได้อีก เช่น โดยการแบ่งปันความรู้นั้น ไม่ใช่ผ่านการพูด แต่ผ่านการเขียน อะไรแบบนี้เป็นต้น
3. เริ่มลงมือทำ
เคยมีคำกล่าวว่า เราหา Passion ไม่ได้หรอก เราต้องสร้างมันขึ้นมา แปลว่า ถ้าเราเอาแต่คิด เราจะไม่มีวันแน่ใจเลยว่า เราชอบทำสิ่งนั้นจริง ๆ หรือเปล่า เช่น ผมอาจจะคิดว่า ผมชอบเขียน อยากเป็นนักเขียน แต่ถ้าผมไม่ได้ลงมือเขียนจริง ๆ ผมคงบอกไม่ได้หรอกว่า ผมชอบจริงไหม
ดังนั้น จากข้อที่ 2 เมื่อเราพอจะกำหนดได้คร่าว ๆ แล้วว่า ผมชอบเขียน แนะนำให้เราเริ่มต้นเขียน ใครคิดว่าชอบทำอาหาร ก็ควรเริ่มต้นทำ ในขั้นนี้ ยังไม่ต้องไปสนใจเรื่องรายได้นะครับ (เอาไว้ถึงช่วงหลัง ๆ ค่อยมาคิดถึงเรื่องนี้) อย่างเช่น อยากทำอาหารก็ทำ ทำกินเองก็ได้ หรือจะไปให้คนอื่นลองชิมก็ได้
การลงมือทำนี่แหละ บางที จะทำให้เรารู้ตัวว่า บางอย่างที่เรา “คิด” ว่าเราชอบ จริง ๆ แล้วเราไม่ชอบขนาดนั้น เราคิดว่าเราชอบทำขนม แต่พอทำกว่าได้มาสักชิ้น เหนื่อยแทบแย่ เราอาจจะค้นพบว่า เราชอบกินขนมมากกว่าทำขนมก็ได้
4. สังเกตตัวเอง
ในระหว่างการทำนั้น ให้เราสังเกตตัวเองให้ดีว่า มันมีช่วงไหนที่เราเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า Flow หรือแปลเป็นไทยว่า สภาวะลื่นไหล Flow คือสภาวะที่เราแทบลืมวันลืมคืนไปเลยครับ เวลาที่ได้ทำอะไรที่ชอบมาก ๆ (เหมือนผมชอบเขียน) เราจะไม่มานั่งคิดว่า เมื่อไรจะเสร็จสักที รู้ตัวอีกทีก็เที่ยง ก็เย็นแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราจะเจอสภาวะนี้กันได้ทุกคนนะครับ แต่จะบอกว่า ถ้าเจอรีบจดไว้เลยครับ เพราะมันเป็นสัญญาณอันทรงพลังว่า สิ่งนี้เราอาจจะชอบมาก ๆ ก็ได้
5. ไม่หยุดที่จะทดลอง
ใครที่เริ่มทำข้อที่ 1-4 แล้ว ก็ยังไม่พบสิ่งที่ตัวเองรักหรือชอบสักที ไม่เป็นไรครับ อย่ากดดันตัวเอง นี่คือชีวิตเรา มันคุ้มที่จะใช้เวลาค้นหา ทดลองไปเรื่อย ๆ ครับ อะไรดูเข้าข่ายจดไว้ อะไรไม่ใช่ก็จดไว้ว่า ไม่ใช่ (วันหลังจะได้ไม่ทำอีก)
ผมว่า 5 ข้อนี้แหละครับ ที่จะทำให้เราค้นพบงานในฝัน ที่เราจะใช้เวลาว่างหรือวันหยุดมาเริ่มทำ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!