ความลำเอียงกับสถานะปัจจุบัน (Status Quo Bias)

ปกติผมสอนวิชาที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ และผมก็มักจะพบว่าคนเราตัดสินใจหลาย ๆ อย่าง ที่ดูเผิน ๆ เร็ว ๆ แล้วก็ดูเหมือนว่ามีเหตุผลสมควร แต่พอมาพิจารณาอีกที ก็จะพบว่า เอ นี่เราไม่มีเหตุผลนี่หว่า (อันนี้รวมตัวผมด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าผมจะดีไปกว่าคนอื่นแต่ประการใด)

แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นคือหลายครั้ง ตัวเราก็คิดว่าเรามีเหตุผลครับ ถึงจะมีคนมาแย้งก็ตาม เพราะเรามักจะเอาเหตุผลมาอธิบายการตัดสินใจของเราได้เสมอ เรียกว่า จริง ๆ แล้วเหตุผล มาหลังการตัดสินใจครับ

ผมอ่านหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพบว่าการตัดสินใจเรามันมีหลุมพรางจำนวนมหาศาลทีเดียว แต่ที่จะมาชวนคุยวันนี้คือหลุมพรางที่เรียกว่า Status Quo Bias ครับ

เอ เจ้า Status Quo Bias มันคืออะไร อธิบายง่าย ๆ ไม่ต้องมีทฤษฎีอะไรมาก เดี๋ยวจะปวดหัวกันซะก่อน คำว่า Status Quo มันก็คือสถานะปัจจุบันของเราครับ คนเราส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง เรียกง่าย ๆ ว่าเรามักจะชอบสิ่งที่เรามีอยู่แล้วนั่นแหละครับ ถ้าจะให้เปลี่ยน สิ่งที่เราจะเปลี่ยนมันต้องดีกว่าเดิมมาก ๆ

จริง ๆ หนังสือในต่างประเทศก็มีการทดลองกันมามากทีเดียว แล้วผลมันก็ยืนยันสิ่งนี้ แต่ในฐานะนักวิจัย ไม่ลองทำเอง มันก็ไม่สนุกจริงไหมครับ 555

เนื่องจากส่วนตัวชอบกีฬาฟุตบอลมาก ก็เลยขอลองกับกีฬานี้แหละ เผอิญช่วงที่กำลังเขียนเรื่องนี้ ในวงการฟุตบอลกำลังมีข่าวว่าทีมบาร์เซโลน่า ทีมฟุตบอลชั้นนำของสเปน กำลังสนใจในตัวคูตินโญ่ กองกลางระดับโลก ที่อยู่ทีมลิเวอร์พูล และมีข่าวว่าจะยื่นซื้อนักเตะคนนี้ด้วยค่าตัว 127 ล้านปอนด์ ซึ่งถือว่าสูงมาก ๆ ทีเดียว

ผมก็เลยได้โอกาส เลยไป Post Facebook ถามแฟนบอลทีมลิเวอร์พูล 3 คำถาม ดังต่อไปนี้

  1. ถ้าได้เงิน 127 ล้านปอนด์ ลิเวอร์พูลควรขายคูตินโญ่ไหม

  2. ถ้าสมมุติว่าตอนนี้ไม่มีคูตินโญ่ในทีม แล้วมีเศรษฐีคนหนึ่ง ยื่นข้อเสนอ 2 อย่างให้ทีมลิเวอร์พูล คือ เอาตัวคูตินโญ่ไป หรือไม่ก็ เอาเงิน 127 ล้านปอนด์ ไป ท่านคิดว่าควรจะเลือกอันไหน

  3. ถ้าสมมุติว่าตอนนี้ไม่มีคูตินโญ่ในทีม แต่ทีมมีเงิน 127 ล้านปอนด์ และทีมสามารถซื้อคูตินโญ่ได้ ควรจะเอาเงิน 127 ล้านปอนด์ซื้อคูตินโญ่ไหม

เอาล่ะครับ ขอบอกไว้ตรงนี้ก่อนว่า นี่ไม่ใช่งานวิจัยวิชาการ เพื่อตีพิมพ์ใน International Journal อะไรแบบนั้นนะครับ คำถามเหล่านี้ ยังมีจุดอ่อนอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่นยังบอกรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ได้ลงลึก ครบถ้วนหมดทุกอย่าง แต่อยากทำเพื่อทดลองปรากฏการณ์นี้เล่น ๆ เท่านั้น

ต้องขอบคุณคนตอบมาก ๆ ครับ วันเดียวมาตอบกันถึง 37 คน (และกำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ) แต่ผลมันออกมาคล้าย ๆ เดิม เลยเอาข้อมูลมาเล่าให้ฟังก่อนครับ

หลายคนก็ตอบตามความรู้สึก และผมบอกเลยนะครับว่า ไม่มีคำตอบผิด หรือ ถูก มันเป็นความรู้สึกของผู้ตอบเท่านั้น แต่สิ่งที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้ครับ

ในข้อที่ 1 มีคนเลือกคูตินโญ่ (คือไม่ขายคูตินโญ่) 70.3%  เลือกจะรับเงิน 127 ล้านปอนด์ (คือขายคูตินโญ่) แค่ 29.7%

ในข้อที่ 2 มีคนเลือกคูตินโญ่ เพียง 29.7% และกลายเป็นว่าเลือกรับเงิน 127 ล้านปอนด์ เป็น 70.3%

ในข้อที่ 3 มีคนเลือกคูตินโญ่ (คือซื้อคูตินโญ่) เหลือเพียง 5.4% และเลือกเก็บเงิน 127 ล้านปอนด์ที่มีไว้เอาไปใช้อย่างอื่น สูงถึง 94.6%

แล้วยังไง มีอะไรที่แปลก อย่างนี้ครับ คือคำถามทั้งสามข้อนั้น มันเป็นคำถามที่ให้เราประเมินทางเลือกระหว่าง คูตินโญ่ กับ เงิน 127 ล้านปอนด์ ว่าอันไหนจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสโมสรใช่ไหมครับ เพียงแต่ว่าสิ่งที่คำถามทั้ง 3 คำถามมันแตกต่างกันคือ Status Quo หรือสถานะปัจจุบันที่เป็นอยู่ไงครับ

คำถามแรกคือ สถานะปัจจุบันคือเรามีคูตินโญ่อยู่ แล้วคนพยายามให้เราเปลี่ยนสถานะโดยมาขอซื้อคูตินโญ่ด้วยเงิน 127 ล้านปอนด์ ส่วนคำถามที่สองผมปลดล็อกออกบอกว่า ถ้าตอนนี้ไม่มีอะไรอยู่เลย ทั้งคูตินโญ่ ทั้งเงิน 127 ล้านปอนด์ และคำถามที่สาม ผมเปลี่ยนสถานะใหม่ว่า ถ้าเรามีเงิน 127 ล้านปอนด์อยู่ ให้เราเปลี่ยนสถานะคือให้เอาเงินไปซื้อคูตินโญ่ เราจะเอาไหม

และท่านเห็นไหมครับว่าเกิดอะไรขึ้น ข้อแรกพอเรามีคูตินโญ่อยู่ เราก็ไม่อยากเสียไปใช่ไหมครับ % ของคนที่ตอบว่าไม่ควรขาย มันเลยสูงถึง 70.3% แต่พอมาข้อที่ 2 บอกว่าแล้วถ้าเราไม่มีอะไรเลยอยู่ล่ะ ให้เลือก คนส่วนใหญ่กลับเลือกเอาเงินมากกว่า เลือกคูตินโญ่แค่ 29.7% เอง

ลองดูดี ๆ นะครับ ข้อที่ 1 กับ 2 มันก็คือคำถามเดียวกันนะครับ คือถ้าเหตุผลข้อแรกคือเราไม่ควรขายคูตินโญ่ ก็แปลว่าเราคิดว่าเงิน 127 ล้านมันสร้างประโยชน์ให้กับทีมได้น้อยกว่าการมีคูตินโญ่อยู่จริงไหมครับ เพราะฉะนั้นข้อที่ 2 เราก็ควรเลือกเอาคูตินโญ่เหมือนเดิม และเราก็ควรปฏิเสธไม่รับเงิน 127 ล้านปอนด์นั้นไป

ยิ่งมาดูข้อที่ 3 ยิ่งชัดใหญ่ครับ คราวนี้ เรามีเงิน 127 ล้านปอนด์อยู่ในมือ ถามว่าควรเอาไปซื้อคูตินโญ่ไหม คราวนี้คนส่วนใหญ่ถึง 94.6% บอกว่าไม่ซื้อหรอก เอาไปซื้อกองกลาง กองหลังดีกว่า งั้นแปลว่าเงิน 127 ล้านปอนด์ที่มีเราสามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้กับทีมได้ดีกว่าการมีคูตินโญ่ใช่ไหมครับ แต่ทำไมตอนมีคนเอาเงินมาให้ 127 ล้านปอนด์ขอซื้อคูตินโญ่ในข้อแรก เราถึงไม่ขายล่ะครับ แล้วก็เอาเงิน 127 ล้านปอนด์ไปซื้อกองกลางกับกองหลังดีกว่า มีคูตินโญ่ในทีมอีก (เหมือนที่ตอบในข้อที่ 3)

เหตุผลง่าย ๆ คือเรามี Status Quo Bias ครับ เราให้มูลค่าของสิ่งที่เรามีมากขึ้นเป็นพิเศษ เราไม่ชอบการเปลี่ยนสถานะครับ เพราะการตัดสินใจทั้ง 3 ข้อนั้น มันคือการประเมินมูลค่าของคูตินโญ่ทีี่มีต่อทีม กับจำนวนเงิน 127 ล้านปอนด์ และสำหรับหลาย ๆ คนนั้น หากเรามีคูตินโญ่ในทีมอยู่แล้ว เราจะประเมินเขาว่ามีมูลค่าสูงกว่า 127 ล้านปอนด์ (ไม่ว่าจะใช้ปัจจัยใดประเมิน) เพราะเราไม่อยากขายเขา แต่ถ้า Status ปัจจุบันคือ คูตินโญ่ไม่ได้อยู่ในทีม สำหรับหลาย ๆ คน มูลค่าของคูตินโญ่ที่มีต่อทีมต่ำกว่า 127 ล้านปอนด์ทันที ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นคูตินโญ่คนเดิมนี่แหละ

ใช่ครับ คำถามผมอาจจะยังไม่ได้ครอบคลุม หรือลงลึกลงรายละเอียด และไม่ได้ควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งหลายคนอาจจะทักท้วงได้ว่า อ้าว คิดว่าหมายถึงแบบนั้นแบบนี้ ไม่เป็นไรครับ เราแค่ลองดูเฉย ๆ แต่ประเด็นที่สำคัญที่อยากนำมาเล่าคือเรื่อง Status Quo Bias นี้แหละครับ

แล้วข้อเรียนรู้คืออะไร อย่างนี้ครับ พอผมเห็นเรื่องนี้ เวลาผมจะตัดสินใจอะไร ผมจะถามตัวเอง 3 คำถามนี้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ผมมีหุ้น XXX ใน Port มูลค่า 2 แสนบาท แล้วกำลังลังเลว่า เอขายทิ้งซะดีไหม (ไม่ว่าจะติดดอย หรือ ทำกำไร ก็ได้ทั้งนั้นครับ) ผมจะถามตัวเอง 3 คำถามอย่างนี้ครับ

  1. เราควรขายหุ้น XXX นี้ไหม

  2. ถ้าเราไม่มีหุ้น XXX อยู่ และมีคนเสนอทางเลือก 2 ทางคือ เอาหุ้น XXX มาให้ หรือ เอาเงิน 2 แสนบาท จะเลือกอะไร

  3. ถ้าเราไม่มีหุ้น XXX อยู่ แต่มีเงินอยู่ 2 แสนบาท เราควรเอาเงิน 2 แสนบาทนี้ไปซื้อหุ้น XXX ไหม

ถ้า 3 คำตอบนี้ไปในทิศทางเดียวกัน เช่นข้อที่ 1 ตอบควรขาย ข้อที่ 2 ตอบเอา 2 แสนบาท ข้อที่ 3 บอกไม่เอาเงิน 2 แสนบาทไปซื้อหรอก อันนี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่า เราประเมินเพื่อลด Status Quo Bias ลงแล้ว เราก็น่าจะขาย แต่ถ้ามันยังขัดแย้งกัน บางทีเราอาจจะเตือนตัวเองว่า จริง ๆ ที่เราไม่ขาย มันเป็นเพราะ Status Quo Bias หรือเปล่า

อ้อ บทเรียนอีกเรื่องคือ คนไทยเป็นแฟนบอลหงส์แดงเยอะมากและน่ารักมากครับ ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยมาให้ความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho