14 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ Unicorn Tears

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Jamie Pride ที่เป็นนักลงทุน ผู้ประกอบการ และผู้สร้าง Startup หนังสือนี้ทำให้เราเห็นมุมของ Startup ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้เราเห็นภาพอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราไม่เคยทราบ ผมอ่านแล้ว เลยขอนำมาสรุปเป็นข้อคิดไว้ดังนี้ครับ

1. คำว่า Unicorn จะหมายถึง Startup ที่อยู่รอด และมีมูลค่าการตลาดแตะถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน Unicorn Tears คือ Startup ที่ไปไม่รอดใน 3 ปีแรกในการก่อตั้ง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึงประมาณ 92% ของ Startup ทั้งหมด

2. ถึงแม้ว่า Startup ที่ล้มเหลวมีสูงถึง 92% แต่หลายคนก็ยังสนใจทำ Startup ก็คล้าย ๆ กับคาสิโนที่จริง ๆ หลายคนก็รู้ว่าโอกาสที่จะรวยมีน้อยกว่า แต่คนก็ยังชอบเล่นการพนันในคาสิโน

3. 3 ขั้นตอนสู่การสร้าง Startup 1) ตั้งคำถามกับแรงจูงใจของคุณ 2) จงเป็นนักเรียนของความล้มเหลว 3) มองหากุนซือ

4. สตีฟ แบลงค์ ให้คำจำกัดความ Startup ไว้ว่าเป็น “องค์กรชั่วคราวที่อยู่ระหว่างเสาะหาโมเดลธุรกิจที่ขยายตัวได้ (Scalable) ทำซ้ำได้ (Repeatable) และทำกำไรได้ (Profitable)”

5. 3 ตัวแปรที่จะส่งผลต่อความล้มเหลวได้แก่ 1) ผู้ก่อตั้ง 2) เงินทุน และ 3) โมเดลธุรกิจ

6. ความล้มเหลวของผู้ก่อตั้งเกิดจาก 1) ผู้ก่อตั้งขาดสมรรถภาพ 2) ผู้ก่อตั้งขาดความสามารถ 3) ความไม่ลงรอยในกลุ่มผู้ก่อตั้ง

7. ความล้มเหลวด้านเงินทุน เกิดจาก 1) ขาดกระแสเงินสด 2) เงินทุนมากเกินไป 3) ความไม่ลงรอยระหว่างนักลงทุนกับผู้ก่อตั้ง

8. ความล้มเหลวด้านโมเดลธุรกิจ เกิดจาก 1) การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด 2) โมเดลธุรกิจไร้ประสิทธิภาพ (ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ) 3) การนำไปปฏิบัติแบบผิด ๆ (ความเป็นไปได้ทางเทคนิค) 4) ปัจจัยคุกคามจากภายนอกหรือการแข่งขัน (ความสามารถในการปรับตัว)

9. บันได 3 ขั้น เพื่อทลายความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ Startup 1) อดทน 2) เรียนรู้คนและปัญหา 3) เข้าร่วมเครือข่ายและหาความรู้

10. 3 ขั้นตอนป้องกันผู้ก่อตั้งแยกทางกันเดิน 1) บันทึกข้อตกลงทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่เนิ่น ๆ 2) ลองใช้งานว่าที่กรรมการบริหารก่อนตัดสินใจแต่งตั้ง 3) แบ่งปันความเสี่ยง (ตัดคนที่ไม่เต็มใจจะแบ่งปันความเสี่ยงออกไป หุ้นส่วนของคุณจำเป็นต้องได้รับค่าตอบแทนบางส่วนในรูปของหุ้นหรือหลักทรัพย์)

11. 3 ขั้นตอนไปสู่แนวคิดที่ดีกว่า 1) เลือกปัญหาที่คุณใส่ใจ 2) ทดสอบคุณค่าที่ต้องการส่งมอบให้ลูกค้า 3) ทดสอบ Model ธุรกิจ

12. 3 ขั้นตอนป้องกันความล้มเหลวเพราะปัญหาด้านเงินสนับสนุน 1) เผชิญความจริง 2) รู้ให้ได้ว่าตัวเองเป็นดาวรุ่งหรือดาวร่วง 3) สร้าง Dashboard สำหรับดัชนีชี้วัดตัวสำคัญ

13. 3 ขั้นตอนไปสู่การเป็นผู้ก่อตั้งที่ฟิตกว่าเดิม 1) สร้างความฟิตให้ร่างกาย 2) สร้างความฟิตให้จิตใจ 3) ฝึกปล่อยวาง

14. การทำ Startup ก็เหมือนกับการทำหนังใน Hollywood มันจะมี 4 ขั้นตอนได้แก่ 1) ปลุกปั้น นั่นคือการตอบโจทย์เชิงปัญหา ที่เราต้องหาคุณค่าที่ต้องการส่งมอบให้กับลูกค้าและหา Model ธุรกิจ 2) เตรียมการถ่ายทำ นั่นคือ การตอบโจทย์ในเชิงการแก้ปัญหา ซึ่งเราต้องทำต้นแบบสินค้าที่ตอบโจทย์ 3) ถ่ายทำ นั่นคือการตอบโจทย์ในเชิงผลิตภัณฑ์หรือตลาด ซึ่งเราต้องมีสินค้าตัวอย่าง (Minimum Viable Product หรือ MVP) และ 4) หลังการถ่ายทำ นั่นคือการตอบโจทย์ Model เชิงธุรกิจ ซึ่งเราต้องมีแผน

ก็เป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคนที่สนใจทำธุรกิจ Startup น่าจะลองหาอ่านกันดูนะครับ ถ้าเป็น eBook ภาษาอังกฤษซื้อได้ที่ Amazon https://amzn.to/3nYVPTY หรือหนังสือแปลเป็นไทยก็มีของสำนักพิมพ์ Amarin How to ชื่อ Unicorn Tears สตาร์ตอัพแบบไหนที่ไม่ได้ไปต่อ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

17 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ Short Cut Your Startup เขียนโดย Courtney and Carter Reum

1. ปัจจุบันเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำ Startup เพราะคนส่วนใหญ่เข้าถึง Internet และมี Mobile Phone ดังนั้นเปรียบเสมือนว่าเรามีสื่ออยู่ในมือ

ขั้นที่ 1 ก่อนเริ่มทำ Startup

2. ทุกคน “สามารถ” ทำ Startup ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคน “ควร” ทำ Startup เราควรดูว่าเราเหมาะไหม

3. เราไม่จำเป็นต้องลาออกเพื่อเป็นผู้ประกอบการ การเป็น “ผู้ประกอบการ” ก็สามารถทำได้ในที่ทำงานของเรา

4. คำถามสำคัญของการทำ Startup คือ 1) เรามองเห็นความสำเร็จเป็นอย่างไร 2) ทำไมถึงยังไม่มีคนทำ และ 3) ทำไมต้องเป็นเราทำ และทำไมต้องตอนนี้

5. ในตอนเริ่มต้น ให้ถามตัวเองก่อนว่า เรากำลังจะสร้างผลิตภัณฑ์ หรือ กำลังจะสร้างบริษัท (หรือทั้งคู่)

6. ในตอนเริ่มต้น ตอบให้ได้ก่อนว่า เราเป็น “เรือเร็ว” หรือ “เรือใบ” เรือเร็วคือ Startup ที่ทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน มีความเสี่ยงสูง ต้องทำอย่างรวดเร็ว ส่วนเรือใบ คือทำตาม Trend หรือเกาะกระแส เช่น อาจจะทำระบบกุญแจ สำหรับคนปล่อยห้อง Airbnb ให้เช่า (Airbnb เป็นเรือเร็ว ส่วนเราเป็นเรือใบ)

7. หาจุดเด่นที่แตกต่างของเราให้เจอ (Unfair Advantages)

ขั้นที่ 2 ขณะที่ทำ Startup

8. ทำเฉพาะในสิ่งที่เป็นจุดแข็งของเรา ที่เหลือให้ Outsource ให้หมด

9. ทดลอง ทำหลาย ๆ รอบ ถ้าไม่ work ก็เริ่มหาหนทางใหม่

10. เวลาตั้งเป้าหมายให้ Set เป็น Milestone ไม่ใช่เป็นเวลา โดย Milestone ที่ดีจะต้อง เกี่ยวข้อง วัดได้ และเป็นเรื่องเงิน

11. หา Model ให้ชัดเจนก่อนที่จะ Scale Up เพราะมันจะช่วย 1) ลดความเสี่ยง 2) ทำให้คนบอกต่อได้ง่าย 3) ทำให้ Investor สนใจ

12. ตัววัดผลที่สำคัญคือ Customer Acquisition Cost (CAC) หรือต้นทุนในการได้ลูกค้ามา และ Customer Lifetime Value (CLV) หรือมูลค่าที่องค์กรจะได้จากลูกค้าตลอดเวลาที่ลูกค้าอยู่กับเรา CAC จะต้องต่ำกว่า CLV

13. การทำให้ดีขึ้นแค่ 1% แต่ต่อเนื่องจะทำให้ผลลัพธ์สุดท้ายดีขึ้นได้ 1,000%

14. หลักการ 4 ข้อที่จะทำให้ลูกค้ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเราคือ 1) จริงใจ 2) มีจุดมุ่งหมายชัดเจน 3) ใช้เรื่องเล่า และ 4) มีวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นบวก

ขั้นที่ 3 ออกจากการทำ Startup

15. การทำ Startup ได้สำเร็จ ไม่ได้หายความว่าเราจะออกจากการทำ Startup (Exit) ได้สำเร็จ

16. ตอนเริ่มทำ Startup ให้คิดถึงตอนจบไว้ก่อนเลย

17. ทำให้ Startup เราเป็นที่น่าสนใจสำหรับบริษัทใหญ่ เช่น ทำตัวเป็นภัยคุกคาม ราคาไม่สูงมาก คุ้มค่ากับการลงทุน หรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีไว้ล่วงหน้า

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

หนังสือ พัฒนาชีวิต คิดแบบ Startup

หนังสือ พัฒนาชีวิต คิดแบบ Startup เป็นหนังสือที่กล่าวถึงการนำเอาแนวคิดของการดำเนินธุรกิจแบบ Startup มาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของเรา

หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้กล่าวถึงวิธีการทำธุรกิจ Startup แต่เป็นการเอาความรู้ที่ Startup ใช้ในการสร้างความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจ มาปรับใช้ เพื่อทำให้ชีวิตเราเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด

หลักการ 3 ประการที่ Startup ใช้ ได้แก่ การขยายตัวโดยไม่ต้องใช้สินทรัพย์หรือเวลา (Scalable) ความสามารถนำการทำซ้ำ (Repeatable) และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ (Innovation) ก็น่าจะนำมาใช้ได้กับการดำเนินชีวิตของเราเช่นกัน

หนังสือมีจำหน่ายที่ร้านซีเอ็ด ร้านนายอินทร์ และ ร้าน B2S ทั่วประเทศ แต่หากต้องการสั่งซื้อผ่าน Blog นี้ รบกวนกรุณาโอนเงินจำนวน 190 บาท (ค่าส่งไม่ต้อง) มาที่บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 365-239407-3 และส่งหลักฐานการโอนเงินไปที่ m.me/NPIntelligence จะมี Admin ช่วยจัดการให้ครับ

หวังว่าหนังสือจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

Lean Analytics: Use Data to Build a Better Startup Faster

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีกระแสเกี่ยวกับ Startups เกิดขึ้น แต่คำว่า Startups อาจจะยังเป็นคำที่หลายคนมีความเข้าใจผิดหรือสับสนว่าแตกต่างจากคำว่า SMEs อย่างไร ถ้าเราจะว่าไปแล้ว Startups ก็เป็น SMEs ประเภทหนึ่งในตอนที่ก่อตั้ง เพียงแต่ว่าลักษณะเด่นของ Startups คือมันเป็นองค์กรที่มีลักษณะ “ชั่วคราว” กล่าวคือ Startups เป็นองค์กรที่กำลังหารูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสม และ Startups ยังเป็นองค์กรที่มุ่งที่จะสร้างการเจริญเติบโต (Scalable) อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากนักเหมือนกับที่ Google Facebook หรือ Uber ทำได้มาแล้ว

.
ปัจจุบันมีหนังสือจำนวนมากที่เขียนถึง Startups แต่หนังสือเล่มหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในวงการคือหนังสือที่มีชื่อว่า Lean Startup ซึ่งเขียนขึ้นโดย Eric Ries ในหนังสือเล่มดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงวงจรสำคัญที่ Startups ทุกที่จะพบเจอ ได้แก่ Build-Measure-Learn หรือ เริ่มจากการสร้างสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าต้องการ วัดผล และเรียนรู้
แต่หนังสือที่กำลังจะแนะนำในบทความนี้ ไม่ใช่หนังสือเล่มดังกล่าว อาจจะเป็นหนังสือที่เรียกได้ว่า จับเอาประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งในหนังสือเรื่อง Lean Startup มาขยายต่อก็ว่าได้ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า Lean Analytics เขียนโดย Alistair Croll และ Benjamin Yoskovitz

.
หนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งของการทำ Startups คือขั้นตอนของการวัดผล (Measure) ซึ่งด้วยลักษณะของ Startups ซึ่งแตกต่างจากองค์กรโดยทั่วไปแล้ว การวัดผลที่เคยถูกนำมาใช้ในองค์กรทั่วไปอาจจะไม่เหมาะสมกับ Startups นัก

.
จากความหนาทั้งหมด 409 หน้า หนังสือเล่มนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ๆ โดยผู้เขียนใช้ชื่อของแต่ละส่วนดังต่อไปนี้ 1) เลิกโกหกตัวเองได้แล้ว 2) หาตัววัดที่ถูกต้องสำหรับตอนนี้ 3) เส้นที่อยู่บนพื้นทราย และ 4) การนำเอา Lean Analytics ไปใช้งาน

.
ในส่วนแรกที่ผู้เขียนตั้งชื่อว่า “เลิกโกหกตัวเองได้แล้ว” นั้น ประกอบด้วย 4 บท คือบทที่ 1-4 จะว่าไปแล้วในส่วนนี้จะเป็นบทนำที่เป็นที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ โดยผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกรณีต่าง ๆ เช่น Airbnb ที่ประสบความสำเร็จได้จากการนำเอาข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจ รวมถึงการแบ่งประเภทของตัววัด แนวคิดการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่จะแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เราจะได้รับมา

.
ในส่วนที่ 2 คือ “หาตัววัดที่ถูกต้องสำหรับตอนนี้” จัดได้ว่าเป็น Highlight ของหนังสือเล่มนี้ก็ว่าได้ โดยในส่วนนี้มีทั้งสิ้น 16 บท ตั้งแต่บทที่ 5 จนถึงบทที่ 20 โดยผู้เขียนเริ่มที่จะนำเสนอ Framework ต่าง ๆ ที่ Startups มักจะนำมาใช้วัดผล ยกตัวอย่างเช่น Framework ที่เรียกว่า AARRR ซึ่งมาจากคำว่า Acquisition – Activation – Retention – Revenue – Referral หรือ Framework ของ Eric Ries ผู้เขียนหนังสือ Lean Startup ที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า Engines of Growth หรือเครื่องยนต์ที่จะผลักดันให้ Startup เติบโต

.
จากแนวคิดพื้นฐานเหล่านั้น ผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “One Metric That Matters” (OMTM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่า Startups ไม่มีความจำเป็นต้องวัดอะไรมากมาย เพราะอย่าลืมว่า Startups ยังเป็นองค์กรที่กำลังค้นหารูปแบบทางธุรกิจของตัวเอง สิ่งที่ Startups ต้องการจึงเป็นเพียงแค่ตัววัดเดียว ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ที่จะบอกว่าสิ่งที่ Startups ทำนั้นถูกหรือผิด ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรต่อไป นอกจากนี้ ตัววัดที่สำคัญต่าง ๆ ของรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกัน ย่อมมีความแตกต่างกัน โดยผู้เขียนได้นำเสนอรูปแบบธุรกิจของ Startups ทั้งสิ้น 6 รูปแบบได้แก่ 1) E-Commerce 2) Software as a Service (SaaS) 3) Free Mobile App 4) Media Site 5) User-Generated Content และ 6) Two-Sided Marketplaces

.
นอกเหนือจากรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกันแล้ว ในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ Startups ย่อมต้องการตัววัดที่แตกต่างกัน โดยผู้เขียนแบ่งขั้นตอนของ Startups ออกเป็น 5 ขั้นตอนย่อยได้แก่ 1) การสร้างความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า (Empathy) 2) การทำให้ลูกค้าติดใจ (Stickiness) 3) การบอกต่อ (Virality) 4) การสร้างรายได้ (Revenue) และ 5) การขยายธุรกิจ (Scale)

.
สำหรับส่วนที่ 3 ของหนังสือเล่มนี้ คือส่วนที่ผู้เขียนเรียกว่า “เส้นที่อยู่บนพื้นทราย” ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อเราทราบตัววัดต่าง ๆ ที่เหมาะสมแล้ว “ค่าของตัววัด” เหล่านั้น จะเป็นเท่าไรที่เรียกได้ว่าขณะนี้เราประสบความสำเร็จแล้ว เหมือนกับการขีดเส้นบนพื้นทรายว่าผ่านไปตรงนี้ถือว่าดี ถ้าต่ำกว่านี้แสดงว่ายังไม่ใช่ โดยในส่วนนี้มีทั้งสิ้น 8 บท ตั้งแต่บทที่ 21 ไปจนถึงบทที่ 28 ผู้เขียนได้นำเสนอค่าเหล่านี้ ตามรูปแบบธุรกิจ Startups ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในส่วนที่ 2

.
สำหรับส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ คือการนำเอาตัววัดเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์นั้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงรูปแบบธุรกิจอื่น ๆ ที่สามารถนำเอาแนวคิดนี้ไปใช้ได้ เช่นการขายในลักษณะขององค์กรสู่องค์กร การใช้ในองค์กรที่มีขนาดใหญ่ (ที่มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น) และสุดท้ายก็เป็นบทสรุปของหนังสือเล่มนี้

.
จะเห็นได้ว่าหนังสือเล่มนี้มีความครบเครื่องเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับการวัดผลในองค์กร Startups โดยหากเป็นผู้ประกอบการ ก็สามารถเลือกอ่านเฉพาะในส่วนของที่เป็นรูปแบบธุรกิจที่ตนเองกำลังดำเนินการอยู่ จุดเด่นอีกประการของหนังสือเล่มนี้คือไม่ได้เป็นเพียงแค่นำเสนอตัววัดที่สมควรพิจารณาเท่านั้น ยังมีการเสนอแนะค่าเชิงปริมาณต่าง ๆ ที่จะใช้ในการตัดสินใจว่า ณ ขณะนี้องค์กรเราเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง

.
ประเด็นเดียวเท่านั้นที่อาจจะมีส่วนทำให้หนังสือนี้ อ่านได้ลำบาก คือการจัดเรียงหัวข้อในหนังสือ ซึ่งในขณะที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงรูปแบบทางธุรกิจต่าง ๆ ในส่วนที่ 2 นั้น หากสามารถแทรกเรื่องค่าของตัววัดที่นำเสนอในส่วนที่ 3 เข้าไปด้วยพร้อม ๆ กันในหัวข้อเหล่านั้น อาจจะทำให้จำนวนบทมีน้อยลง และผู้อ่านที่ทำธุรกิจในประเภทนั้น ๆ สามารถที่จะเลือกอ่านบทนั้นเพียงบทเดียว ไม่จำเป็นต้องพลิกหาข้อมูลเพิ่มเติมในบทอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

.
แต่โดยภาพรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังทำ Startups รวมถึงผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องการวัดผล Startups และน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้วงการ Startups เจริญเติบโตต่อไปในอนาคต

.
บรรณานุกรม
Croll, A. and Yoskovitz, B. (2013) Lean Analytics: Use Data to Build a Better Startup Faster, O’Reilly Media Inc., CA, USA.

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

Startup มีกี่ประเภท

 

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Startup กันมาบ้างแล้ว และก็รู้จัก ความหมายของคำว่า Startup ว่าต่างจาก SMEs อย่างไร หรือแม้กระทั่งอยากจะสร้าง Startup เป็นของตัวเอง แต่อาจจะยังไม่ทราบว่า เอ แล้ว Startup มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

ก่อนอื่นบอกก่อนนะครับว่า ประเภทของ Startup นั้น มันขึ้นอยู่กับว่าเราใช้อะไรในการแบ่ง จะได้ไม่ต้องสงสัยว่า ทำไม่หนังสือแต่ละเล่ม บอกประเภทของ Startup ไม่เท่ากัน

สำหรับเล่มนี้ ประเภทของ Startup จะขอแบ่งจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันนะครับ โดยผมขออ้างอิงจากหนังสือชื่อ Lean Analytics ที่เขียนโดย Alistair Croll และ Benjamin Yoskovitz นะครับ

เอาล่ะครับ พร้อมแล้วมาดูกันต่อเลย ว่า Startup มีกี่ประเภท

1. E-Commerce

ผมว่า Startup ประเภทนี้ คนไทยน่าจะรู้จักดีที่สุด เพราะอาจจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว รูปแบบธุรกิจก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร คือ ก็เอาของมาขายทาง Website และพยายามดึงคนให้เข้ามาซื้อให้มากที่สุด

Startup ชั้นนำระดับโลก ที่ใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจรูปแบบนี้ ได้แก่ Amazon โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ที่เขาขายหนังสือผ่าน Website ก็มีลักษณะแบบนี้เลยครับ (แต่ระยะหลัง เขาก็เพิ่มรูปแบบอื่น ๆ เข้าไปด้วยเหมือนกัน)

E-Commerce ของประเทศไทยนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทใหญ่ ๆ ที่ลงมาเล่นในตลาดนี้ไม่น้อยเช่นกัน เช่น กลุ่ม Central ก็มีการทำ E-Commerce เพื่อรองรับกระแสของความนิยมในการซื้อของ Online ของคนไทยจำนวนไม่น้อย สำหรับรายได้หลักของ Startup รูปแบบนี้ก็คือรายได้จากการขายของผ่านช่องทาง Online ต่าง ๆ นั่นเอง

2. Software as a Service

รูปแบบของ Startup แบบนี้ คือการสร้าง Software ขึ้นมา เพื่อให้บริการกับลูกค้าในเรื่องต่าง ๆ ตัวอย่าง Startup ของไทย เช่น FlowAccount ซึ่งเป็น Software ที่ให้บริการในการทำบัญชีกับ SMEs ต่าง ๆ รายได้หลักของ Startup ในรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากค่าสมัครสมาชิกเพื่อใช้บริการ Software นั้น ๆ

3. Mobile App

อันนี้ก็เป็นรูปแบบอันหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือ Startup นั้น ๆ ก็จะเขียน Mobile Application ออกมา เพื่อให้บริการลูกค้า ถ้านึกไม่ออก ก็นึกถึงพวกเกมต่าง ๆ ก็ได้ครับ รายได้ ก็จะมาจากการที่เราซื้อ App เหล่านั้นมาใช้ใน Smart Phone ของเรา หรือบางทีมันก็จะมีให้เราซื้อ Feature ต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น เกมบางอย่างอาจจะ Load free แต่พอเล่นไปเล่นมา เราก็อาจจะอยากซื้อ item ต่าง ๆ เพิ่มเติมใน App แบบนี้เป็นต้น

4. Media

อันนี้เป็นประเภทของ Startup ที่เราอาจจะไม่ค่อยได้ยินข่าวสารมากนัก แต่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่มีความน่าสนใจทีเดียวครับ รูปแบบของ Media ก็ตามชื่อเลยครับ เป็นสื่อ ที่ให้ความรู้ หรือข่าวสารต่าง ๆ แก่ผู้ที่สนใจ ตัวอย่าง ถ้าเป็นระดับโลกก็เช่นพวก CNN ตัวอย่างของไทยก็สื่อต่าง ๆ เช่น Sanook.com Workpoint TV Nation TV Spring News เป็นต้น รายได้ของ Media ก็อาจจะมาได้จากหลายทาง เช่น การโฆษณา การทำ Affiliate Marketing (คือเขียน Content โฆษณา ให้เขากดเข้าไปซื้อของนั้น ๆ และ Media startup ก็จะได้ % จากรายได้) เป็นต้น

5. User-Generated Content

อันนี้เป็น Model ของ Startup ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ หัวใจหลักของ Startup ประเภทนี้ คือจะต้องมีคนมาสร้าง Content ขึ้น และก็จะมีคนมาอ่าน ที่เรารู้จักกันมากที่สุด ก็ Facebook นี่แหละครับ ทีมงาน Facebook ไม่ต้องมานั่งเขียน Content ต่าง ๆ ให้เราอ่านเลย (ไม่เหมือนกับ Media ที่ต้องเขียน Content ขึ้นมา) ก็พวกเราเองนี่แหละครับที่เข้าไป Post ข้อความ และก็มีเพื่อน ๆ เราเข้ามาอ่านข้อความต่าง ๆ

ตัวอย่างของ Startup ในรูปแบบนี้ของประเทศไทย เช่น Storylog หรือ Fictionlog ซึ่งเป็น Platform ให้คนที่อยากเขียนเรื่องราวเข้าไปเขียนได้ Storylog จะเป็นเรื่องราวทั่ว ๆ ไป ส่วน Fictionlog ก็จะเป็นนิยาย

โดยรายได้ของ Startup เหล่านี้ อาจจะได้จากหลายทาง เช่น ใน Fictionlog เมื่อนักเขียนเข้ามาเขียนนิยาย และมีคนติดตามมาก ก็จะสามารถขายนิยายได้ ส่วนบริษัทก็หักค่าดำเนินการไปได้ หรืออย่าง Facebook ถึงแม้ผู้ใช้ทุกคนจะใช้งานได้ Free แต่ Facebook ก็เริ่มเก็บค่าโฆษณาของคนทำ Page ต่าง ๆ แบบนี้เป็นต้น

6. 2-Sided Market

รูปแบบนี้ ดูเหมือนจะคล้าย ๆ กับ E-Commerce แต่ความแตกต่างอยู่ตรงที่ เราไม่ได้เอาของมาขายเอง แต่เปิดโอกาสให้ผู้ขายกับผู้ซื้อมาเจอกัน เช่น ETSY eBay Alibaba หรือแม้กระทั่ง Amazon เดี๋ยวนี้ เขาก็เปิดให้ผู้ขายมาสร้างร้านขายสินค้า และผู้ซื้อก็มาซื้อสินค้า โดย Amazon ก็เก็บ % ค่าดำเนินการไป

ในประเทศไทยก็มี Startup ในรูปแบบนี้จำนวนไม่น้อย เช่น Lnw Shop (เทพช็อป) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ขายมาสร้างร้าน และให้ผู้ซื้อเข้ามาซื้อของผ่าน Platform ได้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ก็เก็บค่าใช้จ่ายจากบริการเสริมต่าง ๆ สำหรับให้ผู้ขายเลือกใช้ เช่น การโฆษณา การตกแต่ง การวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม หรือการอบรมสัมนาเกี่ยวกับการเพิ่มยอดขาย
จะเห็นได้ว่า Startup นั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ แตกต่างกันออกไป หวังว่าท่านจะรู้จักและเข้าใจ Startup แต่ละประเภทมากขึ้นนะครบั

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

มารู้จัก Startup กัน

เดี๋ยวนี้ เราอาจจะสังเกตเห็นคำว่า Startup อย่างแพร่หลายในวงกว้างใช่ไหมครับ หลายคนอาจจะเข้าใจอยู่แล้วว่ามันคืออะไร แต่ผมเชื่อว่าหลายคนยังไม่แน่ใจ

งั้นเรามาทำความรู้จัก Startup กันสักหน่อยดีกว่า Startup ในความหมายทางธุรกิจ คือองค์กรที่ตั้งขึ้นมาทำธุรกิจ แล้วมีลักษณะเด่นดังต่อไปนี้

อย่างแรกคือมันต้องสามารถขยายตัวได้ โดยไม่ต้องใช้สินทรัพย์หรือเวลามากนัก (Scalable)

แปลว่าอะไร ?

จุดนี้แหละครับ ที่คนหลายคนสับสนระหว่างคำว่า Startup กับ SMEs แม้กระทั่งบางที ภาครัฐที่ให้การสนับสนุนเรื่อง Startup ก็ยังมีความสับสนระหว่าง 2 คำนี้

Startup อาจจะมีลักษณะเป็นองค์กรขนาดเล็ก (ในช่วงตั้งต้น) ซึ่งตามนิยามก็คือ SMEs นั่นแหละ แต่ SMEs มันไม่จำเป็นต้องเป็น Startup!

อ้าวแล้วแตกต่างกันอย่างไร เมื่อไรจะบอกซะที

คืองี้ครับ ถ้าสมมุติผมเปิดร้านบะหมี่ ร้านหนึ่งเล็ก ๆ ไม่ได้ใหญ่โตอะไร อย่างนี้เรียกว่าผมเป็น SMEs ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ คราวนี้ ผมเริ่มประสบความสำเร็จ คนเข้ามากินบะหมี่ผมเยอะ ผมมีเงินมากขึ้น ผมก็จึงสามารถขยายสาขาไปได้เรื่อย ๆ อย่างนี้จะเรียกว่าผมเป็น Startup หรือไม่

คำตอบคือ “ไม่” ครับ !!! อ้าวทำไมล่ะ ผมก็เติบโตนะ

ใช่ เติบโต แต่การขยายสาขา แต่ละสาขา มันหมายความว่า ผมต้องลงทุนเพิ่มตลอด และยิ่งถ้าผมต้องเป็นคนทำบะหมี่เอง ถามว่า ผมจะมีเวลาไปทำบะหมี่ขายได้สักกี่สาขาครับ!!

ในที่สุด “ความสำเร็จ” มันก็ถูกจำกัดด้วยเวลาของผมจริงไหมครับ แล้ว Startup เป็นอย่างไร

อ้าว ลองสมมุติใหม่ครับ แทนที่ผมจะต้องเป็นคนทำบะหมี่ เปิดสาขาเอง ใช้เวลาไปดูแลร้านเอง ผมเปิด Website ขึ้นมา Website หนึ่ง แล้วเชิญชวนผู้ขายบะหมี่ทั่วประเทศมาลงประกาศว่าบะหมี่ของเขาอร่อยมาก ส่งให้ถึงบ้าน

พวกที่ชอบกินบะหมี่ ก็เข้ามาใน Website ผม และก็สั่งบะหมี่ online เพื่อให้ผู้ขายบะหมี่นี้ส่งให้ที่บ้านหรือที่ทำงานส่วนผมก็เก็บค่าธรรมเนียม ในการซื้อขายนั้นเป็น % เช่น 5% ของราคาซื้อขาย

ใหม่ ๆ อาจจะมีคนซื้อขายกันสัก 10 รายการผ่าน Website นี้ แต่ถ้าเราทำการตลาดดี ๆ หรือเริ่มมีการบอกต่อ ในที่สุดจากสิบรายก็กลายเป็นร้อย พัน หมื่น แสน หรือล้าน ผมถามว่า ผมต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ผมต้องลงทุนเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

คำตอบคือ แทบจะไม่ต้องทำอะไรแตกต่างจากเดิมเลยจริงไหมครับ !!! อันนี้แหละครับที่ทำให้ Startup สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วมาก ๆ หากมาถูกทาง

ลักษณะอย่างที่สอง ของ Startup ที่ต่างจาก SMEs โดยทั่วไปคือมันมักจะต้องสามารถทำซ้ำได้ (Repeatable) กลับไปที่ตัวอย่างของบะหมี่ข้างต้นนะครับ

ถ้าผมสำเร็จในการทำ Website รวบรวมร้านบะหมี่ในไทยได้ ด้วยแนวคิดนี้ ผมก็เริ่มแตกไลน์ไปได้ว่า เอ ถ้างั้น ทำไมเราไม่ทำร้านโจ๊ก ร้านข้าวต้ม ร้านอาหารตามสั่งดูบ้าง เพราะ Model ทางธุรกิจมันก็เหมือนกันเป๊ะเลย

ลองคิดภาพว่าผมเป็น SMEs ขายบะหมี่ดูนะครับ ผมอาจจะขายบะหมี่ได้สำเร็จ เพราะผมทำบะหมี่อร่อย แต่วันหนึ่งผมบอกเอาล่ะคราวนี้ ผมจะขายโจ๊กบ้าง คำถามคือ ทำบะหมี่อร่อยแล้ว มันเกี่ยวไหมครับว่าทำโจ๊กจะอร่อยด้วย

ไม่เลยครับ แล้วจะมีใครไหมครับที่จะทำอาหารทุกอย่างไม่ว่าอะไรก็อร่อย ผมว่ายากมาก ๆ

Model ของการทำซ้ำนี่แหละครับที่ทำให้ Startup ประสบความสำเร็จมาก ๆ ลองดูตัวอย่างของ Amazon.com ดูก็ได้ครับ ใหม่ ๆ ก็ขายหนังสือ ขายจนดังไปทั่วโลก เขาก็คิดว่า เอ แล้วทำไมต้องขายแต่หนังสือล่ะ พอตอนหลัง Amazon ก็ขายมันสารพัดอย่าง จนกลายเป็น The Everything Store ไปเลย

หรือตัวอย่างในไทย ลองนึกภาพของ Washbox ดูครับ เขามีการติดตั้งตู้สำหรับที่ให้เราส่งเสื้อผ้าไปซัก โดยตู้เหล่านี้ก็อยู่ตามที่พักอาศัย เช่น คอนโดต่าง ๆ แต่ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าเราสามารถส่งเสื้อผ้าไปซักได้ ก็สามารถส่งของอย่างอื่นได้ด้วย และ Washbox ก็เริ่มให้บริการส่งของแบบนี้แล้วด้วยครับ
ประการสุดท้าย คือ “ความใหม่” ผมไม่ได้บอกว่า SMEs คือการทำสิ่งที่ไม่ใหม่นะครับ แต่กำลังจะบอกว่า Startup ถ้ามันไม่มีความใหม่ มันเกิดขึ้นยากมาก ๆ

ถ้าเราทำธุรกิจเหมือน ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ มันก็ย่อมได้รับผลเหมือนกับที่เขาทำกันอยู่ ตรงนี้ บางทีผมเห็นหลาย ๆ คนชอบทำครับ

เห็นร้านกาแฟเปิดกัน แล้วคนแน่น ก็อยากเปิดร้านกาแฟตาม พอเปิดกันมาก ๆ สุดท้ายก็เจ๊งกันไปทั้งแถบ แทนที่จะเปิดร้านกาแฟแบบเดิม ๆ ลองมาคิดกันในมุมมองใหม่ ๆ บ้างดีไหมครับ ว่าจะเปิดแบบไหน ที่ทำให้มันแตกต่าง

เพราะความแตกต่างนี่แหละครับที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

ลองดูการเกิดขึ้นของ Google ก็ได้ครับ จริง ๆ Search Engine ก่อน Google มันก็มีมานับไม่ถ้วน แต่ Google แตกต่างตรงวิธีการในการค้นหา ที่ทำให้ให้คนที่ค้นหาได้คำตอบที่ตรง และใช้เวลาน้อย ทำให้คนเริ่มมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ และสุดท้ายเงินและความสำเร็จก็ตามมาจากผลิตภัณฑ์ต่อ ๆ มาของ Google

หรือตัวอย่างที่ใกล้ตัวหน่อยของประเทศไทย เช่น TakeMeTour ซึ่งเป็น Platform ที่จับคู่ระหว่างคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ที่อยากทำทัวร์ กับ นักท่องเที่ยวให้มาเจอกัน ถามว่า การทำทัวร์นี่ใหม่ไหม ตอบได้เลยว่าไม่ใหม่ครับ มีบริษัททัวร์ในประเทศเราเป็นร้อยเป็นพัน

แต่ TakeMeTour มันใหม่ ตรงที่ ใครก็ทำทัวร์ส่วนตัวเองได้ เช่น ผมรู้จักร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อย ๆ ในกรุงเทพ ฯ เพราะผมเป็นคนชอบกินก๋วยเตี๋ยว ผมก็อาจจะทำทัวร์กินก๋วยเตี๋ยวได้

นักท่องเที่ยว หรือ อาจจะนักกิน พอเข้ามาใน Website ของ TakeMeTour ก็อาจจะเห็นทัวร์นี้ของผม แล้วก็อาจจะสนใจว่า เฮ้ย มีทัวร์แบบนี้ด้วยเหรอ น่าสนใจ ก็เข้ามาใช้บริการ ส่วน TakeMeTour ก็หัก % ค่าดำเนินการไป

ดังนั้นความแตกต่างที่ผมกล่าวถึง มันอาจจะต่างที่ผลิตภัณฑ์ ประมาณว่า นี่คือผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ยังไม่มีในโลกนี้ หรืออาจจะเป็นผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ด้วยช่องทางใหม่ ๆ เหมือนกับตัวอย่างการขายบะหมี่ Online ซึ่งตัวบะหมี่เอง มันก็ไม่ได้ใหม่อะไร แต่การขายผ่าน Online โดยเอาผู้ซื้อกับผู้ขายมาเจอกัน อาจจะเป็นอะไรที่ใหม่ (ไม่ได้หมายความว่าอ่านถึงตรงนี้แล้ว จะไปทำ Startup ขายบะหมี่ Online กันซะหมดนะครับ)

ถ้าไม่ใหม่ มันก็ยากที่จะโต จริงไหมครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho