หนังสือที่ให้ข้อคิดดี ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจ SMEs
Continue readingมารู้จัก Startup กัน
เดี๋ยวนี้ เราอาจจะสังเกตเห็นคำว่า Startup อย่างแพร่หลายในวงกว้างใช่ไหมครับ หลายคนอาจจะเข้าใจอยู่แล้วว่ามันคืออะไร แต่ผมเชื่อว่าหลายคนยังไม่แน่ใจ
งั้นเรามาทำความรู้จัก Startup กันสักหน่อยดีกว่า Startup ในความหมายทางธุรกิจ คือองค์กรที่ตั้งขึ้นมาทำธุรกิจ แล้วมีลักษณะเด่นดังต่อไปนี้
อย่างแรกคือมันต้องสามารถขยายตัวได้ โดยไม่ต้องใช้สินทรัพย์หรือเวลามากนัก (Scalable)
แปลว่าอะไร ?
จุดนี้แหละครับ ที่คนหลายคนสับสนระหว่างคำว่า Startup กับ SMEs แม้กระทั่งบางที ภาครัฐที่ให้การสนับสนุนเรื่อง Startup ก็ยังมีความสับสนระหว่าง 2 คำนี้
Startup อาจจะมีลักษณะเป็นองค์กรขนาดเล็ก (ในช่วงตั้งต้น) ซึ่งตามนิยามก็คือ SMEs นั่นแหละ แต่ SMEs มันไม่จำเป็นต้องเป็น Startup!
อ้าวแล้วแตกต่างกันอย่างไร เมื่อไรจะบอกซะที
คืองี้ครับ ถ้าสมมุติผมเปิดร้านบะหมี่ ร้านหนึ่งเล็ก ๆ ไม่ได้ใหญ่โตอะไร อย่างนี้เรียกว่าผมเป็น SMEs ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ คราวนี้ ผมเริ่มประสบความสำเร็จ คนเข้ามากินบะหมี่ผมเยอะ ผมมีเงินมากขึ้น ผมก็จึงสามารถขยายสาขาไปได้เรื่อย ๆ อย่างนี้จะเรียกว่าผมเป็น Startup หรือไม่
คำตอบคือ “ไม่” ครับ !!! อ้าวทำไมล่ะ ผมก็เติบโตนะ
ใช่ เติบโต แต่การขยายสาขา แต่ละสาขา มันหมายความว่า ผมต้องลงทุนเพิ่มตลอด และยิ่งถ้าผมต้องเป็นคนทำบะหมี่เอง ถามว่า ผมจะมีเวลาไปทำบะหมี่ขายได้สักกี่สาขาครับ!!
ในที่สุด “ความสำเร็จ” มันก็ถูกจำกัดด้วยเวลาของผมจริงไหมครับ แล้ว Startup เป็นอย่างไร
อ้าว ลองสมมุติใหม่ครับ แทนที่ผมจะต้องเป็นคนทำบะหมี่ เปิดสาขาเอง ใช้เวลาไปดูแลร้านเอง ผมเปิด Website ขึ้นมา Website หนึ่ง แล้วเชิญชวนผู้ขายบะหมี่ทั่วประเทศมาลงประกาศว่าบะหมี่ของเขาอร่อยมาก ส่งให้ถึงบ้าน
พวกที่ชอบกินบะหมี่ ก็เข้ามาใน Website ผม และก็สั่งบะหมี่ online เพื่อให้ผู้ขายบะหมี่นี้ส่งให้ที่บ้านหรือที่ทำงานส่วนผมก็เก็บค่าธรรมเนียม ในการซื้อขายนั้นเป็น % เช่น 5% ของราคาซื้อขาย
ใหม่ ๆ อาจจะมีคนซื้อขายกันสัก 10 รายการผ่าน Website นี้ แต่ถ้าเราทำการตลาดดี ๆ หรือเริ่มมีการบอกต่อ ในที่สุดจากสิบรายก็กลายเป็นร้อย พัน หมื่น แสน หรือล้าน ผมถามว่า ผมต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ผมต้องลงทุนเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
คำตอบคือ แทบจะไม่ต้องทำอะไรแตกต่างจากเดิมเลยจริงไหมครับ !!! อันนี้แหละครับที่ทำให้ Startup สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วมาก ๆ หากมาถูกทาง
ลักษณะอย่างที่สอง ของ Startup ที่ต่างจาก SMEs โดยทั่วไปคือมันมักจะต้องสามารถทำซ้ำได้ (Repeatable) กลับไปที่ตัวอย่างของบะหมี่ข้างต้นนะครับ
ถ้าผมสำเร็จในการทำ Website รวบรวมร้านบะหมี่ในไทยได้ ด้วยแนวคิดนี้ ผมก็เริ่มแตกไลน์ไปได้ว่า เอ ถ้างั้น ทำไมเราไม่ทำร้านโจ๊ก ร้านข้าวต้ม ร้านอาหารตามสั่งดูบ้าง เพราะ Model ทางธุรกิจมันก็เหมือนกันเป๊ะเลย
ลองคิดภาพว่าผมเป็น SMEs ขายบะหมี่ดูนะครับ ผมอาจจะขายบะหมี่ได้สำเร็จ เพราะผมทำบะหมี่อร่อย แต่วันหนึ่งผมบอกเอาล่ะคราวนี้ ผมจะขายโจ๊กบ้าง คำถามคือ ทำบะหมี่อร่อยแล้ว มันเกี่ยวไหมครับว่าทำโจ๊กจะอร่อยด้วย
ไม่เลยครับ แล้วจะมีใครไหมครับที่จะทำอาหารทุกอย่างไม่ว่าอะไรก็อร่อย ผมว่ายากมาก ๆ
Model ของการทำซ้ำนี่แหละครับที่ทำให้ Startup ประสบความสำเร็จมาก ๆ ลองดูตัวอย่างของ Amazon.com ดูก็ได้ครับ ใหม่ ๆ ก็ขายหนังสือ ขายจนดังไปทั่วโลก เขาก็คิดว่า เอ แล้วทำไมต้องขายแต่หนังสือล่ะ พอตอนหลัง Amazon ก็ขายมันสารพัดอย่าง จนกลายเป็น The Everything Store ไปเลย
หรือตัวอย่างในไทย ลองนึกภาพของ Washbox ดูครับ เขามีการติดตั้งตู้สำหรับที่ให้เราส่งเสื้อผ้าไปซัก โดยตู้เหล่านี้ก็อยู่ตามที่พักอาศัย เช่น คอนโดต่าง ๆ แต่ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าเราสามารถส่งเสื้อผ้าไปซักได้ ก็สามารถส่งของอย่างอื่นได้ด้วย และ Washbox ก็เริ่มให้บริการส่งของแบบนี้แล้วด้วยครับ
ประการสุดท้าย คือ “ความใหม่” ผมไม่ได้บอกว่า SMEs คือการทำสิ่งที่ไม่ใหม่นะครับ แต่กำลังจะบอกว่า Startup ถ้ามันไม่มีความใหม่ มันเกิดขึ้นยากมาก ๆ
ถ้าเราทำธุรกิจเหมือน ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ มันก็ย่อมได้รับผลเหมือนกับที่เขาทำกันอยู่ ตรงนี้ บางทีผมเห็นหลาย ๆ คนชอบทำครับ
เห็นร้านกาแฟเปิดกัน แล้วคนแน่น ก็อยากเปิดร้านกาแฟตาม พอเปิดกันมาก ๆ สุดท้ายก็เจ๊งกันไปทั้งแถบ แทนที่จะเปิดร้านกาแฟแบบเดิม ๆ ลองมาคิดกันในมุมมองใหม่ ๆ บ้างดีไหมครับ ว่าจะเปิดแบบไหน ที่ทำให้มันแตกต่าง
เพราะความแตกต่างนี่แหละครับที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
ลองดูการเกิดขึ้นของ Google ก็ได้ครับ จริง ๆ Search Engine ก่อน Google มันก็มีมานับไม่ถ้วน แต่ Google แตกต่างตรงวิธีการในการค้นหา ที่ทำให้ให้คนที่ค้นหาได้คำตอบที่ตรง และใช้เวลาน้อย ทำให้คนเริ่มมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ และสุดท้ายเงินและความสำเร็จก็ตามมาจากผลิตภัณฑ์ต่อ ๆ มาของ Google
หรือตัวอย่างที่ใกล้ตัวหน่อยของประเทศไทย เช่น TakeMeTour ซึ่งเป็น Platform ที่จับคู่ระหว่างคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ที่อยากทำทัวร์ กับ นักท่องเที่ยวให้มาเจอกัน ถามว่า การทำทัวร์นี่ใหม่ไหม ตอบได้เลยว่าไม่ใหม่ครับ มีบริษัททัวร์ในประเทศเราเป็นร้อยเป็นพัน
แต่ TakeMeTour มันใหม่ ตรงที่ ใครก็ทำทัวร์ส่วนตัวเองได้ เช่น ผมรู้จักร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อย ๆ ในกรุงเทพ ฯ เพราะผมเป็นคนชอบกินก๋วยเตี๋ยว ผมก็อาจจะทำทัวร์กินก๋วยเตี๋ยวได้
นักท่องเที่ยว หรือ อาจจะนักกิน พอเข้ามาใน Website ของ TakeMeTour ก็อาจจะเห็นทัวร์นี้ของผม แล้วก็อาจจะสนใจว่า เฮ้ย มีทัวร์แบบนี้ด้วยเหรอ น่าสนใจ ก็เข้ามาใช้บริการ ส่วน TakeMeTour ก็หัก % ค่าดำเนินการไป
ดังนั้นความแตกต่างที่ผมกล่าวถึง มันอาจจะต่างที่ผลิตภัณฑ์ ประมาณว่า นี่คือผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ยังไม่มีในโลกนี้ หรืออาจจะเป็นผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ด้วยช่องทางใหม่ ๆ เหมือนกับตัวอย่างการขายบะหมี่ Online ซึ่งตัวบะหมี่เอง มันก็ไม่ได้ใหม่อะไร แต่การขายผ่าน Online โดยเอาผู้ซื้อกับผู้ขายมาเจอกัน อาจจะเป็นอะไรที่ใหม่ (ไม่ได้หมายความว่าอ่านถึงตรงนี้แล้ว จะไปทำ Startup ขายบะหมี่ Online กันซะหมดนะครับ)
ถ้าไม่ใหม่ มันก็ยากที่จะโต จริงไหมครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho