28 + 37 บทเรียนที่ได้จากหนังสือ Principles ของ Ray Dalio

หนังสือเล่มนี้ ต้องบอกว่าอ่านมาตั้งแต่ออกใหม่ ๆ เป็นเล่มภาษาอังกฤษ และสารภาพว่า ด้วยความหนา กว่าจะอ่านจบนานเลยครับ และไม่นานมานี้ ก็ได้เล่มแปลภาษาไทย จากผู้แปลก็มาอ่านอีกรอบ

และก็ได้ให้สัญญาไว้กับหลาย ๆ ท่านว่า อยากเห็นมุมมองของผมในการอ่านหนังสือเล่มนี้ เลยมาเขียน Book Review สิ่งที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ครับ

และตามสไตล์ของผมคือ ผมคงไม่มาสรุปหนังสือทั้งเล่มนะครับ ยิ่งเล่มนี้ ผมคิดว่ามีคนสรุปดี ๆ หลาย ๆ ท่าน ลอง Search หาดูได้ครับ แต่ผมขอสรุปเป็นบทเรียนที่ได้เป็นข้อ ๆ นะครับ และก็ไม่ได้หมายความว่าจะครอบคลุมทุกเรื่องในหนังสือเช่นกันครับ เอาเฉพาะที่ผมคิดว่าเป็น Highlight เช่นกัน

หนังสือเล่มนี้มี 3 ตอนหลักครับ ตอนแรก “ผมมาจากไหน” เป็นตอนที่เล่าประวัติความเป็นมาของ Ray Dalio ซึ่งก็น่าสนใจแต่ถ้าหนังสือเล่มนี้มีแต่ตอนนี้ ผมก็คงไม่ซื้อมาอ่าน เพราะถึงแม้ว่าเขาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ถ้าอ่านเฉพาะตอนนี้เราก็อาจจะถอดรหัสความสำเร็จออกมาได้ยาก

Highlight สำหรับผมอยู่ที่ตอนที่ 2 คือ หลักการชีวิต และ ตอนที่ 3 คือหลักการทำงานนี่แหละครับ ดังนั้น Highlight ที่ผมกำลังจะสรุปจะอยู่ที่ 2 ตอนนี้เป็นหลักนะครับ

หลักการชีวิต

1. เราควรตอบคำถามให้ได้ว่า 1) สิ่งที่เราต้องการคืออะไร 2) สิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร และ 3) แล้วเราจะต้องทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนจากสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันไปเป็นสิ่งที่เราต้องต้องการ

2. ความฝัน + ความเป็นจริง + ความมุ่งมั่น = ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ

3. เราควรเป็นคนที่เปิดใจและมีความโปร่งใส ยอมรับความเป็นจริง และไม่ต้องกลัวในสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับตัวเราจนทำให้เราไม่กล้าทำอะไร

4. แยกแยะให้ออกระหว่าง สิ่งที่ “ควรจะเป็น” กับ สิ่งที่ “เป็นจริง”

5. ถ้าเราไม่ปรับตัว เราก็อยู่รอดได้ยาก ดังนั้นเราจึงควรกล้าที่จะลองผิดลองถูก

6. ความสำเร็จจะต้องแลกมาจากความเจ็บปวด (No Pain No Gain) เราอยากแข็งแกร่งเราต้องผ่านขีดจำกัดของตัวเองให้ได้ ซึ่งนั่นคือความเจ็บปวด

7. ความเจ็บปวด + การคิดทบทวน = การพัฒนา

8. เราเลือกที่จะเจ็บปวดดีกว่าที่จะหนีมัน (ถ้าสิ่งนั้นมันคุ้มค่ากับความเจ็บปวดที่เราเจอ)

9. ความผิดพลาดของคนส่วนใหญ่คือการไม่มองตัวเองและคนอื่น ๆ อย่างตรงไปตรงมา (หรือเรียกง่าย ๆ คือเรามักจะหลอกตัวเราเอง) คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่มองตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เขาจึงสามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้

10. การขอให้คนอื่นช่วยในงานที่เราไม่เชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง

11. เราไม่สามารถคิดได้อย่างถูกต้องได้ทั้งหมด จงหาข้อมูลจากคนอื่น ๆ พร้อมกับหลักฐานประกอบ

12. ถ้าเราเปิดใจมากพอและตั้งใจจริง เราก็เกือบจะได้ในสิ่งที่เราต้องการแล้ว

13. 5 ขั้นตอนที่จะทำให้เราได้ทุกอย่างที่เราต้องการในชีวิต 1) มีเป้าหมายชัดเจน 2) ระบุปัญหาและอย่าทนกับปัญหาเหล่านั้น 3) วิเคราะห์ปัญหาเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง 4) ออกแบบแผนงาน 5) ทุ่มเททำให้สำเร็จ

14. จัดลำดับความสำคัญ เราทำอะไรได้เกือบทุกอย่าง และเราทำทุกอย่างไม่ได้

15. อย่าติดกับดักความสำเร็จของตัวเอง และอย่าคิดว่าเป้าหมายที่เราต้องการนั้นเป็นไปไม่ได้

16. สิ่งที่จะทำให้เราทำได้ตามเป้าหมายได้แก่ 1) ความยืดหยุ่น และ 2) ความรับผิดชอบต่อตัวเอง

17. เรามักจะมีอยู่สิ่งหนึ่งที่มักจะขัดขวางไม่ให้เราประสบความสำเร็จ จงหาสิ่งนั้นให้เจอ และจัดการกับมันซะ

18. ควรฝึกฝนตัวเองให้เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อย่ากังวลในการทำตัวเองให้ดูดี จงกังวลกับเป้าหมายของเรา

19. เลิกตัดสินคนอื่น ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราจะได้มองเห็นในมุมมองของคนอื่นด้วย

20. เป็นการยากมากที่ “คำตอบที่ดีที่สุด” จะมาจากความคิดของตัวเราเพียงคนเดียว ฟังคนอื่นบ้าง

21. ถ้าคนที่เราเชื่อถือเป็นจำนวนมากบอกว่าเราทำผิด แต่เราคิดว่าเราทำถูก เป็นไปได้อย่างมากว่าเรากำลังมีอคติ

22. นั่งสมาธิ

23. อุปสรรคที่สำคัญในการตัดสินใจที่ดีคืออารมณ์ในทางลบ และการตัดสินใจมี 2 ขั้นตอนได้แก่ การหาข้อมูลและการตัดสินใจ

24. ปรึกษาคนอื่นแต่อย่าเชื่อทุกอย่างที่เราได้ยิน

25. จำกฏ 80/20 ไว้ และหาให้เจอว่า 20% นั้นคืออะไร

26. เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ

27. รู้ว่าเมื่อไรไม่ควรวางเดิมพันมีความสำคัญไม่แพ้กับที่เราต้องรู้ว่าเราควรเดิมพันเท่าไร

28. ตัวเลือกที่ดีที่สุด คือตัวเลือกที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ไม่ใช่ตัวเลือกที่ไม่มีข้อเสียเลย

หลักการทำงาน

1. องค์กรที่ดีเลิศ คือองค์กรที่มีคนที่ดีเลิศและมีวัฒนธรรมที่ดีเลิศ

2. อย่าวิจารณ์หรือกล่าวโทษกันลับหลัง ให้กระทำโดยซึ่งหน้า

3. ให้สร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับความผิดพลาด แต่ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น

4. ให้ตระหนักว่า ไม่มีใครมองตัวเองโดยไม่ลำเอียง

5. ควรแบ่งแยกให้ชัดเจนว่า ความผิดพลาดใดยอมรับได้ แบบใดยอมรับไม่ได้

6. จำไว้ว่าทุกเรื่องราวมีอีกด้านหนึ่งเสมอ

7. ความไม่รู้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย

8. ควรสนใจสาระมากกว่ารูปแบบ

9. ถ้าเรายังทำอะไรได้ไม่สำเร็จ ก็อย่าไปคิดว่าเราจะสามารถบอกคนอื่นให้ทำได้สำเร็จได้

10. ความคิดเห็นที่น่าเชื่อถือมาจากคน 2 ประเภทคือ 1) คนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องที่ต้องตัดสินใจอย่างน้อย 3 ครั้ง และ 2) คนที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของเหตุและผลที่นำมาสู่ข้อสรุปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

11. เหตุผลที่นำมาสู่ข้อสรุป มีความสำคัญมากกว่าข้อสรุป

12. ระวังคำพูดที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “ฉันคิดว่า”

13. เมื่อมีการตัดสินแล้ว ทุกคนควรสนับสนุน ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

14. การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดคือการเลือกคนที่จะมารับผิดชอบงาน

15. แต่ละคนจะเลือกคนที่มีลักษณะเหมือนตัวเอง ดังนั้นการเลือกคนที่จะสัมภาษณ์คนอื่น จึงมีความสำคัญมาก

16. จำไว้ว่าส่วนใหญ่แล้วคนเรามักจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ไม่มาก

17. จ่ายเงินให้กับคน ไม่ใช่จ่ายเพราะตำแหน่ง ประสิทธิภาพของเขาต้องคู่ควรกับสิ่งที่เราจ่ายไป และจ่ายให้มากกว่าคำว่ายุติธรรม

18. โฟกัสในการทำเค้กให้ใหญ่ขึ้น มากกว่าการแบ่งเค้กให้กับตัวเองหรือใครคนใดคนหนึ่งมากที่สุด

19. การร่วมงานกัน ความเห็นอกเห็นใจ และความมีน้ำใจ สำคัญกว่าเงินทอง

20. สอนคนให้ตกปลา แทนที่จะให้ปลาเฉย ๆ

21. ในการประเมินพนักงาน ความถูกต้องกับความเมตตาคือสิ่งเดียวกัน

22. คนส่วนใหญ่ชอบคำชมเชย แต่การวิจารณ์อย่างถูกต้องอาจมีคุณค่ามากกว่า

23. ข้อผิดพลาดที่สำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นในการประเมินคือ มั่นใจในการประเมินของเรามากเกินไป กับ ไม่เข้าใจผลการประเมิน

24. เวลาคนทำงานไม่ดี ให้ดูว่าเกิดจากเรียนรู้ไม่เพียงพอ หรือ มีความสามารถไม่เพียงพอ

25. ประเมินพนักงานให้เหมือนตอนที่เราประเมินผู้สมัครงาน

26. เมื่อเราสร้างกฏ ให้เราอธิบายหลักการเบื้องหลังของกฏเหล่านั้นด้วย

27. กฏทุกข้อมีข้อยกเว้นเสมอ

28. อย่าปฏิบัติต่อทุกคนเท่ากัน แต่ให้ปฏิบัติอย่างเหมาะสม

29. อย่าออกคำสั่งแล้วให้ทุกคนทำตาม แต่ควรพยายามให้ทุกคนเข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่น

30. หากเราไม่กังวล เราควรจะกังวล แต่หากเรากังวล เราไม่ต้องกังวลหรอก

31. หลีกเลี่ยงการวิจารณ์ในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว

32. ถ้าเรามีแต่คนเดิม ๆ ทำสิ่งเดิม ๆ เราก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม ๆ

33. อย่าปรับองค์กรให้เข้ากับคน

34. อย่าสนใจแต่งานของเรา ให้สนใจว่างานจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่อยู่แล้ว

35. ไม่มีประโยชน์ถ้ามีแต่กฏหมาย แต่ไม่มีตำรวจ (คือไม่มีผู้ตรวจสอบ)

36. ไม่มีใครมีอำนาจเหนือระบบ และ ไม่มีใครจะถูกทดแทนไม่ได้

37. คนที่ทำการประเมินที่ดีนั้น ควรจะ 1) มีเวลาในการรับทราบข้อมูล 2) มีความสามารถในการประเมิน และ 3) ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย

เอาเป็นว่านี้คือการ Review หนังสือที่ยาวที่สุดของผมเท่าที่เคยทำมาเลยครับ มันอดไม่ได้ที่จะใส่สิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านี้ไป ซึ่งต้องบอกเลยก็ไม่ได้หมดทั้งเล่มนะครับ แต่เป็นมุมมองผมเท่านั้น

สุดท้ายผมมองว่า ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเราทำตามสิ่งที่ Ray Dalio บอกทั้งหมด เราก็จะสำเร็จแบบ Ray Dalio แน่นอน เพราะบริบทหลาย ๆ อย่างอาจจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่อยากบอกคือ การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมาก และหลักการเหล่านี้ก็ได้รับการทดสอบมาแล้วจาก Ray Dalio เอง เราเพียงแต่เอามาลองปรับใช้ให้เข้ากับบริบทเราเอง จนกระทั่งวันหนึ่ง เราก็จะสามารถถอดบทเรียนออกมาเหมือนกับที่ Ray Dalio ทำในหนังสือเล่มนี้นั่นเอง

ท่านที่สนใจหนังสือเล่มนี้ สั่งซื้อได้ที่ Link นี้ครับ https://amzn.to/2HhXsdh (ผมมักจะสั่งผ่าน Amazon ถ้าไม่ได้มีโอกาสไปซื้อตามร้านหนังสือต่างประเทศในไทยนะครับ)

ขอให้ทุกท่านพบ “หลักการ” ในการดำเนินชีวิตและการทำงานของตนเองให้เร็วที่สุดนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือ Twitter Nopadol’s Story หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

7 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือ Man’s Search for Meaning

เมื่อสัก 2-3 สัปดาห์ก่อน เพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบไป ชื่อ Man’s Search for Meaning ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946 โดย Viktor Frankl ซึ่งเป็นคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา

หนังสือเล่มนี้ เล่าประสบการณ์ของคุณหมอ Frankl ซึ่งเป็นชาวออสเตรีย และถูกจับเข้าค่ายกักกันของนาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหนังสือเล่าให้ฟังถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตในค่าย และมีคนจำนวนมากได้ถูกทรมานรวมถึงเสียชีวิต (ตามที่เราเคยได้ยินกันมาแล้วว่า นาซีเกลียดคนเชื้อชาติยิวมาก ก็เลยจับมาให้ทำงานหนัก ใครทำงานไม่ไหวก็จับมารมก๊าซพิษให้ตายเลย)

คุณหมอ Frankl บอกว่า สิ่งที่ทำให้เขาอยู่รอดได้ก็คือ Meaning of Life หรือความหมายของชีวิตนั่นเอง สำหรับคุณหมอแล้ว คุณหมอคิดถึงภรรยา ซึ่งตอนที่คิดก็ไม่รู้ว่า อยู่ที่ไหนเหมือนกัน แต่นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้เขาสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ มาจนอยู่รอดได้

ผมอ่านแล้ว ก็เลยนำมาสรุปเป็นข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ 7 ข้อดังต่อไปนี้ครับ

1. ถ้าเรารู้ว่าเราอยู่ไปทำไม เราจะทนได้เกือบทุกอย่างในโลกนี้

ข้อคิดนี้ เรียกได้ว่าเป็นประโยคทองของหนังสือเล่มนี้เลยก็ว่าได้ครับ คือ “ความหมายของการดำรงอยู่ของชีวิต” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และจะเป็นสิ่งที่จะทำให้เราสามารถทนได้เกือบทุกสถานการณ์ คุณหมอ Frankl เล่าให้ฟังในหนังสือว่า มีนักโทษหลายคนฆ่าตัวตาย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เขาน่าจะกลัวที่สุดคือความตายจากทหารนาซี ไม่ใช่เหรอ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ครับ การที่เขาฆ่าตัวตาย มันเป็นเพราะว่า “เขาไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม” หรือพูดง่าย ๆ คือเขาหา Meaning of Life ของเขาไม่เจอนั่นเอง

2. เราไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้ แต่เราสามารถควบคุมวิธีการคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นได้

ในโลกนี้ มีอะไรหลายอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ อย่างในหนังสือ เราไม่สามารถควบคุมทหารนาซีได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครมาบังคับเราได้ คือ “วิธีการคิด” ถึงสิ่งนั้น คุณหมอ Frankl รู้จักปรับความคิด ทำให้เขาอยู่รอดได้ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสภาพที่โหดร้ายสุด ๆ ชีวิตประจำวันเราก็เช่นกัน เราเปลี่ยนสถานการณ์ไม่ได้ ลองเปลี่ยนวิธีคิดเราดู แล้วเราจะมีความสุขขึ้นอีกเยอะครับ

3. ไม่มีใครพรากความสุขไปจากเราได้

ของนอกกายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของ หรือแม้กระทั่งคนรัก อาจจะมีใครพรากจากเราไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถมีใครพรากจากเราไปได้คือความสุขของเรา ใช่ครับ เราทำเงินหาย โดนขโมยของ โดนแย่งคนรัก มันอาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ แต่ก็อีกนั่นแหละครับ มันคือต้นเหตุ แต่คนที่จะตัดสินใจว่าจะทุกข์หรือสุขกับสิ่งนี้ มันก็คือตัวเราอยู่ดีนั่นแหละ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องโลกสวย มีความสุขตลอดเวลาหรอกนะครับ แต่ลองคิดแบบนี้ดู บางที แทนที่จะไปไขว่คว้า หาของนอกกายมาประดับ ความสุขมันอาจจะเกิดได้จากความคิด ที่เราไม่ต้องเหนื่อยยากอะไรเลยด้วยซ้ำ

4. มนุษย์สามารถทำสิ่งที่โหดร้ายมาก ๆ ได้

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว รู้สึกเลยว่า มนุษย์สามารถทำสิ่งที่โหดร้าย อย่างการทรมาน หรือการฆ่าคนได้ อย่างเลือดเย็นจริง ๆ เขานั่งมองเห็นคนทรมาน หรือ เสียชีวิต โดยไม่มีความรู้สึกอะไรเลยเหรอ ส่วนหนึ่งอาจจะระบบที่เขาไม่เรียกชื่อคน คือ ในหนังสือเล่าว่า ในค่ายกักกันนั้น เขาจะให้หมายเลขของแต่ละคน ดังนั้น คนจึงเป็นแค่ตัวเลขตัวหนึ่ง อันนี้ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ความรู้สึกถึงความเป็นคน อาจจะหายไป เพราะการที่หมายเลขใด หมายเลขหนึ่งจะหายไป มันก็แทบจะไม่มีความหมายใด ๆ ด้วยซ้ำ มันเลยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ง่าย ๆ

5. บางทีคนที่เป็นพวกเดียวกันกลับโหดร้ายมากกว่าคนที่เป็นศัตรูซะอีก

ในหนังสือเล่าให้ฟังว่า ทหารนาซีเขาจะตั้งนักโทษมาเป็นหัวหน้าของนักโทษอีกทีหนึ่ง ที่น่าสนใจคือหลาย ๆ ครั้ง นักโทษที่ถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้านี่แหละ ที่โหดร้าย เข้มงวด กับนักโทษด้วยกัน มากกว่าทหารนาซีซะอีก ฟังดูเป็นเรื่องประหลาด แต่หลายครั้งมันก็จริง เราอาจจะเคยเจอคนไทยด้วยกัน ที่ดูถูกกัน มากกว่าชาวต่างประเทศอีกด้วยซ้ำ (ลองไปบางสถานฑูตบางที่ดู อาจจะเข้าใจสิ่งนี้ เจ้าหน้าที่สถานฑูตชาวต่างชาติ ยังเห็นอกเห็นใจ มากกว่า เจ้าหน้าที่คนไทยซะด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้หมายความทุกคน หรือ ทุกที่นะครับ ผมหมายถึงบางแห่งเท่านั้น)

6. เคยลำบากมาก่อน ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรผิดได้

ในหนังสือเล่าถึงช่วงเวลาหลังจากที่ออกจากค่ายกักกันมาได้ว่า นักโทษหลาย ๆ คนกล้าจะทำอะไรผิด ๆ โดยไม่เกรงกลัวถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่คุณหมอ Frankl บอกว่า มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ว่าเราโดนทรมานมามาก ๆ จึงทำให้เราสามารถละเมิดกฎระเบียบต่าง ๆ ได้ แต่มันก็คงเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ที่นักโทษเหล่านั้น เขาเห็นทุกเรื่องเป็นเรื่องเล็กไปหมดแล้ว เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาได้เจอมา

7. พยายามหา Meaning of Life ให้เจอ

อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ได้ความคิดอย่างหนึ่งคือ Meaning of Life เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มันเหมือนเป็นแหล่งพลังงานที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ และช่วยในการขับเคลื่อนชีวิตเรา Meaning of Life ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ อาจจะเป็นความหวังที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เราสบาย อาจจะเป็นความหวังที่อยากเห็นลูก ๆ ประสบความสำเร็จ หรือ ถ้ากว้างไปกว่านั้น ก็อาจจะเป็นการช่วยเหลือคนทุกข์ยาก ลองมองหาสิ่งนี้ให้เจอ มันจะเป็นเหมือนแหล่งพลังงานพิเศษที่ทำให้เรามีแรงที่จะดำเนินชีวิตได้ต่อไป

นั่นคือบทเรียนที่ผมได้รับจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมได้ยินคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้นานพอสมควรแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้อ่าน และต้องบอกว่า หนังสือเล่มหนึ่งอาจจะเปลี่ยนชีวิตของเราได้จริง ๆ ครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Book Review: Platform Revolution

เป็นที่น่าสังเกตว่าแบบจำลองทางธุรกิจของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันนั้น มีเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตอย่างน่าสนใจ ในอดีตนั้น บริษัทที่ประสบความสำเร็จ มักจะเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์จำนวนมาก มีการลงทุนค่อนข้างสูง และผลิตสินค้าหรือให้บริการกับคนจำนวนมาก ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Economy of Scale หรือที่แปลว่า การประหยัดจากขนาด กล่าวคือยิ่งมีการผลิตหรือให้บริการเป็นจำนวนมากเท่าไร ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตยิ่งลดลงมากเท่านั้น จึงทำให้บริษัทเหล่านี้ทำกำไรได้อย่างมหาศาล

การแข่งขันในอดีตจึงมุ่งเน้นไปที่ความพยายามในการที่จะครองตลาด โดยสร้างสินค้าหรือบริการให้ถูกใจผู้บริโภคให้มากที่สุด และเน้นการลดต้นทุนให้ต่ำลง โดยเริ่มการสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นกับ Value Chain ที่เริ่มตั้งแต่ผู้จัดหาวัตถุดิบ ไปจนถึงกระบวนการผลิต และเลยไปถึงเรื่องการกระจายสินค้า ไปยังผู้บริโภค ซึ่งเรามักจะเรียกแบบจำลองธุรกิจแบบนี้ว่าธุรกิจ Pipeline (คือไล่ตาม Input Process Output ตามลำดับ)

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทชั้นนำในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Apple Amazon Uber Airbnb กลับมีแบบจำลองทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยแทนที่จะทำธุรกิจแบบ Pipeline คือผลิตเอง ขายเอง แต่กลายเป็น “ตัวกลาง” โดยการสร้าง Platform ขึ้นมา โดยคำว่า Platform นั้น ก็เหมือนกับสถานที่กลางที่ทำให้ผู้ซื้อกับผู้ขายมาเจอกัน เช่น Apple ทำ App Store ขึ้นมา เพื่อให้คนสร้าง App เอามา App มาขาย ส่วนลูกค้าก็เข้ามาซื้อ โดย Apple ไม่จำเป็นต้องสร้าง App เอง จึงทำให้ App ใน Platform ของ Apple มีเป็นจำนวนมาก โดย Apple ก็สามารถสร้างรายได้ได้เป็นจำนวนมากจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่หักจากผู้ขาย ด้วยแบบจำลองทางธุรกิจในรูปแบบนี้

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ธุรกิจแบบ Platform เริ่มกลายเป็นสิ่งที่บริษัทชั้นนำเลือกที่จะทำ Amazon ทำ Marketplace ให้ผู้ซื้อสินค้ากับผู้ขายสินค้ามาเจอกันใน Website ของ Amazon Uber กลายเป็นบริษัทที่ให้บริการรถรับส่งโดยที่ไม่ต้องมี Taxi แม้แต่คันเดียว หรือ Airbnb กลายเป็นธุรกิจที่มีห้องพักให้เช่าเยอะที่สุดในโลก โดยที่ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงแรมเองเลย

ด้วยความน่าสนใจของธุรกิจในรูปแบบนี้ ผู้บริหารก็ย่อมที่อยากจะสนใจหาความรู้เพิ่มเติม ในบรรดาหนังสือที่เขียนเรื่องนี้ได้ดีที่สุดเล่มหนึ่งคือหนังสือที่มีชื่อว่า Platform Revolution ซึ่งแต่งขึ้นโดย Geoffrey Parker Marshall Van Alstyne และ Sangeet Paul Choudary อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจ Platform มาอย่างต่อเนื่อง

หนังสือเล่มนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 352 หน้า แบ่งเป็น 12 บท โดยบทแรกเป็นบทที่เล่าให้ฟังว่าโลกเราได้เปลี่ยนไปแล้ว ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันเปลี่ยนแบบจำลองธุรกิจจาก Pipeline มาเป็นธุรกิจ Platform สำหรับบทที่ 2 จะกล่าวถึงเรื่อง Network Effect ซึ่งอธิบายให้ฟังว่า ยิ่งธุรกิจ Platform สร้างสามารถสร้างเครือข่ายได้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ Platform นั้นประสบความสำเร็จมากเท่านั้น เช่น ถ้า Platform ดึงผู้ขายมาได้ ก็จะทำให้ผู้ซื้ออยากที่จะเข้ามามากขึ้น และเมื่อผู้ซื้อเข้ามามาก ๆ ผู้ขายก็จะอยากเข้ามามากขึ้นไปอีก ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ ในรูปแบบนี้ ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า Network Effect นั่นเอง

บทที่ 3 ของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง การสร้างธุรกิจ Platform ให้ประสบความสำเร็จ โดย ในธุรกิจนี้จะมีคนที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายได้แก่ Producer คือผู้สร้างสินค้าหรือบริการ Customer คือผู้ที่ซื้อสินค้าหรือบริการนั้น และ Platform Provider/Owner คือผู้ให้บริการ Platform และ/หรือเจ้าของ Platform (อาจจะเป็นบริษัทเดียวกันหรือคนละบริษัทก็ได้) บทที่ 4 กล่าวถึง เหตุผลหลักที่ Platform มักจะสามารถเอาชนะธุรกิจแบบดั้งเดิมได้ เช่น ความสามารถของธุรกิจ Platform ที่จะให้บริการได้ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเหมือนธุรกิจแบบดั้งเดิม เป็นต้น

ในบทที่ 5 ของหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงการเริ่มต้นธุรกิจ Platform โดยมีการนำเสนอถึงกลยุทธ์ที่จะสามารถทำให้เกิด Network Effect ได้ (คือมีผู้ซื้อและผู้ขายเข้ามาสู่ Platform) นี่คือสิ่งที่ผู้ทำธุรกิจ Platform มักจะประสบปัญหาโดยเฉพาะในช่วงแรก เพราะเมื่อไม่มีผู้ซื้อ ผู้ขายก็ไม่เข้ามา แต่ถ้าไม่มีผู้ขายเข้ามา ผู้ซื้อก็จะไม่เข้ามาเช่นกัน ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงได้นำเสนอถึงกลยุทธ์ 8 ประการที่จะสามารถดึงผู้ซื้อและผู้ขายให้เข้าสู่ Platform ได้

บทถัดมาคือบทที่ 6 ได้กล่าวถึงวิธีการสร้างรายได้ในธุรกิจ Platform ซึ่งมีความหลากหลายพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมที่หักจากผู้ขาย หรือ การเก็บค่าสมาชิกสำหรับการใช้ Platform เป็นต้น บทที่ 7 ในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึง ระดับของ “การเปิด” ของ Platform กล่าวคือ Platform ควรเปิดให้ใครก็ได้มาใช้หรือไม่ หรือควรมีการกำหนดกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อให้ให้เจ้าของ Platform สามารถควบคุมได้ในบางเรื่อง

บทที่ 8 ในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องระบบการควบคุมใน Platform เช่น การให้ผู้ซื้อและผู้ขาย Rating คุณภาพของแต่ละฝ่าย เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัดผู้ซื้อและผู้ขายที่ไม่มีคุณภาพให้ออกไปจาก Platform สำหรับบทที่ 9 ได้กล่าวถึง ตัววัดต่าง ๆ ที่บริษัทที่ทำธุรกิจ Platform ควรจะต้องพิจารณา ซึ่งมีความหลากหลาย และขึ้นอยู่กับ Stage ต่าง ๆ ของ Platform

สำหรับบทที่ 10 นั้น ได้กล่าวถึงกลยุทธ์ที่แตกต่างกันระหว่างบริษัทที่ทำธุรกิจ Platform กับ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม โดยมีการชี้ให้เห็นว่ารูปแบบกลยุทธ์แบบเดิม ๆ นั้นจะถูก Disrupt ทำให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ บทที่ 11 กล่าวถึง เรื่องเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐที่จำเป็นที่จะต้องตามธุรกิจ Platform ให้ทัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่านโยบายที่ล้าสมัยเหล่านี้ จะกลายเป็นสิ่งขัดขวางการเจริญเติบโตของธุรกิจ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก และบทสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้ได้มีการกล่าวถึงอนาคตว่าธุรกิจ Platform เหล่านี้จะเข้าไป Disrupt ธุรกิจดั้งเดิมอย่างไรบ้าง เช่น ธุรกิจสื่อ การศึกษา การเงิน พลังงาน หรือแม้กระทั่งภาครัฐเอง

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนเรื่องธุรกิจ Platform ไว้อย่างครบถ้วนและรอบด้านมากที่สุดเล่มหนึ่ง จุดเด่นประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ คือการนำเอากรณีศึกษาของบริษัทชั้นนำจำนวนมากมาใช้เป็นตัวอย่างประกอบในแต่ละบท จึงนับว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารขององค์กรที่ทำธุรกิจ Platform หรือ แม้กระทั่งผู้บริหารที่ยังทำธุรกิจแบบดั้งเดิมอยู่ เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่ช้าก็เร็วจะมาถึงอย่างแน่นอน

บรรณานุกรม

Parker, G.G., Van Alstyne, M.W., and Choudary, S.P. (2016) Platform Revolution: How Networked Markets Are Transforming the Economy – and How to Make Them Work for You, W.W. Norton & Company, Inc., New York.

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Talk Like TED

ทักษะที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับ ผู้บริหาร พนักงาน หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการ คือ “การพูด” เนื่องจากทุกคนไม่ว่าจะมีหน้าที่อะไรก็ตาม ต้องรู้จักการสื่อสารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง เช่น นักขาย ก็จำเป็นต้องพูดเพื่อโน้มน้าวใจให้ลูกค้ารู้สึกสนใจในสินค้าของบริการที่ตนเองต้องการจะขาย CEO ก็ต้องพูดเพิ่มโน้มน้ามใจให้พนักงานทุกคนปฏิบัติงานไปในทิศทางที่องค์กรต้องการ หรือผู้ประกอบการเอง ก็ต้องพูดเพื่อที่จะทำให้นักลงทุนยอมนำเงินมาร่วมลงทุนในบริษัทของตน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการพูดนั้น ถึงแม้ว่าจะดูเผิน ๆ ว่าเป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้ เพราะเราก็พูดกันมาตั้งแต่เกิด และทุกวันเราก็ยังคงพูดกันตลอดเวลา แต่การพูด “ที่ดี” นั้น แท้จริงแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ ทักษะอันนี้ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างชำนาญ จึงจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

ดังนั้นเราจึงได้เห็นคอร์สเรียนสอนการพูดเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงหนังสือที่สอนเกี่ยวกับการพูดจำนวนไม่น้อย และนอกจากนี้ก็ยังมีเวที “การพูด” ที่เกิดขึ้นมากมาย โดยเวทีเหล่านี้ จะนำเอานักพูดระดับโลก หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ มาเล่าเรื่องราวของเขาให้ฟัง และเวทีการพูดเวทีหนึ่งที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกคือเวทีที่เรียกว่า TED Talk โดย TED นั้น ย่อมาจากคำว่า Technology Entertainment และ Design ซึ่งเหมือนกับเป็น Theme หลักของการพูดของเวทีนี้นั่นเอง

TED conference เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้วคือตั้งแต่ปี 1984 จนมาถึงปัจจุบัน TED Talk กลายเป็นเวทีการพูดระดับโลก มีผู้ชม ผู้ฟังจำนวนมากที่ได้เข้าร่วมฟังทั้งในรูปแบบของการพูดสดในแต่ละสถานที่ทั่วโลก รวมถึงการฟังผ่านสื่อออนไลน์หลากหลายช่องทาง

การที่เราจะสามารถฝึกทักษะการพูดของเราให้ดีขึ้นได้นั้น นอกจากการเข้าคอร์สเรียนฝึกฝนแล้ว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการได้เห็นตัวอย่างการพูดของนักพูดระดับโลก เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ในการพูดของเราเอง แต่อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งคือ ถึงแม้ว่าเราจะพยายามฟังหรือดูการพูดของนักพูดระดับโลกเหล่านั้น บางครั้ง เราก็ไม่สามารถ “ถอดรหัส” ออกมาได้ว่า เขามีเทคนิคอะไรที่ทำให้เขาพูดได้จับใจคนฟัง หรือดึงดูดความสนใจคนฟังได้ในระดับนี้

นี่คือที่มาของหนังสือที่ชื่อว่า Talk Like TED ที่แต่งขึ้นโดย Carmine Gallo ซึ่งเป็นนักเขียนระดับ Best Seller และเป็นผู้ที่ศึกษาความสำเร็จของนักพูดระดับโลกมาเป็นระยะเวลายาวนาน ก่อนที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ เขาได้เคยเขียนหนังสือที่ขายดีที่ชื่อ The Presentation Secrets of Steve Jobs ซึ่งเป็นหนังสือที่ “ถอดรหัส” ความสำเร็จของการนำเสนอของ Steve Jobs ที่ว่ากันว่า สามารถดึงดูดความสนใจกับผู้คนจำนวนมาก และเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของบริษัท Apple มาจนถึงปัจจุบัน

หนังสือ Talk Like TED นั้น มีความหนาทั้งหมด 288 หน้า ประกอบด้วย 9 บท โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

ส่วนที่ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของการพูด ซึ่งในส่วนนี้จะประกอบด้วย 3 บท ได้แก่ บทที่ 1 ซึ่งจะกล่าวถึงการ “ปลดปล่อย” พลังภายในของผู้พูดออกมา โดยบทนี้จะชี้ให้เห็นว่า หากเราได้พูดในสิ่งที่เราเชื่ออย่างแรงกล้านั้น การพูดนั้นจะมีพลังเป็นอย่างยิ่ง และพลังเหล่านี้แหละที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้อย่างมหาศาล ต่อมาในบทที่ 2 จะกล่าวถึงการพูดแบบ “เล่าเรื่อง” มนุษย์ส่วนใหญ่ชอบฟังเรื่องเล่า มากกว่าจะฟังเพียงแค่เนื้อหาอย่างเดียว ดังนั้นผู้พูดจำเป็นที่จะต้องเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี และในบทที่ 3 ในส่วนนี้คือเรื่องของการพูดที่ทำให้เหมือนกับเราสนทนากับเพื่อน ซึ่งมันจะมีความเป็นธรรมชาติ และเพิ่มความน่าฟังให้เกิดขึ้น

ส่วนที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้ จะเน้นในเรื่องของ “ความใหม่” ในการพูด ซึ่งจะประกอบด้วย 3 บทได้แก่ บทที่ 4 คือวิธีการพูดที่สอดแทรกสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ฟัง ผู้พูดควรจะต้องศึกษาหรือรวบรวมเอาสิ่งที่คิดว่าผู้ฟังไม่น่าจะเคยได้ยิน และนำมานำเสนอให้กับผู้ฟัง แค่นี้ ก็จะสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังได้อย่างมหาศาล ต่อมาในบทที่ 5 ก็มีการนำเสนอว่าการพูดนั้น ควรจะมีบางช่วงที่จะทำให้ “ผู้ฟังอ้าปากค้าง” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่ผู้พูดได้นำเอาสิ่งที่ไม่น่าเชื่อ หรือจะเป็นการแสดงรูปภาพหรือวีดีโอประกอบการพูด ที่ทำให้ผู้ฟังฟังแล้วตกตะลึง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทรงพลังมากในการดึงดูดความสนใจ สำหรับบทสุดท้ายในส่วนที่ 2 นี้คือบทที่ 6 ซึ่งแนะนำการพูดที่สร้างอารมณ์ขัน เนื่องจากผู้ฟังส่วนใหญ่แล้ว อาจจะไม่อยากที่จะฟังสิ่งที่เป็นวิชาการหรือเนื้อหาสาระหนักจนเกินไป ดังนั้นการพูดที่มีการสอดแทรกอารมณ์ขันลงไป ก็จะมีส่วนช่วยเพิ่มความน่าสนใจของการพูดนั้นได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับส่วนสุดท้าย คือส่วนที่ 3 จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ เทคนิคการทำให้ผู้ฟังสามารถจดจำสิ่งที่ผู้พูดได้พูดได้ โดยบทแรกในส่วนนี้คือบทที่ 7 จะกล่าวถึง “เวลาที่ใช้ในการพูด” ซึ่งสำหรับ TED Talk นั้น ได้มีการกำหนดเวลาไว้ชัดเจน คือ 18 นาที ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ได้แนะนำว่า ผู้พูดควรจะพูดให้อยู่ในเวลาดังกล่าว เพราะการพูดที่นานจนเกินไป จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย และในที่สุดผู้ฟังก็จะไม่สามารถจดจำสิ่งที่ผู้พูดได้นำเสนอไปได้ บทต่อมาบทที่ 8 ก็จะเป็นเนื้อหาที่แนะนำว่า ผู้พูดควรจะสร้างภาพให้เกิดขึ้นในหัวข้อผู้ฟัง หากอยากให้ผู้ฟังสามารถจดจำสิ่งที่ผู้พูดได้นำเสนอได้ โดยอาจจะใช้สื่อต่าง ๆ ประกอบ และบทสุดท้ายของส่วนนี้คือบทที่ 9 ก็ได้แนะนำว่า ผู้พูดควรจะพูดในสิ่งที่ตนเองรู้ และไม่จำเป็นต้องพยายามเป็นเหมือนคนอื่น ถ้าเราพูดในสิ่งที่เป็นตัวเรา การพูดนั้นก็จะประสบความสำเร็จในที่สุด

จะเห็นได้ว่าหนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมเอาเทคนิคการพูดที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง โดยผู้เขียนได้ทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากการสังเกตและการฟังนักพูดระดับโลกในเวที TED Talk จำนวนมากและได้ทำการย่อยและสรุปออกมาเป็นเทคนิค 9 ประการ ดังที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น จุดเด่นอีกประการของหนังสือเล่มนี้คือผู้เขียนได้ยกตัวอย่างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม โดยตัวอย่างนั้นก็มาจาก TED Talk ที่ประสบความสำเร็จ โดยมีผู้ชม VDO clip จำนวนหลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ความน่าสนใจของการพูดดังกล่าว

หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการพูด ไม่ว่าจะนักพูด ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ตลอดจนทุก ๆ คนที่เห็นความสำคัญของการพูด เพราะการพูดที่ดีนั้น จะมีส่วนช่วยทำให้เราประสบความสำเร็จได้อย่างที่เราอาจจะคิดไม่ถึงก็เป็นได้

บรรณานุกรม
Gallo, C. (2014) Talk Like TED: The 9 Public Speaking Secrets of the World’s Top Minds, New York: St. Martin’s Press.

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho