Grit: The Power of Passion and Perseverance

หลายท่านที่กำลังมุ่งหาความสำเร็จให้กับตัวเอง หรือกับองค์กร ย่อมที่จะมีคำถามว่าอะไรทำให้ตัวเราเองประสบความสำเร็จหรือคนที่มีลักษณะแบบไหนที่จะทำงานแล้วประสบความสำเร็จ คำถามนี้ไม่ใช่คำถามที่ตอบได้ง่ายนัก ถ้าเป็นในอดีต เรามักจะเชื่อกันว่า คนที่เรียนเก่ง ๆ ได้เกรดดี ๆ จะเป็นคนที่องค์กรมักจะอยากได้ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้ฉลาด และน่าจะทำงานประสบผลสำเร็จ

แต่พอมาถึงปัจจุบัน หลายองค์กรก็พบว่า การนำเอาเกรดเฉลี่ยเป็นตัวตัดสินในการคัดเลือกนั้น มันไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป เราพบเห็นคนที่ได้เกรดเฉลี่ยสูง ๆ ประสบความสำเร็จในการเรียน แต่กลับประสบความล้มเหลวในการทำงานจำนวนไม่น้อย แต่คำถามที่สำคัญคือ แล้วเราควรจะเลือกคนที่เรียนไม่ดี ได้เกรดต่ำ ๆ หรือ คนเหล่านั้นจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จจริงหรือเปล่า คำตอบก็คงเป็นเหมือนเดิมคือ ก็อาจจะไม่ใช่เช่นกัน เราเห็นคนที่ประสบความสำเร็จมีทั้งคนที่เรียนเก่ง ได้เกรดสูง ๆ กับคนที่เรียนไม่เก่งได้เกรดต่ำ ๆ เช่นกัน หรือกล่าวได้ว่า เกรดอาจจะไม่ใช่ตัววัดที่จะสามารถนำมาแยกแยะว่าใครจะสำเร็จหรือล้มเหลวต่อไป

คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ แล้วอะไรคือตัววัดที่สามารถแยกคนที่ประสบความสำเร็จออกจากคนที่ประสบความล้มเหลว เพราะถ้าเราทราบถึงปัจจัยนั้นได้ การคัดเลือกก็อาจจะทำได้ง่ายขึ้น หรือแม้กระทั่งตัวเราเองก็จะได้ทราบว่าเราควรจะต้องทำตัวอย่างไร ให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน

มีหนังสือหลายเล่มได้กล่าวถึงเรื่องนี้ แต่ต้องยอมรับว่าหนังสือที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากคือหนังสือที่ชื่อว่า Grit ที่แต่งขึ้นโดย Angela Duckworth ซึ่งเป็น Professor ทางด้านจิตวิทยาจาก University of Pennsylvania หนังสือเล่มนี้มาจากงานวิจัยของ Professor Duckworth ที่ค้นพบว่าปัจจัยสำคัญของความสำเร็จนั้นมี 2 ประการ คือ ความลุ่มหลงในสิ่งที่ทำ หรือที่เรียกว่า Passion กับ ความมานะพยายามที่จะทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่องหรือที่เรียกว่า Perseverance โดย Professor Duckworth เรียกทั้งสองอย่างนี้รวมกันว่า “Grit”

หนังสือเล่มนี้มีความหนาทั้งสิ้น 333 หน้า แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลัก โดยส่วนแรกเป็นการอธิบายว่า Grit คืออะไร ซึ่ง Professor Duckworth ได้มีการนำเสนอกรณีศึกษาตัวอย่างของการใช้มาตรวัด Grit ที่ได้สร้างขึ้นมา โดยมาตรวัดนี้มีเพียง 10 ข้อสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

1) ความคิดใหม่ ๆ และโครงการบางครั้งทำให้ฉันไขว้เขวไปจากสิ่งที่เราทำก่อนหน้านี้
2) ความผิดหวังไม่ทำให้ฉันท้อใจ เราไม่ล้มเลิกอะไรง่าย ๆ
3) ฉันมักจะตั้งเป้าหมายไว้แต่ในภายหลังก็จะเปลี่ยนไปทำอีกอย่างหนึ่ง
4) ฉันเป็นคนที่ทำงานหนัก
5) ฉันมักจะมีความยากลำบากที่จะมุ่งเน้นทำโครงการใดโครงการหนึ่ง ถ้าโครงการนั้นมีระยะเวลานานหลายเดือนกว่าจะเสร็จ
6) ฉันจะทำสิ่งที่เริ่มจนเสร็จสิ้น
7) ความสนใจของฉันจะเปลี่ยนไปในแต่ละปี
8) ฉันเป็นคนขยัน ฉันไม่เคยล้มเลิก
9) ฉันมักจะหมกมุ่นกับความคิดใดความคิดหนึ่งหรือโครงการใดโครงการหนึ่งในระยะเวลาอันสั้น และก็จะหมดความสนใจในที่สุด
10) ฉันสามารถเอาชนะความผิดหวังและเอาชนะความท้าทายอันสำคัญได้ในที่สุด

โดยในแต่ละข้อจะมี Scale 1-5 ให้เราประเมินตนเอง โดย 1 หมายถึง ไม่ใช่เราเลย และ 5 หมายถึง คล้ายกับเรามาก ๆ หลังจากนั้นก็เอาคะแนนทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย ยิ่งเราได้คะแนนใกล้ 5 มากเท่าไร ก็แสดงว่าเรามีความเป็น “Grit” มากเท่านั้น และหนังสือเล่มนี้ก็พบว่ายิ่งเรามีความเป็น Grit สูง เราก็มักจะมีแนวโน้มที่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราทำสูงขึ้นไปด้วย

สำหรับในส่วนที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องของการสร้าง Grit จากภายในไปสู่ภายนอก เริ่มตั้งแต่โดยการสร้างความสนใจ (Interest) โดยการฝึกฝน (Practice) โดยการตั้งวัตถุประสงค์ (Purpose) และโดยความหวัง (Hope) ในส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ คือการสร้าง Grit จากภายนอกเข้าสู่ภายใน ซึ่งมีทั้งเรื่องการเลี้ยงดู (Parenting) การสร้างพื้นที่ในการเล่น (Playing field) และการสร้างวัฒนธรรมที่จะส่งเสริมความเป็น Grit (Culture)

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หากมาตรวัดทั้ง 10 ข้อที่ใช้วัด Grit นี้สามารถแยกแยะคนที่ประสบความสำเร็จออกจากคนที่ประสบความล้มเหลวได้แล้ว การค้นพบนี้จะมีประโยชน์อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย หรือคนที่จะเข้าทำงาน ทิ่มากไปกว่านั้น ตัวผู้อ่านเองก็สามารถที่จะนำไปประเมินว่า เรายังมีจุดด้อยเรื่องใด และสามารถพัฒนาปรับปรุงจุดด้อยเหล่านั้น ซึ่งจะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงที่ผู้เขียนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้อย่างมากและแนวคิดที่ได้นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ก็มีพื้นฐานมาจากงานวิจัย ไม่ใช่เป็นเพียงความนึกคิดของผู้เขียนเท่านั้น หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมกับทุกคนที่อยากที่จะประสบความสำเร็จ รวมถึงคนที่ทำหน้าที่ในการคัดเลือกบุคลากรเพื่อเฟ้นหาคนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นการลดทั้งต้นทุนและเวลาอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือเล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่ติดอันดับ Best Seller และได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

บรรณานุกรม
Duckworth, A. (2016) Grit: The Power of Passion and Perseverance, New York: Scribner.

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho