ต้องออกตัวก่อนว่า ไม่ได้เป็นกูรูอะไรมากมาย มาสอน Online อย่างจริงจังก็ช่วง COVID-19 นี่แหละ โดยเริ่มจากต้นปี 2020 และถึงแม้ว่าในเทอมถัดมา มหาวิทยาลัยบอกว่ามาสอนที่ห้องได้แล้ว ผมก็ยังเลือกที่จะสอน Online อยู่เพราะอยากจะรู้ว่า ถ้านำมาใช้ในเหตุการณ์ปกติที่จริง ๆ ก็สอนในห้องได้จะเป็นอย่างไร
เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เทอมที่ต้องสอน Online เพราะมหาวิทยาลัยปิดไปจนถึงเทอมที่สมัครใจสอนเองทั้ง 2 เทอม ผมได้รับการประเมินการสอนที่ดีมาก เอาเป็นว่า มากกว่าที่เคยได้รับในการสอนแบบเจอหน้ากันซะด้วยซ้ำ และที่ดีใจว่าคะแนนประเมิน คือ Comment จากนักศึกษาที่เขาชอบมาก ๆ กับการเรียน Online
และออกตัวอีกรอบว่า ผมไม่ได้บอกว่า Online ดีกว่าการเจอหน้ากันในทุกกรณี และก็ไม่ได้บอกว่าวิธีที่ใช้สามารถใช้ได้กับการสอนในทุกคณะ ทุกรูปแบบ ผมเข้าใจครับว่าแต่ละศาสตร์อาจจะมีข้อจำกัดแตกต่างกัน ทำให้วิธีบางวิธีอาจจะทำไม่ได้ หรือ ทำแล้วไม่ได้ผล
แต่ที่อยากจะเขียนเรื่องนี้ คืออยากให้ผู้สอนลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ และก็ไม่ใช่วิธีที่ผมคิดค้นมาเองแต่ประการใด ผมอ่านหนังสือ ศึกษาจากอาจารย์เก่ง ๆ ที่เขาก็ทำได้ดีมาก ๆ และนำมาลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง จนกระทั่งคิดว่าอยากนำมาสรุป เผื่อท่านอื่น ๆ จะได้นำไปทดลองใช้บ้างเช่นกัน
เอาล่ะครับ เขียนมาซะยาว ผมขอสรุปปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการสอน Online ดังนี้ครับ
1. เข้าใจผู้เรียน (Empathy)
ผมว่าข้อนี้สำคัญมาก ๆ ครับ ผมเคยอ่านหนังสือที่เขียนโดย Professor จาก Harvard University เขาบอกประโยคหนึ่งที่สะดุดใจว่า
“อาจารย์อาจจะเข้าใจว่าตัวเองสอน แต่ผู้เรียนอาจจะไม่ได้เรียน”
คือหลายครั้งเราในฐานะผู้สอน เอาตัวเราเป็นที่ตั้ง เช่น เปิด Application Zoom Share Screen เอา PowerPoint ขึ้น แล้วพูดรวดเดียว 3 ชั่วโมง เราสอนจบละ แบบนี้เราได้สอนจริงครับ แต่หลายครั้งผู้เรียนอาจจะไม่รู้เรื่องเลย และเราก็อาจจะจบด้วยการโทษว่า นี่ไง สอน Online ไม่ Work ใช่ครับ เราพูดถูก มันไม่ Work แต่ส่วนหนึ่งคือมันมาจากการที่เราไม่ได้ปรับการสอนของเราเลยเช่นกัน
แล้วควรทำอย่างไร…
ผมแนะนำครับ ใครอยากสอน Online ได้ดี ลองไปเรียน Online ดู ส่วนตัวผมเรียน Online เยอะมาก นอกจากเรียนเพื่อจะได้ Update ความรู้แล้ว ผมยังได้จำเทคนิคต่าง ๆ ในการสอนด้วย อยากทราบไหมครับว่าการเรียน Online 3 ชั่วโมงรวดมันน่าเบื่อแค่ไหน เอาง่ายสุดครับ เข้าไป YouTube หา Clip 3 ชั่วโมง แล้วนั่งดูให้จบ ผมเชื่อว่าแม้แต่เราก็ยังทนไม่ได้ แล้วเราจะให้คนเรียนกับเราเขารู้เรื่อง ฟังตลอด มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
นอกจากนี้ Style การเรียนของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันครับ ใน Class แรกผมมักจะเริ่มจากการถามนักศึกษารายบุคคลว่า เขามีความชอบในการเรียนในรูปแบบใด (ถ้า Class เล็กก็ถามผ่าน Application Zoom หรือ MS Teams ที่ผมใช้เลย Class ใหญ่ก็ให้เขาตอบ Online Questionnaire มาก็ได้) เพื่อเราจะได้เข้าใจเขาเป็นรายบุคคลก่อน
อย่างเช่นเรื่องให้นักศึกษาเปิดกล้องระหว่างเรียน อันนี้ความเห็นส่วนตัวผมนะ ผมไม่ได้บังคับใคร เพราะผมว่าบางคนก็อาจจะไม่สะดวกที่จะเปิดกล้อง จะเป็นเรื่องของชุดที่ใส่ บ้านที่อยู่ แต่อาจารย์หลายคนอาจจะกังวลว่า อ้าว ไม่เปิด เดี๋ยวเขาก็หลับ เดี๋ยวก็ไม่เรียน ส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าเขาไม่อยากเรียน เปิดกล้องเขาก็ไม่เรียนเหมือนเดิม แต่จะทรมานกว่าเดิมด้วย เรื่องจะดึงเขาเข้ามาเรียนได้อย่างไร เดี๋ยวมาดูข้อต่อไปอีกที
ผมเชื่อว่าถ้าเริ่มจาก Empathy เราจะเข้าใจเขามากขึ้น ไม่ใช่เอาแต่ว่าเขาว่าทำไมไม่ตั้งใจเรียน บางทีการเรียนแบบปิดกล้อง อาจจะทำให้เขาเรียนรู้เรื่องมากขึ้นก็ได้ ไม่ต้องเกร็ง เรียนไปกินไปได้ อะไรแบบนี้ ซึ่งมันเหมาะกับ Style การเรียนของเขาก็ได้อีกเช่นกัน คือผมว่ายิ่งเราเข้าใจเขามากขึ้น การสอนเราก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นตามครับ อันนี้เป็นพื้นฐานแรกก่อน
2. สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement)
เอาล่ะ พอเราเข้าใจเขามากขึ้น คราวนี้เราต้องดึงเขาเข้ามาสู่การเรียนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเรียนแบบเจอหน้าทำแบบนี้ได้ง่ายกว่าแน่นอน แต่ใช่ว่า Online จะทำไม่ได้
ผมจะเริ่มจากการเรียกเขาตอบครับ เอาตรง ๆ ผมสอน Online ผมเรียกนักศึกษาตอบบ่อยกว่า ตอนเรียนในห้องเรียนอีก เพราะการเรียกตอบมันเป็นการสร้าง Engagement ได้ดีอย่างหนึ่ง
รู้ได้ไงว่าดี ก็ผลการประเมินนี่แหละครับ นักศึกษาที่เรียนกับผมบอกมาว่า ขนาดเพื่อนเป็นคนที่ไม่ชอบตอบ ยังชอบตอบคำถามใน Online Class นี้เลย คือผมมักจะไม่ Judge ว่าคำตอบนี้ถูกหรือผิด ผมบอกเขาเสมอว่ามันคือความคิดเห็น อาจจะเห็นต่างกับผมก็ได้ ผมอาจจะผิดก็ได้ เรามาช่วยกันคิด Solution ด้วยกัน อะไรแบบนี้ดีกว่า
นอกจากการถามบ่อย ๆ แล้ว ผมจะมีการแบ่งกลุ่มย่อย ให้เขาไปพูดคุยกันเอง ผมจะมี Simulation Game ให้เล่น เพื่อเอาความรู้ที่เรียนไปทดลองใช้ ผมให้เขาทำรายงาน ให้เขานำเสนอรายบุคคล ให้ทำการ Vote ให้ตอบมาใน Chat คือทำอะไรก็ได้ ที่เขาต้อง Take Action ไม่งั้นการนั่งฟัง Lecture เฉย ๆ มันจะน่าเบื่อและง่วงมาก (ก็กลับไปที่ข้อแนะนำก่อนหน้านี้ว่า เราลองไปเปิด Clip YouTube ฟัง 3 ชั่วโมงรวดสิครับ เราจะเข้าใจได้เลยจริง ๆ ว่านั่นคือชีวิตของคนที่เรียน Online แล้วเขาเจอแบบนี้ไม่ใช่วิชาเดียว แต่หลายวิชาต่อสัปดาห์เลย มันยากมากที่จะ Focus ได้)
อีกอันหนึ่งที่สร้าง Engagement ได้ดีมาก คือผมจะบอกเขาตั้งแต่ต้นว่า ผมไม่ได้ Treat เขาเป็นนักเรียนที่จะมาเรียนกับผมนะครับ ผม Treat เขาเป็นทีมผู้บริหาร ที่ทำงานกับผมซึ่งเป็น CEO ทุกคนจะมีบทบาทของตัวเอง อย่าง Simulation Game ที่ผมเล่น บางคนจะเป็น R&D Manager บางคนเป็น Marketing Manager อะไรแบบนี้ เช่นผมสอนเรื่อง OKRs ผมก็บอกว่า คุณตั้ง OKRs มาในฐานะ R&D Manager นะ แล้วเดี๋ยวสัปดาห์หน้าเรามา Update ความก้าวหน้ากัน
การทำแบบนี้ ทำให้เขา Take Action มากขึ้น สนุกมากขึ้น จะเรียกว่า Active Learning ก็ได้ครับ ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไร แต่พอใช้วิธีนี้ ผมพบว่า Engagement มันสูงขึ้นเห็นได้ชัด จะลองนำไปทำดูก็ได้นะครับ
3. ระวังเรื่องอารมณ์ (Emotion)
ผมว่า Part นี้สำคัญมากเช่นกัน อารมณ์ของผู้สอน มันส่งผลต่ออารมณ์ของผู้เรียนโดยตรง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอารมณ์ดี ร่าเริงตลอดเวลานะครับ ผมว่าอย่างแรกคือเราต้องมีความตั้งใจที่อยากให้ผู้เรียนอยากเรียนและได้ประโยชน์สูงสุดก่อน ทำยังไงก็ได้ที่จะทำให้เขาอยากเรียน พออยากเรียนแล้ว ที่เหลือมันจะง่ายขึ้นเยอะ
ผมเห็นอาจารย์บางท่าน เวลา Comment ผู้เรียน บางทีก็ใส่อารมณ์ไปเยอะ ไปดุด่าเขาแรง ๆ ก็ไม่รู้สินะครับ ผมคงไม่ไปก้าวล่วงแนวทางการสอนของแต่ละท่าน แต่สำหรับผม ผมคิดว่าการทำแบบนี้มันไปปิดสวิทช์ความอยากเรียนของเขาลง ไม่ใช่ว่าเราต้องเยินยอตลอด แต่เราต้องระวังคำพูดเราให้ดี Comment ได้ แต่ Comment แล้วคนฟังต้องอยากปรับตาม ไม่ใช่แค่ Comment ตามอารมณ์เราอย่างเดียว อย่างที่บอกว่าเป้าหมายสูงสุดของการสอน คือคนเรียนอยากเรียนและได้รับประโยชน์ในการเรียนนั้น
อีกเทคนิคหนึ่งคือยอมรับเมื่อเราทำอะไรผิดไป หลายคนอาจจะพูดผิด พอมีนักศึกษาแย้ง ก็เริ่มหงุดหงิดมีอารมณ์ทันที ส่วนตัวนะครับ ผมบอกเลยครับว่า จริงหรือเปล่าที่ผมเคยพูดแบบนั้น ถ้าจริง ขอโทษเลย ผมผิด เอาใหม่ เรามาทำความเข้าใจกันใหม่ ถ้าเราเป็นอาจารย์เรายังผิดได้ และยอมรับว่าเราผิด ผมว่าคนเรียนจะกล้าพูด กล้าทำขึ้นอีกเยอะเลยครับ ดีกว่า ผิดแล้วไม่ยอมรับ แล้วพยายามบอกว่าคนเรียนนั่นสิเข้าใจผิด เยอะมากเลย ในความเห็นผมนะครับ
4. ปรับระดับของพลังงานให้ดี (Energy)
อันนี้การสอน Online ทำได้ยากจริง ๆ ครับ คือคนสอนต้องพลังงานไม่ตก ถ้าเราสอนด้วยเสียงง่วง ๆ คนเรียนง่วงตามแน่นอน แต่ผมยอมรับว่ายิ่งสอน Online มันเหมือนพูดคนเดียว มันไม่เห็นหน้าตาผู้เรียน (ยิ่งอนุญาตให้ผู้เรียนปิดกล้อง เรายิ่งเหมือนพูดกับคอมพิวเตอร์เฉย ๆ เลย)
ส่วนตัวผมโชคดีหน่อย คือ ผมจัด Podcast ทุกวัน คือพูดคนเดียวแบบนี้ทุกวันว่างั้นเถอะ ผมจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องพลังงานสักเท่าไร แต่วิธีที่จะดึงพลังงานเราขึ้นมา คือการสร้าง Engagement นี่แหละครับ ชวนเขาคุย ถามคำถาม ให้เขาได้พูด ได้ Present บ้าง แบบนี้เราจะทำให้ Energy ของ Class เพิ่มสูงขึ้น หรือจะเรียกว่า Class สนุกขึ้นก็ว่าได้
แถมให้อีกนิดครับ แต่ถึงแม้ว่า Energy เรามี แต่บางทีผู้เรียนอาจจะเหนื่อย Energy น้อย อันนี้เราอาจจะทำอะไรมากไม่ได้ แต่ข้อดีของการสอน Online คือเราอัด Clip ไว้ได้ครับ ผมจะอัด Clip ไว้ทุกครั้ง และไป Post ให้เขากลับมาทบทวนในบางตอนที่เขาอาจจะหลุดไป อันนี้ก็ช่วยได้เยอะเลยล่ะครับ
เท่าที่นึกได้ก็มีแค่นี้แหละครับ จำง่ายคือ 4Es คือ Empathy Engagement Emotion และ Energy จริง ๆ ผมว่าก็ใช้ได้กับการสอนปกติเช่นกัน แต่กับ Online ผมว่ามันทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอีก
อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นครับ ท่านไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ ผมก็ไม่ได้เป็นกูรูอะไร และข้อจำกัดของแต่ละท่านก็ต่างกัน บางท่านเวลาอ่านไปก็จะบอกว่า ทำไม่ได้หรอกเพราะ… ก็เข้าใจครับ เอาเป็นว่า อะไรทำไม่ได้ก็ข้ามไป อะไรพอจะทำได้ลองปรับใช้ดู และถ้าลองแล้วไม่ Work ก็เลิกก็แค่นั้นครับ ลองหาวิธีใหม่กันต่อไปได้ครับ อย่างน้อยก็ยังดีกว่าการบอกแค่ว่าการเรียน Online มันไม่ Work แล้วจบเลยนะครับ
ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการสอน Online นะครับ ผมเชื่อว่าการสอนแบบนี้ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยกว่าปกติ และรางวัลที่ได้ไม่ได้มาในรูปแบบของเงินทองอะไรมากมาย หรือไม่ใช่แม้แต่คะแนนประเมิน แต่แค่คำพูด Feedback ที่ได้รับมาจากผู้เรียน ก็คุ้มค่ากับแรงและความตั้งใจที่เราใส่ไปแล้วล่ะครับ
ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการสอนนะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit