โครงการ OKR Consulting Project

ขออนุญาตประชาสัมพันธ์โครงการนี้หน่อยครับ หลังจากเคยพูดไว้ใน Podcast เมื่อปลายปีที่แล้ว ปีนี้อาจจะเปลี่ยน Mode หน่อยคือหลังจากได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่อง OKRs ให้กับหลากหลายบริษัทและได้มีโอกาสติดตามบริษัทเหล่านั้นจากการทำงานวิจัยเรื่อง OKRs เลยทำให้ทราบว่า ก็มีหลายที่เลยที่ยังไม่ได้นำไปใช้ หรือนำไปใช้แล้วก็ไม่ค่อย Work สักเท่าไร (เช่น ก็เขียน ๆ กันมาแล้วก็จบอยู่แค่นั้น)

เลยมีความตั้งใจ (และเป็น OKRs สำหรับปีนี้ของผมเช่นกัน) ที่อยากทำ Project ที่จะช่วยให้บริษัทได้ใช้ OKRs ได้สำเร็จ เลยได้คุยกับทางศูนย์ให้คําปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า CONC ที่เป็นหน่วยงานของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผมทำงานอยู่นี่แหละครับ

เลยออกมาเป็นรูปแบบนี้ครับ คือจะเปิดรับบริษัทที่มีความสนใจอย่างจริงจังที่อยากใช้ OKRs ให้สำเร็จ (จำนวนอาจจะจำกัด เนื่องจากต้องการ Focus จริง ๆ ไม่เช่นนั้นอาจจะให้คำปรึกษาได้ไม่ทั่วถึง)

รูปแบบคือทุกอย่างจะเป็น Online ทั้งหมด จะได้มีขอบข่ายที่กว้างขวางไปยังบริษัทที่อยู่ในต่างจังหวัดด้วยโดย Scope คร่าว ๆ ดังนี้ครับ

1) ผมจะมีการบรรยายเรื่อง OKRs ให้กับบริษัทแต่ละบริษัทเป็นเวลา 3 ชั่วโมงจำนวน 1 ครั้งตามนัดหมายผ่าน Application Zoom หรือ Online Platform ที่บริษัทนั้น ๆ สะดวก โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ฟัง แต่เน้นอยากให้คนที่จะใช้ OKRs ในบริษัทนั้น ๆ เข้ามาฟังให้ครบถ้วน

2) ให้แต่ละบริษัทกำหนด OKRs Champion (จำนวน 1-3 คน) เพื่อที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนการใช้ OKRs ของบริษัทนั้น ๆ โดยผมจะมีการประชุมให้คำปรึกษา OKRs Champion ของทุกบริษัทที่เข้าร่วมโครงการนี้พร้อม ๆ กัน ผ่าน Application Zoom ทุกเดือน เป็นเวลา 1 ปี (คือ 12 ครั้ง) โดยครั้งละประมาณ 3 ชั่วโมง โดยการประชุมกับ OKRs Champion นี้ นอกจากเป็นการตอบคำถามข้อสงสัยในการดำเนินงานของแต่ละบริษัทแล้ว จะเป็นเวทีที่จะได้ให้แต่ละบริษัทสามารถแลกเปลี่ยนแนวทางการใช้ OKRs ซึ่งกันและกันด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้เราได้เห็นวิธีการดำเนินงานที่ดี และอาจจะนำไปปรับใช้ได้

3) ในการประชุมให้คำปรึกษาในแต่ละเดือนนั้น ผมอาจจะเรียนเชิญคนที่มีประสบการณ์ใช้ OKRs ในแห่งอื่น ๆ มาช่วยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ OKRs ในองค์กรเขาด้วยเช่นกัน และเผื่อจะได้สอบถามกับท่านเหล่านั้นได้โดยตรง

4) บริษัทจะได้รับสิทธิการใช้ OKRs Software ที่ชื่อว่า ZeeZcore ที่เป็น Software ที่ผมสร้างขึ้นมา เป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้ที่ไม่เกิน 250 Users ผมเชื่อว่า Software นี้ก็จะมีส่วนช่วยในการ Facilitate ทำให้การใช้ OKRs ของแต่ละองค์กรประสบความสำเร็จได้มากขึ้น

5) Scope ของงานนี้จะจบภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่สมัครและตกลงวันเริ่มงานที่ชัดเจน เมื่อครบ 1 ปีแล้ว บริษัทอาจจะขอต่อสัญญาเพื่อรับบริการในข้อที่ 1-4 ได้ แต่หากบริษัทคิดว่าน่าจะขับเคลื่อน OKRs ได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็สามารถจบโครงการนี้ได้ (ซึ่งหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น) และจะได้เปิดรับบริษัทใหม่ เพื่อให้เข้ามาทดแทน

คราวนี้บริษัทที่ผมคิดว่า Project นี้น่าจะตอบโจทย์น่าจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ครับ

1) ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทนั้นมีความตั้งใจอยากใช้ OKRs จริง ๆ และเชื่อว่า OKRs น่าจะช่วยทำให้บริษัทประสบความสำเร็จได้

2) บริษัทมีความพร้อมที่จะมีการกำหนด OKRs Champion ที่จะช่วยในการขับเคลื่อน OKRs และมีเวลาในการเข้ามาสอบถามและร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนเรื่องการใช้ OKRs ประจำทุกเดือน (วันเวลาจะกำหนดไว้ล่วงหน้า)

ส่วนบริษัทที่โครงการนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์คือต้องการให้ที่ปรึกษาภายนอกมาออกแบบ OKRs ให้ตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะโดยส่วนตัวผม ผมคิดว่า OKRs จะต้องถูกออกแบบโดยคนทำงานเองเท่านั้น ให้คนอื่นมาตั้ง OKRs ให้ทั้งบริษัทไม่น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม และไม่น่าจะทำให้การทำ OKRs นั้นสำเร็จ ที่ปรึกษาควรมีหน้าที่ในการให้ Guideline ในการสร้าง การนำไปใช้ รวมถึงให้ Comment เท่านั้น

นอกจากนี้บริษัทที่โครงการนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ คือแค่อยากทดลองใช้ OKRs ดูเฉย ๆ ยังไม่ได้จริงจัง หรือไม่ได้มีความเชื่อว่า OKRs จะช่วยทำให้องค์กรดีขึ้นได้จริง ผมคิดว่าถ้ายังอยู่ใน Stage นี้ อาจจะแนะนำให้ลองหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ OKRs ก่อนน่าจะดีกว่าครับ

สำหรับค่าใช้จ่ายของโครงการคือ 300,000 บาท (ในการให้คำปรึกษาตาม Scope ข้างต้น เป็นระยะเวลา 1 ปี) ซึ่งผมหวังว่าจะคุ้มค่าสำหรับบริษัทที่เชื่อว่า OKRs เป็นเครื่องมือที่จะมาช่วยทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้
.
หากมีคำถามประการใดที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ถามได้ที่ m.me/ZeeZcore หรือติดต่อไปที่ศูนย์ให้คำปรึกษา ฯ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่คุณยุวดี ที่เบอร์โทร 091 119 4504 หรือ 02 613 2247 หรือ email yuwadee.s@tbs.tu.ac.th ได้เลยครับ

The Little Book of OKR

หนังสือเล่มใหม่ของผมที่เพิ่งเขียนเสร็จครับ จริง ๆ แล้วจะว่าเขียนใหม่ก็ไม่ใช่เพราะเป็นการแปลมาจากหนังสือภาษาไทยเล่มที่ชื่อว่า “พัฒนาองค์กรและชีวิตด้วยแนวคิด OKRs” ที่อาจจะหายากสักหน่อยแล้ว ถ้าอยากอ่านเล่มไทย อาจจะอ่านได้ในรูปแบบ eBook

เล่มนี้ก็มีทั้งแบบ eBook และเป็นเล่ม ที่ซื้อได้ผ่าน Amazon ในหนังสือมีทั้งเรื่องการใช้ OKRs ในองค์กรกับชีวิตประจำวัน

ท่านใดสนใจกดอ่านรายละเอียดได้ตามนี้เลยครับ

หนังสือเล่ม กดที่นี่

eBook กดที่นี่

หนังสือเรื่อง Drive กับการใช้ OKRs

ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง Drive ที่เขียนโดย Daniel Pink โดยหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเรื่อง “แรงจูงใจภายใน” ที่มีความสำคัญมากในการพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จ

พออ่านจบ ผมนึกถึงเรื่องของ OKRs เลยครับ ส่วนตัวผมมีความเชื่อว่า OKRs นี่แหละครับน่าจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจภายในให้เกิดขึ้นกับองค์กรได้

ในหนังสือเรื่อง Drive กล่าวถึง 3 วิธีในการสร้างแรงจูงใจภายใน ได้แก่

1) Autonomy หรือความเป็นอิสระ

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของ OKRs คือเปิดโอกาสให้กับพนักงานได้คิด ได้สร้างสรรค์สิ่งที่สำคัญได้ด้วยตัวเอง ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ถึงกับ 100% เพราะการทำ OKRs ในองค์กรนั้น พนักงานยังคงต้องสามารถตอบได้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้น ตอบโจทย์องค์กรอย่างไร แต่ก็น่าจะดีกว่าการบังคับหรือสั่งให้เขาทำ 100% แน่ ๆ ครับ

2) Mastery หรือการสร้างความเชี่ยวชาญ

มนุษย์มักจะมีแรงจูงใจสูง ถ้าเขาได้ทำในสิ่งที่เขาถนัด เขาเชี่ยวชาญ OKRs ก็นับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะเป็นตัววัดว่า สิ่งที่เขาทำนั้น เขาทำได้ดีมากน้อยเพียงใด มิติหนึ่งของ OKRs คือการพยายามตั้งเป้าที่ท้าทาย เพื่อทดสอบ Limit ของตัวเองว่าเราทำได้ดีแค่ไหน การทำในลักษณะนี้ย่อมทำให้คนกล้าที่จะทำอะไรที่แต่ก่อนอาจจะไม่เคยคิดว่าจะทำได้

3) Purpose หรือการสร้างเป้าหมาย

มนุษย์เรานั้น หากทำอะไรโดยที่ไม่มีเป้าหมาย ก็มักจะไม่ค่อยอยากทำ เข้าข่ายที่ว่า “ไม่รู้จะทำไปทำไม” OKRs จะช่วยกลับมาทำให้เราได้คิดว่า “เป้าหมายชีวิตการทำงานของเราคืออะไร” ด้วยแนวคิดนี้แหละครับ ที่จะมีส่วนช่วยทำให้คนอยากทำงานมากขึ้น

สำหรับผม OKRs จะตอบคำถาม 2 คำถามคือ 1) อะไรคือความฝันของเรา และ 2) ความฝันนั้นช่วยองค์กรได้อย่างไร เมื่อเรามีเป้าหมายในการทำงาน (ที่ถูกสร้างมาจากเราเอง) ที่ชัดเจน แรงจูงใจในการทำงานก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น

ทั้ง 3 ข้อนี้ เมื่อผมอ่านหนังสือเรื่อง Drive แล้ว ทำให้ผมนึกถึง OKRs ขึ้นมาทันที และสำหรับผมแล้ว นี่คือ OKRs ที่องค์กรควรจะสร้างขึ้นครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify Youtube หรือ Blockdit

Online Course: Objective and Key Results (OKRs)

OKRs เป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากการที่องค์กรชั้นนำอย่าง Google ได้นำไปใช้ และทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างมากมาย

อย่างไรก็ตามการที่จะนำเอา OKRs ไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จ ผู้บริหารและพนักงานก็ควรจะทำความเข้าใจในแนวคิดนี้เป็นอย่างดี

Online Course: Objective and Key Results (OKRs) นี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิด OKRs การออกแบบ OKRs ที่ถูกวิธี ตลอดจนการนำไปใช้ให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด

การเรียนการสอนจะเป็นรูปแบบ Online ผ่าน Zoom Platform ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถสอบถามกับผู้สอนได้โดยตรงในเวลาเรียน และเป็นการประหยัดเวลาในการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่อยู่ต่างจังหวัดหรือแม้กระทั่งต่างประเทศ

ผู้สอนคือ ศาสตราจารย์ ดร. นภดล ร่มโพธิ์ ผู้ที่ทำวิจัยและสอนเรื่องเกี่ยวกับ OKRs และยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “พัฒนาองค์กรและชีวิตด้วยแนวคิด OKRs” รวมถึงผู้แปลหนังสือ Radical Focus (ชื่อไทย อยากสำเร็จต้องโฟกัส ด้วยแนวคิด OKRs) ซึ่งเป็นหนังสือ Best Seller แต่งโดย Christina Wodtke ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน OKRs

วันเวลาในการเรียนคือวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม 2563 เวลา 9.00 – 12.00 น. โดยผู้เรียนสามารถกลับมาดู Clip ย้อนหลังได้ตลอดเวลา ผ่าน Facebook Group ที่จะตั้งขึ้นเฉพาะสำหรับผู้เรียนเท่านั้น

ปิดรับสมัครในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563 นี้เท่านั้น

ท่านที่สนใจดูตามรายละเอียดในรูป และสามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ m.me/NPIntelligence ได้เลยครับ

ข้อคิดที่ได้จากการอ่านหนังสือ OKRs 5 เล่ม

ระยะหลัง ผมได้มีโอกาสไล่อ่านหนังสือ OKRs ทุกเล่ม ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะที่เป็นภาษาอังกฤษเรียกว่ากวาดมาหมด

แต่ต้องบอกว่า หนังสือหลัก ๆ ของ OKRs ที่เป็นภาษาอังกฤษ เช่น Measure what matters หรือ Radical Focus หรือ Objectives and Key Results ก็อ่านจบหมดแล้ว เล่มหลัง ๆ มักจะเป็นเล่มบาง ๆ ในลักษณะของ Ebook ที่คนเขียนก็มีประสบการณ์ทำ OKRs ก็นำมาเขียนกัน

แต่ก็ยังอ่านครับ แต่พอจะมารีวิวแต่ละเล่ม ผมเห็นว่า มันก็มีเนื้อหาไม่เยอะพอ แต่พออ่านสะสมมาหลายเล่ม เลยคิดว่ามีประเด็นหลายอย่างที่สามารถรวบรวมมาได้ ก็เลยเป็นที่มาของบทความนี้ครับ

พร้อมแล้ว เริ่มกันเลยนะครับ

1. Objective and Key Results (OKR) Leadership

เล่มนี้แต่งโดย Doug Gray ผมได้บทเรียนดังต่อไปนี้ครับ

1. เวลาเราเขียน OKRs ของเราและแสดงให้คนอื่นดู เราก็เป็นเหมือน CEO ที่จะต้องรับผิดชอบ OKRs นั้น ๆ

2. Objective ที่เขียนขึ้นนั้นมันคือสิ่งที่เราจะทำ และมักจะเป็นข้อความเชิงคุณภาพที่บอกถึงความต้องการของเรา

3. Key Results คือการตอบคำถามว่าเราจะวัด Objective นั้นได้อย่างไร จึงมักจะเป็นข้อความเชิงปริมาณ ที่จะบอกว่าวัดได้โดย… และให้เสร็จภายใน…. และจะมีประมาณ 3-5 ข้อต่อ Objective 1 ข้อ

4. เราต้องเขียน OKRs เอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาเขียนให้

5. Objective มี 2 ประเภทได้แก่ Operational Objective ซึ่งคือวัตถุประสงค์ที่เราต้องการที่จะรักษาระดับการทำธุรกิจเราไว้ และ Aspirational Objective ซึ่งคือวัตถุประสงค์ที่เราต้องการจะปรับเปลี่ยนองค์กรให้ดีขึ้น

6.  Peter Drucker เคยกล่าวไว้ว่า “ผู้นำในอดีตจะรู้วิธีที่จะบอก ผู้นำในอนาคตจะรู้ที่จะถาม”

2. The OKRs Book 

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยทีม Stretch ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน OKRs ผมอ่านแล้ว ได้ข้อคิดดังต่อไปนี้ครับ

1. OKRs คือเทคนิคในการทำให้ทุกคนมีเป้าหมายที่สอดคล้องกันและจะช่วยนำพาองค์กรไปข้างหน้า โดยจะเริ่มจากการตั้งวัตถุประสงค์ที่ท้าทายในระดับบนก่อน และจะต้องมีผลลัพธ์หลักที่วัดความสำเร็จของวัตถุประสงค์นั้น

2. หลังจากมี OKRs ระดับบนแล้ว แต่ละทีมก็จะสร้าง OKRs ของทีมขึ้นมา และบุคลากรในทีมก็จะสร้าง OKRs ของตัวเองขึ้นมา โดยจะมี OKRs ประมาณ 3-5 ข้อเท่านั้น และทุกคนจะสามารถเห็น OKRs ของทุกคนได้

3. OKRs จะทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น เพราะเราจะ Focus เฉพาะสิ่งที่สำคัญ และจะตอบคำถามได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้ จะทำให้เราใกล้ความสำเร็จของวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้หรือไม่

4. การสร้าง OKRs สำหรับทีมนั้น จะต้องมีความเฉพาะเจาะจง วัดผลได้

5. Key Results จะต้องสามารถทำได้ และทุกคนในทีมจะต้องทราบด้วย และควรจะมีการ Update กันรายสัปดาห์หรือแม้กระทั่งรายวัน เพื่อจะได้ทราบความก้าวหน้า

6. จะทำให้ OKRs สำเร็จ เราต้องเอามาใช้ในกระบวนการทำงานตามปกติของเรา และทุกคนต้องมองเห็น OKRs โดยอาจจะมีการ Update ทุกสัปดาห์หรือแม้กระทั่งทุกวัน

7. 3 คำถามที่เราควรตอบได้คือ 1) เมื่อวานนี้เราทำอะไรสำเร็จ 2) วันนี้เราจะทำอะไร 3) มีอะไรที่จะขัดขวางความสำเร็จเรา

8. เราควร Rate ว่าตอนนี้เราทำ OKRs ได้ในระดับใด 1 คือ เพิ่งเริ่มต้น ในขณะที่ 10 คือ เกินความคาดหมาย ถ้าสุดท้ายแล้ว เราได้ 8-10 แปลว่าเราตั้งเป้าไม่ท้าทาย แต่ถ้าเราได้ต่ำกว่า 5-6 ก็อาจจะแปลว่า Key Results เราอาจจะยากไป

3. OKRs at the Center

หนังสือเล่มนี้แต่งโดย Natalija Hellesoe และ Sonja Mewes อ่านแล้วได้ข้อคิดดังนี้ครับ

1. OKRs เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างวิสัยทัศน์ขององค์กรกับการดำเนินงานขององค์กร OKRs จะบอกว่าเราต้องทำอะไรที่ท้าทายไปสู่จุดมุ่งหมายใหญ่ขององค์กร

2. Key Results จะเป็นการวัด Objectives เพื่อจะบอกว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้เรามาถูกทางแล้วหรือยัง และเมื่อไรจะเรียกได้ว่าเราบรรลุ Objective ที่ตั้งไว้แล้ว นอกจากนี้ Key Results ยังทำให้เราเห็นภาพรวมของ Objective อีกด้วย เพราะ Key Results แต่ละตัวก็จะระบุองค์ประกอบแต่ละด้านของ Objective ข้อนั้น ๆ

3. ความสามารถในการแข่งขันจะเกิดขึ้นได้เมื่อองค์กรมีความสามารถในการเรียนรู้ที่เร็วกว่าคู่แข่ง

4. ไม่มีวิธีใดที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างและใช้ OKRs ในแต่ละองค์กร ดังนั้นแต่ละองค์กรควรจะหาวิธีการที่ดีที่สุดของตัวเอง

5. ควรสร้างแผนภูมิ OKRs ที่จะทำให้เห็นความเชื่อมโยงของ OKRs ในองค์กร

6. เราควร Focus ในเรื่องการเรียนรู้มากกว่าเรื่องจะ Focus เรื่องของผลแต่เพียงอย่างเดียว

7. การวัด Key Results ที่เน้น Value คือการวัดที่ Outcome ของงานมากกว่า Output ของงาน (คืองานนั้นทำแล้วมี Impact อย่างไร)

8. คำถามแรกที่เราควรถามคือ เราต้องการได้อะไรจากการใช้ OKRs

4. OKRs and Business Strategy for Transformation

หนังสือเล่มนี้แต่งโดย Andressa Chiara อ่านแล้วมีข้อคิดที่น่าสนใจดังนี้ครับ

1. โบนัสอาจจะสามารถสร้างแรงจูงใจภายนอกได้ แต่จะทำให้การใช้ OKRs ไม่ประสบผลสำเร็จ

2. วัตถุประสงค์ต้องเป็นสิ่งที่ท้าทายและสามารถจูงใจให้เราตื่นขึ้นมาและอยากที่จะทำมัน

3. ในการตั้ง OKRs ลองถามคำถาม 2 คำถาม คือ เราอยากมองตัวเราเป็นมืออาชีพในด้านใด และ สิ่งนั้นจะช่วยองค์กรได้อย่างไร

4. OKRs จะช่วยสร้างแรงจูงใจภายใน โดย Objective จะทำให้เรามีเป้าหมายในการทำงาน (Purpose) ในขณะที่ Key Results จะช่วยให้เรารู้ว่าเราเก่งแค่ไหนแล้ว (Mastery) และการที่เราสามารถสร้างและปรับ OKRs ได้ด้วยตัวเอง ทำให้เรามีอิสระการทำงาน (Autonomy)

 

5. The Team that Managed Itself

เป็นอีกหนึ่งผลงานของ Christina Wodtke ผู้เขียนหนังสือชื่อ Radical ที่ผมว่าเป็นหนังสือเรื่อง OKRs ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งทีเดียวครับ

จะว่าไปแล้ว เล่มนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับ OKRs โดยตรงเหมือนเล่มก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้อง และตามสไตล์ของ Christina คือจะเริ่มจากเรื่องราวแนวนวนิยายก่อน มีสถานการณ์ต่าง ๆ ให้พบเจอ แล้วครึ่งหลังจึงโยงกับเรื่องแนวคิดการบริหาร

ผมขอคัดเอาเฉพาะข้อคิดที่เกี่ยวกับ OKRs ที่ผมได้จากเล่มนี้เป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ

1. OKRs ไม่ใช่เครื่องมือในการประเมินผลพนักงาน

2. ถ้าเราเอา OKRs มาใช้ประเมินพนักงานว่าทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ พนักงานจะตั้งเป้าหมายที่ไม่ท้าทายทันที

3. ถ้าใครทำอะไรไม่ถูก มันจะง่ายกว่ามากถ้าเราบอกเขาตั้งแต่ครั้งแรก เพราะถ้าเราไม่บอกตั้งแต่ครั้งแรก เราจะต้องอธิบายว่า ทำไมครั้งนี้ถึงไม่ OK

4. วัตถุประสงค์มักเป็นข้อความเชิงคุณภาพ ในขณะที่ผลลัพธ์หลักคือข้อความในเชิงปริมาณ

5. วัตถุประสงค์ควรเป็นข้อความที่สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เราอยากลุกออกจากเตียงมาทำอะไรที่น่าตื่นเต้นกับชีวิตเรา

6. วัตถุประสงค์ควรมีการกำหนดชัดเจนว่า ภายในระยะเวลาใด แต่ถ้ามันเกิน 1 ปี มันจะเป็นพันธกิจมากกว่าวัตถุประสงค์ (วัตถุประสงค์ก็คือพันธกิจในเวลาที่สั้นกว่านั่นเอง)

7. การสร้าง OKRs นั้น เราควรจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร

8. ผลลัพธ์หลักคือการตอบคำถามที่ว่า “เราจะทราบได้อย่างไรว่าตอนนี้เราบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แล้วหรือยัง”

9. ผลลัพธ์หลักมักจะวัดเรื่องการเติบโต ความเกี่ยวข้องกับงาน รายได้ ผลการดำเนินงาน และคุณภาพ

10. OKRs ต้องทำให้ยาก แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้

11. ในบริษัทที่มีการทำโทษความผิดพลาด พนักงานก็จะไม่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ ที่ท้าทาย ดังนั้นหากเราต้องการประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยที่จะทำให้คนกล้าทำอะไรที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

12. คำว่าท้าทายใน OKRs คือเราควรมีโอกาส 50% ที่จะทำได้ อีก 50% ที่จะทำไม่ได้ ถ้าเราคิดว่ายังไงก็ไม่ได้ อย่างนี้ยากไป แต่ถ้าคิดว่า เราทำได้แน่ ๆ ถึงแม้จะมีอุปสรรค ก็แสดงว่าง่ายไป

13. OKRs ของทีมไม่จำเป็นต้องตอบ OKRs ในระดับบนทุกข้อ (หรืออาจจะตอบทุกข้อก็ได้)

14. OKRs ส่วนบุคคลควรตอบเรื่องการเติบโตของตัวพนักงานเอง และ การตอบเป้าหมายหลักขององค์กร คือทำ OKRs นี้ได้แล้ว เราต้องเก่งขึ้น และองค์กรก็ต้องได้ประโยชน์ด้วย

15. สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คือ เราตั้ง OKRs ไว้ตอนต้นไตรมาส และก็ลืมไปเลย

16. เราควรมีการ update OKRs ทุก ๆ สัปดาห์

17. OKRs ไม่ได้ตั้งไว้เพื่อให้เราทำให้ถึงเป้าหมาย แต่เป็นการเรียนรู้ว่าเรามีความสามารถอยู่ในระดับใด OKRs จะผลักให้เราทำอะไรที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำได้

18. ในการประชุมเรื่อง OKRs เราจะคุยกัน 4 เรื่องได้แก่ 1) สัปดาห์หน้าเราจะทำอะไร 2) เดือนที่จะถึงนี้เราจะทำอะไร 3) ตอนนี้ OKRs เราอยู่ระดับใด 4) ตัววัดที่สำคัญอื่น ๆ (Health Metrics) เป็นอย่างไรบ้าง

19. Health Metrics คือตัววัดสุขภาพทั่วไปขององค์กร เพื่อดูว่าเรื่องอื่น ๆ ยัง OK ไหม ในขณะที่เรากำลังมุ่งเป้าไปที่ OKRs ของเรา โดยปกติ เราอาจจะให้สัญลักษณะเป็น เขียว (ไม่มีปัญหา) เหลือง (ต้องระวัง) แดง (มีปัญหา)

20 OKRs ไม่ใช่ Health Metrics และ Health Metrics ไม่ใช่ OKRs

จริง ๆ ยังมีหนังสือภาษาอังกฤษอีก 2 เล่มที่อ่านจบ แต่ไม่มีประเด็นอะไรเพิ่มเติม เลยไม่ได้สรุปไว้ ได้แก่ Enterprise Agiligy with OKRs แต่งโดย Aditi Agarwal และ Goal Setting Key Results โดย Higar 301

หวังว่าการสรุปนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับหลายท่านที่สนใจเรื่อง OKRs นะครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify Youtube หรือ Blockdit

OKRs กับการประเมินผลพนักงาน

ระยะหลังนี้คำถามเกี่ยวกับ OKRs ที่ผมเคยเจอ ไม่ใช่คำถามว่า OKRs คืออะไร เพราะเข้าใจว่าหลายท่านเริ่มรู้จัก OKRs มากขึ้น

แต่เป็นคำถามว่า “จะเอา OKRs มาประเมินพนักงานอย่างไร”

ตรงนี้แหละครับที่เป็นที่มาของบทความนี้ เพราะถ้าผมเริ่มตอบว่าปกติเราไม่ควรเอา OKRs มาประเมินผลพนักงาน ก็จะมีคำถามต่อมาทันทีว่า แล้วจะเอาอะไรประเมิน หรือ ถ้าไม่ประเมินพนักงาน แล้วเขาจะทำกันเหรอ

งั้นขอเริ่มอย่างนี้ก่อนครับ

ปกติแรงจูงใจที่จะทำให้คนทำงานมันมีอยู่ 2 ประเภทคือ แรงจูงใจภายนอก กับ แรงจูงใจภายใน

แรงจูงใจภายนอกก็อย่างเช่น การได้เงินเดือน โบนัส สวัสดิการ ส่วนแรงจูงใจภายในก็อย่างเช่น การได้ทำงานในสิ่งที่เรารัก เราชอบ

สังเกตไหมครับ บางทีเราเห็นคนบางคนทำงานที่ได้เงินเดือนน้อยกว่า ทั้ง ๆ ที่ก็มีโอกาสทำงานที่ได้เงินเดือนเยอะกว่า แต่เขาก็ไม่ได้ไป ก็เพราะแรงจูงใจภายในที่เขาได้ทำงานที่เขาชอบนี่แหละครับ

คำถามคือ แล้ว แรงจูงใจไหนที่ส่งผลต่อการทำงานมากกว่ากัน

ก็ขอตอบตามความคิดเห็นของผมละกันนะครับว่า จริง ๆ มันไม่ต้องเลือกครับ มันควรมีทั้ง 2 อย่าง อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจแต่ละอย่างอาจจะตอบโจทย์ของเราไม่เหมือนกัน

ผมขอแบ่งแบบนี้ครับ ปกติแรงจูงใจภายนอก เช่น พวกเงินเดือน สวัสดิการ พวกนี้ มันมีลักษณะของการเป็น Hygiene Factor แปลว่า สิ่งเหล่านี้มันเหมือนเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ที่ถ้าไม่มีเราคงไม่พึงพอใจ (ลองนึกภาพว่าทำงานแล้ว เราไม่ได้เงินเดือน) แต่มีมันก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะอยากไปทำงาน (ก็ที่บ่น ๆ ว่าเบื่อวันจันทร์ นี่ก็ได้เงินเดือนกันทั้งนั้นนะครับ แต่ก็ยังเบื่อ)

ในขณะที่แรงจูงใจภายใน จะทำหน้าที่เป็น Motivator คือมันจะทำให้เราอยากไปทำงาน เช่น มันเป็นงานที่เราอยากทำ เห็นไหมครับ ว่างานที่ดีมันควรมีทั้ง 2 แบบ คือเงินเดือนก็ได้ (แรงจูงใจภายนอก) และแถมงานก็อยากทำ (แรงจูงใจภายใน)

คราวนี้ถ้ามันขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป เช่น งานไม่อยากทำเลย เบื่อมาก แต่ได้เงินเดือนเยอะมาก ๆ มันก็พอจะฝืน ๆ ทนกันไป หรือ งานอยากทำมาก ๆ แต่เงินเดือนน้อยสุด ๆ หลายคนก็อาจจะยอม (คือถ้าพอมีเงินอยู่บ้าง ไม่ถึงกับเดือดร้อนมากนัก)

แล้วเล่าเรื่องพวกนี้ให้ฟังทำไม เกี่ยวอะไรกับ OKR คือกำลังจะบอกว่า OKRs นี่แหละมันเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจภายใน มันไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้กับแรงจูงใจภายนอกครับ

สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการขึ้นเงินเดือนที่เราเรียกว่าการประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงาน ก็จะทำหน้าที่เกี่ยวกับแรงจูงใจภายนอกมากกว่าจะเป็นแรงจูงใจภายใน ดังนั้น มันจึงมีเหตุผลที่เราไม่ควรนำมาปะปนกัน เพราะถ้าเอา OKRs มาใช้ในการขึ้นเงินเดือน OKRs มันก็จะทำหน้าที่เหมือนกับเครื่องมือในการประเมินผล เช่น KPI การประเมิน Competency หรือการประเมินแบบ 360 องศา หรืออื่น ๆ ทันที แปลว่ามิติต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่นของ OKRs ก็จะหายไป ไม่ว่าการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย การเลือกเฉพาะสิ่งที่สำคัญ หรือการเปิดโอกาสให้พนักงานคิด OKRs เอง

มาเจาะตรงนี้อีกสักหน่อยครับ

ลองนึกภาพ OKRs นะครับ เราบอกให้พนักงานตั้งเป้าหมายเอง (Bottom Up) แต่อยากให้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย แต่เราบอกว่า เราจะเอา OKRs มาประเมินผลพนักงานนะครับ ถ้าได้ 100% จะได้ขึ้นเงินเดือนมากกว่าได้แค่ 70%

แบบนี้ จะมีใครเลือกตั้ง OKRs ที่ท้าทายและยาก ๆ ไหมครับ

คำตอบคือคงยากหรือแทบจะไม่มีเลย ใครล่ะครับ ที่จะตั้งเป้าหมายให้ตัวเองทำไม่ถึง แล้วก็ไม่ได้ขึ้นเงินเดือน

เอามาทำแบบนี้ เราก็คงเห็น OKRs ที่ทุกคนได้ 100% เต็ม แล้วมันจะมีประโยชน์อย่างไรครับ

แล้ว OKRs เอาไปใช้อย่างไร

ลองมาดูอีกทฤษฏีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกนะครับ คือ ทฤษฏีลำดับของแรงจูงใจของ Maslow ที่บอกว่ามนุษย์เรามีแรงจูงใจอยู่ 5 ขั้น

ขั้นที่ 1 คือ ความต้องการทางกายภาพ เช่น อาหาร น้ำ ขั้นที่ 2 คือ ความต้องการความมั่นคง ปลอดภัย ขั้นที่ 3 คือ ความรักและความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เช่น การมีเพื่อนที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดี ขั้นที่ 4 คือ การได้รับการยอมรับนับถือจากคนอื่น เช่น เป็นความรู้สึกที่เราทำอะไรได้สำเร็จ และได้รับการยอมรับ และขั้นสูงสุดคือขั้นที่ 5 คือ ความสมบูรณ์ของชีวิต แบบที่เราพึงพอใจที่เราทำได้เต็มศักยภาพแล้ว

โดยปกติแล้ว 2 ขั้นแรก (ขั้นที่ 1-2) นี่คือความต้องการพื้นฐานก่อน เราต้องมี 2 อย่างนี้ก่อน ก่อนจะก้าวต่อไป เช่น ถ้าเรายังไม่ได้มีอะไรกินเลย เราคงไม่คิดว่าเราอยากจะได้รับการยอมรับ ขอแค่ไม่อดตายก่อน

ส่วน 2 ขั้นถัดไป (ขั้นที่ 3-4) นี่คือความต้องการด้านจิตใจ เช่น ตอนนี้เรามีพออยู่พอกินแล้ว เราก็อยากมีเพื่อน และได้รับการยอมรับนับถือ

ส่วนขั้นสูงสุดคือขั้นที่ 5 มันเหมือนกับการตอบโจทย์ชีวิตเรา อย่างที่อธิบายไปแล้ว

แน่นอนไม่ได้บอกว่าทฤษฏีนี้ไม่มีจุดอ่อนหรือถูกเสมอ ก็มีหลายคนเคยแย้งว่า มันอาจจะไม่ได้เป็นไปตามลำดับแบบนี้ แต่ก็ต้องบอกว่าเอาสถานการณ์ทั่ว ๆ ไป ก็สามารถเอามาใช้อธิบายได้ดีพอสมควร

คราวนี้ ผมอยากจะ Mapping เครื่องมือที่องค์กรนำมาใช้ กับลำดับของแรงจูงใจของ Maslow

ขั้นที่ 1-2 คือความต้องการทางกายภาพและความต้องการด้านความปลอดภัยนั้น เครื่องมือที่องค์กรใช้ก็คือเงินเดือน สวัสดิการนี่แหละครับ คือ ถ้าพนักงานทำงานแล้ว ได้เงินเดือนไม่พอกิน พอใช้ ก็อย่าเพิ่งหวังว่าเขาจะทำอะไรที่ท้าทาย สร้างสรรค์ ดังนั้นระบบการประเมินผลการทำงานของพนักงาน ส่วนใหญ่ก็จะมาตอบโจทย์ของแรงจูงใจ 2 ขั้นแรกเป็นหลัก

ขั้นที่ 3 เป็นเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องเพื่อน การทำงานเป็นทีม ผมมองว่า มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร ที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น

ขั้นที่ 4-5 เรื่องการได้รับการยอมรับ และ ความรู้สึกว่าเราได้ทำอะไรเต็มความสามารถของเรา อันนี้แหละครับ ที่ OKRs มาตอบโจทย์ได้เต็ม ๆ

สังเกตไหมครับ การที่เขาให้พนักงานตั้ง OKRs เอง ให้ตั้งเป้าหมายเอง และตั้งให้ท้าทาย มันคือการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจประเภทนี้ เหมือนกับนักเขียนตั้งเป้าหมายว่าจะต้องได้รับรางวัลซีไรต์ หรือ นักแสดงอยากได้รางวัลตุ๊กตาทอง ตั้งเป้าหมายแบบนี้ มันทำให้ใจเราเต้นแรง และอยากทำทุกอย่างที่เราทำได้ เพื่อไปจุดนั้น

แต่การตั้งเป้าหมายในลักษณะนี้จะทำได้ เมื่อเรามีขั้นก่อนหน้านี้แล้ว นักเขียนที่ยังไม่มีเงินมาผ่อนบ้าน หรือ นักแสดงที่ยังมีหนี้สินพะรุงพะรัง คอยหนีเจ้าหนี้อยู่ จะให้เขาตั้งเป้าหมายแบบนี้ มันก็คงจะยาก

สรุปง่าย ๆ ว่า OKRs มันตอบแรงจูงใจขั้นที่ 4-5 ในขณะที่ระบบการประเมินพนักงานเพื่อขึ้นเงินเดือนอาจจะตอบข้อที่ 1-2 ซะมากกว่า ดังนั้นเมื่อเอา OKRs มาใช้ประเมินพนักงานเพื่อขึ้นเงินเดือน มันก็จะกลายเป็นระบบแบบเดิมไป

มีคำถามอีกครับ

“ก็ระบบประเมินผลแบบเดิมมันแย่ ก็เลยอยากเอา OKRs มาแทน ได้หรือไม่”

ผมขอตอบแบบนี้ ตามความเห็นส่วนตัวผมนะครับ

คือระบบประเมินผลแบบเดิมมันแย่ ก็แก้สิครับ แก้ให้มันดีขึ้น มันเหมือนคำถามว่า เลื่อยอันนี้มันทื่อ เลยอยากเอาค้อนมาแทน มันไม่ได้ไงครับ เลื่อยมันทื่อก็ลับเลื่อย เปลี่ยนเลื่อยสิครับ เอาค้อนมาแทนเลื่อย มันไม่ได้ช่วยเลย

เช่น หัวหน้าประเมินแล้วลำเอียง ก็ลองเปลี่ยนเป็นการประเมิน 360 องศาดู ตรงนี้ผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่อยากจะบอกว่ามันก็มีเครื่องมือในกลุ่มนี้อยู่เยอะแยะที่เราเอามาทดลองใช้ได้ แต่ผมคิดว่า OKRs ไม่ใช่เครื่องมือในกลุ่มนี้ครับ

คำถามต่ออีก…

“แต่ถ้าไม่โยงผลตอบแทนเข้ากับ OKRs ก็จะไม่มีใครสนใจทำ OKRs อย่างจริงจัง”

อันนี้ผมก็คิดว่าอาจจะจริงครับ แต่มันบ่งบอกชัดเจนว่า ตอนนี้ในองค์กรเรา พนักงานทั้งหมดจะถูกจูงใจได้ด้วยเงินเท่านั้น เรียกง่าย ๆ ว่า ถ้าไม่มีเงิน เขาก็จะไม่ทำ

สำหรับผม ผมว่ามันเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่น่าเป็นห่วงนะครับ เพราะเงินเรามีจำนวนจำกัด

ถ้าผมจำไม่ผิด ผมเคยอ่านหนังสือชื่อ Payoff เขียนโดย Dan Ariely เขาเล่าว่า มีงานวิจัยบอกว่า การขึ้นเงินเดือนนั้น จูงใจทำให้คนทำงานดีขึ้นได้ไม่เกิน 2 เดือน หลังจากนั้นเขาจะมองเงินเดือนตรงนั้น เป็นเงินเดือนปกติเลย ต่างจากการสร้างแรงจูงใจภายใน เช่น การที่หัวหน้าให้การยอมรับนับถือพนักงาน ซึ่งทำให้เกิดแรงจูงใจได้นานกว่า

มองแบบนี้ถ้าเราจะต้องเอามาผูกกับเงินเดือน เราจะขึ้นเงินเดือนให้เขาทุก 2 เดือน ผมว่าบริษัทเราก็อยู่ไม่ได้

ถามอีก (ผมรู้ครับ ว่าจะต้องมี)

“แล้วถ้าไม่ให้เงิน แล้วจะให้อะไร ไม่ได้อะไรสักอย่าง แล้วใครจะทำ”

คืองี้ครับ ผมอาจจะโลกสวย แต่นี่คือภาพในอุดมคติของ OKRs นะครับ OKRs คือ สิ่งที่เรา “อยากทำ” ไม่ใช่สิ่งที่เรา “ต้องทำ” ดังนั้น คำตอบของคำถามนี้คือ ก็ “ได้ทำ” ไงครับ ได้ทำนี่แหละคือรางวัลของคนทำแล้ว

สังเกตไหมครับ ระบบการประเมินผลพนักงาน ทำไมต้องไปโยงกับเงินเดือน โบนัส เพราะเราไปบังคับให้เขา “ต้องทำ” ไงครับ เมื่อเราไปบังคับให้เขา “ต้องทำ” เราเลยต้องมีเงินเดือนมาจูงใจเขาว่า ถ้าทำได้เท่านี้ เอาเงินไปนะ มันก็ยุติธรรมดี แต่ OKRs เราถามเขาว่า “อยากทำ” อะไร ดังนั้นการที่เราอนุญาตให้เขาทำ ในสิ่งที่เขาอยากทำ มันก็คือรางวัลไปในตัวแล้วนั่นเอง

ดังนั้นคนเขียน OKRs ผมถึงเน้นไงครับ ว่า เราต้องเลือกสิ่งที่เรา “อยากทำ” จริง ๆ เพราะนั่นมันคือรางวัลด้วยตัวของมันเองแล้ว เขียน OKRs แล้วไม่อยากทำ เราก็ไม่ควรเขียนแบบนั้น หรือบางที่หัวหน้าเขียนให้ มันก็ไม่ใช่ OKRs แล้ว

“อันนี้มันอุดมคติ ไม่มีใครทำได้หรอก ถ้าไม่มีเงิน ไม่มีการประเมิน”

เชื่อครับว่า ต้องมีหลายท่านมีคำถามแบบนี้

เอาล่ะครับ ยอมแพ้ 555 ถ้าอยากมีจริง ๆ ก็พอจะมีทางออกได้บ้าง (ถึงแม้ว่าด้วยเหตุผลที่เขียนมายืดยาวข้างต้น มันก็ไม่น่าจะต้องโยงกับการประเมินก็ตาม) ถ้าอยากประเมิน ขออย่างเดียว อย่าไปประเมินว่าใครได้ OKRs 100% จะได้เงินเดือนขึ้นเยอะกว่า OKRs 70% เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น มันก็กลายเป็นระบบเดิมที่เล่าให้ฟังแล้ว

เอาเป็นว่า พยายามทำให้เหมือนกับการประกวด แข่งขัน แล้วหัวหน้าให้คะแนนตาม Impact ของ OKRs ที่ได้ มันเหมือนกับ Startup ที่มานำเสนอแนวคิดเปลี่ยนโลกของเขาให้กับนักลงทุน แต่อันนี้เป็นพนักงานมานำเสนอ OKRs เปลี่ยนองค์กรให้กับผู้บริหาร เพื่อให้ผู้บริหารให้คะแนนว่า OKRs ของแต่ละคน ใครทำได้มี Impact มากกว่ากัน

ใช่ครับ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า การประเมินมันคงเป็นลักษณะ Subjective คือผู้บริหารต้องใช้การพิจารณาตัดสินใจออกมาเป็นคะแนน ซึ่งผมก็หวังว่าผู้บริหารก็ควรจะทราบดีว่า OKRs แบบไหนน่าตื่นเต้น ท้าทาย และถึงแม้ว่าพนักงานคนนั้นทำได้แค่ 70% ก็อาจจะดีกว่า OKRs บางอันที่ง่าย ไม่มี Impact ถึงแม้ว่าจะทำได้ 100% ก็ตาม

ถ้ากลัวลำเอียงก็ให้ผู้บริหารหลาย ๆ คนมาร่วมกันให้คะแนนก็ยังได้ เหมือนกับเวทีประกวดนั่นแหละครับ

เอาจริง ๆ แล้ว ถ้าใครกลัวเรื่องการประเมินแบบ Subjective ให้นึกถึงตอนประเมินรับพนักงานเข้ามาทำงานนั่นแหละครับ ในที่สุดเราก็ใช้ Judgement ร่วมกันใช่ไหมครับว่า สมควรรับคนนี้เข้ามาทำงานไหม และหลาย ๆ ครั้ง บางคนที่เรารับเกรดก็น้อยกว่าอีกคนหนึ่ง แต่เราก็ดู Portfolio อื่น ๆ ของเขาเช่นกัน เช่น ถึงเกรดต่ำ แต่เขาก็เป็นประธานนักศึกษานะ หรือทำกิจกรรมตั้งเยอะ น่าสนใจมาก

OKRs มันก็เหมือนกับ Portfolio ของพนักงานนี่แหละครับ มันก็สามารถเอามาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินได้เหมือนกัน ถ้าอยากจะนำมาใช้ประเมินนักนะครับ เอาไว้ดูประกอบกับองค์ประกอบอื่น ๆ ไปด้วย อย่างที่บอก เหมือนกับเราประเมินรับพนักงานใหม่

แบบนี้ ก็อาจจะพอไหว ที่จะเอา OKRs มาใช้ในการประเมิน ถ้าอยากจะโยงกันจริง ๆ

หวังว่าน่าจะตอบคำถามเรื่องนี้เกือบหมดนะครับ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวครับ เคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป เพราะผมก็เข้าใจว่าบริบทของแต่ละที่ก็อาจจะแตกต่างกัน เอาเป็นว่าอะไรที่ทำแล้ว work ในองค์กรท่าน อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ผมบอก ก็ถือว่าท่านทำได้ถูกต้องแล้วครับ

สุดท้าย ผมเขียนบทความนี้ ผมไม่สามารถนำไปขึ้นเงินเดือนได้นะครับ ไม่ได้ผลตอบแทนทางการเงินใด ๆ บทความนี้จึงเป็นตัวอย่างของ OKRs ของผม เพราะที่ใช้เวลาทั้งหมดเป็นชั่วโมงในการเขียน มันไม่ได้มีท่านใดมาสั่งให้ “ต้องทำ” แต่มันเป็นสิ่งที่ผม “อยากทำ” ล้วน ๆ ครับ

อย่างน้อยวันนี้ก็ได้ไต่ขึ้นไปในระดับ 4-5 ของขั้นของแรงจูงใจของ Maslow แล้ว แค่นี้ก็มีความสุขแล้วละครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการทำ OKRs ของท่านเช่นกันครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือ Twitter Nopadol’s Story หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Certified OKRs Champion Public Training Course

จากที่เคยเล่าไว้ใน Podcast เนื่องจากภารกิจที่มีค่อนข้างมาก ผมจึงไม่สามารถที่จะไปบรรยายในลักษณะของ In-House Training ในแต่ละองค์กรได้อีกต่อไปครับ

อย่างไรก็ตาม เพื่อทำให้องค์กรสามารถนำเอา OKRs ไปใช้ประโยชน์ได้ ผมจึงขอใช้แนวทางในการจัด Public Course ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมกลายเป็น OKRs Champion หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่อง OKRs ในแต่ละองค์กร

หลังจากเข้า Course นี้แล้ว ผมหวังว่าผู้เข้าเรียนจะสามารถนำเอาความรู้นี้ไปถ่ายทอดให้กับบุคลากรในองค์กรได้เข้าใจในแนวคิด OKRs และสามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรของตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งผมเชื่อว่าการทำในลักษณะนี้จะสามารถทำให้แนวคิด OKRs ขยายเข้าสู่องค์กรได้รวดเร็วกว่าการที่ผมจะต้องเข้าไปบรรยายด้วยตัวเองในแต่ละองค์กรอย่างแน่นอน

และด้วยความตั้งใจที่อยากให้คนที่เรียนสามารถไปเป็น OKRs Champion หรือผู้เชี่ยวชาญด้าน OKRs ขององค์กรได้ ดังนั้น Material ที่ผมใช้ใน Course นี้ เช่น Presentation หรือเอกสารต่าง ๆ ผมอนุญาตให้ท่านนำไปใช้ได้เลยนะครับ

นอกจากนี้ผมได้ติดต่อกับทาง Skillane ซึ่งผมทำ Course Online เรื่อง OKRs ไว้ เพื่อให้ผู้เข้าเรียน Course นี้ สามารถเรียน Course Online เรื่อง OKRs ที่ผมสอนได้ตลอดไป เพื่อเป็นการทบทวน เผื่อมีบางเรื่องอาจจะลืมไปหลังเรียนจบแล้ว

และผมจะนำเสนอ Software ZeeZcore ซึ่งจะเป็น OKRs Software ที่ผมทำมาโดยใช้เวลากว่า 2 ปี เพื่อให้ผู้ที่เข้า Course ได้นำไปทดลองใช้ในองค์กรของท่านโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนถึงสิ้นปีนี้ด้วยอีกเช่นกัน

สำหรับผู้ที่สนใจกดเข้าไปในรายละเอียดตาม link ข้างล่างนี้นะครับ ผมได้ให้ทีมผู้ช่วยจัดการเรื่องนี้แทนผม และเข้าใจว่าน่าจะรับได้จำนวนจำกัดในแต่ละรุ่น (ตอนนี้ยังไม่ได้มี plan ในการจัดรุ่นอื่น อาจจะต้องดูจำนวนความต้องการอีกทีครับ)

หากเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรท่าน พบกันครับ

http://bit.ly/2KUFzDd

25 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ Goal Setting and Team Management with OKR

หนังสือเล่มนี้ เป็นอีกเล่มที่เขียนเรื่อง OKRs แบบอ่านไม่ยากนัก และไม่ยาวมากด้วยครับ อ่านแล้ว จึงขอสรุปเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจสั้น ๆ ดังนี้ครับ

1. OKRs คือกรอบแนวคิดระดับองค์กรในเรื่องการตั้งเป้าหมายและการติดตามความก้าวหน้า

2. Andy Grove อดีต CEO ของ Intel ที่ได้นำเอา OKRs ไปใช้ เคยกล่าวไว้ว่า “70% คือ 100% แบบใหม่” แปลว่าถ้าได้แค่ 70% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ท้าทายแล้ว ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมแล้ว

3. วัตถุประสงค์ (Objective) ที่ตั้งใน OKRs ควรจะมีลักษณะเป็นเชิงคุณภาพ มีเวลาที่ชัดเจน สามารถทำได้ และท้าทาย

4. ผลลัพธ์หลัก (Key Results) ที่ตั้งใน OKRs ควรจะเป็นเชิงปริมาณ วัดให้คะแนนได้ ท้าทาย และ เป็นไปได้

5. John Doerr ผู้ที่เอา OKRs มาใช้ใน Google เคยกล่าวไว้ว่า “วัตถุประสงค์คือสิ่งที่เราต้องการให้สำเร็จ ส่วนผลลัพธ์หลักคือสิ่งที่บอกว่าเราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร

6. คำถามที่ใช้ทดสอบว่า OKRs เป็นเครื่องมือที่เหมาะกับองค์กรของเราหรือไม่ 1) เรามีระบบการตั้งเป้าหมายมาก่อนหรือไม่ 2) เราต้องการอะไรจากการตั้งเป้าหมายนั้น 3) แล้วเราพอใจสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ 4) กระบวนการที่เราทำอยู่ยังสามารถพัฒนาต่อไปอีกหรือไม่

7. ถ้าอยากใช้ OKRs ให้สำเร็จในองค์กร เราจะต้องมีสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 1) ความโปร่งใส 2) เป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทาย 3) ความร่วมมือร่วมใจของพนักงาน

8. สิ่งที่องค์กรจะได้ในการนำเอา OKRs ไปใช้ 1) การมุ่งเน้นในสิ่งที่สำคัญ 2) ความเข้ากันได้ของการทำงานระหว่างพนักงาน 3) นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 4) ความร่วมมือร่วมใจของพนักงาน

9. คำถามที่ควรถามพนักงานเพื่อใช้ในการให้ Feedback ถึงเรื่องการทำ OKRs 1) ถ้าให้คะแนน 1-10 คุณคิดว่าการใช้ OKRs ประสบความสำเร็จแค่ไหนในไตรมาสที่ผ่านมา ทำไมจึงคิดเช่นนั้น 2) อะไรที่คุณคิดว่า OKRs ทำให้เกิดประโยชน์ในไตรมาสที่ผ่านมา เราควรทำอะไรเพิ่มเพื่อจะให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น 3) มีข้อเสนอใหม่ ๆ หรือตัววัดใหม่ ๆ ที่เราควรเน้น แต่ไม่ได้ทำในไตรมาสที่ผ่านมาไหม

10. กฎของ Parkinson ว่าไว้ว่า “งานจะขยายตามเวลาที่มีอยู่” แปลว่า ถ้าให้เวลา 10 ชั่วโมงในการทำงานงานหนึ่ง เขาก็จะใช้เวลา 10 ชั่วโมงทำมันจนเสร็จ แต่ถ้าให้เวลา 10 สัปดาห์ เขาก็จะใช้เวลาทั้ง 10 สัปดาห์ ทำงานเดิมเสร็จ เช่นกัน

11. ข้อผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นจากใช้ OKRs มีดังต่อไปนี้ 1) ตั้งวัตถุประสงค์ที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจ 2) ขาดคนรับผิดชอบ 3) มี OKRs มากเกินไป 4) ใช้ภาษาที่คลุมเครือใน OKRs 5) ไม่ติดตามความก้าวหน้าของ OKRs 6) ไม่เปิดโอกาสให้ความคิดดี ๆ ถูกนำเสนอไปยังผู้บริหารระดับสูง 7) ไม่ได้ให้เครื่องมือที่จะช่วยให้ OKRs ประสบความสำเร็จ

12. OKRs สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน โดยคำถามที่สำคัญ ที่เราควรตอบคือ 1) อะไรคือเป้าหมายที่เราจะเลือกทำ ถ้าเราเหลือเวลาเพียง 1 ปีในชีวิตเราเท่านั้น 2) อะไรคือเป้าหมายที่เราจะเลือกทำ ถ้าเรามีเวลาเหลืออีก 40 ปีในชีวิต 3) เราจะทำอะไร ถ้าเงินไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกังวล 4) เราจะทำอะไร ถ้าเราไม่ต้องกลัวความล้มเหลว

13. ข้อแนะนำในเรื่องการสื่อสารภายในองค์กร มีดังต่อไปนี้ 1) ปฏิบัติต่อพนักงานให้เหมือนมนุษย์คนหนึ่ง 2) เปิดโอกาสให้พนักงานเข้าถึงเรา 3) รู้จักรับฟังเมื่อเรากำลังชี้แนะหนทาง 4) เขียนบันทึกและบอกให้ชัดว่าต้องการให้ทำอะไร 5) หลีกเลี่ยงความโกรธ

14. ลักษณะของผู้นำที่ดี 1) เป็นระเบียบ 2) มี EQ สูง 3) รู้จักอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี 4) รู้จักจังหวะว่าควรจะเร็วหรือช้าในเรื่องใด ควรใช้วิธีใด 5) สม่ำเสมอ

15. ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยสำหรับผู้นำ 1) ไปจัดการในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มากจนเกินไป 2) พนักงานกลัวจนไม่กล้าให้ข้อเสนอแนะ 3) ไม่ปล่อยให้พนักงานได้ลองเสี่ยงและผิดพลาด

16. วิธีที่สามารถจะดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ในองค์กร 1) ให้ชัดเจนว่าเราคือใครและต้องการอะไร 2) ให้ความสำคัญกับการรักษาคน 3) พัฒนาจุดแข็งของพนักงาน 4) ให้การศึกษาและเป็นพี่เลี้ยงให้กับพนักงาน 5) ยืดหยุ่นกับตารางการทำงานและค่าตอบแทน 6) ระวังเรื่องความอิจฉา ความภาคภูมิใจ และความโลภ

17. แรงจูงใจในการทำงาน จะขึ้นอยู่กับ 1) อิสระในการทำงาน 2) ความเชี่ยวชาญในงานนั้น ๆ และ 3) การมีจุดมุ่งหมาย

18. เพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน เราควรที่จะ 1) บอกให้พนักงานทราบว่าทำไมเขาถึงมีคุณค่ากับบริษัท 2) มีความโปร่งใส 3) กระตุ้นให้พนักงานพัฒนาตัวเองและศึกษาอย่างต่อเนื่อง 4) เปิดโอกาสให้มีการ Feedback และความร่วมมือ 5) เปิดโอกาสให้พนักงานเข้ามาพูดคุย ปรึกษา 6) พยายามทำให้พนักงานมีความสุข 7) พยายามให้รางวัลในความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ 8) ให้รางวัลที่เหมาะสมกับแต่ละคน 9) มีการจัดงานเพื่อให้การยอมรับกับคนที่ทำได้สำเร็จ

19. เราไม่ควรเก็บคำชม หรือ ข้อท้วงติงไว้จนสุดท้าย (ปลายปี) แล้วค่อยมาบอกพนักงาน

20. คำถามที่จะกระตุ้นให้พนักงานได้คิดและตอบ 1) อะไรคือเป้าหมายที่คุณอยากทำให้สำเร็จในอีก 12 เดือนข้างหน้า 2) งานใดที่คุณคิดว่าท้าทายที่สุดในไตรมาสหน้า 3) มีอะไรที่เราสามารถช่วยคุณได้ เพื่อให้คุณทำงานได้สำเร็จ 4) คุณต้องการให้เราให้ Feedback บ่อยครั้งแค่ไหนในแต่ละเดือน 5) คุณรู้สึกว่าเราเข้าไปจัดการเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มากเกินไปหรือไม่ คุณอยากมีอิสระในการทำงานมากกว่านี้หรือไม่ 6) เราควรทำอย่างไรที่จะเป็นผู้บริหารที่ดีขึ้นกว่านี้

21. ข้อผิดพลาดที่ผู้บริหารควรระวังเวลาที่จะ Review ผลงานของพนักงาน 1) ไปใช้ช่วงเวลาในการ Review ไปคุยเรื่องเงินเดือน 2) ใช้คนที่ไม่ได้ทำงานกับพนักงานมา Review พนักงาน 3) ไม่บอกกล่าวพนักงานล่วงหน้าว่าจะมีการ Review 4) ใช้คำพูดที่ไม่ชัดเจน 5) ปัดปัญหาต่าง ๆ ว่าจะเอาไปคุยในไตรมาสหน้า 6) ไปสนใจเรื่องลักษณะหรือนิสัยของพนักงานมากกว่า พฤติกรรมและผลลัพธ์ในการทำงาน

22. ตัวย่อของ CEO ที่แท้จริง ไม่ใช่ Chief Executive Officer แต่เป็น Chief Email Officer

23. วิธีที่เราจะประชุมให้ได้ผล 1) เชิญเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น 2) อย่าให้คนร่วมประชุมเยอะจนเกินไป 3) จับเวลาการประชุม 4) อย่าใช้ PowerPoint ให้ใช้ Whiteboards แทน 5) ไม่ควรใช้ iPhones และ Laptops 6) หลีกเลี่ยงการใช้การประชุมทางไกล 7) จบการประชุมด้วยข้อเขียนที่บอกว่าจะต้องทำอะไรต่อไป (บอกชื่อคน บอกงานที่จะทำ บอกวันที่ต้องทำให้เสร็จ)

24. ถ้าเราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีในองค์กร เราต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานในแต่ละวัน

25. Mark Twain เคยกล่าวไว้ว่า “ความลับของการที่เราจะนำหน้าคนอื่นคือการเริ่มต้นทำ

เรียกว่าเป็นหนังสือที่ตอนแรก ซื้อมาด้วยเหตุผลว่า มีคำว่า OKRs แต่อ่านไปอ่านมา มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจเยอะทีเดียวครับ และกลายเป็น Review ที่ยาวกว่าที่คิดไว้มาก แต่หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

ตารางการใช้ OKRs

คำถามที่ผมมักจะได้รับอยู่บ่อย ๆ คือจะเริ่มทำ OKRs จะเริ่มอย่างไรดี

คำตอบง่าย ๆ คือนอกจากจะทำความเข้าใจในแนวคิดนี้ให้ดีแล้ว เราควรจะเริ่มตั้งแต่เนิ่น ๆ

แล้ว เนิ่น ๆ นี่ เมื่อไรล่ะ

เอางี้ก่อนครับ แต่ละองค์กรคำว่า เนิ่น ๆ ก็อาจจะแตกต่างกันออกไป

ผมเอาข้อมูลจาก Website Measure what matters ซึ่งเป็น Website ของหนังสือชื่อเดียวกัน ที่เขียนโดย John Doerr ผู้ที่เอา OKRs ไปใช้ใน Google มาให้ดูเป็นตัวอย่างละกันครับ

Time frame เขาเป็นอย่างนี้ครับ

1) ประมาณสัก 4-6 สัปดาห์ ก่อนเริ่มไตรมาสถัดไป เราควรจะต้องตกลงกันเรื่อง OKRs ในระดับองค์กรแล้ว

2) 2 สัปดาห์ก่อนไตรมาสใหม่ OKRs ของระดับบริษัทต้องเสร็จและประกาศให้องค์กรทราบ

3) เริ่มต้นไตรมาส แต่ละทีมประกาศ OKRs ของตัวเอง (ที่สอดคล้องกับ OKRs ขององค์กร)

4) เริ่มไตรมาสมาไม่เกิน 1 สัปดาห์ พนักงานแต่ละคน ประกาศ OKRs ของแต่ละคน

5) ระหว่างไตรมาส พนักงาน Update OKRs ของตัวเอง ตลอดทาง อาจจะต้องมีการพูดคุยกันระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน เพื่อดูว่า OKRs ที่ตั้งไว้ มีความก้าวหน้าอย่างไร

6) สิ้นไตรมาส สรุปคะแนน OKRs และ มาพิจารณาและวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ผ่านมาว่า ทำได้ดี ไม่ดีอย่างไร

เอาเป็นว่า อันนี้เป็น Time Frame แบบกว้าง ๆ นะครับ มันคงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรด้วย เพราะว่า ความใหญ่ ความซับซ้อน ลำดับขั้นของแต่ละองค์กรก็แตกต่างกัน

อีกอย่างคือ ใหม่ ๆ อาจจะต้องเผื่อเวลาไว้นานหน่อย เพราะหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่เข้าใจ ยังไม่คุ้นเคย อาจจะต้องกลับไปปรับใหม่ เขียนใหม่

ขอเป็นกำลังใจให้ท่านได้เริ่มใช้และประสบความสำเร็จในการใช้ OKRs นะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/