เรียน MBA ดีไหม

ผมว่า คำถามนี้ เป็นคำถามที่คนที่เรียนจบปริญญาตรี มักจะถามกัน ถ้าเป็นแต่ก่อนก็อาจจะถามว่า เราจะเรียนต่ออะไรดี เพราะต้องยอมรับว่า สมัยก่อน เรื่องวุฒิเป็นสิ่งที่สำคัญ คือ หลายคนก็อยากจะจบปริญญาโท เพราะมันมีโอกาสก้าวหน้าทางการงานมากกว่า

แต่พอมาสมัยนี้ ความคิดเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มมีคนบอกกันมากขึ้นว่า จะไปเรียนทำไม เรียนเองก็ได้ เร็วกว่า และตรงประเด็นกว่าด้วย แถมอาจจะไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองมากมาย

Master of Business Administration หรือ MBA ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สอนด้านการบริหาร นับเป็นหลักสูตรหนึ่งที่คนจำนวนมากสนใจ เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ คือ 1) ไม่ว่าจะจบอะไรมาในระดับปริญญาตรีก็เรียน MBA ได้ทั้งสิ้น และ 2) ไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหน ณ จุดหนึ่ง ก็จำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารทั้งสิ้น

กลับมาที่คำถามข้างต้น คือ “เรียน MBA ดีไหม” คำถามนี้บอกตรง ๆ ว่าตอบยาก มันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน แต่ในฐานะที่เป็นคนที่เคยเรียน MBA และยังเป็นอาจารย์ที่สอนหลักสูตร MBA มาตลอด ขอตอบคำถามนี้แบบนี้แล้วกันครับ

1. เรามีวินัยในการเรียนพอไหม

ผมทราบครับว่า เดี๋ยวนี้ การเรียน Online มันทำได้ง่าย และมีเนื้อหาดี ๆ ไม่แพ้กับการเรียนในห้องเรียน ในหลักสูตร MBA เลย เพียงแต่ว่า สิ่งที่ท้าทายอย่างมากคือ ตัวเราเองนั่นแหละครับ ว่า เราจะมีวินัยในการเรียนแค่ไหน

เอาแค่ผมเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ ผมชอบเรียน Online นะครับ แต่มีบาง Course เรียนมา 6 เดือนแล้ว ก็ยังไม่จบ ทั้ง ๆ ที่ถ้ามันเป็น Class เรียน ผมว่า 2 สัปดาห์ก็จบ

มันขึ้นอยู่กับวินัยส่วนบุคคลครับ การเรียน Online ไม่มีใครบังคับให้เราเรียน ข้อดีที่หลาย ๆ คนบอกว่า เรียนตอนไหนก็ได้นี่แหละครับ จะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง ทำให้เราไม่ได้เรียนสักที

เรียน MBA มันมี class กำหนดไว้ชัดเจน มีงานต้องส่ง มีข้อสอบที่ต้องผ่าน อันนี้แหละครับ จะช่วยให้เรามาเรียนและตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ ก็ต้องบอกว่า ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละท่านแล้วล่ะครับ ถ้าท่านบอกว่า ผมเรียนได้เอง มีวินัยสูง MBA อาจจะไม่จำเป็นสำหรับท่านก็ได้

2. เราเลือกวิชาเรียนเองได้ไหม

การเรียน Online มันมีความยากอันหนึ่งคือ มันมีเยอะแยะมากมาย จนบางครั้ง เราอาจจะเลือกไม่ถูกว่า สำหรับคนที่จะเป็น ผู้บริหาร ควรรู้เรื่องไหนบ้าง นอกจากนั้นความยากก็ยังอยู่อีกว่า แล้ว เราควรเรียนเรื่องไหนก่อนหลัง

หลักสูตร MBA ส่วนใหญ่แล้ว จะถูกวางแผนกันมาอย่างดีว่าเรื่องไหน ควรเรียน เรื่องไหน ยังไม่จำเป็นมากนัก วิชาไหน ควรเป็นวิชาบังคับ วิชาไหน ควรเป็นวิชาเลือก ถามว่า มันดี 100% เลยไหม ก็อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่กว่าจะเป็นหลักสูตรมาได้ มันผ่านการอภิปรายกับ ผู้ประกอบการ นายจ้าง คนเรียน รวมถึงคณาจารย์มาหลายรอบมาก ๆ

แต่ถ้าท่านคิดว่า ไม่หรอก เรารู้ตัวเองว่า อะไรควรเรียน อะไรไม่ต้องเรียน MBA ก็อาจจะไม่จำเป็นสำหรับท่าน

3. ถ้าเรียนแล้วไม่เข้าใจ ท่านมีคนให้ถามไหม

ข้อจำกัดอันหนึ่งของการเรียน Online คือ เรียนแล้ว เกิดไม่เข้าใจขึ้นมาจะทำอย่างไร ใช่ครับ หลาย ๆ ครั้งการเรียน Online มันก็มี Forum ให้เข้าไปถามตอบได้ แต่บางครั้ง คนตอบก็ตอบมาสั้น ๆ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่ทำให้เราเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ การเรียน MBA ในชั้นเรียน มีข้อได้เปรียบเรื่องนี้อย่างมาก เพราะถ้าไม่เข้าใจ ผู้เรียนสามารถถามอาจารย์ได้ทันที หรือ ไม่ก็ถามเพื่อนร่วมชั้นก็ยังได้

แต่ถ้าท่านคิดว่า ไม่หรอก เราเรียนแล้วเราน่าจะเข้าใจหมด หรือไม่เป็นไร เรามีคนให้ถาม สะดวกมาก อันนั้น เรียนเองก็อาจจะได้ครับ

4. Connection จำเป็นไหม

การเรียนเองส่วนใหญ่ มักจะเป็นการเรียนเพียงคนเดียว ดังนั้นสิ่งที่อาจจะหายไปคือ Connection คือเรามักจะไม่ค่อยไปรู้จักกับคนอื่น ต่างจากการเรียนในชั้นเรียน โดยเฉพาะในหลักสูตร MBA ที่เราจะเจอคนที่หลากหลายมาก เราจบวิศว ฯ มา ก็จะเจอเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่จบบัญชี จบหมอ จบสถาปัตย์ ฯ การที่เราได้รู้จักกับคนหลากหลายวงการนี้ จะมีประโยชน์อย่างมากในการทำงานของเราต่อไปในอนาคต ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ประกอบการ หรือ เป็นผู้บริหารในองค์กรก็ตาม

แต่ถ้าท่านคิดว่าวิชาชีพที่ท่านทำ ไม่จำเป็นต้องรู้จักคนเหล่านี้ หรือท่านมีช่องทางอื่น ๆ ที่จะสร้าง Connection เหล่านี้ได้อยู่แล้ว MBA ก็อาจจะไม่จำเป็นเช่นกัน

5. ท่านสามารถได้เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริงได้มากแค่ไหน

การเรียน Online นั้น ส่วนใหญ่ มักจะเป็นการเรียนจากผู้สอนเพียงคนเดียวใน Course นั้น ๆ (หรือก็ไม่เยอะ) ดังนั้นโอกาสที่เราจะได้ไปเจอกับผู้บริหารองค์กรใหญ่ ๆ หรือผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก ถึงแม้จะมีอยู่บ้าง แต่มันก็ผ่าน VDO clip ต่างจากการเรียน MBA (อันนี้ต้องบอกว่าในบางที่นะครับ ท่านต้องเลือกหลักสูตรที่เรียนด้วย) ท่านจะได้เจอกับคนที่เป็น CEO ระดับที่ว่า ถ้าเราไปนัดเจอเอง เพื่อจะไปขอเรียนรู้จากประสบการณ์จากท่านเหล่านั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่การเรียน MBA หลายครั้ง อาจารย์ผู้สอนก็มี Connection กับผู้บริหารเหล่านั้น จึงเรียนเชิญท่านมาให้ความรู้ในชั้นเรียนได้

แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มี Connection อยู่แล้ว สามารถนัดผู้บริหารระดับสูงในองค์กร เพื่อไปขอความรู้ได้ MBA ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ท่านในเรื่องนี้

6. ปริญญาบัตรสำคัญสำหรับความก้าวหน้าของท่านมากน้อยแค่ไหน

ใช่ครับ ตอนนี้เรามาอยู่ในยุคที่ใคร ๆ ก็บอกว่า ปริญญาบัตรไม่สำคัญ แต่ในชีวิตจริง มันเป็นแบบนั้น 100% แล้วหรือยัง สมมุติว่าท่านสัมภาษณ์คน ๆ หนึ่ง คนแรกบอกว่าจบ MBA จาก Harvard คนที่สองบอกว่า เรียนเองจาก Youtube นอกเหนือจากนั้น ดูเหมือนกับว่า ท่านไม่ได้เห็นความแตกต่างชัดเจน (ก็คงเห็นยาก เพราะสัมภาษณ์ก็ใช้เวลาไม่นาน) แบบนี้ ท่านคิดว่า คนที่มี MBA จาก Harvard จะยังคงได้เปรียบไหม อันนี้ไม่มีผิดมีถูกครับ แต่ผมเชื่อว่าไม่มากก็น้อย ปริญญาบัตรมันก็ยังคงส่งผลอยู่ระดับหนึ่งทีเดียว

แต่ถ้าท่านบอกว่า ปริญญาบัตรมันไม่เกี่ยวกับผมหรอก ผมไม่ได้ใช้ทำอะไร การเรียน MBA ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ท่านเช่นกัน

ดูเหมือนว่าผม ซึ่งเป็นอาจารย์สอนในหลักสูตรนี้ อาจจะมีความลำเอียงในการเขียนบทความนี้ออกไปทางว่า เรียน MBA กันเถอะ แต่ผมหมายถึงอย่างนั้นจริง ๆ นะครับ ท่านลองตอบคำถามข้างต้นดูดี ๆ ครับ บางที MBA อาจจะไม่ได้เป็นคำตอบสำหรับทุกคนนะครับ

สุดท้ายก่อนจบ ที่ผมอยากให้ท่านคิดดี ๆ เพราะการเรียน MBA ให้ประสบความสำเร็จนั้น ท่านต้องมีความพร้อม ทั้งในเรื่องของเวลา ผมรับรองได้ว่า มันใช้เวลาเยอะแน่ ๆ แล้วเรื่องค่าใช้จ่ายอีกต่างหาก สุดท้ายมันก็คือการวิเคราะห์ว่ามัน “คุ้ม” หรือไม่ ในฐานะอาจารย์ผู้สอน MBA ผมอยากให้เฉพาะคนที่คิดว่ามันจะได้ประโยชน์จริง ๆ กับเขามาเรียน ถ้าเป็นแบบนั้นมันจะดีทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าคนที่คิดว่าไม่ใช่ แต่เข้ามาเรียน ผมว่ามันไม่มีอะไรดีเลยครับ

เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจเรียน MBA และสนใจธรรมศาสตร์ด้วย เราอาจจะได้เจอกันครับ 🙂

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

เรียน MBA ไปทำไม Bill Gates Mark Zuckerberg ยังไม่เห็นต้องเรียนเลย

ในระยะหลัง ๆ นี้ ผมเริ่มได้ยินคนพูดถึงการเรียนการสอนทางด้านบริหารธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยขอยกเป็นประเด็นในการเขียนเลยแล้วกันนะครับ

ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่างานเขียนนี้อาจมี Bias ได้ เพราะคนเขียนก็เป็นอาจารย์ที่สอนทางด้านการจัดการคนหนึ่งแต่ก็ถือว่าเป็นอีกมุมมองแล้วกันนะครับ ลองมา share idea กันครับ

จริง ๆ ประโยคคำถามข้างบนนี้

ก็เป็นคำถามที่ผมมักจะใช้ถามผู้สมัครเรียน MBA ที่ธรรมศาสตร์อยู่เรื่อย ๆ เพราะอยากทราบ Motivation ของเขาในการเข้ามาเรียน MBA

แต่ช่วงหลัง ๆ มานี่ อ่าน Page หรือข้อเขียนจากหลาย ๆ ท่าน ที่บอกว่าการเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยนั้น อาจจะไม่ตอบโจทย์ชีวิต และแนะนำว่าไปสัมมนา ไปเรียนจากคนทำจริงดีกว่า

ผมว่าข้อคิดนี้ มีส่วนที่จริงบางส่วนนะครับ แต่คนอ่านต้องไตร่ตรองอย่างระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไม่ระมัดระวังแล้ว เราอาจจะเข้าใจข้อเท็จจริงบางอย่างผิดไปเลยนะครับ

“Bill Gates Mark Zuckerberg ก็เรียนไม่จบก็ยังสำเร็จเลย เรียนไปทำไม”

ก่อนอื่นเลยนะครับ ผมนับถือความสามารถของท่านเหล่านี้ และผมก็เชื่ออีกด้วยว่า ท่านเหล่านี้ต่อให้เรียนต่อจนจบปริญญาตรี ท่านก็จะประสบความสำเร็จเช่นกัน หรือไม่แน่อาจจะประสบความสำเร็จมากกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้ (ข้อนี้คงพิสูจน์ได้ยาก)

ดังนั้น “การเรียนไม่จบ” จึงไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่านี่คือลักษณะของคนประสบความสำเร็จนะครับ

จากสถิติพบว่า 35% ของ Billionnaire เรียนไม่จบ และตรงนี้แหละครับ ที่เป็นที่มาว่า “เราเรียนไปทำไม” เห็นไหมคนนั้นก็เรียนไม่จบ ยังสำเร็จเลย

แต่อย่าลืมนะครับ 65% ของ Billionnaire เรียนจบ และก็ประสบความสำเร็จ ถ้านับเป็นสัดส่วนแล้ว เป็นจำนวนมากกว่าซะด้วยซ้ำ

อีกประเด็นหนึ่ง ถ้าเราวัดความน่าจะเป็นตามหลักสถิติกันจริง ๆ สัดส่วนของคนประสบความสำเร็จที่จบปริญญาหารด้วยจำนวนคนเรียนจบปริญญาทั้งหมดเมื่อเทียบกับสัดส่วนของคนที่ประสบความสำเร็จที่ไม่จบปริญญาหารด้วยคนไม่จบปริญญาทั้งหมด

ผมว่าอันแรกมากกว่าอันหลังเยอะ เพราะในโลกนี้คนไม่จบปริญญามีมากกว่ากว่าคนจบปริญญาไม่รู้ตั้งกี่เท่า

แต่คนที่เป็น Billionaire ส่วนใหญ่กลับจบปริญญา ดังนั้นถ้าเราไปอยู่ในกลุ่มที่ไม่จบปริญญา ผมว่าโอกาสที่จะสำเร็จตามหลักความน่าจะเป็น มันน่าจะน้อยกว่าอย่างชัดเจน

แต่ที่เราไม่รู้เรื่องคนไม่จบปริญญาแล้วไม่สำเร็จ เพราะเขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสมาเขียนหนังสือ ออกรายการ เราก็เลยไม่ได้เห็น ไม่ได้อ่านไงครับ เราจึงได้แต่อ่านเรื่องเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จ

ทั้ง ๆ ที่เรียนไม่จบ เพราะเรื่องราวเหล่านี้มันสร้างแรงบันดาลใจ มันทำให้หนังสือ หรือรายการต่าง ๆ ขายได้ แต่อย่าลืมว่ามันเป็นกรณีศึกษาที่น้อยมาก ๆ

ผมว่าคนที่สำเร็จนั้น มันอยู่กับความสามารถ ความมุ่งมั่น และความคิดของแต่ละคนมากกว่า ถ้าใครมีสิ่งเหล่านี้ ผมว่าเขาก็มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงอยู่แล้ว การมีความรู้ที่ได้รับจากการเรียนในมหาวิทยาลัย ยิ่งน่าจะทำให้เขามีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยซ้ำไป

อ้อ สุดท้าย Billionaire หลายคนที่ drop out นั้น เขา drop out จากมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Harvard Stanford กันนะครับ

เอาไว้ถ้าอยากตามรอยท่านเหล่านั้น เอาให้เราเข้า Harvard Stanford ก่อนแล้วค่อยคิดเลิกเรียน น่าจะดีกว่าไหมครับ 🙂

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho