“เก่งมากลูก” คำชมที่ควรระวัง

“คุณพ่อ/แม่ ผม/หนู สอบได้คะแนนเต็ม”

“ได้คะแนนเต็มเลยเหรอ เก่งมากลูก”

เคยคุ้น ๆ คำชมแบบนี้ไหมครับ แต่ก่อนส่วนตัวผมก็ทำแบบนี้เป็นประจำเวลาลูก ๆ มาบอกเล่าถึงความสำเร็จต่าง ๆ ที่เขาทำ ไม่ว่า เวลาเขาสอบได้คะแนนดีมาก ๆ ได้ที่ 1 หรือ ได้รับรางวัลต่าง ๆ

แต่ว่า… หลังจากอ่านหนังสือและบทความหลาย ๆ เล่มเข้า ผมจึงต้องระมัดระวังคำพูดแบบนี้อย่างมากครับ

อะไรนะ ทำไมต้องระวังด้วย ก็เขาทำสำเร็จ เราก็ควรจะชื่นชมเขาไม่ใช่เหรอ จะให้เฉย ๆ หรือ ดุ เขาหรือไง

ไม่ใช่ครับ เพียงแต่คำชมที่ว่า “เก่งมากลูกที่ได้คะแนนดี ๆ ” มันเป็นคำชมที่แฝงอันตรายอย่างหนึ่ง คือ มันเป็นคำชมที่ผลลัพธ์ ไม่ใช่คำชมความพยายามครับ

ขอขยายความต่อครับ ถ้าสมมุติเราชมเขาว่าการที่เขาสอบได้คะแนนเต็ม แปลว่าเขาเก่งมาก ๆ สุดยอดนั้น มันสื่อได้อีกแบบคือ ถ้าเขาไม่ได้คะแนนเต็ม ก็แปลว่าเขาไม่เก่ง ไม่สุดยอด เมื่อเด็กได้รับคำชมแบบนี้ไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเขาต่อไป คือเขาจะกลัวความล้มเหลวครับ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปคือ เขาจะพยายามหลีกเลี่ยงงานที่มันยาก ๆ เพราะเขาจะกลัวว่าเขาจะทำไม่ได้ และแน่นอนครับ ถ้าเขาเลือกแต่สิ่งที่ง่าย ๆ ไม่ท้าทาย ในที่สุดตัวเขาก็จะหยุดพัฒนาความสามารถของตัวเอง

ในหนังสือเรื่อง Mindset ที่เขียนโดย Professor Carol S. Dweck จากมหาวิทยาลัย Stanford เรียกกรอบความคิดในลักษณะนี้ว่า Fixed Mindset หรือกรอบความคิดแบบยึดติดครับ อาการแบบนี้ เราเจอกันอยู่เรื่อย ๆ นะครับ แม้กระทั่งนักกีฬาดัง ๆ ที่เราเห็นว่าหลาย ๆ คน เมื่อเขาขึ้นถึงระดับสูงสุด เช่นได้แชมป์โลก หรือ แชมป์โอลิมปิกแล้ว ผลงานเขาจะตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก เขาเหล่านั้น กลัวความล้มเหลว เขาไม่กล้าไปแข่งขันในรายการที่เล็กกว่า เพราะเชื่อว่าถ้าแพ้มาแล้วจะเสียหน้า อับอาย แล้วก็คงคาดต่อได้นะครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา เมื่อเขาไม่แข่งขัน หรือ ถ้าจะแข่งก็เลือกที่มันง่ายสุด ๆ ที่เขาชนะแน่ ๆ ฝีมือเขาก็จะไม่พัฒนาและหยุดลงแค่นั้น ความตกต่ำมันก็มาเยือนในที่สุด เพราะคู่แข่งเขาพัฒนาไปตลอด

ต่างจากนักกีฬาในระดับตำนาน ที่เมื่อเขาขึ้นอยู่ระดับสูงสุดแล้ว เขายังไม่หยุดครับ เขายังคงลงแข่งขันในทัวร์นาเม้นท์ต่าง ๆ ไม่ว่ายากหรือง่าย ไม่ว่าจะชนะหรือพ่ายแพ้ เขานำเอามันมาเป็นบทเรียน และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด เขาก็สามารถรักษาระดับสุดยอดไว้ในระยะเวลายาวนาน ซึ่ง Professor Dweck เรียกกรอบความคิดแบบนี้ว่า Growth Mindset หรือ กรอบความคิดแบบเติบโต

กลับมาที่คำชมลูก ๆ ครับ ถ้าเราชมเขาที่ผลลัพธ์ว่า การที่เขาได้คะแนนดี ๆ แปลว่าเขาสุดยอด ซึ่งมันแปลโดยนัยได้อีกแบบว่า ถ้าได้คะแนนไม่ดี ก็ไม่สุดยอด มันจะทำให้เขากลัวความล้มเหลว และไม่กล้าท้าทายตัวเองในการทำสิ่งที่ยาก แล้วเราควรจะบอกเขาว่าอย่างไร

ข้อแนะนำจากหนังสือและผู้รู้ต่าง ๆ คือ เราความชม “ความพยายาม” ของเขาครับ คือแทนที่จะชมว่า “เก่งมากลูกที่ได้คะแนนเต็ม” ให้ชมว่า “พ่อ/แม่ชื่นชมความพยายามอย่างเต็มที่ของลูกนะ” ตรงนี้มันทำให้ลูก ๆ เห็นว่า ตราบใดที่เขา “พยายามอย่างเต็มที่” แล้ว เขาจะได้รับคำชื่นชม ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ตรงนี้แหละครับ ที่จะทำให้เขาทำอะไร ก็ทำเต็มที่ เจอโจทย์ยาก ๆ เขาก็ไม่กลัว เพราะมันไม่ใช่ “ผลลัพธ์” ที่พ่อแม่ชื่นชม มันเป็น “ความพยายาม” ต่างหากที่เขาชื่นชม

ผมมองว่า แค่เปลี่ยนกรอบคิดไป ปัญหาหลาย ๆ อย่างมันจะลดลงไปเลยนะครับ เราเคยเห็นนักเรียนที่ทุจริตการสอบ เพียงเพราะว่า เขาอยากได้เกรดดี ๆ หรือแม้กระทั่งกลัวสอบตก ซึ่งนั่นคือการวัดผลลัพธ์ ซึ่งแปลว่า เขาเห็นว่าผลลัพธ์คือสิ่งที่ผู้ใหญ่ชื่นชม ดังนั้นเขาก็จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้มันได้ผลลัพธ์ที่ผู้ใหญ่อยากได้ จนกระทั่งหลงผิด ไปเลือกทางแบบนั้น แต่ถ้าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับ “ความพยายาม” แทน เด็ก ๆ ย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทุจริตการสอบ เพราะเขาทราบว่า ถ้าเขาพยายามเต็มที่แล้ว ถึงแม้ว่าผลสอบจะไม่ดีอย่างที่หวัง พ่อแม่เขาก็ยังชื่นชมในความพยายามของเขาอยู่ดี

ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หลาย ๆ ครั้ง เราเห็นนักศึกษาแห่กันไปลงเรียนวิชาเลือกบางวิชา ที่บอกตรง ๆ ว่าเขาไม่ได้สนใจอะไรเลย ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่า ได้ข่าวว่าวิชานั้น ได้เกรดง่าย ๆ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่เด็ก ๆ ได้รับคำชม เฉพาะเวลาที่ผลลัพธ์ออกมาดี พอโตขึ้นมา จะเรียนอะไร ก็หวังอย่างเดียวคืออยากได้เกรด A เท่านั้น แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาชื่นชมความพยายามของเขาแทน เขาก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปนั่งเรียนวิชาอะไรก็ไม่รู้ ที่เขาไม่สนใจ สู้เรียนวิชาที่เขาชอบยังดีกว่า ถึงแม้ว่าอาจจะได้เกรดไม่ดีก็ตาม

ลามมาถึงการทำงานนะครับ พนักงานหลาย ๆ คนหลบเลี่ยงการทำงานบางอย่างเพียงเพราะเขากลัวความล้มเหลว เพราะเขายึดว่าความสำเร็จมันถูกวัดจากผลลัพธ์เท่านั้น (และบางทีก็องค์กรนี่แหละครับ ที่มีระบบวัดผล ที่เน้นเฉพาะแต่ผลลัพธ์อย่างเดียว) และนี่แหละครับ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลาย ๆ องค์กรมันพัฒนาไปข้างหน้าได้ยาก องค์กรที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ เขาถึงมักจะเน้นว่า ล้มเหลวไม่เป็นไร ขอให้ได้เรียนรู้ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไงครับ แต่รากของปัญหาเหล่านี้มันไม่ใช่เพิ่งเกิดหรอกครับ มันถูกฝังในหัวเรามาตั้งแต่เล็กจนโตด้วยคำพูดที่ว่า…

“สอบได้คะแนนเต็ม เก่งมากลูก”

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

“ได้ ถ้า” กับ “ไม่ได้ เพราะ”

เวลาเราเจอปัญหาอุปสรรค คำแรกที่เราพูดหรือคิดออกมาคืออะไรครับ ระหว่างคำว่า “ได้… ถ้า” กับ “ไม่ได้ … เพราะ” ลองคิดดูดี ๆ และตอบแบบจริง ๆ เลยนะครับ เพราะสิ่งนี้แหละครับ จะนำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในระยะยาวของเรา

ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับกรอบความคิดหรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Mindset นั้น มันจะมีกรอบความคิดหลัก ๆ อยู่ 2 อย่าง คือ Growth Mindset กับ Fixed Mindset

กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) คือกรอบความคิดที่คิดว่า เราเปลี่ยนแปลงได้ เราดีขึ้นได้ ทุกอย่างมันไม่ได้ถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้น ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ ส่วนกรอบความคิดแบบยึดติด (Fixed Mindset) เป็นกรอบความคิดที่คิดว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ความโง่ ความฉลาด พวกนี้ มันติดตัวเราตั้งแต่เกิด และมันก็จะเป็นอย่างนั้นไปตลอด

กรอบความคิดเป็นยึดติดนี่แหละครับ ที่จะเป็นตัวถ่วงให้เราไม่พัฒนา เพราะเราจะคิดว่า ทำไปก็เท่านั้น ไม่มีทางสำเร็จหรอก คนที่มีกรอบความคิดอย่างนี้ จึงมักจะมองหาข้ออ้างต่าง ๆ ที่มาอธิบายว่าทำไมเราถึงจะทำไม่ได้

ในขณะที่คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต จะไม่เชื่ออย่างนั้น เขาเชื่อว่าทุกอย่างพัฒนาให้ดีขึ้นได้ทั้งหมด ดังนั้นคนที่คิดแบบนี้ จึงเป็นคนที่พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่ยึดติด ไม่รอคอยโชคชะตา และก็คงคาดเดาได้ว่าคนแบบนี้ก็มักจะประสบความสำเร็จในที่สุด

กลับมาที่คำถามที่ผมถามไว้ก่อนหน้านี้ว่า เมื่อเจออุปสรรคอะไรก็ตาม เราพูดกับตัวเองแบบไหน สมมุตินะครับว่า เราสอบได้คะแนนไม่ดี เราคิดว่า “เราจะทำได้ดีขึ้น ถ้า…” หรือเราคิดว่า “เราไม่มีทางทำได้ดี เพราะ…”

ถ้าคนที่กรอบความคิดแบบเติบโต เขาจะคิดแบบแรกครับ เช่น เราจะทำได้ดีขึ้นแน่ ๆ ถ้า เราอ่านหนังสือมากขึ้น ถ้าเราไปขอคำอธิบายจากอาจารย์ ถ้าเราตั้งใจเรียนในชั้นเรียนให้มากขึ้น แต่คนที่มีกรอบความคิดแบบยึดติด เขาจะคิดอีกแบบครับ คือ เราไม่มีทางทำได้ดีหรอก เพราะเรามันหัวไม่ดี เพราะเรามันจน เพราะพ่อแม่ไม่สนใจเรา เพราะอาจารย์ลำเอียง และอีกสารพัด “เพราะ”

และคงเดาได้นะครับว่าคนไหนในระยะยาวจะประสบผลสำเร็จในการเรียนมากกว่ากัน

ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือคนหนึ่ง ผมมักจะเจอนักศึกษาที่มีกรอบแนวคิดทั้ง 2 แบบครับ คือ คนที่มักจะพูดว่า ผมจะทำได้ ถ้า… กับคนที่หาเหตุผลมาสารพัดที่จะบอกว่า ผมทำไม่ได้หรอก เพราะ…

เอาเป็นว่า เมื่อไรก็ตาม เราเริ่มคิดว่า เราทำไม่ได้ เพราะ … ให้รีบเปลี่ยนคำถามเป็น เราทำได้ ถ้า… นะครับ แล้วรับรองว่า สมองเราจะเปิดรับความคิดใหม่ ๆ และในที่สุดเราจะสามารถพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้นในทุก ๆ เรื่อง

ก็อย่างที่ Henry Ford เคยกล่าวไว้แหละครับว่า ไม่ว่าเราจะคิดว่าเรา “ทำได้” หรือ “ทำไม่ได้” เราคิดถูกเสมอ แปลว่าคิดว่าทำได้ มันก็ทำได้ คิดว่าทำไม่ได้ มันก็ทำไม่ได้นั่นแหละครับ

คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วล่ะครับ ว่าเราอยากจะเลือกแบบไหนดีกว่ากัน

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho