Grit: The Power of Passion and Perseverance

หลายท่านที่กำลังมุ่งหาความสำเร็จให้กับตัวเอง หรือกับองค์กร ย่อมที่จะมีคำถามว่าอะไรทำให้ตัวเราเองประสบความสำเร็จหรือคนที่มีลักษณะแบบไหนที่จะทำงานแล้วประสบความสำเร็จ คำถามนี้ไม่ใช่คำถามที่ตอบได้ง่ายนัก ถ้าเป็นในอดีต เรามักจะเชื่อกันว่า คนที่เรียนเก่ง ๆ ได้เกรดดี ๆ จะเป็นคนที่องค์กรมักจะอยากได้ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้ฉลาด และน่าจะทำงานประสบผลสำเร็จ

แต่พอมาถึงปัจจุบัน หลายองค์กรก็พบว่า การนำเอาเกรดเฉลี่ยเป็นตัวตัดสินในการคัดเลือกนั้น มันไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป เราพบเห็นคนที่ได้เกรดเฉลี่ยสูง ๆ ประสบความสำเร็จในการเรียน แต่กลับประสบความล้มเหลวในการทำงานจำนวนไม่น้อย แต่คำถามที่สำคัญคือ แล้วเราควรจะเลือกคนที่เรียนไม่ดี ได้เกรดต่ำ ๆ หรือ คนเหล่านั้นจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จจริงหรือเปล่า คำตอบก็คงเป็นเหมือนเดิมคือ ก็อาจจะไม่ใช่เช่นกัน เราเห็นคนที่ประสบความสำเร็จมีทั้งคนที่เรียนเก่ง ได้เกรดสูง ๆ กับคนที่เรียนไม่เก่งได้เกรดต่ำ ๆ เช่นกัน หรือกล่าวได้ว่า เกรดอาจจะไม่ใช่ตัววัดที่จะสามารถนำมาแยกแยะว่าใครจะสำเร็จหรือล้มเหลวต่อไป

คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ แล้วอะไรคือตัววัดที่สามารถแยกคนที่ประสบความสำเร็จออกจากคนที่ประสบความล้มเหลว เพราะถ้าเราทราบถึงปัจจัยนั้นได้ การคัดเลือกก็อาจจะทำได้ง่ายขึ้น หรือแม้กระทั่งตัวเราเองก็จะได้ทราบว่าเราควรจะต้องทำตัวอย่างไร ให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน

มีหนังสือหลายเล่มได้กล่าวถึงเรื่องนี้ แต่ต้องยอมรับว่าหนังสือที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากคือหนังสือที่ชื่อว่า Grit ที่แต่งขึ้นโดย Angela Duckworth ซึ่งเป็น Professor ทางด้านจิตวิทยาจาก University of Pennsylvania หนังสือเล่มนี้มาจากงานวิจัยของ Professor Duckworth ที่ค้นพบว่าปัจจัยสำคัญของความสำเร็จนั้นมี 2 ประการ คือ ความลุ่มหลงในสิ่งที่ทำ หรือที่เรียกว่า Passion กับ ความมานะพยายามที่จะทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่องหรือที่เรียกว่า Perseverance โดย Professor Duckworth เรียกทั้งสองอย่างนี้รวมกันว่า “Grit”

หนังสือเล่มนี้มีความหนาทั้งสิ้น 333 หน้า แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลัก โดยส่วนแรกเป็นการอธิบายว่า Grit คืออะไร ซึ่ง Professor Duckworth ได้มีการนำเสนอกรณีศึกษาตัวอย่างของการใช้มาตรวัด Grit ที่ได้สร้างขึ้นมา โดยมาตรวัดนี้มีเพียง 10 ข้อสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

1) ความคิดใหม่ ๆ และโครงการบางครั้งทำให้ฉันไขว้เขวไปจากสิ่งที่เราทำก่อนหน้านี้
2) ความผิดหวังไม่ทำให้ฉันท้อใจ เราไม่ล้มเลิกอะไรง่าย ๆ
3) ฉันมักจะตั้งเป้าหมายไว้แต่ในภายหลังก็จะเปลี่ยนไปทำอีกอย่างหนึ่ง
4) ฉันเป็นคนที่ทำงานหนัก
5) ฉันมักจะมีความยากลำบากที่จะมุ่งเน้นทำโครงการใดโครงการหนึ่ง ถ้าโครงการนั้นมีระยะเวลานานหลายเดือนกว่าจะเสร็จ
6) ฉันจะทำสิ่งที่เริ่มจนเสร็จสิ้น
7) ความสนใจของฉันจะเปลี่ยนไปในแต่ละปี
8) ฉันเป็นคนขยัน ฉันไม่เคยล้มเลิก
9) ฉันมักจะหมกมุ่นกับความคิดใดความคิดหนึ่งหรือโครงการใดโครงการหนึ่งในระยะเวลาอันสั้น และก็จะหมดความสนใจในที่สุด
10) ฉันสามารถเอาชนะความผิดหวังและเอาชนะความท้าทายอันสำคัญได้ในที่สุด

โดยในแต่ละข้อจะมี Scale 1-5 ให้เราประเมินตนเอง โดย 1 หมายถึง ไม่ใช่เราเลย และ 5 หมายถึง คล้ายกับเรามาก ๆ หลังจากนั้นก็เอาคะแนนทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย ยิ่งเราได้คะแนนใกล้ 5 มากเท่าไร ก็แสดงว่าเรามีความเป็น “Grit” มากเท่านั้น และหนังสือเล่มนี้ก็พบว่ายิ่งเรามีความเป็น Grit สูง เราก็มักจะมีแนวโน้มที่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราทำสูงขึ้นไปด้วย

สำหรับในส่วนที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องของการสร้าง Grit จากภายในไปสู่ภายนอก เริ่มตั้งแต่โดยการสร้างความสนใจ (Interest) โดยการฝึกฝน (Practice) โดยการตั้งวัตถุประสงค์ (Purpose) และโดยความหวัง (Hope) ในส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ คือการสร้าง Grit จากภายนอกเข้าสู่ภายใน ซึ่งมีทั้งเรื่องการเลี้ยงดู (Parenting) การสร้างพื้นที่ในการเล่น (Playing field) และการสร้างวัฒนธรรมที่จะส่งเสริมความเป็น Grit (Culture)

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หากมาตรวัดทั้ง 10 ข้อที่ใช้วัด Grit นี้สามารถแยกแยะคนที่ประสบความสำเร็จออกจากคนที่ประสบความล้มเหลวได้แล้ว การค้นพบนี้จะมีประโยชน์อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย หรือคนที่จะเข้าทำงาน ทิ่มากไปกว่านั้น ตัวผู้อ่านเองก็สามารถที่จะนำไปประเมินว่า เรายังมีจุดด้อยเรื่องใด และสามารถพัฒนาปรับปรุงจุดด้อยเหล่านั้น ซึ่งจะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงที่ผู้เขียนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้อย่างมากและแนวคิดที่ได้นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ก็มีพื้นฐานมาจากงานวิจัย ไม่ใช่เป็นเพียงความนึกคิดของผู้เขียนเท่านั้น หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมกับทุกคนที่อยากที่จะประสบความสำเร็จ รวมถึงคนที่ทำหน้าที่ในการคัดเลือกบุคลากรเพื่อเฟ้นหาคนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นการลดทั้งต้นทุนและเวลาอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือเล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่ติดอันดับ Best Seller และได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

บรรณานุกรม
Duckworth, A. (2016) Grit: The Power of Passion and Perseverance, New York: Scribner.

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

ความอดทนในสิ่งที่ตนเองรัก ทางลัดสู่ความสำเร็จ

ฟังชื่อหัวข้อแล้วรู้สึกแปลก ๆ ไหมครับ

อะไรนะ อดทนในสิ่งที่ตนเองรัก อ้าว รักแล้วต้องทนด้วยเหรอ

ทนสิครับ เพราะในโลกนี้มันไม่มีอะไร จะเป็นไปตามใจที่เราต้องการไปซะทุกเรื่องหรอก บางทีมันก็สุขบางทีมันก็ทุกข์ คนที่สำเร็จคือคนที่อดทนได้นานที่สุดก็เท่านั้น

จริง ๆ idea ในการเขียนเรื่องนี้ มาจากหนังสือชื่อว่า Grit ครับ ก่อนซื้อมาอ่าน ได้เคยฟัง TED talk ของผู้เขียนที่ชื่อว่า Angela Duckworth ซึ่งขณะนี้เป็น Professor ที่ University of Pennsylvania

Angela ได้ทำงานวิจัย และพบสิ่งที่น่าทึ่งอันหนึ่งครับ คือ เขาอยากรู้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จจะมีลักษณะอย่างไร

ไม่ใช่ครับ ผลการเรียนไม่ได้เป็นตัวบอกถึงความสำเร็จเลย IQ ที่แสดงถึงความฉลาดก็ไม่ใช่ อ้าว แล้วอะไรล่ะครับ ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ

คำตอบคือ ความลุ่มหลงในสิ่งที่เราทำ (Passion) กับ ความอดทนไม่ย่อท้อ (Perseverance) ที่ Angela เรียกรวมกันว่า Grit นั่นแหละครับ

อย่างแรกนะครับ ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เราลุ่มหลง ผมว่ายังไงก็ตาม มันก็ดีกว่า ฝืนใจทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ ตรงนี้เราต้องหาให้เจอครับว่าเราลุ่มหลงในเรื่องอะไร

เช่น ผมชอบเขียนหนังสือ เวลาเขียนแล้วรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปเร็วมาก ภรรยาผมชอบทำอาหาร เวลาทำแล้วเขาจะรู้สึกเพลิดเพลินอย่างมาก อะไรแบบนี้แหละครับ พยายามหาตัวตนของเราให้เจอครับ

คราวนี้ มีแต่ความลุ่มหลงอย่างเดียว คงไม่พอครับ เพราะถ้าเราทำไม่ต่อเนื่อง ผลลัพธ์มันก็ไม่มีทางออกมาอย่างที่เราต้องการ

อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ครับ

คือถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่เราลุ่มหลง ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีอุปสรรคนะครับ ผมชอบเขียนหนังสือมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า เขียนเสร็จแล้ว ส่งสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์จะตีพิมพ์หนังสือให้เราทันที มีหลายครั้งที่ส่งไปแล้วก็ถูกปฏิเสธ หรือให้กลับมาแก้ไข

ตรงนี้แหละครับที่เป็นจุดวัดใจ เพราะหากเรารู้สึกว่า ยากจังเลย เหนื่อยแล้วนะ เลิกดีกว่า สุดท้าย เราก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้หรอกครับ เพราะเราจะเอาแต่ล้มเลิก แล้วก็พยายามไปหาเรื่องใหม่ ๆ ทำอยู่เสมอ แถมทำไปไม่เท่าไร ก็ล้มเลิกอีก

จริง ๆ ความลุ่มหลงกับความอดทนนี่ผมว่ามันเป็นพี่น้องกันเลยนะครับ ขาดอันใดอันหนึ่งไป มันก็ไม่สำเร็จ

เราลุ่มหลง แต่ไม่อดทน เราก็ได้แค่ลุกขึ้นทำอะไรที่ชอบเป็นพัก ๆ แล้วก็ลงเอยด้วยความล้มเลิก แต่ถ้าเราอดทน ในสิ่งที่เราไม่ลุ่มหลง เราก็ทำงานแบบเหนื่อยทั้งกายและใจ ออกแนวทรมาน ซึ่งแน่นอนโอกาสจะประสบความสำเร็จมันก็ลดลง

ที่สำคัญอีกอย่างคือ เวลาที่เราลุ่มหลงอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ยังมีส่วนช่วยให้เราอดทนต่อความยากลำบากที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เราทำอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่ชอบจริงไหมครับ

ลองเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้กันดูนะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho