ผมเชื่อว่าท่านที่ได้อ่านบทความนี้ ได้เคยผ่านการเรียนที่ตอนสุดท้ายถูกตัดสินด้วยเกรดกันมาแล้วทั้งนั้น เราไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า ทำไมต้องมีเกรดด้วย เรารู้เพียงว่า อาจารย์บอกให้มีก็มี และก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องทำให้เกรดดี ๆ เพราะผู้ใหญ่เขาชื่นชมเรา เวลาเราเกรดดี ๆ
นอกจากนี้ เกรดดี ๆ มันก็มีส่วนช่วยทำให้เราได้งานดี ๆ ด้วย เพราะที่ทำงานส่วนใหญ่ก็ดูเกรดนี่แหละว่า เกรดดีไหม บางแห่งถึงกับมีกฎด้วยซ้ำไปว่า เกรดไม่ถึงเท่านี้ ไม่ต้องมาสมัครเลยนะ และนี่แหละครับ มันก็เลยทำให้เกรดกลายเป็นตัวเลขที่สำคัญในชีวิตเราไป
ผมสอนเรื่องการวัดผลครับ จริง ๆ แล้วผมควรจะสนับสนุนด้วยซ้ำว่า เราควรวัดผล เราควรมีเกรด แต่ผมกลับมองอีกอย่างครับ…
ผมมองว่า ใช่ครับ เกรดมันอาจจะสะท้อนความรู้ทางวิชาการได้ระดับหนึ่ง แต่มันก็เป็นตัววัดเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตามหลักการวัดผลทั่วไป สิ่งที่สำคัญที่สุดมันไม่ใช่ค่าตัวเลขที่ได้จากตัววัดนั้น แต่คือการใช้เพื่อการพัฒนาต่างหาก
ผมลองท้าทายความคิดว่า ถ้าเราไม่มีเกรดจะเกิดอะไรขึ้น….
สมมุติว่า ต่อไปนี้ ทุกบริษัทประกาศนโยบายว่า ไม่ต้องเอาเกรดมาให้ดู เพราะเขาไม่สนว่าใครจะเกรดเท่าไร (เหมือนที่ Google ก็ได้ประกาศมาแล้ว) หรือทุกคนเลิกสนใจเรื่องเกรด อะไรจะเกิดขึ้น
ใช่ครับ การวัดผลจำเป็นต้องมี แต่ถ้าเราจะใช้การวัดเชิงคุณภาพล่ะ
เรายังอาจจะมีการสอบเหมือนเดิมก็ได้ครับ แต่เราไม่ต้องให้คะแนนเป็นตัวเลข เราให้ข้อคิดเห็นแทนเช่น ผมอ่านข้อสอบแล้ว เห็นว่านักศึกษายังขาดความรู้เรื่องใด ควรเสริมเพิ่มเติมเรื่องใด ผมก็เขียนแนะนำไป
แล้วคำถามว่า อ้าว งั้นไม่มีเกรด คนที่ไม่ตั้งใจเรียน ก็จะจบไปแบบไม่มีคุณภาพน่ะสิครับ
คำตอบคือ เรื่องเกรด กับ เรื่องจบ มันไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกันเสมอไปนะครับ เช่นผมอ่านข้อสอบของนักศึกษาบางคนแล้วพบว่า เขาไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย (อาจจะไม่ได้เข้าเรียนเลย หรือเข้าใจผิดกันไปคนละเรื่องเลย) ผมก็เขียนให้ comment เขาไว้ แล้วก็ไม่ได้ให้เขาผ่านวิชานี้เท่านั้น
เพียงแต่ว่า ผมไม่จำเป็นต้องให้คะแนนเขา 10/100 แล้วก็ให้เกรด F ใน Transcript เขา แปลว่า เทอมนี้ไม่รู้เรื่อง เขาก็ไม่ได้ credit วิชานี้ไปก็เท่านั้น เทอมหน้าก็ลงทะเบียนใหม่ มาเรียนใหม่ จนกระทั่งความรู้พอ ผมก็ให้ Credit วิชานี้ไปครับ
เพราะฉะนั้นใน Transcript เขาก็จะมีแต่วิชาที่เขาเรียน “ผ่าน” ถ้าเป็นอย่างนี้ ผมว่าคนเรียนจะไม่กลัวความล้มเหลว เพราะมันจะไม่มีตราบาปเหมือนมี Grade F อยู่ใน Transcript เขาตลอดไป ซึ่งบางทีไปส่งผลต่อการสมัครงานอีก (บางแห่ง บอกเลยครับว่า ได้ F จะไม่รับเข้าทำงาน ไม่ต้องอื่นไกล รับสมัครอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนี่แหละครับ แล้วเกรด F นี่มันก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับแก้ได้ซะด้วย แล้วถ้าเขามาตั้งใจเรียนทีหลังตอนเรียนโท เรียนเอก มันก็ไม่ได้ช่วยเขานะครับ เพราะกฏว่าไว้แบบนั้น)
นักเรียน นักศึกษา จะกล้าคิดนอกกรอบมากขึ้น กล้าทำอะไรที่เสี่ยงมากขึ้น เพราะถ้าพลาด อย่างมากก็ลงทะเบียนเรียนใหม่ก็เท่านั้น ไม่ใช่ว่าพลาด แล้วจะทำให้เขาต้องได้เกรดต่ำไปตลอดชีิวิต แก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว
ก็แค่ลองคิด ๆ ดูนะครับ บางทีการไม่มีเกรด มันอาจจะดีสำหรับผู้เรียน และ ผู้สอนด้วยซ้ำไป เราจะได้มาเน้นเรื่องความรู้กันจริง ๆ สักที แทนที่ผู้เรียนจะต้องมาถามผู้สอนหรือมานั่งเก็งข้อสอบว่าจะออกสอบอะไร จะได้อ่านเฉพาะสิ่งนั้น แทนที่ผู้สอนจะต้องมานั่งให้คะแนน ตัดเกรด แล้วก็ต้องคอยตอบคำถามว่า ทำไมผมหรือหนูไม่ได้ A ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้ add value สักเท่าไร
อย่างที่บอกครับ ผมว่าประโยชน์ของการวัดผล อยู่ที่การนำผลที่ได้ไปใช้ในการพัฒนา ผมยังมองว่า “ข้อแนะนำ” ที่คุณครูหรืออาจารย์มีให้ต่อผู้เรียน มันน่าจะมีประโยชน์มากกว่าเลขตัวเดียวที่เรียกกันว่า “เกรด” อีกนะครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho