ยิ่ง (คิดว่า) รู้มาก ยิ่ง (อาจจะ) รู้น้อย

เคยเจอคนทำนองนี้ไหมครับ ประเภทที่ว่า “รู้อะไร ไม่สู้ รู้ทุกเรื่อง” แบบถามอะไรตอบได้หมด รู้ไปหมดทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่หลาย ๆ อย่างไม่ได้อยู่ในความเชี่ยวชาญของเขาเลย และหลายครั้ง คำตอบที่บอกก็ผิดอีกต่างหาก แต่เขาตอบอย่างมั่นใจมาก ๆ มากจนกระทั่งบางที เราคิดว่า เขาเอาความมั่นใจมาจากไหนกันเนี่ย

แรก ๆ ผมก็คิดว่า เขาคงอายมั้งที่จะตอบว่าไม่รู้ เลยต้องมั่ว ๆ ไป แต่หลัง ๆ พอเจอบ่อย ๆ เอ บางเรื่องนี่พูดออกมาเองเลย ไม่ได้มีคนถามด้วย แล้วแบบมั่นใจมาก ๆ อีกต่างหาก เอ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้นะ

ตรงกันข้าม พอได้ไปคุยกับคนเก่งมาก ๆ กลับพบว่า เขาเหล่านั้น ไม่เคยพูดเลยว่า ผมเก่งเรื่องนั้น เก่งเรื่องนี้ ออกจะมาแนวว่าเขาไม่ค่อยเชี่ยวชาญเท่าไรหรอก บางทีดูเหมือนจะไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองด้วยซ้ำ แรก ๆ ก็คิดว่าเขาคงถ่อมตัว แต่เจอหลาย ๆ ครั้ง ก็สังเกตว่า เขารู้สึกแบบนั้นจริง ๆ

อะไรกัน คนไม่เก่งกับมั่นใจคิดว่าตัวเองเก่งมาก ขณะที่คนเก่งมาก กลับคิดว่าตัวเองไม่ค่อยเก่ง

ปรากฏว่ามีคนทำงานวิจัยเรื่องนี้เลยครับ ปรากฏการณ์นี้เขาเรียกว่า Dunning–Kruger effect ซึ่งคิดค้นโดย David Dunning และ Justin Kruger นักจิตวิทยาสังคมทั้งสองท่าน โดยปรากฏการณ์นี้อธิบายได้ง่าย ๆ แบบนี้ครับ คือคนไม่เก่งนั้น เนื่องจากเขาไม่รู้เยอะ เขาก็เลยคิดว่าสิ่งที่เขารู้มันเยอะแล้ว เขาเลยมั่นใจมาก ๆ ในทางกลับกัน คนที่เก่งมาก ๆ เนื่องจากเขารู้เยอะมาก จึงทำให้เขารู้ว่า ยังมีอะไรอีกมากที่เขายังไม่รู้

อ่านแล้วงงไหมครับ 555

เอางี้ ครับ ในโลกนี้ ความรู้มันก็มี 2 อย่างเท่านั้น คือสิ่งที่เรารู้ กับ สิ่งที่เราไม่รู้ จริงไหมครับ

คราวนี้ อันไหนมันมากกว่ากันล่ะครับ คำตอบคือ ก็สิ่งที่เราไม่รู้ไง สิ่งที่เรารู้มันน้อยกว่าอยู่แล้ว เราจะไปรู้มากกว่าไม่รู้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะโลกเรามันกว้างใหญ่ไพศาล องค์ความรู้ต่าง ๆ มันมีมากมายเต็มไปหมด

คราวนี้คนเก่งกับคนไม่เก่งต่างกันตรงไหน

คนไม่เก่ง คือคนที่รู้ไม่เยอะ คนกลุ่มนี้ มี 2 ประเภทครับ คือ ประเภทแรกคือรู้ไม่เยอะ แล้วรู้ตัวเองว่า ยังมีอะไรอีกมากที่ต้องเรียนรู้ คนเหล่านี้ ก็เป็นคนธรรมดาทั่ว ๆ ไปครับ เขาก็ถ่อมตัวด้วยความไม่รู้ของเขา คนเหล่านี้ มีโอกาสที่จะพัฒนาไปได้อีก

แต่คนไม่เก่งอีกประเภท ซึ่งเป็นประเภทที่กำลังเขียนถึงนี่แหละครับ คนไม่เก่ง แล้วยังไม่รู้อีกว่า ตัวเองไม่เก่ง ยังรู้น้อย แต่ดันเข้าใจว่า ไอ้ที่รู้อยู่เนี่ย คือความรู้ทั้งหมดแล้ว แบบนี้แหละครับ ที่เป็นประเภทที่ไม่เก่ง แต่มั่นใจมาก ๆ แบบนี้ แย่กว่าแบบแรกนะครับ คือนอกจากไม่เก่งแล้ว อาจจะไม่พัฒนาด้วยต่างหาก เพราะคิดว่าตัวเองรู้นี่แหละ

คราวนี้มาถึงคนเก่งบ้าง คนเก่งก็มี 2 ประเภทเหมือนกัน ประเภทแรกคือ คนเก่งที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว คนเก่งแบบนี้ก็มีครับ แต่ไม่ค่อยมากนัก เพราะปกติแล้วพอคนที่รู้เยอะ ๆ เข้า เขาจะเริ่มเข้าใจว่า ยังมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากที่เขายังไม่รู้ แต่ก็อาจจะมีเหมือนกันที่ พอรู้อะไรมาก ๆ เข้า มีคนมาเยินยอ จนกระทั่งคิดเองว่า เรานี่แหละสุดยอดแล้ว เมื่อไรก็ตามที่คิดแบบนี้ คนเก่งเหล่านั้น จะหยุดการพัฒนา ผมมักจะบอกว่า วันไหนที่เราคิดว่าเราเก่งที่สุดแล้ว วันนั้นแหละครับ คือขาลงของเราแล้ว เพราะเราจะไม่รับฟังอะไรใหม่ ๆ แล้ว เพราะเราคิด (ไปเอง) ว่าเราเก่งสุด ๆ แล้ว

คนเก่งประเภทที่ 2 ที่เจออยู่บ่อย ๆ คือเขาเก่งมากจนกระทั่งเขารู้ว่า เขายังไม่รู้อะไรอีกมาก คือพอคนเก่งมาก ๆ ระดับหนึ่ง เขาจะรู้ขอบเขตขององค์ความรู้ในเรื่องนั้น ๆ แล้วยิ่งทำให้เขาพบว่า สิ่งที่เขารู้นั้น มันน้อยมาก เทียบกับสิ่งที่เขายังไม่รู้ คนเก่งกลุ่มนี้ จะยิ่งเก่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะเขาจะไม่หยุดเรียนรู้เลย

สรุปง่าย ๆ ว่า การเป็นคนเก่งไม่ใช่สิ่งผิด แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ อย่ารู้สึกว่าเราเก่งมาก ๆ ก็พอครับ เพราะถ้ารู้สึกแบบนั้นตลอด ไม่ว่าเราจะเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม เราจะหยุดเรียนรู้ทันที และเมื่อเราหยุดเรียนรู้ สุดท้าย ถ้าเราเก่งอยู่ เราก็ได้แค่นั้นแหละครับ และยิ่งแย่กว่านั้นคือ ถ้าเรายังไม่เก่งอยู่แล้ว เราจะยิ่งไม่เก่งต่อไปเรื่อย ๆ (ถึงแม้ว่าจะคิดว่าตัวเองเก่งก็เหอะ 555) ระวังกันให้ดีนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho