AI จะเข้ามาเปลี่ยนการทำงานของเรา เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม
Continue reading24 ข้อคิดที่ได้จากการอ่านหนังสือ AI Super Powers
หนังสือเล่มนี้ ตอนแรกพอเห็นเขียนว่า AI ซึ่งมาจากคำว่า Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ เลยคิดว่าต้องอ่านยากและเป็น Technical แน่ ๆ แต่พอพลิกอ่านดู โอ้โห ไม่ใช่เลยครับ มันเปิดโลกทัศน์สุด ๆ
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ Kai-Fu Lee ซึ่งต้องบอกว่าถ้าพูดถึง AI ต้องรู้จักคนนี้ เขาเรียนจบปริญญาตรีทางด้าน Computer Science จาก Columbia University และจบเอกด้าน AI จาก Carnegie Mellow University ซึ่งทั้ง 2 มหาวิทยาลัยก็ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก
หลังจากนั้นเขาก็เป็นอาจารย์ที่ Carnegie Mellon ก่อนที่จะไปทำงานที่ Apple Microsoft และ Google จนกระทั่งออกมาตั้งบริษัท Venture Capital ที่นำเงินไปลงทุนใน Tech Startup ต่าง ๆ ต้องถือว่าเป็นกูรูตัวจริงทางด้าน AI
อ่านแล้วขอสรุปข้อคิดที่ได้เป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้นะครับ
1. หลังจากเหตุการณ์ที่เค่อเจี๋ยแชมป์การเล่นโกะพ่ายแพ้ต่อ AlphaGo ที่เป็น AI ที่ถูกสร้างโดย Google อย่างย่อยยับ ทำให้จีนตื่นตัวกับ AI เป็นอย่างมาก คล้าย ๆ ตอนที่สหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นไปโคจรได้ ทำให้อเมริกาตื่นตัวเรื่องนี้มาก จนสามารถพามนุษย์ขึ้นไปบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
2. ตอนนี้วงการ AI พัฒนาไปมาก เพราะมีการค้นพบสิ่งที่เรียกว่า Deep Learning คือการจำลองสมองให้ AI สามารถคิดเองได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามกฏที่มนุษย์ตั้งขึ้นเท่านั้น
3. การค้นพบ AI มันจะเปลี่ยนโลกคล้าย ๆ กับการค้นพบไฟฟ้า และถ้าอยากทำให้สำเร็จจะต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการได้แก่ 1) ข้อมูลมหาศาล 2) นักธุรกิจที่กล้าลุย 3) วิศวกรซอฟต์แวร์ และ 4) รัฐบาลที่คอยสนับสนุน
4. ในช่วงแรกนั้นจีนใช้วิธีการ Copy หลาย ๆ อย่างจากอเมริกา แต่กลับกลายเป็นว่าบริษัทอเมริกาพอเข้ามาในประเทศจีนแล้วมักจะล้มเหลว เนื่องจากไม่ทำงานหนักทำคนจีนทำ
5. จีนเอาจริงเอาจังเรื่อง AI มาก โดยมีการสร้างเมืองนวัตกรรมขึ้นมา คล้าย ๆ กับ Silicon Valley และเริ่มผลิตนวัตกรรมต่างได้ด้วยตัวเอง
6. โลกอินเทอร์เน็ตในจีนจะเป็นระบบ O2O คือ Online to Offline คือใช้ช่องทาง Online เพื่อให้บริการ Offline ซึ่งจุดนี้จะต่างจากอเมริกา จีนจะเลือก “ทางหนัก” คือไม่ได้แค่เขียน Program ขึ้นมา แต่จะลงไปทำทั้งหมด แต่อเมริกาจะเลือก “ทางเบา” คือคิดแค่ Program แล้วหยุดอยู่ตรงนั้น
7. ในบรรดาบริษัทต่าง ๆ ที่กำลังแข่งขันกันสร้าง AI นั้น มีบริษัทยักษ์ใหญ่ 7 แห่งที่ทุ่มเทในเรื่องนี้อย่างมาก ได้แก่ กูเกิล เฟซบุ๊ก อเมซอน ไมโครซอฟท์ ไป่ตู้ อาลีบาบา และเทนเซนต์
8. AI จะเป็นเสาไฟฟ้า หรือ แบตเตอรี่ คือถ้าเป็นเสาไฟฟ้าแปลว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ 7 แห่งดังกล่าวจะยึดครอง AI คนอื่นได้แค่ใช้บริการ AI เหมือนบริษัทเป็นเจ้าของเสาไฟฟ้า คนอื่นมาผลิตไฟฟ้าเองไม่ได้ แต่ถ้าเป็นแบตเตอรี่ แปลว่าจะมี Startup ต่าง ๆ ผลิต AI ที่มีความเฉพาะเจาะจงขึ้นมา เหมือนเราใช้แบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์ที่หลากหลายได้
9. ถ้าถามว่าตอนนี้จีนตามหลัง Silicon Valley ในเรื่องการวิจัย AI มากแค่ไหน คำตอบคือ “16 ชั่วโมง” นั่นคือความแตกต่างของเวลาระหว่างแคลิฟอร์เนียกับปักกิ่ง
10. ตอนนี้ AI ประกอบด้วยคลื่น 4 ลูกได้แก่ 1) AI ในอินเทอร์เน็ต เช่น การดู YouTube ต่อไปเรื่อย ๆ ตามคำแนะนำของ YouTube 2) AI ในธุรกิจ เช่น การใช้ AI ค้นหาโอกาสการผิดรับชำระหนี้ 3) AI แห่งการรับรู้ เช่นการชำระเงินด้วยใบหน้า ซึ่งจะทำให้เกิด OMO หรือ Online-Merge-Offline ได้มากขึ้น และ 4) AI อัตโนมัติ คือ AI ที่คิดและตัดสินใจเองได้
11. การเปรียบเทียบ AI ในคลื่นแต่ละลูกระหว่างจีนกับอเมริกา เป็นดังนี้ 1) AI ในอินเทอร์เน็ต ตอนนี้อยู่ที่จีน 50 อเมริกา 50 แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า จีนจะเป็น 60 อเมริกา 40 2) AI ในธุรกิจ ตอนนี้จีน 10 อเมริกา 90 แต่ในอีก 5 ปี จะเป็นจีน 30 อเมริกา 70 3) AI แห่งการรับรู้ ตอนนี้จีน 60 อเมริกา 40 ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็น จีน 80 อเมริกา 20 และ 4) AI อัตโนมัติ ตอนนี้จีน 10 อเมริกา 90 แต่อีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นจีน 50 อเมริกา 50
12. Super AI หรือ AGI (Artificial General Intelligence) ที่จะมีความฉลาดมากกว่ามนุษย์ อาจจะมีข้อดีมาก ๆ และในทางกลับกันก็อาจจะทำให้เกิดวิกฤติใหญ่ได้เช่นกัน
13. ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะทำให้เกิดการผูกขาดได้ง่าย ธุรกิจขนาดเล็กจะถูกบีบให้เลิกกิจการ ในขณะที่บริษัทใหญ่จะมีผลกำไรในระดับที่ไม่คาดฝัน
14. ที่ผ่านมามีเทคโนโลยีสารพัดประโยชน์หรือที่เรียกว่า General Purpose Technology (GTP) เกิดมาแล้ว 3 สิ่งได้แก่ 1) เครื่องจักรไอน้ำ 2) ไฟฟ้า 3) คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต AI จะเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งบางคนก็คิดว่ามันจะเปลี่ยนโลกไปคล้าย ๆ กับ 3 อย่างแรกที่เปลี่ยนโลก แต่สิ่งที่ AI ไม่เหมือน 3 อย่างแรกก็คือ ในขณะที่เครื่องจักรไอน้ำ และ ไฟฟ้า จะมาช่วยลดแรงกายลง และ คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จะมาช่วยลดการใช้พลังสมองลง AI จะมาลดทั้ง 2 อย่างลงเลย (คือทั้งคิดเอง และทำเองได้)
15. AI จะมาทดแทนงานที่มีลักษณะ 2 อย่างคือ 1) สามารถหาจุดตัดสินใจที่เหมาะสมได้จากข้อมูล และ 2) ไม่ต้องคุยกับคน
16. ปกติการปฏิวัติอุตสาหกรรมจะใช้เวลาหลายชั่วอายุคน แต่ AI จะส่งผลอย่างรุนแรงภายใน 1 ชั่วอายุคนเท่านั้น เพราะ 1) มันเป็นดิจิทัล แปลว่ามันจะทำซ้ำและแพร่ไปทั่วโลกได้เร็วมาก 2) มีบริษัทร่วมลงทุนหรือ Venture Capital (VC) จำนวนมาก และ 3) ประเทศจีน เพราะ AI จะทำให้จีนทัดเทียมกับชาติตะวันตกได้อย่างรวดเร็ว
17. งานใดที่จะอยู่รอดหรือจะหายไป ให้ดูจาก 2 เกณฑ์คือ สำหรับงานที่ใช้กำลังสมองให้ดูว่า งานนั้นต้องเข้าสังคมหรือไม่ และ งานนั้นเป็นงานสร้างสรรค์หรืองานที่แบบแผนชัดเจน ส่วนงานที่ใช้แรงกายให้ดูว่า งานนั้นต้องเข้าสังคมหรือไม่ และงานนั้นต้องใช้การขยับตัวอย่างอิสระหรือขยับตัวซ้ำ ๆ
18 สำหรับงานที่ใช้กำลังสมอง งานที่จะหายไปก่อนคืองานที่มีแบบแผนชัดเจนและไม่ต้องเข้าสังคม เช่น พนักงานบริการลูกค้า นักวางแผนภาษี พนักงานขายประกัน รังสีแพทย์ นักแปล นักวิเคราะห์สินเชื่อ พนักงานขายทางโทรศัพท์ ส่วนงานที่ยังปลอดภัยคืองานสร้างสรรค์หรือวางกลยุทธ์ และต้องเข้าสังคม เช่น พนักงานต้อนรับในโรงแรม นักสังคมสงเคราะห์ ทนายความ ซีอีโอ จิตแพทย์ นักประชาสัมพันธ์
19. สำหรับงานที่ใช้แรงกาย งานที่จะหายไปก่อนคืองานที่ขยับตัวซ้ำ ๆ และ ไม่ต้องเข้าสังคม เช่น แคชเชียร์ พนักงานเตรียมอาหารฟาสต์ฟู้ด พ่อครัว พนักงานโรงงานเย็บผ้า คนล้างจาน คนงานเก็บผลไม้ พนักงานตรวจสอบสินค้าในโรงงาน คนขับรถบรรทุก ส่วนงานที่ยังปลอดภัยคืองานที่ต้องการการขยับตัวแบบอิสระ และ ต้องเข้าสังคม เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัด สไตลิส ผู้ฝึกสอนสุนัข
20. AI อาจจะทำให้อุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมหายไปได้เลย และจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นสูงมาก อาจจะทำให้เกิด “ชนชั้นไร้ประโยชน์” ขึ้นได้ ประเทศที่ไม่มี AI จะหมดโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจของตนและตกเป็นเบี้ยล่างตลอดกาล ส่วนประเทศที่ก้าวหน้าทาง AI จะสะสมความมั่งคั่งมหาศาลพร้อมระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาดและตลาดงานที่ถูกฉีกกระจายเป็นชนชั้นอย่างชัดเจน
21. คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้า AI ทำทุกอย่างที่มนุษย์ทำได้ แล้วเราจะเป็นมนุษย์ไปเพื่ออะไร
22. Kai-Fu Lee ทำงานหนักมากและประสบความสำเร็จมาก แต่มาพบว่าตัวเองป่วยหนัก เขาเลยได้ข้อคิดว่า ไม่มี AI ตัวใดที่จะมาทดแทนบทบาทหน้าที่ของครอบครัวของเขาได้เลย
23. แนวทางการแก้ปัญหาการตกงานจาก AI ที่บริษัทใน Silicon Valley นำเสนอคือ 3 R ได้แก่ 1) Reduce คือการลดเวลาทำงานลง คนเราอาจจะทำงาน 3-4 วันต่อสัปดาห์ จะได้กระจายงานไปให้คนจำนวนมากขึ้น 2) Retrain คือการฝึกสอนงานใหม่ ให้คนมีทักษะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และ 3) Redistribute คือการกระจายรายได้แบบใหม่ คืออาจจะให้เงินเดือนฟรี (Universal Basic Income)
24. Kai-Fu Lee เสนอว่าแทนที่จะให้เงินเดือนฟรี ให้เป็นเงินเดือนเพื่อกิจกรรมทางสังคมดีกว่า โดยครอบคลุมถึงงาน 3 อย่างนี้คือ 1) งานดูแลผู้อื่น 2) งานให้บริการชุมชน และ 3) การศึกษาหาความรู้ให้ตัวเอง
เขียนมาซะยาว แต่คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์ อยากให้ลองไปหาอ่านกันดูได้ครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
เราจะอยู่รอดในยุค AI กำลังจะครองเมืองได้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ข้อมูลจากบทความเรื่องนี้มาจากบทความชื่อว่า 10 skills you’ll need to survive the rise of automation ที่เขียนโดย Jeff Desjardins ที่เป็น Founder และ editor ของ Visual Capitalist ซึ่งเขาก็นำข้อมูลมาจากหลายแหล่ง แต่ผมเอามาสรุปแบบง่าย ๆ ว่า เราควรมีทักษะอะไรบ้างภายในปี 2020 ที่จะทำให้เรายังสู้กับ AI ได้
แต่ก่อนไปถึงตรงนั้น ถามว่าแล้ว AI คืออะไร แล้วทำไมต้องไปสู้กับ AI
AI ย่อมาจากคำว่า Artificial Intelligence หรือแปลเป็นไทยว่าปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งว่ากันว่า จะเริ่มเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ในขั้นต้น AI ก็จะเริ่มมาทดแทนงานง่าย ๆ ก่อน ประเภทที่ว่าไม่ต้องใช้การตัดสินใจอะไรซับซ้อน แต่ต่อมา AI จะถูกพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ และก็จะมาทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
ดังนั้น ถ้าเรายังอยากไม่ตกยุค เราจึงควรจะต้องเพิ่มทักษะของตัวเองให้ดีขึ้น ไม่เช่นนั้น เราอาจจะถูกทดแทนโดย AI ได้ และนี่คือทักษะที่เราควรจะมีในปี 2020
1. ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex problem solving)
เช่นการมองข้ามอุตสาหกรรม หรือการหาทางออกของปัญหา ที่มันยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ
2. มีความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking)
คือความคิดที่จะช่วยให้เราเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการตัดสินใจ (อันนี้คิดว่าคงยากหน่อย เพราะ AI มันมีจุดแข็งตรงนี้เช่นกัน) แต่เราอาจจะใช้การตีความต่าง ๆ เข้ามาช่วยได้
3. มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
ก็อย่างที่เรารู้ ๆ กันอยู่ครับ คือความคิดใหม่ ๆ ต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ในอนาคตได้ ถ้าเรามีตรงนี้อยู่ AI ก็อาจจะยังไม่สามารถทดแทนเราได้อย่างสมบูรณ์
4. มีทักษะในการจัดการคน (People management)
อันนี้แหละครับ ที่เราจะชนะ AI ได้ เพราะผมเชื่อว่าคนยังอยากคุยกับคนอยู่ เช่นลักษณะของความเป็นผู้นำที่จะช่วยกระตุ้นให้คนฮึกเหิม แบบนี้ AI ทำได้ยากหน่อย สู้คนไม่ได้ แต่เราก็ต้องมีทักษะตรงนี้ด้วย
5. ทักษะในการประสานงานกับคนอื่น (Coordinating with others)
อันนี้ก็จะเป็นจุดแข็งของเราเช่นกันครับ ใครที่สามารถ connect คนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จะมีจุดเด่น ซึ่ง AI อาจจะทำได้ยังไม่ดีเท่ากับคน
6. มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence)
อันนี้ก็เป็นอีก Area หนึ่ง ที่คนยังน่าจะทำได้ดีกว่า AI เช่นการสร้างความเห็นอกเห็นใจ หรือการสร้างความกระหายที่จะเรียนรู้ พวกนี้ ถ้าเรามีอยู่ AI ก็น่าจะยังสู้เราไม่ได้
7. ความสามารถในการตัดสินใจ (Judgment and decision making)
ถึงแม้ว่าอันนี้มันเป็นจุดแข็งอันหนึ่งของ AI แต่หลาย ๆ งาน บางทีเราจะตัดสินใจผ่านข้อมูลอย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้ เช่น เราจะแต่งงานกับใคร แบบนี้ AI อาจจะเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบเรื่องการศึกษา Life style แต่ลึก ๆ ความชอบที่มันมาจากจิตใต้สำนึก มันอาจจะยังเข้าไม่ถึง ตรงนี้เราน่าจะยังเหนือกว่าอยู่ แต่ก็ต้องพัฒนาตนเองนะครับ
8. ความสามารถในการบริการ (Service orientation)
ลองนึกภาพว่าเราจะไปสปา เราอยากจะให้ใครนวดระหว่างเครื่องจักรกับคน ใช่ครับ บางทีเครื่องจักรมันอาจจะนวดได้ดีกว่า แต่สุดท้ายแล้ว มันคุยกับเราไม่ได้ (หรือคุยได้ก็ยังเป็นแบบหุ่นยนต์) มันยังหัวเราะไม่ได้ ตรงนี้คนน่าจะเหนือกว่าอยู่ แต่เราก็ต้องฝึกให้มีทักษะด้านนี้ เพราะถ้าไปถึง มีแต่หน้าตาบูดบึ้ง คนก็อาจจะเลือกเครื่องจักรก็ได้นะครับ
9. ทักษะในการต่อรอง (Negotiation)
ใช่ครับ AI มันอาจจะช่วยหาจุดที่ดีที่สุดของทั้งสองฝ่ายได้ แต่สุดท้ายบางที การต่อรองมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์แบบนั้น มันมีศิลปะอีก เช่น คนนี้ เราสนิทกัน ถึงเราจะเสียเปรียบเรื่องนี้ แต่มิตรภาพระยะยาวยังอยู่ ตรงนี้ AI อาจจะยังเข้าไม่ถึง การต่อรองอาจจะต้องใช้คนอยู่
10. ความยืดหยุ่นในความคิด (Cognitive flexibility)
คือความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น เรากำลังเจอปัญหาแบบนี้ เราต้องทำตัวแบบนี้ คนกำลังทะเลาะกัน อย่าเพิ่งเอาเหตุผลไปอธิบาย ต้องให้เขาเย็นลงก่อน แล้วเหตุผลจึงค่อยมา อะไรแบบนี้ ตอนนี้คนเรายังเหนือกว่า
ลองดูนะครับ พัฒนาตัวเองตอนนี้ได้ ยังไม่สายเกินไปครับ
AI จะทำให้ชีวิตเราแย่จริง ๆ หรือ
ระยะหลัง ผมมักจะเห็นบทความ หรือแม้กระทั่งเขียนบทความเกี่ยวกับ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “Artificial Intelligence” หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า AI ในมุมมองที่ว่า AI จะทำให้อาชีพหลายอาชีพหายไป และอาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเราควรจะเตรียมพร้อม ก็เลยทำให้หลายคนอาจจะรู้สึกว่า แย่แล้ว จะทำอย่างไรดี เลยขอมาให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AI ครับ
ใช่ครับ AI มันจะทำให้ชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลง แต่มันจะทำให้ชีวิตเราแย่ลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเรามองในมุมมองของใคร เอาง่าย ๆ นะครับ ขอยกตัวอย่างธนาคารก็แล้วกัน แต่ก่อน ธนาคารมีการขยายสาขาไปเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าให้ทั่วถึงที่สุด เมื่อมีสาขามาก ก็มีการจ้างงานจำนวนมาก
แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนอะไรหลาย ๆ อย่างได้ จากที่ต้องมีสาขาเยอะ ก็ไม่จำเป็น เนื่องจากเกือบทุกคนมี Smartphone ซึ่งสามารถ Load application เกี่ยวกับการเงินได้ แปลว่าคนส่วนใหญ่อาจจะไม่จำเป็นต้องไปใช้บริการสาขา ก็หมายความว่า ธนาคารก็ไม่จำเป็นต้องมีสาขามากเหมือนเดิม
ตรงนี้แหละครับ ที่จะเห็นชัดเจนว่าเทคโนโลยีมันทำงานแทนคนได้ ถ้ามองในมุมมองของพนักงาน แน่นอน ในระยะสั้นนั้นมันส่งผลกระทบโดยตรงกับเขา เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เขาออกจากงาน คนก็เลิกตื่นตระหนกกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี หรือ AI ต่าง ๆ เหล่านี้ ที่จะมาทดแทนเขา
แต่ถ้าเรามองในมุมของธนาคาร สิ่งที่เกิดขึ้นคือธนาคารไม่จำเป็นต้องมีสาขาจำนวนมาก ไม่ต้องจ้างคนเยอะแยะ แน่นอนต้นทุนจึงลดลงมาก ซึ่งทำให้กำไรธนาคารเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ แบบนี้ต้องบอกว่าเทคโนโลยี หรือ AI น่าจะทำให้ธนาคารดีขึ้นด้วยซ้ำ
ถ้าเช่นนั้น แปลว่า AI จะช่วยผู้ประกอบการ แต่จะทำร้ายพนักงาน อย่างนั้นหรือ
ผมว่า ระยะสั้น อาจจะออกมาในมุมนั้น แต่ระยะยาว ผมว่าไม่ใช่ ผมว่า AI จะช่วยทุกฝ่ายครับ (อันนี้ยกเว้นกรณีที่ AI มันฉลาดมากเกินไป แล้วมันครองโลกแบบหนัง Sci-Fi นะครับ อันนั้น คิดว่าคงชัดเจนว่า AI อาจเป็นอันตรายกับมนุษย์)
การมาของ AI มันก็เหมือนกับการเกิดขึ้นของเครื่องจักรในอดีตนั่นแหละครับ อย่างแต่ก่อน เกษตรกร จะทำไร่ ทำนา ก็ต้องใช้แรงงานตัวเอง หรืออย่างมากก็แรงงานสัตว์ ก็สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้ระดับหนึ่ง ต่อมามีการสร้างเครื่องจักร มาทดแทนแรงงานคน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนก็ทำงานน้อยลง แต่ผลผลิตทางการเกษตร กลับเพิ่มสูงขึ้นมาก
ใหม่ ๆ คนที่เคยรับจ้างทำไร่ ทำนา อาจจะตกใจว่า อ้าว แล้วใครจะมาจ้างเรา แต่ระยะยาว เขาเหล่านั้นก็ปรับตัว เช่น ก็ไปซื้อเครื่องจักรเหล่านั้น มาทำไร่ ทำนาของตัวเอง เรียกง่าย ๆ ว่าชาวไร่ ชาวนา สามารถสร้างผลผลิตได้มากขึ้น ในขณะที่ตัวเขาเองทำงานน้อยลง
ผมว่า AI จะมาในลักษณะเดียวกัน ในระยะแรกพวกงาน Routine ต่าง ๆ ที่บางทีเราต้องใช้คน ใช้เวลาจำนวนมาก ก็ให้ AI ทำ คนอาจจะทำงานน้อยลง แต่ผลงานอาจจะมากขึ้น ไม่แน่นะครับ ต่อไปคนอาจจะทำงานแค่สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง เหมือนหนังสือชื่อดังคือ 4-Hr Workweek ซึ่งเป็นเรื่องปกติไปเลยก็ได้
เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้แหละครับ แต่ผมคิดว่าเราคงหลบ AI ไปไม่ได้ แน่นอนระยะสั้น คนที่ทำงานที่มีความเสี่ยงในการโดน AI ทดแทนสูง ก็ต้องเตรียมพร้อม แต่ในระยะยาว ผมเชื่อว่า AI จะช่วยมนุษย์ได้มากมาย เหมือนกับเครื่องจักรเคยช่วยเรามาแล้ว
ในฐานะผู้บริโภค ผมรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/
AI กับเด็กฝึกงาน
ระยะหลัง ผมสนใจเรื่องนี้มาก ๆ ครับ เพราะผมคิดว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “Artificial Intelligence” ที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า AI มันคือสิ่งที่จะส่งผลกระทบกับเรามากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ก็เห็นความเห็นหลาย ๆ คน ที่ออกมาในทางที่ว่า มันส่งผลกระทบแหละ แต่ไม่ต้องไปตกใจกับมันมาก มันก็เหมือนเทคโนโลยีอื่น ๆ แหละ มันจะทำให้เราสบายขึ้น
เหมือนครั้งหนึ่งที่เราเคยต้องทำไร่ ไถนา ด้วยตัวเอง ใช้เวลานาน แต่มาวันหนึ่ง เราคิดค้นเครื่องจักรมาช่วยได้ มันก็ทำให้ชาวไร่ ชาวนา สบายขึ้น มีเวลาว่างมากขึ้น และแถมยังได้ผลผลิตมากขึ้นอีกต่างหาก
มันก็ไม่ได้ทำให้ชาวไร่ ชาวนา หายไปสักหน่อย และด้วยความต้องการในการบริโภคที่มันเพิ่มมากขึ้น เราก็ยังต้องการชาวไร่ ชาวนา อยู่ดี เครื่องจักรมันแค่มาช่วยชาวไร่ ชาวนา เท่านั้น มันไม่ได้มาทดแทนชาวไร่ ชาวนา สักหน่อย
อันนี้เห็นด้วยครับ แต่ AI มันต่างจากเครื่องจักรในสมัยก่อนอยู่อย่างหนึ่งคือ “มันคิดได้” ครับ คือถ้า AI มันคิดไม่ได้ แล้วเราเอามาช่วยทำให้งานเราเสร็จเร็วขึ้น อันนี้ไม่น่ากลัวเท่าไร แต่พอมันคิดได้ มันน่าเป็นห่วง ถ้ามองในมุมของคนทำงานมากขึ้น
ผมว่าตอนนี้ AI มันพัฒนาตัวเอง ได้ในระดับของเด็กฝึกงานในที่ทำงานแล้วล่ะครับ ส่วนคน ก็ยังเหมือนหัวหน้าในที่ทำงาน
ลองนึกภาพเด็กฝึกงาน เข้ามา วันแรก ๆ ยังทำอะไรไม่เป็น ต้องให้รุ่นพี่ที่ทำงานสอน ใครจะบอกว่าเด็กฝึกงานพวกนี้ จะมาแทนหัวหน้าที่มีประสบการณ์ได้ ก็คงมีแต่เสียงหัวเราะ แต่เด็กฝึกงานวันนี้ เมื่อเรียนจบกลับมาเป็นพนักงานใหม่ สะสมประสบการณ์ เขาก็จะกลายเป็นหัวหน้างานในอนาคต ส่วนตัวหัวหน้าก็มีแต่แก่ลงไปเรื่อย ๆ และวันหนึ่งก็จะต้องเกษียณตัวเองไป มันเป็นวัฏจักร
AI ก็เหมือนกับเด็กฝึกงานวันนี้แหละครับ วันหนึ่งมันจะได้รับการพัฒนาไปจนกระทั่งมันจะสามารถทดแทนอาชีพต่าง ๆ ได้เกือบสมบูรณ์ และถ้าวันไหนมันคิดได้เอง มันอาจจะไล่คนออกจากระบบงานเลยก็ได้ ซึ่งอันนี้แหละที่ Elon Musk เป็นห่วง แต่ Mark Zuckerberg ไม่เห็นด้วย
ผมว่าขึ้นอยู่กับเรามองว่า AI อยู่ในระดับใดแค่นั้นเองครับ ถ้าคิดว่ายังอยู่อนุบาล เราอาจจะต้องรอถึง 20 ปี กว่ามันจะแทนคนได้ หรือกว่า 40 ปี กว่ามันจะเก่งพอ ๆ คนกับหัวหน้างานปัจจุบัน แต่ถ้าเรามองว่ามันคือเด็กฝึกงาน ผมว่าภายในไม่เกิน 10 ปี เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน และ 20 ปี มันจะเก่งเท่า ๆ กับหรือดีกว่าหัวหน้างานในปัจจุบันครับ
อีกเรื่องที่ชัดเจนคือ อัตราการพัฒนาความสามารถของ AI มันเร็วกว่าคนมาก ๆ คนเราในอีก 20 ปีข้างหน้า จะฉลาดขึ้นกว่าคนเราในปัจจุบันได้มากแค่ไหน แต่ AI ในอีก 20 ปีข้างหน้า ผมว่ามันจะฉลาดกว่า AI ในปัจจุบันหลายเท่าทีเดียว
ก็แล้วแต่มุมมองนะครับ แต่ในมุมของผม ผมคิดว่า คำถามไม่ใช่ว่าจะแทนคนได้หรือไม่ คำถามคือมันจะแทนคนได้เมื่อไร เท่านั้นเองครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho