5 วิธีแก้ปัญหาเมื่อไม่มีเวลาเขียนหนังสือ

ใช่ครับ ผมเคยบอกว่า ไม่มีเวลา จริง ๆ แปลว่า ไม่สำคัญ แต่ผมก็เข้าใจแหละครับ หลายคนอยากจะมีหนังสือ แต่มันก็ต้องทำงาน ต้องูแลลูก ๆ หรืออื่น ๆ อีก มันก็สำคัญไม่แพ้กัน จะให้ทำอย่างไร ผมมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ครับ

1. ไม่ต้องเขียนเยอะครับ

คือถ้าเราตั้งเป้าว่า วันนี้เราจะเขียน 5 บท อะไรแบบนี้ ส่วนใหญ่ เรามักจะหาเวลาทำแบบนั้นไม่ได้ง่าย ๆ หรอกครับ เอางี้ครับ คิดแค่ว่า วันนี้เราจะเขียนแค่ประโยค 2 ประโยคไปก่อน วิธีที่ผมแนะนำในหนังสือคือเปิด Facebook Page ครับ เราอาจจะ share ข้อความสั้น ๆ แนวคิดสั้น ๆ ของเรา ทุกวัน วันไหนเวลาเยอะ ก็เขียนยาวหน่อย เวลาน้อยก็เขียนสั้นหน่อย หรือ แค่ทักทายก็ยังดี

เชื่อไหมครับ ถ้าเราทำอย่างสม่ำเสมอ สุดท้าย เราก็เอาที่เราเขียนแต่ละวันนั่นแหละครับ มาเรียบเรียงใหม่ เราก็จะได้หนังสือมา 1 เล่มแล้ว

2. หาเวลาเขียน

อันนี้แหละครับ ที่ทุกคนบอกว่า ก็ไม่มีเวลาไง คืองี้ครับ เวลามีเท่ากันทุกคนคือ 24 ชั่วโมง ใช่ครับ ตอนนี้หลายคน อาจจะบอกว่า เวลามันเท่ากัน แต่งานมันไม่เท่ากัน ทำงานก็กลับดึกแล้ว เข้าใจครับ แต่ให้ลองพิจารณาดูดี ๆ ว่า เราพอมีเวลาสัก 5-10 นาทีต่อวัน ไม่ต้องเยอะครับ ขอแค่นี้เอง เช่น ตื่นเช้าขึ้นสัก 10 นาทีได้ไหม ก่อนแปรงฟัน อาบน้ำ มาเขียนอะไรสั้น ๆ ทุก ๆ วัน ผมเชื่อในพลังของความสม่ำเสมอครับ ถ้าเราทำทุกวัน เดี๋ยวมันก็จะได้เองแหละครับ

3. Block เวลาไว้ สำหรับกิจกรรมการเขียน

คือถ้าเราไม่ Block เวลาไว้ เวลาเราก็จะถูกใช้ไปกับสิ่งต่าง ๆ เช่น เพื่อนนัดไปดูหนัง หรือไม่ก็เล่น Facebook เอางี้เลยครับ สมมุติว่าเราทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ หยุดวันเสาร์อาทิตย์ Block เวลาไว้เลย ใส่ไว้ในตารางนัดหมายว่า เสาร์เช้า เวลา 9-12 น. เราจะเขียนหนังสือ ถ้าใครนัดเราช่วงนั้น เราก็ต้องบอกว่าไม่ว่าง อะไรทำนองนี้ครับ แล้วพอถึงเวลา เราก็ต้องเขียนนะครับ อย่าเอาไปนอนเล่นซะล่ะ 555

4. ประกาศให้โลกรู้

ผมมักจะทำเช่นนี้ทุกครั้ง เมื่ออยากทำอะไรให้เสร็จ เช่น งานวิจัย ถ้าอยากให้เสร็จ ผมมักจะขอทุนวิจัยเลย ขอทั้ง ๆ ที่รู้ว่ายุ่งนี่แหละ เพราะถ้าไม่ขอ มันก็ไม่เริ่มสักที เชื่อเถอะครับ พอเราขอทุน ยังไงเราก็ต้องทำ เพราะมันมี deadline กำกับอยู่ การเขียนก็เช่นกันครับ เราอาจจะไม่มีทุนให้กับการเขียน (เอาเป็นว่าส่วนใหญ่ไม่มีละกันครับ ถ้าไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัย) แต่เราก็สร้าง commitment ได้จากการประกาศให้หลาย ๆ คนรู้ เช่นใน Facebook นี่แหละครับ ประกาศออกไปเลยว่า สิ้นปีนี้ หนังสือต้องเสร็จ ใครอยากเป็นพยานลงชื่อไว้ใน comment ถ้าไม่เสร็จ จะเลี้ยงข้าวทุกคน อะไรแบบนี้ ผมรับรองว่ามันจะมีพลังผลักดันเรามากขึ้นเอง

5. เขียนช่วงวันหยุด

วันหยุดยาวนี่แหละครับ ที่เป็นโอกาสทองของนัก (อยาก) เขียน คือบางทีวันธรรมดามันหาเวลาไม่ได้ ก็เอาช่วงหยุดยาว เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ หรือ ไม่ต้องหยุดยาวก็ได้ครับ วันเสาร์ วันอาทิตย์นี่แหละครับ หยิบ Notebook ขึ้นมา แล้วพิมพ์ลงไปเลยครับ เชื่อเถอะครับ พอเราเริ่มแล้ว เดี๋ยวเราก็ทำได้เองแหละครับ

เอา 5 ข้อนี้ไปปรับใช้ดูนะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนทำได้ครับ กำลังรออ่านผลงานของทุกท่านอยู่นะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

ไม่มีเวลา แปลว่า ไม่สำคัญ

เราเคยตอบคำถามคนอื่นหรือตัวเองประมาณนี้ไหมครับ

“เราต้องออกกำลังกายบ้างนะ” “แหมก็อยากออกแหละ แต่มันไม่มีเวลาจริง ๆ ”
“ทำไม ไม่ไปหางาน Part time ทำบ้างนะ” “ก็อยากทำอยู่ แต่ไม่มีเวลา ไม่เข้าใจเหรอ”
“อ่านหนังสือสิ มันทำให้ชีวิตเราดีขึ้นนะ” “แหม เวลานอนยังไม่มีเลย จะเอาเวลาที่ไหนไปอ่านหนังสือ”

ใช่ครับ ผมเข้าใจว่า แต่ละคนมีงานยุ่ง แต่วันนี้อยากจะมาชวนคุยเรื่องนี้ครับ

ผมขอถามคำถามนี้ก่อนครับว่า “เราเคยยุ่งจนกระทั่งไม่กินข้าวติดกัน 3 วันไหมครับ” ผมเชื่อว่าคำตอบของคนส่วนใหญ่คือ ไม่เคย อ้าว แล้วงานที่ไม่เสร็จล่ะ เราเอาเวลาที่ไหนไปกินข้าว ไม่ทำงานให้เสร็จก่อนเหรอ

จะบ้าเหรอ ถ้าไม่กินข้าว ก็แย่พอดีสิ ยังไงมันต้องกินข้าว ไม่กิน ก็ทำงานไม่ได้หรอก

งั้นถามใหม่ ใครเคยยุ่งมาก จนไม่มีเวลาออกกำลังกายติดกัน 3 วันบ้าง ผมว่าคำถามนี้ สำหรับคนจำนวนมาก อาจจะตอบว่า อ๋อ เคยสิ จริง ๆ ไม่ใช่แค่ติดกัน 3 วันนะ ติดกันเป็นเดือน ยังเคยเลย 555

อ้าว แล้วทำไม ทีอย่างนี้ เราถึงไม่ออกกำลังกายได้ล่ะ แหม ก็ไม่ออกกำลังกายสัก 3 วัน มันก็ไม่เป็นไรไม่ใช่เหรอ เอาไว้ว่าง ๆ ก็ค่อยออกก็ได้

นี่ไงครับ ที่เป็นหลักฐานสำคัญว่า จริง ๆ คำว่า “ไม่มีเวลา” นั้น มันหมายความว่า “ไม่สำคัญ” มากกว่า

เราไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่เราไม่เคยไม่มีเวลากินข้าว ก็แปลง่าย ๆ ว่า เราเห็นการกินข้าวสำคัญกว่าการออกกำลังกายไงครับ

จริง ๆ ทุกคนมีเวลาเท่ากันคือวันละ 24 ชั่วโมงครับ ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร เวลาของทุกคนก็เท่ากัน ดังนั้น คำว่า “ไม่มีเวลา” ของแต่ละคน ก็คือเขาจัดลำดับกิจกรรมนั้น ๆ ไว้ท้าย ๆ เท่านั้นเอง

ถ้ามันไม่เกิน 24 ชั่วโมงที่เขามี เขาก็ทำ แต่ถ้ามันเกิน เขาก็ผัดไปวันอื่น ๆ เท่านั้น

คราวนี้ มันขึ้นอยู่กับเราแล้วล่ะครับว่า เราเอาอะไรมาวัด “ความสำคัญ” ถ้าเราจะเอาเฉพาะผลลัพธ์ระยะสั้น เราก็จะทำแต่สิ่งที่มันเห็นผลทันที เหมือนเวลาเรากินข้าว ก็เพราะว่า ถ้าไม่กินมันมีผลระยะสั้นคือมันจะหิวมาก และร่างกายเราจะทนไม่ไหว หมดแรง ดังนั้น เราจึงจัดการกินข้าว ไว้เป็นกิจกรรมอันดับต้น ๆ

ส่วนการออกกำลังกายนั้น ในระยะสั้นมันไม่ส่งผลอะไร คือไม่ออกกำลังกาย ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร เราจึงจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมนี้ไว้ท้าย ๆ และสุดท้าย กิจกรรมเหล่านี้ ก็จะถูกผัดไปวันอื่น ๆ แทน จนมีคำกล่าวว่า วันที่คนเราออกกำลังกายมากที่สุดคือ “วันพรุ่งนี้”

แต่ถ้าเราลองคิดดูดี ๆ ผมเชื่อว่าทุกท่านก็ทราบว่า การออกกำลังกายสำคัญกับเราขนาดไหนในระยะยาว ดังนั้น ถ้าเราเปลี่ยนการวัด “ความสำคัญ” ใหม่ โดยเอาผลลัพธ์ระยะยาวมาคิดด้วย คราวนี้ เราจะต้องพยายามหา “เวลา” มาออกกำลังกายจนได้แหละ

เช่น สมมุติว่า ถ้าท่านออกกำลังกายทุกวันเป็นระยะเวลา 5 ปี ผมรับประกันว่าคุณจะมีเงิน 100 ล้าน หลังจาก 5 ปีนั้น คราวนี้ ถ้าผมถามว่า เราจะออกกำลังกายไหม ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะหาเวลาออกกำลังกายจนได้แหละ เชื่อไหมครับ

แต่คราวนี้ เราจะเอาอะไรมาจูงใจล่ะ เพราะในชีวิตจริง คงไม่มีคนเอาเงินมาให้เรา 100 ล้านบาท เพื่อให้เราออกกำลังกายหรอกจริงไหม คำตอบคือใช่ครับ ดังนั้นตัวเรานี่แหละที่ต้องตั้งเป้าหมายระยะยาวไว้ ลองนึกถึงเรื่องสุขภาพเราก็ได้ครับว่า มันสำคัญขนาดไหน ในระยะยาว ถ้ามันเกิดเจ็บป่วย บางทีจะมาออกกำลังกายตอนนั้นมันก็ไม่ทันแล้ว

อีกเทคนิคหนึ่งคือ อะไรที่มี Deadline เราจะทำสำเร็จเสมอ ดังนั้น กิจกรรมที่มันส่งผลในระยะยาว เราควรจะตั้ง Deadline เอาไว้ในปฏิทินเราเลย เหมือนเราตั้งเวลาไว้ เวลาเราจะมีประชุม มีนัดพบเพื่อนนั่นแหละครับ คราวนี้เขียนไว้เลยครับว่า เวลานี้ ถึง เวลานี้ เราจะออกกำลังกาย ใส่เข้าไปเลย

ผมใช้เทคนิคนี้กับการทำงานเหมือนกันครับ จากอาชีพผม ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมพบว่า อาจารย์ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีผลงานวิจัย เพราะ “ไม่มีเวลา” ถ้าถามท่านเหล่านั้น ท่านจะบอกว่า แหม ก็สอนเยอะซะขนาดนี้ จะเอาเวลาที่ไหนมาทำวิจัย

ผมมานั่งคิดดู ก็พบว่า สิ่งนี้เกิดขึ้น เพราะเวลาสอนมันถูกกำหนดไว้ชัดเจนไงครับ เช่น 9 โมงถึงเที่ยง ต้องสอนวิชานี้นะ ดังนั้น ถึงเวลา 9 โมงเช้า เราเบื่ออย่างไร เหนื่อยขนาดไหน เราก็ยังคงต้องไปสอนจริงไหมครับ แต่เราไม่เคยมี Deadline ประเภทที่ว่า บ่ายโมง ถึง 4 โมงเย็น เราจะทำวิจัยนะ พอมันไม่มีการกำหนดเวลาไว้ ผลสุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำ

ผมมักจะแนะนำอาจารย์รุ่นน้อง ๆ ว่า ถ้าอยากทำวิจัย ให้ขอทุนวิจัยเลย อย่าคิดว่า ทำไปก่อนดีกว่า มีเวลาค่อยทำ เพราะการขอทุนวิจัยมันมี Deadline ชัดเจน พอเราขอเสร็จแล้ว ยังไง เราจะหาทางทำให้เสร็จจนได้ ส่วนตัวผมก็ทำอย่างนี้แหละครับ และสุดท้าย มันก็เสร็จทุกที

เอาเป็นว่า ทุกครั้งที่เรากำลังจะใช้คำว่า “ไม่มีเวลา” ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “สิ่งนั้นมันไม่สำคัญ” ดู แล้วท่านจะเห็นเองแหละครับ เช่น พอเราจะบอกว่า “ไม่มีเวลาออกกำลังกาย” ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “ออกกำลังกายไม่สำคัญ” แค่นี้ก็จะช่วยเปลี่ยนมุมมองท่านได้พอสมควรแล้ว

ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้กันนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho