“ช่วงนี้ทำไมมันยุ่งอย่างนี้ สงสัยคงต้องเอางานไปทำตอนไปเที่ยวที่สวิสซะแล้ว”
“ถ้ารู้ว่า รถเบนซ์มันกินน้ำมันเปลืองขนาดนี้ เลือกซื้อโตโยต้าซะดีกว่า”
“ถึงได้เกียรตินิยมอันดับที่ 1 ก็ใช่ว่าจะหางานทำได้ง่าย ๆ นะ”
เคยเห็น Status ใน Facebook ทำนองนี้กันบ้างไหมครับ ถ้าดูคร่าว ๆ ดูเหมือนเขาจะบ่น เช่น ประโยคแรก ดูเหมือนจะบ่นเรื่องงานที่มันยุ่งมาก ประโยคที่สอง ดูเหมือนจะบ่นเรื่องการเปลืองน้ำมัน หรือ อันที่ 3 ดูเหมือนจะออกแนวว่า เราก็ไม่ได้เก่งกาจอะไร อาจจะหางานทำไม่ได้ง่าย ๆ
แต่เจตนาที่แฝงอยู่มันไม่ใช่สิ่งที่เล่าให้ฟังข้างบนครับ ประโยคแรก มันอยู่ตรงที่ “เที่ยวสวิส” ประโยคที่สอง อยู่ที่ “ฉันเพิ่งซื้อรถเบนซ์มา” และประโยคที่ 3 อยู่ที่ “ฉันได้เกียรตินิยมอันดับที่ 1”
ถามว่าเหตุผลที่คนเขียนในลักษณะนี้คืออะไร คำตอบคือ ถ้าเขียนตรง ๆ ก็เกรงว่าจะโดนคนหมั่นไส้เอา เช่น บอกฉันจะเที่ยวสวิสนะ ฉันเพิ่งซื้อรถเบนซ์มานะ หรือ ฉันได้เกียรตินิยมอันดับที่ 1 นะ แบบนี้มันชัดไป คนจะว่าเอาได้ เขาเลยต้องพยายามหลบด้วยประโยคอย่างข้างต้นนี้ไงครับ
เราเรียกแนวการพูดหรือการเขียนแบบนี้ว่า Humble brag ครับ คือ คำว่า Humble คือมันเหมือนจะถ่อมตัวบอกว่าเราก็มีปัญหา แต่จุดประสงค์มันอยู่ที่คำว่า Brag คือเราต้องการโม้
ที่น่าสนใจคือคนส่วนใหญ่เขาก็รู้ครับ ไม่ใช่ไม่รู้ว่าคนนี้กำลังจะโม้อยู่ คงมีแต่คนพูดหรือคนเขียนเท่านั้นแหละที่ไม่รู้ตัว (หรือก็อาจจะรู้ แต่ก็ยังชอบเขียนแบบนี้ก็ได้)
มีงานวิจัยอันหนึ่งที่ทำโดย Ovul Sezer ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านพฤติกรรมองค์กรจาก UNC’s Kenan-Flagler Business School พบว่าการโม้ในลักษณะนี้ มี 2 แบบ คือ 1) มาแนวบ่น (แบบตัวอย่าง 3 อันข้างต้น) หรือ 2) แนวนอบน้อม (เช่น ทำไมเขาถึงมาเลือกคนอย่างเราเป็นหัวหน้านะ) แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบแรกมากกว่า
คราวนี้ ผลที่น่าสนใจคือ เขาทดลองด้วยครับว่า ระหว่างโม้ตรง ๆ เลย กับโม้แบบถ่อมตัว คนทั่วไปชอบอะไรมากกว่า ปรากฏว่า คนส่วนใหญ่ชอบโม้ตรง ๆ มากกว่า เพราะมันดูจริงใจกว่าโม้แบบถ่อมตัว และในทางกลับกัน ถ้าจะมองในมุมของการบ่น (ซึ่งโม้แบบถ่อมตัว ก็จะมีเรื่องบ่นอยู่ด้วย) เขาก็ว่า การบ่นแบบตรง ๆ ก็จะได้ความเห็นใจมากกว่า การบ่นที่ปนด้วยการโม้ สรุปคือว่า Humble brag ไม่ดีอะไรสักอย่างเลย
ข้อแนะนำจากงานวิจัยนี้ คือ ถ้าอยากโม้ โม้ตรง ๆ เลยครับ หรือกลยุทธ์ที่ดีกว่านั้น คือให้ “Wing man” หรือจะเรียกว่าคนที่คอยช่วยเรา มาโม้แทนเราให้แบบนี้ จะเนียนกว่ามากครับ
แต่เอาจริง ๆ ถ้าแค่ขำ ๆ ทำบ้าง ผมก็ไม่ได้เห็นว่าเสียหายอะไรมากมายนะครับ ส่วนใหญ่ผมก็จะไปช่วยให้ชื่นชมเขาด้วยซ้ำ คือ ทำให้คนมีความสุขมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนสบายใจเหมือนกัน แต่อย่าทำให้บ่อยเกินไปก็แล้วกันครับ อะไรที่มันมากไป มันก็ไม่ดีเหมือนกัน
เอาเป็นว่า ผมเขียนบทความนี้ เอาไว้เตือนตัวเองเช่นกันครับ เพราะบางทีเราก็อาจจะทำไปโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน
ไปล่ะครับ ตอนนี้ยุ่งมาก ๆ เลย “นี่ยังเขียนหนังสือเล่มที่ 5 ของปีนี้ไม่เสร็จเลย” (ตัวอย่างปิดท้าย 555)
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho