7 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือเศรษฐศาสตร์ความจน

หนังสือเล่มนี้แปลมาจากหนังสือที่ชื่อว่า Poor Economics ที่เขียนโดย Abhijit Banerjee และ Esther Duflo เป็นหนังสือที่ตีแผ่เรื่องราวของคนจนในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ ผมนำข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้มาสรุปได้ 7 ข้อดังต่อไปนี้ครับ

1. คนจนมักจะขาดข้อมูลที่สำคัญและมีความเข้าใจผิด ๆ เช่น ไม่อยากให้ลูกฉีดวัคซีน หรือไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษา หรือไม่ได้สนใจเรื่องการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรม หรือแม้กระทั่งเข้าไม่ถึงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสุขภาพ ทำให้เขามักจะตัดสินใจผิด ๆ

2. หากเราต้องการให้คนจนเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เราควรจะต้องทำให้น่าสนใจ เช่น ให้ข้อมูลผ่านละครหรือรายการโทรทัศน์เป็นต้น

3. คนจนมักจะต้องรับผิดชอบในงานต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้เขาอาจจะตัดสินใจได้แย่กว่าคนรวย ที่มักจะมีผู้ตัดสินใจที่ถูกต้องให้เขาจำนวนมาก เช่น เขาไม่มีน้ำดื่มสะอาดใช้ ถ้าเขาต้องการน้ำดื่มที่สะอาดเขาต้องสร้างน้ำดื่มแบบนั้นขึ้นเอง ก็ยิ่งทำให้งานเขาเยอะขึ้น การตัดสินใจเยอะขึ้น ซึ่งทำให้คุณภาพการตัดสินใจของเขาแย่ลง

4. คนจนกลับเป็นกลุ่มคนที่อาจจะต้องจ่ายหลายอย่างในราคาแพงกว่าคนรวย เช่นอยากได้สินเชื่อ เขากลับเป็นคนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่าคนรวย อยากจะซื้อประกัน ก็มีประกันจำนวนที่ไม่มากนักให้เขาได้เลือก

5. รัฐบาลควรเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์คนจนให้มากขึ้น หรือหากไม่มีเอกชนไหนทำ ก็อาจจะต้องทำเอง เช่นการอุดหนุนเบี้ยประกัน หรือการจ่ายคูปองให้นักเรียนได้เรียนทั้งโรงเรียนเอกชนและรัฐบาล หรือการให้ธนาคารลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้กับคนจน

6. ประเทศที่ยากจนอาจจะไม่ได้ล้มเหลวเพราะความยากจน หรือ เพราะผ่านประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายเสมอไป แต่บางครั้งเกิดจากการออกแบบนโยบายที่ผิดพลาด ซึ่งประชาชนอาจจะต้องรวมตัวกันเพื่อตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ

7. หลายครั้งความล้มเหลวเกิดจากความคาดหวังสร้างความจริง (Self-fulfilling prophecy) เช่น หากเด็กได้ยินครูหรือพ่อแม่บอกว่าเขาโง่เกินไปที่จะเรียน เขาก็จะเลิกเรียน

ก็เป็นหนังสือที่ทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของความยากจนได้เป็นอย่างดีอีกเล่มหนึ่งทีเดียวครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

12 สิ่งที่น่าสนใจจากหนังสือ The Happiness Equation โดย Nick Powdthavee

ผมเพิ่งได้อ่านหนังสืออีกเล่มจบ ชื่อ The Happiness Equation ซึ่งเหมือนกับหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมก็อ่านจบไปเหมือนกัน เพียงแต่เล่มนี้มีที่มาที่ไปที่แตกต่างจากหนังสือเล่มแรก (ที่ชื่อเดียวกันที่ที่ผมได้อ่าน)

คือเล่มนี้เกิดจากที่ผมได้ไปอ่านหนังสือภาษาไทยเล่มหนึ่งที่ได้มาจากงานสัปดาห์หนังสือชื่อว่า ทุกพฤติกรรมมีความเสี่ยง โปรดอย่าลำเอียงก่อนตัดสินใจ ซึ่งเขียนโดย อาจารย์ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จาก University of Warwick ในประเทศสหราชอาณาจักร

ด้วยความที่ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือแนวนี้อยู่แล้ว และเคยเขียนหนังสือมา 3 เล่ม ได้แก่ แค่คิดก็ผิดแล้ว เล่นหุ้นอย่างไร ไม่ให้ลำเอียง และ ที่เราแย่เพราะโชคร้าย เขาสบายเพราะโชคดี เลยยิ่งชอบอ่านหนังสือทำนองนี้ และต้องบอกว่าเล่มที่ว่ามานี้อ่านแล้ว ชอบมาก ๆ มากขนาดที่ว่ารีบไป Search ว่าอาจารย์ท่านนี้เขียนหนังสือเล่มไหนอีก เลยมาเจอหนังสือเล่มนี้ และกดซื้อเลยโดยไม่ลังเล

แถมยังถามเพื่อน ๆ ใน Facebook ว่าใครรู้จักอาจารย์ท่านนี้บ้าง Inbox ไปคุยกับอาจารย์เขาเลยทีเดียว!

กลับมาที่หนังสือเล่มนี้ ผมก็ใช้เวลาอ่านไม่นานครับ อ่านแล้วประทับใจ ถึงแม้ว่าบางคน (จากที่ผมอ่าน Review) บอกว่า มีสมการเยอะ ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ แต่ผมกลับชอบ เพราะสิ่งที่เขียนมันยืนยันมาจากงานวิจัยที่อาจารย์ทำจริง ๆ ไม่ได้แค่คิดมาลอย ๆ หรือมีการอ้างอิงจากงานวิจัยระดับโลกเยอะมาก ๆ

เอาเป็นว่า ผมเกริ่นมาซะยาว เล่มนี้ ผมสรุปสิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจไว้ได้ดังนี้ครับ

1. ในกรณีที่เรามีประสบการณ์มามากพอแล้ว เวลาเราตัดสินใจเรื่องอะไร เราควรเชื่อสัญชาตญาณของเราจะดีกว่า แต่ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้น เราอย่าไปเชื่ออารมณ์ของเรามาก

2. เรามักจะมีแนวโน้มที่จะมองในเชิงบวกกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันมากกว่าสิ่งที่เราไม่ได้เป็น

3. จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้อยากรวยหรอก เราอยากมีเงินมากกว่าคนอื่นเท่านั้น

4. จริง ๆ แล้ว เงินก็สามารถซื้อความสุขได้จริง ๆ นั่นแหละ

5. งานวิจัยพบว่าคนที่เดินทาง 23 นาทีไปทำงานหรือที่ใดที่หนึ่ง (ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยการเดินทางในประเทศเยอรมัน) จะต้องการผลตอบแทนมากกว่าประมาณ 19% เพื่อชดเชยการเดินทางนี้

6. งานวิจัยพบอีกว่า การแต่งงานให้ความสุขเหมือนกับได้เงินสด 3,500 ปอนด์ แต่เราต้องการเงินสดถึง 8,000 ปอนด์ เพื่อชดเชยความทุกข์ที่เกิดจากการหย่าร้าง (ในปีแรก)

7. ในการแต่งงานนั้น ความสุขจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในปีแรกหลังจากแต่งงาน แล้วจะอยู่ต่อแค่เพียง 2 ปีหลังจากแต่งงานเท่านั้น!

8. คนทั่วไปจะมีความสุขก่อนที่จะมีลูก และความสุขจะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในปีที่ลูกเกิด แต่พอหลังจากมีลูกแล้ว ความสุขจะลดลงตั้งแต่ปีแรกที่ลูกเกิดเลย และเราจะสร้างความคุ้นเคยกับความสุขที่น้อยลงนั้นเมื่อลูกเกิดมาแล้ว 5 ปี

9. เราจะรู้สึกดีขึ้นเวลาเราตกงาน เมื่อเราทราบว่าคู่ของเราก็ตกงานเหมือนกัน!

10. เช่นเดียวกัน เราจะรู้สึกไม่แย่นักถ้าเราอ้วน ในขณะที่คนที่เรารักอ้วนเหมือนกัน!

11. งานวิจัยพบว่า ข้อความที่จะช่วยให้คนร่วมกิจกรรมที่ช่วยสิ่งแวดล้อม คือ ข้อความว่า “มาร่วมมือกันกับคนอื่น ๆ เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมกัน” มากกว่าข้อความประเภทอื่น ๆ

12. งานวิจัยยังพบอีกว่า เราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นประมาณ 25% ถ้าเพื่อนบ้านที่อยู่ในระยะทาง 1 ไมล์ห่างจากบ้านเรามีความสุขเพิ่มมากขึ้น

จริง ๆ หนังสือเล่มนี้ยังมีสถิติ ผลวิจัย อะไรอีกมากมายที่น่าสนใจมาก ๆ นะครับ อยากแนะนำให้ลองอ่านกันดู ถึงแม้ว่าบทแรก ๆ จะมีพวกเรื่องสถิติวิจัยเยอะหน่อย ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการอ่านเสียไปแต่ประการใด ลองอ่านกันดูครับ

อ้อ อาจารย์ผู้แต่งหนังสือได้พูด TED Talk ในหัวข้อนี้เลยครับ ลองกดดูได้ตาม Link นี้ได้ครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

9 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือคิดพิลึกแบบนักเศรษฐศาสตร์ (Think Like A Freak)

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Steven D. Levitt กับ Stephen J. Dubner จริง ๆ เป็นหนังสือเล่มที่ 3 ของเขาใน Series นี้ ต่อจาก Freakonomics และ Super Freakonomics ซึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องราวเชิง Bebavioural Economics ซึ่งเป็นแนวที่ผมชอบ แต่ก็แปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกัน ที่ยังไม่ได้อ่าน 2 เล่มแรก มาอ่านก็เล่มนี้เลย

อ่านจบ ก็ชอบอีกเช่นเคย และคิดว่าคงต้องหา 2 เล่มแรกมาอ่านแน่ ๆ ครับ หนังสือเล่มนี้อ่านเพลินและได้ข้อคิดอะไรหลาย ๆ อย่าง ก็เลยนำมาสรุปข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้เลยละกันครับ

1. คิดแบบพิลึก (Freak) มันคือการคิดไม่เหมือนกับคนอื่น เช่น โดยทั่วไปเวลานักฟุตบอลยิงลูกโทษ เขามักจะยิงไปมุมใดมุมหนึ่งของประตู ทั้ง ๆ ที่ตามสถิติแล้ว การยิงไปตรงกลางประตูที่ผู้รักษาประตูยืนอยู่ในตอนแรก มีโอกาสเข้ามากกว่าการยิงไปมุมใดมุมหนึ่งอีก (เพราะผู้รักษาประตูก็มักจะพุ่งไปมุมใดมุมหนึ่งอยู่แล้ว) แต่หากใครคิดแบบพิลึก ยิงไปกลางประตู แล้วผู้รักษาประตูไม่พุ่งไป แต่ยืนรับอยู่กลางประตูเลย เขาจะโดนต่อว่าอย่างมาก ว่าทำอะไรเนี่ย ยิงไปให้เขายืนรับนี่นะ (ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตามสถิติมันน่าจะทำแบบนั้นก็ตาม) นั่นจึงทำให้นักฟุตบอลส่วนใหญ่ตัดสินใจยิงไปมุมใดมุมหนึ่งมากกว่านั่นเอง

2. คำสามคำที่พูดยากที่สุดคือ “ผม/ฉัน ไม่รู้” คนเราไม่รู้ในหลาย ๆ เรื่องแต่มักจะไม่ค่อยยอมรับ เรายินดีที่จะเดาสุ่มไปเรื่อย หรือแม้กระทั่งแสดงว่าตัวเองเป็นผู้รู้เรื่องนั้น ๆ

3. ก่อนที่เราจะหาคำตอบ เราต้องให้แน่ใจก่อนว่า “ปัญหาที่เราต้องการจะแก้คืออะไร” นี่คือกลยุทธ์ที่โคบายาชิ ใช้ในการทำลายสถิติโลกในการแข่งขันการกิน Hot dog คือ เขาไม่ได้มาตั้งหน้าตั้งตากินให้มันเร็ว ๆ แต่ เขาเริ่มจากคำถามว่า จะทำอย่างไรให้กิน Hot dog ให้ได้เยอะที่สุด (เขาหัก Hot dog ออกเป็นสองส่วน เพราะกินง่ายกว่า และเขากินขนมปังแยกจากไส้กรอก แถมมีการเอาขนมปังไปจุ่มน้ำก่อนกินอีกต่างหาก ซึ่งมันไม่ใช่วิธีการกิน Hot dog แบบคนปกติเขากินกัน)

4. นักคิดตัวจริงจะมองหาหนทางใหม่ ๆ จากการพิจารณาปัญหาเดิม ๆ ที่มีคนพิจารณาไปแล้ว นี่คือสิ่งที่ทำให้ แบร์รี มาร์แชลล์ แพทย์ชาวออสเตรเลีย พบว่าสิ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ ไม่ใช่ความเครียดและอาหารรสเผ็ด ที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันมาก่อน

5.  เราควร “คิดแบบเด็ก” นั่นคือ การเล่นสนุก การคิดแบบเล็ก ๆ เช่น บางทีปัญหาจากการศึกษา หลายกรณี มันเกิดจากการที่เด็กสายตาสั้น แค่ซื้อแว่นให้ ก็ช่วยเรื่องการศึกษาเด็กได้มหาศาลแล้ว หรือ ความกล้าในการตั้งคำถาม

6. ควรค้นหาสิ่งที่จูงใจผู้คน บางทีแรงจูงใจที่เราคิดอาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป เช่น ถ้าเราอยากประหยัดพลังงาน สิ่งที่จูงใจ ไม่ใช่ ข้อความที่บอกว่าการประหยัดพลังงานจะช่วยสิ่งแวดล้อม แต่เป็นข้อความทำนองว่า เพื่อนบ้านเขาทำกันทั้งนั้น ต่างหาก

7. การคิดพิลึกอาจจะทำให้เรามองเห็นอะไรดี ๆ อีกมาก อย่างเช่นกรณีของกษัตริย์โซโลมอน ที่ตัดสินว่า ใครจะเป็นแม่ที่แท้จริงของเด็ก (มีผู้หญิง 2 คน ทะเลาะกันว่าเป็นแม่ของเด็กทารกคนหนึ่ง) โดยตัดสินว่า เขาจะผ่าเด็กออกเป็น 2 ท่อน ใครเห็นด้วยบ้าง คนหนึ่งบอกเห็นด้วย อีกคนหนึ่งบอก งั้นไม่เป็นไร ยกลูกให้อีกคนเถอะ ซึ่งทำให้กษัตริย์โซโลมอนรู้เลยว่า คนที่ยอมยกลูกให้อีกคน ย่อมเป็นแม่ที่แท้จริง เพราะไม่มีแม่ที่แท้จริงคนไหนจะยอมให้ลูกตัวเองถูกผ่าแบ่งครึ่ง หรือกรณีของ email ที่หลอกเอาเงินคนอ่าน คนเขียนตั้งใจเขียนให้เห็นชัด ๆ ว่านี่คือ email หลอกเอาเงิน เพราะเขาต้องการให้มีแต่เฉพาะคนที่ไม่มีความรู้เท่านั้นที่จะติดต่อเขามา ไม่งั้นงานเขาจะหนักมากกับการที่ต้อง deal กับคนจำนวนมาก

8. วิธีที่จะโน้มน้ามคนที่ยึดมั่นในความคิดของตัวเอง 1) เข้าใจว่าการโน้มน้าวเป็นเรื่องที่ยาก 2) จำไว้ว่า เราเป็นเพีียงผู้เสนอ แต่อีกฝ่ายเป็นผู้ตัดสินใจ 3) อย่าคิดว่าข้อเสนอของเราสมบูรณ์แบบ 4) ยอมรับจุดแข็งของข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้าม 5) เก็บคำดูถูกไว้ในใจ 6) ใช้วิธีการเล่าเรื่อง

9. บางที การยอมแพ้ก็มีข้อดี ลองนึกถึงกรณีเครื่องบิน Concorde ที่ทั้งรัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศส ไม่ยอมแพ้ ดันทุรังทำต่อ ทั้ง ๆ ที่รู้มาตั้งนานแล้วว่าไม่คุ้ม หรือ การส่งกระสวยอวกาศ Challenger ที่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น เนื่องจาก NASA ดื้อดึงที่จะส่งกระสวยขึ้นไป ทั้ง ๆ ที่มีคนทักท้วงว่าอันตราย

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/