16 ข้อคิดจากหนังสือ Four Thousand Weeks

หนังสือที่เตือนให้เราเห็นว่าเรามีเวลาอยู่อย่างจำกัด การพยายามที่จะทำให้ตัวเอง Productive อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ลองอ่านรีวิวกันครับ

Continue reading

สิ่งที่เราควรปกป้องมากที่สุดคือเวลาของเรา

เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด เพราะถ้าเสียไปแล้ว เราไม่สามารถนำกลับมาได้เลย ดังนั้นก่อนจะใช้เวลาทำอะไร คิดก่อนว่าคุ้มค่าหรือเปล่า

Continue reading

กับดัก 6 ประการที่ดึงเวลาจากเราไป

“ยุ่งมาก ไม่มีเวลาเลย” 

หลายคนคงเคยได้ยินคำนี้อยู่เรื่อย ๆ หรือแม้กระทั่งเป็นคนที่พูดออกมาเอง

แต่หลายคนก็คงแปลกใจว่า แต่ทำไมดูเหมือนบางคนมีเวลามากกว่าคนอื่น งานถึงได้ออกมาเยอะแยะขนาดนั้น

ผมได้อ่านหนังสือชื่อ Time Smart จากอาจารย์ Ashley Whillans จาก Harvard Business School ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่าคนเรามักจะตกอยู่ในกับดัก 6 อย่างที่ดึงเวลาจากเราไปมากมาย

1. เราติดต่อกับเทคโนโลยีตลอดเวลา

ใช่ครับ เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดเวลาจากเราไปมาก ลองสังเกตดูจาก Screen Time ที่เราใช้ในแต่ละวันดูสิครับ แล้วเราจะตกใจว่าวัน ๆ หนึ่งเราใช้เวลาไปกับ Facebook Instagram Twitter Line YouTube Game ฯลฯ ไปมากมายขนาดไหน

ถ้าเราอยากได้เวลากลับมา ลดเวลากับเทคโนโลยีเหล่านี้ลงบ้าง แค่นี้ก็ “ว่าง” ขึ้นอีกเยอะแล้วครับ

2. เราให้ความสำคัญกับงานและเงินมากจนเกินไป

ใช่ครับงานกับเงินสำคัญ ไม่ได้บอกว่าไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องหาเงิน แต่เรามักจะมีแนวโน้มในการทำงานมากเกินไป สังเกตง่าย ๆ ว่าเราพร้อมเสมอที่จะสละเวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์มาทำงาน แต่เรามักจะไม่สละเวลาวันธรรมดาที่ต้องทำงาน มาใช้ให้เป็นเวลาว่างในการทำในสิ่งที่เรารัก

หรือหลายคนยอมที่จะเลือกงานที่หนักกว่า เดินทางไกลกว่า เพียงเพราะว่าได้เงินเดือนมากกว่า ซึ่งอาจจะไม่ได้มากมายขนาดนั้น บางทีการยอมลดเงินเดือนลง เพื่อให้เรามีเวลามากขึ้นอาจจะเป็นทางเลือกในการได้เวลากลับมาเป็นของเราก็ได้เช่นกันนะครับ

3. เรามักจะไม่ค่อยเห็นคุณค่าของเวลา

คือเวลาต่างจากเงินอยู่ตรงที่ เงินมันเห็นมูลค่าได้ชัด ๆ เช่น เราได้รับเงินมา 50,000 บาท มันก็เห็นตัวเลข 50,000 บาทเพิ่มขึ้นในบัญชีเห็น ๆ แต่ ถ้าเราได้เวลาว่างมาเพิ่มขึ้น 1 วันต่อสัปดาห์ เราก็ยังไม่ค่อยเห็นว่าจะมีประโยชน์อะไรอย่างชัดเจนเท่าไร

ถ้าเราลองให้คุณค่ากับเวลามากขึ้น เช่นลองถามตัวเองว่าถ้าเหลือเวลาอีก 6 เดือนในโลกนี้ เราจะทำอะไร อะไรทำนองนี้ เชื่อไหมครับ เราจะพยายามหาเวลาให้กับตัวเองเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเลยทีเดียว

4. เรารู้สึกว่า “ยุ่ง” คือสิ่งที่ทำให้ตัวเองดูดี

อันนี้อาจจะเป็นวัฒนธรรมของคนยุคนี้ก็ได้นะครับ ใครที่ดูยุ่ง ๆ มันเหมือนเป็นคนที่มีคุณค่า มีความสามารถ คือพูดง่าย ๆ มันดูดีกว่าว่าง ๆ ซะอีก เคยสังเกตไหมครับว่า ใน Facebook Status เราจะเห็นคน Post ว่า “ยุ่งจัง” มากกว่า “ว่างจัง” เพราะยุ่งมันจะดูดีกว่าเยอะ

แต่เอาเข้าจริง ยุ่งหรือว่าง มันแทบจะไม่ได้เป็นการบอกเลยครับว่าผลงานเป็นอย่างไร ยุ่งแล้ว ผลงานไม่ดี แต่ว่างแล้วผลงานดี ผมว่าอย่างหลังดีกว่าเยอะ ลดความคิดว่ายิ่งยุ่งยิ่งดีลง เราจะได้เวลากลับมาครับ

5. เราไม่ชอบความว่าง

คือหลายคนอาจจะมีการอาการที่เรียกกันว่า Workaholic คือติดงานมาก พอว่างปุ๊บ รู้สึกผิดกับตัวเองขึ้นมาทันที ต้องหางานอะไรสักอย่างมาทำ ไม่งั้นดูจะไม่ Productive แนะนำว่าลองเปลี่ยนมุมมองดูครับ ความว่างก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน และจริง ๆ แล้วอยากเป็นคน Productive จริง ๆ เราต้อง “ว่างให้เป็น” ด้วยครับ

6. เรามักจะรับปากคนอื่นโดยไม่ได้คิดให้ถี่ถ้วน

หลายคนเป็นคนที่ปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น หรือหนักกว่านั้นคือไม่ได้คิดจะปฏิเสธเลยด้วยซ้ำ ใครให้ทำอะไร ทำหมด ทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่ได้ถนัด หรืออาจจะแทบไม่มีเวลาอยู่แล้ว ลองคิดก่อนรับปากคนอื่นครับ ทำไม่ได้ หรือทำแล้วต้องใช้เวลานาน เราปฏิเสธและให้คนอื่นที่เก่งกว่าเราทำ จะดีสำหรับเรา และคนที่ให้เราทำด้วย และเราก็จะได้เวลากลับมา

ลองดูนะครับว่าเรามักจะติดกับดักข้อไหนกันบ้าง แล้วพยายามแก้ไขดูครับ เราจะได้เวลาของเรากลับมา ไม่มากก็น้อยครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

7 วิธีทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพ

หลาย ๆ คนอาจจะเคยมีประสบการณ์ที่วัน ๆ มีแต่การประชุม เริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้า รู้ตัวอีกทีก็ 5 โมงเย็นแล้ว
.
แต่ถ้าการประชุมมันให้ผลที่ดี ตรงนั้นก็คงไม่น่าจะเสียดายเวลาสักเท่าไร แต่หลาย ๆ ครั้ง มันไม่เป็นอย่างนั้นสิ มันกลายเป็นว่า เราเข้าประชุมโดยที่อาจจะไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับเราสักเท่าไร หรือบางที ถึงจะเกี่ยว แต่ประชุมจนจบ ทุกอย่างก็เหมือนเดิม
.
.
จนหลาย ๆ ครั้ง การประชุมนี่แหละเป็นกิจกรรมที่สิ้นเปลืองเวลา และไม่มีประสิทธิภาพมากที่สุดกิจกรรมหนึ่งขององค์กรเลย
.
.
คำถามคือ แล้วจะทำอย่างไรดี
.
นักธุรกิจชั้นนำอย่าง Jeff Bezos หรือ Elon Musk ก็คือพูดเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจเหมือนกัน Jeff Bezos ตั้งกฏที่เรียกว่า 2-Pizza Team ขึ้นมา คือ เวลาจะตั้งทีมขึ้นมา อย่าให้มันใหญ่มากนัก วิธีมองง่าย ๆ คือทีมนั้นเวลาจะทานอาหารด้วยกัน ต้องใช้ Pizza ไม่เกิน 2 ถาด มากกว่านั้น แปลว่าทีมมันเทอะทะ และผมก็เลยสรุปไปด้วยว่า เวลาทีมมันเทอะทะ ประชุมกันก็ยาก และใช้คนมากโดยไม่จำเป็นด้วย
.
ส่วน Elon Musk เขาก็มักจะถามคนที่ร่วมประชุม ที่ไม่ได้พูดอะไรว่า “คุณเข้ามาทำไม” ดูเป็นคำถามที่บางคนอาจจะรู้สึกว่าหยาบคายนะครับ แต่มันตรงประเด็นดี คือ ถ้าเข้ามาแล้ว นั่งเฉย ๆ มันก็แปลว่า เขาไม่ต้องเข้าก็ได้จริงไหม (ยกเว้นต้องการจะแค่บอกกล่าว แต่ถ้าแค่นั้น ใช้วิธีสื่อสารอื่นก็ได้) และจริง ๆ ความผิดอาจจะไม่ใช่คนเข้าด้วยซ้ำ อาจจะผิดตั้งแต่คนเชิญเข้าประชุมแล้ว
.
.

เพื่อให้การประชุมมีประสิทธิภาพ ผมมีข้อเสนอแนะ 7 ข้อสั้น ๆ ดังนี้ครับ

1. มีเฉพาะคนที่เกี่ยวข้อง

การประชุมที่ดี เราไม่จำเป็นต้องเชิญคนทุกฝ่าย ทุกแผนกมาหรอกครับ เลือกเอาเฉพาะคนที่คิดว่าเกี่ยวข้องจริง ๆ หรือ คนที่เราต้องการความคิดเห็นของเขาจริง ๆ เข้ามาก็พอ

2. มีหัวข้อการประชุมที่ชัดเจน

เวลาจัดประชุม สิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ หัวข้อการประชุม หรือที่เรียกกันว่า Agenda ตรงนี้ต้องชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น เพราะหากบางคนคิดว่ามันไม่เกี่ยวกับเขา เขาจะได้ไม่ต้องมาเข้าประชุม (ถึงจะถูกเชิญ แต่เขาก็จะสามารถชี้แจงได้ว่า อันนี้ไม่เกี่ยวกับเขา) รวมทั้งเวลาประชุมด้วยครับ พยายามอย่าออกไปนอกเรื่องมากนัก ไม่งั้นประชุมไป ประชุมมา ไม่รู้ว่า กำลังคุยอะไรกันอยู่

3. ตรงต่อเวลา

การประชุมมันมีต้นทุนสูงนะครับ ลองนับคนที่เข้าว่า แต่ละคนเงินเดือนเท่าไร หารออกมาแล้ว เชื่อไหมครับ บางทีการประชุมครั้งเดียวมีต้นทุนเป็นแสน แต่บางคนมองไม่เห็นตรงนี้ ดังนั้นเรื่องเวลาจึงสำคัญมาก เริ่มให้ตรงเวลา และเลิกให้ตรงเวลา อย่าประชุมกันแบบ นัดเพื่อนกินข้าว พูดไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนด แบบนี้ น่าเสียดายเวลาเป็นอย่างมาก

4. เตรียมข้อมูลมาก่อน

บางการประชุมที่ผมเคยเจอ คือ ข้อมูลไม่ได้เตรียมมาก่อน มานั่งหาข้อมูลกันระหว่างประชุม จนกลายเป็นเสียเวลาไปอีก ข้อมูลอะไรที่สำคัญและจำเป็นควรจัดทำมาก่อน ยกเว้นบางอย่างเท่านั้น ที่เผอิญเป็นประเด็นขึ้นมา อันนี้เข้าใจได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ควรเป็นแบบนั้นนะครับ

5. พูดให้อยู่ในประเด็น

การประชุมหลาย ๆ ครั้ง บางทีจะมีการอภิปรายนอกประเด็นอยู่เรื่อย ๆ ถ้ามีบ้างคงไม่เป็นไร แต่บางทีมันเลยเถิดไปไกลมาก จนตอนสุดท้าย หัวข้อที่จะประชุมไม่ได้ประชุม กลายไปเป็นเรื่องอื่น ๆ ไปซะอย่างนั้น แบบนี้ไม่ดีแน่ ๆ ครับ

6. ประชุมเสร็จแล้วควรมี Action

หลาย ๆ การประชุม กลายเป็นที่ที่จะมาระบายความในใจกันซะมากกว่า คือ เป็นที่ที่หลายคนบ่นว่า อันนั้นไม่ดี อันนี้ไม่ดี แต่สุดท้ายจบการประชุมก็แยกย้ายกันไป เพื่อสัปดาห์หน้าจะได้มารวมตัวกันบ่นให้ฟังใหม่ การประชุมแบบนี้ จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับองค์กรแต่อย่างใด สิ้นสุดการประชุมมันควรจะมี outcome ให้ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง อย่างไร

7. อย่าใช้อารมณ์

คือไม่ได้หมายความห้ามมีอารมณ์ใด ๆ เลยนะครับ แต่หมายความว่า อย่าให้อารมณ์มาครอบงำการประชุม ผมเคยเจอการประชุมที่สุดท้ายกลายเป็นการทะเลาะกัน เมื่อคนมีอารมณ์ เหตุผลมันก็หาย คือไม่ฟังอะไรทั้งสิ้นแล้ว ฉันจะต้องจัดการแกให้อยู่หมัด อะไรทำนองนี้ การประชุมแบบนี้ นอกจากเสียเวลาแล้ว ยังเสียบรรยากาศการทำงานอีกต่างหาก พยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดครับ

ก็เป็นอีกข้อเสนอแนะแล้วกันนะครับ สำหรับการประชุม หวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์ และขอให้ทุกคนมีการประชุมที่ดีและมีประสิทธิภาพครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

คุณคือนก Lark นกฮูก หรือ นกประเภทที่ 3 กันแน่

หลายคนคงเคยอ่านบทความประเภทเทคนิคการจัดการเวลามาไม่มากก็น้อย หลายคนก็แนะนำว่า ใช้เวลาช่วงเช้าสิ เป็นเวลาที่สมองปลอดโปร่ง ให้อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ หรือแม้กระทั่งทำงานยาก ๆ ให้เสร็จ แต่หลายคนอาจจะไปลองทำแล้ว เอ ทำไมมันไม่ได้ผลเหมือนกับที่บทความเขียนไว้นะ ตื่นเช้ามา พยายามเขียนหนังสือ เขียนไม่ได้สักตัว แถมหลับอีกต่างหาก 555

ข้อเฉลยมีในบทความนี้ครับ ก็เพราะคนเราไม่เหมือนกันไงครับ

จากหนังสือที่ชื่อว่า When เขียนโดย Daniel Pink เขาแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

1. นก Lark คนกลุ่มนี้นอนเร็วตื่นเช้ามาก ๆ จากงานวิจัยมีประมาณ 14% ที่อยู่ในกลุ่มนี้

2. นกฮูกหรือ Owl คนกลุ่มนี้ นอนดึก ตื่นสายสุด ๆ กลุ่มนี้มีประมาณ 21%

3. นกประเภทที่ 3 หรือเรียกว่า Third Birds อันนี้ก็คือกึ่งกลางระหว่างประเภทที่ 1 และ 2 กลุ่มนี้ใหญ่สุดมีประมาณ 65%

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า เอ แล้วเราอยู่กลุ่มไหนกันแน่ ที่ว่านอนเร็ว คือเร็วแค่ไหน ตื่นเช้า เช้าแค่ไหน คืองี้ครับ เอาแบบคร่าว ๆ ให้คำนวณอย่างนี้ (เอามาจากหนังสือที่ชื่อ When นี่แหละครับ)

1. เราเข้านอนกี่โมง

2. เราตื่นนอนกี่โมง

3. หาเวลากึ่งกลางระหว่างข้อที่ 1 และ ข้อที่ 2

ถ้าจุดกึ่งกลางอยู่ระหว่างเที่ยงคืนถึงตีสาม เราเป็นนก Lark ครับ ถ้าอยู่ตั้งแต่ตีสามไปจนถึง ประมาณตีห้าครึ่ง เราเป็น Third Birds แต่ถ้าเป็นหลังจากนั้นคือตั้งแต่ตีห้าครึ่งจนถึงเที่ยง เราเป็นนกฮูก หรือ Owl แล้วล่ะครับ

เอาของผมนะครับ ผมเข้านอนประมาณ 4 ทุ่ม ตื่นตี 5 ดังนั้น Midpoint ผมจะอยู่ประมาณตีหนึ่งครึ่ง ผมเป็นประเภท นก Lark ครับ

รู้แล้วยังไง รู้แล้วเราเอาไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้แบบนี้ครับ

สำหรับงานที่ต้องการใช้ทักษะในการวิเคราะห์ต่าง ๆ ถ้าคุณเป็น Lark ให้ทำงานนี้ตอนเช้ามาก ๆ ถ้าคุณเป็น Third Birds ให้ทำช่วงเช้าหรืออาจจะสาย ๆ หน่อย แต่ถ้าเป็น Owl ทำตอนบ่ายกับเย็นจะดีกว่า หรือสำหรับงานที่คุณต้องตัดสินใจ Lark ควรจะทำตอนเช้ามาก Third Birds ทำตอนเช้าถึงสาย ๆ ส่วน Owl เอาไว้ทำตอนบ่ายแก่ ๆ หรือตอนเย็น

หลายคนก็อาจจะคิดในใจว่า อ้าว แต่ผมไม่สามารถควบคุมเวลาได้เองนี่ อย่างเช่น บางทีหัวหน้ามาสั่งให้เราทำงานแบบนี้ในตอนเช้า ทั้ง ๆ ที่เราจะทำงานนี้ตอนเย็นจะดีกว่า แบบนี้ เราจะทำอย่างไร มีข้อแนะนำดังนี้ครับ

1. ให้เรารู้ตัวเอง คือ สมมุติว่าเราเป็น Owl แต่พรุ่งนี้จะต้องมีการประชุมวิเคราะห์ข้อมูลในตอนเช้า ให้เรารู้ก่อนเลยว่า นั่นไม่ใช่เวลาที่ดีที่สุดของเรา แล้วเราก็อาจจะเริ่มเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เย็นวันนี้ เช่น การเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ก่อนประชุมเช้า ก็อาจจะสร้างอารมณ์ให้ดีที่สุด เช่น พูดคุย ทักทายเพื่อนร่วมงาน และระหว่างการประชุมก็อาจจะต้องตั้งใจเป็นพิเศษ อะไรแบบนี้

2. ทำงานให้ถูกเวลา เช่น ถ้าเราเป็น Lark ช่วงเช้า อย่าไปเสียเวลากับการตอบ email พยายามใช้เวลากับงานวิเคราะห์มากที่สุด ถ้าเป็นไปได้บอกกับหัวหน้าว่า เราทำงานแบบนี้ได้ดีกว่าตอนเช้า น่าจะดีกับองค์กรด้วย (หรือไม่ก็ให้หัวหน้าอ่านบทความนี้ 555)

และเนื่องจากคนส่วนใหญ่เป็นพวก Third Birds จากงานวิจัยยังพบอีกว่า คนส่วนใหญ่แล้วคนส่วนใหญ่จะมีอารมณ์ดีในตอนเช้าและจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงประมาณเที่ยง แต่พอเข้าช่วงบ่าย อารมณ์จะลดลง (คืออารมณ์ดีน้อยลง) ไปจนต่ำสุดประมาณสักบ่าย 3 และหลังจากนั้นจะกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง รู้แบบนี้แล้ว เวลาจะไปขออะไรใคร จะไปคุยกับหัวหน้า ลองดูจังหวะดี ๆ ก็แล้วกันนะครับ อ้อ แต่อันนี้สำหรับคนส่วนใหญ่นะครับ ถ้าเขาเป็น Lark กราฟนี้มันจะเลื่อนเร็วขึ้น และถ้าเขาเป็น Owl กราฟนี้มันจะช้าลง (คือบ่ายของ Owl คือเช้าของ Lark นั่นแหละครับ)

ไม่มีเวลาที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เราต้องปรับให้ได้ตามประเภทของเรานะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

เวลามันย้อนกลับไปไม่ได้นะครับ

ระยะหลังมานี้ มีเรื่องหนึ่งที่ผมอ่านพบ ได้ฟัง Podcast รวมถึงเป็นสิ่งที่ผมเคยคิดมาตลอด เลยอยากจะนำมาเขียนอยู่นานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสสักที วันนี้เป็นวันหยุดก็เลยขออนุญาตมานำเสนอแนวคิดเรื่องนี้กัน

ชื่อเรื่องคือ “ความสำคัญของเวลา” แต่ข้อเขียนนี้ ไม่ได้จะเขียนเรื่องเทคนิคการจัดการเวลา แต่จะเขียนเรื่องความสำคัญของเวลา ใช่ครับ ทุกคนคงทราบว่าเวลาสำคัญ แต่คุณสมบัติอย่างหนึ่งของเวลา คือเราย้อนกลับไม่ได้

ลองเปรียบเทียบระหว่าง เวลา กับ เงินดูนะครับ ถ้าเป็นเงิน ตอนนี้เรารวย เราก็กลับมาจนได้ หรือเราจน เราก็กลับไปรวยได้ มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้เสมอ เงินเป็นสิ่งที่เก็บไว้ได้ แต่เวลาไม่ใช่

เวลา ณ ขณะนี้ มันจะผ่านไปในอีกช่วงเสี้ยววินาทีข้างหน้า เราไม่สามารถเก็บเวลาตอนนี้ ไปใช้ตอนหลังได้ แต่ข้อดีของเวลาคือ เมื่อหมดวัน เราก็จะมีอีก 24 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นมาเท่า ๆ กัน ไม่เหมือนกับเงิน ที่เราก็ยังไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า หรือปีหน้า จะมีรายได้เข้ามาเท่าไร (คงประมาณการได้ แต่มันก็ไม่มีความแน่นอนเหมือนเวลา)

แล้วประเด็นคืออะไร

คืองี้ครับ ระยะหลัง ๆ ผมไปเจอลูกศิษย์ หรือคนรู้จักหลาย ๆ คนทำงานหามรุ่งหามค่ำ ซึ่ง ในมุมหนึ่งผมก็ชื่นชมความมุมานะของเขานะครับ แต่พอเห็นบาง Status ใน Facebook แล้วมันเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้น

“ไม่ได้เจอหน้าลูกมา 2 สัปดาห์แล้ว”

“นอนตี 3 ติดกันมา 7 วัน”

ยิ่งอ่านหนังสือบางเล่ม บทความบางบทความ เขาเขียนบอกว่า เขาไม่เชื่อเรื่อง Work Life Balance หรอ มันต้อง Work อย่างเดียว จัดเต็ม แล้ว เดี๋ยววันหน้าสบายเอง หรือแม้กระทั่งคุยกับ Startup บางท่าน ก็บอกว่า ผมไม่สนใจอะไรทั้งสิ้นในโลกนี้ นอกจาก Startup ผมจะต้องสำเร็จให้ได้

เน้นอีกทีครับ ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับความทุ่มเทเลยครับ แต่ที่อยากจะบอกคือ “เวลามันย้อนกลับไม่ได้”

ต้องกลับมาถามว่า จริง ๆ แล้ว ความต้องการในชีวิตเราคืออะไร ถ้าความต้องการสูงสุดในชีวิตคือ เราอยากรวย แล้วหยุดแค่นั้น การทำแบบนี้ ก็อาจจะตอบโจทย์ และอาจจะทำให้ถึงเป้าหมายในเรื่องความรวย ความสำเร็จ ได้เร็ว แต่ลองถามต่อว่า อยากรวยไปทำไม ถ้าใครตอบว่า ก็แค่อยากรวย อันนี้แหละความฝันสูงสุดแล้ว บทความนี้ก็อาจจะไม่มีประโยชน์กับท่าน

แต่ถ้าตอบว่า อ้าว ก็อยากรวย จะได้มีเวลาอยู่กับลูก ๆ อยู่กับครอบครัวมากขึ้น อยากรวย เพื่อที่จะให้พ่อแม่สบาย อันนี้แหละครับ ที่ผมอยากเขียนถึง

เนื่องจากเวลามันย้อนกลับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาที่เราใช้ในการทำงานอย่างหนัก มันก็เท่ากับเวลาที่เราจะให้กับลูก ๆ กับครอบครัวจะหายไป สิ่งที่มันอาจจะน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง คือ เราทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อที่จะได้มีเงินเยอะ ๆ รวย ๆ แต่เวลาผ่านไป 20 กว่าปี มาถึงตอนนั้น ลูก ๆ เราก็ออกไปมีครอบครัวกันหมดแล้ว เขาไม่ได้ต้องการเราอีกต่อไปแล้ว

เวลาที่ลูก ๆ ต้องการเรามากที่สุดคือเวลาตอนเขาตัวเล็ก ๆ นี่แหละครับ ผมยังจำตอนลูก ๆ ผมเกิดได้ ตอนนั้น ต้องอุ้มนอนกันทุกคืน (คือไม่อุ้ม ไม่นอน) ผมนี่แหละครับ เป็นคนอุ้มเอง ผู้ใหญ่บางคนก็เคยเตือนบอก อย่าอุ้มมากเดี๋ยวติดมือ คือเด็กเขาจะติด ถ้าไม่ได้เราอุ้ม เขาจะนอนไม่หลับ แต่ผมไม่เคยเกี่ยงเลยครับ ติดมือก็ดี ผมบอกกับตัวเองและกับคนอื่น ๆ ว่า โอกาสที่จะได้อุ้มลูกแบบนี้มีไม่กี่ปีในชีวิตหรอก

และมันก็จริงครับ ตอนนี้ลูก ๆ ผมโตแล้ว จะอุ้มก็ไม่ไหวแล้ว และเขาก็ไม่ได้อยากให้อุ้มอีกต่อไป แต่ผมไม่มีอะไรต้องเสียดายเลย เพราะตอนนั้นก็ใช้เวลาอย่างเต็มที่แล้ว หรือตอนที่ลูก ๆ ยังนอนในห้องนอนเดียวกันแล้วเขาให้อ่านหนังสือให้ฟัง บางทีก็เหนื่อย แต่ก็อ่านให้เกือบทุกครั้ง เพราะผมรู้ว่า พอโตขึ้นเขาก็จะมีชีวิตส่วนตัวของเขาเอง และคงไม่ได้อยากให้เราอ่านให้ฟังตลอดไป

ผมถึงมักเตือนคนที่ใกล้ชิดจริง ๆ ว่า บางทีการที่เรามุ่งเน้นแต่เรื่องงานจนละเลยเรื่องเหล่านี้ไป เงินที่ได้มามาก ๆ ความสำเร็จที่ได้มา มันก็ไม่สามารถเอามาซื้อเวลาในการได้อุ้มลูก หรือ อ่านหนังสือให้ลูกฟังตอนเด็ก ๆ ได้นะครับ

นี่ยังไม่นับการดูแลคุณพ่อคุณแม่ ที่นับวันท่านก็มีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ มันจะมีประโยชน์อะไรครับ ถ้าเราได้เงินมาเยอะ ๆ แต่ไม่มีเวลาดูแลท่าน ไม่มีเวลาพูดคุยกับท่านเลย แล้วพบว่า วันที่เรารวย ท่านก็ไม่อยู่ซะแล้ว

หรือแม้กระทั่งสุขภาพของตัวเราเองเช่นกันครับ จะมีประโยชน์อะไรครับ ถ้าเราพบว่า เรารวยมาก ๆ เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่เราป่วยมาก ๆ จากการที่เราละเลยเรื่องสุขภาพ เราย้อนเวลากลับไปออกกำลังกาย พักผ่อนให้เหมาะสม หรือรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ได้หรอกนะครับ

เอาเป็นว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมแล้วกันนะครับ ผมเคารพการตัดสินใจของทุกคนครับ เพราะเป้าหมายของแต่ละคนแตกต่างกันไป ข้อจำกัดของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนอาจจะคิดว่า ก็มันไม่มีเงิน จะทำอย่างไร จะมีเวลาให้กับครอบครัวได้อย่างไร ไม่ทำงานก็อดตายกันพอดี อันนั้นก็เข้าใจครับ แต่ก็อยากให้ลองมองหาทางเลือกต่าง ๆ กันดู และหลาย ๆ กรณี มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น มันเป็นการเลือกของเราเอง

เพียงอยากจะบอกแค่ว่า “เวลามันย้อนกลับไปไม่ได้” เท่านั้นแหละครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

 

ไม่มีเวลา แปลว่า ไม่สำคัญ

เราเคยตอบคำถามคนอื่นหรือตัวเองประมาณนี้ไหมครับ

“เราต้องออกกำลังกายบ้างนะ” “แหมก็อยากออกแหละ แต่มันไม่มีเวลาจริง ๆ ”
“ทำไม ไม่ไปหางาน Part time ทำบ้างนะ” “ก็อยากทำอยู่ แต่ไม่มีเวลา ไม่เข้าใจเหรอ”
“อ่านหนังสือสิ มันทำให้ชีวิตเราดีขึ้นนะ” “แหม เวลานอนยังไม่มีเลย จะเอาเวลาที่ไหนไปอ่านหนังสือ”

ใช่ครับ ผมเข้าใจว่า แต่ละคนมีงานยุ่ง แต่วันนี้อยากจะมาชวนคุยเรื่องนี้ครับ

ผมขอถามคำถามนี้ก่อนครับว่า “เราเคยยุ่งจนกระทั่งไม่กินข้าวติดกัน 3 วันไหมครับ” ผมเชื่อว่าคำตอบของคนส่วนใหญ่คือ ไม่เคย อ้าว แล้วงานที่ไม่เสร็จล่ะ เราเอาเวลาที่ไหนไปกินข้าว ไม่ทำงานให้เสร็จก่อนเหรอ

จะบ้าเหรอ ถ้าไม่กินข้าว ก็แย่พอดีสิ ยังไงมันต้องกินข้าว ไม่กิน ก็ทำงานไม่ได้หรอก

งั้นถามใหม่ ใครเคยยุ่งมาก จนไม่มีเวลาออกกำลังกายติดกัน 3 วันบ้าง ผมว่าคำถามนี้ สำหรับคนจำนวนมาก อาจจะตอบว่า อ๋อ เคยสิ จริง ๆ ไม่ใช่แค่ติดกัน 3 วันนะ ติดกันเป็นเดือน ยังเคยเลย 555

อ้าว แล้วทำไม ทีอย่างนี้ เราถึงไม่ออกกำลังกายได้ล่ะ แหม ก็ไม่ออกกำลังกายสัก 3 วัน มันก็ไม่เป็นไรไม่ใช่เหรอ เอาไว้ว่าง ๆ ก็ค่อยออกก็ได้

นี่ไงครับ ที่เป็นหลักฐานสำคัญว่า จริง ๆ คำว่า “ไม่มีเวลา” นั้น มันหมายความว่า “ไม่สำคัญ” มากกว่า

เราไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่เราไม่เคยไม่มีเวลากินข้าว ก็แปลง่าย ๆ ว่า เราเห็นการกินข้าวสำคัญกว่าการออกกำลังกายไงครับ

จริง ๆ ทุกคนมีเวลาเท่ากันคือวันละ 24 ชั่วโมงครับ ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร เวลาของทุกคนก็เท่ากัน ดังนั้น คำว่า “ไม่มีเวลา” ของแต่ละคน ก็คือเขาจัดลำดับกิจกรรมนั้น ๆ ไว้ท้าย ๆ เท่านั้นเอง

ถ้ามันไม่เกิน 24 ชั่วโมงที่เขามี เขาก็ทำ แต่ถ้ามันเกิน เขาก็ผัดไปวันอื่น ๆ เท่านั้น

คราวนี้ มันขึ้นอยู่กับเราแล้วล่ะครับว่า เราเอาอะไรมาวัด “ความสำคัญ” ถ้าเราจะเอาเฉพาะผลลัพธ์ระยะสั้น เราก็จะทำแต่สิ่งที่มันเห็นผลทันที เหมือนเวลาเรากินข้าว ก็เพราะว่า ถ้าไม่กินมันมีผลระยะสั้นคือมันจะหิวมาก และร่างกายเราจะทนไม่ไหว หมดแรง ดังนั้น เราจึงจัดการกินข้าว ไว้เป็นกิจกรรมอันดับต้น ๆ

ส่วนการออกกำลังกายนั้น ในระยะสั้นมันไม่ส่งผลอะไร คือไม่ออกกำลังกาย ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร เราจึงจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมนี้ไว้ท้าย ๆ และสุดท้าย กิจกรรมเหล่านี้ ก็จะถูกผัดไปวันอื่น ๆ แทน จนมีคำกล่าวว่า วันที่คนเราออกกำลังกายมากที่สุดคือ “วันพรุ่งนี้”

แต่ถ้าเราลองคิดดูดี ๆ ผมเชื่อว่าทุกท่านก็ทราบว่า การออกกำลังกายสำคัญกับเราขนาดไหนในระยะยาว ดังนั้น ถ้าเราเปลี่ยนการวัด “ความสำคัญ” ใหม่ โดยเอาผลลัพธ์ระยะยาวมาคิดด้วย คราวนี้ เราจะต้องพยายามหา “เวลา” มาออกกำลังกายจนได้แหละ

เช่น สมมุติว่า ถ้าท่านออกกำลังกายทุกวันเป็นระยะเวลา 5 ปี ผมรับประกันว่าคุณจะมีเงิน 100 ล้าน หลังจาก 5 ปีนั้น คราวนี้ ถ้าผมถามว่า เราจะออกกำลังกายไหม ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะหาเวลาออกกำลังกายจนได้แหละ เชื่อไหมครับ

แต่คราวนี้ เราจะเอาอะไรมาจูงใจล่ะ เพราะในชีวิตจริง คงไม่มีคนเอาเงินมาให้เรา 100 ล้านบาท เพื่อให้เราออกกำลังกายหรอกจริงไหม คำตอบคือใช่ครับ ดังนั้นตัวเรานี่แหละที่ต้องตั้งเป้าหมายระยะยาวไว้ ลองนึกถึงเรื่องสุขภาพเราก็ได้ครับว่า มันสำคัญขนาดไหน ในระยะยาว ถ้ามันเกิดเจ็บป่วย บางทีจะมาออกกำลังกายตอนนั้นมันก็ไม่ทันแล้ว

อีกเทคนิคหนึ่งคือ อะไรที่มี Deadline เราจะทำสำเร็จเสมอ ดังนั้น กิจกรรมที่มันส่งผลในระยะยาว เราควรจะตั้ง Deadline เอาไว้ในปฏิทินเราเลย เหมือนเราตั้งเวลาไว้ เวลาเราจะมีประชุม มีนัดพบเพื่อนนั่นแหละครับ คราวนี้เขียนไว้เลยครับว่า เวลานี้ ถึง เวลานี้ เราจะออกกำลังกาย ใส่เข้าไปเลย

ผมใช้เทคนิคนี้กับการทำงานเหมือนกันครับ จากอาชีพผม ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมพบว่า อาจารย์ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีผลงานวิจัย เพราะ “ไม่มีเวลา” ถ้าถามท่านเหล่านั้น ท่านจะบอกว่า แหม ก็สอนเยอะซะขนาดนี้ จะเอาเวลาที่ไหนมาทำวิจัย

ผมมานั่งคิดดู ก็พบว่า สิ่งนี้เกิดขึ้น เพราะเวลาสอนมันถูกกำหนดไว้ชัดเจนไงครับ เช่น 9 โมงถึงเที่ยง ต้องสอนวิชานี้นะ ดังนั้น ถึงเวลา 9 โมงเช้า เราเบื่ออย่างไร เหนื่อยขนาดไหน เราก็ยังคงต้องไปสอนจริงไหมครับ แต่เราไม่เคยมี Deadline ประเภทที่ว่า บ่ายโมง ถึง 4 โมงเย็น เราจะทำวิจัยนะ พอมันไม่มีการกำหนดเวลาไว้ ผลสุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำ

ผมมักจะแนะนำอาจารย์รุ่นน้อง ๆ ว่า ถ้าอยากทำวิจัย ให้ขอทุนวิจัยเลย อย่าคิดว่า ทำไปก่อนดีกว่า มีเวลาค่อยทำ เพราะการขอทุนวิจัยมันมี Deadline ชัดเจน พอเราขอเสร็จแล้ว ยังไง เราจะหาทางทำให้เสร็จจนได้ ส่วนตัวผมก็ทำอย่างนี้แหละครับ และสุดท้าย มันก็เสร็จทุกที

เอาเป็นว่า ทุกครั้งที่เรากำลังจะใช้คำว่า “ไม่มีเวลา” ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “สิ่งนั้นมันไม่สำคัญ” ดู แล้วท่านจะเห็นเองแหละครับ เช่น พอเราจะบอกว่า “ไม่มีเวลาออกกำลังกาย” ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “ออกกำลังกายไม่สำคัญ” แค่นี้ก็จะช่วยเปลี่ยนมุมมองท่านได้พอสมควรแล้ว

ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้กันนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

7 เทคนิคการจัดการเวลา

ระยะหลังมีหลายท่านถามผมว่า ผมมีเทคนิคการจัดการเวลาอย่างไร ทำไมถึงมีเวลาทำโน่นนี่นั่นเยอะไปหมด ทั้งงานสอน งานวิจัย งานบริหาร เขียนหนังสือปีละหลายเล่ม อ่านหนังสือได้อีกเยอะแยะ แถมมีเวลาให้กับครอบครัวอีก

เลยเป็นที่มาของงานเขียนชิ้นนี้ครับ เผื่อผู้อ่านจะได้ประโยชน์ด้วยนะครับ

ก่อนอื่นเลย เทคนิคเหล่านี้ ผมก็ได้จากการอ่านหนังสือ และการพูดคุยกับคนที่จัดการเวลาเก่ง ๆ แล้วเราก็เอามาปรับใช้ครับ เริ่มเลยแล้วกันนะครับ

1. ต้องเลือกงานที่จะทำ

คืองี้ครับ ทุกคนจริง ๆ แล้ว มีเวลาเท่ากันหมด คือ 24 ชั่วโมงต่อวัน เพียงแต่เราเอาเวลาเหล่านั้นไปใช้ทำอะไรมากกว่า และก็เป็นปกติครับที่เรามักจะมี “อะไรที่ต้องทำ” มากกว่าเวลาที่เรามีอยู่

คราวนี้ การที่เราจะทำงานให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดี เราต้อง “เลือก” ก่อนครับ คือ ถ้าเราทำมันสะเปะสะปะไปหมด สุดท้าย อาจจะทำอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง แถมแต่ละอย่าง คุณภาพมันก็ไม่ดี

ดังนั้น เราต้องเลือกก่อนครับว่า เราควรทำอะไร มันเหมือนเป็นขั้นของการ “กรอง” งานที่ควรทำ คราวนี้ หลายท่านอาจจะสงสัยต่อว่า แล้วเอา Criteria อะไรในการเลือก ตอบง่าย ๆ เลยครับ คือ ผมเอาเป้าหมายในชีวิต ที่ผมตั้งไว้ เป็นตัวกรองครับ เช่น ผมหวังว่าจะเป็นศาสตราจารย์ ดังนั้นถ้างานอะไรที่มีส่วนช่วยให้ผมเป็นศาสตราจารย์ เช่นงานวิจัย ผมจะเลือกงานเหล่านั้นเข้ามาทำก่อนงานอื่น ๆ เช่น เล่น Facebook 555 ทำแบบนี้แล้ว รับประกันว่า งานเราจะเริ่มน้อยลงครับ

2. จัดลำดับความสำคัญ

หลายคนก็อาจจะบอกว่า เอาล่ะ เลือกมาแล้ว แต่งานมันก็ยังเยอะกว่าเวลาอยู่ดี ทำไงดี

คราวนี้ พอเลือกมาแล้ว เราต้องนำมาจัดลำดับความสำคัญครับ อะไรสำคัญมาก ทำก่อน สำคัญน้อย ทำทีหลัง เคยได้ยินกฎของ Pareto กันมาบ้างใช่ไหมครับ ที่เราเรียกกันว่า กฎ 80-20 น่ะครับ คือ 20% ของงานที่มี มันส่งผลกระทบถึง 80% ของผลลัพธ์ที่เราต้องการเลยครับ ดังนั้นลองดูดี ๆ ครับว่างานไหนมันส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์มากที่สุด ให้ทำงานนั้นก่อนครับ และนี่จะเป็นวิธีทำงานให้ได้ผลลัพธ์มาก โดยใช้เวลาน้อย เลยนะครับ

3. เลือกเวลาในการทำงาน

เอาล่ะครับ คราวนี้ เรามี List ของงานที่ต้องทำ ผ่านการกรองมาแล้ว และจัดลำดับความสำคัญมาแล้ว อีกเทคนิคหนึ่งที่ผมมักจะใช้ คือ เลือกเวลาในการทำงาน ครับ

สำหรับผม (และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเหมือนกัน) เวลาที่สมองเราโปร่งโล่งสบายมากที่สุด คือช่วงเช้าใช่ไหมครับ (แต่มีข้อแม้คืออย่านอนดึกมากนะครับ) เพราะฉะนั้น งานที่ควรเลือกทำในช่วงเช้า ควรเป็นงานที่ยาก และมีความซับซ้อนครับ เพราะเรายังมี Willpower (คล้าย ๆ พลังสมอง) ในการทำ ทำแบบนี้ มันจะใช้เวลาแป๊บเดียว ในการทำงานยาก ๆ นั้นเสร็จ

เช่น ผมมักจะเลือกอ่านบทความวิจัยภาษาอังกฤษในช่วงเช้ามากกว่า เพราะมันใช้เวลาอ่านแป๊บเดียว มีสมาธิ แต่ถ้าเอาไปอ่านช่วงเย็น ๆ หลังจากสอนมาแล้ว มันหมดแรงครับ คราวนี้ พออ่านมันก็เข้าหัวยาก ใช้เวลานานเป็นต้น

ตอนเช้า สิ่งที่ผมมักจะหลีกเลี่ยง คือการเช็ค Email หรือเล่น Facebook หรือ Line ครับ (แต่บางทีก็อดไม่ได้เหมือนกัน 555) หลายท่านบอกว่า เอ ก็เห็นผม post ใน Page ทุกเช้าไม่ใช่เหรอ จริง ๆ คือตั้งเวลา Post ไว้น่ะครับ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ เราไม่ต้องใช้ Willpower เท่าไรเลย พูดง่าย ๆ คือผมเสียดายพลังสมองในช่วงเช้าน่ะครับ พวกนี้ เอาไว้ตอนเราเหนื่อย ๆ ก็ค่อยเข้ามาอ่านได้ ถือเป็นการผ่อนคลายซะด้วยซ้ำไป

4. ใช้ “เวลาว่าง” ให้เกิดประโยชน์

คืองี้ครับ ผมว่าแต่ละคน ในแต่ละวัน มักจะเจอเวลาที่เราเสียไปเฉย ๆ เช่น นั่งอยู่ในรถขณะรถติด หรือไปเข้าแถวรอในธนาคาร หรืออื่น ๆ ใช่ไหมครับ

ตรงนี้แหละครับ ที่เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผมจะแนะนำ คือ พยายามอย่าให้เรา “ว่าง” แบบนั้น เพราะเวลาเหล่านั้น เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล

อย่างผม ผมจะมีหนังสือติดตัวไว้ตลอดเวลา เช่น เวลาผมต้องไปรอรับลูก ผมทราบครับว่า บางทีลูกก็อาจจะเลิกเย็น เพราะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องทำ แทนที่ผมจะนั่งรอเฉย ๆ หรือนั่งเล่น Social Media ไปเรื่อย ๆ ผมก็จะติดหนังสือมาอ่าน และนี่แหละครับ ที่ทำให้ผมอ่านหนังสือได้เยอะ

หรือแม้กระทั่ง เวลาผมขับรถ แล้วรถติด ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนในกรุงเทพ ผมอ่านหนังสือในรถอยู่บ่อย ๆ (ถ้ามันติดนิ่ง ๆ เลยนะครับ) หรือไม่ก็ฟังหนังสือเสียง ในกรณีที่รถมันเลื่อนไปเรื่อย ๆ

เชื่อไหมครับ หนังสือหลายเล่มที่ผม อ่านจบ ก็อ่านในรถนี่แหละครับ ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ แม้กระทั่งเวลาที่ผมวิ่งออกกำลังกาย ผมก็ใส่หูฟังฟังหนังสือเสียงไปด้วย อันนี้ได้ 2 เด้งเลยครับ สุขภาพก็ได้จากการออกกำลังกาย ความรู้ก็ได้จากการฟังหนังสือเสียง แถมเวลาวิ่งแล้วฟังหนังสือเสียงไปด้วย มันเพลินอีกต่างหาก (ใครสนใจอยากรู้ว่าผมหาเวลาอ่านหนังสือได้อย่างไร ลองตามไปอ่านบทความนี้ได้ครับ 10 วิธีหาเวลาอ่านหนังสือ)

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องอ่านหนังสือเหมือนกับผมนะครับ ประเด็นคือ ลองมองว่า เวลาที่เราต้องเสียไปเปล่า ๆ แบบการรอคอยนั้น เราเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้างที่มันเป็นประโยชน์น่ะครับ

5. เลือกวิธีที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมาย โดยใช้เวลาน้อยที่สุด

เทคนิคนี้ เราต้องทราบเป้าหมายก่อนครับว่าเราต้องการอะไร แล้วลองดูว่ามีวิธีไหนที่ทำให้เราได้สิ่งที่ต้องการ โดยใช้เวลาน้อยที่สุด ยกตัวอย่างครับ เช่น ผมเป็นคนชอบเขียนหนังสือมาก ดังนั้นเพื่อจะได้พัฒนาฝีมือการเขียน ผมก็อยากจะเข้า course เรียนการเขียน

แต่ถ้าผมจะต้องไปสมัคร course เรียน แล้วต้องเดินทางไปเรียนในเมือง ซึ่งรถก็ติด ผมมาคิดดูแล้ว มันใช้เวลาเราไม่ใช่น้อย แค่ขับรถไปกลับ วันหนึ่งก็เกือบ 4 ชั่วโมงละ แล้ว ถ้า course มันหลายวัน มันก็อาจจะเสียเวลาไปพอสมควร ในกรณีนี้ เผอิญผู้สอนเข้ามี course online ให้เลือกเรียนได้ด้วย ผมจึงลงเรียน course online ซึ่งความเห็นผม คือคุณภาพแทบไม่ต่างจากการไปเรียนกับเจ้าตัวเลย แต่เราไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลา แถมเรียนในเวลาที่เราสะดวกได้อีกด้วย

ลองนำวิธีนี้ไปใช้ดูนะครับ ถ้ามีทางเลือก ที่ทำให้ได้ผลลัพธ์เท่ากัน เลือกทางเลือกที่ใช้เวลาเราน้อยที่สุดครับ

6. แบ่งงานให้คนอื่นทำ

ข้อนี้หลายคนไม่ค่อยได้คิดครับ เพราะคิดว่างานทั้งหมดเป็นงาน “ของเรา”

ใช่ครับ มันเป็นงานที่เราต้องทำให้เสร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องเป็นคนทำคนเดียวนี่ครับ

ผมเชื่อว่า เราไม่ได้เก่งในทุกเรื่อง ดังนั้นเรื่องที่เราไม่เก่ง ไม่ถนัด เราไปให้คนที่เขาเก่ง เขาถนัด ทำดีกว่าครับ แล้วเอาเวลาที่เรามีไป Focus กับงานที่เราเก่งเราถนัดดีกว่า

มีคนเคยถามผมว่า เขียนหนังสือยังไง ได้ผลงานมาเรื่อย ๆ เลย ผมตอบแบบนี้ครับ คือส่วนหนึ่งมันเกิดจากความชอบของผมด้วย เลยไม่ได้รู้สึกว่าการเขียนหนังสือเป็น “งาน” แต่อีกส่วนก็คือ ผมเน้นในกระบวนการ “เขียน” ครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมถนัด พวกงานออกแบบปก งาน Graphic Design จะให้ไปเรียนรู้ ไปทำ ก็คงพอถูไถไปได้ แต่ผมไม่ทำครับ เพราะ ผมเชื่อว่ามีคนเก่งกว่าผม ทำงานพวกนี้ได้ดีกว่าผม

ดังนั้นผมจึงยอมจ้างเขาเหล่านั้น มาทำงานแบบนี้ให้ผมจะดีกว่าครับ เวลาที่ผมมี จึงสามารถนำไป Focus ในสิ่งที่ผมชอบและถนัดมากกว่า

7. รู้จักปฏิเสธ

ผมว่าในบรรดา 6 ข้อ ข้อนี้ยากที่สุดครับ คือสุดท้าย พอเราเก่ง มีความสามารถ ก็เป็นเรื่องปกติ ที่จะมีผู้คนเอางานมาให้เราทำ เรียกว่า มันจะเริ่มมี “โอกาส” เข้ามาในชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจริง ๆ เป็นสิ่งที่ดีนะครับ

แต่ถ้ามาถึงจุดหนึ่ง “โอกาส” เหล่านี้มันเริ่มหลั่งไหลเข้ามาเยอะ ๆ เข้า มันก็มักจะมาเบียดเบียนเวลาที่มีน้อยอยู่แล้วของเรา ให้มันน้อยลงไปอีก

ดังนั้นถ้าเราไม่รู้จักปฏิเสธ ใครให้ทำอะไร ทำมันหมด (เหมือนชีวิตผมในบางครั้งเลย 555) สุดท้าย เราจะไปทำงานอื่น ๆ ที่มันไม่ค่อยเกี่ยวกับเป้าหมายในชีวิตเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ ดังนั้น บางที เราอาจจะต้องเลือกทำบางอย่าง และปฏิเสธงานบางอย่างไป

ผมเข้าใจครับว่า บางงานมันก็ปฏิเสธยาก เพราะเราอาจจะเกรงใจคนที่ขอให้ทำ แต่ลองคิดแบบนี้ครับ ถ้าเรารับทำ แต่เราไม่มีเวลา ผลงานก็อาจจะไม่ดีพอ แล้วผลเสียก็จะเกิดกับคนที่ขอให้เราทำงานนั้นเองนะครับ

อย่างผม เวลามีคนมาเชิญบรรยาย แต่เป็นหัวข้อที่ไม่ได้อยู่ในความเชี่ยวชาญผม คือจริง ๆ ก็พอจะบรรยายได้แหละครับ แต่ต้องใช้เวลาเตรียมตัวมากทีเดียว แบบนี้ผมมักจะปฏิเสธไป ด้วยเหตุผลว่า ผมไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และผมถือว่าเป็น Win-Win นะครับ คือผมก็ไม่ต้องเสียเวลาไปเตรียมตัวในเรื่องที่ผมไม่ค่อยสนใจ และคนที่อยากให้ผมไปบรรยาย เขาจะได้เชิญคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง ที่จะให้ความรู้ได้ดีกว่าผมอีก

นี่แหละครับ เป็นเทคนิคการจัดการเวลาที่ผมใช้อยู่เป็นประจำ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

เวลากับเงิน อะไรสำคัญกว่ากัน

ผมว่าคำถามนี้สำคัญนะครับ

คือถ้าถามคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ก็มักจะตอบว่า “เงิน” สิที่สำคัญกว่า “เวลา” เพราะเงินเป็นที่มาของความสุข เช่น มีเงินก็เอาไปซื้ออาหารอร่อย ๆ กิน เอาไปท่องเที่ยว เอาไปซื้อของได้อีกจิปาถะ มีเวลา จะเอาไปทำอะไรได้

ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ เขาก็จะเปลี่ยน “เวลา” ที่เขามี ให้เป็น “เงิน” ก็อย่างที่เราไปทำงานกันทุกวันนี่แหละ ส่วนใหญ่แล้ว ก็ทำเพื่อให้ได้เงินมา ใช่ไหมครับ ลองบริษัทบอกว่า ต่อไปนี้ จะไม่จ่ายเงินแล้วนะ ผมว่าส่วนใหญ่ก็จะลาออกไปหางานที่อื่นทำกันใหม่

แต่ถ้าท่านอ่านหนังสือแนวพัฒนาตนเอง เขาก็จะบอกว่า คน “รวย” ส่วนใหญ่ จะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ “เวลา” มากกว่า “เงิน” เพราะเวลามันมีจำกัด หมดแล้ว หมดเลย ส่วนเงิน ถ้าหายไป ก็หากลับคืนขึ้นมาใหม่ได้ไม่จำกัด

ดังนั้นคนรวยจึงให้ความสำคัญกับเวลามากกว่า เขาจะจ้างให้คนส่วนใหญ่ทำงานแทนเขา เพื่อที่เขาจะได้มีเวลามากขึ้นไปทำในสิ่งที่เขาชอบและถนัดมากกว่า เพราะเขารู้ว่า เงินที่เขาใช้จ้างให้คนอื่นทำนั้น เดี๋ยวมันก็จะกลับมาหาเขา จากการที่เขาได้ทำงานที่เขาชอบและถนัดนั่นเอง

อ้าว แล้ว สรุปว่าอันไหนดีกว่ากันล่ะครับ

ความเห็นผมนะครับ ผมว่า ทั้ง 2 สิ่งนี้ มันมีความสำคัญทั้งคู่ครับ คืองี้ครับ มันขึ้นอยู่กับว่า ตอนนี้เรากำลังขาดอะไรมากกว่ากันเท่านั้น เรามักจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราขาดอยู่ จริงไหมครับ

เช่น ตอนนี้เรายังมีฐานะจนหรือปานกลาง เงินก็ไม่ค่อยมี แต่มีเวลาไปโน่นมานี่ สบาย ๆ ถ้าถามว่าตอนนี้เราอยากได้อะไร ส่วนใหญ่เราก็จะตอบว่า อยากได้ เงิน น่ะสิ จะได้รวย ๆ

เพราะอะไรรู้ไหมครับ ก็เพราะเรายังไม่มีเงินไง เรามีแต่เวลา เราจึงพยายามที่จะสร้างธุรกิจ รับทำงานเสริม หรือหางานที่ได้รายได้สูง ๆ โดยไม่ค่อยสนใจว่า มันจะทำให้เวลาเราหายไปแค่ไหน

แต่ถ้าเป็นคนรวยมาก ๆ เงินมีเหลือเฟือ แต่สิ่งที่เขาขาดไปคือ “เวลา” เพราะเขาต้องไปประชุม ไปเป็นประธานงาน
ต่าง ๆ เดินทางไปต่างจังหวัด ต่างประเทศเป็นว่าเล่น คนเหล่านี้ จึงโหยหา “เวลา” ไงครับ เพราะเงินเขามีเยอะพอแล้ว แต่ที่เขาขาดก็คือเวลานั่นเอง

ความเห็นของผมก็คือ เราต้องพยายาม Balance ในส่วนนี้ครับ เพราะถ้าเราเอียงไปทาง “เวลา” มาก ๆ เราก็จะเป็นคนที่วัน ๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อันจะทำให้เราอาจจะลำบากกาย ลำบากใจได้ภายหลัง แต่ถ้าเราเน้น “เงิน” มาก ๆ เวลามันก็หายไป

ข้อดีของเงิน คือ มันสร้างเก็บไว้ใช้ภายหลังได้ แต่ เวลา เราเก็บมันไว้ไม่ได้ แต่ข้อดีของเวลา คือมันมีมาให้เราตลอด ตื่นเช้าจนจบวัน เราก็มี 24 ชั่วโมง พรุ่งนี้ ก็มีมาใหม่อีก 24 ชั่วโมง แบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่เงิน ถ้าไม่หา มันไม่มาหาเราเองนะครับ

คิดให้ดีนะครับ เวลาเราจะเปลี่ยน “เวลา” ไปเป็น “เงิน” ว่ามันคุ้มไหม เช่น เราจะรับทำงานนี้ เราได้เงินเท่าไร และเราต้องเสียเวลาอันมีค่าเราไปเท่าไร

ในทางกลับกัน เราก็ต้องคิดให้ดีอีกเช่นกัน เวลาเราจะเปลี่ยน “เงิน” ไปเป็น “เวลา” เช่น เราจะไม่ทำงานนี้แล้ว เราจะได้เวลากลับคืนมา แต่เราก็คงต้องยอมเสีย “เงิน” ที่จะได้ในส่วนนั้นไป หรือ เราจะขึ้นเครื่องบินไป แทนที่จะขึ้นรถบัสไป อันนี้เราจะมีเวลาเพิ่มขึ้น เอาไปทำสิ่งอื่นนอกจากการเดินทาง แต่อย่าลืมว่า เราก็อาจจะต้องจ่ายแพงกว่า (เอ จะใช่หรือเปล่านะ เดี๋ยวนี้ Low Cost Airline มันก็ถูกมาก ๆ 555)

แต่จะดีที่สุดเลย ถ้าเราได้ทั้ง “เวลา” ได้ทั้ง “เงิน” ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งถ้าใครเจอ ก็ถือว่าสุดยอดเลย จริงไหมครับ และผมเชื่อว่ามันมีอยู่จริงด้วย เพียงแต่เราตั้งใจจะหามันหรือเปล่าก็เท่านั้นเองครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho