เรียน MBA ดีไหม

ผมว่า คำถามนี้ เป็นคำถามที่คนที่เรียนจบปริญญาตรี มักจะถามกัน ถ้าเป็นแต่ก่อนก็อาจจะถามว่า เราจะเรียนต่ออะไรดี เพราะต้องยอมรับว่า สมัยก่อน เรื่องวุฒิเป็นสิ่งที่สำคัญ คือ หลายคนก็อยากจะจบปริญญาโท เพราะมันมีโอกาสก้าวหน้าทางการงานมากกว่า

แต่พอมาสมัยนี้ ความคิดเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มมีคนบอกกันมากขึ้นว่า จะไปเรียนทำไม เรียนเองก็ได้ เร็วกว่า และตรงประเด็นกว่าด้วย แถมอาจจะไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองมากมาย

Master of Business Administration หรือ MBA ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สอนด้านการบริหาร นับเป็นหลักสูตรหนึ่งที่คนจำนวนมากสนใจ เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ คือ 1) ไม่ว่าจะจบอะไรมาในระดับปริญญาตรีก็เรียน MBA ได้ทั้งสิ้น และ 2) ไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหน ณ จุดหนึ่ง ก็จำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารทั้งสิ้น

กลับมาที่คำถามข้างต้น คือ “เรียน MBA ดีไหม” คำถามนี้บอกตรง ๆ ว่าตอบยาก มันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน แต่ในฐานะที่เป็นคนที่เคยเรียน MBA และยังเป็นอาจารย์ที่สอนหลักสูตร MBA มาตลอด ขอตอบคำถามนี้แบบนี้แล้วกันครับ

1. เรามีวินัยในการเรียนพอไหม

ผมทราบครับว่า เดี๋ยวนี้ การเรียน Online มันทำได้ง่าย และมีเนื้อหาดี ๆ ไม่แพ้กับการเรียนในห้องเรียน ในหลักสูตร MBA เลย เพียงแต่ว่า สิ่งที่ท้าทายอย่างมากคือ ตัวเราเองนั่นแหละครับ ว่า เราจะมีวินัยในการเรียนแค่ไหน

เอาแค่ผมเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ ผมชอบเรียน Online นะครับ แต่มีบาง Course เรียนมา 6 เดือนแล้ว ก็ยังไม่จบ ทั้ง ๆ ที่ถ้ามันเป็น Class เรียน ผมว่า 2 สัปดาห์ก็จบ

มันขึ้นอยู่กับวินัยส่วนบุคคลครับ การเรียน Online ไม่มีใครบังคับให้เราเรียน ข้อดีที่หลาย ๆ คนบอกว่า เรียนตอนไหนก็ได้นี่แหละครับ จะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง ทำให้เราไม่ได้เรียนสักที

เรียน MBA มันมี class กำหนดไว้ชัดเจน มีงานต้องส่ง มีข้อสอบที่ต้องผ่าน อันนี้แหละครับ จะช่วยให้เรามาเรียนและตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ ก็ต้องบอกว่า ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละท่านแล้วล่ะครับ ถ้าท่านบอกว่า ผมเรียนได้เอง มีวินัยสูง MBA อาจจะไม่จำเป็นสำหรับท่านก็ได้

2. เราเลือกวิชาเรียนเองได้ไหม

การเรียน Online มันมีความยากอันหนึ่งคือ มันมีเยอะแยะมากมาย จนบางครั้ง เราอาจจะเลือกไม่ถูกว่า สำหรับคนที่จะเป็น ผู้บริหาร ควรรู้เรื่องไหนบ้าง นอกจากนั้นความยากก็ยังอยู่อีกว่า แล้ว เราควรเรียนเรื่องไหนก่อนหลัง

หลักสูตร MBA ส่วนใหญ่แล้ว จะถูกวางแผนกันมาอย่างดีว่าเรื่องไหน ควรเรียน เรื่องไหน ยังไม่จำเป็นมากนัก วิชาไหน ควรเป็นวิชาบังคับ วิชาไหน ควรเป็นวิชาเลือก ถามว่า มันดี 100% เลยไหม ก็อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่กว่าจะเป็นหลักสูตรมาได้ มันผ่านการอภิปรายกับ ผู้ประกอบการ นายจ้าง คนเรียน รวมถึงคณาจารย์มาหลายรอบมาก ๆ

แต่ถ้าท่านคิดว่า ไม่หรอก เรารู้ตัวเองว่า อะไรควรเรียน อะไรไม่ต้องเรียน MBA ก็อาจจะไม่จำเป็นสำหรับท่าน

3. ถ้าเรียนแล้วไม่เข้าใจ ท่านมีคนให้ถามไหม

ข้อจำกัดอันหนึ่งของการเรียน Online คือ เรียนแล้ว เกิดไม่เข้าใจขึ้นมาจะทำอย่างไร ใช่ครับ หลาย ๆ ครั้งการเรียน Online มันก็มี Forum ให้เข้าไปถามตอบได้ แต่บางครั้ง คนตอบก็ตอบมาสั้น ๆ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่ทำให้เราเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ การเรียน MBA ในชั้นเรียน มีข้อได้เปรียบเรื่องนี้อย่างมาก เพราะถ้าไม่เข้าใจ ผู้เรียนสามารถถามอาจารย์ได้ทันที หรือ ไม่ก็ถามเพื่อนร่วมชั้นก็ยังได้

แต่ถ้าท่านคิดว่า ไม่หรอก เราเรียนแล้วเราน่าจะเข้าใจหมด หรือไม่เป็นไร เรามีคนให้ถาม สะดวกมาก อันนั้น เรียนเองก็อาจจะได้ครับ

4. Connection จำเป็นไหม

การเรียนเองส่วนใหญ่ มักจะเป็นการเรียนเพียงคนเดียว ดังนั้นสิ่งที่อาจจะหายไปคือ Connection คือเรามักจะไม่ค่อยไปรู้จักกับคนอื่น ต่างจากการเรียนในชั้นเรียน โดยเฉพาะในหลักสูตร MBA ที่เราจะเจอคนที่หลากหลายมาก เราจบวิศว ฯ มา ก็จะเจอเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่จบบัญชี จบหมอ จบสถาปัตย์ ฯ การที่เราได้รู้จักกับคนหลากหลายวงการนี้ จะมีประโยชน์อย่างมากในการทำงานของเราต่อไปในอนาคต ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ประกอบการ หรือ เป็นผู้บริหารในองค์กรก็ตาม

แต่ถ้าท่านคิดว่าวิชาชีพที่ท่านทำ ไม่จำเป็นต้องรู้จักคนเหล่านี้ หรือท่านมีช่องทางอื่น ๆ ที่จะสร้าง Connection เหล่านี้ได้อยู่แล้ว MBA ก็อาจจะไม่จำเป็นเช่นกัน

5. ท่านสามารถได้เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริงได้มากแค่ไหน

การเรียน Online นั้น ส่วนใหญ่ มักจะเป็นการเรียนจากผู้สอนเพียงคนเดียวใน Course นั้น ๆ (หรือก็ไม่เยอะ) ดังนั้นโอกาสที่เราจะได้ไปเจอกับผู้บริหารองค์กรใหญ่ ๆ หรือผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก ถึงแม้จะมีอยู่บ้าง แต่มันก็ผ่าน VDO clip ต่างจากการเรียน MBA (อันนี้ต้องบอกว่าในบางที่นะครับ ท่านต้องเลือกหลักสูตรที่เรียนด้วย) ท่านจะได้เจอกับคนที่เป็น CEO ระดับที่ว่า ถ้าเราไปนัดเจอเอง เพื่อจะไปขอเรียนรู้จากประสบการณ์จากท่านเหล่านั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่การเรียน MBA หลายครั้ง อาจารย์ผู้สอนก็มี Connection กับผู้บริหารเหล่านั้น จึงเรียนเชิญท่านมาให้ความรู้ในชั้นเรียนได้

แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มี Connection อยู่แล้ว สามารถนัดผู้บริหารระดับสูงในองค์กร เพื่อไปขอความรู้ได้ MBA ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ท่านในเรื่องนี้

6. ปริญญาบัตรสำคัญสำหรับความก้าวหน้าของท่านมากน้อยแค่ไหน

ใช่ครับ ตอนนี้เรามาอยู่ในยุคที่ใคร ๆ ก็บอกว่า ปริญญาบัตรไม่สำคัญ แต่ในชีวิตจริง มันเป็นแบบนั้น 100% แล้วหรือยัง สมมุติว่าท่านสัมภาษณ์คน ๆ หนึ่ง คนแรกบอกว่าจบ MBA จาก Harvard คนที่สองบอกว่า เรียนเองจาก Youtube นอกเหนือจากนั้น ดูเหมือนกับว่า ท่านไม่ได้เห็นความแตกต่างชัดเจน (ก็คงเห็นยาก เพราะสัมภาษณ์ก็ใช้เวลาไม่นาน) แบบนี้ ท่านคิดว่า คนที่มี MBA จาก Harvard จะยังคงได้เปรียบไหม อันนี้ไม่มีผิดมีถูกครับ แต่ผมเชื่อว่าไม่มากก็น้อย ปริญญาบัตรมันก็ยังคงส่งผลอยู่ระดับหนึ่งทีเดียว

แต่ถ้าท่านบอกว่า ปริญญาบัตรมันไม่เกี่ยวกับผมหรอก ผมไม่ได้ใช้ทำอะไร การเรียน MBA ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ท่านเช่นกัน

ดูเหมือนว่าผม ซึ่งเป็นอาจารย์สอนในหลักสูตรนี้ อาจจะมีความลำเอียงในการเขียนบทความนี้ออกไปทางว่า เรียน MBA กันเถอะ แต่ผมหมายถึงอย่างนั้นจริง ๆ นะครับ ท่านลองตอบคำถามข้างต้นดูดี ๆ ครับ บางที MBA อาจจะไม่ได้เป็นคำตอบสำหรับทุกคนนะครับ

สุดท้ายก่อนจบ ที่ผมอยากให้ท่านคิดดี ๆ เพราะการเรียน MBA ให้ประสบความสำเร็จนั้น ท่านต้องมีความพร้อม ทั้งในเรื่องของเวลา ผมรับรองได้ว่า มันใช้เวลาเยอะแน่ ๆ แล้วเรื่องค่าใช้จ่ายอีกต่างหาก สุดท้ายมันก็คือการวิเคราะห์ว่ามัน “คุ้ม” หรือไม่ ในฐานะอาจารย์ผู้สอน MBA ผมอยากให้เฉพาะคนที่คิดว่ามันจะได้ประโยชน์จริง ๆ กับเขามาเรียน ถ้าเป็นแบบนั้นมันจะดีทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าคนที่คิดว่าไม่ใช่ แต่เข้ามาเรียน ผมว่ามันไม่มีอะไรดีเลยครับ

เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจเรียน MBA และสนใจธรรมศาสตร์ด้วย เราอาจจะได้เจอกันครับ 🙂

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

ไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ถ้า…

ระยะหลัง หลาย ๆ ท่านอาจจะได้ยินข่าว ทำนองว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งอาจจะต้องปิดตัว หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะถูก Lay off แถมข่าวที่ว่าบริษัทชั้นนำของโลกหลาย ๆ บริษัท เช่น Google หรือ Apple ก็บอกว่า ไม่สนใจว่าผู้สมัครจะเรียนจบมหาวิทยาลัยหรือไม่

ก็เลยทำให้หลาย ๆ คนเริ่มที่จะไขว้เขวว่า เอ แล้วเราจะเรียนมหาวิทยาลัยดีไหม หรือเรียนไปทำไม

ต้องขอบอกก่อนเลยนะครับว่า ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมไม่ได้เขียนบทความนี้มาบอกว่า มหาวิทยาลัยไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ผมยังเชื่อว่า มันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้น และถ้ามหาวิทยาลัยไม่เปลี่ยนด้วยตัวเอง ก็อาจจะต้องถูกบังคับให้เปลี่ยน

ผมยังเชื่อว่าเราจะได้เห็นการปิดตัว การควบรวมมหาวิทยาลัย การปิดหลักสูตร หรือแม้กระทั่งการ Layoff อาจารย์ให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่บทความนี้เขียนขึ้นมาสำหรับผู้เรียนที่อาจจะอ่านข่าวตามกระแสต่าง ๆ แล้วเริ่มรู้สึกว่า เอ งั้นเราคงไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยแล้วล่ะมั้ง

ผมเลยขอสรุปในความคิดของผมสั้น ๆ ว่า เราไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ถ้า…

1. ถ้าองค์กรที่เราอยากทำงานไม่สนใจเรื่องปริญญาบัตรหรือ Transcript จริง ๆ

ใช่ครับ ถึงแม้ว่า หลายองค์กรก็เริ่มบอกว่า เขาไม่สนใจว่าคุณจะจบปริญญาตรีมาหรือไม่ เขารับหมด แต่ถามว่าตอนนี้ทุกองค์กรเป็นแบบนี้ไหม ก็ต้องตอบว่ายัง ในอนาคต ก็อาจจะไม่แน่ครับ เขาอาจจะไม่สนกันหมดก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ความจำเป็นในการเรียนมหาวิทยาลัยก็อาจจะน้อยลง แต่ตอนนี้ต้องบอกว่า องค์กรส่วนใหญ่ยังมีข้อกำหนดว่าต้องเรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท กันอยู่นะครับ แล้วเราจะเสี่ยงที่จะไม่เรียน แล้วไปลุ้นเอาว่า เมื่อไร เขาจะรับคนที่เรียนไม่จบหรือเปล่า ผมว่ามันเสี่ยงไปนะครับ

2. ถ้าเราสามารถไปประกอบวิชาชีพที่เรารักได้

หลายวิชาชีพในปัจจุบัน ถ้าเราไม่ได้เรียนผ่านหลักสูตรที่ได้รับการรับรองในมหาวิทยาลัย เรายังไม่สามารถไปประกอบวิชาชีพได้นะครับ ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ ถึงแม้ว่า ถ้าเราสมมุติว่าเราเรียนเองได้ หรือมีหมอบางท่านมาสอนเรา (ซึ่งก็คงยาก) ถึงเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ถามว่า แล้วเราไปเปิดคลินิกรักษาคนได้เลยไหม คำตอบคือยังไม่ได้นะครับ มันผิดกฎหมาย ในอนาคตไม่รู้ครับ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ อาชีพผู้ตรวจสอบบัญชี วิศวกรที่ต้องมีใบอนุญาตในการเซ็นอนุมัติ พวกนี้ยังถูกควบคุมอยู่ ถึงเราจะเรียนเองได้ แต่เราก็ออกไปทำงานไม่ได้อยู่ดี จนกว่ากฎระเบียบเหล่านั้นจะถูกยกเลิก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร แล้วเราจะยอมเสี่ยงหรือครับ

3. ถ้าเรามีวินัยในตัวเองที่ดีเพียงพอ

การเรียนในมหาวิทยาลัย มันคล้าย ๆ กับบังคับให้เราต้องเรียนรู้ครับ มันมีวันเวลาเรียนชัดเจน มีการวัดผลชัดเจน ผมถามว่า สมมุติว่าเราอยากเรียนเอง เราจะตื่นตอนเช้ามาแล้วนั่งเรียนตั้งแต่ 9 โมงถึงเที่ยงได้ทุกวันไหม เราจะกลับไปอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนไหม บางคนอาจจะตอบว่าได้ แต่ผมเชื่อว่า ถ้ามันไม่มีการเรียนแบบเป็นทางการ ไม่มีการสอบวัดผล ส่วนใหญ่มักจะทำไม่ได้ เอาง่าย ๆ ครับ ตัวผมนี่แหละ ตอนนี้ผมเรียน Online อยู่ ที่เขาไม่ได้มีการกำหนดเวลาว่าจะเรียนช่วงไหน ตอนนี้ผ่านไป 3 เดือนแล้ว ยังเรียนไม่จบเลยครับ ทั้ง ๆ ที่ชั่วโมงเรียนทั้งหมดมัน 10 กว่าชั่วโมงเอง ถ้าเข้าเรียนใน class เรียนจบไปนานแล้ว ถ้าท่านคิดว่าท่านมีวินัยในตัวเองมากพอที่จะเรียนเองได้ มหาวิทยาลัยก็อาจจะไม่จำเป็นสำหรับท่านก็ได้ครับ

4. ถ้าเราเลือกแหล่งเรียนรู้เองได้

ถ้าเราไม่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เราจะเรียนกันจากไหนครับ หลายคนคงตอบว่า ก็เรียนผ่าน Youtube หรือ Search หาใน Google ไง คำถามต่อไปคือ พอเรา Search ไปแล้ว เราเจอหลายแสน หลายล้าน Website ในเรื่องนั้น ๆ เราจะเรียนอันไหนดี เราจะรู้ได้อย่างไรว่า Website ไหนมันดี ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การเรียนในมหาวิทยาลัยเรายังมีอาจารย์ ที่โดยรวมแล้ว (ไม่ได้บอกว่าทุกคนนะครับ) เราเชื่อว่า ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นท่านก็จะเลือกเอาเฉพาะองค์ความรู้ที่ได้รับการยอมรับแล้วว่ามันถูกต้องมาใช้สอนนิสิต นักศึกษา แต่ถ้าในอนาคตมันมีระบบ AI หรือระบบอะไรก็แล้วแต่ ที่สามารถกรองและเลือกแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้เรียนแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม ตอนนั้นมหาวิทยาลัยอาจจะมีความจำเป็นลดลงไปก็ได้ แต่ตอนนี้มันยังไม่มีแบบนั้น การเรียนในมหาวิทยาลัยก็อาจจะช่วยตรงนี้ได้ระดับหนึ่งทีเดียวล่ะครับ

5. ถ้าเรามีเงินมากพอในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้

เอาล่ะ หลายคนอาจจะบอกว่า เขาเลือกแหล่งเรียนรู้ได้ เขารู้ว่า Website ไหนมันดี คำถามต่อไปคือ แล้วเรามีเงินมากพอที่จะเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ไหม อย่างเช่น ถ้าเราเรียนรู้เอง แล้วเราต้องไป download paper มาอ่านเอง ท่านทราบไหมครับ paper หนึ่ง ค่า download มันเป็นหลักพันบาท แล้วถ้าวิชาหนึ่งเราควรอ่านสัก 10 paper มันก็หลักหมื่นแล้ว แต่เรียนในมหาวิทยาลัยมันมี Economy of Scale นิสิตนักศึกษาหลายคนอาจจะไม่ทราบว่า แต่ละมหาวิทยาลัยลงทุนไปเรื่องเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้เป็นหลักหลายสิบล้านบาท ทำให้ผู้เรียนเข้าถึง paper หรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ หรือ อย่าง Software ต่าง ๆ ที่เราใช้ประกอบการเรียน ถ้าเรียนรู้เอง อาจจะมี Youtube แสดงให้ดู แต่เราก็ต้องทำตาม เราก็ต้องซื้อ Software ท่านทราบไหมครับว่า License หนึ่งมันแพงแค่ไหน มันหลักหมื่น หลักแสน หรือ หลักล้าน ยังมีเลย นี่ยังไม่นับรวมสายวิทยาศาสตร์อีกนะครับ ถึงแม้ว่าจะอ่านหนังสือเองได้ แต่ถามว่า ถ้าจะต้องทำ Lab ทดลอง เราต้องไปซื้อเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ราคาอาจจะเหยียบสิบล้าน มาทดลองที่บ้านหรือเปล่า ใช่ครับ ในอนาคต ต่อไปถ้ามันมีคนเรียนรู้เองมาก ๆ เขาอาจจะมีธุรกิจให้เช่าทำ Lab ก็ได้ แต่ตอนนี้มันยังแทบจะหาไม่ได้ แล้วเราจะเรียนรู้กันอย่างไร อย่างว่าครับ ถ้าท่านมีเงินเหลือเฟือ จะซื้อมาได้เองทั้งหมด ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่คิดว่าคนส่วนใหญ่คงยังทำไม่ได้ขนาดนั้น

6. ถ้าเราไม่จำเป็นต้องรู้จักใคร

การเรียนในมหาวิทยาลัยนอกจากได้ความรู้แล้ว เรายังมีโอกาสได้พบปะผู้คนจำนวนมาก ได้พบกับเพื่อนดี ๆ หลาย ๆ คน ได้ง่ายกว่าการเรียนผ่าน Youtube หรือ Google ที่บ้านอย่างแน่นอน Larry Page กับ Sergey Brin ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Google ก็เจอกันที่ Stanford หรือหลาย ๆ คนก็ได้เจอคู่ชีวิตกันในระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย แต่ถ้าท่านคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็น อยากอยู่คนเดียว ไม่ต้องรู้จักใคร อยากเรียนเองคนเดียว ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ

อย่างที่บอกนะครับ ผมเขียนบทความนี้มา ไม่ได้หมายความว่า มหาวิทยาลัยไม่ต้องเปลี่ยน ยังไงคนก็ต้องเรียน ผมเน้นว่า ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนครับ เพราะสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยน แต่ก็อยากให้นักเรียนมัธยมปลาย รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนมัธยมปลาย ต้องลองพิจารณาดูดี ๆ อย่างเพิ่งอ่านเฉพาะข่าวที่อยู่ในกระแสว่า การเรียนในมหาวิทยาลัย อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนในมหาวิทยาลัยก็แล้วกันนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

เรียนในมหาวิทยาลัย มีแต่ทฤษฎี เรียนไปทำไม ไปเรียนจากผู้ทำได้จริงดีกว่า

ข้อความนี้ก็เคยได้ยินอยู่เรื่อย ๆ ครับ และต้องบอกว่าหลายครั้งก็มีความเป็นจริงอยู่บางส่วน ที่ว่าการเรียนจากผู้ทำได้จริง เป็นสิ่งที่ดี

แต่การเรียนจากผู้ทำได้จริง มันไม่จำเป็นต้องมาแทนการเรียนทฤษฎีนี่ครับ ทำไมเราต้องเลือกด้วยล่ะครับ ว่าจะเลือกเรียนจากผู้ทำได้จริง “หรือ” เรียนทฤษฎี ทำไมไม่คิดว่า เราจะเรียนจากผู้ทำได้จริง และ เรียนทฤษฎีไปพร้อม ๆ กัน

แน่นอนครับ การได้เรียนจากประสบการณ์ของผู้ทำได้สำเร็จเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามาก แต่การเรียนในลักษณะนี้ มีข้อพึงระวังหนึ่งอย่างครับ

ประสบการณ์ที่ท่านเหล่านั้นนำมา share นั้น บางทีมันมีบริบทของตัวท่านเหล่านั้นเป็นองค์ประกอบอยู่มาก
บางคนขายเสื้อก็รวยได้ ขายรถก็รวยได้ แต่ทำไมเราก็ทำแบบเขา เรารวยไม่ได้ แถมขาดทุนอีก

เพราะเขามีความชอบความสนใจ หรือมีเหตุการณ์บางอย่างสนับสนุน ลองอ่านหนังสือเรื่อง Outliers ของ Malcolm Gladwell ดู แล้วจะเห็นภาพครับ

คราวนี้เวลาเขามาเล่าประสบการณ์ เขาก็เล่าตามที่เกิดขึ้นจริงนั่นแหละครับ ถ้าเราสามารถรับมา แล้วเลือกใช้ได้ มันก็เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเราจะรับมาทั้งหมด แล้ว copy ตาม อันนี้ก็อาจจะไม่ work ก็ได้

แล้วทฤษฎีคืออะไรล่ะครับ มันก็มาจากการสังเกต เก็บข้อมูล จากประสบการณ์จริงเหล่านี้แหละครับ และก็กลันออกมาเป็นแนวคิด ทฤษฏี ที่นำไปปรับใช้ได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ

เหมือนกับที่ Prof. Clayton Christensen แห่ง Harvard Business School เขียนไว้ในหนังสือ How will you measure your life? ว่าทำไมเราต้องมาเริ่มลองผิดลองถูก แล้วค่อยเก็บประสบการณ์ จนกว่าจะรู้ทางเลือกที่เหมาะสมก็ใช้เวลาตั้งมากมาย เสียเงินเสียทองจำนวนไม่น้อย

สู้เราเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น ที่เขียนไว้เป็นทฤษฎีให้เราอ่านแล้ว มันจะไม่ดีกว่าหรือ

ประเด็นก็คือว่าถ้าผู้เรียนพยายามเอาทฤษฎีไปปรับใช้ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของเราเอง ผมว่าสิ่งนี้แหละครับ ที่สำคัญที่สุด

เวลามีคนกล่าวถึง ทฤษฏี กับ การปฏิบัติเมื่อไร ผมนึกถึงคำพูดของ Kurt Lewin ปรมาจารย์ทางด้านการศึกษาทางจิตวิทยาทุกทีครับ

“There is nothing so practical as a good theory.”

คิดว่าจริงไหมครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho