19 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ Money

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Professor Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง Sapiens และ Homo Deus หนังสือเล่มนี้จะว่าไปแล้วก็จะมีความคล้ายกับ Sapiens กับ Homo Deus เพียงแต่จะเน้นเป็นเรื่องของเงินเป็นหลัก ได้อ่านแล้วนำมาสรุปเป็นข้อคิดที่ได้ดังต่อไปนี้ครับ

1. ที่ทุกคนต้องการเงิน ก็เพราะว่าคนอื่น ๆ ต้องการเงิน ดังนั้นเราจะสามารถนำเงินไปแลกกับสิ่งที่เราต้องการได้

2. เงินคือสิ่งที่คนใช้ในการเป็นตัวแทนของมูลค่าของสิ่งอื่น ๆ เพื่อจะได้สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการกันได้

3. ผลรวมของจำนวนเงินทั้งโลกมีมูลค่าประมาณ 60 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ผลรวมของเหรียญและธนบัตรทั้งโลกมีแค่ 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แปลว่ามากกว่า 90% ของเงินคือประมาณ 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นเพียงตัวเลขในบัญชีเท่านั้น

4. เงินไม่ใช่สิ่งของที่จับต้องได้แต่เป็นตัวแปรทางจิตวิทยา (คือความเชื่อในมูลค่าของของสิ่งนั้น)

5. เงินเป็นระบบความเชื่อที่เป็นสากลและมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา

6. เงินเกิดจากความเชื่อในสิ่งที่ตอนแรกไม่ได้มีค่าอะไรแต่มันสามารถเก็บได้ และเคลื่อนย้ายได้ง่าย (เช่นเปลือกหอย)

7. เมื่อเกิดการค้าระหว่าง 2 ที่ หลักของอุปสงค์และอุปทานจะทำให้ราคาของทั้ง 2 ที่นั้นจะเท่ากัน (ถ้าของนั้นเคลื่อนย้ายระหว่าง 2 ที่นั้นได้)

8. คนที่มีศาสนาที่แตกต่างกันอาจจะมีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนเชื่อเรื่องเงิน เพราะศาสนาสอนให้เราเชื่อในบางสิ่ง แต่เงินสอนให้เราเชื่อว่าคนอื่น ๆ เชื่อในบางสิ่ง

9. เงินมีลักษณะที่เปิดกว้างกว่าภาษา กฏหมาย วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา และนิสัยทางสังคม เงินเป็นระบบความเชื่อที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน และไม่มีแบ่งระดับชนชั้น เงินทำให้คนที่ไม่รู้จักกันทำงานร่วมกันได้

10. เงินขึ้นอยู่กับหลักการสากล 2 ประการคือ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และ ทำให้เกิดความเชื่อ

11. เมื่อทุกอย่างสามารถแลกเปลี่ยนได้ผ่านเงิน ซึ่งเป็นเหรียญหรือธนบัตร สิ่งนี้อาจจะทำให้วัฒนธรรม ประเพณี ความสัมพันธ์ หรือคุณค่าของมนุษย์หายไปแต่ไปถูกทดแทนด้วยกฎของอุปสงค์กับอุปทานแทน

12. การกู้ยืมทำให้เราสามารถสร้างปัจจุบันได้จากเงินในอนาคต

13. ความเชื่อในความก้าวหน้าทำให้เราทำงานวิจัยและเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

14. มนุษย์อาจจะสูญเสียคุณค่าทางเศรษฐกิจไปได้หากเราแยกความฉลาดกับการตระหนักรู้ออกจากกัน

15. เทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 อาจจะทำให้ Algorithm สามารถ Hack ความเป็นมนุษย์ได้ Algorithm จะเข้าใจตัวเราได้ดีกว่าตัวเราเอง และถ้าเกิดสิ่งนี้ขึ้นเมื่อไร ความเป็นส่วนตัวจะเปลี่ยนไปกลายเป็นการเชื่อมต่อของ Algorithm ต่าง ๆ

16. ถ้าเรา click likes เกิน 300 likes ใน Facebook จะทำให้ Facebook ทำนายความเห็นและความต้องการของเราได้ดีกว่าสามีหรือภรรยาเราเสียอีก

17. ต่อไประบบ Algorithm ของเราจะ Search หา Algorithm ของคนอื่นเพื่อที่จะดูว่าเข้ากันได้หรือไม่ที่จะเป็นคู่รักของเรา

18. ต่อไประบบ Algorithm ของเราจะรู้จักเราดีพอที่จะกระตุ้นให้เราทำอะไรก็ตามตามข้อแนะนำของ Algorithm นั้น

19. ต่อไปหนังสือจะอ่านเราในขณะที่เราอ่านหนังสือ

ต้องบอกว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ โดยเฉพาะ Part หลัง ๆ ที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเงินมากนัก (และมีความคล้ายกับหนังสือ Homo Deus) แต่มันทำให้เราต้องกลับมานั่งคิดถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

เงินจูงใจพนักงานได้ดีที่สุดจริงหรือ

ผมว่าคงไม่มีคนปฏิเสธว่าคนส่วนใหญ่ทำงานก็ต้องหวังที่จะได้รับเงินตอบแทน ตรงนี้ไม่น่าจะแปลก

และหลายท่านก็น่าจะมีความเชื่อเช่นกันว่า ยิ่งได้เงินมากก็น่าจะยิ่งทำให้เราอยากทำงานมากขึ้น รวมถึงถ้าต้องเลือกระหว่างเงินกับผลตอบแทนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงิน คนส่วนใหญ่ก็น่าจะเลือกเงิน

มาดูงานวิจัยกันว่ามันเป็นอย่างที่หลายท่านคิดหรือไม่

ในปี 2008 นักวิจัย 2 ท่านคือ Victoria Shaffer และ Hal Arkes ได้ทำงานวิจัยโดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยเลือกระหว่างการได้รับเงิน 1,500 เหรียญกับของขวัญที่มีมูลค่าเท่ากัน

ผลปรากฏว่า 63% เลือกรับเงินดีกว่า ตรงนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะเงินมันมีความยืดหยุ่นมากกว่า แปลว่า พอได้เงินไปแล้ว อยากจะได้ของอะไร ก็ไปเลือกซื้อเองได้ตามใจชอบ แต่ถ้าได้เป็นของขวัญ จะแลกเป็นเงินมันยากกว่า และปกติก็แลกได้ไม่เท่ากับมูลค่าของของนั้นด้วยซ้ำไป

แต่มันไม่ได้จบลงแค่นั้นครับ หลังจากนั้นได้มีการสอบถามไประหว่างคนที่ได้รับเงิน กับ ได้รับของขวัญ ว่าใครพึงพอใจมากกว่ากัน ผลปรากฏว่าอะไรรู้ไหมครับ

คนที่ได้รับของขวัญกลับมีความพึงพอใจมากกว่าคนที่ได้รับเงิน

แปลกไหมล่ะครับ ตอนแรกคนเลือกรับเงินมากกว่า แต่สุดท้ายแล้วกลับเป็นว่า คนที่ของขวัญไป กลับพึงพอใจมากกว่า

มาดูอีกงานวิจัยหนึ่ง ที่ทำในปี 2009 ที่ประเทศอินเดีย โดยเขาเลือกหมู่บ้านที่มีคนจนอยู่เยอะ โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเล่นเกม 6 ประเภท ในแต่ละเกมถ้าใครเล่นได้คะแนนเยอะก็จะได้รับรางวัล แต่ถ้าได้น้อยก็ไม่ได้อะไรเลย

เขาแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับรางวัลน้อยคือแค่ 4 รูปี หรือเท่ากับแค่เศษเหรียญในกระเป๋าสตางค์เรา กลุ่มที่ 2 ได้รางวัลสูงมากคือ 400 รูปี คือประมาณค่าใช้จ่ายประจำเดือนของคนคนหนึ่งเลย ส่วนกลุ่มที่ 3 คือได้รับรางวัลระหว่างกลางของกลุ่มที่ 1 และ 2

คิดว่าใครจะทำผลงานในการเล่นเกมได้ดีกว่ากันครับ

ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะคิดว่า กลุ่มที่ได้เงินเยอะที่สุดสิ ที่น่าจะได้ผลงานในการเล่นเกมดีที่สุด

แต่ผิดครับ…

กลายเป็นว่ากลุ่มที่ได้รับรางวัลน้อย กับ ปานกลาง ทำผลงานได้ใกล้เคียงกัน แต่กลุ่มที่ได้เงินเยอะที่สุด กลับทำผลงานได้ต่ำที่สุด

ถามว่าเพราะอะไร…

ก็ต้องบอกว่าการที่เขาได้เงินรางวัลล่อใจสูง มันทำให้เขาเกิดความเครียด และทำให้เขาทำผิดพลาดเยอะมาก

ถ้าใครชอบฟุตบอล หลายครั้งเราจะเห็นว่า นักฟุตบอลที่ย้ายทีมด้วยค่าตัวแพงระดับโลก มักจะมีผลงานที่ตกต่ำ สาเหตุหนึ่งก็อาจจะเกิดจากเรื่องนี้แหละครับ

มาดูอีกงานวิจัยครับ อันนี้ทำโดยบริษัท Goodyear ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยางชื่อดังระดับโลก ในปี 1995 บริษัทอยากเพิ่มยอดขายยาง ทางบริษัทเลยทำการทดลองอันหนึ่งเพื่ออยากรู้ว่าผลตอบแทนทางการเงินจะช่วยจูงใจพนักงานหรือไม่

ในการทดลองนี้ เขาแบ่งพนักงานออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะได้โบนัสเป็นเงินหากทำยอดขายได้ ส่วนกลุ่มที่ 2 จะได้โบนัสเป็นรางวัลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงิน เช่น ของรางวัล หรือ Trip ไปเที่ยว

ผลปรากฏว่าทั้งสองกลุ่มมียอดขายเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจ แต่ที่น่าสนใจคือกลุ่มที่ได้รางวัลที่ไม่ใช่เงินได้ยอดขายเพิ่มสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับรางวัลเป็นเงินถึง 46% เลยทีเดียว

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น…

คำตอบคือ รางวัลที่ไม่ใช่เงิน มักจะทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมต่อกับองค์กรได้ดีกว่า คือมันเป็นเหมือนกับเป็นคนคุ้นเคยกัน มากกว่าการให้เป็นเงิน ซึ่งมันเหมือนกับการซื้อขายกันมากกว่า

เอ แล้วมันเกิดขึ้นเฉพาะบริษัทนี้หรือเปล่า

ไม่ใช่ครับ ในปี 2014 นักวิจัย 3 คนคือ Liad Bareket-Bojmel Guy Hochman และ Dan Ariely ได้ทำการทดลองในโรงงานผลิตชิพคอมพิวเตอร์ โดยได้เริ่มวัดผลงานพนักงานในสภาวะปกติก่อน หลังจากนั้นเขาก็ประกาศให้รางวัลพนักงานหากเขาทำผลงานได้มากขึ้น โดยรางวัลมีทั้งเงินสด หรือ ให้คูปองกินพิซซ่าฟรี หรือจดหมายชื่นชม

และก็ตามคาดหมายคือ รางวัลเหล่านี้ทำให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้นประมาณ 5%

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เกิดอะไรขึ้นหลังจากบริษัทหยุดให้รางวัลเหล่านี้

คนที่ได้รับรางวัลเป็นคูปองกินพิซซ่าฟรี ก็ทำงานได้ลดลงกลับมาเท่ากับระดับเดิมที่เขาเคยทำได้ แต่คนที่เคยได้รับรางวัลเป็นเงิน กลับทำได้ลดลงต่ำกว่าระดับที่เขาเคยทำได้ถึง 6.5%

สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะพอเขาเคยได้เงินไป แล้วเงินนั้นหายไป มันทำให้เขายิ่งมีแรงจูงใจลดลงอย่างมาก แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นกับรางวัลที่ไม่เป็นตัวเงิน เพราะรางวัลประเภทนี้ มันเหมือนเราตอบแทนน้ำใจมากกว่าการจ้างให้ทำ

ถ้ายังไม่เชื่อ เอามาให้ดูอีกหนึ่งตัวอย่างครับ

ในปี 2012 Sebastian Kube Michel Andre Marechal และ Clements Puppe ได้ทำงานวิจัยร่วมกันในมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมัน โดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยกรอกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ โดยได้รับค่าจ้างเป็นเงิน 12 ยูโรต่อชั่วโมง โดยให้ทำติดต่อกัน 3 ชั่วโมง

กลุ่มแรกได้รับเงินค่าจ้างอย่างเดียว กลุ่มที่ 2 ได้ค่าจ้างและได้โบนัสเป็นเงิน 7 ยูโร กลุ่มที่ 3 ได้ค่าจ้าง และได้ของรางวัลที่มีมูลค่า 7 ยูโร กลุ่มที่ 4 ได้ค่าจ้าง และให้เลือกระหว่างโบนัสเป็นเงิน 7 ยูโรหรือของรางวัลที่มีมูลค่า 7 ยูโร และกลุ่มที่ 5 ได้ค่าจ้าง และได้เงิน 7 ยูโรที่พับมาเป็นรูปต่าง ๆ ที่สวยงาม

เอาเป็นว่าตั้งแต่กลุ่มที่ 2 – 5 ได้รับของที่มูลค่าเท่ากัน แต่ผลปรากฏว่าอย่างไรทราบไหมครับ

กลุ่มที่ 3 4 และ 5 ทำงานได้มากขึ้นถึงประมาณ 25% โดยเฉลี่ย แต่กลุ่มที่ 2 ที่ได้โบนัสเป็นเงิน กลับทำได้ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ 1 ที่ไม่ได้อะไรเลย

เหตุผลคือเมื่อรางวัลไม่ใช่เงิน (หรือในกลุ่มสุดท้ายจริง ๆ ก็เป็นเงิน แต่ทำให้ดูเหมือนของขวัญที่ไม่ใช่เงิน) มันทำให้เหมือนกับเป็นการตอบแทนน้ำใจระหว่างเพื่อน มากกว่าการให้เงินที่มันเหมือนกับการจ้างให้ทำ

มาดูตัวอย่างอันสุดท้ายกันครับ

ย้อนไปในปี 1973 Mark Lepper และ David Greene ได้ทำงานวิจัยโดยได้ดูว่าเด็กแต่ละคนชอบวาดรูปมากแค่ไหน ต่อมาเขาก็แบ่งเด็กเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเขาบอกเด็กว่า ถ้าวาดเสร็จแล้วจะให้รางวัลเป็นโบว์ที่บอกว่าทำได้สำเร็จ กลุ่มที่ 2 เขาไม่บอกเด็ก แต่เมื่อทำเสร็จแล้ว เขาก็ให้รางวัลแบบเดียวกัน และกลุ่มที่ 3 เขาไม่ให้อะไรเลย

พอเด็กทั้ง 3 กลุ่มทำเสร็จ เขาก็ให้อาสาสมัครมาให้คะแนนการวาดรูปของเด็กเหล่านั้น และหลังจากนั้นอีกสัปดาห์ อาสาสมัครเหล่านั้นก็ตามสังเกตว่าเด็กเหล่านั้น ยังคงใช้เวลาในการวาดรูปอยู่หรือไม่

สิ่งที่พบคือ กลุ่มที่ 2 กับ 3 คือกลุ่มที่วาดโดยไม่รู้ว่าจะได้รางวัล กับ กลุ่มที่ไม่ได้รางวัล กลับวาดรูปได้ดีกว่ากลุ่มที่คาดหวังว่าจะได้รางวัล นอกจากนั้นกลุ่ม 2 กับ 3 ก็ยังใช้เวลาว่างในสัปดาห์ต่อมาวาดรูปมากกว่ากลุ่มที่คาดหมายที่จะได้รางวัล

แปลว่าพอเอารางวัลมาล่อ มันทำให้การวาดรูปนั้น เหมือนกับเป็นงานที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน ในขณะที่หากไม่มีรางวัล การวาดรูปนั้นทำเพื่อความพึงพอใจล้วน ๆ ซึ่งเราเรียกว่า แรงจูงใจภายในนั่นแหละครับ

และอะไรที่ทำด้วยความรัก เราก็มักจะทำได้ดีเสมอ

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะบอกว่า งั้นไม่ต้องไปจ่ายเงินให้เขา ให้แต่รางวัลที่ไม่เป็นตัวเงินก็พอ แต่กำลังจะบอกว่า อยากคิดว่าเงินเป็นสิ่งที่เดียวที่จะจูงใจพนักงานได้

และหลาย ๆ ครั้ง เงินอาจจะไม่ส่งผลเลย หรือแย่ไปกว่านั้นอาจจะส่งผลในทิศทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

ก่อนที่จะเอาแต่บอกว่าทำได้แล้วจะให้เงินหรือเพิ่มโบนัสให้ ลองมาดูรางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงินกันบ้าง แนวทางนี้ถูกใช้กันมากมาย เช่นที่ Google Twitter หรือบริษัทชั้นนำทั่วโลก

ลองนำไปปรับใช้กันดูได้ครับ

*ข้อมูลงานวิจัยมาจากหนังสือ Amazing Decisions เขียนโดย Dan Ariely ครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือ Twitter Nopadol’s Story หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

เวลากับเงิน อะไรสำคัญกว่ากัน

ผมว่าคำถามนี้สำคัญนะครับ

คือถ้าถามคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ก็มักจะตอบว่า “เงิน” สิที่สำคัญกว่า “เวลา” เพราะเงินเป็นที่มาของความสุข เช่น มีเงินก็เอาไปซื้ออาหารอร่อย ๆ กิน เอาไปท่องเที่ยว เอาไปซื้อของได้อีกจิปาถะ มีเวลา จะเอาไปทำอะไรได้

ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ เขาก็จะเปลี่ยน “เวลา” ที่เขามี ให้เป็น “เงิน” ก็อย่างที่เราไปทำงานกันทุกวันนี่แหละ ส่วนใหญ่แล้ว ก็ทำเพื่อให้ได้เงินมา ใช่ไหมครับ ลองบริษัทบอกว่า ต่อไปนี้ จะไม่จ่ายเงินแล้วนะ ผมว่าส่วนใหญ่ก็จะลาออกไปหางานที่อื่นทำกันใหม่

แต่ถ้าท่านอ่านหนังสือแนวพัฒนาตนเอง เขาก็จะบอกว่า คน “รวย” ส่วนใหญ่ จะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ “เวลา” มากกว่า “เงิน” เพราะเวลามันมีจำกัด หมดแล้ว หมดเลย ส่วนเงิน ถ้าหายไป ก็หากลับคืนขึ้นมาใหม่ได้ไม่จำกัด

ดังนั้นคนรวยจึงให้ความสำคัญกับเวลามากกว่า เขาจะจ้างให้คนส่วนใหญ่ทำงานแทนเขา เพื่อที่เขาจะได้มีเวลามากขึ้นไปทำในสิ่งที่เขาชอบและถนัดมากกว่า เพราะเขารู้ว่า เงินที่เขาใช้จ้างให้คนอื่นทำนั้น เดี๋ยวมันก็จะกลับมาหาเขา จากการที่เขาได้ทำงานที่เขาชอบและถนัดนั่นเอง

อ้าว แล้ว สรุปว่าอันไหนดีกว่ากันล่ะครับ

ความเห็นผมนะครับ ผมว่า ทั้ง 2 สิ่งนี้ มันมีความสำคัญทั้งคู่ครับ คืองี้ครับ มันขึ้นอยู่กับว่า ตอนนี้เรากำลังขาดอะไรมากกว่ากันเท่านั้น เรามักจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราขาดอยู่ จริงไหมครับ

เช่น ตอนนี้เรายังมีฐานะจนหรือปานกลาง เงินก็ไม่ค่อยมี แต่มีเวลาไปโน่นมานี่ สบาย ๆ ถ้าถามว่าตอนนี้เราอยากได้อะไร ส่วนใหญ่เราก็จะตอบว่า อยากได้ เงิน น่ะสิ จะได้รวย ๆ

เพราะอะไรรู้ไหมครับ ก็เพราะเรายังไม่มีเงินไง เรามีแต่เวลา เราจึงพยายามที่จะสร้างธุรกิจ รับทำงานเสริม หรือหางานที่ได้รายได้สูง ๆ โดยไม่ค่อยสนใจว่า มันจะทำให้เวลาเราหายไปแค่ไหน

แต่ถ้าเป็นคนรวยมาก ๆ เงินมีเหลือเฟือ แต่สิ่งที่เขาขาดไปคือ “เวลา” เพราะเขาต้องไปประชุม ไปเป็นประธานงาน
ต่าง ๆ เดินทางไปต่างจังหวัด ต่างประเทศเป็นว่าเล่น คนเหล่านี้ จึงโหยหา “เวลา” ไงครับ เพราะเงินเขามีเยอะพอแล้ว แต่ที่เขาขาดก็คือเวลานั่นเอง

ความเห็นของผมก็คือ เราต้องพยายาม Balance ในส่วนนี้ครับ เพราะถ้าเราเอียงไปทาง “เวลา” มาก ๆ เราก็จะเป็นคนที่วัน ๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อันจะทำให้เราอาจจะลำบากกาย ลำบากใจได้ภายหลัง แต่ถ้าเราเน้น “เงิน” มาก ๆ เวลามันก็หายไป

ข้อดีของเงิน คือ มันสร้างเก็บไว้ใช้ภายหลังได้ แต่ เวลา เราเก็บมันไว้ไม่ได้ แต่ข้อดีของเวลา คือมันมีมาให้เราตลอด ตื่นเช้าจนจบวัน เราก็มี 24 ชั่วโมง พรุ่งนี้ ก็มีมาใหม่อีก 24 ชั่วโมง แบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่เงิน ถ้าไม่หา มันไม่มาหาเราเองนะครับ

คิดให้ดีนะครับ เวลาเราจะเปลี่ยน “เวลา” ไปเป็น “เงิน” ว่ามันคุ้มไหม เช่น เราจะรับทำงานนี้ เราได้เงินเท่าไร และเราต้องเสียเวลาอันมีค่าเราไปเท่าไร

ในทางกลับกัน เราก็ต้องคิดให้ดีอีกเช่นกัน เวลาเราจะเปลี่ยน “เงิน” ไปเป็น “เวลา” เช่น เราจะไม่ทำงานนี้แล้ว เราจะได้เวลากลับคืนมา แต่เราก็คงต้องยอมเสีย “เงิน” ที่จะได้ในส่วนนั้นไป หรือ เราจะขึ้นเครื่องบินไป แทนที่จะขึ้นรถบัสไป อันนี้เราจะมีเวลาเพิ่มขึ้น เอาไปทำสิ่งอื่นนอกจากการเดินทาง แต่อย่าลืมว่า เราก็อาจจะต้องจ่ายแพงกว่า (เอ จะใช่หรือเปล่านะ เดี๋ยวนี้ Low Cost Airline มันก็ถูกมาก ๆ 555)

แต่จะดีที่สุดเลย ถ้าเราได้ทั้ง “เวลา” ได้ทั้ง “เงิน” ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งถ้าใครเจอ ก็ถือว่าสุดยอดเลย จริงไหมครับ และผมเชื่อว่ามันมีอยู่จริงด้วย เพียงแต่เราตั้งใจจะหามันหรือเปล่าก็เท่านั้นเองครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho