เลิกอดทนในสิ่งที่ไม่ควรอดทนได้แล้ว

การอดทนเป็นสิ่งที่ดี ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราควรอดทน ดังนั้นก่อนอดทนลองดูดี ๆ ก่อนว่าเราอดทนกับสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร

Continue reading

ก่อนจะอดทน ลองหาวิธีที่ง่ายกว่าก่อน

ผมว่าหลายคนคงเคยได้รับคำแนะนำว่า ถ้าต้องการประสบความสำเร็จเราต้องอดทน ไม่มีใครหรอกที่ทำอะไรครั้งแรกแล้วประสบความสำเร็จทันที อะไรกันทำนองนี้

ส่วนตัวผมก็เชื่อนะครับ เพราะจากประสบการณ์ผม หลาย ๆ อย่างที่ผมทำได้ดี ตอนแรก ๆ ที่ทำมันก็ไม่เห็นผลลัพธ์ เช่น ตอนที่เปิด Page เขียนบทความ ใหม่ ๆ ก็แทบจะไม่มีคนเข้ามาอ่าน แต่พอเขียนทุกวัน เขียนไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด จำนวนคนอ่านก็เพิ่มมากขึ้น ตอนทำ Nopadol’s Story Podcast เริ่มต้นก็แทบจะไม่มีใครฟัง แต่พอทำทุกวันต่อเนื่องมาหลายปี จำนวนคนฟังก็เพิ่มขึ้น

ก็แสดงว่าความอดทนอยู่กับสิ่งนั้นให้นานพอจะช่วยทำให้เราสำเร็จ เพียงแต่ว่า ถึงแม้ว่าความอดทนเป็นองค์ประกอบหนึ่งในความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรอดทนโดยไม่ได้พิจารณาเลยว่า ความอดทนนั้นจำเป็นหรือไม่นะครับ

แปลความหมายว่า อดทนน่ะดีครับ แต่ก่อนจะอดทน เราน่าจะลองคิดหาวิธีที่ง่ายกว่าก่อนดีไหมครับ เพราะวิธีที่ง่ายนั้น อาจจะทำให้เราประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าการที่เราจะอดทนอย่างเดียวโดยไม่ได้พิจารณาอะไรเลย

ยกตัวอย่างเช่น เราอยากจะเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ไปเชียงใหม่ ถ้าเราเริ่มคิดว่า เอาล่ะ เราจะเดินไปนะ เดินไปสักชั่วโมง ยังไม่พ้นเขตกรุงเทพ ฯ เลย ไม่เป็นไร เราต้องอดทน สักวันเราจะไปถึงเชียงใหม่ เราจะคิดแบบนี้ก็ได้ครับ แต่กว่าจะถึงเชียงใหม่อาจจะใช้เวลาเป็นเดือน ๆ เลย หมดแรง หมดกำลังกันแน่ ๆ

แต่ถ้าก่อนที่เราคิดจะอดทนเดิน เราลองมาคิดก่อนว่า ถ้าเป้าหมายเราคือการเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ไปให้ถึงเชียงใหม่ นอกจากการเดินไปแล้ว เรามีทางเลือกอะไรที่ทำได้อีกบ้าง เช่น เราอาจจะขับรถไปก็ได้นะ หรือขึ้นเครื่องบินไปยังได้เลย ใช่ครับ ตอนแรกดูเหมือนขับรถอาจจะต้องจ่ายค่าน้ำมัน หรือขึ้นเครื่องบินก็มีค่าตั๋ว แต่ถ้าลองพิจารณาดูดี ๆ เราเดินไป นี่เราต้องหาโรงแรมค้างตั้งกี่คืน ขึ้นเครื่องบินไปใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงแล้ว และค่าใช้จ่ายโดยรวมยังน้อยกกว่าอีกต่างหาก

แบบนี้ดีกว่าที่เราจะอดทนเดินอีกไม่รู้ตั้งกี่เท่าจริงไหมครับ ตัวอย่างนี้มันอาจจะเห็นชัดว่าขึ้นเครื่องบินหรือขับรถไปมันดีกว่าการเดินไปอยู่แล้ว แต่ในชีวิตจริง ถ้าเราไม่ถามคำถามว่า “มีวิธีอื่นที่ง่ายกว่าวิธีที่เราจะทำอยู่ไหม” บางทีก็จะทำให้เราไปติดกับดักคำว่า “อดทน” โดยไม่จำเป็น

ลองดูนะครับ ถ้าเราคิดรอบคอบแล้ว ไม่มีวิธีใดดีกว่าวิธีที่เราเลือกแล้ว แบบนั้นก็ลุยครับ อดทนรอความสำเร็จกันไป แต่ถ้ามันมีวิธีที่ดีกว่า ง่ายกว่า เราอาจจะไม่จำเป็นต้องอดทนรอนานขนาดนั้นก็เป็นไปได้อีกเช่นกันครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

เราควรอดทนในสิ่งที่ควรอดทน

“เด็ก ๆ สมัยนี้ ไม่อดทนกันซะเลย”
“แค่เจออุปสรรคแค่นี้ ก็ล้มเลิกซะแล้ว ไม่ไหวเลย”

เคยได้ยินคำพูดทำนองนี้ไหมครับ ผมว่าใครเริ่มพูดคำนี้ แสดงว่าเริ่มแก่แล้ว 555

คำพูดทำนองนี้ เรามักจะได้ยินจากผู้ใหญ่ที่กล่าวถึงเด็กรุ่นหลัง และที่น่าสนใจคือมันเกิดมาแล้วในทุกรุ่น ผู้ใหญ่คนที่พูดหลายคน ตอนเด็ก ๆ ก็อาจจะเคยโดนว่าทำนองนี้มาแล้วเหมือนกัน

แล้วมันแปลว่า คนรุ่นหลังอ่อนแอลงเรื่อย ๆ หรือเปล่าครับ เพราะผู้ใหญ่แต่ละรุ่น ก็ว่าเด็กรุ่นหลังว่า ไม่อดทน มาตลอด คนรุ่นคุณปู่คุณย่าเรา ก็เคยบอกคนรุ่นคุณพ่อรุ่นคุณแม่เราว่า ไม่อดทน ต่อมา คนรุ่นคุณพ่อรุ่นคุณแม่เราก็มาว่าคนรุ่นเราว่าไม่อดทน และก็มาถึงคนรุ่นเรา ก็เริ่มว่าคนรุ่นลูกเราไม่อดทน ถ้ามันเป็นแบบนั้นจริง ๆ ก็น่าเป็นห่วงนะครับว่า โลกเราจะเป็นอย่างไร เพราะคนเราดูเหมือนอ่อนแอมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่เดี๋ยวก่อนครับ มันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น เราต้องกลับมาดูจุดเริ่มต้นก่อนว่า “เราจะอดทนไปทำไม” เริ่มตั้งแต่คนรุ่นปู่รุ่นย่าเราก็ได้ เราต้องยอมรับครับว่า คนรุ่นนั้น ทุกอย่างกว่าจะได้มา มันต้องอดทนให้มาก เอางี้ครับ ผมยกตัวอย่าง เช่น เรื่องอาหารการกินก็ได้ ถ้าเป็นแต่ก่อน อยากกินอะไร ต้องปลูกกินเอง คือถ้าไม่อดทน ก็อย่าจะหวังได้กิน ต่อมา คนก็เริ่มมีการค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้า มีตลาด อยากกินอะไร มันก็ง่ายขึ้น ต่อมามาถึงรุ่นเรามันมี Application กดทีเดียว อาหารที่เราอยากกินก็มาส่งให้ถึงหน้าบ้านภายในไม่กี่นาที

สิ่งที่กำลังจะบอกคือ มนุษย์ฉลาดขึ้น จึงสามารถสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตเรามันง่ายขึ้นครับ ดังนั้นคนรุ่นหลังย่อมที่จะไม่เข้าใจ เวลาคนรุ่นก่อนจะใช้คำพูดว่า “รู้ไหม สมัยก่อนนะ กว่าจะได้กิน ต้องรอนานแค่ไหน นี่รอไม่กี่ชั่วโมง ยังบ่น ไม่อดทนเลย” คือลองมองมุมของคนรุ่นใหม่ เขาก็คงคิดว่า อ้าว แปลว่าเขาต้องรอนาน ๆ เหมือนเมื่อก่อนเหรอ เขาต้องทนแบบนั้นเหรอ เขาทำอะไรผิด ในเมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้มันมาช่วยเขาอยู่แล้ว ทำไมเขาจะต้องทนรออะไรนาน ๆ ด้วย (และคนรุ่นนี้แหละที่ต่อไปก็จะไปตำหนิคนรุ่นลูกเขาต่อว่าด้วยคำพูดแบบนี้เป๊ะเลยว่า “สมัยก่อนนะ…”)

หรืออีกสักตัวอย่างก็ได้ครับ ถ้าเป็นสมัยก่อน เวลาจะเดินทางไปหาใคร อาจจะต้องเดินเท้ากันเป็นวัน ๆ ต่อมาเริ่มมีเกวียน มีรถม้า การเดินทางมันก็ง่ายขึ้นเร็วขึ้น จากต้องใช้เวลาหลายวัน อาจจะกลายเป็นหลายชั่วโมง จนมาถึงปัจจุบันเรามีรถยนต์ รถไฟฟ้า การเดินทางไปยังอีกที่หนึ่งอาจจะใช้เวลาไม่กี่นาที แล้วลองนึกภาพว่า พอเรารถติด เราบ่น ก็อาจจะมีผู้ใหญ่บอกว่า “สมัยก่อนนะ กว่าจะเดินทางมันลำบากมาก แค่รถติดแค่นี้ จะบ่นไปทำไม”

สิ่งที่กำลังจะนำเสนอคือ ก็ “ความไม่อดทน” นี่แหละครับ มันทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะถ้าเราเอาแต่อดทน ป่านนี้เราไม่มีรถยนต์ เครื่องบิน ไฟฟ้า หรือเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ กันแล้ว จริงไหมครับ

อ้าว แล้วแปลว่า ความไม่อดทนเป็นสิ่งที่ดีเหรอ ต่อไปเราควรสอนลูกหลานว่า ลูก ๆ หลาน ๆ พวกหนูอย่าเป็นคนอดทนนะ ความอดทนไม่ใช่สิ่งที่ดี มันขัดขวางความเจริญ เอาแบบนั้นเหรอ

ไม่ใช่ครับ นี่แหละครับเป็นที่มาของงานเขียนชิ้นนี้ คือ “เราควรอดทน ในสิ่งที่ควรอดทน” ครับ

ผมคนหนึ่งครับ ที่เคยสับสนในเรื่องเหล่านี้ บางทีกำลังทำอะไรอยู่สักอย่าง แล้วอยากจะเลิกทำ มันจะมีเสียงเล็ก ๆ มาคอยเตือนตัวเองว่า เอ เราเป็นคนจับจดหรือเปล่า เราเป็นคนไม่อดทนใช่ไหมเนี่ย เจออุปสรรคนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ล้มเลิกซะแล้ว พอเสียงเหล่านี้เข้ามา ผมก็ก้มหน้าก้มตาทนทำต่อไป อีกสักพัก ก็มีอีกเสียงหนึ่งในหัวขึ้นมาว่า “เราจะทนไปทำไมเนี่ย” วนเวียนไปเรื่อย ๆ แบบนี้ตลอด

แต่มันก็เหมือนกับทุกอย่างแหละครับ มันไม่มีอะไรที่ดีไปซะทุกเรื่อง และก็ไม่มีอะไรที่มันแย่ไปซะหมด มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความอดทนก็เช่นกัน ผมเลยเขียน Diagram ความอดทนขึ้นมา ตามรูปนี่แหละครับ

คืออย่างแรกก่อนครับ เราควรอดทนหรือไม่ควรอดทน มันขึ้นอยู่กับว่าเรื่องนั้นมันตอบเป้าหมายชีวิตเราหรือไม่ก่อน ใน Diagram แกนนอนมันจึงเป็นเรื่องระดับของการตอบเป้าหมายชีวิต ส่วนแกนตั้งคือระดับความของความอดทน ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม (ตามรูปเลยครับ)

กลุ่มที่ 1 งานนั้นตอบเป้าหมายชีวิตเรา และเราก็อดทนกับสิ่งนั้นสูงมาก อันนี้ผมว่ามาถูกทางแล้วครับ ผมยกตัวอย่างเช่น เราอยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เราก็ต้องเริ่มหาความรู้ ซึ่งอาจจะไม่สนุกนัก เพราะต้องมานั่งเรียน เสร็จแล้ว เราคงต้องไปพูดคุยกับลูกค้า ซึ่งก็ต้องใช้ความอดทน ความพยายาม แต่ถ้าเราทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จในไม่ช้า อันนี้แหละครับ ที่เราควรฟังผู้ใหญ่ที่เตือนเราว่า เราควรอดทนนะ เพราะสิ่งนั้นมันตอบโจทย์ชีวิตเรา

กลุ่มที่ 2 งานนั้นไม่ได้ตอบเป้าหมายชีวิตเรา แต่เราไปทนกับมันมาก อันนี้ข้อแนะนำง่าย ๆ คือหาทางเลิกทำซะ ไม่ต้องไปสนใจใครเขาจะว่าเราไม่อดทน เอาตัวอย่างเดิมนะครับ เราอยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่แต่ละวัน เอาแต่ทำงานประจำตามคำสั่งของเจ้านาย แถมงานก็น่าเบื่อและก็ไม่ใช่อยู่ในธุรกิจที่เราสนใจอีกต่างหาก เรียกว่ากว่าจะผ่านไปแต่ละวัน ต้องใช้ความอดทนสูงมาก จะลาออกก็กลัวว่า ผู้ใหญ่จะมาว่าเราไม่มีความอดทน จริง ๆ เราก็ทนได้แหละครับ แต่จะทนไปทำไม ในเมื่อมันไม่ใช่เป้าหมายหลักของชีวิตเรา ถ้าเราเลือกได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องทน

ใช่ครับ หลายคนอาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ก็เราไม่มีทางเลือกนี่ เราต้องกินต้องใช้ จะให้ลาออกมาทำธุรกิจเลย ถ้าเจ๊งขึ้นมาจะทำอย่างไร ขอตอบแบบนี้ครับ ผมไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องยื่นใบลาออกวันนี้พรุ่งนี้เลยนะครับ เพียงแต่เราต้องคิดต้องวางแผนครับ ตอนนี้มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ต้องทนทำงานนี้ไปก่อน แต่มันต่างกัน สำหรับคนที่วางแผน กับคนที่ไม่วางแผน เช่น เป้าหมายชีวิตเราคือเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการ คนที่วางแผน เขาจะเริ่มเก็บเงิน และเริ่มที่จะสร้างธุรกิจเล็ก ๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ เริ่มเข้า course หาความรู้อะไรแบบนี้ คนที่ไม่วางแผน ก็จะทนทำงานที่น่าเบื่อเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ และก็บ่นให้คนอื่นฟังว่างานนี้มันแย่แค่ไหน

อีกเรื่องหนึ่งคือ แล้วงานเพื่อส่วนรวมล่ะ ผมคิดว่าหลายท่านอาจจะคิดในใจว่า ถ้าคนคิดกันแต่แบบนี้ ใครจะทำงานเพื่อส่วนรวมกัน เพราะแต่ละคนจะไม่อดทนกับสิ่งที่ไม่ตอบเป้าหมายชีวิตของตนเอง อย่างนี้ไม่เป็นการเห็นแก่ตัวหรือ

ขอตอบอย่างนี้ครับ ผมเชื่อว่าในโลกนี้ เป้าหมายของชีิวิตแต่ละคนแตกต่างกันครับ มีคนจำนวนไม่น้อย ที่เป้าหมายของชีวิตของเขามีเรื่องการทำหน้าที่ผู้นำต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือส่วนรวม คนเหล่านี้มีทั้งความชอบ และหลายคนก็มีทักษะ และประสบการณ์ด้านนี้ที่โดดเด่นมาก ดังนั้นการที่เราไม่ถนัดที่จะเป็นผู้นำในลักษณะนี้ มันก็ไม่ได้หมายความว่าส่วนรวมจะแย่เสมอไปนะครับ เพราะมันมีคนที่เหมาะสมกว่าและเก่งกว่าเราในเรื่องนี้ จริง ๆ เป็นการดีซะอีกที่เราได้คนที่มีความสามารถและมีใจรักมาเป็นผู้นำของเรา

ต่อมา ถ้าสมมุติว่าไม่มีล่ะ งานนี้ไม่มีใครอยากทำ แต่มันจำเป็นมากสำหรับส่วนรวม ใช่ครับ การเสียสละเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่สังคมจำเป็นต้องมี ถ้ามันจะต้องเป็นเราจริง ๆ ไม่มีคนอื่นอีกแล้ว (ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก) เราก็อดทนทำได้ครับ ไม่ได้ผิดกติกา แต่ต้องทราบอยู่เสมอว่า งานนี้ไม่ใช่งานที่เรามีความเชี่ยวชาญนะ อย่างตัวอย่างข้างบน ถึงแม้ว่า เป้าหมายของเราคือการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่มีโครงการการกุศลอันหนึ่งที่มาให้เราเป็นประธานดำเนินงาน และไม่มีใครจะมาทำงานนี้ได้อีกแล้ว นอกจากเรา (ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ หรอกครับ ที่จะไม่มีใครทำได้เลย) อันนี้เราก็อดทนทำเพื่อส่วนรวมโดยรับตำแหน่งหน้าที่นี้ได้ครับ แต่ให้ทราบว่า เราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ ถ้าวันหนึ่งมีคนที่เหมาะกว่าเรา ก็ให้เขามาแทนที่เราก็ได้ครับ และไม่ใช่หลังจากนั้นเราจะไม่ช่วยโครงการนี้นะ  เรายังคงช่วยเหลืออยู่ แต่ในบทบาทอื่น ๆ ที่อาจจะทำประโยชน์ให้กับโครงการนี้มากกว่าบทบาทของประธานโครงการที่เราไม่ได้ถนัดเลยด้วยซ้ำ

กลับมากลุ่มที่ 3 ในรูปต่อครับ คือกลุ่มงานที่ไม่ค่อยตอบเป้าหมายชีวิตเรา และ เราก็ไม่ค่อยอดทนกับงานนั้น อันนี้ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนใครว่าครับ ว่า “เด็กสมัยนี้ ไม่ค่อยอดทนเลย” ก็อย่างที่บอกว่า บางทีเราไม่จำเป็นต้องอดทนในทุกเรื่องครับ เราพยายามปฏิเสธงานลักษณะนี้ เอาความอดทนที่ทุกคนก็มีอยู่จำกัด ไปใช้กับงานที่เราถนัด เราเก่ง และเราชอบดีกว่าครับ จริง ๆ เราสามารถช่วยเหลือตัวเราและสังคมได้หลายทางครับ ใช้เวลา ความสามารถ รวมถึงความอดทนไปในสิ่งที่มันสร้างประโยชน์สูงสุดไม่ดีกว่าเหรอครับ

กลุ่มที่ 4 คืองานที่ตอบเป้าหมายชีวิตเรา แต่เราไม่ค่อยอดทนกับสิ่งนั้น เช่น เราอยากเป็นผู้ประกอบการ แต่พอทำผลิตภัณฑ์มาอย่างหนึ่งขายไม่ได้ เราก็ล้มเลิกละ อันนี้แหละครับ ที่เราควรจะอดทน ทุกอย่างตอนเริ่มต้น มันไม่มีอะไรง่ายหรอกครับ มันต้องลองผิดลองถูก และตอนแรก ๆ มันผิดมากกว่าถูกทั้งนั้น คนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนที่ไม่เคยล้มเหลวนะครับ เขาล้มเหลวมามากมายกว่าจะประสบความสำเร็จ แต่เขาผ่านความล้มเหลวแบบนั้นมาได้ เพราะเขาอดทนไงครับ อันนี้แหละครับ ถ้าผู้ใหญ่มาเตือนเราให้อดทน เราควรทำตามครับ เพราะมันเป็นความอดทนที่ตอบเป้าหมายในชีวิตของเรา

สรุปง่าย ๆ ว่า ความอดทนเป็นสิ่งที่ดีครับ ถ้าเราอดทนในสิ่งที่ควรอดทน ความอดทนก็เหมือนทรัพยากรอื่น ๆ เช่นกัน คือมันมีอยู่อย่างจำกัด ถ้าเราใช้มันพร่ำเพรื่อ ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานของเรามันก็จะไม่ดี แต่ถ้าเราเลือกใช้ให้ถูกที่ สุดท้ายเราก็จะประสบความสำเร็จ ประเด็นคือตอนนี้เราเคยถามตัวเองแล้วหรือยังว่า อะไรคือเป้าหมายชีวิตของเรา ถ้าได้ตรงนั้น คำถามว่า เราควรจะ “ทน” ทำสิ่งนี้ต่อไปหรือไม่ ก็คงไม่ใช่คำถามที่ยากนักในการหาคำตอบ จริงไหมครับ

ขอบคุณทุกท่านที่ “ทน” อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้นะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

ความอดทนในสิ่งที่ตนเองรัก ทางลัดสู่ความสำเร็จ

ฟังชื่อหัวข้อแล้วรู้สึกแปลก ๆ ไหมครับ

อะไรนะ อดทนในสิ่งที่ตนเองรัก อ้าว รักแล้วต้องทนด้วยเหรอ

ทนสิครับ เพราะในโลกนี้มันไม่มีอะไร จะเป็นไปตามใจที่เราต้องการไปซะทุกเรื่องหรอก บางทีมันก็สุขบางทีมันก็ทุกข์ คนที่สำเร็จคือคนที่อดทนได้นานที่สุดก็เท่านั้น

จริง ๆ idea ในการเขียนเรื่องนี้ มาจากหนังสือชื่อว่า Grit ครับ ก่อนซื้อมาอ่าน ได้เคยฟัง TED talk ของผู้เขียนที่ชื่อว่า Angela Duckworth ซึ่งขณะนี้เป็น Professor ที่ University of Pennsylvania

Angela ได้ทำงานวิจัย และพบสิ่งที่น่าทึ่งอันหนึ่งครับ คือ เขาอยากรู้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จจะมีลักษณะอย่างไร

ไม่ใช่ครับ ผลการเรียนไม่ได้เป็นตัวบอกถึงความสำเร็จเลย IQ ที่แสดงถึงความฉลาดก็ไม่ใช่ อ้าว แล้วอะไรล่ะครับ ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ

คำตอบคือ ความลุ่มหลงในสิ่งที่เราทำ (Passion) กับ ความอดทนไม่ย่อท้อ (Perseverance) ที่ Angela เรียกรวมกันว่า Grit นั่นแหละครับ

อย่างแรกนะครับ ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เราลุ่มหลง ผมว่ายังไงก็ตาม มันก็ดีกว่า ฝืนใจทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ ตรงนี้เราต้องหาให้เจอครับว่าเราลุ่มหลงในเรื่องอะไร

เช่น ผมชอบเขียนหนังสือ เวลาเขียนแล้วรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปเร็วมาก ภรรยาผมชอบทำอาหาร เวลาทำแล้วเขาจะรู้สึกเพลิดเพลินอย่างมาก อะไรแบบนี้แหละครับ พยายามหาตัวตนของเราให้เจอครับ

คราวนี้ มีแต่ความลุ่มหลงอย่างเดียว คงไม่พอครับ เพราะถ้าเราทำไม่ต่อเนื่อง ผลลัพธ์มันก็ไม่มีทางออกมาอย่างที่เราต้องการ

อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ครับ

คือถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่เราลุ่มหลง ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีอุปสรรคนะครับ ผมชอบเขียนหนังสือมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า เขียนเสร็จแล้ว ส่งสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์จะตีพิมพ์หนังสือให้เราทันที มีหลายครั้งที่ส่งไปแล้วก็ถูกปฏิเสธ หรือให้กลับมาแก้ไข

ตรงนี้แหละครับที่เป็นจุดวัดใจ เพราะหากเรารู้สึกว่า ยากจังเลย เหนื่อยแล้วนะ เลิกดีกว่า สุดท้าย เราก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้หรอกครับ เพราะเราจะเอาแต่ล้มเลิก แล้วก็พยายามไปหาเรื่องใหม่ ๆ ทำอยู่เสมอ แถมทำไปไม่เท่าไร ก็ล้มเลิกอีก

จริง ๆ ความลุ่มหลงกับความอดทนนี่ผมว่ามันเป็นพี่น้องกันเลยนะครับ ขาดอันใดอันหนึ่งไป มันก็ไม่สำเร็จ

เราลุ่มหลง แต่ไม่อดทน เราก็ได้แค่ลุกขึ้นทำอะไรที่ชอบเป็นพัก ๆ แล้วก็ลงเอยด้วยความล้มเลิก แต่ถ้าเราอดทน ในสิ่งที่เราไม่ลุ่มหลง เราก็ทำงานแบบเหนื่อยทั้งกายและใจ ออกแนวทรมาน ซึ่งแน่นอนโอกาสจะประสบความสำเร็จมันก็ลดลง

ที่สำคัญอีกอย่างคือ เวลาที่เราลุ่มหลงอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ยังมีส่วนช่วยให้เราอดทนต่อความยากลำบากที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เราทำอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่ชอบจริงไหมครับ

ลองเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้กันดูนะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho