แนวทางการลงทุนแบบการปลูกต้นไม้ใหญ่

ก่อนอื่นต้องขอบอกแบบนี้ก่อนครับ ป้องกันการดราม่าที่อาจเกิดขึ้นได้ 555  ที่กำลังจะเขียนเรื่องแนวทางการลงทุนแบบนี้ ไม่ได้หมายความ แนวทางแบบอื่น ๆ ไม่ดี ไม่สำเร็จ แบบนี้ดีที่สุด สำเร็จแน่ ๆ นะครับ เพราะส่วนตัวผมเชื่อว่า มันไม่มีแนวทางการลงทุนไหน ที่ดีที่สุด สำหรับทุกคนครับ ผมว่าแต่ละคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นแนวทางการลงทุนที่ดีสำหรับบางคน พอเราเอามาใช้ มันอาจจะไม่ดีสำหรับเราก็เป็นได้ครับ ไม่มีใครผิดหรือถูกหรอกครับ

ปกติแล้ว แนวทางการลงทุนหลัก ๆ ส่วนใหญ่มักจะแบ่งออกเป็น 2 ค่ายครับ คือ สาย Technical ดูกราฟ กับ สายพื้นฐาน ดูงบ ดูกิจการต่าง ๆ แต่บางคนก็มาแนวผสมผสานกันก็มี อันนี้ก็แล้วแต่แต่ละท่านจะเลือกครับ

แนวทางการลงทุนที่ผมจะเล่าให้ฟังนั้น จะว่าไปแล้ว มันก็เอียงมาทางสาย Fundamental หรือดูพื้นฐานเป็นหลักก็ว่าได้ครับ หลาย ๆ คนชอบเรียกนักลงทุนประเภทนี้ว่า VI เพียงแต่ก็อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป

อีกนิดครับ ก่อนที่จะเริ่มเล่าให้ฟัง คือ หลายคนอาจจะถามว่า แล้วผมเป็นใครเนี่ย เซียนหุ้นพันล้านเหรอ ถึงได้มาแนะนำแนวทางการลงทุน คำตอบคือไม่ใช่เซียนหุ้นพันล้านครับ แต่ผมพบว่าแนวทางนี้ มันเหมาะกับการลงทุนของผม จากการดูผลตอบแทนที่ผ่านมา หลังจากได้ลองแล้วหลาย ๆ วิธี แต่เน้นอีกทีครับ มันเหมาะกับผม มันก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกท่านนะครับ เอาเป็นว่า มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้กันดีกว่าครับ

ผมได้เริ่มลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี 1997 ครับ ก็เรียกได้ว่านานมากทีเดียว (จริง ๆ ใกล้ ๆ ช่วงกับที่ท่าน ดร. นิเวศน์ ปรมาจารย์สาย VI ของไทย ได้เริ่มลงทุนนั่นแหละครับ ต่างกันนิดเดียวคือ ท่านมีเงินเยอะกว่าผมมากในตอนนั้น และ ในตอนนี้ครับ 555) หลังจากเริ่มลงทุนก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ผมใช้วิธีมาหลากหลาย และก็คิดว่าคล้าย ๆ กับนักลงทุน หรือจะเรียกให้ตรง คือ “นักเล่นหุ้น” ที่เพิ่งเริ่มเข้าตลาดมาเร็ว ๆ นี้แหละครับ

ระยะหลัง ผมจึงได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพวกจิตวิทยาการลงทุนมากขึ้น และได้เขียนหนังสือออกมา 2 เล่มได้แก่ แค่คิดก็ผิดแล้ว และ เล่นหุ้นอย่างไร ไม่ให้ลำเอียง ผมก็เริ่มได้รับเชิญไปออกรายการที่เกี่ยวกับการลงทุน หลาย ๆ รายการ เช่น Money Talk หรือ รายการ Invest Now และเริ่มมีหลาย ๆ ท่านถามถึงแนวทางการลงทุนของผม ก็เลยเป็นที่มาของเนื้อหาที่กำลังจะเขียนนี่แหละครับ

ถ้าเขาถามคำถามว่า ผมเป็น VI หรือมาสาย Technical ผมก็จะตอบเร็ว ๆ ว่า ผมมาแนว VI มากกว่า ผมไม่ค่อยได้สนใจ Graph สักเท่าไร (เน้นว่า ไม่ใช่หมายความว่า การดู Graph เป็นการลงทุนที่ผิดนะครับ อย่างที่บอกไว้ตอนต้นคือแต่ละคนก็จะมีแนวทางที่นำไปสู่ความสำเร็จที่แตกต่างกัน) แต่แนว VI ที่ว่านั้น ผมจะมีเรื่องพวกแนวคิดต่าง ๆ แทรกอยู่ด้วย

ผมมักจะเปรียบเทียบการลงทุนของผมว่า มันเหมือนกับการปลูกต้นไม้ยืนต้น น่ะครับ ถ้าจะถอดออกมาเป็นบทเรียน ก็สามารถสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้ครับ

ข้อที่ 1 เลิกคิดที่จะรวยเร็ว

อ้าวเจอข้อนี้ แทบอยากจะหยุดอ่าน ไม่เอาละเลิกดีกว่า ผมสังเกตเห็นหนังสือหลาย ๆ เล่มวางในท้องตลาด ประมาณว่ารวยเร็วภายใน 24 ชั่วโมง รวยพันล้าน อะไรแบบนี้ จริง ๆ ผมทราบนะครับว่ามันเป็นการตลาดกระตุ้นความสนใจ ให้ผู้อ่านหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน แต่ส่วนตัว ผมเชื่อว่า คงยากมากที่จะมีวิธีใด ๆ ที่พิสูจน์ได้ว่ามันสามารถทำให้เรารวยเร็วมาก ๆ ระดับนั้น เพราะถ้ามี อย่างแรก ผมว่า เขาก็คงไม่มาบอกเราหมดหรอกครับ และ อย่างที่สอง ทุกคนก็คงรวยกันหมดแล้ว

ผมมองการลงทุนของผมเหมือนกับการปลูกต้นไม้ยืนต้นน่ะครับ เราจะคาดหวังว่ามันจะออกดอกออกผลภายในวันสองวันก็คงไม่ใช่ เราจะดูการเจริญเติบโตของมันไปเรื่อย ๆ ครับ เลี้ยงให้มันเติบใหญ่ขึ้นมา และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ต้นไม้นั้นก็จะออกดอกออกผลให้เร็วเก็บเกี่ยวได้ตลอดชีวิต ผมมองแบบนี้นะครับ ดังนั้นความคาดหวังเรื่องว่าจะรวยภายในวันนี้ พรุ่งนี้ เดือนนี้ หรือแม้กระทั่งปีนี้ สำหรับผมก็จะไม่มี (หรือเอาเป็นว่ามีน้อยก็แล้วกันครับ)

ข้อที่ 2 เลือกลงทุนในบริษัทที่ทำสินค้าหรือบริการที่ตัวเองชอบหรือมีความเชื่อในสินค้าหรือบริการนั้น

ปัจจัยอันนี้ สำหรับผลอาจจะต่างจากนักลงทุนสาย VI ทั่ว ๆ ไปนะครับ คือ สาย VI ส่วนใหญ่เขามักจะเน้นว่าเขาดูพื้นฐานกิจการ (ซึ่งผมก็ดูนะครับ ไม่ใช่ไม่ดู) ถึงแม้จะเป็นสินค้าหรือบริการที่ตัวเองอาจจะไม่ได้ “อิน” สักเท่าไร แต่ถ้าราคามันต่ำกว่าพื้นฐาน มีแนวโน้มเติบโตได้ เขาก็จะเข้าไปลงทุน แต่ส่วนตัวของผม ผมมักจะ scan ดูบริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการที่ผมชอบก่อน และมักจะเป็นสินค้าหรือบริการที่ผมมักจะซื้อหรือใช้บริการเป็นประจำซะด้วย เรื่องราคาเอาแค่พอสมเหตุสมผล (อะไรคือสมเหตุสมผล ก็อาจจะดูง่าย ๆ จาก %การปันผล หรือค่า PE ratio ตรงนี้ขอไม่ลงรายละเอียดนะครับ) ไม่ได้เน้นว่าจะต้องต่ำมาก ๆ แต่อย่างใด เพราะผมเชื่อว่าเราจะรอจนจุดราคาต่ำสุดแล้วซื้อ คงไม่มีวันจะได้ซื้อ และถ้าเราเลือกหุ้นได้ดี ราคาวันนี้มันอาจจะไม่ถูก แต่ในอนาคต ไม่ช้าก็เร็ว ราคาที่เราซื้อมันจะถูกเองแหละครับ เพราะบริษัทนั้น ๆ มันก็จะค่อย ๆ เติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ

ผมมองแบบนี้ครับ ถ้าเราได้ลงทุนในบริษัทที่ทำสินค้าหรือบริการที่เราชอบแล้ว โอกาสที่เราจะอยู่กับการลงทุนนั้นนาน ๆ มันจะมีสูงกว่า การลงทุนในบริษัทที่ทำสินค้าหรือบริการที่เราไม่มีความคุ้นเคยเลย ส่วนใหญ่แล้วคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “นักลงทุนระยะยาว” มักจะทนไม่ได้ เมื่อมันเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากระทบราคาหุ้น เพราะมันเกิดความหวั่นไหวได้ง่าย และเขาก็พร้อมจะขายหุ้นนั้น ๆ ทิ้งอยู่เสมอ เพราะเขาไม่มี “ความเชื่อ” ในสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ไงครับ

ถ้าเปรียบกับการปลูกต้นไม้ยืนต้น เราก็คงต้องเลือกก่อนใช่ไหมครับว่า ต้นไม้ที่เราจะนำมาปลูกนั้น มันเป็นต้นไม้ที่เราชอบหรือไม่ ถ้ามันเป็นต้นอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นจะชอบเลย แบบนั้น โอกาสที่เราจะปลูกและดูแลต้นไม้นั้นไปเรื่อย ๆ ในระยะยาวมันก็จะน้อยลง จริงไหมครับ ส่วนเรื่องราคาของต้นไม้นั้น เอาว่ามันไม่มากจนเกินไป อยู่ในราคาตลาด ผมก็รับได้ครับ หรือต่อให้มีต้นไม้ต้นอื่นที่ส่วนตัวผมไม่ชอบ แต่เขาขายถูกมาก ๆ ผมก็คงไม่ซื้อมาปลูกน่ะครับ

ข้อที่ 3 เลือกลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโต แต่มีความมั่นคง

หลังจากที่ผมเลือกบริษัทที่ทำสินค้าและบริการที่ผมชอบแล้ว ผมจะมองต่อด้วยว่า บริษัทนั้น ๆ อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างยั่งยืนหรือไม่ ตรงนี้จริง ๆ ทุกคนน่าจะหาข้อมูลไม่ยากครับ มันมีพวก Mega Trend ให้เห็นอยู่แล้ว เช่น สังคมผู้สูงอายุ เทคโนโลยีต่าง ๆ แต่ผมไม่เน้นโตเร็วแบบกลวง ๆ นะครับ ประเภทบริษัทที่เล่นเกมทางการเงินเยอะ ๆ เพื่อปั่นยอดขาย อะไรแบบนั้น สำหรับผม มันเสี่ยงเกินไป ใช่ครับ ผมเห็นหลายบริษัทที่ราคาหุ้นมันเติบโตเป็นหลายเท่า ถามว่าเสียดายไหมที่ไม่ลงทุนในบริษัทเหล่านั้น ตอบว่า นิดหนึ่งครับ แต่ไม่มาก เพราะให้ย้อนเวลากลับไป ผมก็คงไม่กล้าลงทุนในลักษณะนั้นหรอกครับ มันเสี่ยงมากเกินไป

ก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ยืนต้นแหละครับ เราคงไม่เลือกต้นประเภทบอนไซมาปลูกจริงไหมครับ ถ้าเราหวังว่าอยากได้กินผลของมัน เพราะมันไม่โต และไม่ก็ไม่มีผลให้กินด้วย เราคงต้องเลือกประเภทต้นไม้เหมือนกัน ยิ่งโตเร็วยิ่งดี แต่เราไม่ได้ดูว่ามันจะโตแบบต้นหญ้า ประเภทแป๊บเดียวก็สูงพรวดพราด แล้วก็เหี่ยวเฉาไปอย่างรวดเร็ว เราคงต้องเลือกต้นที่มีฐานรากมั่นคง มีรากแก้วหยั่งลึกลงไป อะไรแบบนั้นด้วย

ข้อที่ 4 ซื้อแล้วไม่คิดจะขาย

อะไรนะ ไม่ขายเหรอ งั้นจะซื้อทำไมล่ะ คืออันนี้แล้วแต่มุมมองครับ บางคนมองหุ้นเหมือนสินค้า ซื้อมาขายไป ก็ไม่ได้ผิดอะไรครับ แต่เป็นคนละแนวทางกับผม ปกติผมมองหุ้นว่ามันเหมือนการลงทุนทำธุรกิจโดยเราไปหุ้นกับเพื่อนน่ะครับ ก่อนอื่น เราต้องเลือกให้ดี ๆ ก่อนว่าเรารักธุรกิจนั้นไหม (เหมือนที่เล่าไปก่อนหน้านี้) ต่อมา เราตัดสินใจลงทุนไปแล้ว พรุ่งนี้ เราคงไม่ถอนหุ้นออกใช่ไหมครับ

ผมก็ไม่ได้บอกว่า งั้นแปลว่าอย่างไรก็ไม่ขายใช่ไหม คงไม่ถึงขนาดนั้นครับ ถ้าธุรกิจนั้นมันทำท่าจะแย่ในระยะยาว ด้วยโลกเราที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจริงไหมครับ อันนั้นเราก็ค่อยพิจารณาอีกทีก็ได้ แต่โดยทั่วไป ผมคิดว่า ถ้าผมเลือกธุรกิจอย่างรอบคอบแล้ว ผมก็มักจะอยู่กับการลงทุนนั้นเป็นระยะเวลานาน

แล้วเมื่อไรจะขายล่ะ ผมมักจะดูปัจจัยดังต่อไปนี้ครับ

1) พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนไป เช่น บริษัทเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ ที่ไม่ได้ตรงกับความสนใจของผม หรือไม่ก็มีทิศทางระยะยาวที่มันไม่น่าจะดี อุตสาหกรรมมันกำลังจะหดตัวลงไปเรื่อย ๆ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนตัวผู้นำองค์กร และเราเริ่มจะไม่เชื่อมั่นในตัวผู้นำคนใหม่ อะไรทำนองนี้ครับ

2) มีการลงทุนอื่นที่น่าสนใจมากกว่ามาก ๆ บางที มันก็มีโอกาสเข้ามาครับ และเราก็ไม่อยากพลาดโอกาสนั้น เช่น ไปเจออีกบริษัทหนึ่งที่พิจารณาดูแล้วว่ามันเจ๋งมาก ๆ แต่หาเงินไม่ได้เลย ก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นที่เราถืออยู่ออกไปบางส่วน หรือทั้งหมดก็ได้ เพื่อการลงทุนที่ดีกว่า แต่ปกติแบบนี้ก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักครับ

3) มีความจำเป็นต้องใช้เงินในเรื่องอื่น ๆ อันนี้ ห้ามกันไม่ได้ครับ เพราะมันเป็นเรื่องความจำเป็นส่วนบุคคลหรือเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว แต่ต้องระวังว่า อย่าไปใช้ในเรื่องที่ฟุ่มเฟือย ประเภทขายหุ้น ไปซื้อรถใหม่ อะไรแบบนี้ ต้องคิดให้หนัก ๆ เลยนะครับ

ผมมักจะยึดหลัก 3 ข้อนี้แหละครับในการขายหุ้น และถ้าจะต้องขาย ผมก็ไม่ดูต้นทุนผมหรอกครับว่ามันเท่าไร เอาตรง ๆ ผมแทบจะจำไม่ได้แล้วด้วยซ้ำครับว่า หุ้นผมน่ะต้นทุนเท่าไร เพราะต้นทุนมันเป็นอดีตไปแล้วครับ เรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ มันจึงไม่ส่งผลใด ๆ กับการตัดสินใจในอนาคตเลยครับ (ศัพท์วิชาการเขาเรียกว่าเป็นต้นทุนจม หรือ Sunk Cost ครับ) ถ้ามันเข้าข่าย 3 ข้อข้างบน ไม่ว่าต้นทุนเท่าไร จะขาดทุนหรือกำไร ผมก็ขายครับ

หลายคนมีคำถามว่า แล้วถ้าราคาหุ้นมันขึ้นไปแรง ๆ มาก ๆ เกินพื้่นฐาน ไม่ขายออกไปก่อนเหรอ แล้วพอมันตกมาแล้วค่อยช้อนซื้อกลับคืน ผมคิดอย่างนี้ครับ เราไม่รู้หรอกครับว่า มันจะขึ้นไปแค่ไหน และมันจะตกมาไหม และถ้าเราซื้อ ๆ ขาย ๆ บ่อย ๆ โอกาสพลาดมันจะมีเยอะกว่า ไม่รู้นะครับ สาย Technical เขาอาจจะมีเครื่องมือดี ๆ ที่จะบอกตรงนี้ได้ แต่อย่างที่บอกทุกท่านก่อนหน้านี้ครับ คือผมไม่ได้อยู่สายนั้น ผมจึงไม่สนใจที่จะขายเวลาหุ้นมันขึ้นไปแรง ๆ

ซื้อแล้วไม่ขาย จะทำกำไรได้อย่างไร อย่างที่บอกครับ ผมมองว่าการลงทุนหุ้นของผมเหมือนกับการปลูกต้นไม้ยืนต้น ดังนั้น ผมไม่ได้หวังว่าผมจะปลูกต้นไม้ไว้สักสัปดาห์ พอราคาต้นไม้นี้ขึ้น ผมก็จะขายออกไปทำกำไร แล้วพอราคาต้นไม้นี้ตกลงมา ผมก็จะกลับมาซื้ออีกครั้ง แต่ผมกะจะปลูกต้นไม้นี้ไว้ตลอดไป ให้มันเติบใหญ่ จนกระทั่งมันมีดอกผลมาให้เรา ถ้าจะเปรียบกับหุ้นก็เหมือนจะรอปันผลก็ได้ครับ และพอเราได้ผลไม้นั้นมา เราก็เอาไปขายเอาเงินไปซื้อพันธุ์ไม้ยืนต้นนั้นเพิ่มเติมอีก ก็เหมือนกับเราเอาปันผลมาลงทุนซื้อหุ้นนั้น ๆ เพิ่มอีกก็ได้ครับ เวลาผ่านไปเราก็จะมีไม้ยืนต้นจำนวนมาก ที่ให้ดอกผลให้เราเก็บเกี่ยวไปได้เรื่อย ๆ ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเรา

งั้นแปลว่า ต้องซื้อเฉพาะหุ้นที่มีปันผลสูง ๆ ใช่ไหม ก็ไม่เสมอไปครับ บางบริษัทอาจจะไม่ปันผลเลยก็ได้ เพราะผู้บริหารเชื่อว่า เขาสามารถนำเงินไปลงทุนเพิ่มน่าจะทำให้มูลค่าของบริษัทสูงกว่าที่จะเอามาปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เหมือนต้นไม้แหละครับ ช่วงแรก ๆ มันไม่มีผลเลย เพราะมันอยู่ในช่วงการเจริญเติบโต อ้าวแล้วถ้าไม่ปันผลเลย เราจะทำกำไรอย่างไร ผมบอกแบบนี้ครับว่า หุ้นมันคือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงมาก ถ้าราคาหุ้นมันเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ และเราต้องการจะใช้เงินเมื่อไร เราก็มักจะขายมันออกไปบางส่วนก็ได้ครับ เราไม่ต้องรอปันผลก็ได้ ถ้าเรามีความจำเป็นต้องใช้เงิน

โดยสรุปนะครับ ผมคิดว่าแนวทางการลงทุนนี้ จะประสบความสำเร็จในระยะยาว อย่างน้อยก็สำหรับผม ซึ่งระยะหลัง มันก็เป็นเช่นนั้น อย่างที่บอกว่ามันอาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน บางคนอาจคิดแย้งในใจว่า ไม่เห็นมันจะมีอะไรเลย เลือกหุ้นที่ชอบ ที่ดูแล้วน่าจะเติบโต มั่นคง แล้วก็ซื้อทิ้งไว้ ถ้ามันง่ายแบบนี้ ทุกคนก็รวยหมดแล้วสิ ใช่ครับ ถ้ามัน “ง่าย” ทุกคนก็น่าจะรวยได้ง่าย ๆ แต่ มันไม่ง่ายเลยครับ การที่เราจะอดทนกับความยั่วยวนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทาง ไม่ให้เราขายหุ้นทิ้ง เวลามีข่าวว่าเศรษฐกิจทำท่าจะแย่ ไม่ให้เราวิ่งไปซื้อหุ้นปั่น เวลาเห็นเพื่อน ๆ post ลง Facebook ว่าเขาได้กำไรหลายเท่าในระยะเวลาไม่กี่เดือน สิ่งเหล่านี้ ทำให้แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ยากกว่าการซื้อ ๆ ขาย ๆ เอาซะอีกครับ บางคนบอกจะเป็นนักลงทุนระยะยาว แต่พอ 2 เดือน ก็ขายหุ้นทิ้งแล้ว

เลือกพันธุ์ไม้ดี ๆ ครับ ปลูกไว้ และค่อย ๆ ชื่นชมความเติบโตงอกงามของมัน แล้วเอาเวลาที่เหลือไปทำงานอื่น ๆ ที่เรารัก รอคอยเวลาที่ต้นไม้นั้นค่อย ๆ เติบโต จนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่ให้ร่มเงากับเรา ให้ดอกผลกับเราต่อไป

ใช่ครับ แนวทางนี้มันดูง่าย ดูไม่ซับซ้อน แต่ผมเชื่อว่าแนวทางที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นแนวทางที่ง่ายอย่างคาดไม่ถึงครับ แต่กลับเป็นแนวทางที่หลายคนมองข้ามไป เราไปพยายามหา “สูตรลับ” ความรวยในตลาดหุ้น ซึ่งสำหรับผมแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอยู่ไหม เราใช้เวลามหาศาลกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งผมว่าเราน่าจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่เรารักเราชอบ และสร้างรายได้ให้กับเรามากกว่า

เอาเป็นว่า อันนี้เป็นแนวทางของผมแล้วกันนะครับ ลองนำไปพิจารณาดูก่อนก็ได้ครับว่าตรงกับลักษณะนิสัยของท่านหรือเปล่า หวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

ผมว่าถ้า Warren Buffet มาเริ่มต้นเล่นหุ้นใหม่ก็อาจจะไม่รวยเท่านี้

อ้าว ชื่อหัวข้อนี้ ล่อเป้าซะแล้ว แหม ผมเป็นใคร รวยแค่ไหน เล่นหุ้นได้อย่างเขาหรือเปล่า อยู่ดี ๆ มาว่า Buffet ไม่ได้เรื่องเหรอไง เขามีผลงานให้เห็นชัดเจนว่าวิธีที่เขาใช้แล้วมันสำเร็จ จะมา question เขาเหรอ ผมล่ะ เล่นหุ้นแล้วรวยได้สัก 1% ของเขาได้หรือเปล่า (0.1% ยังไม่ถึงเลยครับ 555) แล้วถือดีไง มาบอกแบบนี้

ใจเย็น ๆ ครับ อ่านให้จบก่อน 555

คืองี้ครับ ที่ผมกำลังจะสื่อ ไม่ใช่จะบอกว่า Warren Buffet ไม่เก่ง รวยเพราะฟลุ้ก นะครับ จริง ๆ Buffet เป็น Idol คนหนึ่งของผมเหมือนกันครับ

แต่ผมมีทฤษฎีอันหนึ่ง ที่ผมได้มาจากการอ่านหนังสือหลาย ๆ เล่ม เล่นหุ้นมาก็ 20 กว่าปีละ ยิ่งเห็นตลาดหุ้นมามากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ผมเชื่อในทฤษฎีนี้มากเท่านั้น

คือผมเชื่อว่า ความสำเร็จในตลาดหุ้นนั้นมันมี 3 ปัจจัยที่สำคัญครับ อันแรกคือ ความรู้ อันที่สองคือ Mindset และ อันสุดท้ายคือ ความบังเอิญ หรือที่เรามักจะเรียกว่า โชค นั่นแหละครับ

และจริง ๆ แล้ว ผมว่าไม่ว่าจะเรื่องใด ความสำเร็จมันก็จะมาจาก 3 ปัจจัยนี้ทั้งนั้นแหละครับ

คราวนี้ที่ผมเชื่อว่า “ถ้า Warren Buffet มาเริ่มเล่นหุ้นใหม่ ก็อาจจะไม่รวยเท่านี้” เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะผมเชื่อว่า ถึงแม้ว่า Buffet จะความรู้เชี่ยวชาญเหมือนเดิม มี Mindset ในการเล่นหุ้นที่ถูกต้องเหมือนเดิม แต่ที่ผลมันอาจจะไม่เท่าเดิม ก็เพราะตัวแปรสุดท้ายที่เรียกว่า “โชค” นั่นแหละครับ

ตัวแปรนี้แหละครับ ที่เป็นตัวแปรที่เราควบคุมไม่ได้ ผมเชื่อว่ามีคนที่อ่านงบ วิเคราะห์งบได้เก่งไม่แพ้ Buffet หลายคน ขยันศึกษาหาความรู้ไม่แพ้ Buffet ก็หลายคน และก็มี Mindset ในการลงทุนที่ถูกต้องก็หลายคน แต่เราก็ยังมี Buffet อยู่คนเดียว ทำไมเหรอครับ เพราะตัวแปรที่ 3 ที่เรียกว่า โชค หรือ ความบังเอิญนี่แหละครับ

เพราะถ้ามีแค่ความรู้และ Mindset ที่ถูกต้อง ก็ทำให้ประสบความสำเร็จสุด ๆ แล้ว ถ้างั้น เราจะต้องมี Buffet หลายร้อย หลายพันคนแล้ว ผมเชื่ออย่างนั้น

ที่สำคัญผมยังเชื่ออีกว่า ในตลาดหุ้นนั้น มันมีปัจจัยที่มันควบคุมได้ยากมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ครับ

เอาเรื่องกีฬามาเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ สมมุติว่า Michael Jordan นักบาสเก็ตบอลระดับตำนาน สามารถย้อนเวลากลับไปเล่นบาสใหม่ ย้อนไปตอนอยู่ high school เลย ท่านคิดว่าเขาจะกลายเป็นตำนานนักบาสเหมือนเดิมไหมครับ

น่าคิดนะครับ เพราะบางที เขาอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบที่เขาเป็นก็ได้ แต่ผมก็เชื่อว่า หลาย ๆ คนก็ยังคิดว่า ยังไงเขาก็น่าจะประสบความสำเร็จไม่มากก็น้อยแหละ ความสามารถเขาระดับนั้น แถมยังมี winning mindset อีก

ผมก็เชื่ออย่างนั้นแหละครับ เพราะผมว่า ในเกมกีฬา ถึงแม้โชคจะเข้ามามีส่วนบ้าง แต่ต้องยอมรับว่า มันก็มีไม่มากนัก ถ้าเทียบกับ ความสามารถและ Mindset ของนักกีฬา Michael Jordan อาจจะไม่ได้แชมป์เยอะขนาดนั้น แต่ก็อาจจะได้หลายแชมป์เหมือนเดิม

แต่ผมว่าตลาดหุ้น มันมีปัจจัยที่ control ไม่ได้หลายอย่าง ที่มันอาจจะทำให้ผลลัพธ์มันเปลี่ยนไปได้เลย ถึงแม้ว่า ระดับของความรู้ กับ Mindset ยังคงเหมือนเดิม

แล้วไงเหรอครับ แปลว่า งั้นอย่าเล่นหุ้นเลย หาความรู้ไปก็เท่านั้น มี Mindset ถูกก็เท่านั้น เพราะในที่สุดแล้วมันก็ดวงล้วน ๆ เหรอ (ถามจริง ๆ ตอนเขียนเรื่องนี้ ติดดอยหุ้นอยู่ใช่ป่ะ 555)

ไม่ใช่เลยครับ ไม่ใช่เลย สิ่งที่ผมกำลังจะสื่อคือ ที่ผมว่าตัวแปร 3 ตัวนี้มันส่งผลต่อความสำเร็จนั้น ในทฤษฎีผมมันมีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญอยากจะบอกครับ

คือผมเชื่อว่า เมื่อถ้าเราทำให้ปัจจัยเรื่องความรู้กับ Mindset มันดีขึ้น ปัจจัยเรื่องความบังเอิญมันจะลดลงโดยอัตโนมัติครับ!!

เหมือนแบบนี้ครับ สมมุติว่าผลรวมของปัจจัยทั้ง 3 มันจะเท่ากับ 100 คะแนนเต็ม ถ้าปัจจัยเรื่องความรู้กับ Mindset มันอยู่ที่ 50 ก็แปลว่าจะมีเรื่องโชคอีก 50 แต่ถ้าเราหาความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปรับ Mindset ในการลงทุนให้ถูกต้อง จนกระทั่ง 2 อันนี้มีคะแนนอยู่ที่ 70 แปลว่าเรื่องโชคชะตาก็จะเข้ามามีส่วนแค่ 30 เท่านั้น!!

คิดง่าย ๆ ครับ ถ้าท่านเข้ามาในตลาดหุ้น แบบไม่มีความรู้ใด ๆ มี Mindset แบบอยากรวยเร็วอย่างเดียว เรียกว่าทั้งสองอย่างอยู่ในระดับ 0 แล้วก็จิ้มหุ้นมั่ว ๆ ตามข่าวกระซิบต่าง ๆ เล่นหุ้นแบบนี้มันก็เหมือนกับเข้าบ่อนไหมครับ เพราะท่านต้องอาศัยโชค 100% เต็มเลย ใช่ครับ บางที ท่านอาจจะได้บ้าง (โชคดี) แต่ที่สุดแล้ว ท่านก็เสียจนได้ (โชคร้าย)

แต่ถ้าท่านหาความรู้เพิ่มขึ้น ปรับ Mindset เรื่องการลงทุนให้ดีขึ้น ปัจจัยเรื่องโชคมันก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ แต่มันก็ยังคงต้องมีอยู่ครับ บางที ดูแล้วหุ้นนี้ดี อ่านงบ ดูกราฟแล้วใช่ แต่ซื้อไปก็ยังผิด (โชคร้าย เจอเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง) ก็ยังมีจริงไหม แต่โอกาสจะเกิดขึ้นมันก็จะน้อยลง

Buffet เขาอาจจะมีความรู้และ Mindset อยู่ในระดับที่ 90 ก็ได้ แต่ยังไงก็ตาม มันก็ยังมีส่วนของโชคอยู่ดี และผมไม่เชื่อว่าจะมีใครที่สามารถมีความรู้และ Mindset อยู่ในระดับที่ 100 โดยจะไม่มีปัจจัยเรื่องโชคหรือความบังเอิญเข้ามาทำอะไรได้เลย

แต่ส่วนที่เราสามารถปรับปรุงตัวเองได้ คือเรื่องความรู้กับ Mindset นี่แหละครับ ยิ่งทำให้ดีมากขึ้นเท่าไร โชคก็ทำอะไรกับเราได้น้อยเท่านั้น

พยายามเพิ่มสองสิ่งนี้ให้มากที่สุดนะครับ ถ้าท่านทำเต็มที่แล้ว จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ อันนั้นเราก็ควบคุมไม่ได้แล้วจริงไหมครับ แต่อย่างน้อย มันก็ไม่มีอะไรที่น่าเสียใจอีกต่อไป เราจะได้ไม่ต้องมาพร่ำบ่นว่า “รู้อะไรก็ไม่สู้ รู้งี้” นะครับ 555

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho