การล้มเลิกถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง

การล้มเลิกในสิ่งที่ไม่ใช่คือแนวทางที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น แค่เรากล้าที่จะล้มเลิกในการทำสิ่งนั้นก็ถือว่าเป็นความสำเร็จแล้ว

Continue reading

ถ้าตัวเราในอีก 5 ปีข้างหน้า มาคุยกับเราในตอนนี้…

คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมได้จากการอ่าน Post ใน Facebook ของคุณบอย วิสูตร นักเขียน นักพูดชื่อดังคนหนึ่งครับ ตอนแรกก็นั่งคิดเล่น ๆ ว่าจะตอบอะไรดี แต่ระหว่างที่คิด มันกลับได้ความคิดอีกแบบหนึ่ง

ผมว่ามันเป็นคำถามที่ลึกมากนะครับ ลองมองดูดี ๆ ว่า คำตอบมันสะท้อนว่าอะไร แต่ก่อนที่จะวิเคราะห์ ผมอยากให้ทุกคนที่อ่านอยู่ถึงตอนนี้ ลองคิดว่า เป็นตัวเองจะตอบคำถามนี้ว่าอย่างไรนะครับ

“ถ้าตัวเราในอีก 5 ปี ข้างหน้า มาคุยกับตัวเราตอนนี้ คิดว่า เขาจะบอกอะไรเราครับ”

เอ้า ให้เวลา 1 นาที ครับ คิดเลยครับ แล้วลองหาคำตอบดู

คิดว่าน่าจะได้คำตอบกันแล้วนะครับ แต่สิ่งที่อยากจะให้วิเคราะห์ต่อคือ คำตอบอันนั้น มันสื่อถึงสิ่งที่เรามองตัวเองในอนาคตนั่นเอง

เช่น ถ้าเรากลับมาบอกตัวเราในปัจจุบันว่า “ให้ขยัน ๆ กว่านี้ ตัวเราจะได้สบาย” มองเผิน ๆ เหมือนกับว่าเรามาเตือนสติตัวเองให้ ตัวเองตั้งใจขยันทำมาหากิน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่มองลึกไปกว่านั้น แปลว่า ณ ขณะนี้ เราก็เชื่อว่าอีก 5 ปี ถ้าเรายังทำตัวแบบนี้อยู่ เราจะไม่ประสบความสำเร็จนั่นเอง

หรือถ้าเรากลับมาบอกตัวเองว่า “น่าจะลาออกซะตั้งแต่ตอนนี้” แปลว่า เราเชื่อว่าในอนาคตอีก 5 ปี เราอาจจะเพิ่งลาออกแล้ว พบอิสรภาพ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ก็เลยอยากย้อนกลับมาบอกตัวเราตอนนี้ว่า เราน่าจะทำแบบนี้ตั้งนานแล้ว

ไม่ว่า คำตอบของคำถามนั้น คืออะไร ผมว่า มันน่าจะเอาไปวิเคราะห์ต่อ เราไม่ต้องรออีก 5 ปี เพื่อให้ตัวเราเอง ย้อนกลับมาเตือนตัวเราหรอกครับ (ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว) เราเตือนตัวเราตอนนี้เลยดีกว่า ผ่านคำถามนี้

สำหรับผม ผมตอบคำถามนี้ว่า “นายทำถูกแล้ว ทำต่อไปเถอะ” แปลว่า ลึก ๆ ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำอยู่ในปัจจุบัน มันน่าจะดีกับตัวผมในอนาคตอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังมีความลังเลอะไรหลาย ๆ อย่างอยู่ แต่เมื่อตัวเราในอนาคตบอกว่า “นายทำถูกแล้ว ทำต่อไปเถอะ” แปลว่า ไม่ว่าผมจะตัดสินใจอะไร มันจะถูกเสมอ

จะว่าเป็นการให้กำลังใจตัวเองก็ได้นะครับ แต่มันก็มีพลังมากเพียงพอ ที่ทำให้เราสามารถฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้นะครับ

5 ปีข้างหน้า เราไม่รู้หรอกครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือสิ่งที่เกิดขึ้น “ตอนนี้” เพราะฉะนั้นทำให้ดีที่สุด ถ้าตัวเราในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถกลับมาบอกตัวเราในปัจจุบัน ผมอยากให้เป็นคำเดียวคือ

“เราขอบใจ นาย/เธอ มากนะ เราขอบใจจริง ๆ “

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

วิธีทำงานให้สำเร็จโดยไม่ต้องทำให้เสร็จทุกเรื่อง

เวลาผมไปบรรยายเรื่องการวัดผล ผมมักจะไม่ค่อยพลาดในการบรรยายเรื่องนี้ครับ เพราะสำหรับผม ผมคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่ work มาก

ปัญหาของผู้บริหารส่วนใหญ่คือ เรามักจะมีทรัพยากรจำกัดอยู่เสมอ และถ้าเราเอาทรัพยากรที่จำกัดอยู่แล้ว ไปพยายามแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน เรามักจะแก้ไม่ได้สักปัญหา และทรัพยากรที่มีน้อยอยู่แล้วก็หมดลงไปในที่สุด

แล้วจะให้ทำอย่างไร

สิ่งที่เราควรทำคือเราควรแก้ปัญหาที่มีความสำคัญที่สุดก่อนไงครับ

เหมือนกับกฎของ Pareto หรือหลายคนรู้จักกันในชื่อกฎ 80-20 ที่เขาบอกว่า 20% ของปัญหา มันสร้างความเสียหายทั้งหมด 80% ส่วน 80% ของปัญหาที่เหลือรวมกันมันสร้างความเสียหาย 20% เท่านั้น

ประเด็นคือเราจึงควรจะต้องหาให้เจอว่าปัญหาสำคัญ 20% นั้นอยู่ที่ไหน และตรงนี้แหละครับที่เราสามารถเอาเครื่องมือที่เรียกว่า P-I Matrix มาปรับใช้ได้

P-I Matrix คืออะไร มันก็คือการวัด 2 ด้านได้แก่ Performance (P) หรือระดับของผลการดำเนินงาน กับ Importance (I) หรือระดับความสำคัญ

ดังนั้นเวลาวัดหรือประเมินอะไรก็ตาม อย่าลืมประเมิน 2 ด้านนะครับ คือเรื่องนั้น เราทำได้ดีขนาดไหน และ เรื่องนั้น มันสำคัญกับเราขนาดไหน ส่วนใหญ่แล้วผลการประเมินมันจะอยู่ 1-4 ข้อดังต่อไปนี้

1. เราทำได้ดีมาก และ เรื่องนั้นสำคัญมาก

อันนี้กลยุทธ์ง่าย ๆ คือ เราต้องพยายามรักษาระดับไว้ครับ เราทำได้ดีแล้ว และเรื่องนั้นก็สำคัญมากด้วย เช่น ผมเป็นอาจารย์ หน้าที่ที่สำคัญคือผมต้องสอนหนังสือ และผมก็สอนหนังสือได้ดีมาก แบบนี้ดีแล้วครับ รักษาระดับนี้ไว้

2. เราทำได้ดีมาก แต่เรื่องนั้นไม่ค่อยสำคัญ

อันนี้แปลว่า เราใช้เวลามากเกินไป ใช้ทรัพยากรมากเกินไป หรือพูดง่าย ๆ ว่าเราทุ่มเทผิดที่ครับ แบบนี้ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เช่น ผมจัดแฟ้มเก่งมาก แต่ผมเป็นอาจารย์ ถ้าผมมาใช้เวลามานั่งจัดแฟ้ม อาจจะทำได้ดีสุด ๆ แต่มันเป็นใช้เวลาไปผิดที่ผิดจุดครับ เราควรให้คนอื่นทำเรื่องนี้แทนดีกว่า เอาเวลาไปใช้ทำสิ่งที่สำคัญมากกว่านี้ดีกว่า

3. เราทำได้ไม่ดี แต่เรื่องนั้นก็ไม่สำคัญ

อันนี้ไม่ต้องตกใจครับ เราทำถูกแล้ว เพราะเรามีเวลาจำกัด ผมอาจจะจัดแฟ้มได้ไม่ดี ก็ถูกแล้ว เพราะผมไม่ควรจะไปฝึกจัดแฟ้มให้ดีอยู่แล้ว เพราะมันไม่สำคัญกับอาชีพของผมในฐานะอาจารย์สักเท่าไร

4. เราทำได้ไม่ดี แต่เรื่องนั้นมันสำคัญมาก

อันนี้แหละครับคือจุดที่เราต้องปรับปรุงตัวเองอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าปล่อยไปเราแย่แน่ ๆ เช่น ผมสอนไม่ดี แต่การสอนเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับคนที่เป็นอาจารย์ เอาเวลาที่มีพยายามปรับปรุงการสอนให้ดีที่สุด (อย่ามัวไปนั่งจัดแฟ้ม)

คราวนี้ในบรรดากิจกรรมทั้งหมดที่เราทำ พยายามให้มันอยู่ในแบบที่ 1 กับ 3 ให้มากที่สุดครับ คือ เราควรทำได้ดี ในสิ่งที่สำคัญ (รูปแบบที่ 1) ส่วนที่ไม่สำคัญนัก เราก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเวลามาก (เพราะเวลาเราจำกัด) และไม่จำเป็นต้องทำให้ดีนัก (รูปแบบที่ 3) ส่วน รูปแบบที่ 2 (ทุ่มเททำในสิ่งที่ไม่สำคัญ) กับรูปแบบที่ 4 (ทำได้ไม่ดี ในสิ่งที่สำคัญ) พยายามลดลงให้มากที่สุดครับ

คนสำเร็จไม่ใช่คนที่มีเวลาหรือทรัพยากรมากกว่าคนอื่น แต่เป็นคนที่เลือกใช้เวลาและทรัพยากรไปถูกจุดมากกว่าครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

งานแบบไหนที่เราทำแล้ว จะทำให้เราสำเร็จ

ก่อนอื่นนะครับ เราต้องนิยามของคำว่า “สำเร็จ” ก่อน คือแต่ละคนอาจจะนิยามคำนี้ต่างกัน บางคน สำเร็จหมายถึงได้เงินเยอะ ๆ บางคน สำเร็จก็อาจจะหมายถึงทำสิ่งที่ตนเองชอบ

สำหรับนิยามที่ผมหมายถึง คือ สำเร็จคืองานที่สร้างรายได้ให้เรา และทำให้เราเติบโตแบบก้าวกระโดดน่ะครับ

Idea นี้มาจากการอ่านหนังสือที่ชื่อว่า Millionaire Fastlane ที่เขียนโดย MJ DeMarco นะครับ

เขาบอกแบบนี้ครับว่า งานที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จมาก ๆ มันต้องมีองค์ประกอบ 5 ประการนี้ครับ

ข้อที่ 1 งานนั้นมันต้องมีประโยชน์กับคนอื่น ยิ่งมีประโยชน์มากเท่าไร เราจะยิ่งมีรายได้มากขึ้นเท่านั้น ดูง่าย ๆ ครับ โรงพยาบาลจะมีค่ายา แพงกว่า ราคากาแฟ เพราะอะไรเหรอครับ กาแฟ ถ้าไม่ดื่ม เราไม่เดือดร้อนสักเท่าไร แต่ถ้าไม่สบายแล้ว ไม่กินยา อันนี้เดือดร้อนมากกว่า ดังนั้นเวลาจะเลือกอาชีพหรือธุรกิจที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จมาก ๆ ก็พยายามเลือกธุรกิจที่เราสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนจำนวนมาก ยึดหลักนี้ไว้ครับ

ข้อที่ 2 งานนั้นมันต้องหาคนทำได้ยาก คือ อย่างนี้ครับ ลองคิดดูว่า ถ้าเราทำงานที่มีประโยชน์มาก ๆ แล้วมีเราคนเดียวเท่านั้นในประเทศนี้ที่สามารถทำงานนี้ได้ คิดว่าค่าตัวเราจะเป็นเท่าไรครับ ผมไม่ได้หมายถึงจะต้องหางานถึงขนาดที่ว่าต้องมีเราในประเทศนี้เท่านั้นที่จะทำได้ แต่ลองมองดูตัวเราครับ ทำอย่างไรให้เรามี Skill ที่หาตัวจับได้ยาก ในอาชีพการงานของเรา ลองดูตัวอย่าง ก็ได้ครับ เช่น นักร้อง นักแสดง ถามว่าจะมีสักกี่คนที่ร้องเพลงได้ระดับนี้ และถ้าเขาสร้างเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนขึ้นมา ต่อให้มีคนร้องได้ดีพอ ๆ กับเขา ก็ทดแทนเขาไม่ได้ นี่แหละครับ ที่เป็นเหตุผลว่า ทำไม นักร้องนักแสดง เหล่านี้ จึงมีค่าตัวแพงมาก ๆ

ข้อที่ 3 งานนั้นมันต้องสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเราเอง คือ ถ้างานนั้นมันต้องไปขึ้นกับคนอื่นเยอะ ๆ เราจะกลายเป็นเบี้ยล่างครับ คือชีวิตเรา จะขึ้นกับชีวิตคนอื่นทันที ยกตัวอย่างนะครับ ระหว่างคนที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ กับ คนซื้อแฟรนไชส์มาทำ คิดว่าใครจะรวยกว่ากันครับ คำตอบคือส่วนใหญ่ เจ้าของแฟรนไชส์ จริงไหมครับ เพราะเขาสามารถควบคุมได้เกือบทุกขั้นตอน ส่วนคนซื้อแฟรนไชส์มานั้น ต้องทำตามกฎระเบียบที่เขาว่าไว้ทุกอย่าง พยายามเลือกงานที่เราสามารถควบคุมในขั้นตอนการทำงานให้ได้มากที่สุดครับ

ข้อที่ 4 งานนั้นมันต้องขยายได้ (Scale) อย่างนี้ครับ ถ้าเราอยากจะได้รายได้สูง ๆ เราต้องคิดถึงงานที่มัน Scale หรือขยายไปได้มาก ๆ ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเราเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว มีโต๊ะอยู่ 5 โต๊ะ แบบนี้ ให้เราทำก๋วยเตี๋ยวได้อร่อยขนาดไหน อย่างเต็มที่ก็รับลูกค้าได้จำกัดไม่เกิน 5 โต๊ะ จริงไหมครับ ธุรกิจแบบนี้มันไม่ Scale แต่ถ้าเราทำ Software Application แบบนี้ ถ้า App เรามันโดนใจ คนจะ Download 5 คน 50 คน 500 คน หรือ 5 ล้านคน มันก็เป็นไปได้ ธุรกิจแบบนี้แหละครับ ที่เรียกว่า Scale พยายามมองธุรกิจแบบนี้ดูนะครับ

ข้อที่ 5 งานนั้นมันต้องไม่โยงกับเวลาของเรา คือถ้างานนั้น ต้องเป็นเราทำเท่านั้น แบบนี้ เราจะสำเร็จยากครับ เพราะเวลาที่เรามีคือ 24 ชั่วโมงต่อวัน เอาแบบไม่หลับไม่นอนเลยนะครับ ดังนั้นความสำเร็จของเราก็จะอยู่ที่ตัวเลข 24 ชั่วโมงนั่นแหละ เช่น สมมุติผมเป็นนักพูดที่เก่งมากนะครับ แต่ให้อยากได้เงินมากอย่างไร ผมก็พูดได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง (ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่มีทางถึง แค่ 6 ชั่วโมงก็แย่แล้ว) เราต้องคิดใหม่ครับ พยายาม Automate งานเรา หรือต้องหาคนมาทำแทนเรา นี่คือสาเหตุที่เราจะเห็นนักพูดเก่ง ๆ เขาเริ่มมีการสร้างตัวแทนมาแทนเขา เขามี Program Train the Trainer และทุกครั้งที่ตัวแทนพูดแทนเขา เขาก็จะได้ส่วนแบ่งเป็น % อย่างนี้แหละครับ ต่อให้เขาไปเที่ยวชายทะเล เงินก็ยังไหลเข้ามาตลอด

ผมอยากให้ทุกคนลองกลับไปดูอาชีพของตัวเองในปัจจุบันครับ ไม่จำเป็นว่าตอนนี้อาชีพเราจะต้องตอบโจทย์ทั้ง 5 ข้ออย่างครบถ้วนหรอกครับ แต่อยากให้ลองให้คะแนน 1-5 ดู 5 คือเป็นแบบนี้ชัดเจน 1 คือไม่ใช่เลย แล้วลองหาดูว่า มันมีข้อไหนที่ได้คะแนนน้อย ๆ บ้าง

ไม่ได้หมายความว่า อ้าว ข้อนี้ได้คะแนนน้อย งั้นลาออก หาอาชีพใหม่ดีกว่า เสมอไปนะครับ ลองหาวิธีที่จะทำให้ข้อนั้น ๆ ได้คะแนนเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องหาอาชีพใหม่กันดูก่อนครับ

เป็นกำลังใจให้ครับ หวังว่าทุกท่านจะประสบผลสำเร็จนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

คนสำเร็จต่างจากคนไม่สำเร็จแค่คำว่า “จะ”

ในระยะหลังมานี่ ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสได้พบเจอคนที่ประสบความสำเร็จมาบ่อย ๆ นะครับ

ขอให้คำนิยามก่อนนะครับ คนที่ประสบความสำเร็จในนิยามของผมคือ คนที่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก และก็ทำได้ดีซะด้วย ไม่ว่าจะได้ทำธุรกิจ และก็ประสบผลสำเร็จอย่างล้นหลามในแง่ของยอดขายหรือกำไร หรือได้ทำในสิ่งที่ตนเองฝันไว้ เช่น ได้เขียนหนังสือออกมาอย่างที่เคยตั้งใจไว้

ประเด็นที่อยากเล่าให้ฟังอยู่ตรงนี้ครับ คือผมสนใจว่า เอ ทำไมคนกลุ่มนี้ ถึงได้ประสบความสำเร็จ ในขณะที่คนจำนวนมากกลับไม่สามารถทำได้อย่างนี้

และที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ คนที่ทำอะไรสำเร็จเหล่านี้ คนไม่ได้ทำสำเร็จแค่ครั้งเดียวนะครับ เขาทำได้สำเร็จ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ดังนั้นจะมาบอกว่าเขาฟลุ้ก มันก็ไม่น่าจะใช่

เอ หรือว่าเขาฉลาดกว่าคนอื่น ก็ไม่จริงเสมอไปอีกนั่นแหละ คนที่เรียนจบมาพร้อม ๆ กับเขา มาจากมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนเดียวกันกับเขา ก็มีเยอะแยะ แต่ก็ไม่ได้จะทุกคนที่จะสำเร็จเหมือนกับเขา ถ้าจะมาวัดความฉลาด ผมว่าคนที่จบมาที่เดียวกัน มันก็น่าจะมีความฉลาดไม่ต่างกันสักเท่าไรหรอกจริงไหมครับ

หรือว่า คนที่สำเร็จ เขามีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นพรสวรรค์ที่แตกต่างจากคนอื่น

ผมว่าก็ไม่จริงอีกแหละ ต้องบอกว่า ผมเคยเจอคนที่มีไอเดียดี ๆ หลาย ๆ คน เวลาเขาเอาไอเดียมาเล่าให้ฟัง บางที ผมต้องบอกเลยว่า โห คิดได้ไงเนี่ย เจ๋งมาก แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นคนเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จมากสักเท่าไร

อ้าว แล้วอะไรกันล่ะ

ใจเย็น ๆ ครับ กำลังจะเฉลย 555

สิ่งที่ผมพบคือ คนที่สำเร็จ มักจะไม่ค่อยมีคำว่า “จะ” อยู่ในประโยคคำพูดครับ คือถ้าจะมีมันก็น้อยมาก อาจจะมีแค่ครั้งหรือ 2 ครั้งเท่านั้น

อะไรนะ แค่นั้นเองเหรอ

ใช่ครับ เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะเขาอาจจะมาเล่าให้ฟังว่า เขา “จะ” ทำอะไร เสร็จแล้ว พอเวลาผ่านไปไม่นาน พอเจอเขาอีกครั้ง คำว่า “จะ” มันจะหายไป เพราะว่า …..

เขาเริ่มทำแล้วไงครับ

บางคนที่ผมเจอ เขาบอกผมว่า อาจารย์ครับ ผม “จะ” ทำธุรกิจนี้แล้วนะครับ มัน work มาก อีกไม่นาน ผมเจอเขาอีกครั้ง และพอถามถึงธุรกิจที่เขาเคยเล่าให้ฟัง เขาก็ยิ้มแล้วบอกว่า ผมทำแล้วครับ

เห็นไหมครับ คำว่า “จะ” มันหายไปเลย เพราะเขาได้ทำมันแล้ว

ต่างจากอีกหลาย ๆ คน ที่ก็มีไอเดียไม่แพ้กัน และก็เคยบอกผมว่า อาจารย์ครับ ผม “จะ” ทำธุรกิจนี้แล้วนะครับ เจอกันอีกที พอถาม เขาก็บอกว่า ครับอาจารย์ กำลัง “จะ” เริ่มเลย และพอเวลาผ่านไป ก็เจอกันใหม่ พอถามถึง เขาก็บอกว่า อ๋อ เลิกไปแล้วครับ มันไม่ work แต่ผมว่า ผม “จะ” ทำอันนี้ดีกว่า

มีแต่คำว่า “จะ” เต็มไปหมดเลย แต่ไม่ทำซะที 555

ลองลดคำว่า “จะ” ลงครับ แล้วทำเลย คิดให้ดีให้รอบคอบ เสร็จแล้วลงมือทำ เหมือนกับ Slogan ของ Nike ที่ว่า Just do it

ทำต่อเนื่อง อย่าล้มเลิก ไม่ว่ามันจะยากแค่ไหนก็ตาม เราต้องทำให้สำเร็จ

แค่นี้ ผมว่าเราก็กลายเป็นคนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้นแล้วครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho