เล่าประสบการณ์การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาครบ 19 ปี ว่ามีหน้าที่หลักอะไรบ้าง เผื่อท่านใดสนใจอาชีพนี้ครับ
Continue readingหรือต่อไปจะไม่มีใครเรียนจบ
บทความนี้เป็นงานพูดที่ผมไปพูด TED Talk (TEDxKhonKaenU) มาครับ ใครอยากฟังมากกว่าอ่าน ก็กดดู clip ได้เลยครับ
.
ผมพูดถึงมหาวิทยาลัยไทยในอนาคตที่กำลังจะเจอมรสุม 3 ลูกพร้อม ๆ กัน
.
.
1. เราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว
.
สัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมดมาตั้งแต่ปี 2007 แล้ว นี่คือนิยามของคำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” และตัวเลขนี้จะสูงขึ้นถึง 20% ในปี 2021 ซึ่งหมายความว่าเราจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
.
.
ในทางกลับกัน จำนวนเด็กที่เกิด ก็ลดลง เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีเด็กเกิดประมาณปีละ 1 ล้านคน แต่ปัจจุบันเหลือประมาณปีละ 7 แสนคน ด้วยเหตุผลทางธรรมชาติแบบนี้ จึงไม่แปลกที่จำนวนคนเรียนมหาวิทยาลัยจึงต้องลดลงตาม
2. เราอยู่ในยุคดิจิตอลแล้ว
.
ยุคนี้การเรียนการสอนมันไม่จำเป็นที่จะต้องออกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเสมอไป ผมมีรุ่นน้องบางคนที่เรียนจบมาทางหนึ่ง แล้วไปทำงานอีกสายหนึ่ง โดยที่เขาไม่ได้เรียนผ่านหลักสูตรใด ๆ แต่เขาเรียนผ่าน Youtube และหาบทความจาก Google มาอ่าน ถึงแม้ว่าอาจจะยังมีข้อจำกัดในบางสายงาน ที่อาจจะต้องใช้การฝึกปฏิบัติเยอะ แต่หลาย ๆ สาย รวมทั้งบริหารธุรกิจ (ที่ผมก็เป็นอาจารย์สอนอยู่นี่แหละ) อาจจะถูกทดแทนโดยพวก Online Course ได้เป็นจำนวนมาก
.
.
และคุณภาพของ Online Course นี่ก็ไม่ใช่ธรรมดานะครับ อาจารย์ที่สอนมาจากมหาวิทยาลัยระดับโลกกันทั้งนั้น จึงทำให้ความจำเป็นในเรียนผ่านมหาวิทยาลัยลดลงไปอีก
.
.
และถ้าวันนี้ บริษัทประกาศออกมาว่า เขารับคนจบ ม. 6 มาทำงาน แล้วเดี๋ยวเขาสอนเอง ไม่ต้องเรียนปริญญาตรีหรอก แค่นี้ ผมคิดว่ามหาวิทยาลัย (ที่ไม่ปรับตัว) ก็ล่มสลายแล้วครับ
3. หลักสูตรมีมากขึ้น
.
ในขณะที่เราเจอวิกฤติจำนวนผู้เรียนน้อยลง หลายมหาวิทยาลัยกลับเปิดหลักสูตรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ปิดหลักสูตรที่เคยเปิดไว้ ทำแบบนี้ยิ่งทำให้เกิด Oversupply คือจำนวนหลักสูตรมากกว่าจำนวนคนเรียน แต่ละหลักสูตรก็ต้องมีอาจารย์ประจำหลักสูตร นั่นหมายความว่า เรามีจำนวนอาจารย์มากเกินไป
.
.
จากเหตุผล 3 ประการนี้ จึงไม่แปลกเลยครับ ที่ปีที่ผ่านมา (2017) จำนวนคนสมัครเรียนเข้ามหาวิทยาลัยทั้งหมดมีแค่ 60% ของจำนวนที่นั่งของมหาวิทยาลัย
.
นั่นหมายความว่า มหาวิทยาลัย 40% อาจจะปิดตัวลง หรือ จำนวนคณะหรือหลักสูตร จะต้องหายไปประมาณ 40% นั่นเอง
.
.
แล้วมหาวิทยาลัยในอนาคตหน้าตาจะเป็นอย่างไร
.
.
ต้องบอกแบบนี้ก่อนครับว่า ปรากฏการณ์นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทย Professor Christensen จาก Harvard Business School ก็ได้ทำนายว่า ภายใน 10 ปีที่จะถึงนี้ 50% ของมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนกว่า 4,000 แห่ง จะต้องปิดตัวลง
.
ผมมองว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย หากต้องการจะอยู่รอดจะมีทิศทางดังต่อไปนี้ครับ
.
1. อาจารย์จะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน (Instructor) เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator)
.
ผมมองว่า ความรู้มันมีอยู่เต็มไปหมดแล้ว ใน Youtube ใน Google ถ้าอาจารย์ยังมีบทบาท เพียงแค่อ่านตำราแล้วมาเล่าให้นิสิตนักศึกษาฟัง ผมคิดว่า Value ของอาจารย์จะมีไม่มากนัก แต่ความจำเป็นที่ยังต้องมีอาจารย์คือ หากให้ผู้เรียนไปเรียนเอง บางทีเขาไม่รู้หรอกว่า จะไปดู Clip ไหนดี ไปอ่านบทความใน Website ไหนดี
.
.
อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ยังคงต้องมีบทบาทชี้แนะได้ว่า อยากทำอาชีพนี้ เราต้องเรียนรู้เรื่องนี้ และแหล่งเรียนรู้อยู่ตรงนี้ ไปเรียนได้เอง สงสัยมาสอบถามได้ มหาวิทยาลัยอาจจะเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติมากกว่าแหล่งการเรียนรู้ในเชิงทฤษฏี ซึ่งนักศึกษาสามารถทำได้เอง
.
.
2. คณะ หลักสูตร แบบปัจจุบันจะหายไป
.
ปัจจุบัน เรายังใช้หลักการผลิตบัณฑิต ออกมาเป็น Block อยู่ครับ (คล้าย ๆ กับการผลิตสินค้าในระบบอุตสาหกรรม) เราเชื่อว่าคนที่จะเป็นนักการตลาด ต้องเรียนแบบนี้เท่านั้น เท่านี้หน่วยกิต จึงจะเป็นนักการตลาดที่ดีได้
.
.
แต่ด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ลักษณะของ Mass Production มันมักจะใช้ไม่ได้แล้ว (อาจจะยังได้บางบริบทเท่านั้น) แต่มันควรก้าวเข้าไปสู่ Mass Customization แปลว่า คนออกแบบหลักสูตรอาจจะไม่ใช่อาจารย์อีกต่อ แต่เป็นผู้เรียนนั่นแหละที่จะเป็นคนเลือกเองว่า วิชาไหนเขาควรเรียน วิชาไหนเขาไม่ควรเรียน
.
.
แล้ว ถามว่า แล้วใครจะเป็นดูว่าการเรียนนี้ เหมาะสมไหม คำตอบคือ ก็ตัวผู้เรียนนี่แหละครับ เขาจะออกแบบ Transcript เองได้ และถ้าออกแบบมาไม่ดี นายจ้างเห็นแล้ว เขาก็ไม่จ้าง เท่านั้นเอง อาจารย์อาจจะยังคงออกแบบหลักสูตรมาตรฐานได้ว่า อันนี้คือสิ่งที่คนที่อยากเป็นอาชีพนี้ควรจะเรียนนะ แต่การตัดสินใจ จะอยู่ที่ผู้เรียนเองนี่แหละ
.
.
ทำแบบนี้ ไม่ต้องกลัวหลักสูตรล้าสมัย เพราะเราไม่จำเป็นต้องปรับหลักสูตร เพราะมันไม่มีหลักสูตร เราปรับแค่วิชาเรียน วิชาไหน ที่ไม่มีคนเรียน ก็ปิดไปเท่านั้น
.
.
3. การเรียนจะกลายเป็นการเรียนตลอดชีวิต
.
แต่ก่อนมหาวิทยาลัย คือสถานที่ที่ใช้สอนคนอายุประมาณ 18-22 ปี (ในระดับปริญญาตรี) หรืออาจจะมากกว่านั้นนิดหน่อย ในระดับปริญญาโทและเอก แต่ต่อไปการเรียนการสอนมันจะต้องเกิดขึ้นตลอดชีวิต
.
.
คนเรียน อาจจะมาเรียนสัก 2 ปี แล้วคิดว่า นี่แหละพอแล้ว เอา Transcript ที่เขาออกแบบเรียนเอง ไปสมัครงานดู ถ้ามีที่ทำงานรับ ก็ทำงานไปเลย
.
คราวนี้ ทำงานไปสัก 1 ปี พบว่า เอ ตรงนี้ เรายังมีความรู้ไม่พอ ต้องเรียนเพิ่มแล้ว ก็กลับมาเรียนได้
.
บางคน บอก อ้าวแล้วมหาวิทยาลัยจะจัดการได้เหรอ ก็ลองดูสถิติสิครับ ว่าตอนนี้ที่นั่งมันเกินไปตั้ง 40% ก็ตรงที่เหลือนี่แหละครับ และถ้ามหาวิทยาลัยเพิ่มบทบาทการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบนี้ มหาวิทยาลัยไม่ต้องกลัวหรอกครับว่าจะแย่ ด้วย Aging Society เพราะคราวนี้ มหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นที่สำหรับให้คนอายุแค่ 18-22 ปี มาเรียนรู้แล้ว แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต
.
.
คำว่า “จบการศึกษา” ก็อาจจะไม่มีอีกต่อไป เพราะจริง ๆ แล้ว การศึกษามันไม่ควรมีวันจบ มันควรจะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราไปตลอดชีวิต จริงไหมครับ
.
ถ้ามหาวิทยาลัยปรับตัวเป็นแบบนี้ ปัญหาว่าจะต้องปิดตัวคงไม่มี จะกลายเป็นว่า มีที่ไม่พอด้วยซ้ำไปครับ
.
.
4. รั้วของมหาวิทยาลัยกับรั้วที่ทำงาน อาจจะกลายเป็นรั้วเดียวกัน
.
ผมเชื่อว่าต่อไปองค์กรใหญ่ ๆ จะลุกขึ้นมาทำบทบาทของมหาวิทยาลัยแทน เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่า Corporate University เพิ่มมากขึ้น องค์กรเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้มหาวิทยาลัยมาผลิตคนให้ แต่เขาสามารถรับนักเรียนเข้ามาทำงาน และให้การศึกษาไปด้วยเลยในตัวเอง แบบนี้ เขาจะได้คนที่ตรงกับความต้องการเขาจริง ๆ
.
จะว่าไปแล้ว ปัจจุบันก็มีมหาวิทยาลัยแบบนี้แล้วนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่มี
.
.
ถือว่าเป็นการ Review TED Talk ที่ผมเคยพูดไว้แล้วกันนะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับหลาย ๆ ท่านด้วยครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/
ไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ถ้า…
ระยะหลัง หลาย ๆ ท่านอาจจะได้ยินข่าว ทำนองว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งอาจจะต้องปิดตัว หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะถูก Lay off แถมข่าวที่ว่าบริษัทชั้นนำของโลกหลาย ๆ บริษัท เช่น Google หรือ Apple ก็บอกว่า ไม่สนใจว่าผู้สมัครจะเรียนจบมหาวิทยาลัยหรือไม่
ก็เลยทำให้หลาย ๆ คนเริ่มที่จะไขว้เขวว่า เอ แล้วเราจะเรียนมหาวิทยาลัยดีไหม หรือเรียนไปทำไม
ต้องขอบอกก่อนเลยนะครับว่า ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมไม่ได้เขียนบทความนี้มาบอกว่า มหาวิทยาลัยไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ผมยังเชื่อว่า มันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้น และถ้ามหาวิทยาลัยไม่เปลี่ยนด้วยตัวเอง ก็อาจจะต้องถูกบังคับให้เปลี่ยน
ผมยังเชื่อว่าเราจะได้เห็นการปิดตัว การควบรวมมหาวิทยาลัย การปิดหลักสูตร หรือแม้กระทั่งการ Layoff อาจารย์ให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่บทความนี้เขียนขึ้นมาสำหรับผู้เรียนที่อาจจะอ่านข่าวตามกระแสต่าง ๆ แล้วเริ่มรู้สึกว่า เอ งั้นเราคงไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยแล้วล่ะมั้ง
ผมเลยขอสรุปในความคิดของผมสั้น ๆ ว่า เราไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ถ้า…
1. ถ้าองค์กรที่เราอยากทำงานไม่สนใจเรื่องปริญญาบัตรหรือ Transcript จริง ๆ
ใช่ครับ ถึงแม้ว่า หลายองค์กรก็เริ่มบอกว่า เขาไม่สนใจว่าคุณจะจบปริญญาตรีมาหรือไม่ เขารับหมด แต่ถามว่าตอนนี้ทุกองค์กรเป็นแบบนี้ไหม ก็ต้องตอบว่ายัง ในอนาคต ก็อาจจะไม่แน่ครับ เขาอาจจะไม่สนกันหมดก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ความจำเป็นในการเรียนมหาวิทยาลัยก็อาจจะน้อยลง แต่ตอนนี้ต้องบอกว่า องค์กรส่วนใหญ่ยังมีข้อกำหนดว่าต้องเรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท กันอยู่นะครับ แล้วเราจะเสี่ยงที่จะไม่เรียน แล้วไปลุ้นเอาว่า เมื่อไร เขาจะรับคนที่เรียนไม่จบหรือเปล่า ผมว่ามันเสี่ยงไปนะครับ
2. ถ้าเราสามารถไปประกอบวิชาชีพที่เรารักได้
หลายวิชาชีพในปัจจุบัน ถ้าเราไม่ได้เรียนผ่านหลักสูตรที่ได้รับการรับรองในมหาวิทยาลัย เรายังไม่สามารถไปประกอบวิชาชีพได้นะครับ ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ ถึงแม้ว่า ถ้าเราสมมุติว่าเราเรียนเองได้ หรือมีหมอบางท่านมาสอนเรา (ซึ่งก็คงยาก) ถึงเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ถามว่า แล้วเราไปเปิดคลินิกรักษาคนได้เลยไหม คำตอบคือยังไม่ได้นะครับ มันผิดกฎหมาย ในอนาคตไม่รู้ครับ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ อาชีพผู้ตรวจสอบบัญชี วิศวกรที่ต้องมีใบอนุญาตในการเซ็นอนุมัติ พวกนี้ยังถูกควบคุมอยู่ ถึงเราจะเรียนเองได้ แต่เราก็ออกไปทำงานไม่ได้อยู่ดี จนกว่ากฎระเบียบเหล่านั้นจะถูกยกเลิก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร แล้วเราจะยอมเสี่ยงหรือครับ
3. ถ้าเรามีวินัยในตัวเองที่ดีเพียงพอ
การเรียนในมหาวิทยาลัย มันคล้าย ๆ กับบังคับให้เราต้องเรียนรู้ครับ มันมีวันเวลาเรียนชัดเจน มีการวัดผลชัดเจน ผมถามว่า สมมุติว่าเราอยากเรียนเอง เราจะตื่นตอนเช้ามาแล้วนั่งเรียนตั้งแต่ 9 โมงถึงเที่ยงได้ทุกวันไหม เราจะกลับไปอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนไหม บางคนอาจจะตอบว่าได้ แต่ผมเชื่อว่า ถ้ามันไม่มีการเรียนแบบเป็นทางการ ไม่มีการสอบวัดผล ส่วนใหญ่มักจะทำไม่ได้ เอาง่าย ๆ ครับ ตัวผมนี่แหละ ตอนนี้ผมเรียน Online อยู่ ที่เขาไม่ได้มีการกำหนดเวลาว่าจะเรียนช่วงไหน ตอนนี้ผ่านไป 3 เดือนแล้ว ยังเรียนไม่จบเลยครับ ทั้ง ๆ ที่ชั่วโมงเรียนทั้งหมดมัน 10 กว่าชั่วโมงเอง ถ้าเข้าเรียนใน class เรียนจบไปนานแล้ว ถ้าท่านคิดว่าท่านมีวินัยในตัวเองมากพอที่จะเรียนเองได้ มหาวิทยาลัยก็อาจจะไม่จำเป็นสำหรับท่านก็ได้ครับ
4. ถ้าเราเลือกแหล่งเรียนรู้เองได้
ถ้าเราไม่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เราจะเรียนกันจากไหนครับ หลายคนคงตอบว่า ก็เรียนผ่าน Youtube หรือ Search หาใน Google ไง คำถามต่อไปคือ พอเรา Search ไปแล้ว เราเจอหลายแสน หลายล้าน Website ในเรื่องนั้น ๆ เราจะเรียนอันไหนดี เราจะรู้ได้อย่างไรว่า Website ไหนมันดี ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การเรียนในมหาวิทยาลัยเรายังมีอาจารย์ ที่โดยรวมแล้ว (ไม่ได้บอกว่าทุกคนนะครับ) เราเชื่อว่า ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นท่านก็จะเลือกเอาเฉพาะองค์ความรู้ที่ได้รับการยอมรับแล้วว่ามันถูกต้องมาใช้สอนนิสิต นักศึกษา แต่ถ้าในอนาคตมันมีระบบ AI หรือระบบอะไรก็แล้วแต่ ที่สามารถกรองและเลือกแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้เรียนแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม ตอนนั้นมหาวิทยาลัยอาจจะมีความจำเป็นลดลงไปก็ได้ แต่ตอนนี้มันยังไม่มีแบบนั้น การเรียนในมหาวิทยาลัยก็อาจจะช่วยตรงนี้ได้ระดับหนึ่งทีเดียวล่ะครับ
5. ถ้าเรามีเงินมากพอในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้
เอาล่ะ หลายคนอาจจะบอกว่า เขาเลือกแหล่งเรียนรู้ได้ เขารู้ว่า Website ไหนมันดี คำถามต่อไปคือ แล้วเรามีเงินมากพอที่จะเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ไหม อย่างเช่น ถ้าเราเรียนรู้เอง แล้วเราต้องไป download paper มาอ่านเอง ท่านทราบไหมครับ paper หนึ่ง ค่า download มันเป็นหลักพันบาท แล้วถ้าวิชาหนึ่งเราควรอ่านสัก 10 paper มันก็หลักหมื่นแล้ว แต่เรียนในมหาวิทยาลัยมันมี Economy of Scale นิสิตนักศึกษาหลายคนอาจจะไม่ทราบว่า แต่ละมหาวิทยาลัยลงทุนไปเรื่องเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้เป็นหลักหลายสิบล้านบาท ทำให้ผู้เรียนเข้าถึง paper หรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ หรือ อย่าง Software ต่าง ๆ ที่เราใช้ประกอบการเรียน ถ้าเรียนรู้เอง อาจจะมี Youtube แสดงให้ดู แต่เราก็ต้องทำตาม เราก็ต้องซื้อ Software ท่านทราบไหมครับว่า License หนึ่งมันแพงแค่ไหน มันหลักหมื่น หลักแสน หรือ หลักล้าน ยังมีเลย นี่ยังไม่นับรวมสายวิทยาศาสตร์อีกนะครับ ถึงแม้ว่าจะอ่านหนังสือเองได้ แต่ถามว่า ถ้าจะต้องทำ Lab ทดลอง เราต้องไปซื้อเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ราคาอาจจะเหยียบสิบล้าน มาทดลองที่บ้านหรือเปล่า ใช่ครับ ในอนาคต ต่อไปถ้ามันมีคนเรียนรู้เองมาก ๆ เขาอาจจะมีธุรกิจให้เช่าทำ Lab ก็ได้ แต่ตอนนี้มันยังแทบจะหาไม่ได้ แล้วเราจะเรียนรู้กันอย่างไร อย่างว่าครับ ถ้าท่านมีเงินเหลือเฟือ จะซื้อมาได้เองทั้งหมด ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่คิดว่าคนส่วนใหญ่คงยังทำไม่ได้ขนาดนั้น
6. ถ้าเราไม่จำเป็นต้องรู้จักใคร
การเรียนในมหาวิทยาลัยนอกจากได้ความรู้แล้ว เรายังมีโอกาสได้พบปะผู้คนจำนวนมาก ได้พบกับเพื่อนดี ๆ หลาย ๆ คน ได้ง่ายกว่าการเรียนผ่าน Youtube หรือ Google ที่บ้านอย่างแน่นอน Larry Page กับ Sergey Brin ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Google ก็เจอกันที่ Stanford หรือหลาย ๆ คนก็ได้เจอคู่ชีวิตกันในระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย แต่ถ้าท่านคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็น อยากอยู่คนเดียว ไม่ต้องรู้จักใคร อยากเรียนเองคนเดียว ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ
อย่างที่บอกนะครับ ผมเขียนบทความนี้มา ไม่ได้หมายความว่า มหาวิทยาลัยไม่ต้องเปลี่ยน ยังไงคนก็ต้องเรียน ผมเน้นว่า ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนครับ เพราะสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยน แต่ก็อยากให้นักเรียนมัธยมปลาย รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนมัธยมปลาย ต้องลองพิจารณาดูดี ๆ อย่างเพิ่งอ่านเฉพาะข่าวที่อยู่ในกระแสว่า การเรียนในมหาวิทยาลัย อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนในมหาวิทยาลัยก็แล้วกันนะครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/
เรียนในมหาวิทยาลัย มีแต่ทฤษฎี เรียนไปทำไม ไปเรียนจากผู้ทำได้จริงดีกว่า
ข้อความนี้ก็เคยได้ยินอยู่เรื่อย ๆ ครับ และต้องบอกว่าหลายครั้งก็มีความเป็นจริงอยู่บางส่วน ที่ว่าการเรียนจากผู้ทำได้จริง เป็นสิ่งที่ดี
แต่การเรียนจากผู้ทำได้จริง มันไม่จำเป็นต้องมาแทนการเรียนทฤษฎีนี่ครับ ทำไมเราต้องเลือกด้วยล่ะครับ ว่าจะเลือกเรียนจากผู้ทำได้จริง “หรือ” เรียนทฤษฎี ทำไมไม่คิดว่า เราจะเรียนจากผู้ทำได้จริง และ เรียนทฤษฎีไปพร้อม ๆ กัน
แน่นอนครับ การได้เรียนจากประสบการณ์ของผู้ทำได้สำเร็จเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามาก แต่การเรียนในลักษณะนี้ มีข้อพึงระวังหนึ่งอย่างครับ
ประสบการณ์ที่ท่านเหล่านั้นนำมา share นั้น บางทีมันมีบริบทของตัวท่านเหล่านั้นเป็นองค์ประกอบอยู่มาก
บางคนขายเสื้อก็รวยได้ ขายรถก็รวยได้ แต่ทำไมเราก็ทำแบบเขา เรารวยไม่ได้ แถมขาดทุนอีก
เพราะเขามีความชอบความสนใจ หรือมีเหตุการณ์บางอย่างสนับสนุน ลองอ่านหนังสือเรื่อง Outliers ของ Malcolm Gladwell ดู แล้วจะเห็นภาพครับ
คราวนี้เวลาเขามาเล่าประสบการณ์ เขาก็เล่าตามที่เกิดขึ้นจริงนั่นแหละครับ ถ้าเราสามารถรับมา แล้วเลือกใช้ได้ มันก็เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเราจะรับมาทั้งหมด แล้ว copy ตาม อันนี้ก็อาจจะไม่ work ก็ได้
แล้วทฤษฎีคืออะไรล่ะครับ มันก็มาจากการสังเกต เก็บข้อมูล จากประสบการณ์จริงเหล่านี้แหละครับ และก็กลันออกมาเป็นแนวคิด ทฤษฏี ที่นำไปปรับใช้ได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ
เหมือนกับที่ Prof. Clayton Christensen แห่ง Harvard Business School เขียนไว้ในหนังสือ How will you measure your life? ว่าทำไมเราต้องมาเริ่มลองผิดลองถูก แล้วค่อยเก็บประสบการณ์ จนกว่าจะรู้ทางเลือกที่เหมาะสมก็ใช้เวลาตั้งมากมาย เสียเงินเสียทองจำนวนไม่น้อย
สู้เราเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น ที่เขียนไว้เป็นทฤษฎีให้เราอ่านแล้ว มันจะไม่ดีกว่าหรือ
ประเด็นก็คือว่าถ้าผู้เรียนพยายามเอาทฤษฎีไปปรับใช้ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของเราเอง ผมว่าสิ่งนี้แหละครับ ที่สำคัญที่สุด
เวลามีคนกล่าวถึง ทฤษฏี กับ การปฏิบัติเมื่อไร ผมนึกถึงคำพูดของ Kurt Lewin ปรมาจารย์ทางด้านการศึกษาทางจิตวิทยาทุกทีครับ
“There is nothing so practical as a good theory.”
คิดว่าจริงไหมครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho