10 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ Manage Your Day-to-Day

หนังสือเล่มนี้แต่งโดย Jocelyn K. Glei ซึ่งเป็นการรวบรวมแนวคิดดี ๆ ที่น่าสนใจในการจัดการชีวิตประจำวันของเราให้ดีขึ้น อ่านแล้ว เลยขอสรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ที่ผมชอบดังต่อไปนี้ครับ

1. เราต้องเลิกโทษสภาพแวดล้อม (เช่น เราทำไม่ได้ เพราะเจ้านายไม่สนับสนุน หรือ เศรษฐกิจไม่ดี) และต้องเริ่มมารับผิดชอบตัวเราเอง ถึงแม้ว่าสภาพแวดล้อมมันจะไม่เอื้ออำนวยให้กับเรา แต่สุดท้ายความพยายามของเรานั่นแหละที่สำคัญ ที่สำคัญการกระทำของเราในชีวิตประจำวันในการทำงานนั่นแหละ จะบอกได้ว่าเราจะทำได้สำเร็จหรือไม่

2. การที่เราคอยแต่จะ “เชื่อมต่อ” กับคนอื่น ๆ มันจะทำให้เราทำงานแบบเชิงรับมากกว่าเชิงรุก เช่น เราต้องคอยตอบ email ทุกฉบับที่เข้ามา เราต้องคอยไล่ตอบคำถามใน Line กลุ่ม และสิ่งนี้ทำให้เราลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญที่เราควรทำคืออะไร

3. การที่เราจะทำอะไรที่เราคิดให้สำเร็จ เราต้องลงมือทำ และต้องใช้เวลาเป็นหลายร้อยหลายพันชั่วโมง จุดสำคัญอยู่ที่การกระทำในชีวิตประจำวันเรานั่นแหละ เราต้องทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อย่ามัวแต่รอแรงบันดาลใจ

4. เราควรทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ก่อนที่จะทำงานเพื่อตอบสนองคนอื่น ดังนั้นเราควรจะ block เวลาสำหรับงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ไว้ให้มากที่สุดในแต่ละวัน และปิดโทรศัพท์กับ email ซะ

5. บางทีเราอาจจำเป็นที่จะต้องทำให้บางคนผิดหวังในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อที่เราจะได้ทำตามความฝันของเรา อย่าแลกความฝันเรากับการตอบ email เพื่อเพียงแค่ได้ภาพลวงตาว่าเราเป็น “มืออาชีพ”

6. เราควรตั้งเวลาเริ่มงานและเลิกงานให้ชัดเจน ถึงแม้ว่าเราจะทำงานคนเดียวก็ตาม และนอกจากนั้นเราควรจะตั้งเวลาไว้สำหรับงานแต่ละประเภท เช่น งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การประชุม การตอบคำถาม งาน Admin และอื่น ๆ

7. เรามักคิดว่าเราทำได้มากเกินความจริงในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่คิดว่าเราจะทำได้น้อยกว่าที่ทำได้จริงในเวลาที่ยาวนาน

8. การเริ่มต้นยากเสมอ ไม่ว่าจะเริ่มต้นทำอะไรเป็นครั้งแรก หรือ กลับมาทำอีกครั้งหลังจากหยุดไป แต่การกระทำที่ต่อเนื่องจะทำให้เราเกิดโมเมนตัม

9. สิ่งที่เราทำเป็นประจำสำคัญกว่าสิ่งที่เราทำเป็นครั้งคราวเสมอ

10. กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือ การทำสิ่งที่เราต้องการสำเร็จทุกวัน จนสิ่งนั้นกลายเป็นนิสัยของเรา

หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ แน่นอนว่า มันอาจจะใช้ได้สำหรับบางคน แต่อาจจะไม่เหมาะกับบางคน แต่ก็เหมือนหนังสือทุกเล่มคือ เราสามารถอ่านและนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันเราได้ครับ

หวังว่าการสรุปนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนเช่นกันนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

 

Book Review: Atomic Habits

ปัญหาของบุคคลทั่วไปในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของงาน ชีวิต หรือความสัมพันธ์ ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจ แต่มักจะมาจากการขาดวินัยมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เราทราบเป็นอย่างดีว่า เราควรจะต้องทำงานนี้ให้เสร็จ โดยจะต้องเริ่มทำอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้าย ก็มักจะลงเอย โดยการที่จะต้องมาเร่งทำกันทั้งวันทั้งคืนในวันสุดท้าย หรือ เราทราบกันเป็นอย่างดีว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่สำคัญ จำเป็น และมีประโยชน์อย่างมาก แต่หลายคนก็อาจจะลุกขึ้นมาออกกำลังกายได้สัก 2-3 สัปดาห์ แล้วหลังจากนั้นก็กลับไปทำกิจวัตรประจำวันแบบเดิม ๆ

หลายคนพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ โดยการตั้งปณิธาน โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ หรืออาจจะเป็นช่วงอื่น ๆ ว่าเราจะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น “คนใหม่” แต่ก็ต้องยอมรับว่าปณิธานเหล่านั้น ก็มักจะหายไปในที่สุด สาเหตุคือการที่เราพยายามจะทำสิ่งที่เราไม่เคยทำให้ต่อเนื่องนั้น มันต้องใช้พลังใจหรือ Willpower ที่ค่อนข้างสูง และมนุษย์ก็มีพลังใจจำกัด เมื่อพลังใจหมดไป เราก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม

ทางออกที่ดีทางออกหนึ่งที่หนังสือหลาย ๆ เล่มได้นำเสนอไว้ก็คือ เราจะต้องเปลี่ยนสิ่งที่เราอยากจะทำให้กลายเป็น “นิสัย” เพราะ นิสัยไม่ต้องการพลังใจ เราสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ เหมือนกับการที่เราแปรงฟันในทุกเช้า โดยที่ไม่ต้องมาบังคับตัวเองมากนัก แต่คำถามคือ แล้วเราจะสร้าง “นิสัย” เหล่านี้ ให้มาอยู่อย่างคงทนถาวรได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกประการหนึ่งคือ แล้วหากต้องการจะเลิกนิสัยเสีย ๆ ที่เราทราบว่ามันไม่ดี เช่น การนอนดึก การรับประทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ การเอาแต่เล่น Social Media เราจะทำได้อย่างไร การสร้างนิสัยว่ายากแล้ว แต่การเลิกนิสัยอาจจะยากกว่าด้วยซ้ำไป

มีหนังสือหลาย ๆ เล่มที่ได้กล่าวถึงการสร้างนิสัยและการเลิกนิสัย แต่หนังสือเล่มที่ดีมากเล่มหนึ่งคือหนังสือที่มีชื่อว่า Atomic Habits ซึ่งเขียนขึ้นโดย James Clear ซึ่งเป็นนักเขียนและ Blogger ชื่อดังทางด้านการสร้างนิสัยดี ๆ และเลิกนิสัยที่ไม่ต้องการ หนังสือเล่มนี้มีความหนา 320 หน้า โดยมีทั้งหมด 17 บทหลัก โดยหนังสือได้นำเสนอกฏของการสร้างหรือเลิกนิสัยอยู่ 4 กฎดังต่อไปนี้

กฎข้อที่ 1 ทำให้เห็นชัด (Make it obvious)

ในหนังสือแบ่งออกเป็น 3 บท สำหรับกฎข้อนี้ โดยสรุปหลักการแล้ว หากเราต้องการสร้างนิสัย เราสามารถทำได้โดยทำให้สิ่งที่เราต้องการทำให้เป็นนิสัย มีความชัดเจน เห็นได้ง่าย เช่น เราอยากสร้างนิสัยในการอ่านหนังสือ เราก็ควรนำหนังสือมาวางไว้ในที่ที่เรามักจะมองเห็น หรือเราควรมีการกำหนดเวลาหรือสถานการณ์ที่เราจะต้องทำสิ่งเหล่านั้น ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า Habit Stacking เช่น เรามีนิสัยในการแปรงฟันก่อนนอนแล้ว ก็ให้เราเอานิสัยใหม่ที่ต้องการจะสร้างนำไปต่อจากนิสัยเดิม เช่น เราจะกำหนดว่า เราจะอ่านหนังสือ 30 นาทีหลังจากแปรงฟันเสร็จ แบบนี้เป็นต้น สำหรับการเลิกนิสัยนั้น เราก็แค่ทำตรงกันข้าม เช่น อยากจะเลิกรับประทาน Junk Food สิ่งที่เราควรทำก็คือ เราไม่ควรมี Junk Food อยู่ในบ้านเลย เมื่อไม่เห็น เราก็ไม่มีความอยาก เมื่อไม่อยาก เราก็จะไม่รับประทานเป็นต้น

กฏข้อที่ 2 ทำให้น่าดึงดูด (Make it attractive)

ในกฏข้อที่ 2 นี้ หนังสือเล่มนี้ก็ได้นำเสนอผ่าน 3 บท โดยสรุปแล้ว คือการที่เราจะสร้างนิสัยได้นั้น เราควรทำให้สิ่งที่เราทำนั้นให้มันน่าดึงดูด เช่น ถ้าเราอยากสร้างนิสัยในการอ่านหนังสือ เราก็ควรไปในที่ที่คนอ่านหนังสือกันเยอะ ๆ มันจะสร้างบรรยากาศกระตุ้นให้เราอ่านหนังสือได้ทันที เช่น เราอาจจะไปห้องสมุด ไปร้านหนังสือ ไปร้านกาแฟ อะไรทำนองนี้ นอกจากบรรยากาศแล้ว หากเรามีกลุ่มเพื่อนที่ชอบอ่านหนังสือ มีกิจกรรม Book Club ที่จัดเป็นประจำ อะไรทำนองนี้ ก็ยิ่งทำให้ดึงดูดให้เรามีพฤติกรรมในทำนองเดียวกัน ในทางกลับกันหากเราอยากเลิกนิสัยใด ๆ เช่น เราอยากลดความอ้วน อยากเลิกทานอาหารไม่มีประโยชน์ เราก็ไม่ควรใช้เวลาส่วนใหญ่ไปอยู่ร้านอาหาร หรือไปอยู่กับเพื่อน ๆ กลุ่มที่ตระเวนกินอาหารเป็นต้น

กฎข้อที่ 3 ทำให้ง่าย (Make it easy)

สำหรับส่วนนี้ ในหนังสือจะอธิบายผ่าน 4 บท โดยใจความสำคัญคือ อยากจะทำอะไรได้บ่อย ๆ จนกลายเป็นนิสัย ให้เราทำให้สิ่งนั้นมันง่ายที่สุด เช่น เราอยากจะวิ่งให้เป็นนิสัย พยายามหาที่วิ่งที่ไม่ต้องขับรถไปนาน ๆ ยิ่งเดินไปได้เลยยิ่งดี เพราะพอยิ่งง่าย เราก็จะยิ่งทำ นี่คือเหตุผลที่หลายคนติด Social Media เพราะมันไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย แค่หยิบมือถือมาเปิด ก็สามารถเล่น Social Media ได้แล้ว ในทางกลับกัน ถ้าอยากเลิกนิสัยใด ให้เราพยายามทำให้การทำสิ่งนั้นมันยาก ในหนังสือยกตัวอย่างว่า ถ้าอยากเลิกนิสัยในการดูทีวีหลังจากกลับมาบ้าน ให้เราเอาแบตเตอรี่ออกจาก Remote Control การทำแบบนี้ เมื่อเราหยิบ Remote Control มากด (ตามนิสัยเดิม) แต่พบว่าถ่านไม่มี ต้องไปเอาถ่านมาใส่ก่อน บางทีเราก็ขี้เกียจแล้วก็เลิกล้มความตั้งใจไป ซึ่งจะทำให้เราสามารถเลิกนิสัยเหล่านี้ไปได้เอง

กฏข้อที่ 4 ทำให้พึงพอใจ (Make it satisfying)

กฎข้อนี้เป็นข้อสุดท้าย โดยผู้เขียนได้เขียนเกี่ยวกับกฎข้อนี้ไว้ใน 3 บทสุดท้ายของหนังสือ หลักการคือ หากเราทำอะไรแล้วมีความสุข เราจะมีแนวโน้มที่จะทำต่อ แต่ความสุขที่ว่านั้นควรเป็นความสุขที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากเราได้ทำสิ่งนั้นเสร็จ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราบอกว่า เราอยากจะวิ่ง เพื่อที่จะทำให้เราสุขภาพดี แบบนี้อาจจะยังไม่พอ เพราะสุขภาพดี มันไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังจากเราวิ่งเสร็จ เราต้องหาสิ่งที่เราพึงพอใจทันที เช่น การใช้เทคนิคที่เรียกว่า Habit Tracking คือการวัดผล เช่น พอวิ่งเสร็จมาดูสถิติว่าเราทำได้ดีเพียงใด วิ่งได้เร็วแค่ไหน ก้าวหน้าเพียงใด อย่างนี้จะทำให้เรามีความพึงพอใจในขั้นต้นก่อน และในที่สุดสิ่งนี้ก็จะกลายเป็นนิสัยในที่สุด ในทางกลับกันสำหรับนิสัยที่เราอยากเลิก เราก็ต้องออกแบบทำอะไรก็ตามที่ทำให้ตัวเรารู้สึกไม่ดีทันทีที่เราทำพฤติกรรมนั้น เช่น เราอยากเลิกพฤติกรรมการรับประทาน Junk Food เราอาจจะเขียนบอกเพื่อน ๆ เลยว่า ถ้าเห็นเรารับประทาน Junk Food เมื่อไร จะยอมให้ปรับเงิน อะไรอย่างนี้เป็นต้น

โดยรวมแล้วหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมาก ๆ เล่มหนึ่ง และเหมาะกับทุกเพศทุกวัย ที่ต้องการสร้างนิสัยดี ๆ หรือเลิกนิสัยแย่ ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่หนังสือแนววิชาการ แต่เป็นหนังสือที่อ่านแล้ว เราสามารถนำมาทดลองใช้ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างนิสัยในการทำงาน หรือนิสัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันต่าง ๆ ของเราก็ตาม เป็นอีกหนึ่งเล่มที่คิดว่าไม่ควรจะพลาดอย่างยิ่ง

บรรณานุกรม

Clear, J. (2018) Atomic Habits: An Easy & Proven Way to Build Good Habits & Break Bad Ones, Avery, New York.

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/