ทำงานสำคัญช่วงเช้า ดีจริงหรือ

ทำงานช่วงเช้าเป็นสิ่งที่ดี ถ้าช่วงเช้าเป็นเวลาที่สมองเราปลอดโปร่งที่สุด แต่บางทีการเริ่มทำงานเล็ก ๆ ให้เสร็จก่อนก็อาจจะสามารถสร้าง Momentum ในการทำงานได้เช่นเดียวกัน

Continue reading

11 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ It doesn’t have to be crazy at work แต่งโดย Jason Fried และ David Heinemeier Hansson

1. เราสามารถเล่นกับลูกพร้อม ๆ กับเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้

2. เราสามารถทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องตั้งเป้าหมายใด ๆ เลย เราไม่ต้องทำสิ่งที่ปลอม ๆ (เป้าหมาย) เพื่อจะทำสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (การทำธุรกิจ)

3. ถ้าเราบอกว่างานเราจะเป็นงานที่เปลี่ยนโลก หรือ เปลี่ยนอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่แล้ว มันมักจะไม่ใช่

4. เราจะไม่จำเป็นต้องเจ็บปวด เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า

5. ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเราไม่สบายใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แปลว่าสิ่งนั้นมันไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับเรา ความไม่สบายใจเป็นสิ่งที่มนุษย์รู้สึกเวลาเราไปอยู่ในสถานการณ์ที่มัน “ไม่ใช่” ยิ่งเราต้องทนมากเท่าไร เรายิ่งเสียความเป็นตัวตนของเรามากเท่านั้น

6. ที่ Basecamp ที่คนเขียนคือ Founder เขาไม่เชื่อในเรื่องการทำงานที่ยุ่ง เขาเชื่อในเรื่องการลดงานมากกว่าการเพิ่มงาน

7. ความบ้างานเป็นโรคติดต่อ เราหยุดมันไม่ได้ ถ้าเราเป็นคนเอาเข้ามาที่ office

8. ความคิดที่ว่า “การนอนหลับเป็นสิ่งที่คนอ่อนแอทำ” เป็นความคิดที่หลอกลวง ในระยะยาวแล้ว การทำงานไม่มีทางที่จะสำคัญกว่าการนอน

9. เราควรใช้ชีวิตอย่างสมดุล คือต้องมีทั้งให้ ทั้งรับ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะเอาเวลาของชีวิตเราไปให้กับงาน เรามักจะยอมเสียเวลาวันเสาร์อาทิตย์ไปกับการทำงาน แต่ไม่ค่อยเอาเวลาวันจันทร์ถึงศุกร์ที่ต้องทำงาน มาทำอะไรให้กับชีวิตเรา

10. การเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างมักจะยาก จนเราคิดว่า พอเราเริ่มแล้ว ที่เหลือจะง่าย ซึ่งจริง ๆ มักจะไม่ใช่เลย หลังจากเริ่มแล้วนั่นแหละที่ยากกว่าตอนเริ่มเยอะ วันแรกที่ทำอะไรสักอย่าง มักจะง่ายกว่ามันอื่น ๆ เสมอ

11. เวลาที่เราต้องเกี่ยวข้องกับใครก็ตาม เรามีทางเลือก 2 ทางให้เลือก คือ “ไม่เป็นไรหรอก” กับ “นี่มันสำคัญมาก ๆ ” ถ้าเราเลือกทางหนึ่ง อีกฝ่ายจะเลือกอีกทางหนึ่งเสมอ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

วิธีการทำงานกลุ่มให้สำเร็จ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จอันหนึ่งในการทำงานกลุ่มคือ สิ่งที่เรียกว่าการทำงานให้ประสานสอดคล้องกัน (synchronization) เหมือนกับการแข่งขันเรือพาย ทีมที่ชนะอาจจะไม่ใช่ทีมที่มีนักพายเรือที่เก่ง ๆ มารวมกันอย่างเดียว แต่ต่างคนต่างพาย แต่จะเป็นทีมที่มีจังหวะการพายไปพร้อม ๆ และสอดคล้องกันเป็นทีม

การทำงานเป็นทีมจึงจำเป็นต้องสอดประสานกันแบบนี้ จากหนังสือชื่อว่า When ที่เขียนขึ้นโดย Daniel Pink ได้มีข้อแนะนำเพื่อฝึกให้ทีมทำงานสอดประสานกัน ดังต่อไปนี้

1. ฝึกการร้องคอรัส หลายคนคงรู้จักดี มันคือการร้องเพลงประสานเสียง ซึ่งจะทำให้เราฝึกการทำงานที่สอดประสานกันได้ดี

2. วิ่งไปพร้อม ๆ กัน อันนี้นอกจากที่จะได้ช่วยออกกำลังกายแล้ว เรายังได้การพัฒนาการทำงานเป็นทีมไปด้วย

3. พายเรือลำเดียวกัน เขาเขียนแบบนี้จริง ๆ นะครับ คือการพายเรือกันนอกจากจะออกกำลังกายแล้ว เราต้องพายไปพร้อม ๆ กัน เพียงแต่วิธีนี้อาจจะยากหน่อย เพราะมันต้องเตรียมการอะไรหลาย ๆ อย่าง

4. เต้นรำ อันนี้อาจจะเป็นงานอดิเรกของหลาย ๆ คน เต้นรำมันจะต้องเข้าจังหวะ และมันต้องการการเคลื่อนไหวที่สอดประสานกัน

5. เรียนโยคะ อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว โยคะจะช่วยเรื่องสมาธิ และทำให้เราสามารถเพิ่มการทำงานที่ประสานกันได้เป็นอย่างดี

6. เข้าร่วม Flash Mob ถ้าใครยังไม่เคยรู้จัก ลอง Search ใน Youtube ก็ได้ครับ มันคือการรวมกลุ่มกันในที่สาธารณะ แล้วทำอะไรด้วยกัน พร้อม ๆ กัน เช่น เต้นตามจังหวะเพลงเป็นต้น

7. ทำอาหารด้วยกัน การที่เราได้ทำอาหารด้วยกัน มันจะต้องประสานงานกันตลอด เช่น อีกคนหั่นผัก อีกคนต้มน้ำ อีกคนเตรียมแป้ง อะไรแบบนี้ มันจะช่วยทำให้เกิดการทำงานที่สอดประสานกันได้เป็นอย่างดี

ลองนำเทคนิค 7 ข้อนี้ไปใช้กันดูนะครับ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นตัวอย่างจากต่างประเทศ แต่คิดว่าหลาย ๆ ข้อก็น่าจะนำมาปรับใช้ได้กับคนไทยเช่นกัน หรือ เราอาจจะสร้างกิจกรรมอื่น ๆ ขึ้นมาบ้างก็ได้

แถมท้ายอีกนิดว่า ในหนังสือเล่มนี้ เขาก็เล่าเรื่องวิธีการที่จะทำให้เกิดการทำงานเป็นกลุ่มได้ดีขึ้น (อาจจะมองในมุมมองของคนเป็นหัวหน้างาน) โดยมี 4 วิธีดังนี้ครับ

1. ตอบ email ให้เร็ว มีงานวิจัยว่า ถ้าหัวหน้าตอบ email ได้ช้า ลูกน้องจะเริ่มรู้สึกไม่ค่อยพอใจหัวหน้า ดังนั้นการตอบ email ได้เร็ว ก็น่าจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เขาเอาใจใส่ในทีมงานนั้น ๆ

2. เล่าเรื่องที่เราประสบความล้มเหลว การเล่าเรื่องที่เราประสบความล้มเหลว จะทำให้กลุ่มรู้สึกว่าเราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่สามารถทำอะไรผิดพลาดได้ และทำให้เขายอมรับเรามากขึ้น ก็คงใช่แหละครับ ใครอยากจะเป็นเพื่อนกับคนที่ Perfect ไปซะทุกอย่าง มันเหมือนมันเข้าไม่ถึงตัวเขาเลย ยิ่งมาเปรียบเทียบกับเรา ยิ่งทำให้เรารู้สึกแย่มากขึ้นอีกต่างหาก จริงไหมครับ

3. สร้างกิจกรรมอะไรสักอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นกลุ่ม เราเคยเห็นนักกีฬาที่เขาจะมีการรวมมือกันพูดคำพูดอะไรกันสักอย่างก่อนแข่งไหมครับ นั่นแหละครับคือกิจกรรมที่แสดงถึงความเป็นกลุ่ม หรือเราอาจจะมีเพลงที่เราร้องร่วมกัน อะไรแบบนี้ก็ได้ครับ

4. ทำกิจกรรมที่เรียกว่า Jigsaw Classroom คือการแบ่งกลุ่มออกมา แล้ว ให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มไปศึกษาเรื่องต่าง ๆ กัน เช่นสมมุติว่า มีทั้งหมด 5 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน คนแรกของแต่ละกลุ่มศึกษาเรื่องประเทศไทย คนที่สองศึกษาประเทศอเมริกา คนที่สาม ประเทศอังกฤษ คนที่สี่ ประเทศฝรั่งเศส และคนที่ 5 ประเทศสเปน หลังจากนั้น ก็รวมกลุ่มคนที่ศึกษาประเทศไทย ก็มารวมกลุ่มกัน เพื่อมาคุยกัน (กลุ่มประเทศอื่น ๆ ก็เช่นกัน) และหลังจากนั้น แต่ละกลุ่มก็กลับไปกลุ่มของตัวเอง และไปสอนเพื่อน ๆ ในกลุ่ม การทำแบบนี้จะทำให้เกิดการทำงานเป็นกลุ่มทำได้ดีขึ้น

เอาเป็นว่าเป็นอีกเทคนิคที่ขอเอามาฝากแล้วกันนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

10 วิธีเพิ่ม Productivity ในการทำงาน

ระยะหลังมีคนสอบถามมาว่าผมมีเคล็ดลับอะไรที่สามารถทำงานหลาย ๆ อย่างได้สำเร็จ ต้องขอตอบตรง ๆ เลยครับว่า ไม่เคยมานั่งคิดว่าใช้วิธีไหน เดาว่าหลาย ๆ อย่างก็อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ผมชอบอ่านหนังสือ แล้วก็เอาแนวปฏิบัติต่าง ๆ มาใช้ทั้งแบบรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่พอได้คำถามนี้ เลยมานั่งคิด และย่อยออกมาได้เป็น 10 ข้อดังต่อไปนี้ครับ

1. ผัดวันประกันพรุ่ง

ใช่ครับ ไม่ได้เขียนผิด ผัดวันประกันพรุ่งจริง ๆ ครับ แต่เป็นการผัดวันประกันพรุ่งในสิ่งที่ขัดขวางการทำงานของเรา เช่น อยากดูซีรีย์เกาหลี ก็ผัดไปว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้จะดู อยากเล่น Facebook นาน ๆ ก็คิดว่า เดี๋ยวอีกวันจะกลับมาเล่น ทำแบบนี้ ได้งานเยอะแน่ ๆ

2. เลิกใช้มือถือหรือ Internet

คือไม่ได้ให้เลิกไปเลยนะครับ แต่ถ้าอยากทำงานได้มาก ๆ อย่าใช้มือถือ เอาไปไว้ไกล ๆ เลย และ disconnect Internet ซะ ช่วยได้มากจริง ๆ ครับ

3. จัดลำดับความสำคัญ

เราอาจจะไม่สามารถทำทุกอย่างได้ทั้งหมด เนื่องจากเวลามีจำกัด ดังนั้นเราจำเป็นต้องเลือกทำสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือสิ่งที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้มากที่สุดครับ

4. ไม่ต้องทำงานให้ Perfect

ผมไม่ได้หมายความว่าทำงานให้คุณภาพต่ำนะครับ แต่ถ้าจะต้อง Perfect 100% เราจะมักจะทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง สัก 90-95% ก็พอครับ ทำให้เสร็จ แล้วค่อยมาปรับทีหลังหากต้องการ หรือไปทำงานอื่น ๆ ต่อไปดีกว่าครับ

5. ทำงานในช่วง Flow

ช่วง Flow คือช่วงเวลาที่ลื่นไหล มันคือช่วงที่เรามีสมาธิที่สุด และจะเป็นช่วงที่เราทำได้ดีที่สุดและปริมาณมากที่สุด หาช่วงนั้นให้เจอ แล้วจัดเต็มเลยครับ

6. เลิกประชุม

ครับ เลิกเลยครับ ผมหมายถึงการประชุมที่ไม่มีผลลัพธ์อะไร เข้าไปก็ไม่ได้อะไรออกมา ก่อนประชุม หลังประชุมทุกอย่างเหมือนเดิม หลีกเลี่ยงได้หลีกเลี่ยงเลยครับ

7. พัฒนาความสามารถตัวเองวันละแค่ 1%

อยากทำงานได้ดีขึ้น เราต้องพัฒนาตัวเราเองครับ ทราบไหมครับ ถ้าเราทำตัวเองได้ดีขึ้นแค่วันละ 1% ทุก ๆ วัน ผ่านไป 1 ปี ตัวเราจะดีขึ้นถึง 37.8 เท่าทีเดียวนะครับ

8. ตั้งเป้าหมายระยะยาว (Quest)

ถ้าเรามีเป้าหมายระยะยาว เรามักจะไม่หลงทาง ตั้งเป้าหมายระยะยาวเป็นเหมือนเข็มทิศของเรา จะทำให้เรารู้ว่าตอนนี้เรากำลังจะไปทางไหน

9. ทำในสิ่งที่รัก ถนัด และ ช่วยเหลือสังคม

เรียกง่าย ๆ คือทำ “งานในฝัน” นั่นแหละครับ ถ้าเราเจองานในลักษณะนี้ รับประกันว่าเราทำได้ดีและทำได้มาก ๆ แน่นอน

10. อยู่กับสิ่งที่รักนานพอ

คือทำสิ่งที่รักอย่างเดียว แต่ทำไม่นาน ก็อาจจะยังไม่เห็นผลสำเร็จ อยากทำอะไรสำเร็จ เราต้องทำในสิ่งที่รักอย่างสม่ำเสมอและนานพอ

นี่แหละครับ 10 ข้อที่ผมใช้อยู่ ไม่ได้บอกว่าผมสำเร็จอะไรมากมายนะครับ แต่ผมเชื่อว่าถ้าผมไม่ทำแบบนี้ ผลงานก็คงออกมาน้อยกว่าที่เป็นอยู่แน่ ๆ

ไม่ได้การันตีว่ามันจะใช้ได้สำหรับทุกคนเหมือนกันหมด แต่อยากให้ลองไปทดลองใช้ดูครับ ถ้าไม่ work ก็เลิกทำแค่นั้น ไม่ได้มีอะไรเสียหายเลย จริงไหมครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

เลิกวัฒนธรรมการทำงานดึก ๆ โดยไม่จำเป็นกันเถอะครับ

นี่คือสิ่งที่ผมคิดมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำงาน office ใหม่ ๆ ผมสังเกตเห็นว่า มีบางฝ่ายงาน ที่ต้องทำงานเลิกดึกอยู่บ่อย ๆ เอาจริง ๆ ไม่ใช่บ่อย ๆ ดีกว่า เอาเป็นว่า เลิกดึกทุกวัน

ตอนนั้นเพิ่งเข้าทำงานใหม่ ๆ ก็เลยคิดว่า สงสัยงานคงจะยุ่ง แต่พออยู่ไปนาน ๆ เอ มันไม่ใช่นี่หน่า เพราะมันจะยุ่งอะไรกันทุกวัน

ที่อยู่กันดึก ๆ นั้น มันดูเหมือนจะเป็นค่านิยมซะมากกว่า ประมาณว่า ใครอยู่ดึก คนนั้นทุ่มเท คนนั้นขยัน ยิ่งดึกยิ่งดูเจ๋ง

หรือไม่ก็อีกเหตุผลหนึ่งคือ จริง ๆ ก็ไม่อยากอยู่ดึกหรอก แต่เจ้านายชอบให้อยู่ดึก กลางวันไม่ทำงาน แต่พอ 5 โมงเย็นปุ๊บ เรียกประชุมทันที และก็ให้ทำงานไปเรื่อย ๆ ผมตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า บางครั้ง (เน้นว่าบางส่วนนะครับ) เจ้านายประเภทนี้ ไม่มีครอบครัว หรือถ้ามี ก็ประมาณว่าส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ กลับบ้านไปก็ไม่รู้จะทำอะไร

ก็เลย หาเพื่อนอยู่ทำงานด้วยซะงั้น !!

บอกก่อนนะครับ ว่า ที่จำเป็นต้องอยู่ดึก ทำงานให้เสร็จ จริง ๆ ก็มี ไม่ใช่ไม่มีนะครับ อันนั้นพอเข้าใจได้่ แต่มันก็ควรจะเป็นบางช่วงเท่านั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นประจำ

แต่ที่ผมรู้สึกประหลาดใจคือพวกอยู่ดึกแบบไม่จำเป็นนี่แหละครับ

ลองคิดดูดี ๆ นะครับ ว่าคนทำงานดึก ๆ จริง ๆ แล้ว เป็นคนที่เจ๋ง อย่างที่คิดจริงไหม

เวลาเราสอบ เราว่าใครเก่งกว่ากันครับระหว่าง คนที่ทำเสร็จทันเวลา กับคนที่หมดเวลาแล้วยังทำไม่เสร็จ แต่เวลาทำงาน ทำไมหลายคนคิดว่าคนที่สามารถทำงานให้เสร็จ 5 โมงเย็นแล้วกลับบ้าน ไม่ทุ่มเท ไม่สู้งานเท่ากับ คนที่ทำไม่เสร็จ ต้องนั่งไปเรื่อย ๆ จนถึงตีหนึ่งตีสอง แล้วค่อยกลับบ้าน

พอตอนเช้า หรือบางทีก็สาย ๆ มาถึงที่ทำงาน ก็มาโม้ใส่กันว่า แหม เมื่อคืนเรากลับตีหนึ่งนะ
อีกคนก็เกทับว่า กลับเร็วเนอะ เราเลิกตีสองแน่ะ

เอากันเข้าไป !!

ผมว่าวัดกันที่ผลงานกันดีกว่าไหมครับ ยิ่งคนทำงานเสร็จเร็ว คุณภาพดี ไม่ต้องอยู่ดึก ๆ น่าจะยิ่งเป็นคนที่เราควรยกย่องไม่ใช่หรือ เหมือนคำว่า Work smart, don’t work hard นั่นแหละครับ

ผมไม่ได้หมายความว่า จะนิยมชมชอบคนที่ไม่ได้ทำงาน ทำงานไม่เสร็จ แล้วก็ถึงเวลารีบกลับนะครับ แต่ประเด็นที่อยากสื่อคือ ทำงานเสร็จแล้ว ผลงานดีแล้ว การกลับบ้านตรงเวลา มันไม่ได้หมายความว่าคนนั้นไม่ขยัน ไม่ได้เรื่อง นะครับ สรุปง่าย ๆ ว่าการอยู่ดึก ไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ 100% ว่า คนนั้นคือพนักงานตัวอย่างที่สมควรทำตามนะครับ

การที่คนส่วนใหญ่ของหน่วยงานต้องทำงานกันดึก ๆ ตลอด ผมว่าเราน่าจะต้องกลับมาคิดแล้วล่ะครับ เพราะมันน่าจะแสดงปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้น

การอยู่ดึก นอกจากองค์กรจะต้องมีค่า OT แล้ว ช่วงเวลาที่ทำงานดึก ๆ ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่มี productivity ต่ำที่สุดด้วย เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เราเหนื่อยล้ามาก ๆ เรียกว่า ค่าแรงก็แพง แถมผลงานในช่วงนั้นก็ต่ำอีกต่างหาก

และถ้ามันจะต้องทำงานดึก ๆ กันทุกวัน ผมว่าจ้างคนมาเพิ่มจะง่ายกว่าไหมครับ ต้นทุนน่าจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องจ่าย OT สูงกว่าค่าแรงตามปกติ เพื่อแลกกับ productivity ที่ต่ำอีกต่างหาก

อีกครั้งนะครับ ที่จำเป็นต้องอยู่ ตรงนั้นเข้าใจ และชื่นชมครับ แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ แต่พยายามจะอยู่ให้มันดูดี เลิกวัฒนธรรมแบบนี้ซะเถอะครับ

นอกจากมันไม่ใช่สิ่งที่ดูดีอย่างที่เข้าใจแล้ว มันยังทำให้สุขภาพเราแย่ลงอีกด้วย

และที่แย่ที่สุดคือ ประเภทที่ว่า ต้องลากพาคนอื่นดีกไปด้วย

เลิกเถอะนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho