จัดการเวลาเพื่อมาเป็นผู้ประกอบการวันหยุด

ผู้ประกอบการวันหยุด คือผู้ที่ใช้วันหยุดหรือเวลาว่างมาประกอบธุรกิจ ดังนั้นความท้าทายคือเรื่องของการจัดการเวลา

Continue reading

เทคนิคการหยุดพักที่ได้ผล

อะไรนะ หยุดพักก็ต้องมีเทคนิคเหรอ ใช่ครับ มี แต่ก่อนอื่น ทำไมเราต้องหยุดพักล่ะ เอางี้ก่อนครับ อย่างแรก ที่ผมพูดถึงการหยุดพัก ผมหมายถึงการหยุดพักสั้น ๆ ระหว่างวันนะครับ ไม่ใช่หมายถึงยาว ๆ แบบหยุดไปเที่ยวแบบนั้น

จากหนังสือชื่อ When ที่แต่งโดย Daniel Pink เขารวบรวมเอาผลวิจัยต่าง ๆ ที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับการหยุดพักไว้ เช่น ศาลจะมีแนวโน้มที่จะปล่อยนักโทษเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากการหยุดพักสั้น ๆ คือคล้าย ๆ กับว่าการหยุดพักมันช่วยทำให้จิตใจเราสดใสขึ้น โดยการหยุดพัก อาจจะมีได้หลายรูปแบบ รวมถึงการงีบสั้น ๆ ก็ด้วย

หลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ หลับกลางวัน แล้วเราจะไม่ปวดหัว หรือ มีความเฉื่อยชาเหรอ จากงานวิจัยก็พบอีกครับว่า ถ้าตราบใดที่เรานอนหลับกลางวันไม่เกิน 20 นาที เราจะไม่เกิดอาการเฉื่อยชาแน่นอนครับ และทราบไหมครับว่าเขาแนะนำให้ดื่มกาแฟก่อนงีบหลับอีกต่างหาก

อะไรนะ กาแฟมีคาเฟอีนไม่ใช่เหรอ ดื่มแล้วจะหลับเหรอ หลับครับ เพราะปกติคาเฟอีนมันจะใช้เวลาประมาณ 25 นาที กว่าที่จะเข้าไปในกระแสเลือด ถ้าเราหลับสัก 10-20 นาที ตื่นขึ้นมาก็สดชื่นพอดี

หนังสือเล่มนี้ยังมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการงีบหลับดังต่อไปนี้ครับ

1. พยายามหาเวลางีบหลับที่เหมาะสม ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงบ่าย 2 ถึงบ่าย 3 แต่ถ้าจะเอาให้ชัด เราอาจจะต้องสังเกตตัวเองดูครับว่าช่วงไหนที่เราทำงานได้แย่ที่สุด ตอนนั้นแหละครับที่เราต้องการการงีบหลับมากสุด หรือโดยปกติคือเวลา 7 ชั่วโมงหลังจากที่เราตื่นนอนครับ

2. พยายามหาที่ที่เงียบสงบ ปิดมือถือซะ ถ้าเรามีห้องก็ปิดประตูห้อง คือถ้านอนได้นะครับ แต่ทำงานอยู่อันนี้คงยากหน่อย เอาเป็นว่าพยายามแล้วกันครับ

3. ดื่มกาแฟก่อนนอน อย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้นครับ คาเฟอีนมันใช้เวลาสัก 25 นาที กว่าที่จะเข้าไปในกระแสเลือด ดังนั้นตื่นมาจะสดชื่นพอดี ไม่ต้องกาแฟก็ได้ จะเป็นอะไรที่มีคาเฟอีนได้หมด แต่ถ้าเราไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเลย ก็ข้ามข้อนี้ไปก็ได้ครับ

4. ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ให้เรางีบไม่เกิน 25 นาที คือถ้านานกว่านั้น เราจะเริ่มเฉื่อยชา ออกแนวปวดหัวตุ้บ ๆ แต่ถ้าสั้นกว่านั้น เช่นนอนแค่ 5 นาที อย่างนี้มันจะไม่เต็มอิ่มครับ ปกติถ้าเรานอนได้ 10-20 นาที จะดีสุด และโดยปกติเราจะใช้เวลาเฉลี่ยในการนอนจนกระทั่งงีบหลับประมาณ 7 นาที เขาเลยให้ตั้งเวลาไว้สัก 25 นาทีนั่นแหละครับ

5. พยายามทำเป็นประจำสม่ำเสมอ ถ้าทำได้ทุกวันก็ดีครับ แต่ถ้ามันไม่ได้จริง ๆ ก็เลือกเอาวันที่เราง่วงมาก ๆ เช่นวันที่เรานอนดึก ๆ อะไรแบบนั้น มันจะช่วยได้มากทีเดียว

เอ แล้วถ้าเราไม่สามารถงีบหลับได้ล่ะ ก็ทำงานอยู่ หัวหน้าก็ดุ ทำไงดี มีเทคนิคแถมให้อีกครับ

1. แบ่งการหยุดพักออกมาเป็นช่วงเล็ก ๆ หลาย ๆ ช่วงครับ โดยใช้กฎ 20-20-20 คือ พอเราทำงาน 20 นาทีแล้ว ให้มองอะไรก็ได้ที่ห่างออกไป 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที นอกจากนี้ ให้ใช้แก้วน้ำแก้วเล็ก ๆ เพื่อให้เรามีโอกาสเดินไปจากโต๊ะทำงานเพื่อไปเติมน้ำ ซึ่งจะทำให้เราได้ออกกำลังกายไปด้วย หรือไม่ก็ยืนขึ้นสัก 1 นาที เหยียดยืดแขนขาสักหน่อย ก็ยังดีครับ

2. หยุดโดยใช้การเคลื่อนไหว โดยออกไปเดินสัก 5 นาที ทุก ๆ ชั่วโมง หรือถ้าชอบแนวโยคะ ลองเลือกท่าบางท่าที่สามารถทำได้ที่โต๊ะ (คือไม่ต้องท่ายากมากนะครับ เดี๋ยวคนในที่ทำงานจะตกใจ 555) เขาเรียกกันว่า Office Yoga ลอง Search ใน Google ดูนะครับ หรือไม่ก็วิดพื้นเอาก็ได้ (แต่ถ้าไม่สะดวกก็อย่านะครับ คนจะคิดว่าเราเป็นอะไรไปเนี่ย 555)

3. หาทางหยุดโดยใช้ธรรมชาติ อันนี้ยากหน่อย แต่ถ้าทำได้จะดีมาก เช่น การออกไปเดินนอกตึกที่ทำงาน ยิ่งถ้าที่ทำงานใครใกล้ ๆ สวนสาธารณะจะสุดยอดเลย หรือถ้าออกไปไม่ได้จริง ๆ ลองจินตนาการ โดยการมองออกไปนอกหน้าต่างดูวิวธรรมชาติ (ถ้ามี) ก็ยังดีครับ

4. หยุดโดยการพูดคุยกับคนอื่น อันนี้อาจจะง่ายหน่อย ถ้ารู้สึกล้า ก็ลองโทรไปหาเพื่อนของเราดู เอาสัก 5-10 นาทีก็ได้ครับ ไม่ใช่คุยกันเป็นชั่วโมงนะครับ อาจจะเป็นคนที่เราไม่ค่อยได้คุยด้วยก็ได้ หรืออาจจะเขียน email ไปขอบคุณหรือแม้กระทั่งเดินไปทักทายเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเหลือคุณก็ได้ รวมถึงอาจจะจับกลุ่มคุยกันบ้างเรื่องสัพเพเหระ ต่าง ๆ มีบาง office เขาจะมีช่วง coffee break ก็เดินไปชงกาแฟคุยกันบ้าง

5. หยุดโดยพักสมอง อันนี้ก็ช่วยได้เยอะครับ เช่น การทำสมาธิ แค่สัก 3 นาที ก็ได้ผลแล้ว หรือ อาจจะทำการควบคุมการหายใจ หรือแม้กระทั่งการฟัง Podcast แบบสนุก ๆ หรืออ่านอะไรขำ ๆ ก็ยังดีครับ

เอาล่ะครับ ผมคิดว่าน่าจะพอได้ Idea นะครับ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการหยุดพักนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

คุณคือนก Lark นกฮูก หรือ นกประเภทที่ 3 กันแน่

หลายคนคงเคยอ่านบทความประเภทเทคนิคการจัดการเวลามาไม่มากก็น้อย หลายคนก็แนะนำว่า ใช้เวลาช่วงเช้าสิ เป็นเวลาที่สมองปลอดโปร่ง ให้อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ หรือแม้กระทั่งทำงานยาก ๆ ให้เสร็จ แต่หลายคนอาจจะไปลองทำแล้ว เอ ทำไมมันไม่ได้ผลเหมือนกับที่บทความเขียนไว้นะ ตื่นเช้ามา พยายามเขียนหนังสือ เขียนไม่ได้สักตัว แถมหลับอีกต่างหาก 555

ข้อเฉลยมีในบทความนี้ครับ ก็เพราะคนเราไม่เหมือนกันไงครับ

จากหนังสือที่ชื่อว่า When เขียนโดย Daniel Pink เขาแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

1. นก Lark คนกลุ่มนี้นอนเร็วตื่นเช้ามาก ๆ จากงานวิจัยมีประมาณ 14% ที่อยู่ในกลุ่มนี้

2. นกฮูกหรือ Owl คนกลุ่มนี้ นอนดึก ตื่นสายสุด ๆ กลุ่มนี้มีประมาณ 21%

3. นกประเภทที่ 3 หรือเรียกว่า Third Birds อันนี้ก็คือกึ่งกลางระหว่างประเภทที่ 1 และ 2 กลุ่มนี้ใหญ่สุดมีประมาณ 65%

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า เอ แล้วเราอยู่กลุ่มไหนกันแน่ ที่ว่านอนเร็ว คือเร็วแค่ไหน ตื่นเช้า เช้าแค่ไหน คืองี้ครับ เอาแบบคร่าว ๆ ให้คำนวณอย่างนี้ (เอามาจากหนังสือที่ชื่อ When นี่แหละครับ)

1. เราเข้านอนกี่โมง

2. เราตื่นนอนกี่โมง

3. หาเวลากึ่งกลางระหว่างข้อที่ 1 และ ข้อที่ 2

ถ้าจุดกึ่งกลางอยู่ระหว่างเที่ยงคืนถึงตีสาม เราเป็นนก Lark ครับ ถ้าอยู่ตั้งแต่ตีสามไปจนถึง ประมาณตีห้าครึ่ง เราเป็น Third Birds แต่ถ้าเป็นหลังจากนั้นคือตั้งแต่ตีห้าครึ่งจนถึงเที่ยง เราเป็นนกฮูก หรือ Owl แล้วล่ะครับ

เอาของผมนะครับ ผมเข้านอนประมาณ 4 ทุ่ม ตื่นตี 5 ดังนั้น Midpoint ผมจะอยู่ประมาณตีหนึ่งครึ่ง ผมเป็นประเภท นก Lark ครับ

รู้แล้วยังไง รู้แล้วเราเอาไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้แบบนี้ครับ

สำหรับงานที่ต้องการใช้ทักษะในการวิเคราะห์ต่าง ๆ ถ้าคุณเป็น Lark ให้ทำงานนี้ตอนเช้ามาก ๆ ถ้าคุณเป็น Third Birds ให้ทำช่วงเช้าหรืออาจจะสาย ๆ หน่อย แต่ถ้าเป็น Owl ทำตอนบ่ายกับเย็นจะดีกว่า หรือสำหรับงานที่คุณต้องตัดสินใจ Lark ควรจะทำตอนเช้ามาก Third Birds ทำตอนเช้าถึงสาย ๆ ส่วน Owl เอาไว้ทำตอนบ่ายแก่ ๆ หรือตอนเย็น

หลายคนก็อาจจะคิดในใจว่า อ้าว แต่ผมไม่สามารถควบคุมเวลาได้เองนี่ อย่างเช่น บางทีหัวหน้ามาสั่งให้เราทำงานแบบนี้ในตอนเช้า ทั้ง ๆ ที่เราจะทำงานนี้ตอนเย็นจะดีกว่า แบบนี้ เราจะทำอย่างไร มีข้อแนะนำดังนี้ครับ

1. ให้เรารู้ตัวเอง คือ สมมุติว่าเราเป็น Owl แต่พรุ่งนี้จะต้องมีการประชุมวิเคราะห์ข้อมูลในตอนเช้า ให้เรารู้ก่อนเลยว่า นั่นไม่ใช่เวลาที่ดีที่สุดของเรา แล้วเราก็อาจจะเริ่มเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เย็นวันนี้ เช่น การเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ก่อนประชุมเช้า ก็อาจจะสร้างอารมณ์ให้ดีที่สุด เช่น พูดคุย ทักทายเพื่อนร่วมงาน และระหว่างการประชุมก็อาจจะต้องตั้งใจเป็นพิเศษ อะไรแบบนี้

2. ทำงานให้ถูกเวลา เช่น ถ้าเราเป็น Lark ช่วงเช้า อย่าไปเสียเวลากับการตอบ email พยายามใช้เวลากับงานวิเคราะห์มากที่สุด ถ้าเป็นไปได้บอกกับหัวหน้าว่า เราทำงานแบบนี้ได้ดีกว่าตอนเช้า น่าจะดีกับองค์กรด้วย (หรือไม่ก็ให้หัวหน้าอ่านบทความนี้ 555)

และเนื่องจากคนส่วนใหญ่เป็นพวก Third Birds จากงานวิจัยยังพบอีกว่า คนส่วนใหญ่แล้วคนส่วนใหญ่จะมีอารมณ์ดีในตอนเช้าและจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงประมาณเที่ยง แต่พอเข้าช่วงบ่าย อารมณ์จะลดลง (คืออารมณ์ดีน้อยลง) ไปจนต่ำสุดประมาณสักบ่าย 3 และหลังจากนั้นจะกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง รู้แบบนี้แล้ว เวลาจะไปขออะไรใคร จะไปคุยกับหัวหน้า ลองดูจังหวะดี ๆ ก็แล้วกันนะครับ อ้อ แต่อันนี้สำหรับคนส่วนใหญ่นะครับ ถ้าเขาเป็น Lark กราฟนี้มันจะเลื่อนเร็วขึ้น และถ้าเขาเป็น Owl กราฟนี้มันจะช้าลง (คือบ่ายของ Owl คือเช้าของ Lark นั่นแหละครับ)

ไม่มีเวลาที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เราต้องปรับให้ได้ตามประเภทของเรานะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

ถ้าเรา “ยุ่ง” แสดงว่ามีอะไรผิดปกติแล้ว

ก่อนอื่น ขอให้คำนิยามคำว่า “ยุ่ง” ก่อน หลายคนอาจจะแปลว่า ก็มีเวลาน้อยไง จริงหรือครับ เวลาน้อย น้อยจากอะไรล่ะครับ เวลาเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน อ้าวก็แปลว่า น้อยเกินกว่าเนื้องานที่มีเหลืออยู่ไง เช่น งานมันต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่เรามีเวลาแค่ 2 ชั่วโมง อะไรแบบนี้ถึงเรียกว่ายุ่ง ถ้างั้น ถ้าเรามีเวลา 5 ชั่วโมงในการทำงานนั้น เราจะเรียกตัวเองว่า “ยุ่ง” อยู่หรือเปล่า

พอสงสัยก็เลยเข้าไปดูในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งน่าจะเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุด ก็ได้เห็นนิยามคำว่า “ยุ่ง” ไว้ดังนี้ครับ (เอาเฉพาะนิยามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นะครับ)

(๒) ก. เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันโดยไม่จำเป็น เช่น อย่าไปยุ่งเรื่องของเขา อย่าไปยุ่งกับเขา, มีธุระพัวพันมาก เช่น กำลังยุ่งอย่ามากวนใจ, วุ่นวายไม่เป็นปรกติ เช่น ยุ่งกันไปทั้งบ้าน

อ่านแล้วก็ยังไม่ชัดเจน แต่พอใจสรุปได้ว่า ยุ่ง น่าจะหมายความว่า มีงานเยอะ และไม่ใช่เป็นปกติ

เอาล่ะ ผมว่าพอจะเห็นภาพ แล้วไงต่อ คือผมอยากจะบอกว่า ถ้าเรายุ่งเป็นครั้งคราว อันนั้นไม่เป็นไรครับ เพราะคำว่า “ยุ่ง” มันเป็นสภาวะที่ไม่ปกติ สามารถเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ถ้าเรา “ยุ่ง” ตลอด แบบนี้ มันไม่น่าจะใช่สภาวะที่ถูกต้องนะครับ

มันเหมือนกับอาการเครียด อาการปวดหัว เชื่อว่าทุกคนก็เคยเป็น แต่ถ้าใครเครียดตลอดเวลา หรือ ปวดหัวตลอดเวลา แปลว่ามีอะไรผิดปกติแล้วจริงไหมครับ ผมว่า “ยุ่ง” ก็เช่นเดียวกัน

ดังนั้น ถ้าเราเริ่ม “ยุ่ง” ติด ๆ กันตลอด แปลว่ามันมีอะไรที่ผิดปกติ และน่าจะต้องได้รับการแก้ไข

อาการ “ยุ่ง” คืออาการที่เราต้องทำงาน และส่วนใหญ่คือการทำสิ่งที่ตัวเราไม่ชอบด้วย เช่น เรามักจะได้ยินคำว่า “งานยุ่ง” มากกว่า “พักผ่อนยุ่ง” (ศัพท์อะไรเนี่ย) เพราะ งานมันคือสิ่งที่เราไม่ชอบ พอเราต้องทำแล้วมีเวลาน้อย แทบไม่มีเวลาหยุด เราก็บอกว่า วันนี้งานยุ่งมาก แต่ถ้าวันนั้นเราไปเที่ยวชายทะเล สนุกสนาน เราจะเรียกวันนั้นว่า เราพักผ่อนยุ่ง ไหมครับ ก็เวลาก็หมดไปเหมือนกัน ไม่มีเวลาทำอย่างอื่นเลย นอกจากเที่ยว แต่เราไม่เคยใช้คำว่า “ยุ่ง” กับสิ่งนี้เลยจริงไหมครับ

ดังนั้นเมื่อเรา “ยุ่ง” แสดงว่า เรากำลังอยู่ใน Mode 2 อย่างคือ ทำในสิ่งที่เราไม่ค่อยชอบ และ มีเวลาว่างในการทำสิ่งที่ชอบเหลือน้อยลง

แล้วจะทำอย่างไร เพื่อให้ลดความยุ่งลง เราก็ต้องลด 2 มิตินี้ลง คือ อย่างแรก เราต้องเริ่มลองค้นหางานที่เราชอบแล้วล่ะครับ เพราะในระยะยาว ถ้าเรายิ่งทำในสิ่งที่ไม่ชอบไปนาน ๆ นอกจากผลงานจะไม่ดีแล้ว โอกาสที่เราจะยุ่งมันจะสูงขึ้น เพราะเมื่อไม่ชอบ คำว่า ยุ่ง จะเกิดขึ้นง่ายกว่า สิ่งที่เราชอบ เช่น ผมไม่เคยบอกกับใครเลยว่า เขียนหนังสือยุ่งมาก เพราะการเขียนหนังสือคือสิ่งที่ผมรักไงครับ

อย่างที่สองคือ ถ้ายังหางานที่ชอบทำไม่ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง เราคงต้องหา “เวลา” เพิ่มแล้วล่ะครับ บางคนอาจจะสงสัยว่า เวลามันมีแค่ 24 ชั่วโมง จะหาได้จากไหนเพิ่มอีก ลองไปอ่านวิธีการบริหารจัดการเวลา กันดูครับ มีเทคนิคเยอะแยะ เช่น การมอบหมายงานให้คนอื่นทำ การรู้จักปฏิเสธไม่ทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด หรือไม่ชอบ ผมไม่ได้บอกว่าให้โบ้ยงานทั้งหมดให้คนอื่นทำนะครับ คนละเรื่องกัน แต่เราควรจะทำในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราจริง ๆ และเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดต่างหาก

ลองดูนะครับ ถ้าใครทำงาน “ยุ่ง” มาทุก ๆ วัน ลองหยุดคิดดูดี ๆ ครับ เอาใจช่วยทุกคนครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

 

7 เทคนิคการจัดการเวลา

ระยะหลังมีหลายท่านถามผมว่า ผมมีเทคนิคการจัดการเวลาอย่างไร ทำไมถึงมีเวลาทำโน่นนี่นั่นเยอะไปหมด ทั้งงานสอน งานวิจัย งานบริหาร เขียนหนังสือปีละหลายเล่ม อ่านหนังสือได้อีกเยอะแยะ แถมมีเวลาให้กับครอบครัวอีก

เลยเป็นที่มาของงานเขียนชิ้นนี้ครับ เผื่อผู้อ่านจะได้ประโยชน์ด้วยนะครับ

ก่อนอื่นเลย เทคนิคเหล่านี้ ผมก็ได้จากการอ่านหนังสือ และการพูดคุยกับคนที่จัดการเวลาเก่ง ๆ แล้วเราก็เอามาปรับใช้ครับ เริ่มเลยแล้วกันนะครับ

1. ต้องเลือกงานที่จะทำ

คืองี้ครับ ทุกคนจริง ๆ แล้ว มีเวลาเท่ากันหมด คือ 24 ชั่วโมงต่อวัน เพียงแต่เราเอาเวลาเหล่านั้นไปใช้ทำอะไรมากกว่า และก็เป็นปกติครับที่เรามักจะมี “อะไรที่ต้องทำ” มากกว่าเวลาที่เรามีอยู่

คราวนี้ การที่เราจะทำงานให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดี เราต้อง “เลือก” ก่อนครับ คือ ถ้าเราทำมันสะเปะสะปะไปหมด สุดท้าย อาจจะทำอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง แถมแต่ละอย่าง คุณภาพมันก็ไม่ดี

ดังนั้น เราต้องเลือกก่อนครับว่า เราควรทำอะไร มันเหมือนเป็นขั้นของการ “กรอง” งานที่ควรทำ คราวนี้ หลายท่านอาจจะสงสัยต่อว่า แล้วเอา Criteria อะไรในการเลือก ตอบง่าย ๆ เลยครับ คือ ผมเอาเป้าหมายในชีวิต ที่ผมตั้งไว้ เป็นตัวกรองครับ เช่น ผมหวังว่าจะเป็นศาสตราจารย์ ดังนั้นถ้างานอะไรที่มีส่วนช่วยให้ผมเป็นศาสตราจารย์ เช่นงานวิจัย ผมจะเลือกงานเหล่านั้นเข้ามาทำก่อนงานอื่น ๆ เช่น เล่น Facebook 555 ทำแบบนี้แล้ว รับประกันว่า งานเราจะเริ่มน้อยลงครับ

2. จัดลำดับความสำคัญ

หลายคนก็อาจจะบอกว่า เอาล่ะ เลือกมาแล้ว แต่งานมันก็ยังเยอะกว่าเวลาอยู่ดี ทำไงดี

คราวนี้ พอเลือกมาแล้ว เราต้องนำมาจัดลำดับความสำคัญครับ อะไรสำคัญมาก ทำก่อน สำคัญน้อย ทำทีหลัง เคยได้ยินกฎของ Pareto กันมาบ้างใช่ไหมครับ ที่เราเรียกกันว่า กฎ 80-20 น่ะครับ คือ 20% ของงานที่มี มันส่งผลกระทบถึง 80% ของผลลัพธ์ที่เราต้องการเลยครับ ดังนั้นลองดูดี ๆ ครับว่างานไหนมันส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์มากที่สุด ให้ทำงานนั้นก่อนครับ และนี่จะเป็นวิธีทำงานให้ได้ผลลัพธ์มาก โดยใช้เวลาน้อย เลยนะครับ

3. เลือกเวลาในการทำงาน

เอาล่ะครับ คราวนี้ เรามี List ของงานที่ต้องทำ ผ่านการกรองมาแล้ว และจัดลำดับความสำคัญมาแล้ว อีกเทคนิคหนึ่งที่ผมมักจะใช้ คือ เลือกเวลาในการทำงาน ครับ

สำหรับผม (และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเหมือนกัน) เวลาที่สมองเราโปร่งโล่งสบายมากที่สุด คือช่วงเช้าใช่ไหมครับ (แต่มีข้อแม้คืออย่านอนดึกมากนะครับ) เพราะฉะนั้น งานที่ควรเลือกทำในช่วงเช้า ควรเป็นงานที่ยาก และมีความซับซ้อนครับ เพราะเรายังมี Willpower (คล้าย ๆ พลังสมอง) ในการทำ ทำแบบนี้ มันจะใช้เวลาแป๊บเดียว ในการทำงานยาก ๆ นั้นเสร็จ

เช่น ผมมักจะเลือกอ่านบทความวิจัยภาษาอังกฤษในช่วงเช้ามากกว่า เพราะมันใช้เวลาอ่านแป๊บเดียว มีสมาธิ แต่ถ้าเอาไปอ่านช่วงเย็น ๆ หลังจากสอนมาแล้ว มันหมดแรงครับ คราวนี้ พออ่านมันก็เข้าหัวยาก ใช้เวลานานเป็นต้น

ตอนเช้า สิ่งที่ผมมักจะหลีกเลี่ยง คือการเช็ค Email หรือเล่น Facebook หรือ Line ครับ (แต่บางทีก็อดไม่ได้เหมือนกัน 555) หลายท่านบอกว่า เอ ก็เห็นผม post ใน Page ทุกเช้าไม่ใช่เหรอ จริง ๆ คือตั้งเวลา Post ไว้น่ะครับ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ เราไม่ต้องใช้ Willpower เท่าไรเลย พูดง่าย ๆ คือผมเสียดายพลังสมองในช่วงเช้าน่ะครับ พวกนี้ เอาไว้ตอนเราเหนื่อย ๆ ก็ค่อยเข้ามาอ่านได้ ถือเป็นการผ่อนคลายซะด้วยซ้ำไป

4. ใช้ “เวลาว่าง” ให้เกิดประโยชน์

คืองี้ครับ ผมว่าแต่ละคน ในแต่ละวัน มักจะเจอเวลาที่เราเสียไปเฉย ๆ เช่น นั่งอยู่ในรถขณะรถติด หรือไปเข้าแถวรอในธนาคาร หรืออื่น ๆ ใช่ไหมครับ

ตรงนี้แหละครับ ที่เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผมจะแนะนำ คือ พยายามอย่าให้เรา “ว่าง” แบบนั้น เพราะเวลาเหล่านั้น เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล

อย่างผม ผมจะมีหนังสือติดตัวไว้ตลอดเวลา เช่น เวลาผมต้องไปรอรับลูก ผมทราบครับว่า บางทีลูกก็อาจจะเลิกเย็น เพราะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องทำ แทนที่ผมจะนั่งรอเฉย ๆ หรือนั่งเล่น Social Media ไปเรื่อย ๆ ผมก็จะติดหนังสือมาอ่าน และนี่แหละครับ ที่ทำให้ผมอ่านหนังสือได้เยอะ

หรือแม้กระทั่ง เวลาผมขับรถ แล้วรถติด ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนในกรุงเทพ ผมอ่านหนังสือในรถอยู่บ่อย ๆ (ถ้ามันติดนิ่ง ๆ เลยนะครับ) หรือไม่ก็ฟังหนังสือเสียง ในกรณีที่รถมันเลื่อนไปเรื่อย ๆ

เชื่อไหมครับ หนังสือหลายเล่มที่ผม อ่านจบ ก็อ่านในรถนี่แหละครับ ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ แม้กระทั่งเวลาที่ผมวิ่งออกกำลังกาย ผมก็ใส่หูฟังฟังหนังสือเสียงไปด้วย อันนี้ได้ 2 เด้งเลยครับ สุขภาพก็ได้จากการออกกำลังกาย ความรู้ก็ได้จากการฟังหนังสือเสียง แถมเวลาวิ่งแล้วฟังหนังสือเสียงไปด้วย มันเพลินอีกต่างหาก (ใครสนใจอยากรู้ว่าผมหาเวลาอ่านหนังสือได้อย่างไร ลองตามไปอ่านบทความนี้ได้ครับ 10 วิธีหาเวลาอ่านหนังสือ)

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องอ่านหนังสือเหมือนกับผมนะครับ ประเด็นคือ ลองมองว่า เวลาที่เราต้องเสียไปเปล่า ๆ แบบการรอคอยนั้น เราเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้างที่มันเป็นประโยชน์น่ะครับ

5. เลือกวิธีที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมาย โดยใช้เวลาน้อยที่สุด

เทคนิคนี้ เราต้องทราบเป้าหมายก่อนครับว่าเราต้องการอะไร แล้วลองดูว่ามีวิธีไหนที่ทำให้เราได้สิ่งที่ต้องการ โดยใช้เวลาน้อยที่สุด ยกตัวอย่างครับ เช่น ผมเป็นคนชอบเขียนหนังสือมาก ดังนั้นเพื่อจะได้พัฒนาฝีมือการเขียน ผมก็อยากจะเข้า course เรียนการเขียน

แต่ถ้าผมจะต้องไปสมัคร course เรียน แล้วต้องเดินทางไปเรียนในเมือง ซึ่งรถก็ติด ผมมาคิดดูแล้ว มันใช้เวลาเราไม่ใช่น้อย แค่ขับรถไปกลับ วันหนึ่งก็เกือบ 4 ชั่วโมงละ แล้ว ถ้า course มันหลายวัน มันก็อาจจะเสียเวลาไปพอสมควร ในกรณีนี้ เผอิญผู้สอนเข้ามี course online ให้เลือกเรียนได้ด้วย ผมจึงลงเรียน course online ซึ่งความเห็นผม คือคุณภาพแทบไม่ต่างจากการไปเรียนกับเจ้าตัวเลย แต่เราไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลา แถมเรียนในเวลาที่เราสะดวกได้อีกด้วย

ลองนำวิธีนี้ไปใช้ดูนะครับ ถ้ามีทางเลือก ที่ทำให้ได้ผลลัพธ์เท่ากัน เลือกทางเลือกที่ใช้เวลาเราน้อยที่สุดครับ

6. แบ่งงานให้คนอื่นทำ

ข้อนี้หลายคนไม่ค่อยได้คิดครับ เพราะคิดว่างานทั้งหมดเป็นงาน “ของเรา”

ใช่ครับ มันเป็นงานที่เราต้องทำให้เสร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องเป็นคนทำคนเดียวนี่ครับ

ผมเชื่อว่า เราไม่ได้เก่งในทุกเรื่อง ดังนั้นเรื่องที่เราไม่เก่ง ไม่ถนัด เราไปให้คนที่เขาเก่ง เขาถนัด ทำดีกว่าครับ แล้วเอาเวลาที่เรามีไป Focus กับงานที่เราเก่งเราถนัดดีกว่า

มีคนเคยถามผมว่า เขียนหนังสือยังไง ได้ผลงานมาเรื่อย ๆ เลย ผมตอบแบบนี้ครับ คือส่วนหนึ่งมันเกิดจากความชอบของผมด้วย เลยไม่ได้รู้สึกว่าการเขียนหนังสือเป็น “งาน” แต่อีกส่วนก็คือ ผมเน้นในกระบวนการ “เขียน” ครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมถนัด พวกงานออกแบบปก งาน Graphic Design จะให้ไปเรียนรู้ ไปทำ ก็คงพอถูไถไปได้ แต่ผมไม่ทำครับ เพราะ ผมเชื่อว่ามีคนเก่งกว่าผม ทำงานพวกนี้ได้ดีกว่าผม

ดังนั้นผมจึงยอมจ้างเขาเหล่านั้น มาทำงานแบบนี้ให้ผมจะดีกว่าครับ เวลาที่ผมมี จึงสามารถนำไป Focus ในสิ่งที่ผมชอบและถนัดมากกว่า

7. รู้จักปฏิเสธ

ผมว่าในบรรดา 6 ข้อ ข้อนี้ยากที่สุดครับ คือสุดท้าย พอเราเก่ง มีความสามารถ ก็เป็นเรื่องปกติ ที่จะมีผู้คนเอางานมาให้เราทำ เรียกว่า มันจะเริ่มมี “โอกาส” เข้ามาในชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจริง ๆ เป็นสิ่งที่ดีนะครับ

แต่ถ้ามาถึงจุดหนึ่ง “โอกาส” เหล่านี้มันเริ่มหลั่งไหลเข้ามาเยอะ ๆ เข้า มันก็มักจะมาเบียดเบียนเวลาที่มีน้อยอยู่แล้วของเรา ให้มันน้อยลงไปอีก

ดังนั้นถ้าเราไม่รู้จักปฏิเสธ ใครให้ทำอะไร ทำมันหมด (เหมือนชีวิตผมในบางครั้งเลย 555) สุดท้าย เราจะไปทำงานอื่น ๆ ที่มันไม่ค่อยเกี่ยวกับเป้าหมายในชีวิตเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ ดังนั้น บางที เราอาจจะต้องเลือกทำบางอย่าง และปฏิเสธงานบางอย่างไป

ผมเข้าใจครับว่า บางงานมันก็ปฏิเสธยาก เพราะเราอาจจะเกรงใจคนที่ขอให้ทำ แต่ลองคิดแบบนี้ครับ ถ้าเรารับทำ แต่เราไม่มีเวลา ผลงานก็อาจจะไม่ดีพอ แล้วผลเสียก็จะเกิดกับคนที่ขอให้เราทำงานนั้นเองนะครับ

อย่างผม เวลามีคนมาเชิญบรรยาย แต่เป็นหัวข้อที่ไม่ได้อยู่ในความเชี่ยวชาญผม คือจริง ๆ ก็พอจะบรรยายได้แหละครับ แต่ต้องใช้เวลาเตรียมตัวมากทีเดียว แบบนี้ผมมักจะปฏิเสธไป ด้วยเหตุผลว่า ผมไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และผมถือว่าเป็น Win-Win นะครับ คือผมก็ไม่ต้องเสียเวลาไปเตรียมตัวในเรื่องที่ผมไม่ค่อยสนใจ และคนที่อยากให้ผมไปบรรยาย เขาจะได้เชิญคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง ที่จะให้ความรู้ได้ดีกว่าผมอีก

นี่แหละครับ เป็นเทคนิคการจัดการเวลาที่ผมใช้อยู่เป็นประจำ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho