โลกการทำงาน 2 โลก

คิดว่าหลายคนที่เป็นหัวหน้าอาจจะมีปัญหาในเรื่องนี้ คือจะทำอย่างไรจะจูงใจให้ลูกน้องเราอยากทำงาน เพราะถ้าทำตรงนี้ได้ ที่เหลือก็ไม่ยากแล้ว

พอมาถึงตรงนี้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่า ก็เพิ่มเงินเดือนสิ หรือให้โบนัสเยอะ ๆ แต่ก็อีกนั่นแหละคือองค์กรส่วนใหญ่ก็มักจะมีข้อจำกัดในเรื่องการเงิน หรือเชื่อไหมครับว่า หลายครั้ง ถึงแม้ว่าเราจะจ้างใครบางคนด้วยค่าจ้างที่แพงมาก โบนัสก็ไม่น้อย แรงจูงใจบางทีมันก็ไม่เห็นจะเยอะเหมือนค่าจ้างเลย

แล้วจะทำอย่างไรดี

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ เราต้องรู้จักโลก 2 โลกก่อน จากงานของ Dan Ariely Professor จาก Duke University เขาเรียกโลก 2 โลกนี้ว่า Market Norms ซึ่งผมขอเรียกว่าโลกของการตลาด กับ Social Norm ซึ่งผมขอเรียกว่าโลกของสังคม

มันต่างกันอย่างไร

โลกของการตลาด มันคือโลกที่มันใช้การแลกเปลี่ยนกันระหว่างเงินหรือสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ถ้าเธอทำอันนี้ให้ฉัน เดี๋ยวฉันจะให้เงินเธอ

ดังนั้นระบบการขึ้นเงินเดือน การให้โบนัส มันจะเข้าข่ายว่าตอนนี้เราอยู่ในโลกของการตลาดอยู่ คือมีการแลกเปลี่ยน ยื่นหมู ยื่นแมวกัน

ส่วนโลกของสังคมนั้น มันคือโลกที่ใช้การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น วันนี้เราช่วยทำงานนี้ให้นะ แล้วพอมีโอกาสวันหลังเพื่อนเราก็เอื้อเฟื้อช่วยงานเราบ้าง (แต่ไม่ได้มานั่งนับกันนะครับว่าใครช่วยกี่ที ดังนั้นอีกฝ่ายต้องช่วยกลับให้ครบ ถ้าเป็นแบบนั้น มันจะกลายเป็นโลกของการตลาดไป)

เอาล่ะ พอจะรู้จักโลก 2 โลกนี้แล้ว คราวนี้ปัญหาคือ เราต้องไม่ให้โลก 2 โลกนี้มาปะปนกัน เพราะถ้าปนกันเมื่อไร มันจะเกิดปัญหาขึ้นทันที

James Hayman และ Dan Ariely ซึ่งเป็นนักวิจัยทางด้าน Behavioral Economics ได้ทำการทดลองหนึ่ง โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองใช้เมาส์ลากวงกลมที่อยู่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปใส่ในกล่องสี่เหลี่ยม หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามันเป็นงานที่ค่อนข้างน่าเบื่อเลยแหละ

โดยให้ทำแบบนี้ 3 นาที แล้วนับว่าจะทำได้สักกี่อัน (คือเอาวงกลมไปใส่ในสี่เหลี่ยมได้กี่อัน)

ผู้เข้าร่วมการทดลองจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ทำแบบนี้เฉย ๆ ไม่ได้ผลตอบแทนอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น กลุ่มที่ 2 จะให้เงิน 4 เหรียญต่อจำนวนชิ้นที่ทำได้ และกลุ่มที่ 3 ได้เงินแค่ 10 เซ็นต์ต่อจำนวนชิ้นที่ทำได้ โดยที่คนในแต่ละกลุ่มก็ไม่ทราบว่าคนในกลุ่มอื่นจะได้อะไรบ้าง

ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ได้เงิน 4 เหรียญต่อชิ้นที่ทำได้ สามารถทำได้ 159 ชิ้นใน 3 นาที ส่วนกลุ่มที่ได้แค่ 10 เซ็นต์ ทำได้เพียง 101 ชิ้นใน 3 นาที ซึ่งตรงนี้ก็ไม่มีอะไรแปลก เพราะยิ่งได้เงินเยอะ ก็น่าจะจูงใจมาก จริงไหมครับ

ถ้าอย่างนั้นลองเดาเอาว่า กลุ่มที่ไม่ได้เงินเลย ก็น่าจะไม่มีแรงจูงใจ และทำได้น้อยมาก ๆ ใช่ไหมครับ…

ผิดครับ กลุ่มที่ไม่ได้เงินเลย กลับทำได้สูงถึง 168 ชิ้นใน 3 นาที

เกิดอะไรขึ้น มีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า

ไม่มีครับ เหตุผลที่กลุ่มที่ไม่ได้เงิน แต่กลับทำได้เยอะกว่า เพราะเขาอยู่ในโลกของสังคม ไม่ใช่โลกของการตลาดครับ แปลว่า เขามีแรงจูงใจที่จะทำ เพราะเขาอยากช่วยเหลือนักวิจัย แต่พอเขาได้เงินแค่ 10 เซ็นต์ คนจะเข้ามาอยู่ในโลกของการตลาด เขาจะเริ่มคิดว่า อะไรกัน เวลาเขามีค่านะ ให้เงินเขาแค่ 10 เซ็นต์เองเหรอ

หรือแม้กระทั่ง 4 เหรียญ มันก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้แรงจูงใจที่เกิดจากโลกการตลาด มาชดเชยแรงจูงใจที่ได้จากโลกของสังคม

เห็นไหมครับว่า บางโอกาส เงินนี่แหละครับ กลับกลายเป็นสิ่งที่ลดแรงจูงใจคนลงได้

ดังนั้นหากเราเป็นหัวหน้างาน ลองคิดดูดี ๆ นะครับว่า จังหวะไหนควรให้เงิน จังหวะไหนไม่ควร ถ้าให้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า บางทีแทนที่จะได้ผลดี มันกลับจะสร้างผลเสียด้วยซ้ำไป

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือ Twitter Nopadol’s Story หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

เบื่องาน อยากลาออกมาทำธุรกิจ ทำอย่างไร

เวลาผมจัด Nopadol’s Story Podcast ทุกสัปดาห์ เช้าวันอาทิตย์ จะมีตอนตอบคำถาม ต้องยอมรับว่าคำถามหนึ่งที่มักจะมีคนถามมาอยู่เรื่อย ๆ คือ

“เบื่องาน อยากจะลาออกมาทำธุรกิจเอง แต่ก็ไม่มีเงิน ไม่อยากเสี่ยง มีหนี้ มีภาระ จะทำอย่างไรดี”

คำตอบของผมมีหลายข้อดังนี้ครับ

1. เอาให้แน่ใจก่อนว่าที่บอกว่า “เบื่องาน” นั้น เราเบื่ออะไรกันแน่ เราเบื่อตัวงานนั้น หรือ เราเบื่อตัวเจ้านาย หรือเราเบื่ออย่างอื่น

อันนี้สำคัญนะครับ ถ้าสมมุติว่าเราเบื่อตัวงานนั้น ทางแก้มันอาจจะมีมากกว่าการลาออกมาทำธุรกิจเป็นนายตัวเอง เราแค่ย้ายไปทำงานในบทบาทอื่นก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว บางทีอาจจะไม่ต้องลาออกจากที่ทำงานเดิมยังได้เลย เราอาจจะขอเจ้านายไปทำงานในบทบาทใหม่ ๆ ก็อาจจะเป็นไปได้ หรือแม้แต่ว่าถ้าเหตุผลคือเราไม่ชอบเจ้านาย เราก็อาจจะหาทางออกโดยการย้ายงานหรือย้ายแผนกให้เช่นกัน

หรือมีบางครั้งเราเบื่อการทำงานหนัก เลิกดึก ๆ อันนี้ลองคิดใหม่นะครับ เพราะการออกมาเป็นผู้ประกอบการ มันไม่ได้แปลว่าเราจะทำงานเบาลงนะครับ บางคนไปติดภาพ ประมาณว่า ตอนเช้าจิบกาแฟ อ่านหนังสือ อยากทำงานตอนไหนก็ทำ จริง ๆ ชีวิตมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น ผมเห็นผู้ประกอบการหลายคน (และส่วนใหญ่ด้วย) ทำงานหนักมากกว่างานประจำซะอีกครับ

เพราะฉะนั้นตอบคำถามตัวเราให้ดีว่าเราเบื่ออะไร และการออกมาทำธุรกิจเอง ช่วยแก้ปัญหานั้นจริงหรือไม่

2. เริ่มจากธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนให้น้อยที่สุดก่อน

เอาล่ะครับ สมมุติว่าท่านคิดว่ายังไงก็อยากจะออก เพราะถึงย้ายงานมันก็ไม่ตอบโจทย์ชีวิตเราอยู่ดี

โอเคครับ แต่ปัญหาที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถออกมาทำธุรกิจเองได้เลย ก็เพราะ มันต้องใช้เงินเยอะ แถมบางท่านยังมีหนี้ต้องผ่อน หรือมีภาระทางการเงินเยอะแยะ

ส่วนตัวผมแนะนำแบบนี้ครับ คือเลือกทำธุรกิจอะไรก็ได้ที่มันไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ เลือกทำธุรกิจที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐานก่อน ที่แนะนำเช่นนี้เพราะผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะทำธุรกิจใด เราต้องมีความรู้ก่อน ถ้าไม่มีความรู้ ยังไงโอกาสสำเร็จก็ยาก แต่ไหน ๆ ต้องมีความรู้แล้ว เปลี่ยนความรู้เป็นธุรกิจจะทำได้ง่ายและมีความเสี่ยงน้อยกว่า

ยกตัวอย่างเช่น เราอยากจะซื้อคอนโดมาปล่อยให้เช่า อยากจะสร้าง Passive Income คือไม่ต้องเอาแรงไปแลก นั่งเฉย ๆ ก็ได้เงินค่าเช่ามา

แต่ถามว่า จะได้คอนโดสักห้อง มันไม่ใช่ถูก ๆ ตรงนี้แหละที่คนหลายคนจะหยุด แล้วบอกว่า งั้นก็ทำงานประจำต่อไป แล้วก็วนเวียนกับคำบ่นว่าอยากออกจากงานอยู่เรื่อย ๆ เป็นวัฏจักร

แต่ก็มีบางคน ก็ลงทุนไปกู้หนี้ยืมสินมาเป็นเงินจำนวนมาก เพื่อเอามาซื้อคอนโดสักห้อง และหวังอนาคตไว้อย่างสวยหรู เพียงแต่… ไปพบความจริงว่า ห้องที่ซื้อนั้น ไม่มีคนมาเช่าสักที หนักกว่านั้น บางคนถึงกับลาออกมา เพื่อไล่ล่าความฝันนี้ จนกระทั่ง สุดท้ายหนี้ท่วมตัว คอนโดโดนยึด หรือเลวร้ายกว่านั้นคือ แม้กระทั่งบ้าน รถ ที่ติดหนี้อยู่เหมือนกันก็โดนยึดไปด้วย เรียกว่าล้มเป็นโดมิโน่กันเลยทีเดียว

อ้าว แล้วจะให้ทำอย่างไร ก็ไม่มีเงิน ถ้าไม่กู้ ก็ต้องทนทำงานประจำที่แสนจะเกลียดไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ

ผมขอเสนอแนวทางอย่างนี้ครับ คือ อย่าเพิ่งลาออก อย่าเพิ่งกู้หนี้ยืมสิน แต่ให้เริ่มศึกษาก่อน ไม่ได้ให้ศึกษาอย่างเดียว ให้ลองทำด้วยครับ แต่ไม่ต้องไปใช้เงินลงทุนเยอะ ๆ เช่นอย่างตัวอย่างของการซื้อคอนโด ผมแนะนำว่า เราลองหาความรู้เรื่องอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดก่อนครับ เสร็จแล้ว เราลองเป็นนายหน้าขายคอนโดดูก่อน จะได้รู้ว่า คนชอบคอนโดแบบไหนอย่างไร คอนโดไหนราคาสูง อันไหนราคาต่ำ แถมเราก็ยังได้รายได้เป็นค่านายหน้าด้วย

เอาไว้เรามีความเชี่ยวชาญ รู้จักคน รู้จักคอนโดดีพอ อยากจะลาออก มาเป็นนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เต็มตัวก็ค่อยว่ากัน

อันนี้ได้หมายความว่ามีแต่เรื่องคอนโดนะครับ ผมว่าทุกเรื่อง ต้องการความรู้ทั้งสิ้น และเราก็สามารถเริ่มต้นจากการหาความรู้ และเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ได้ทั้งสิ้นเช่นกันครับ

3. เริ่มทำจากเวลาว่างก่อน อย่าเพิ่งลาออกมาทำ

อันนี้ก็เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ครับ ผมเข้าใจครับว่า หลายคนเบื่องานประจำมาก ๆๆๆๆ แต่ใจเย็น ๆ ครับ เพราะข้อดีของงานประจำคือ ยังไงเราก็มีรายได้เข้ามาทุกเดือน

ยิ่งเป็นคนที่ติดหนี้ มีภาระ ยิ่งแล้วใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ติดหล่มอยู่อย่างนั้น อย่างตัวอย่างก่อนหน้านี้ เราอาจใช้เวลาเสาร์หรืออาทิตย์ มาศึกษาเกี่ยวกับตลาดคอนโด หรือใช้เวลาลองทำเป็นนายหน้าซื้อขายคอนโดช่วงวันหยุดดู แทนที่จะอยู่บ้านหรือออกไปเที่ยวเฉย ๆ

การทำแบบนี้นอกจากจะเป็นการเริ่มสร้างรายได้แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือเราจะได้รู้จริง ๆ ว่า สิ่งที่เราคิดว่าเราชอบนั้น เราชอบจริงไหม และมีโอกาสที่จะกลายเป็นอาชีพหลักของเราได้หรือไม่

สรุปว่าก่อนจะลาออกมาตามหาฝัน ถามตัวเองว่า เราเบื่ออะไรกันแน่ และถ้าจะเริ่มให้เริ่มจากธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเลยหรือใช้น้อย ๆ และอย่าเพิ่งลาออกให้ลองมาทำดูก่อน ถ้าทำได้แบบนี้ ผมเชื่อว่า ในอนาคตการได้ทำงานในฝันจะไม่ยากเกินเอื้อมอีกต่อไปครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือ Twitter Nopadol’s Story หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

21 ข้อคิดที่ได้เรียนรู้จากหนังสือ หลักคิดที่คนญี่ปุ่นพกไปทำงานทุกวัน

เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ขอเรียนตรง ๆ ว่า ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะซื้ออ่านเลย แต่เป็นธรรมเนียมที่เวลาผมได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ผมมักจะชอบไปเดินร้านหนังสือ ทั้ง ๆ ที่ที่จริงก็ติดหนังสือไปอ่านนะครับ แต่บอกตรง ๆ ว่าอดไม่ได้

และส่วนใหญ่ก็มักจะไปซื้อหนังสือภาษาอังกฤษอีกเช่นกัน แต่คราวนี้รู้สึกว่า ยังมีหนังสือภาษาอังกฤษอีกเยอะที่ผมยังไม่ได้อ่าน เลยแวะร้านหนังสือไทยบ้างดีกว่า แล้วก็ไปเจอเล่มนี้ เห็นว่าเล่มเล็ก ๆ น่าจะอ่านง่ายเลยซื้อมาครับ

แต่พออ่านแล้ว ได้ idea ดี ๆ หลายอย่างครับ เลยขอนำมาฝากเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ

1. เราควรใช้ชีวิตแบบ ABC โดย A มาจากคำว่า Atarimae (อะตะริมะเอะ) หมายถึงเรื่องธรรมดา B มาจากคำว่า Baka ni naru (บะกะนินะรุ) หมายถึงทุ่มสุดตัว และ C มาจากคำว่า Chanto suru (ชันโตะสุรุ) หมายถึงทำให้ดีที่ดี่สุด ดังนั้น ABC จึงมีความหมายรวมว่า การทุ่มสุดตัวทำเรื่องธรรมดาให้ดีที่สุด

2. ไม่ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะดีหรือร้าย ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่ว่าเราคิดอย่างไรกับสิ่งนั้น

3. ความสำเร็จและความสุขคือรางวัลตอบแทนจากการที่เราทำให้คนอื่นมีความสุข

4. เราควรคิดว่าเราทำได้ และพยายามทำให้ความเป็นจริงเข้าใกล้ความเป็นอุดมคติมากที่สุด

5. หากเราไม่ยอมลงมือทำ เราจะเอาแต่คิดแล้วก็กลัว ให้เราเริ่มลงมือทำ มันจะก่อให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างเกิดขึ้น

6. มนุษย์ไม่ต้องการเหตุผล แต่ต้องการความรู้สึกประทับใจ

7. หากเรามัวมองแต่ข้อเสียของคนอื่น สุดท้ายสิ่งนี้แหละจะกลายเป็นข้อเสียของเราเอง

8. เรามีเวลาอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นเราจึงไม่ควรใช้เวลามากกับสิ่งที่เราไม่ถนัด

9. เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อย่าหยุดที่จะเรียนรู้

10. ถ้าอยากรู้ตัวเองว่า ตอนนี้ทำงานที่ตัวเองชอบแล้วหรือยัง ให้ตอบคำถามนี้ “ถ้าเกิดใหม่อีกครั้ง เรายังอยากทำงานนี้อยู่หรือไม่”

11. ความสุขสูงสุดของชีวิต คือ การเป็นตัวของตัวเองในแบบที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้

12. ถ้าเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้ เราก็จะใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ แบบไร้ทิศทาง และก็ไม่ไปไหนสักที

13. ระหว่างที่เรากำลังลงมือทำสิ่งที่เรามีเป้าหมายอยู่ เราจะดูเหมือนกับคนอื่น ๆ แต่ผลลัพธ์จะแตกต่างกันอย่างมากทีเดียว

14. เวลาทำงานหรือดำเนินชีวิต ให้มองรายละเอียดเหมือนการใช้กล้องจุลทรรศน์ และให้มองภาพรวมเหมือนกับการใช้กล้องส่องทางไกล

15. ทฤษฏีเปรียบเหมือนตัวอัญมณี การปฏิบัติเปรียบเหมือนการเจียรนัย เราต้องมีทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน

16. ในช่วงเวลาดี ๆ ของเรา ให้นึกถึงช่วงเวลาแย่ ๆ ที่เราผ่านมา จะได้ระมัดระวัง ในช่วงเวลาแย่ ๆ ก็อย่ายอมแพ้ ให้มองถึงอนาคต และก้าวเดินต่อไป

17. คนที่ทบทวนตัวเองปีละครั้ง กับ คนที่ทบทวนตัวเองทุก ๆ วัน จะแตกต่างกันอย่างมาก

18. เราไม่ควรจะชินชากับความรู้สึกว่าเราไม่มีทางเลือก เราต้องทำสิ่งนั้น ต้องเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถหลุดพ้นจากสภาวะแบบนั้นได้

19. เตรียมพร้อมไว้อยู่เสมอ เมื่อโอกาสมา เราก็จะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่

20. ความคิดและพฤติกรรมเป็นสิ่งที่สามารถติดต่อกันได้

21. เราล้มเหลวได้ แต่อย่าล้มเหลวซ้ำเรื่องเดิม เราต้องเรียนรู้

เป็น 21 ข้อที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ครับ เผื่อเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือ Twitter Nopadol’s Story หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

5 เทคนิคที่ทำให้เรา Productive

ผมว่าหัวข้อทำนองนี้ พูดกันได้ไม่รู้จักเบื่อ เพราะไม่ว่าใครก็มักจะอยากที่จะ Productive กันทั้งนั้น

แต่ก่อนที่เราจะ Productive เรามาให้ความหมายกันก่อนดีไหมครับ เพราะถ้าคำเดียวกัน แต่พูดกันคนละเรื่อง วิธีการที่จะนำไปถึงจุดหมายมันก็ย่อมต่างกัน

แล้วก็มาบอกว่า ทำแล้วไม่เห็นจะ work เลย ก็แน่สิครับ เพราะนิยามของ Productive มันต่างกัน

คราวนี้ แล้วใครจะเป็นคนตัดสินล่ะว่านิยามใครผิด ใครถูก สำหรับผม ผมว่าไม่มีนิยามกลางที่ใช้ได้กับทุกคนหรอกครับ ตัวเรานั่นแหละเป็นคนบอก

ถ้าถามผม คำว่า Productive ของผม ไม่ใช่การทำอะไรให้ได้ “มาก ๆ ” ในเวลาน้อย ๆ แต่เป็นการทำอะไรก็ตามที่มี Impact สูง ๆ ครับ

ดังนั้นเพื่อให้ได้สิ่งนี้ เทคนิคที่ผมใช้มีดังนี้ครับ

1. เลือกงานที่จะทำ

ถ้าผมจะต้องเลือกเพียงแค่เทคนิคเดียวที่จะส่งผลมากที่สุดในการเพิ่ม Productivity ของเรา ผมจะเลือกข้อนี้ครับ เพราะถ้าเราไม่หยุดยั้ง ใครให้ทำอะไร Say Yes หมด สุดท้าย จะใช้เทคนิคไหนมันก็ไม่ work หรอกครับ เพราะว่าเรามีเวลาแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

ก่อนที่เราจะมาจัดการเวลาของเรา เราควรถามก่อนว่า งานที่ต้องทำที่ทำให้เรามาต้องจัดการเวลาน่ะ มันเป็นงานที่เราควรทำไหม ถ้าคำตอบคือไม่ อย่าใส่งานนั้นเข้ามาใน Schedule เราตั้งแต่แรกเลยครับ

บางคนอาจจะถามว่า แต่หัวหน้าสั่งมา ไม่ทำได้อย่างไร อยากให้ลองแบบนี้ครับ ไปคุยเลยครับว่า เราไม่ได้ถนัดเรื่องนี้ จะดีกว่าถ้าให้คนอื่นทำ แต่แน่นอนเราก็ต้องบอกเขาด้วยนะครับ ว่าเราถนัดอะไร จะบอกว่า ไม่ถนัดเลย ถนัดแต่รับเงินเดือนอย่างเดียว อันนี้ก็คงอยู่ในองค์กรต่อไปไม่ได้

2. จัดลำดับความสำคัญ

จริง ๆ ข้อนี้ แทบจะไม่อยากเขียน เพราะคิดว่าคนส่วนใหญ่รู้กันอยู่แล้ว แต่เชื่อไหมครับ ทั้ง ๆ ที่รู้กันนี่แหละ แต่ดันไม่ค่อยมีคนทำ

สำหรับผม ผมใช้ OKRs (Objective and Key Results) มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตครับ เราต้องทำงานเยอะแยะมากมาย แต่เราอาจจะไม่ค่อยได้ถามตัวเองว่า “อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องทำให้เสร็จให้ได้” และคำตอบนี้จะตอบได้ เราก็ต้องมีเป้าหมายระยะยาวของชีวิตก่อน

เจอเป้าหมายระยะยาว การสร้างเป้าหมายระยะสั้นมันก็ง่าย คราวนี้การจัดการเวลาก็ทำตามสิ่งที่สำคัญ แค่นี้เองครับ

3. สร้าง Deadline หรือ Commitment ให้ชัดเจน

เคยสังเกตไหมครับ คำว่า “จะทำ” มักจะลงเอยที่เราไม่ได้ทำ เรา “จะวิ่ง” เรา “จะออกกำลังกาย” แบบนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อย work ครับ

คำแนะนำผมคือ เติม Deadline เข้าไป ใส่ไว้ในตารางเลย แทนที่เราจะคิดว่า เรา “จะวิ่ง” ใส่ไปในตารางเลยครับ ว่า 7-8 น. วิ่ง แบบนี้มันมีโอกาสเกิดขึ้นง่ายกว่า

จะให้ดีกว่านี้คือนัดคนอื่นมาวิ่งด้วยเลยครับ 7 โมงเจอกันที่สวนสาธารณะ แบบนี้คือการสร้าง Commitment ไว้ล่วงหน้า โอกาสพลาดก็จะน้อยไปอีก

4. แบ่งงานให้คนอื่นทำ

หลายคนที่ยุ่ง เป็นเพราะว่าเราไม่ไว้ใจคนอื่น เรากลัวคนอื่นจะทำได้ไม่ดีเท่าไร หรือแม้กระทั่งว่าเราเสียดายเงิน ผมก็เคยเป็นแบบนี้ครับ แต่สุดท้ายถ้าเราไม่เชื่อใจคนอื่นเลย คนที่หนักสุดคือเรา และเราก็ไม่มีทางทำงานที่มี Impact เสร็จได้ง่าย ๆ (หรืออาจจะไม่เสร็จเลย)

แน่นอนครับ ใหม่ ๆ คนที่เราให้เขาทำงานแทนในบางงานนั้น เขาอาจจะไม่เก่ง แต่ถ้าเราไม่เคยให้เขาทำเลย เขาจะเก่งได้อย่างไรใช่ไหมครับ

หรือในอีกกรณีหนึ่ง บางทีมีคนที่เขาเก่งกว่าเรา เราทำเองใช้เวลา 8 ชั่วโมง เขาใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียว อย่างนี้ ให้เขาทำจะดีกว่าเยอะครับ อย่าไปคิดประหยัดเงินมาก ดูดี ๆ นะครับ ว่าเงินที่ประหยัดได้ เทียบกับเวลาที่เราต้องเสียไป ในหลายกรณีเรียกว่า คุ้มมาก ๆ ที่จะจ้างเขาทำนะครับ

5. อย่าหยุดเรียนรู้ 

หลายคนมักจะบอกว่า “จะเอาเวลาที่ไหนมาเรียนรู้ งานที่ทำก็ยังจะไม่ทันอยู่แล้ว” แต่ผมมองกลับกันว่า ก็ที่ทำงานไม่ทันนี่แหละมันแปลว่า เราอาจจะเรียนรู้ได้ไม่เยอะพอก็ได้

การเรียนรู้สำหรับผมมันคือการลงทุนครับ ถ้าเรายอมเหนื่อยเรียนรู้เพิ่มเติม บางทีงานที่เราเคยใช้เวลาทำ 5 ชั่วโมง เราอาจจะทำเสร็จภายใน 1 ชั่วโมงก็ได้ แบบนี้คุ้มซะยิ่งกว่าคุ้มอีก

เพียงแต่อย่าสักแต่ว่าเรียน เรียนไปเรื่อยเปื่อย ลองดูว่าเราต้องการใช้ทักษะอะไร แล้วเลือกเรียนสิ่งนี้ รับประกันได้ว่ามันคุ้มค่าแน่ ๆ ครับ

คำถามสุดท้ายคือ แล้วถ้าทำแล้วมัน work เราจะเอาเวลาที่เหลือไปทำอะไรดี

คำตอบคงแล้วแต่คน แต่สำหรับผมคือ ผมจะเอาเวลาไปให้กับครอบครัวครับ ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง (จำไม่ได้แล้วว่าเล่มไหน) เขาบอกว่าเขาไม่เคยเห็นคนแก่บ่นเลยว่า ตอนหนุ่ม ๆ สาว ๆ ฉันน่าจะทำงานให้มากกว่านี้ เขาเคยได้ยินแต่คนบ่นว่า น่าจะใช้เวลากับครอบครัว หรือ เพื่อน ๆ ให้มากกว่านี้

งานน่ะ ผมว่าใครก็ทำแทนเราได้ แต่ความเป็น “พ่อ” “แม่” หรือ “ลูก” ไม่มีใครในโลกนี้ทำหน้าที่นี้ดีได้เท่าเราอีกแล้วนะครับ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์นะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือ Twitter Nopadol’s Story หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

10 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ Manage Your Day-to-Day

หนังสือเล่มนี้แต่งโดย Jocelyn K. Glei ซึ่งเป็นการรวบรวมแนวคิดดี ๆ ที่น่าสนใจในการจัดการชีวิตประจำวันของเราให้ดีขึ้น อ่านแล้ว เลยขอสรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ที่ผมชอบดังต่อไปนี้ครับ

1. เราต้องเลิกโทษสภาพแวดล้อม (เช่น เราทำไม่ได้ เพราะเจ้านายไม่สนับสนุน หรือ เศรษฐกิจไม่ดี) และต้องเริ่มมารับผิดชอบตัวเราเอง ถึงแม้ว่าสภาพแวดล้อมมันจะไม่เอื้ออำนวยให้กับเรา แต่สุดท้ายความพยายามของเรานั่นแหละที่สำคัญ ที่สำคัญการกระทำของเราในชีวิตประจำวันในการทำงานนั่นแหละ จะบอกได้ว่าเราจะทำได้สำเร็จหรือไม่

2. การที่เราคอยแต่จะ “เชื่อมต่อ” กับคนอื่น ๆ มันจะทำให้เราทำงานแบบเชิงรับมากกว่าเชิงรุก เช่น เราต้องคอยตอบ email ทุกฉบับที่เข้ามา เราต้องคอยไล่ตอบคำถามใน Line กลุ่ม และสิ่งนี้ทำให้เราลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญที่เราควรทำคืออะไร

3. การที่เราจะทำอะไรที่เราคิดให้สำเร็จ เราต้องลงมือทำ และต้องใช้เวลาเป็นหลายร้อยหลายพันชั่วโมง จุดสำคัญอยู่ที่การกระทำในชีวิตประจำวันเรานั่นแหละ เราต้องทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อย่ามัวแต่รอแรงบันดาลใจ

4. เราควรทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ก่อนที่จะทำงานเพื่อตอบสนองคนอื่น ดังนั้นเราควรจะ block เวลาสำหรับงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ไว้ให้มากที่สุดในแต่ละวัน และปิดโทรศัพท์กับ email ซะ

5. บางทีเราอาจจำเป็นที่จะต้องทำให้บางคนผิดหวังในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อที่เราจะได้ทำตามความฝันของเรา อย่าแลกความฝันเรากับการตอบ email เพื่อเพียงแค่ได้ภาพลวงตาว่าเราเป็น “มืออาชีพ”

6. เราควรตั้งเวลาเริ่มงานและเลิกงานให้ชัดเจน ถึงแม้ว่าเราจะทำงานคนเดียวก็ตาม และนอกจากนั้นเราควรจะตั้งเวลาไว้สำหรับงานแต่ละประเภท เช่น งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การประชุม การตอบคำถาม งาน Admin และอื่น ๆ

7. เรามักคิดว่าเราทำได้มากเกินความจริงในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่คิดว่าเราจะทำได้น้อยกว่าที่ทำได้จริงในเวลาที่ยาวนาน

8. การเริ่มต้นยากเสมอ ไม่ว่าจะเริ่มต้นทำอะไรเป็นครั้งแรก หรือ กลับมาทำอีกครั้งหลังจากหยุดไป แต่การกระทำที่ต่อเนื่องจะทำให้เราเกิดโมเมนตัม

9. สิ่งที่เราทำเป็นประจำสำคัญกว่าสิ่งที่เราทำเป็นครั้งคราวเสมอ

10. กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือ การทำสิ่งที่เราต้องการสำเร็จทุกวัน จนสิ่งนั้นกลายเป็นนิสัยของเรา

หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ แน่นอนว่า มันอาจจะใช้ได้สำหรับบางคน แต่อาจจะไม่เหมาะกับบางคน แต่ก็เหมือนหนังสือทุกเล่มคือ เราสามารถอ่านและนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันเราได้ครับ

หวังว่าการสรุปนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนเช่นกันนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

 

เราควรอดทนในสิ่งที่ควรอดทน

“เด็ก ๆ สมัยนี้ ไม่อดทนกันซะเลย”
“แค่เจออุปสรรคแค่นี้ ก็ล้มเลิกซะแล้ว ไม่ไหวเลย”

เคยได้ยินคำพูดทำนองนี้ไหมครับ ผมว่าใครเริ่มพูดคำนี้ แสดงว่าเริ่มแก่แล้ว 555

คำพูดทำนองนี้ เรามักจะได้ยินจากผู้ใหญ่ที่กล่าวถึงเด็กรุ่นหลัง และที่น่าสนใจคือมันเกิดมาแล้วในทุกรุ่น ผู้ใหญ่คนที่พูดหลายคน ตอนเด็ก ๆ ก็อาจจะเคยโดนว่าทำนองนี้มาแล้วเหมือนกัน

แล้วมันแปลว่า คนรุ่นหลังอ่อนแอลงเรื่อย ๆ หรือเปล่าครับ เพราะผู้ใหญ่แต่ละรุ่น ก็ว่าเด็กรุ่นหลังว่า ไม่อดทน มาตลอด คนรุ่นคุณปู่คุณย่าเรา ก็เคยบอกคนรุ่นคุณพ่อรุ่นคุณแม่เราว่า ไม่อดทน ต่อมา คนรุ่นคุณพ่อรุ่นคุณแม่เราก็มาว่าคนรุ่นเราว่าไม่อดทน และก็มาถึงคนรุ่นเรา ก็เริ่มว่าคนรุ่นลูกเราไม่อดทน ถ้ามันเป็นแบบนั้นจริง ๆ ก็น่าเป็นห่วงนะครับว่า โลกเราจะเป็นอย่างไร เพราะคนเราดูเหมือนอ่อนแอมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่เดี๋ยวก่อนครับ มันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น เราต้องกลับมาดูจุดเริ่มต้นก่อนว่า “เราจะอดทนไปทำไม” เริ่มตั้งแต่คนรุ่นปู่รุ่นย่าเราก็ได้ เราต้องยอมรับครับว่า คนรุ่นนั้น ทุกอย่างกว่าจะได้มา มันต้องอดทนให้มาก เอางี้ครับ ผมยกตัวอย่าง เช่น เรื่องอาหารการกินก็ได้ ถ้าเป็นแต่ก่อน อยากกินอะไร ต้องปลูกกินเอง คือถ้าไม่อดทน ก็อย่าจะหวังได้กิน ต่อมา คนก็เริ่มมีการค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้า มีตลาด อยากกินอะไร มันก็ง่ายขึ้น ต่อมามาถึงรุ่นเรามันมี Application กดทีเดียว อาหารที่เราอยากกินก็มาส่งให้ถึงหน้าบ้านภายในไม่กี่นาที

สิ่งที่กำลังจะบอกคือ มนุษย์ฉลาดขึ้น จึงสามารถสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตเรามันง่ายขึ้นครับ ดังนั้นคนรุ่นหลังย่อมที่จะไม่เข้าใจ เวลาคนรุ่นก่อนจะใช้คำพูดว่า “รู้ไหม สมัยก่อนนะ กว่าจะได้กิน ต้องรอนานแค่ไหน นี่รอไม่กี่ชั่วโมง ยังบ่น ไม่อดทนเลย” คือลองมองมุมของคนรุ่นใหม่ เขาก็คงคิดว่า อ้าว แปลว่าเขาต้องรอนาน ๆ เหมือนเมื่อก่อนเหรอ เขาต้องทนแบบนั้นเหรอ เขาทำอะไรผิด ในเมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้มันมาช่วยเขาอยู่แล้ว ทำไมเขาจะต้องทนรออะไรนาน ๆ ด้วย (และคนรุ่นนี้แหละที่ต่อไปก็จะไปตำหนิคนรุ่นลูกเขาต่อว่าด้วยคำพูดแบบนี้เป๊ะเลยว่า “สมัยก่อนนะ…”)

หรืออีกสักตัวอย่างก็ได้ครับ ถ้าเป็นสมัยก่อน เวลาจะเดินทางไปหาใคร อาจจะต้องเดินเท้ากันเป็นวัน ๆ ต่อมาเริ่มมีเกวียน มีรถม้า การเดินทางมันก็ง่ายขึ้นเร็วขึ้น จากต้องใช้เวลาหลายวัน อาจจะกลายเป็นหลายชั่วโมง จนมาถึงปัจจุบันเรามีรถยนต์ รถไฟฟ้า การเดินทางไปยังอีกที่หนึ่งอาจจะใช้เวลาไม่กี่นาที แล้วลองนึกภาพว่า พอเรารถติด เราบ่น ก็อาจจะมีผู้ใหญ่บอกว่า “สมัยก่อนนะ กว่าจะเดินทางมันลำบากมาก แค่รถติดแค่นี้ จะบ่นไปทำไม”

สิ่งที่กำลังจะนำเสนอคือ ก็ “ความไม่อดทน” นี่แหละครับ มันทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะถ้าเราเอาแต่อดทน ป่านนี้เราไม่มีรถยนต์ เครื่องบิน ไฟฟ้า หรือเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ กันแล้ว จริงไหมครับ

อ้าว แล้วแปลว่า ความไม่อดทนเป็นสิ่งที่ดีเหรอ ต่อไปเราควรสอนลูกหลานว่า ลูก ๆ หลาน ๆ พวกหนูอย่าเป็นคนอดทนนะ ความอดทนไม่ใช่สิ่งที่ดี มันขัดขวางความเจริญ เอาแบบนั้นเหรอ

ไม่ใช่ครับ นี่แหละครับเป็นที่มาของงานเขียนชิ้นนี้ คือ “เราควรอดทน ในสิ่งที่ควรอดทน” ครับ

ผมคนหนึ่งครับ ที่เคยสับสนในเรื่องเหล่านี้ บางทีกำลังทำอะไรอยู่สักอย่าง แล้วอยากจะเลิกทำ มันจะมีเสียงเล็ก ๆ มาคอยเตือนตัวเองว่า เอ เราเป็นคนจับจดหรือเปล่า เราเป็นคนไม่อดทนใช่ไหมเนี่ย เจออุปสรรคนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ล้มเลิกซะแล้ว พอเสียงเหล่านี้เข้ามา ผมก็ก้มหน้าก้มตาทนทำต่อไป อีกสักพัก ก็มีอีกเสียงหนึ่งในหัวขึ้นมาว่า “เราจะทนไปทำไมเนี่ย” วนเวียนไปเรื่อย ๆ แบบนี้ตลอด

แต่มันก็เหมือนกับทุกอย่างแหละครับ มันไม่มีอะไรที่ดีไปซะทุกเรื่อง และก็ไม่มีอะไรที่มันแย่ไปซะหมด มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความอดทนก็เช่นกัน ผมเลยเขียน Diagram ความอดทนขึ้นมา ตามรูปนี่แหละครับ

คืออย่างแรกก่อนครับ เราควรอดทนหรือไม่ควรอดทน มันขึ้นอยู่กับว่าเรื่องนั้นมันตอบเป้าหมายชีวิตเราหรือไม่ก่อน ใน Diagram แกนนอนมันจึงเป็นเรื่องระดับของการตอบเป้าหมายชีวิต ส่วนแกนตั้งคือระดับความของความอดทน ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม (ตามรูปเลยครับ)

กลุ่มที่ 1 งานนั้นตอบเป้าหมายชีวิตเรา และเราก็อดทนกับสิ่งนั้นสูงมาก อันนี้ผมว่ามาถูกทางแล้วครับ ผมยกตัวอย่างเช่น เราอยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เราก็ต้องเริ่มหาความรู้ ซึ่งอาจจะไม่สนุกนัก เพราะต้องมานั่งเรียน เสร็จแล้ว เราคงต้องไปพูดคุยกับลูกค้า ซึ่งก็ต้องใช้ความอดทน ความพยายาม แต่ถ้าเราทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จในไม่ช้า อันนี้แหละครับ ที่เราควรฟังผู้ใหญ่ที่เตือนเราว่า เราควรอดทนนะ เพราะสิ่งนั้นมันตอบโจทย์ชีวิตเรา

กลุ่มที่ 2 งานนั้นไม่ได้ตอบเป้าหมายชีวิตเรา แต่เราไปทนกับมันมาก อันนี้ข้อแนะนำง่าย ๆ คือหาทางเลิกทำซะ ไม่ต้องไปสนใจใครเขาจะว่าเราไม่อดทน เอาตัวอย่างเดิมนะครับ เราอยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่แต่ละวัน เอาแต่ทำงานประจำตามคำสั่งของเจ้านาย แถมงานก็น่าเบื่อและก็ไม่ใช่อยู่ในธุรกิจที่เราสนใจอีกต่างหาก เรียกว่ากว่าจะผ่านไปแต่ละวัน ต้องใช้ความอดทนสูงมาก จะลาออกก็กลัวว่า ผู้ใหญ่จะมาว่าเราไม่มีความอดทน จริง ๆ เราก็ทนได้แหละครับ แต่จะทนไปทำไม ในเมื่อมันไม่ใช่เป้าหมายหลักของชีวิตเรา ถ้าเราเลือกได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องทน

ใช่ครับ หลายคนอาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ก็เราไม่มีทางเลือกนี่ เราต้องกินต้องใช้ จะให้ลาออกมาทำธุรกิจเลย ถ้าเจ๊งขึ้นมาจะทำอย่างไร ขอตอบแบบนี้ครับ ผมไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องยื่นใบลาออกวันนี้พรุ่งนี้เลยนะครับ เพียงแต่เราต้องคิดต้องวางแผนครับ ตอนนี้มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ต้องทนทำงานนี้ไปก่อน แต่มันต่างกัน สำหรับคนที่วางแผน กับคนที่ไม่วางแผน เช่น เป้าหมายชีวิตเราคือเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการ คนที่วางแผน เขาจะเริ่มเก็บเงิน และเริ่มที่จะสร้างธุรกิจเล็ก ๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ เริ่มเข้า course หาความรู้อะไรแบบนี้ คนที่ไม่วางแผน ก็จะทนทำงานที่น่าเบื่อเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ และก็บ่นให้คนอื่นฟังว่างานนี้มันแย่แค่ไหน

อีกเรื่องหนึ่งคือ แล้วงานเพื่อส่วนรวมล่ะ ผมคิดว่าหลายท่านอาจจะคิดในใจว่า ถ้าคนคิดกันแต่แบบนี้ ใครจะทำงานเพื่อส่วนรวมกัน เพราะแต่ละคนจะไม่อดทนกับสิ่งที่ไม่ตอบเป้าหมายชีวิตของตนเอง อย่างนี้ไม่เป็นการเห็นแก่ตัวหรือ

ขอตอบอย่างนี้ครับ ผมเชื่อว่าในโลกนี้ เป้าหมายของชีิวิตแต่ละคนแตกต่างกันครับ มีคนจำนวนไม่น้อย ที่เป้าหมายของชีวิตของเขามีเรื่องการทำหน้าที่ผู้นำต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือส่วนรวม คนเหล่านี้มีทั้งความชอบ และหลายคนก็มีทักษะ และประสบการณ์ด้านนี้ที่โดดเด่นมาก ดังนั้นการที่เราไม่ถนัดที่จะเป็นผู้นำในลักษณะนี้ มันก็ไม่ได้หมายความว่าส่วนรวมจะแย่เสมอไปนะครับ เพราะมันมีคนที่เหมาะสมกว่าและเก่งกว่าเราในเรื่องนี้ จริง ๆ เป็นการดีซะอีกที่เราได้คนที่มีความสามารถและมีใจรักมาเป็นผู้นำของเรา

ต่อมา ถ้าสมมุติว่าไม่มีล่ะ งานนี้ไม่มีใครอยากทำ แต่มันจำเป็นมากสำหรับส่วนรวม ใช่ครับ การเสียสละเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่สังคมจำเป็นต้องมี ถ้ามันจะต้องเป็นเราจริง ๆ ไม่มีคนอื่นอีกแล้ว (ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก) เราก็อดทนทำได้ครับ ไม่ได้ผิดกติกา แต่ต้องทราบอยู่เสมอว่า งานนี้ไม่ใช่งานที่เรามีความเชี่ยวชาญนะ อย่างตัวอย่างข้างบน ถึงแม้ว่า เป้าหมายของเราคือการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่มีโครงการการกุศลอันหนึ่งที่มาให้เราเป็นประธานดำเนินงาน และไม่มีใครจะมาทำงานนี้ได้อีกแล้ว นอกจากเรา (ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ หรอกครับ ที่จะไม่มีใครทำได้เลย) อันนี้เราก็อดทนทำเพื่อส่วนรวมโดยรับตำแหน่งหน้าที่นี้ได้ครับ แต่ให้ทราบว่า เราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ ถ้าวันหนึ่งมีคนที่เหมาะกว่าเรา ก็ให้เขามาแทนที่เราก็ได้ครับ และไม่ใช่หลังจากนั้นเราจะไม่ช่วยโครงการนี้นะ  เรายังคงช่วยเหลืออยู่ แต่ในบทบาทอื่น ๆ ที่อาจจะทำประโยชน์ให้กับโครงการนี้มากกว่าบทบาทของประธานโครงการที่เราไม่ได้ถนัดเลยด้วยซ้ำ

กลับมากลุ่มที่ 3 ในรูปต่อครับ คือกลุ่มงานที่ไม่ค่อยตอบเป้าหมายชีวิตเรา และ เราก็ไม่ค่อยอดทนกับงานนั้น อันนี้ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนใครว่าครับ ว่า “เด็กสมัยนี้ ไม่ค่อยอดทนเลย” ก็อย่างที่บอกว่า บางทีเราไม่จำเป็นต้องอดทนในทุกเรื่องครับ เราพยายามปฏิเสธงานลักษณะนี้ เอาความอดทนที่ทุกคนก็มีอยู่จำกัด ไปใช้กับงานที่เราถนัด เราเก่ง และเราชอบดีกว่าครับ จริง ๆ เราสามารถช่วยเหลือตัวเราและสังคมได้หลายทางครับ ใช้เวลา ความสามารถ รวมถึงความอดทนไปในสิ่งที่มันสร้างประโยชน์สูงสุดไม่ดีกว่าเหรอครับ

กลุ่มที่ 4 คืองานที่ตอบเป้าหมายชีวิตเรา แต่เราไม่ค่อยอดทนกับสิ่งนั้น เช่น เราอยากเป็นผู้ประกอบการ แต่พอทำผลิตภัณฑ์มาอย่างหนึ่งขายไม่ได้ เราก็ล้มเลิกละ อันนี้แหละครับ ที่เราควรจะอดทน ทุกอย่างตอนเริ่มต้น มันไม่มีอะไรง่ายหรอกครับ มันต้องลองผิดลองถูก และตอนแรก ๆ มันผิดมากกว่าถูกทั้งนั้น คนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนที่ไม่เคยล้มเหลวนะครับ เขาล้มเหลวมามากมายกว่าจะประสบความสำเร็จ แต่เขาผ่านความล้มเหลวแบบนั้นมาได้ เพราะเขาอดทนไงครับ อันนี้แหละครับ ถ้าผู้ใหญ่มาเตือนเราให้อดทน เราควรทำตามครับ เพราะมันเป็นความอดทนที่ตอบเป้าหมายในชีวิตของเรา

สรุปง่าย ๆ ว่า ความอดทนเป็นสิ่งที่ดีครับ ถ้าเราอดทนในสิ่งที่ควรอดทน ความอดทนก็เหมือนทรัพยากรอื่น ๆ เช่นกัน คือมันมีอยู่อย่างจำกัด ถ้าเราใช้มันพร่ำเพรื่อ ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานของเรามันก็จะไม่ดี แต่ถ้าเราเลือกใช้ให้ถูกที่ สุดท้ายเราก็จะประสบความสำเร็จ ประเด็นคือตอนนี้เราเคยถามตัวเองแล้วหรือยังว่า อะไรคือเป้าหมายชีวิตของเรา ถ้าได้ตรงนั้น คำถามว่า เราควรจะ “ทน” ทำสิ่งนี้ต่อไปหรือไม่ ก็คงไม่ใช่คำถามที่ยากนักในการหาคำตอบ จริงไหมครับ

ขอบคุณทุกท่านที่ “ทน” อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้นะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

ตามหา Ikigai ในเย็นวันศุกร์

เคยได้ยินคำว่า Ikigai กันไหมครับ คำ ๆ นี้เป็นคำญี่ปุ่น ซึ่งผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรอกครับ แต่ผมเริ่มสะดุดคำนี้ จาก post ใน Facebook หลังจากนั้นก็เริ่มหาหนังสือที่มีคำว่า Ikigai มาอ่านตลอด จนเข้าใจว่า Ikigai มันคือความลับของการมีชีวิตที่มีความสุข

หนังสือที่เขียนเล่มนี้ได้ดีเล่มหนึ่ง กลับไม่ใช่หนังสือที่คนญี่ปุ่นเขียนนะครับ เป็นหนังสือที่ Hector Garcia และ Francesc Miralles ซึ่งเป็นคนต่างชาติทั้งคู่ แต่ได้ไปศึกษาวิจัยหาคำตอบว่า ทำไมคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในโอกินาวา ถึงได้เป็นกลุ่มคนที่มีอายุยืนที่สุดในโลก

ในหนังสือ Ikigai The Japanese Secret to a Long and Happy Life เขียนเรื่องนี้ไว้หลายอย่างครับ แต่ที่อยากเอามาขยายความคือ มันคือรูปในปกหลังหนังสือเล่มนี้ ที่เป็นตัวบอกว่า Ikigai มันคือพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง 4 อย่างได้แก่

  1. สิ่งที่เรารัก
  2. สิ่งที่เราเก่ง
  3. สิ่งที่โลกต้องการ
  4. สิ่งที่สร้างเงินให้เราได้

สรุปง่าย ๆ ว่าถ้าเราเจอสิ่งนี้ แปลว่าเราเจอ Ikigai ของเราแล้ว

คราวนี้ ผมอยากให้ทุกคนที่เข้ามาอ่านเรื่องนี้ ลองคิดถึงงานที่เรากำลังทำอยู่ครับว่า ถ้าให้คะแนนเต็ม 10 ในแต่ละข้อ จะให้คะแนนเท่าไร เอ้า เริ่มเลยครับ ทำให้เสร็จนะครับ ไม่ยากหรอกครับ

คราวนี้ลองกลับมาดูผลกัน ถ้าเราให้คะแนนสูงในทุกข้อ (เอาเป็นว่าสูงคือตั้งแต่ 8 คะแนนขึ้นไปแล้วกันนะครับ) อันนี้แปลผลง่ายครับ คือเราเจอ Ikigai ของเราแล้ว และเย็นวันศุกร์ คงเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งของเรา ไม่ได้ตื่นเต้นดีใจกับวันหยุดเสาร์อาทิตย์เลย (หรือบางที อาจจะออกแนวเซ็งซะด้วยซ้ำ เมื่อไร จะถึงวันจันทร์ซะทีน้า 555)

คราวนี้ ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เรารัก กับ สิ่งที่เราเก่ง เขาเรียกสิ่งนั้นว่า Passion หรือความลุ่มหลงครับ คือ เราชอบทำมันมาก ๆ แต่ยังไม่สามารถอยู่ได้ด้วยสิ่งนั้น เช่นผมชอบดูฟุตบอลมาก ๆ และรู้จักนักเตะแต่ละคนหมด แต่ไม่รู้จะทำเงินได้อย่างไร และก็ไม่รู้ว่าคนอื่นจะได้ประโยชน์อะไรจากความรู้นี้ อันนี้มันก็แค่ Passion ครับ

ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เรารัก และ สิ่งที่โลกต้องการ อันนี้สิ่งที่เรามีเขาเรียกว่า Mission ครับ คือเรารักในงานนั้น และงานนั้นมันช่วยเหลือคน เพียงแต่ว่า เรายังไม่เก่งเรื่องนั้นเลย แถมเรายังไม่ได้รับค่าตอบแทนด้วย มันออกแนวงานช่วยเหลือสังคม ทำเพื่อสาธารณะ ซึ่งไม่ใช่ไม่ดีนะครับ แต่มันยังยึดเป็นอาชีพไม่ได้ และความยั่งยืนมันก็น้อย เราคงทำได้ไม่ตลอด

ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เราเก่งกับสิ่งที่สร้างรายได้ให้เรา อันนี้เขาเรียกว่าอาชีพ หรือ Profession คือเราเก่งในเรื่องนี้ และเราก็สามารถทำรายได้ในเรื่องนี้ได้มาก แต่มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรารักและอาจจะไม่ได้ช่วยเหลือโลกสักเท่าไร ก็เช่นงานประจำของเรานั่นแหละครับ จบบัญชีมา ก็เป็นนักบัญชี เราก็มีความรู้ทางด้านนี้นะ สิ้นเดือนก็ได้เงินเดือน แต่ไม่มีเติมเต็มความต้องการเราเลย วัน ๆ ก็คิดว่า อยากลาออกไปตามฝันอะไรทำนองนั้น

ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เราได้เงินและสิ่งที่ช่วยเหลือโลก อันนี้เราเรียกว่า วิชาชีพ หรือ Vocation เช่นเราเป็นช่างประปา แน่นอนมีคนต้องการช่างประปาแน่ ๆ เราได้ช่วยเหลือเขา และทุกครั้งที่ช่วยเราก็จะได้รับผลตอบแทนมาด้วย เพียงแต่มันก็อาจจะไม่ใช่ความฝันของเราหรือเราก็อาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอะไรมากนัก

ที่สำคัญคือ รู้แล้ว ทำอย่างไรต่อ

ผมแนะนำอย่างนี้ครับ ถ้างานของเรามันมีคะแนนสูงด้านใดด้านหนึ่งแล้ว พยายามหาทางทำให้อีกด้านที่เหลือสูงตาม (ถ้าเป็นไปได้) เช่น ผมชอบเขียนบทความ ตอนแรกมันอาจจะได้คะแนนสูง ในส่วนงานที่รัก แต่ผมยังไม่เก่ง ผมยังเขียนไม่ตอบโจทย์คนอื่น และผมยังไม่สามารถสร้างรายได้ได้ ผมก็ควรจะเริ่ม ไปฝึกฝนฝีมือการเขียน เช่นไปอ่านหนังสือเทคนิคการเขียน ไปเข้าคอร์สเรียนการเขียน (ตอนนี้ผมก็ยังเรียนอยู่เลยครับ) พอเราเริ่มเก่งขึ้น ผมก็อาจจะเริ่มมามองหาว่า เอ แล้วงานเขียนเรามันจะช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร พยายามเขียนสิ่งที่ช่วยคนอื่นให้มากที่สุด สุดท้ายก็ลองคิดว่า เอ แล้วจะสร้างรายได้ได้อย่างไร เพราะรายได้นี่แหละครับ ที่จะทำให้เราสามารถใช้เวลาเขียนได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ออกหนังสือ ทำคอร์สสอนการเขียน อะไรแบบนี้ และในที่สุดเราก็จะได้ Ikigai ของเรา

แต่ผมเข้าใจครับว่า บางทีมันก็ไม่ง่าย โดยเฉพาะถ้ามิติที่ขาดไปคือสิ่งที่เรารัก เพราะให้เปลี่ยนสิ่งที่เราเก่ง เป็นสิ่งที่เรารักมันทำได้ยาก แต่ ต้องบอกว่า คำว่ายาก ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้นะครับ ผมยกตัวอย่างอย่างนี้ครับ สมมุติว่า ผมเป็นหมอที่เก่งมาก แต่ผมเบื่ออาชีพหมอมาก อยากเลิกทำ ลองดูนะครับ ถ้าเราสามารถหาหนทางที่จะคิดค้นวิธีการรักษาโรคร้ายแรงได้สำเร็จ ช่วยชีวิตคนได้เป็นจำนวนมาก (สิ่งที่โลกต้องการ) ซึ่งทำให้เราได้ค่าสิทธิบัตรจำนวนมหาศาล (รายได้) และนำให้เราได้รับรางวัลโนเบล บางทีการเป็นหมอก็อาจจะเป็นสิ่งที่เรารักในที่สุด บางทีการทำสิ่งที่เรารักอาจจะไม่ใช่ทางเลือกเดียวเสมอไปนะครับ

อ้อ แล้วทำไมชื่อเรื่องนี้คือ “ตามหา Ikigai ในเย็นวันศุกร์” ตามหาวันอื่นได้ไหม คำตอบคือ ได้เหมือนกันครับ แต่เย็นวันศุกร์นี่แหละครับที่จะเป็นตัววัดที่ดี ใครที่เย็นวันศุกร์ร่าเริงสุด ๆ แต่พอเย็นวันอาทิตย์กลับมาเหงาหงอยเศร้าสร้อย อย่างนี้แปลว่าเรายังไม่เจอ Ikigai ของเราครับ

ลองค้นหากันดูนะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนมี Ikigai ของตัวเองครับ ใครยิ่งพบได้เร็ว ก็ยิ่งโชคดีครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

นี่คืองานในฝัน

ทุกคนก็คงอยากทำ “งานในฝัน” ว่าแต่ว่า งานในฝัน มันคืออะไรนะ เป็น หมอ วิศวกร สถาปนิก นักธุรกิจ หรืออะไร ถ้าถามแบบนี้ คำตอบก็คือ “มันก็แล้วแต่ความชอบ” และบทความนี้ก็คงจบลงตรงนี้ 555

แต่ผมขอตอบ “ลักษณะ” ที่เป็นน่าจะเป็นภาพรวมดีกว่านะครับ แล้วท่านที่สนใจลองคิดถึงงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ให้คะแนน 1-10 ก็ได้ในแต่ละปัจจัยของงานในฝันอันนี้

Idea มาจากการอ่านหนังสือครับ เล่มหลัก ๆ ก็คือหนังสือที่ชื่อว่า Unscripted เขียนโดย MJ DeMarco และ Scott Thomas ครับ (ใครสนใจไปหาอ่านกันได้นะครับ เขียนมันมาก) แต่ก็ใส่ความเห็นส่วนตัวเข้าไปด้วยเช่นกัน เพื่อให้มันครบถ้วนมากที่สุดครับ

ปัจจัยที่ 1 งานนั้นมีความเป็นอิสระสูง

ปัจจัยอันนี้สำคัญมากนะครับ ผมเชื่อว่างานในฝันของคนส่วนใหญ่ คืองานที่เรามีอิสระเสรีที่จะทำอะไรก็ตาม อย่างที่เราต้องการ และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนที่ทำงานประจำ อยากออกมาทำกิจการของตัวเอง เพราะเขาเชื่อว่า การทำธุรกิจเอง จะมีอิสระมากกว่าการทำงานประจำ เช่น เวลาเข้างาน มันก็ขึ้นกับเรา ไม่ใช่ว่าต้องไปให้ทัน 8 โมงเช้า เวลาเลิกงานก็อยู่กับเราอีก ไม่จำเป็นต้องอยู่ให้ถึง 5 โมงเย็น (หรืออาจจะดึกกว่านั้น) และถึงแม้ว่า บางทีการทำกิจการของตัวเอง อาจจะใช้เวลาทำงานมากกว่าทำงานประจำซะอีก แต่เขาก็ยังรู้สึกดีกว่า เพียงเพราะว่า เขารับรู้ว่า เขา “มีอิสระ” ที่จะเริ่ม หรือ เลิกเมื่อไรก็ได้

แต่สังเกตไหมครับ พอทำไปสักระยะหนึ่ง กิจการเริ่มดี เริ่มมีลูกน้องเข้ามา “ความเป็นอิสระ” มันจะเริ่มลดลง ไอ้ที่บอกว่าจะเริ่มเมื่อไร เลิกเมื่อไร ก็เริ่มยากขึ้น เพราะลูกน้องอาจจะรองานเราอยู่ ลูกค้ารอว่าเมื่อไรจะส่งของ หรือแม้กระทั่งอยากจะเลิกทำ ก็ไม่ง่ายเหมือนตอนแรก เพราะกลัวลูกน้องจะลำบาก จะตกงานอีก พอถึงตรงนั้น การทำธุรกิจมันก็อาจจะไม่ใช่งานในฝันอีกต่อไปก็ได้

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ลองนึกถึงงานที่ท่านทำปัจจุบันดูสักหน่อยครับว่า ท่านมีอิสระอยู่ในระดับใด เรากำหนดเนื้องาน เวลางาน ด้วยตัวเองได้มากเท่าไร ยิ่งมาก ก็ยิ่งแสดงว่างานนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็น “งานในฝัน” มากขึ้น

ปัจจัยที่ 2 งานนั้นตรงกับความเชี่ยวชาญของเรา

งานในฝันของคนส่วนใหญ่ ก็คงเป็นงานที่มันตรงกับความรู้ความสามารถของเรา คือเอาง่าย ๆ ก็คืองานที่เราทำได้ดีมาก ๆ นั่นแหละ ลองคิดภาพว่าถ้าเราเป็นนักเขียน แต่เขียนแล้ว ขายหนังสือได้ 50 เล่ม แบบนี้ เราคงอยากเลิกเขียนจริงไหมครับ แต่ถ้าเราเชี่ยวชาญ เราเขียนได้ดี เขียนแล้ว มันคนรู้จักจำนวนมาก ขายหนังสือได้เป็นแสน ๆ เล่ม ผมเชื่อว่างานนั้นก็คงเป็นงานในฝันของเราอีกเช่นกัน เราทำเรื่องใดได้ดี แล้วมันตรงกับงานที่เราทำ อันนี้ก็งานในฝันชัด ๆ เลย

คราวนี้ลองคิดถึงงานที่ท่านทำอยู่ในปัจจุบันดูครับว่า ท่านมีความเก่งในงานนั้นระดับใดนะครับ

ปัจจัยที่ 3 งานนั้นให้ความหมายกับคนจำนวนมาก

อันนี้หมายถึงว่า งานนั้นมันทำให้เกิดประโยชน์สร้างคุณค่าให้กับคน ยิ่งมากยิ่งดีครับ เคยเห็นไหมครับ บางคนที่เขาทำงานที่ไม่ค่อยได้ค่าตอบแทนมากสักเท่าไร จะว่าเป็นงานอิสระก็ไม่ใช่ ต้องทำโน่นนี่เยอะแยะไปหมด แต่เขาก็ดูมีความสุขดี เพราะงานเหล่านั้นมันเป็นงานที่ตรงกับ Value ของเขา เช่น คนที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจน เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ อะไรทำนองนี้

ผมไม่ได้หมายความแค่ว่าเป็นงานการกุศลเท่านั้นนะครับ งานประเภทอื่น ๆ ที่มันตรงกับ Value ของเรา มันช่วยเหลือให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น นักพูดสร้างแรงบันดาลใจจำนวนไม่น้อย เขารักงานเขามาก เพราะหลังจากที่เขาพูด ก็มีคนมาบอกเขาว่า พี่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปเลยนะ มันทำให้ชีวิตผมดีขึ้นเยอะมาก อะไรแบบนี้ ถึงแม้ว่าการพูดนั้นอาจจะไม่ได้ค่าตอบแทนมากมาย แต่ถ้าเขารับรู้ว่าเขามีส่วนช่วยทำให้สังคมดีขึ้น งานนี้มันก็เป็นงานที่จัดว่าเป็นงานในฝันอีกเช่นกัน

คราวนี้ลองคิดถึงงานของเราดูครับว่า งานที่เราทำอยู่ในขณะนี้มีส่วนช่วยเหลือสังคม หรือตรงกับ Value เรามากแค่ไหนนะครับ

ปัจจัยที่ 4 งานนั้นสร้างรายได้ให้กับเราได้ดี

งานในฝัน จะไม่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องเลย ก็คงแปลก เงินก็คงเป็นปัจจัยหนึ่งที่หนีไม่พ้นครับ เพราะส่วนใหญ่แล้ว คนก็ยังต้องการเงิน เพื่อไปใช้ดำเนินชีวิตอยู่ และก็คงจริงครับว่า งานที่ให้รายได้ดี ๆ ถึงแม้ว่าจะมีข้อที่ 1-3 ข้างต้นน้อย ก็ยังจัดได้ว่าเป็นงานที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบอีกเช่นกัน เช่น งานที่มีเวลาเข้างานชัดเจน (ไม่เป็นอิสระ) ไม่ค่อยได้ตรงกับความเชี่ยวชาญเราเท่าไร แถมไม่ค่อยได้เกี่ยวกับ Value ของตัวเรา แต่ถ้าเขาให้เงินเดือนเราเดือนละล้าน ผมก็เชื่อว่าหลายคนก็ยังอยากทำงานนี้อยู่ เพราะเงินนี่แหละครับที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วันหนึ่ง เราจะสามารถออกไปหางานที่มีลักษณะในข้อที่ 1-3 ได้ในที่สุด

ลองคิดถึงงานเราดูครับว่า มันตอบโจทย์เรื่องนี้ได้มากน้อยเท่าไร

ถ้าใครคิดดูทั้ง 4 ข้อข้างต้นแล้ว มันมีแต่คำว่า “ใช่เลย” ท่านเจองานในฝันของท่านแล้วล่ะ แต่ถ้าใครที่ตอบว่าใช่บางข้อ ไม่ใช่บางข้อ ก็พยายามมองหาทางดูครับ เช่น งานไม่มีอิสระเลย แต่เงินดีนะ ก็ลองคิดขยับขยายดู เก็บเงินสักหน่อย แล้วมองหางานที่ตอบโจทย์เรื่องความเป็นอิสระได้มากขึ้น หรืองานนี่มันตรงกับความเชี่ยวชาญเราเลย แต่เงินน้อย ก็อาจจะต้องลองหาหนทางในการสร้างรายได้จากความเชี่ยวชาญของเราให้มากขึ้น

แต่ถ้าพบว่า คำตอบคือไม่ใช่สักข้อ ถามตัวเองดี ๆ ครับ ว่าเรายังจะทำงานนี้ต่อไปเพื่ออะไรนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

 

อย่าทำในสิ่งที่ตัวเองรัก

เขียนหัวข้อผิดหรือเปล่า มันน่าจะเป็น ให้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักไม่ใช่เหรอ เพราะถ้าทำในสิ่งที่ตัวเองรักเราจะทำได้ดีไง ใคร ๆ ก็บอกว่าให้ทำตามฝันตัวเองกันทั้งนั้น

ไม่ได้ผิดครับ ตั้งใจจะเขียนแบบนี้จริง ๆ ครับ ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ดู clip ที่มีหลาย ๆ คนยืนยันเรื่องนี้เช่นกัน รู้จัก Mark Cuban ไหมครับ เขาเป็นเศรษฐีระดับพันล้าน (เหรียญสหรัฐ) ที่เป็นเจ้าของทีมบาสเกตบอลชื่อดัง Dallas Maverick เขาก็บอกว่า Don’t follow your passion พูดง่าย ๆ คืออย่าทำอะไรตามสิ่งที่ตัวเองลุ่มหลงนั่นแหละ

อ้าว ชักจะงงแล้ว ทำไมเราจึงไม่ควรทำในสิ่งที่เราลุ่มหลงล่ะ ผมขอแยกประเด็นออกมาให้ชัด ๆ แบบนี้ครับ

คือถ้าเราทำเพราะความชอบ ความสนุก อันนี้ไม่ได้ห้ามเลยครับ ทำไปเลยครับ แต่ถ้าจะทำเพื่อเป็นงานหลักอันนี้ดูดี ๆ ครับ อย่าง Mark Cuban เขาก็ลุ่มหลงใน Baseball แต่เขาตีลูกไม่เก่ง เขาลุ่มหลงใน Basketball แต่เขาก็กระโดดได้ไม่สูง ลองคิดดูว่า ถ้าเขาตามความฝันเขาไป เขาอาจจะกลายเป็นนักกีฬาดาด ๆ คนหนึ่ง หรืออาจจะไม่ได้เป็นด้วยซ้ำ และก็คงไม่ได้เป็นเศรษฐีพันล้านเหมือนปัจจุบันนี้

สิ่งที่เขาเสนอคือ เขาเสนอให้ Follow your effort ครับ คือให้ทำในสิ่งที่เราทำได้ดี แล้วยิ่งทำไปเรื่อย ๆ เราก็จะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ และเขาบอกว่า ความลับคือ เดี๋ยวเราก็ชอบในสิ่งที่เราทำนั่นแหละ เพราะไม่มีใครไม่ชอบงานที่ตนเองทำได้ดีมาก

พูดง่าย ๆ คือ พอเราเก่งเรื่องไหน เราจะชอบเรื่องนั้นในที่สุด สมมุตินะครับว่า ผมไม่ได้ชอบสอนสักเท่าไร (อันนี้ชีวิตจริงก่อนมาเป็นอาจารย์เลยครับ) แต่พอสอนไปเรื่อย ๆ วันแล้ววันเล่า ในที่สุดเราก็สอนดีขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เรียนให้คะแนนประเมินดี มีคำชม ในที่สุดเราก็จะชอบสิ่งนี้โดยอัตโนมัติ

อีกประการหนึ่งคือ เวลาเราทำตามความฝันเรานั้น บางทีมันกลับกลายเป็นทำลายความฝันเราไป เพราะหลาย ๆ ครั้ง เราแค่รักที่จะทำ แต่เมื่อเรา “ต้อง” ทำสิ่งนั้น มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราชอบเสมอไปนะครับ

ผมเคยมีประสบการณ์ตรงอันนี้เลยครับ ทุกคนที่รู้จักผม ก็คงทราบดีว่าผมชอบเขียน คราวนี้ มีสำนักข่าวแห่งหนึ่ง จ้างให้ผมเขียนคอลัมน์เลยครับ ซึ่งผมก็รับ เพราะผมคิดว่ามันตรงกับ Passion ของผม แต่ปรากฏว่าเป็นที่น่าประหลาดใจว่า ตอนที่ผมเขียนโดยอิสระนั้น ผมเขียนได้คล่องมาก วัน ๆ มี Idea มาเขียนมากมายไปหมด แต่เมื่อผม “ต้อง” เขียนตามโจทย์ของสำนักข่าวนั้น กลับกลายเป็นว่า ผมเขียนไม่ค่อยออกและรู้ตัวเลยครับว่า ข้อเขียนที่เขียนนั้น มันไม่ดีเท่าที่เราเขียนเอง

นี่ขนาดเป็นแค่การเขียนที่ได้รับค่าตอบแทนนะครับ ยังไม่ใช่อาชีพ “นักเขียน” หรือ “นักข่าว” นะครับ ถ้ามันกลายเป็นอาชีพไปเลย แบบต้องส่งต้นฉบับให้ทันเวลาทุก ๆ วัน หนัก ๆ เข้า ผมอาจจะเกลียดการเขียนไปเลยก็เป็นได้ (และอันนี้ก็ลงเอยว่า สำนักข่าวเขาก็เปลี่ยนนโยบาย เลยขอหยุดไม่ต้องให้ผมเขียน ซึ่งก็ตรงใจผมพอดี 555)

อีกอย่างที่เราต้องชัดเจนกับตัวเองคือ อะไรคือสิ่งที่เรา “ลุ่มหลง” กันแน่ ผมเห็นคนจำนวนมากที่อยากเปิดร้านกาแฟ เพียงเพราะว่า เขาชอบดื่มกาแฟ ต้องชัดเจนนะครับ เราชอบ “ดื่มกาแฟ” แต่เราไม่ได้ชอบ “เปิดร้านกาแฟ” พอเรา ซึ่งชอบดื่มกาแฟ ไปเปิดร้านกาแฟ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราต้องบริการลูกค้า เราต้องคิดเงิน เราต้องหาเงินมาปรับปรุงร้าน ซึ่งมันไม่ใช่งานที่เราชอบเลย สุดท้ายเราก็ไปไม่รอด

ตอนเด็ก ๆ ผมเคยคิดว่าอยากเป็นนักฟุตบอลครับ เพราะผมชอบ “ฟุตบอล” แต่โชคดีนะครับ ที่ผมไม่ได้ตัดสินใจไปเป็นนักฟุตบอล ซึ่งตอนนั้น แทบจะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นอาชีพเลยก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่ผมลุ่มหลง คือการ “เชียร์” ฟุตบอลครับ ไม่ใช่ “เป็น” นักฟุตบอลอาชีพ ผมรู้เลยครับว่า ถ้าสมมุติผมลาออกจากโรงเรียน ไปเตะฟุตบอลตามความฝัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ผมคงต้องตื่นแต่เช้าออกวิ่ง ซ้อม ๆ ๆ ๆ และทำอย่างนี้ทุกวัน เพื่อจะได้ลงแข่ง อันนี้ไม่ต้องบอกว่าเราจะชนะหรือเปล่านะครับ แต่แค่คิดก็รู้สึกเบื่อแล้ว เพราะเราชอบดูฟุตบอล หรือ เตะฟุตบอลกับเพื่อน ๆ มากกว่า จะทำไปเป็นอาชีพแบบนั้น ขืนทำไปไม่นานก็คงเลิก แล้วคราวนี้ก็คงเคว้งคว้างน่าดูเหมือนกัน

เอาเป็นว่า จริง ๆ ไม่ได้ต่อต้านการทำในสิ่งที่ตัวเองรักหรอกนะครับ เพียงแต่ให้ชัดเจนว่ารักอะไรกันแน่ แล้วถ้าต้องทำสิ่งที่ตัวเองรักเพื่อเป็นอาชีพ เราจะยังรักสิ่งนั้นอยู่หรือเปล่า ถ้าชัดเจนตรงนี้แล้ว คิดว่าใช่ ก็ไม่มีใครห้ามครับ คิดดี ๆ แล้วลุยไปได้เลยครับ เป็นกำลังใจให้นะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho