ข้อคิดที่ได้จากหนังสือหลังฉากความสำเร็จ ที่เขียนโดย Cariber
Continue readingมองอุปสรรคให้เหมือนกับเส้นทางไปสู่ความสำเร็จ
เป็นผู้ประกอบการวันหยุดอาจจะต้องเจออุปสรรค แต่ให้มองว่าอุปสรรคนั้นเป็นเส้นทางที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จ
Continue readingเราเข้าเส้นชัยเรียบร้อยแล้ว
ถ้าเราคิดว่าตอนนี้เราสำเร็จแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะยังอยากสำเร็จมากกว่านี้ แต่ถึงไม่ได้ก็ไม่มีอะไรต้องมาเครียด น่าจะเป็นความรู้สึกที่ดีนะครับ
Continue readingศึกษาจากคนที่ประสบความสำเร็จ ดีจริงหรือ
ศึกษาจากคนที่ประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรเปิดใจศึกษาจากคนที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากคนที่ประสบความสำเร็จด้วย
Continue readingประสบความสำเร็จแล้วจะมีความสุข จริงหรือ
ประสบความสำเร็จน่าจะทำให้เรามีความสุข แต่โดยรวมแล้ว เราจะมีความสุขมากกว่าไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ อาจจะต้องลองคิดกันดูให้ดี
Continue readingกฎแห่งความสำเร็จ 5 ข้อจากหนังสือ The Formula
ถ้าให้จัดอันดับหนังสือแห่งปี ผมว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะได้ทั้งอันดับหนังสือที่ผมชอบมากที่สุด และ หนังสือที่ผมประหลาดใจมากที่สุด
เรื่องหนังสือที่ชอบ คือเนื้อหาหนังสือเล่มนี้ ผมว่าเขียนได้ดีมาก ๆ (ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าตรงใจผมก็ได้นะครับ) และโดยไม่ได้เป็นคำแนะนำลอย ๆ แต่มีงานวิจัยต่าง ๆ มาสนับสนุนและมีกรณีศึกษาจำนวนมาก
แต่เรื่องของความประหลาดใจ คือ ผมไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึงหนังสือเล่มนี้สักเท่าไร (อาจจะมีก็ได้ แต่ผมไม่ได้ยินจริง ๆ ครับ) แต่อ่านแล้วแบบ เอ ทำไมมันถึงไม่ดังระเบิดนะ (เขียนแบบนี้ ไม่ใช่ว่าหนังสือไม่มีใครรู้จักเลยนะ คือดูจากคนรีวิวใน Amazon ก็เยอะอยู่เหมือนกัน)
เอาล่ะครับ แล้วหนังสือเล่มนี้เขียนถึงเรื่องอะไร
สรุปได้ง่าย ๆ ว่าเขาเขียนถึงกฏแห่งความสำเร็จ 5 ข้อครับ
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเบะปาก อีกละ พวก How-to ขายฝัน ลองอ่านต่อดูนะครับ (อ่านแล้วอาจจะเบะปากเหมือนเดิม ก็ไม่เป็นไรครับ)
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Professor Albert-Laszlo Barabasi ต้องบอกว่าก็ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ที่ซื้อมาเพราะอ่านคำนิยมปกหลังที่เขียนโดยนักเขียนคนโปรดผมคือ Professor Nassim Nicholas Taleb ผู้แต่งหนังสือชื่อดังที่ชื่อว่า Black Swan
อ่านแล้วที่ผมชอบคือ เขาไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็เขียนกฏแห่งความสำเร็จขึ้นมา 5 ข้อลอย ๆ แต่มีข้อมูลงานวิจัย Back Up เต็มไปหมด
ก่อนที่จะพูดถึงกฏความสำเร็จ 5 ข้อนี้ หนังสือเล่มนี้ ให้นิยามความสำเร็จไว้ก่อนว่า ความสำเร็จที่หมายถึงในหนังสือเล่มนี้ คือความสำเร็จในสายตาของคนอื่นนะครับ เช่นการได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง เช่น ถ้าเป็นนักวิชาการก็หมายถึงการได้รางวัล Nobel Prize หรือถ้าเป็นดาราก็ได้รับรางวัล Oscar อะไรแบบนั้น
เขาบอกว่าเขาไม่ได้รวมความสำเร็จส่วนบุคคล เช่น มีคนเคยเดินไม่ได้ แล้วมีแรงบันดาลใจบางอย่างทำให้กลับมาเดินได้ อะไรแบบนี้ เขาบอกว่าจริง ๆ อันนี้ก็เป็นความสำเร็จ แต่เผอิญมันไม่สามารถเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ เลยต้องจำกัดไว้เฉพาะนิยามความสำเร็จในมุมมองของคนอื่น ๆ แทน
เอาล่ะครับ แล้วกฏความสำเร็จ 5 ข้อนั้นมีอะไรบ้าง มาอ่านกันต่อครับ
กฎข้อที่ 1 ความสามารถนำไปสู่ความสำเร็จ แต่ถ้าเราวัดความสามารถกันไม่ได้ เครือข่ายจะนำไปสู่ความสำเร็จ
กฎข้อนี้อธิบายง่าย ๆ แบบนี้ว่า ถ้างานที่เราทำนั้นมันวัดกันได้ชัดเจนว่าใครเก่งหรือไม่เก่ง ความสำเร็จของงานนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าเราทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่นนักกีฬา เราวัดกันได้ชัดเลยว่าใครเป็นนักกีฬามืออาชีพ ใครเป็นมือสมัครเล่น เช่นถ้าเรายกตัวอย่างของนักวิ่งมาราธอนก็ได้ นักวิ่งสถิติโลกอย่างคิปโชเก้ ก็ย่อมเป็นที่รู้จักมากกว่า นักวิ่งมาราธอนโนเนมแน่นอน เพราะในกรณีนี้ การวิ่งมาราธอนมันวัดออกมาเป็นเวลาที่ชัดเจนมาก ๆ ว่าใครวิ่งได้เร็ว ได้ช้าอย่างไร
แต่ถ้างานของเราเป็นงานที่แยกออกได้ยากว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี เช่น งานศิลปะ อย่างน้อยมันก็ยากสำหรับคนทั่วไปที่จะดูออก (เอาตรง ๆ เอางานของนักศึกษาด้านศิลปะ กับ Van Gogh มาให้ผมดู ผมอาจจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอะไรดีกว่ากัน) ถ้าเป็นกรณีนี้ ความสำเร็จจะขึ้นกับเครือข่าย
เครือข่ายคืออะไร ในหนังสือได้ยกตัวอย่างงานศิลปะนี่แหละครับ เขาบอกว่า งานไหนจะได้รับการยอมรับมาก มันขึ้นอยู่กับว่า งานนั้นถูกวางแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไหน ถ้าได้ไปวางในพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เป็นศูนย์กลางของเครือข่าย (อธิบายง่าย ๆ ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่คนนิยมก็ได้ครับ เพื่อความง่ายในการทำความเข้าใจ) งานนั้นจะดูดีขึ้นทันที
ผมว่าข้อนี้น่าสนใจนะครับ กลับมาที่งานของเรา คำถามคือมันวัดกันง่ายไหมว่าใครเก่งกว่าใคร ถ้ามันชัดมากแบบนักกีฬา เราแค่มีหน้าที่ทำให้ตัวเราเก่งขึ้นก็พอ แต่ถ้ามันเริ่มไม่ชัดเจน แบบงานศิลปะ หน้าที่ของเรา (หากเราอยากจะประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จัก) คือ เราต้องพยายามหาศูนย์กลางของเครือข่ายของเราให้เจอ และเอางานเราไปอยู่ในเครือข่ายนั้นให้ได้ (คือผลงานก็คงต้องดีระดับหนึ่งแหละครับ ไม่ใช่ว่างานไม่ดีเลย อย่างงานศิลปะก็คงต้องใช้ได้ด้วย แต่แทนที่จะไปวางแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ก็ไปในที่ที่คนรู้จักหน่อยแบบนั้น)
ใน Scale ที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย เขาก็เลยแนะนำว่า เราอยากสำเร็จ เราไปอยู่เมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นศูนย์กลางของเครือข่าย เช่น London Paris New York อะไรแบบนี้ จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า ไม่ใช่อะไรหรอกครับ คือ มันจะมีโอกาสที่คนจะเห็นผลงานของเราเยอะกว่านั่นเอง
กฎข้อที่ 2 ความสามารถจำกัด แต่ความสำเร็จไม่จำกัด
กฏข้อนี้มีความหมายอย่างนี้ครับ คือความสามารถของคนเราในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมักจะมีข้อจำกัดอยู่แล้ว ดังนั้นการกระจายตัวจะเป็นลักษณะการกระจายตัวแบบปกติ (ที่เป็นรูประฆังคว่ำ) คือในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะมีคนที่แย่มาก ๆ กับเก่งมาก ๆ จำนวนไม่เยอะ คนส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงของค่าเฉลี่ย แต่การกระจายตัวของความสำเร็จจะไม่เป็นอย่างนั้นครับ แต่จะเป็นลักษณะของการกระจายตัวที่เราเรียกว่า Power Law แปลว่าคนที่สำเร็จก็จะสำเร็จมาก ๆ สุดขีดไปเลย แต่หลังจากนั้นความสำเร็จก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว สำหรับคนที่เหลือ
ยกตัวอย่างครับ อย่างความสามารถในการตีกอล์ฟของนักกอล์ฟอาชีพ เราจะเห็นว่า ก็จะมีนักกอล์ฟที่เก่งมาก ๆ อย่างไทเกอร์ วูดส์ เพียงไม่กี่คน และที่แย่มาก ๆ ก็ไม่กี่คน นักกอล์ฟอาชีพส่วนใหญ่ก็จะมีความสามารถในระดับค่าเฉลี่ยการกระจายตัวจึงมักจะเป็นระฆังคว่ำ แต่เราจะไม่เห็นคนที่เก่งมาก ๆ แบบตี Hold In One (คือตีครั้งเดียวลงหลุมเลย) ได้ในทุกหลุมใช่ไหมครับ อันนี้แปลว่า ความสามารถของนักกอล์ฟนั้นจำกัด
แต่ถ้าเรามองถึงรายได้ ซึ่งเป็นตัววัดหนึ่งของความสำเร็จ เราจะเห็นอีกรูปแบบหนึ่งเลยครับ คือนักกอล์ฟอย่างไทเกอร์ วูดส์ จะมีรายได้สูงลิบลิ่ว แบบแทบจะเรียกว่าไม่มีเพดานเลยก็ว่าได้ ในขณะที่ส่วนใหญ่ของนักกอล์ฟที่เหลืออาจจะได้รายได้น้อยมากเมื่อเทียบกับไทเกอร์ วูดส์ ซึ่งอันนี้แหละครับที่เรียกว่า Power Law
ด้วยกฏข้อนี้ จึงไม่แปลกที่คนที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกจะเป็นคนที่ได้รับชื่อเสียง เงินทองจำนวนมากมาย ต่างจากคนที่ได้เหรียญเงินอย่างลิบลับ ทั้งที่ความสามารถอาจจะต่างกันเพียงนิดเดียว คนรู้จักคิปโชเก้ ในฐานะนักวิ่งมาราธอนสถิติโลก แต่ถามว่า คนที่ได้สถิติเป็นอันดับที่ 2 เวลาห่างจากคิปโชเก้อาจจะแค่นิดเดียว มีชื่อว่าอะไร คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำไปครับ
กฏข้อที่ 3 ความสำเร็จในช่วงเวลาก่อนหน้า x คุณภาพ = ความสำเร็จในอนาคต
ถ้าถามคำถามว่า คิดว่านวนิยายเล่มใหม่ของ JK Rolling ผู้เขียนหนังสือ Harry Potter ถ้ามีออกมาจะติดอันดับขายดีไหม
ผมว่าคำตอบส่วนใหญ่คือ ก็แน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้าจะถามว่า แล้วที่ขายดีเพราะอะไร เป็นเพราะ ชื่อ JK Rolling ผู้เขียนหนังสือ Harry Potter หรือเป็นเพราะฝีมือของ JK Rolling เอง อันนี้น่าคิดครับ
ผมเดาเอาว่าคนส่วนใหญ่น่าจะตอบว่า คงเพราะชื่อมั้ง ก็ถูกครับ แต่ถูกเพียงครึ่งเดียว ความสำเร็จในอนาคตที่จะเกิดขึ้นมันมาจาก 2 ทางครับ คือความสำเร็จในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ กับ คุณภาพของของสิ่งนั้น
ในกรณีของ JK Rolling ที่ถาม ผมว่านิยายเล่มใหม่ก็คงดังแหละ เพราะความสำเร็จของ JK Rolling ก่อนหน้านี้มันมีมากจริง ๆ แต่ถ้านิยายเล่มใหม่เราอ่านแล้ว มันไม่สนุกเลย คุณภาพไม่ดีเหมือนเดิม ถามว่ามันจะดังไปมากไหม ก็ตอบว่าคงยาก
ในหนังสือเล่มนี้เล่าตัวอย่างว่า Project ที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ใน Kickstarter ซึ่งเป็น Platform ที่ให้คนนำเสนอ Idea เพื่อขอเงินลงทุน มักจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือ “ในช่วงแรก” จะมีคนเข้ามาให้เงินลงทุนมาก และเมื่อมีคนเข้ามาให้เงินลงทุนมาก (ความสำเร็จในอดีต) มันก็ยิ่งดึงดูดให้คนเข้ามาให้เงินลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ (ความสำเร็จในอนาคต)
ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับวงการหนังสือเหมือนกันครับ เช่น ถ้าเราออกหนังสือมา แล้วมีคนกลุ่มหนึ่งชอบมาก ๆ แล้วซื้อหนังสือเยอะ ๆ ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ทำให้หนังสือเราติดอันดับ 1 ของหนังสือขายดี สิ่งนี้แหละที่จะดึงให้คนเข้ามาซื้อหนังสือเราต่อไปเรื่อย ๆ
งั้นแปลว่า ช่วงแรกเรา Promote หนัก ๆ ให้หนังสือติด Best Seller เราก็จะประสบความสำเร็จแล้ว แค่นั้นหรือ ไม่ใช่ครับ อันนี้แค่องค์ประกอบแรก สิ่งที่จะทำให้ความสำเร็จมันต่อเนื่องคือ “คุณภาพ” ด้วยครับ เช่นกรณีของหนังสือ ถ้าตอนแรกหนังสือเราติด Best Seller แล้ว คนก็เริ่มมาซื้อเรื่อย ๆ แต่พอเอากลับไปอ่านแล้วพบว่าแย่มาก ความสำเร็จเราก็จะหายไปทันที เพราะคนก็จะไม่บอกต่อ หรือแย่กว่านั้นอาจจะบอกต่อในทางลบก็ได้ว่าอย่าหลวมตัวไปซื้อนะ หนังสือไม่ได้เรื่องเลย
อีกคำถามหนึ่งคือ แล้วถ้าเราเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง โดยที่ตัวเราก็ยังไม่ดัง ไม่เป็นที่รู้จัก แถมทำไปตอนแรก ๆ คนก็ไม่สนใจ แบบนี้แปลว่าเราจะไม่มีทางสำเร็จเลยน่ะสิ คำตอบคือ ไม่ครับ เรายังมีโอกาสสำเร็จอยู่ แต่เนื่องจากเราไม่มีปัจจัยแรก (ความสำเร็จในอดีต) มาสนับสนุน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำต้องมีคุณภาพมาก ๆ ครับ
ตัวอย่างมีให้เห็นครับ อย่างงานวิจัยของไอน์สไตน์ ในช่วงแรก ๆ ก็ไม่ได้มีคนสนใจ และไอน์สไตน์ก็ไม่ได้มีคนรู้จัก แต่งานของไอน์สไตน์มันมีคุณภาพมาก ๆ จนวันหนึ่ง พอคนเริ่มเข้ามาอ่าน เริ่มทำความเข้าใจ มันก็เลยจุดกระแสขึ้นมาได้ และพอไอน์สไตน์ดังขึ้นมา คราวนี้ ความสำเร็จในอดีตกับคุณภาพของงาน จะร่วมกันสองแรงทำให้เกิดความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
กฏข้อนี้ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำอะไร พยายามทำ 2 อย่างครับ คือ 1) ช่วงที่เราออกผลงานมา ทำให้เกิดกระแสให้เร็วที่สุด และ 2) งานควรจะมีคุณภาพมาก ๆ เช่นเดียวกัน ถ้าทำพร้อมกันได้เราจะสำเร็จแน่นอนครับ
กฏข้อที่ 4 ความสำเร็จของทีมต้องการความหลากหลายและความสมดุลภายในทีม แต่ส่วนใหญ่แล้วคน ๆ เดียวจะได้รับ Credit จากความสำเร็จนั้น
กฎข้อนี้มีความน่าสนใจครับ ส่วนแรกคือเรื่องความสำเร็จของทีม เราสังเกตกันไหมครับ ทีมกีฬาที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ มักจะไม่ใช่ทีมที่มีนักเตะเก่งสุด ๆ ในทุกตำแหน่ง แต่จะเป็นทีมที่มีความหลากหลาย และความสมดุล ในขณะเดียวกันทีมที่รวมดารามักจะไม่ค่อยสำเร็จสักเท่าไร
โดยจิตวิทยาแล้วทีมรวมดารามักจะแข่งกันเก่ง แข่งกันดัง มันก็เลยไปด้วยกันไม่รอด ในขณะทีมที่มีความหลากหลาย อาจจะมีคนเก่งมาก ๆ เพียงคนเดียวแต่เป็นผู้นำ ก็จะสามารถทำให้ทั้งทีมประสบความสำเร็จไปด้วย
แต่อีกอย่างที่เกิดขึ้นคือ ความสำเร็จที่เกิดจากทีมนั้น มักจะไปอยู่กับคน ๆ เดียวนี่แหละ เราทั้งโลกบอกว่า Steve Jobs เป็นอัจฉริยะ แต่เราไม่ค่อยพูดว่า ทีมงานของ Apple เป็นอัจฉริยะ ทั้ง ๆ ที่ผลงานที่ออกมาทั้งหมด ไม่มีทางเลยที่ Steve Jobs คนเดียวจะทำออกมาได้
เหตุผลง่าย ๆ ที่หนังสือเล่มนี้บอกก็คือ ก็เพราะว่าความสำเร็จมันขึ้นอยู่กับ “ความคิดเห็น” มากกว่า “ความสามารถ” นั่นเอง หรือแปลว่า ก็คนส่วนใหญ่ “คิดว่า” Steve Jobs คืออัจฉริยะ ชื่อเสียงจึงไปเกิดกับ Steve Jobs มากกว่าไปเกิดกับทีมงานในบริษัท Apple ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วก็ใช่ครับ Steve Jobs เก่ง แต่ถ้านับเป็น % แล้วอาจจะไม่ได้มากกว่าความเก่งรวมกันของคนที่เหลือของบริษัท Apple เลย หรืออาจจะมากกว่า แต่ก็ไม่ได้มากเท่าที่เราให้ Credit Steve Jobs กัน
กฏข้อที่ 5 ถ้าเราพยายามไม่หยุด ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้เสมอในทุกช่วงเวลา
ในหนังสือเล่มนี้เล่าให้ฟังว่า ถ้าเราดูงานของนักวิชาการส่วนใหญ่ งานที่ได้รับการอ้างอิงสูงสุด (แปลว่ามีความสำเร็จมาก) มักจะเป็นงานที่นักวิชาการเหล่านั้นทำในช่วงอายุก่อน 30 ปีทั้งสิ้น
พออ่านแบบนี้ ผมท้อใจนิดหน่อยครับ เพราะคิดว่า โห แต่ตอนนี้ผมอายุเกินไปตั้งเยอะแล้ว คงหมดหวังที่จะทำงานในระดับขั้นสุดยอดได้แล้ว เพราะข้อมูลมันยืนยันแบบนั้น (เอาส่วนตัวผมก็ได้นะครับ งานวิจัยของผมที่ได้รับการอ้างอิงสูงสุดในปัจจุบัน เป็นงานที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ตอนผมอายุ 30+ โน่นแหน่ะครับ)
แต่เดี๋ยวก่อนครับ… หนังสือยังบอกอีกว่า อย่าท้อใจ (เหมือนจะรู้ใจคนอ่าน) เหตุผลเดียวที่ทำให้งานที่สุดยอดส่วนใหญ่ของนักวิชาการเกิดขึ้นก่อนเขาอายุ 30 ปี เป็นเพียงเพราะว่า ก็นักวิชาการส่วนใหญ่ผลิตผลงานเยอะมากในช่วงเวลานั้น หรือแปลง่าย ๆ ว่า ก็คุณผลิตผลงานเยอะ คุณก็มีโอกาสได้ผลงานสุดยอดเยอะตามนั่นเอง
หลังจากนั้นก็มีบทพิสูจน์ว่า มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่สามารถผลิตผลงานสุดยอดในช่วงเวลาที่เขาอายุเยอะ ขอแต่เพียงอย่าหยุดทำเท่านั้น ความสำเร็จมันเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุนั่นแหละ
ข้อนี้คิดแล้วก็จริงอีกครับ เพราะถ้าเราลองดูวิชาชีพอาจารย์ เราจะพบว่า พออาจารย์ได้เป็นศาสตราจารย์ และมีอายุมากขึ้น หลายคนหันเหไปทำงานบริหาร (ซึ่งก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดนะครับ) นั่นก็หมายความว่างานวิจัยที่ออกมาก็จะน้อยลงไปด้วย และก็แปลว่าโอกาสที่ทำงานวิจัยขั้นสุดยอดก็จะน้อยลงตาม แต่ก็มีอาจารย์บางกลุ่มที่ยังคงทำงานวิจัยใน Field นั้น ๆ ต่อไป และก็ยังสามารถแสดงผลงานขั้นสุดยอดออกมาอย่างต่อเนื่อง
หรือไม่จำเป็นต้องอยู่ในวิชาชีพของอาจารย์ก็ได้ครับ เราเห็นคนที่ทำธุรกิจในตอนอายุเยอะ ๆ แล้วสำเร็จก็มีไม่น้อย เช่น Classic Case อย่างผู้พัน Sanders ที่สร้าง KFC มาหลังจากอายุเลยวัยเกษียณมาด้วยซ้ำ
เอาเป็นว่า กฏแห่งความสำเร็จข้อนี้ ให้ข้อคิดว่า เราสำเร็จได้ในทุกช่วงเวลาแหละครับ
แถมให้อีกนิดครับ ในกฏข้อนี้ เขามีอธิบายด้วยว่า ความสำเร็จ (S) = ความสามารถ (Q) x มูลค่าของความคิด (r) แปลว่าตราบใดที่เราคิด Idea ใหม่ ๆ ที่มันมีมูลค่าสูงได้ (ซึ่งเราก็น่าจะคิดได้ตลอดช่วงอายุของเรา) และ เรามีความสามารถที่จะทำสิ่งนั้น (ซึ่งโดยวิชาชีพส่วนใหญ่ เราก็จะสามารถทำได้ ยกเว้นพวกนักกีฬา ซึ่งพออายุมาก ความสามารถทางกายภาพคงลดลงไป) เราก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้เสมอ
โดยสรุปแล้วหนังสือเล่มนี้ สำหรับผม เป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ เล่มหนึ่ง และเป็นเล่มที่ผมใช้เวลาเขียนรีวิวยาวที่สุดเล่มหนึ่งเลยก็ว่าได้
หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ ถ้าใครเห็นว่าเป็นประโยชน์กับท่านอื่นด้วยจะช่วย Share ก็จะขอบพระคุณยิ่งครับ (กำลังทดลองกฎข้อที่ 3 อยู่เหมือนกันครับ 555)
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify Youtube หรือ Blockdit
17 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือ The Seven Spiritual Laws of Success
ต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้ ถือว่าเป็น Classic Book อีกเล่มหนึ่งในบรรดาหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องความสำเร็จ
ผมได้ยินมานานแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้อ่านสักที จนกระทั่งวันหนึ่งเห็น Post ใน Facebook จำไม่ได้แล้วท่านใดเขียนถึง เลยคิดว่าคงต้องอ่านแล้ว เลยซื้อ Ebook มาทันที
ปรากฏว่าใช้เวลาไม่นานเลยครับ อ่านแล้วอินพอสมควร และเช่นเคย ผมคงไม่มา Review เป็นข้อ ๆ ว่ากฏทั้ง 7 ข้อมีอะไรบ้าง เพราะเชื่อว่าน่าจะมีหลายท่านรีวิวแนวนี้อยู่มากมายแล้ว แต่ขอรีวิวข้อคิดที่ผมได้จากหนังสือเล่มนี้ดีกว่าครับ
ขอเริ่มเลยนะครับ
1. ความสำเร็จมันคือการเดินทาง ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง
2. ความสำเร็จ จะครอบคลุมถึงสุขภาพ พลัง ความตื่นเต้นในการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์ที่ดี ความมีอิสระ ความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และความสงบในจิตใจเรา
3. อำนาจที่ยึดติดอยู่กับตำแหน่งหรือสิ่งของคืออำนาจที่ไม่ยั่งยืน แต่อำนาจที่อยู่กับตัวเราจะยั่งยืนกว่า
4. เราควรหาเวลาอยู่กับตัวเองคนเดียวเงียบ ทำสมาธิ และอย่าตัดสินใคร
5. อะไรมีขึ้น ต้องมีลง อะไรที่ไป จะต้องกลับมา
6. ยิ่งให้ ยิ่งได้ ถ้าเราอยากได้ความสุข ให้ความสุขกับคนอื่นมาก ๆ ถ้าเราอยากได้ความรัก รักเขาให้มาก ๆ ถ้าเราอยากให้ใครสนใจ สนใจเขาให้มาก ๆ ถ้าเราอยากรวย ช่วยให้คนอื่นรวยมาก ๆ ทางที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้เราได้อะไร คือ ช่วยให้คนอื่นได้สิ่งนั้นมาก ๆ
7. เราปลูกอะไร เราก็จะได้สิ่งนั้น
8. เวลาจะตัดสินใจทำอะไร ถามตัวเอง 2 ข้อ 1) ผลของการตัดสินใจนั้นคืออะไร 2) ผลการตัดสินใจนั้นจะทำให้เราและคนอื่นที่ได้รับผลมีความสุขหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ทำ ถ้าไม่ใช่ ให้หยุดคิด
9. รู้จักยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวังไว้ก็ตาม
10. ความรับผิดชอบคือการไม่ไปกล่าวโทษคนอื่นหรือสิ่งอื่น รวมถึงตัวเราเอง ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่
11. อย่าไปบังคับให้ใครต้องมาคิดอะไรเหมือนกันกับเรา
12. อดีตคือสิ่งสิ่งที่ผ่านไปแล้ว อนาคตคือสิ่งที่ไม่แน่นอน ปัจจุบันคือของขวัญของเรา ภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า Present (ซึ่งแปลได้ว่า ปัจจุบัน หรือ ของขวัญ)
13. อะไรที่เราสนใจ จะขยายใหญ่ อะไรที่เราที่เราไม่สนใจ ก็จะหายไปในที่สุด
14. โชดดี = เตรียมพร้อม + โอกาส
15. เราควรถามตัวเองว่า เราจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้อย่างไร เรามีความสามารถพิเศษในเรื่องใด
16. เราควรถามคำถามว่า “เราช่วยอะไรได้บ้าง” มากกว่า “เราจะได้อะไร”
17. ถ้าเรารู้จักการแบ่งปันด้วยใจที่บริสุทธิ แจ่มใส และด้วยความรัก ทุกคนจะได้รับความสุขไปพร้อม ๆ กัน
นี่คือข้อคิดที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ใครมีโอกาสลองหาอ่านกันดูนะครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือ Twitter Nopadol’s Story หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/
20 ข้อคิดจากหนังสือ You are a Badass
เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมได้มาจากระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมักจะอดไม่ได้ที่จะแวะร้านหนังสือในเมืองต่าง ๆ รวมถึงในสนามบินถ้ามีโอกาส
เล่มนี้ดูชื่อแล้วน่าสนใจครับ เปิดพลิกเข้าไปอ่าน ก็ดูเหมือนจะมีข้อคิดดี ๆ อ่านจบ ก็ต้องบอกว่าไม่ผิดหวังที่ได้อ่าน เลยขอนำมาสรุปข้อคิดไว้เป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้
1. การกระทำของเราส่วนใหญ่มาจากจิตใต้สำนึก ดังนั้นถ้าอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราควรต้องเปลี่ยนตั้งแต่ระดับจิตใต้สำนึกถึงจะได้ผล
2. สิ่งที่เราอยากได้ ไม่ว่าเป็นเรื่องเงิน หรือเรื่องอื่น ๆ มันมีอยู่แล้ว และเราสามารถหามาได้ แต่เรายังไม่ทราบเท่านั้นเองว่ามันมีอยู่
3. เวลาที่เรากำลังจะประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเจออุปสรรคก่อน
4. ให้รักตัวเองมาก ๆ
5. การเปรียบเทียบกับคนอื่นเป็นวิธีที่เร็วที่สุดที่จะทำให้ความสุขหายไป
6. เวลาเราจะทำอะไร อย่าไปสนใจกับความคิดของคนอื่นให้มากนัก
7. อยากรู้ว่าเราชอบอะไร ให้เราเริ่มทำสิ่งนั้นดู อย่าเอาแต่คิด
8. อยากเปลี่ยนแปลงอะไรให้เปลี่ยนวิธีคิดก่อน แล้วเราจะเห็นหลักฐานเองว่ามันเป็นจริง ถ้าเรามัวแต่จะหาหลักฐาน แล้วจึงค่อยเปลี่ยนความคิด แบบนี้การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้น
9. เราจะมีเวลาอยู่กับร่างกายนี้ของเราอย่างจำกัด ดังนั้นเราควรทำให้มีความสุขมากที่สุด
10. รู้สึกขอบคุณในทุกสถานการณ์ โดย 1) เริ่มต้นจากคำว่า สิ่งนี้ดีเพราะ… 2) เขียนจดหมายขอบคุณตัวเอง 3) รักตัวเอง
11. การยกโทษไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำเพื่อให้คนที่เราไม่ชอบดีขึ้น แต่เป็นการทำเพื่อตัวเอง
12. อะไรที่เรา Focus มักจะกลายเป็นจริงเสมอ
13. เวลาที่เราพูดว่า เราไม่สามารถทำในสิ่งนั้นได้ ส่วนใหญ่แล้ว มันหมายถึง เราไม่กล้าที่จะลองทำ มากกว่า เราทำไม่ได้จริง ๆ
14. ถ้าเราจริงจังอยากจะเปลี่ยนชีวิตเรา เราจะหาหนทางจนได้ แต่ถ้าเราไม่จริงจังมาก เราจะหาข้อแก้ตัว
15. กำแพงอีกข้างหนึ่งของความกลัว คือ อิสรภาพ
16. ไม่มีใครสามารถพิชิตยอดเขาได้ โดยไม่เคยล้มเลย
17. ความล้มเหลวเดียวคือการล้มเลิก ที่เหลือคือการเก็บข้อมูลระหว่างทางเท่านั้น
18. เมื่อเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำเป็นไปได้ และเราตัดสินใจที่จะทำสิ่งนั้น แค่นี้โอกาสที่จะสำเร็จก็เพิ่มขึ้นแล้ว
19. ยิ่งเรามีเงินมากเท่าไร เรายิ่งควรจะแบ่งปันมากขึ้นเท่านั้น
20. สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำได้ในการทำให้โลกดีขึ้น ก็คือการทำให้ตัวเองดีขึ้น
อ่านแล้ว หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าก็เหมือน ๆ หนังสือ How-To ทั่ว ๆ ไป จริง ๆ จะมองแบบนั้นก็ได้ครับ แต่ก็ได้อะไรดี ๆ กลับมานั่งคิดได้อีกเยอะ สนใจลองหาอ่านกันได้ครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/
หลักการชีวิต คิดอย่างไร
ผมเพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบ เป็นหนังสือที่หลายคนกล่าวขานกันว่าดีมาก ๆ เล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้มีชื่อ Principles เขียนโดย Ray Dalio ครับ
ผมคงไม่มา Review หนังสือเล่มนี้ในรายละเอียดหรอกครับ คิดว่าท่านคงหาอ่าน Review หรือหาอ่านหนังสือเล่มเต็มได้ แต่จะเล่าให้ฟังว่า Ray เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ ออกมาจากประสบการณ์ตรงของเขา และที่หนังสือเล่มนี้ดัง ก็เพราะว่าเขาเป็นคนที่หลายคนยกย่องว่า “ประสบความสำเร็จ” คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเงิน (คือรวยว่างั้นเถอะ) หรือ จะเป็นเรื่องชื่อเสียงที่คนทั่วโลกรู้จักเขา
ที่น่าสนใจมากขึ้นคือเขา “ถอดบทเรียน” เอาสิ่งที่เขาพบเจอในชีวิตมาเล่าให้ฟังเป็น “หลักการ” หรือ “Principles” ก็เหมือนชื่อหนังสือเขาแหละครับ ว่า เขาทำอย่างนี้แล้วประสบความสำเร็จนะ อันนี้มันเหนือกว่าหนังสือชีวประวัติของผู้ประสบความสำเร็จทั่ว ๆ ไป ที่เล่าให้ฟังแต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ว่า ชีวิตเขาผ่านอะไรมาบ้าง จนกระทั่งประสบความสำเร็จ แต่ผู้อ่านต้องไปวิเคราะห์กันเอาเอง
ก็เรียกได้ว่า นี่คือจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้เลยก็ว่าได้ ว่าแต่ว่า มันมีประเด็นอะไรอีกที่ผมอยากจะหยิบยกมาคุย
มีสิครับ คืองี้ครับ ผมว่าการอ่านเรื่องราวคนที่ประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่ดีครับ มันทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ แต่มันมีจุดสำคัญที่เราควรต้องระวังไว้เช่นกัน
ประการแรก “ความสำเร็จ” ของแต่ละคน มันไม่เหมือนกัน
อันนี้เราต้องระวังนะครับ คิดให้ดี ๆ ว่า แท้จริงน่ะ เราอยากเหมือนกับเขา 100% เลยหรือเปล่า ถ้านิยามของความสำเร็จเราต่างจากเขา แต่เราดันไปทำตามหลักการดำเนินชีวิตของเขา เราก็อาจจะลงเอยเหมือนกันกับเขา ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการก็ได้ เอาง่าย ๆ คนที่อ่านหนังสือเรื่อง Principles แล้วพยายามจะทำตามหลักการที่ Ray เขียนไว้นั้น เราได้เคยถามตัวเองอย่างจริงจังไหมครับว่า เราอยากเป็นอย่าง Ray จริง ๆ หรือไม่ ใช่ครับ เราอยากรวยอย่าง Ray แต่ หลักการที่ Ray เล่าให้ฟังในหนังสือนั้น มันไม่ได้ทำให้รวยอย่างเดียวนะครับ แต่มันทำให้คนทำตามอาจจะเป็น Ray ทั้งหมด ซึ่งเราอยากเป็นแบบเขาจริงหรือเปล่า เราอยากเป็นคนที่มีชื่อเสียง เราอยากทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูง เราอยากมีความสัมพันธ์กับคนอื่นเหมือน Ray แบบนั้นทั้งหมดหรือไม่ครับ
ประการที่สอง วิธีการเดียวกัน ก็อาจจะได้ผลไม่เหมือนกัน
เอาล่ะครับ สมมุติว่า Ray คนแต่งหนังสือนี่แหละ คือ Idol ของเรา เราอยากเป็นเขา 100% อย่างนี้ แปลว่าเราทำตามเขาแล้วจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผมก็ยังคิดว่าไม่อยู่ดีครับ
บริบทต่าง ๆ ระหว่างเรากับเขามันต่างกัน เอาแค่วัฒนธรรมในการทำงาน หรือกลุ่มคนที่เรารู้จักก็ได้ ผมสมมุติว่าคนที่ประสบความสำเร็จในประเทศในซีกโลกตะวันตก อาจจะถอดบทเรียนมาว่า มีอะไรให้พูดตรง ๆ ไม่ต้องเกรงใจ ซึ่งเขาก็ทำแบบนั้นแล้วประสบความสำเร็จ คราวนี้เราอ่านหนังสือเขา เราก็เอามาใช้บ้างในที่ทำงานเรา เจ้านายทำผิด พูดตรง ๆ เลยว่า คุณผิดนะ ทำอย่างนี้สิ แต่ผลอาจจะกลายเป็นว่า เราเป็นคนไม่มีสัมมาคารวะ เพราะวัฒนธรรมเรามันต่างจากเขา
ดังนั้น อ่านได้ ศึกษาได้ แต่ต้องนำมาคิดด้วยครับว่า มันเหมาะกับเรามากแค่ไหน
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ (Principles) แล้ว ก็ชอบนะครับ ได้ความรู้เยอะดี แต่กลับคิดว่า จะมีประโยชน์อย่างมาก ถ้าเราทำแบบ Ray ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ คือเราต้องถอดบทเรียนจาก “ประสบการณ์ของตัวเราเอง” ออกมาให้ได้อย่างเขา เอาง่าย ๆ อย่างแรกคือ อะไรที่เราทำแล้ว มักจะสำเร็จ จดไว้ครับ เขียนออกมาเป็นหลักการเลย อะไรก็ตามที่เราทำแล้ว มันไม่สำเร็จ เขียนไว้ครับ ถอดบทเรียนออกมาว่าอย่าทำ
และในที่สุดเราก็จะได้ “บทเรียนชีวิต” ใน Version ของตัวเราเอง ที่เหลือก็ดำเนินตามบทเรียนที่เราทำแล้วสำเร็จ หลีกเลี่ยงสิ่งที่เราคิดว่าจะนำมาซึ่งความล้มเหลว ในขณะเดียวกันก็สามารถศึกษาบทเรียนชีวิตของคนอื่น ๆ ไปด้วย นำมาทดลอง ปรับใช้ ผมเชื่อว่าวิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่น่าจะได้ผลดีที่สุดนะครับ
ลองนำไปคิดและทำดูก็ได้ครับ เพราะอันนี้ก็เป็นแค่ความคิดของผมเช่นเดียวกัน
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
ความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกับความสำเร็จ
เคยได้ยินคำว่า “ความสำเร็จ” กับ “ความล้มเหลว” บ่อย ๆ ไหมครับ
หลายคนก็คงตอบว่า ได้ยินบ่อยมาก 5555
คำสองคำนี้ ดูเหมือนกับเป็นคำที่ตรงข้ามกัน เกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ ถ้าสำเร็จก็ไม่ล้มเหลว หรือ ถ้าล้มเหลวก็ไม่สำเร็จ เหมือนเป็นสีขาวกับดำ อะไรทำนองนั้น
จะคิดเช่นนั้นก็ได้ครับ แต่ถ้าเรามามองดูดี ๆ จริง ๆ ทั้งสองสิ่งนี้ มันมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก
เอ จะใกล้ชิดกันอย่างไร มันตรงกันข้ามชัด ๆ
อย่างนี้ครับ จริง ๆ แล้ว ความล้มเหลวนั้นถ้ามองให้ดี มันเป็น “องค์ประกอบ” ของความสำเร็จมากกว่า
ผมมีเรื่องเล่าให้ฟังครับ
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมพาลูกชาย ซึ่งอายุ 11 ขวบ ไปฝึกขี่จักรยาน และทุกคนก็คงเดาได้ว่า การขี่จักรยานครั้งแรกจะเป็นอย่างไร ใช่ครับ มันต้องล้ม คงหายากมากที่เราจะหยิบจักรยานมาขี่ครั้งแรก แล้วขี่ได้ทันที จริงไหมครับ
ผมก็มองดูเขาไปเรื่อย ๆ พอล้ม ก็ไม่ได้เข้าไปช่วยอะไรหรอกครับ เขาก็หยิบจักรยานขึ้นมาขี่ใหม่ ขี่อีกก็ล้มอีก ได้แผลมาเลย
คราวนี้ ถ้าเราหยุดภาพไว้ตรงนี้ เราเรียกการล้มนี้ว่า “ความล้มเหลว” ไหมครับ
ถ้ามองผลลัพธ์อย่างเดียว คำตอบก็น่าจะเป็นว่า “ใช่” เพราะมันขี่ไม่ได้ไง แต่ถ้ามองลึก ๆ ลงไป ทุกครั้งที่เขาล้ม เขาน่าจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง
ผมเห็นเขาล้มมาหลายรอบ ลุกขึ้นปัดมือ ปัดขา และก็บ่นกับตัวเอง แต่เขาก็หยิบจักรยานมาขี่ต่อ
และก็คงเหมือนกับทุกท่านที่ขี่จักรยานเป็น ในที่สุดเขาก็ขี่ได้ หรือพูดอีกแบบก็คือ ในที่สุดเขาก็ทำจน “สำเร็จ”
นี่แหละครับ ที่ผมอยากจะบอกว่า ความล้มเหลว (ที่ขี่แล้วล้มทุกที) มันเป็นองค์ประกอบของ ความสำเร็จ (ที่ขี่จักรยานได้)
ในชีวิตของเราเช่นเดียวกันครับ ถ้าเราทำอะไรไม่สำเร็จ ให้ลองคิดภาพนี้ดูว่า นั่นแหละ เรากำลังเข้าใกล้ความสำเร็จไปเรื่อย ๆ ขออย่างเดียว ทุกครั้งที่ล้มเหลว เราควรจะเรียนรู้อะไรบางอย่าง และการเรียนรู้นั้นเอง จะนำเราไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุดนะครับ
ล้มเหลวได้ แต่อย่าล้มเลิกเป็นพอครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho