หาสิ่งที่เราเก่งให้เจอ พัฒนาความสามารถนั้นให้เก่งขึ้นไปอีก เราจะทำสิ่งนั้นได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราจะชอบสิ่งนั้นเองในที่สุด
Continue readingเลิกนั่งคิดหาแพสชัน
แพสชันไม่ใช่สิ่งที่เราตามหาแต่เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นมาเอง
Continue reading5 วิธีค้นหา Passion ในการทำธุรกิจผู้ประกอบการวันหยุด
อยากเป็นผู้ประกอบการวันหยุด อยากทำสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่นึกไม่ออกว่าชอบอะไร ลองอ่านกันครับ
Continue readingตามหา Ikigai ในเย็นวันศุกร์
เคยได้ยินคำว่า Ikigai กันไหมครับ คำ ๆ นี้เป็นคำญี่ปุ่น ซึ่งผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรอกครับ แต่ผมเริ่มสะดุดคำนี้ จาก post ใน Facebook หลังจากนั้นก็เริ่มหาหนังสือที่มีคำว่า Ikigai มาอ่านตลอด จนเข้าใจว่า Ikigai มันคือความลับของการมีชีวิตที่มีความสุข
หนังสือที่เขียนเล่มนี้ได้ดีเล่มหนึ่ง กลับไม่ใช่หนังสือที่คนญี่ปุ่นเขียนนะครับ เป็นหนังสือที่ Hector Garcia และ Francesc Miralles ซึ่งเป็นคนต่างชาติทั้งคู่ แต่ได้ไปศึกษาวิจัยหาคำตอบว่า ทำไมคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในโอกินาวา ถึงได้เป็นกลุ่มคนที่มีอายุยืนที่สุดในโลก
ในหนังสือ Ikigai The Japanese Secret to a Long and Happy Life เขียนเรื่องนี้ไว้หลายอย่างครับ แต่ที่อยากเอามาขยายความคือ มันคือรูปในปกหลังหนังสือเล่มนี้ ที่เป็นตัวบอกว่า Ikigai มันคือพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง 4 อย่างได้แก่
- สิ่งที่เรารัก
- สิ่งที่เราเก่ง
- สิ่งที่โลกต้องการ
- สิ่งที่สร้างเงินให้เราได้
สรุปง่าย ๆ ว่าถ้าเราเจอสิ่งนี้ แปลว่าเราเจอ Ikigai ของเราแล้ว
คราวนี้ ผมอยากให้ทุกคนที่เข้ามาอ่านเรื่องนี้ ลองคิดถึงงานที่เรากำลังทำอยู่ครับว่า ถ้าให้คะแนนเต็ม 10 ในแต่ละข้อ จะให้คะแนนเท่าไร เอ้า เริ่มเลยครับ ทำให้เสร็จนะครับ ไม่ยากหรอกครับ
คราวนี้ลองกลับมาดูผลกัน ถ้าเราให้คะแนนสูงในทุกข้อ (เอาเป็นว่าสูงคือตั้งแต่ 8 คะแนนขึ้นไปแล้วกันนะครับ) อันนี้แปลผลง่ายครับ คือเราเจอ Ikigai ของเราแล้ว และเย็นวันศุกร์ คงเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งของเรา ไม่ได้ตื่นเต้นดีใจกับวันหยุดเสาร์อาทิตย์เลย (หรือบางที อาจจะออกแนวเซ็งซะด้วยซ้ำ เมื่อไร จะถึงวันจันทร์ซะทีน้า 555)
คราวนี้ ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เรารัก กับ สิ่งที่เราเก่ง เขาเรียกสิ่งนั้นว่า Passion หรือความลุ่มหลงครับ คือ เราชอบทำมันมาก ๆ แต่ยังไม่สามารถอยู่ได้ด้วยสิ่งนั้น เช่นผมชอบดูฟุตบอลมาก ๆ และรู้จักนักเตะแต่ละคนหมด แต่ไม่รู้จะทำเงินได้อย่างไร และก็ไม่รู้ว่าคนอื่นจะได้ประโยชน์อะไรจากความรู้นี้ อันนี้มันก็แค่ Passion ครับ
ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เรารัก และ สิ่งที่โลกต้องการ อันนี้สิ่งที่เรามีเขาเรียกว่า Mission ครับ คือเรารักในงานนั้น และงานนั้นมันช่วยเหลือคน เพียงแต่ว่า เรายังไม่เก่งเรื่องนั้นเลย แถมเรายังไม่ได้รับค่าตอบแทนด้วย มันออกแนวงานช่วยเหลือสังคม ทำเพื่อสาธารณะ ซึ่งไม่ใช่ไม่ดีนะครับ แต่มันยังยึดเป็นอาชีพไม่ได้ และความยั่งยืนมันก็น้อย เราคงทำได้ไม่ตลอด
ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เราเก่งกับสิ่งที่สร้างรายได้ให้เรา อันนี้เขาเรียกว่าอาชีพ หรือ Profession คือเราเก่งในเรื่องนี้ และเราก็สามารถทำรายได้ในเรื่องนี้ได้มาก แต่มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรารักและอาจจะไม่ได้ช่วยเหลือโลกสักเท่าไร ก็เช่นงานประจำของเรานั่นแหละครับ จบบัญชีมา ก็เป็นนักบัญชี เราก็มีความรู้ทางด้านนี้นะ สิ้นเดือนก็ได้เงินเดือน แต่ไม่มีเติมเต็มความต้องการเราเลย วัน ๆ ก็คิดว่า อยากลาออกไปตามฝันอะไรทำนองนั้น
ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เราได้เงินและสิ่งที่ช่วยเหลือโลก อันนี้เราเรียกว่า วิชาชีพ หรือ Vocation เช่นเราเป็นช่างประปา แน่นอนมีคนต้องการช่างประปาแน่ ๆ เราได้ช่วยเหลือเขา และทุกครั้งที่ช่วยเราก็จะได้รับผลตอบแทนมาด้วย เพียงแต่มันก็อาจจะไม่ใช่ความฝันของเราหรือเราก็อาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอะไรมากนัก
ที่สำคัญคือ รู้แล้ว ทำอย่างไรต่อ
ผมแนะนำอย่างนี้ครับ ถ้างานของเรามันมีคะแนนสูงด้านใดด้านหนึ่งแล้ว พยายามหาทางทำให้อีกด้านที่เหลือสูงตาม (ถ้าเป็นไปได้) เช่น ผมชอบเขียนบทความ ตอนแรกมันอาจจะได้คะแนนสูง ในส่วนงานที่รัก แต่ผมยังไม่เก่ง ผมยังเขียนไม่ตอบโจทย์คนอื่น และผมยังไม่สามารถสร้างรายได้ได้ ผมก็ควรจะเริ่ม ไปฝึกฝนฝีมือการเขียน เช่นไปอ่านหนังสือเทคนิคการเขียน ไปเข้าคอร์สเรียนการเขียน (ตอนนี้ผมก็ยังเรียนอยู่เลยครับ) พอเราเริ่มเก่งขึ้น ผมก็อาจจะเริ่มมามองหาว่า เอ แล้วงานเขียนเรามันจะช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร พยายามเขียนสิ่งที่ช่วยคนอื่นให้มากที่สุด สุดท้ายก็ลองคิดว่า เอ แล้วจะสร้างรายได้ได้อย่างไร เพราะรายได้นี่แหละครับ ที่จะทำให้เราสามารถใช้เวลาเขียนได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ออกหนังสือ ทำคอร์สสอนการเขียน อะไรแบบนี้ และในที่สุดเราก็จะได้ Ikigai ของเรา
แต่ผมเข้าใจครับว่า บางทีมันก็ไม่ง่าย โดยเฉพาะถ้ามิติที่ขาดไปคือสิ่งที่เรารัก เพราะให้เปลี่ยนสิ่งที่เราเก่ง เป็นสิ่งที่เรารักมันทำได้ยาก แต่ ต้องบอกว่า คำว่ายาก ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้นะครับ ผมยกตัวอย่างอย่างนี้ครับ สมมุติว่า ผมเป็นหมอที่เก่งมาก แต่ผมเบื่ออาชีพหมอมาก อยากเลิกทำ ลองดูนะครับ ถ้าเราสามารถหาหนทางที่จะคิดค้นวิธีการรักษาโรคร้ายแรงได้สำเร็จ ช่วยชีวิตคนได้เป็นจำนวนมาก (สิ่งที่โลกต้องการ) ซึ่งทำให้เราได้ค่าสิทธิบัตรจำนวนมหาศาล (รายได้) และนำให้เราได้รับรางวัลโนเบล บางทีการเป็นหมอก็อาจจะเป็นสิ่งที่เรารักในที่สุด บางทีการทำสิ่งที่เรารักอาจจะไม่ใช่ทางเลือกเดียวเสมอไปนะครับ
อ้อ แล้วทำไมชื่อเรื่องนี้คือ “ตามหา Ikigai ในเย็นวันศุกร์” ตามหาวันอื่นได้ไหม คำตอบคือ ได้เหมือนกันครับ แต่เย็นวันศุกร์นี่แหละครับที่จะเป็นตัววัดที่ดี ใครที่เย็นวันศุกร์ร่าเริงสุด ๆ แต่พอเย็นวันอาทิตย์กลับมาเหงาหงอยเศร้าสร้อย อย่างนี้แปลว่าเรายังไม่เจอ Ikigai ของเราครับ
ลองค้นหากันดูนะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนมี Ikigai ของตัวเองครับ ใครยิ่งพบได้เร็ว ก็ยิ่งโชคดีครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
อย่าทำในสิ่งที่ตัวเองรัก
เขียนหัวข้อผิดหรือเปล่า มันน่าจะเป็น ให้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักไม่ใช่เหรอ เพราะถ้าทำในสิ่งที่ตัวเองรักเราจะทำได้ดีไง ใคร ๆ ก็บอกว่าให้ทำตามฝันตัวเองกันทั้งนั้น
ไม่ได้ผิดครับ ตั้งใจจะเขียนแบบนี้จริง ๆ ครับ ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ดู clip ที่มีหลาย ๆ คนยืนยันเรื่องนี้เช่นกัน รู้จัก Mark Cuban ไหมครับ เขาเป็นเศรษฐีระดับพันล้าน (เหรียญสหรัฐ) ที่เป็นเจ้าของทีมบาสเกตบอลชื่อดัง Dallas Maverick เขาก็บอกว่า Don’t follow your passion พูดง่าย ๆ คืออย่าทำอะไรตามสิ่งที่ตัวเองลุ่มหลงนั่นแหละ
อ้าว ชักจะงงแล้ว ทำไมเราจึงไม่ควรทำในสิ่งที่เราลุ่มหลงล่ะ ผมขอแยกประเด็นออกมาให้ชัด ๆ แบบนี้ครับ
คือถ้าเราทำเพราะความชอบ ความสนุก อันนี้ไม่ได้ห้ามเลยครับ ทำไปเลยครับ แต่ถ้าจะทำเพื่อเป็นงานหลักอันนี้ดูดี ๆ ครับ อย่าง Mark Cuban เขาก็ลุ่มหลงใน Baseball แต่เขาตีลูกไม่เก่ง เขาลุ่มหลงใน Basketball แต่เขาก็กระโดดได้ไม่สูง ลองคิดดูว่า ถ้าเขาตามความฝันเขาไป เขาอาจจะกลายเป็นนักกีฬาดาด ๆ คนหนึ่ง หรืออาจจะไม่ได้เป็นด้วยซ้ำ และก็คงไม่ได้เป็นเศรษฐีพันล้านเหมือนปัจจุบันนี้
สิ่งที่เขาเสนอคือ เขาเสนอให้ Follow your effort ครับ คือให้ทำในสิ่งที่เราทำได้ดี แล้วยิ่งทำไปเรื่อย ๆ เราก็จะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ และเขาบอกว่า ความลับคือ เดี๋ยวเราก็ชอบในสิ่งที่เราทำนั่นแหละ เพราะไม่มีใครไม่ชอบงานที่ตนเองทำได้ดีมาก
พูดง่าย ๆ คือ พอเราเก่งเรื่องไหน เราจะชอบเรื่องนั้นในที่สุด สมมุตินะครับว่า ผมไม่ได้ชอบสอนสักเท่าไร (อันนี้ชีวิตจริงก่อนมาเป็นอาจารย์เลยครับ) แต่พอสอนไปเรื่อย ๆ วันแล้ววันเล่า ในที่สุดเราก็สอนดีขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เรียนให้คะแนนประเมินดี มีคำชม ในที่สุดเราก็จะชอบสิ่งนี้โดยอัตโนมัติ
อีกประการหนึ่งคือ เวลาเราทำตามความฝันเรานั้น บางทีมันกลับกลายเป็นทำลายความฝันเราไป เพราะหลาย ๆ ครั้ง เราแค่รักที่จะทำ แต่เมื่อเรา “ต้อง” ทำสิ่งนั้น มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราชอบเสมอไปนะครับ
ผมเคยมีประสบการณ์ตรงอันนี้เลยครับ ทุกคนที่รู้จักผม ก็คงทราบดีว่าผมชอบเขียน คราวนี้ มีสำนักข่าวแห่งหนึ่ง จ้างให้ผมเขียนคอลัมน์เลยครับ ซึ่งผมก็รับ เพราะผมคิดว่ามันตรงกับ Passion ของผม แต่ปรากฏว่าเป็นที่น่าประหลาดใจว่า ตอนที่ผมเขียนโดยอิสระนั้น ผมเขียนได้คล่องมาก วัน ๆ มี Idea มาเขียนมากมายไปหมด แต่เมื่อผม “ต้อง” เขียนตามโจทย์ของสำนักข่าวนั้น กลับกลายเป็นว่า ผมเขียนไม่ค่อยออกและรู้ตัวเลยครับว่า ข้อเขียนที่เขียนนั้น มันไม่ดีเท่าที่เราเขียนเอง
นี่ขนาดเป็นแค่การเขียนที่ได้รับค่าตอบแทนนะครับ ยังไม่ใช่อาชีพ “นักเขียน” หรือ “นักข่าว” นะครับ ถ้ามันกลายเป็นอาชีพไปเลย แบบต้องส่งต้นฉบับให้ทันเวลาทุก ๆ วัน หนัก ๆ เข้า ผมอาจจะเกลียดการเขียนไปเลยก็เป็นได้ (และอันนี้ก็ลงเอยว่า สำนักข่าวเขาก็เปลี่ยนนโยบาย เลยขอหยุดไม่ต้องให้ผมเขียน ซึ่งก็ตรงใจผมพอดี 555)
อีกอย่างที่เราต้องชัดเจนกับตัวเองคือ อะไรคือสิ่งที่เรา “ลุ่มหลง” กันแน่ ผมเห็นคนจำนวนมากที่อยากเปิดร้านกาแฟ เพียงเพราะว่า เขาชอบดื่มกาแฟ ต้องชัดเจนนะครับ เราชอบ “ดื่มกาแฟ” แต่เราไม่ได้ชอบ “เปิดร้านกาแฟ” พอเรา ซึ่งชอบดื่มกาแฟ ไปเปิดร้านกาแฟ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราต้องบริการลูกค้า เราต้องคิดเงิน เราต้องหาเงินมาปรับปรุงร้าน ซึ่งมันไม่ใช่งานที่เราชอบเลย สุดท้ายเราก็ไปไม่รอด
ตอนเด็ก ๆ ผมเคยคิดว่าอยากเป็นนักฟุตบอลครับ เพราะผมชอบ “ฟุตบอล” แต่โชคดีนะครับ ที่ผมไม่ได้ตัดสินใจไปเป็นนักฟุตบอล ซึ่งตอนนั้น แทบจะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นอาชีพเลยก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่ผมลุ่มหลง คือการ “เชียร์” ฟุตบอลครับ ไม่ใช่ “เป็น” นักฟุตบอลอาชีพ ผมรู้เลยครับว่า ถ้าสมมุติผมลาออกจากโรงเรียน ไปเตะฟุตบอลตามความฝัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ผมคงต้องตื่นแต่เช้าออกวิ่ง ซ้อม ๆ ๆ ๆ และทำอย่างนี้ทุกวัน เพื่อจะได้ลงแข่ง อันนี้ไม่ต้องบอกว่าเราจะชนะหรือเปล่านะครับ แต่แค่คิดก็รู้สึกเบื่อแล้ว เพราะเราชอบดูฟุตบอล หรือ เตะฟุตบอลกับเพื่อน ๆ มากกว่า จะทำไปเป็นอาชีพแบบนั้น ขืนทำไปไม่นานก็คงเลิก แล้วคราวนี้ก็คงเคว้งคว้างน่าดูเหมือนกัน
เอาเป็นว่า จริง ๆ ไม่ได้ต่อต้านการทำในสิ่งที่ตัวเองรักหรอกนะครับ เพียงแต่ให้ชัดเจนว่ารักอะไรกันแน่ แล้วถ้าต้องทำสิ่งที่ตัวเองรักเพื่อเป็นอาชีพ เราจะยังรักสิ่งนั้นอยู่หรือเปล่า ถ้าชัดเจนตรงนี้แล้ว คิดว่าใช่ ก็ไม่มีใครห้ามครับ คิดดี ๆ แล้วลุยไปได้เลยครับ เป็นกำลังใจให้นะครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
Grit: The Power of Passion and Perseverance
หลายท่านที่กำลังมุ่งหาความสำเร็จให้กับตัวเอง หรือกับองค์กร ย่อมที่จะมีคำถามว่าอะไรทำให้ตัวเราเองประสบความสำเร็จหรือคนที่มีลักษณะแบบไหนที่จะทำงานแล้วประสบความสำเร็จ คำถามนี้ไม่ใช่คำถามที่ตอบได้ง่ายนัก ถ้าเป็นในอดีต เรามักจะเชื่อกันว่า คนที่เรียนเก่ง ๆ ได้เกรดดี ๆ จะเป็นคนที่องค์กรมักจะอยากได้ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้ฉลาด และน่าจะทำงานประสบผลสำเร็จ
แต่พอมาถึงปัจจุบัน หลายองค์กรก็พบว่า การนำเอาเกรดเฉลี่ยเป็นตัวตัดสินในการคัดเลือกนั้น มันไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป เราพบเห็นคนที่ได้เกรดเฉลี่ยสูง ๆ ประสบความสำเร็จในการเรียน แต่กลับประสบความล้มเหลวในการทำงานจำนวนไม่น้อย แต่คำถามที่สำคัญคือ แล้วเราควรจะเลือกคนที่เรียนไม่ดี ได้เกรดต่ำ ๆ หรือ คนเหล่านั้นจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จจริงหรือเปล่า คำตอบก็คงเป็นเหมือนเดิมคือ ก็อาจจะไม่ใช่เช่นกัน เราเห็นคนที่ประสบความสำเร็จมีทั้งคนที่เรียนเก่ง ได้เกรดสูง ๆ กับคนที่เรียนไม่เก่งได้เกรดต่ำ ๆ เช่นกัน หรือกล่าวได้ว่า เกรดอาจจะไม่ใช่ตัววัดที่จะสามารถนำมาแยกแยะว่าใครจะสำเร็จหรือล้มเหลวต่อไป
คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ แล้วอะไรคือตัววัดที่สามารถแยกคนที่ประสบความสำเร็จออกจากคนที่ประสบความล้มเหลว เพราะถ้าเราทราบถึงปัจจัยนั้นได้ การคัดเลือกก็อาจจะทำได้ง่ายขึ้น หรือแม้กระทั่งตัวเราเองก็จะได้ทราบว่าเราควรจะต้องทำตัวอย่างไร ให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน
มีหนังสือหลายเล่มได้กล่าวถึงเรื่องนี้ แต่ต้องยอมรับว่าหนังสือที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากคือหนังสือที่ชื่อว่า Grit ที่แต่งขึ้นโดย Angela Duckworth ซึ่งเป็น Professor ทางด้านจิตวิทยาจาก University of Pennsylvania หนังสือเล่มนี้มาจากงานวิจัยของ Professor Duckworth ที่ค้นพบว่าปัจจัยสำคัญของความสำเร็จนั้นมี 2 ประการ คือ ความลุ่มหลงในสิ่งที่ทำ หรือที่เรียกว่า Passion กับ ความมานะพยายามที่จะทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่องหรือที่เรียกว่า Perseverance โดย Professor Duckworth เรียกทั้งสองอย่างนี้รวมกันว่า “Grit”
หนังสือเล่มนี้มีความหนาทั้งสิ้น 333 หน้า แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลัก โดยส่วนแรกเป็นการอธิบายว่า Grit คืออะไร ซึ่ง Professor Duckworth ได้มีการนำเสนอกรณีศึกษาตัวอย่างของการใช้มาตรวัด Grit ที่ได้สร้างขึ้นมา โดยมาตรวัดนี้มีเพียง 10 ข้อสั้น ๆ ดังต่อไปนี้
1) ความคิดใหม่ ๆ และโครงการบางครั้งทำให้ฉันไขว้เขวไปจากสิ่งที่เราทำก่อนหน้านี้
2) ความผิดหวังไม่ทำให้ฉันท้อใจ เราไม่ล้มเลิกอะไรง่าย ๆ
3) ฉันมักจะตั้งเป้าหมายไว้แต่ในภายหลังก็จะเปลี่ยนไปทำอีกอย่างหนึ่ง
4) ฉันเป็นคนที่ทำงานหนัก
5) ฉันมักจะมีความยากลำบากที่จะมุ่งเน้นทำโครงการใดโครงการหนึ่ง ถ้าโครงการนั้นมีระยะเวลานานหลายเดือนกว่าจะเสร็จ
6) ฉันจะทำสิ่งที่เริ่มจนเสร็จสิ้น
7) ความสนใจของฉันจะเปลี่ยนไปในแต่ละปี
8) ฉันเป็นคนขยัน ฉันไม่เคยล้มเลิก
9) ฉันมักจะหมกมุ่นกับความคิดใดความคิดหนึ่งหรือโครงการใดโครงการหนึ่งในระยะเวลาอันสั้น และก็จะหมดความสนใจในที่สุด
10) ฉันสามารถเอาชนะความผิดหวังและเอาชนะความท้าทายอันสำคัญได้ในที่สุด
โดยในแต่ละข้อจะมี Scale 1-5 ให้เราประเมินตนเอง โดย 1 หมายถึง ไม่ใช่เราเลย และ 5 หมายถึง คล้ายกับเรามาก ๆ หลังจากนั้นก็เอาคะแนนทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย ยิ่งเราได้คะแนนใกล้ 5 มากเท่าไร ก็แสดงว่าเรามีความเป็น “Grit” มากเท่านั้น และหนังสือเล่มนี้ก็พบว่ายิ่งเรามีความเป็น Grit สูง เราก็มักจะมีแนวโน้มที่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราทำสูงขึ้นไปด้วย
สำหรับในส่วนที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องของการสร้าง Grit จากภายในไปสู่ภายนอก เริ่มตั้งแต่โดยการสร้างความสนใจ (Interest) โดยการฝึกฝน (Practice) โดยการตั้งวัตถุประสงค์ (Purpose) และโดยความหวัง (Hope) ในส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ คือการสร้าง Grit จากภายนอกเข้าสู่ภายใน ซึ่งมีทั้งเรื่องการเลี้ยงดู (Parenting) การสร้างพื้นที่ในการเล่น (Playing field) และการสร้างวัฒนธรรมที่จะส่งเสริมความเป็น Grit (Culture)
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หากมาตรวัดทั้ง 10 ข้อที่ใช้วัด Grit นี้สามารถแยกแยะคนที่ประสบความสำเร็จออกจากคนที่ประสบความล้มเหลวได้แล้ว การค้นพบนี้จะมีประโยชน์อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย หรือคนที่จะเข้าทำงาน ทิ่มากไปกว่านั้น ตัวผู้อ่านเองก็สามารถที่จะนำไปประเมินว่า เรายังมีจุดด้อยเรื่องใด และสามารถพัฒนาปรับปรุงจุดด้อยเหล่านั้น ซึ่งจะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงที่ผู้เขียนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้อย่างมากและแนวคิดที่ได้นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ก็มีพื้นฐานมาจากงานวิจัย ไม่ใช่เป็นเพียงความนึกคิดของผู้เขียนเท่านั้น หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมกับทุกคนที่อยากที่จะประสบความสำเร็จ รวมถึงคนที่ทำหน้าที่ในการคัดเลือกบุคลากรเพื่อเฟ้นหาคนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นการลดทั้งต้นทุนและเวลาอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือเล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่ติดอันดับ Best Seller และได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
บรรณานุกรม
Duckworth, A. (2016) Grit: The Power of Passion and Perseverance, New York: Scribner.
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho