หนังสือเล่มนี้แปลมาจากหนังสือที่ชื่อว่า Poor Economics ที่เขียนโดย Abhijit Banerjee และ Esther Duflo เป็นหนังสือที่ตีแผ่เรื่องราวของคนจนในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ ผมนำข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้มาสรุปได้ 7 ข้อดังต่อไปนี้ครับ
1. คนจนมักจะขาดข้อมูลที่สำคัญและมีความเข้าใจผิด ๆ เช่น ไม่อยากให้ลูกฉีดวัคซีน หรือไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษา หรือไม่ได้สนใจเรื่องการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรม หรือแม้กระทั่งเข้าไม่ถึงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสุขภาพ ทำให้เขามักจะตัดสินใจผิด ๆ
2. หากเราต้องการให้คนจนเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เราควรจะต้องทำให้น่าสนใจ เช่น ให้ข้อมูลผ่านละครหรือรายการโทรทัศน์เป็นต้น
3. คนจนมักจะต้องรับผิดชอบในงานต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้เขาอาจจะตัดสินใจได้แย่กว่าคนรวย ที่มักจะมีผู้ตัดสินใจที่ถูกต้องให้เขาจำนวนมาก เช่น เขาไม่มีน้ำดื่มสะอาดใช้ ถ้าเขาต้องการน้ำดื่มที่สะอาดเขาต้องสร้างน้ำดื่มแบบนั้นขึ้นเอง ก็ยิ่งทำให้งานเขาเยอะขึ้น การตัดสินใจเยอะขึ้น ซึ่งทำให้คุณภาพการตัดสินใจของเขาแย่ลง
4. คนจนกลับเป็นกลุ่มคนที่อาจจะต้องจ่ายหลายอย่างในราคาแพงกว่าคนรวย เช่นอยากได้สินเชื่อ เขากลับเป็นคนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่าคนรวย อยากจะซื้อประกัน ก็มีประกันจำนวนที่ไม่มากนักให้เขาได้เลือก
5. รัฐบาลควรเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์คนจนให้มากขึ้น หรือหากไม่มีเอกชนไหนทำ ก็อาจจะต้องทำเอง เช่นการอุดหนุนเบี้ยประกัน หรือการจ่ายคูปองให้นักเรียนได้เรียนทั้งโรงเรียนเอกชนและรัฐบาล หรือการให้ธนาคารลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้กับคนจน
6. ประเทศที่ยากจนอาจจะไม่ได้ล้มเหลวเพราะความยากจน หรือ เพราะผ่านประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายเสมอไป แต่บางครั้งเกิดจากการออกแบบนโยบายที่ผิดพลาด ซึ่งประชาชนอาจจะต้องรวมตัวกันเพื่อตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
7. หลายครั้งความล้มเหลวเกิดจากความคาดหวังสร้างความจริง (Self-fulfilling prophecy) เช่น หากเด็กได้ยินครูหรือพ่อแม่บอกว่าเขาโง่เกินไปที่จะเรียน เขาก็จะเลิกเรียน
ก็เป็นหนังสือที่ทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของความยากจนได้เป็นอย่างดีอีกเล่มหนึ่งทีเดียวครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit