ถ้าให้จัดอันดับหนังสือแห่งปี ผมว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะได้ทั้งอันดับหนังสือที่ผมชอบมากที่สุด และ หนังสือที่ผมประหลาดใจมากที่สุด
เรื่องหนังสือที่ชอบ คือเนื้อหาหนังสือเล่มนี้ ผมว่าเขียนได้ดีมาก ๆ (ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าตรงใจผมก็ได้นะครับ) และโดยไม่ได้เป็นคำแนะนำลอย ๆ แต่มีงานวิจัยต่าง ๆ มาสนับสนุนและมีกรณีศึกษาจำนวนมาก
แต่เรื่องของความประหลาดใจ คือ ผมไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึงหนังสือเล่มนี้สักเท่าไร (อาจจะมีก็ได้ แต่ผมไม่ได้ยินจริง ๆ ครับ) แต่อ่านแล้วแบบ เอ ทำไมมันถึงไม่ดังระเบิดนะ (เขียนแบบนี้ ไม่ใช่ว่าหนังสือไม่มีใครรู้จักเลยนะ คือดูจากคนรีวิวใน Amazon ก็เยอะอยู่เหมือนกัน)
เอาล่ะครับ แล้วหนังสือเล่มนี้เขียนถึงเรื่องอะไร
สรุปได้ง่าย ๆ ว่าเขาเขียนถึงกฏแห่งความสำเร็จ 5 ข้อครับ
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเบะปาก อีกละ พวก How-to ขายฝัน ลองอ่านต่อดูนะครับ (อ่านแล้วอาจจะเบะปากเหมือนเดิม ก็ไม่เป็นไรครับ)
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Professor Albert-Laszlo Barabasi ต้องบอกว่าก็ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ที่ซื้อมาเพราะอ่านคำนิยมปกหลังที่เขียนโดยนักเขียนคนโปรดผมคือ Professor Nassim Nicholas Taleb ผู้แต่งหนังสือชื่อดังที่ชื่อว่า Black Swan
อ่านแล้วที่ผมชอบคือ เขาไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็เขียนกฏแห่งความสำเร็จขึ้นมา 5 ข้อลอย ๆ แต่มีข้อมูลงานวิจัย Back Up เต็มไปหมด
ก่อนที่จะพูดถึงกฏความสำเร็จ 5 ข้อนี้ หนังสือเล่มนี้ ให้นิยามความสำเร็จไว้ก่อนว่า ความสำเร็จที่หมายถึงในหนังสือเล่มนี้ คือความสำเร็จในสายตาของคนอื่นนะครับ เช่นการได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง เช่น ถ้าเป็นนักวิชาการก็หมายถึงการได้รางวัล Nobel Prize หรือถ้าเป็นดาราก็ได้รับรางวัล Oscar อะไรแบบนั้น
เขาบอกว่าเขาไม่ได้รวมความสำเร็จส่วนบุคคล เช่น มีคนเคยเดินไม่ได้ แล้วมีแรงบันดาลใจบางอย่างทำให้กลับมาเดินได้ อะไรแบบนี้ เขาบอกว่าจริง ๆ อันนี้ก็เป็นความสำเร็จ แต่เผอิญมันไม่สามารถเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ เลยต้องจำกัดไว้เฉพาะนิยามความสำเร็จในมุมมองของคนอื่น ๆ แทน
เอาล่ะครับ แล้วกฏความสำเร็จ 5 ข้อนั้นมีอะไรบ้าง มาอ่านกันต่อครับ
กฎข้อที่ 1 ความสามารถนำไปสู่ความสำเร็จ แต่ถ้าเราวัดความสามารถกันไม่ได้ เครือข่ายจะนำไปสู่ความสำเร็จ
กฎข้อนี้อธิบายง่าย ๆ แบบนี้ว่า ถ้างานที่เราทำนั้นมันวัดกันได้ชัดเจนว่าใครเก่งหรือไม่เก่ง ความสำเร็จของงานนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าเราทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่นนักกีฬา เราวัดกันได้ชัดเลยว่าใครเป็นนักกีฬามืออาชีพ ใครเป็นมือสมัครเล่น เช่นถ้าเรายกตัวอย่างของนักวิ่งมาราธอนก็ได้ นักวิ่งสถิติโลกอย่างคิปโชเก้ ก็ย่อมเป็นที่รู้จักมากกว่า นักวิ่งมาราธอนโนเนมแน่นอน เพราะในกรณีนี้ การวิ่งมาราธอนมันวัดออกมาเป็นเวลาที่ชัดเจนมาก ๆ ว่าใครวิ่งได้เร็ว ได้ช้าอย่างไร
แต่ถ้างานของเราเป็นงานที่แยกออกได้ยากว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี เช่น งานศิลปะ อย่างน้อยมันก็ยากสำหรับคนทั่วไปที่จะดูออก (เอาตรง ๆ เอางานของนักศึกษาด้านศิลปะ กับ Van Gogh มาให้ผมดู ผมอาจจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอะไรดีกว่ากัน) ถ้าเป็นกรณีนี้ ความสำเร็จจะขึ้นกับเครือข่าย
เครือข่ายคืออะไร ในหนังสือได้ยกตัวอย่างงานศิลปะนี่แหละครับ เขาบอกว่า งานไหนจะได้รับการยอมรับมาก มันขึ้นอยู่กับว่า งานนั้นถูกวางแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไหน ถ้าได้ไปวางในพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เป็นศูนย์กลางของเครือข่าย (อธิบายง่าย ๆ ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่คนนิยมก็ได้ครับ เพื่อความง่ายในการทำความเข้าใจ) งานนั้นจะดูดีขึ้นทันที
ผมว่าข้อนี้น่าสนใจนะครับ กลับมาที่งานของเรา คำถามคือมันวัดกันง่ายไหมว่าใครเก่งกว่าใคร ถ้ามันชัดมากแบบนักกีฬา เราแค่มีหน้าที่ทำให้ตัวเราเก่งขึ้นก็พอ แต่ถ้ามันเริ่มไม่ชัดเจน แบบงานศิลปะ หน้าที่ของเรา (หากเราอยากจะประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จัก) คือ เราต้องพยายามหาศูนย์กลางของเครือข่ายของเราให้เจอ และเอางานเราไปอยู่ในเครือข่ายนั้นให้ได้ (คือผลงานก็คงต้องดีระดับหนึ่งแหละครับ ไม่ใช่ว่างานไม่ดีเลย อย่างงานศิลปะก็คงต้องใช้ได้ด้วย แต่แทนที่จะไปวางแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ก็ไปในที่ที่คนรู้จักหน่อยแบบนั้น)
ใน Scale ที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย เขาก็เลยแนะนำว่า เราอยากสำเร็จ เราไปอยู่เมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นศูนย์กลางของเครือข่าย เช่น London Paris New York อะไรแบบนี้ จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า ไม่ใช่อะไรหรอกครับ คือ มันจะมีโอกาสที่คนจะเห็นผลงานของเราเยอะกว่านั่นเอง
กฎข้อที่ 2 ความสามารถจำกัด แต่ความสำเร็จไม่จำกัด
กฏข้อนี้มีความหมายอย่างนี้ครับ คือความสามารถของคนเราในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมักจะมีข้อจำกัดอยู่แล้ว ดังนั้นการกระจายตัวจะเป็นลักษณะการกระจายตัวแบบปกติ (ที่เป็นรูประฆังคว่ำ) คือในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะมีคนที่แย่มาก ๆ กับเก่งมาก ๆ จำนวนไม่เยอะ คนส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงของค่าเฉลี่ย แต่การกระจายตัวของความสำเร็จจะไม่เป็นอย่างนั้นครับ แต่จะเป็นลักษณะของการกระจายตัวที่เราเรียกว่า Power Law แปลว่าคนที่สำเร็จก็จะสำเร็จมาก ๆ สุดขีดไปเลย แต่หลังจากนั้นความสำเร็จก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว สำหรับคนที่เหลือ
ยกตัวอย่างครับ อย่างความสามารถในการตีกอล์ฟของนักกอล์ฟอาชีพ เราจะเห็นว่า ก็จะมีนักกอล์ฟที่เก่งมาก ๆ อย่างไทเกอร์ วูดส์ เพียงไม่กี่คน และที่แย่มาก ๆ ก็ไม่กี่คน นักกอล์ฟอาชีพส่วนใหญ่ก็จะมีความสามารถในระดับค่าเฉลี่ยการกระจายตัวจึงมักจะเป็นระฆังคว่ำ แต่เราจะไม่เห็นคนที่เก่งมาก ๆ แบบตี Hold In One (คือตีครั้งเดียวลงหลุมเลย) ได้ในทุกหลุมใช่ไหมครับ อันนี้แปลว่า ความสามารถของนักกอล์ฟนั้นจำกัด
แต่ถ้าเรามองถึงรายได้ ซึ่งเป็นตัววัดหนึ่งของความสำเร็จ เราจะเห็นอีกรูปแบบหนึ่งเลยครับ คือนักกอล์ฟอย่างไทเกอร์ วูดส์ จะมีรายได้สูงลิบลิ่ว แบบแทบจะเรียกว่าไม่มีเพดานเลยก็ว่าได้ ในขณะที่ส่วนใหญ่ของนักกอล์ฟที่เหลืออาจจะได้รายได้น้อยมากเมื่อเทียบกับไทเกอร์ วูดส์ ซึ่งอันนี้แหละครับที่เรียกว่า Power Law
ด้วยกฏข้อนี้ จึงไม่แปลกที่คนที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกจะเป็นคนที่ได้รับชื่อเสียง เงินทองจำนวนมากมาย ต่างจากคนที่ได้เหรียญเงินอย่างลิบลับ ทั้งที่ความสามารถอาจจะต่างกันเพียงนิดเดียว คนรู้จักคิปโชเก้ ในฐานะนักวิ่งมาราธอนสถิติโลก แต่ถามว่า คนที่ได้สถิติเป็นอันดับที่ 2 เวลาห่างจากคิปโชเก้อาจจะแค่นิดเดียว มีชื่อว่าอะไร คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำไปครับ
กฏข้อที่ 3 ความสำเร็จในช่วงเวลาก่อนหน้า x คุณภาพ = ความสำเร็จในอนาคต
ถ้าถามคำถามว่า คิดว่านวนิยายเล่มใหม่ของ JK Rolling ผู้เขียนหนังสือ Harry Potter ถ้ามีออกมาจะติดอันดับขายดีไหม
ผมว่าคำตอบส่วนใหญ่คือ ก็แน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้าจะถามว่า แล้วที่ขายดีเพราะอะไร เป็นเพราะ ชื่อ JK Rolling ผู้เขียนหนังสือ Harry Potter หรือเป็นเพราะฝีมือของ JK Rolling เอง อันนี้น่าคิดครับ
ผมเดาเอาว่าคนส่วนใหญ่น่าจะตอบว่า คงเพราะชื่อมั้ง ก็ถูกครับ แต่ถูกเพียงครึ่งเดียว ความสำเร็จในอนาคตที่จะเกิดขึ้นมันมาจาก 2 ทางครับ คือความสำเร็จในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ กับ คุณภาพของของสิ่งนั้น
ในกรณีของ JK Rolling ที่ถาม ผมว่านิยายเล่มใหม่ก็คงดังแหละ เพราะความสำเร็จของ JK Rolling ก่อนหน้านี้มันมีมากจริง ๆ แต่ถ้านิยายเล่มใหม่เราอ่านแล้ว มันไม่สนุกเลย คุณภาพไม่ดีเหมือนเดิม ถามว่ามันจะดังไปมากไหม ก็ตอบว่าคงยาก
ในหนังสือเล่มนี้เล่าตัวอย่างว่า Project ที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ใน Kickstarter ซึ่งเป็น Platform ที่ให้คนนำเสนอ Idea เพื่อขอเงินลงทุน มักจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือ “ในช่วงแรก” จะมีคนเข้ามาให้เงินลงทุนมาก และเมื่อมีคนเข้ามาให้เงินลงทุนมาก (ความสำเร็จในอดีต) มันก็ยิ่งดึงดูดให้คนเข้ามาให้เงินลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ (ความสำเร็จในอนาคต)
ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับวงการหนังสือเหมือนกันครับ เช่น ถ้าเราออกหนังสือมา แล้วมีคนกลุ่มหนึ่งชอบมาก ๆ แล้วซื้อหนังสือเยอะ ๆ ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ทำให้หนังสือเราติดอันดับ 1 ของหนังสือขายดี สิ่งนี้แหละที่จะดึงให้คนเข้ามาซื้อหนังสือเราต่อไปเรื่อย ๆ
งั้นแปลว่า ช่วงแรกเรา Promote หนัก ๆ ให้หนังสือติด Best Seller เราก็จะประสบความสำเร็จแล้ว แค่นั้นหรือ ไม่ใช่ครับ อันนี้แค่องค์ประกอบแรก สิ่งที่จะทำให้ความสำเร็จมันต่อเนื่องคือ “คุณภาพ” ด้วยครับ เช่นกรณีของหนังสือ ถ้าตอนแรกหนังสือเราติด Best Seller แล้ว คนก็เริ่มมาซื้อเรื่อย ๆ แต่พอเอากลับไปอ่านแล้วพบว่าแย่มาก ความสำเร็จเราก็จะหายไปทันที เพราะคนก็จะไม่บอกต่อ หรือแย่กว่านั้นอาจจะบอกต่อในทางลบก็ได้ว่าอย่าหลวมตัวไปซื้อนะ หนังสือไม่ได้เรื่องเลย
อีกคำถามหนึ่งคือ แล้วถ้าเราเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง โดยที่ตัวเราก็ยังไม่ดัง ไม่เป็นที่รู้จัก แถมทำไปตอนแรก ๆ คนก็ไม่สนใจ แบบนี้แปลว่าเราจะไม่มีทางสำเร็จเลยน่ะสิ คำตอบคือ ไม่ครับ เรายังมีโอกาสสำเร็จอยู่ แต่เนื่องจากเราไม่มีปัจจัยแรก (ความสำเร็จในอดีต) มาสนับสนุน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำต้องมีคุณภาพมาก ๆ ครับ
ตัวอย่างมีให้เห็นครับ อย่างงานวิจัยของไอน์สไตน์ ในช่วงแรก ๆ ก็ไม่ได้มีคนสนใจ และไอน์สไตน์ก็ไม่ได้มีคนรู้จัก แต่งานของไอน์สไตน์มันมีคุณภาพมาก ๆ จนวันหนึ่ง พอคนเริ่มเข้ามาอ่าน เริ่มทำความเข้าใจ มันก็เลยจุดกระแสขึ้นมาได้ และพอไอน์สไตน์ดังขึ้นมา คราวนี้ ความสำเร็จในอดีตกับคุณภาพของงาน จะร่วมกันสองแรงทำให้เกิดความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
กฏข้อนี้ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำอะไร พยายามทำ 2 อย่างครับ คือ 1) ช่วงที่เราออกผลงานมา ทำให้เกิดกระแสให้เร็วที่สุด และ 2) งานควรจะมีคุณภาพมาก ๆ เช่นเดียวกัน ถ้าทำพร้อมกันได้เราจะสำเร็จแน่นอนครับ
กฏข้อที่ 4 ความสำเร็จของทีมต้องการความหลากหลายและความสมดุลภายในทีม แต่ส่วนใหญ่แล้วคน ๆ เดียวจะได้รับ Credit จากความสำเร็จนั้น
กฎข้อนี้มีความน่าสนใจครับ ส่วนแรกคือเรื่องความสำเร็จของทีม เราสังเกตกันไหมครับ ทีมกีฬาที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ มักจะไม่ใช่ทีมที่มีนักเตะเก่งสุด ๆ ในทุกตำแหน่ง แต่จะเป็นทีมที่มีความหลากหลาย และความสมดุล ในขณะเดียวกันทีมที่รวมดารามักจะไม่ค่อยสำเร็จสักเท่าไร
โดยจิตวิทยาแล้วทีมรวมดารามักจะแข่งกันเก่ง แข่งกันดัง มันก็เลยไปด้วยกันไม่รอด ในขณะทีมที่มีความหลากหลาย อาจจะมีคนเก่งมาก ๆ เพียงคนเดียวแต่เป็นผู้นำ ก็จะสามารถทำให้ทั้งทีมประสบความสำเร็จไปด้วย
แต่อีกอย่างที่เกิดขึ้นคือ ความสำเร็จที่เกิดจากทีมนั้น มักจะไปอยู่กับคน ๆ เดียวนี่แหละ เราทั้งโลกบอกว่า Steve Jobs เป็นอัจฉริยะ แต่เราไม่ค่อยพูดว่า ทีมงานของ Apple เป็นอัจฉริยะ ทั้ง ๆ ที่ผลงานที่ออกมาทั้งหมด ไม่มีทางเลยที่ Steve Jobs คนเดียวจะทำออกมาได้
เหตุผลง่าย ๆ ที่หนังสือเล่มนี้บอกก็คือ ก็เพราะว่าความสำเร็จมันขึ้นอยู่กับ “ความคิดเห็น” มากกว่า “ความสามารถ” นั่นเอง หรือแปลว่า ก็คนส่วนใหญ่ “คิดว่า” Steve Jobs คืออัจฉริยะ ชื่อเสียงจึงไปเกิดกับ Steve Jobs มากกว่าไปเกิดกับทีมงานในบริษัท Apple ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วก็ใช่ครับ Steve Jobs เก่ง แต่ถ้านับเป็น % แล้วอาจจะไม่ได้มากกว่าความเก่งรวมกันของคนที่เหลือของบริษัท Apple เลย หรืออาจจะมากกว่า แต่ก็ไม่ได้มากเท่าที่เราให้ Credit Steve Jobs กัน
กฏข้อที่ 5 ถ้าเราพยายามไม่หยุด ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้เสมอในทุกช่วงเวลา
ในหนังสือเล่มนี้เล่าให้ฟังว่า ถ้าเราดูงานของนักวิชาการส่วนใหญ่ งานที่ได้รับการอ้างอิงสูงสุด (แปลว่ามีความสำเร็จมาก) มักจะเป็นงานที่นักวิชาการเหล่านั้นทำในช่วงอายุก่อน 30 ปีทั้งสิ้น
พออ่านแบบนี้ ผมท้อใจนิดหน่อยครับ เพราะคิดว่า โห แต่ตอนนี้ผมอายุเกินไปตั้งเยอะแล้ว คงหมดหวังที่จะทำงานในระดับขั้นสุดยอดได้แล้ว เพราะข้อมูลมันยืนยันแบบนั้น (เอาส่วนตัวผมก็ได้นะครับ งานวิจัยของผมที่ได้รับการอ้างอิงสูงสุดในปัจจุบัน เป็นงานที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ตอนผมอายุ 30+ โน่นแหน่ะครับ)
แต่เดี๋ยวก่อนครับ… หนังสือยังบอกอีกว่า อย่าท้อใจ (เหมือนจะรู้ใจคนอ่าน) เหตุผลเดียวที่ทำให้งานที่สุดยอดส่วนใหญ่ของนักวิชาการเกิดขึ้นก่อนเขาอายุ 30 ปี เป็นเพียงเพราะว่า ก็นักวิชาการส่วนใหญ่ผลิตผลงานเยอะมากในช่วงเวลานั้น หรือแปลง่าย ๆ ว่า ก็คุณผลิตผลงานเยอะ คุณก็มีโอกาสได้ผลงานสุดยอดเยอะตามนั่นเอง
หลังจากนั้นก็มีบทพิสูจน์ว่า มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่สามารถผลิตผลงานสุดยอดในช่วงเวลาที่เขาอายุเยอะ ขอแต่เพียงอย่าหยุดทำเท่านั้น ความสำเร็จมันเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุนั่นแหละ
ข้อนี้คิดแล้วก็จริงอีกครับ เพราะถ้าเราลองดูวิชาชีพอาจารย์ เราจะพบว่า พออาจารย์ได้เป็นศาสตราจารย์ และมีอายุมากขึ้น หลายคนหันเหไปทำงานบริหาร (ซึ่งก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดนะครับ) นั่นก็หมายความว่างานวิจัยที่ออกมาก็จะน้อยลงไปด้วย และก็แปลว่าโอกาสที่ทำงานวิจัยขั้นสุดยอดก็จะน้อยลงตาม แต่ก็มีอาจารย์บางกลุ่มที่ยังคงทำงานวิจัยใน Field นั้น ๆ ต่อไป และก็ยังสามารถแสดงผลงานขั้นสุดยอดออกมาอย่างต่อเนื่อง
หรือไม่จำเป็นต้องอยู่ในวิชาชีพของอาจารย์ก็ได้ครับ เราเห็นคนที่ทำธุรกิจในตอนอายุเยอะ ๆ แล้วสำเร็จก็มีไม่น้อย เช่น Classic Case อย่างผู้พัน Sanders ที่สร้าง KFC มาหลังจากอายุเลยวัยเกษียณมาด้วยซ้ำ
เอาเป็นว่า กฏแห่งความสำเร็จข้อนี้ ให้ข้อคิดว่า เราสำเร็จได้ในทุกช่วงเวลาแหละครับ
แถมให้อีกนิดครับ ในกฏข้อนี้ เขามีอธิบายด้วยว่า ความสำเร็จ (S) = ความสามารถ (Q) x มูลค่าของความคิด (r) แปลว่าตราบใดที่เราคิด Idea ใหม่ ๆ ที่มันมีมูลค่าสูงได้ (ซึ่งเราก็น่าจะคิดได้ตลอดช่วงอายุของเรา) และ เรามีความสามารถที่จะทำสิ่งนั้น (ซึ่งโดยวิชาชีพส่วนใหญ่ เราก็จะสามารถทำได้ ยกเว้นพวกนักกีฬา ซึ่งพออายุมาก ความสามารถทางกายภาพคงลดลงไป) เราก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้เสมอ
โดยสรุปแล้วหนังสือเล่มนี้ สำหรับผม เป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ เล่มหนึ่ง และเป็นเล่มที่ผมใช้เวลาเขียนรีวิวยาวที่สุดเล่มหนึ่งเลยก็ว่าได้
หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ ถ้าใครเห็นว่าเป็นประโยชน์กับท่านอื่นด้วยจะช่วย Share ก็จะขอบพระคุณยิ่งครับ (กำลังทดลองกฎข้อที่ 3 อยู่เหมือนกันครับ 555)
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify Youtube หรือ Blockdit