ZeeZcore OKRs Software

อีกหนึ่งคำถามที่เจออยู่เรื่อย ๆ คือในการทำ OKRs นั้น เราจำเป็นต้องมี Software เฉพาะทางไหม มีประโยชน์ไหม คำตอบคือ ถ้าถามว่า “จำเป็น” ไหม ผมจะตอบว่าไม่ถึงกับว่าจำเป็นต้องมี แต่ถามว่ามีประโยชน์ไหม ผมก็เชื่อว่ามีประโยชน์

มีหลายองค์กรที่ทำ OKRs แล้วไม่ได้ใช้ Software อะไรเลยก็มีครับ ระบบที่เขาทำก็เป็นการ Update กันผ่าน Board หรือกระดานที่วางไว้ในห้องที่คนทำงานเห็นกัน กลุ่ม Startup เล็ก ๆ ก็ทำกันแบบนี้เยอะครับ แต่พอองค์กรใหญ่ขึ้นมาหน่อย การเขียนบน Board ก็อาจจะเริ่มยากและมองเห็นกันไม่ค่อยทั่วถึง (ยกเว้นว่าจะมีบอร์ดที่ใหญ่มาก) บางองค์กรก็เริ่มใช้พวกเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การใช้พวก Google Doc หรือ Google Sheet ที่คนทำ OKRs สามารถจะ Share OKRs ของตัวเองให้กับคนอื่น ๆ ได้เห็น

แต่ข้อจำกัดของ Google Doc หรือ Google Sheet (รวมถึงแบบอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน) คือบางทีมันอาจจะดูความเชื่อมโยงระหว่าง OKRs ได้ยาก คือ Google Doc หรือ Google Sheet ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ OKRs โดยเฉพาะ ถามว่าพอได้ไหม ก็พอได้ แต่จะให้ตอบโจทย์ 100% ก็อาจจะยังไม่ใช่

หลายองค์กรก็อาจจะให้ Programmer ของตัวเอง สร้าง OKRs Software มาใช้เป็นการภายในเลย มีระบบติดตาม เชื่อมโยงอะไรแบบนี้ แต่เชื่อว่าหลายองค์กรก็คิดว่าเราไม่ได้มี Programmer มาช่วยทำตรงนี้ หรือถึงมีก็คิดว่าไปทำงานอื่นดีกว่า ก็เลยเป็นที่มาของการไปใช้บริการ OKRs Software ซึ่งมีผู้ให้บริการมากพอสมควร

ส่วนตัวผมพอเริ่มต้นศึกษา OKRs ก็ศึกษาพวก Software นี้ควบคู่กันไปครับ เพราะมีหลายองค์กรก็ถามถึง แต่ผมมีติดอยู่ 2 ประเด็น คืออย่างแรกมี Software หลายเจ้าเลย ไม่ค่อยตอบสนองต่อคำถามหรือข้อสงสัยเราสักเท่าไร คือผมสอบถามไป อยากขอทดลองใช้อะไรแบบนี้ มีหลายที่เลยที่เงียบ ไม่ตอบกลับ คาดว่าอาจจะเป็นเพราะเขามองว่าประเทศเราเล็กก็ได้มั้งครับ หรืออาจจะยังไม่ได้มาโฟกัสกับการขายในประเทศเรา

ประการที่ 2 คือบางเจ้าเขาให้ทดลองใช้นะครับ แต่พอดูราคาถ้าเราอยากจะใช้จริงจัง ก็แพงเอาเรื่องอยู่ คือมีหลายองค์กรในไทยที่ถามผมเรื่องนี้ ผมก็บอกชื่อ Software เหล่านี้ไปให้เขาลองไปติดต่อดูนะครับ ก็ไม่รู้ว่าเขาตกลงใช้บ้างหรือเปล่า อาจจะพอมีบางแห่งที่ผมพอรู้ว่าใช้อยู่ก็มักจะถาม Feedback อยู่เรื่อย ๆ ว่าดีไหม อะไรแบบนี้ครับ

แต่พอโดนถามเยอะ ๆ เข้า ก็เลยมีความคิดว่า ถ้างั้นเราลองมาทำ OKRs Software ดีไหม เอาเป็นแห่งแรกของประเทศไทยเลย ประกอบกับสนใจอยากลองทำ Startup ด้วย อ่านหนังสือมาตั้งเยอะน่าจะลองทำดู

ต้องบอกว่าเป็นประสบการณ์ล้ำค่ามาก แค่เริ่มต้นหาทีมก็เหนื่อยละ ใช้เวลาเป็นปีนะครับ เพราะผมไม่ได้มีความรู้เรื่อง Programming เลย ก็สอบถามไปยังคนที่อยู่ในวงการ Startup เขาก็บอกว่าอาจารย์หา CTO ไม่ง่ายหรอก

จนวันหนึ่งได้เจอเพื่อนคนหนึ่ง และเพิ่งทราบว่าเขามารวมตัวกันกับเพื่อน ๆ ที่มีคนเก่ง ๆ ทำพวก Data Analytics แต่พอผมคุยว่าผมอยากทำ OKRs Software เขาก็เสนอตัวว่าทีมเขาน่าจะช่วยทำได้นะ เอาล่ะ คราวนี้ได้เริ่มต้นสักที

แต่ต้องบอกว่านี่แค่จุด Start นะครับ ผมเป็นอาจารย์ประจำ ยอมรับเลยว่าแทบไม่มีเวลามาดู Project นี้ แต่ถ้าผมไม่ดูแล้วใครจะดูจริงไหม เป็น Founder มันก็ต้องใช้เวลา อันนี้มัน Part-time Founder อีกต่างหาก (อาจจะมี Startup ไม่มากนักที่จะมีลักษณะนี้ เพราะถ้ามีอาจจะเจ๊งกันหมดแล้วก็ได้ ถ้า Founder ไม่มีเวลาให้สักขนาดนี้) แต่ก็พยายามแบ่งเวลามาออกแบบ OKRs Software ที่เราอยากเห็น

จำได้ว่านัดคุยกันเรื่อย ๆ ในร้าน Starbucks ไม่มี Office อะไรทั้งนั้นครับ เรียกว่า Lean มาก ๆ หลังจากนั้นทีมของเพื่อนผมก็เริ่มไปเขียน Program แล้วเอามานั่งคุยกัน ผมว่ากระบวนการสร้างนี้ก็กินเวลาเป็นปีอีกเช่นกัน ถ้าเป็น Startup ทั่วไปคงเจ๊งแล้วมั้งครับ เพราะเขาต้องแบกรับต้นทุนเงินเดือนพนักงานอะไรแบบนี้ แต่ผมไม่เจ๊งครับ เพราะ Outsource ไปหมดเลย แต่ต้องแลกกับการใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะได้ Prototype ของ OKRs Software นี้ออกมา

ตอนนั้นก็คิดชื่อ Software ด้วยนะครับ คิดอยู่หลายชื่อแต่มาลงเอยด้วยชื่อ ZeeZcore เหตุผลแรกคือ มันเป็นคำพ้องเสียงของคำว่า Z-Score ที่ถ้าใครเรียนสถิติมาน่าจะรู้จักว่าคือคะแนนมาตรฐานและ OKRs ก็เป็นการวัดผล มีคะแนนอะไรทำนองนี้ อีกประการหนึ่งคือคำนี้ยังพ้องเสียงกับคำว่า See Score ที่อาจจะแปลว่าได้เห็นคะแนนด้วย และเห็นแนว Startup เขาก็ไม่ชอบเขียนออกมาตรง ๆ คำ ก็ออกมาเป็น ZeeZcore นี่แหละ แถมคำนี้ยังไม่มีใครไปจด Domain Name อีก ก็ลงล็อคเลย

คราวนี้ตอนแรกคิดว่า Prototype เสร็จแล้ว อีกไม่นาน Software น่าจะเสร็จ ไม่เลยครับ ลองไปใช้ดู มีอะไรหลายอย่างติดขัดอยู่ ก็เลยมีการปรับแก้ เชื่อไหมครับแค่ปรับแก้ก็เป็นปี เพราะทั้งผมและทีมต่างคนก็ต่างมีงานประจำกัน กลายเป็น ZeeZcore เป็นงาน Part-time ด้วยกันทั้งคู่ จริง ๆ เอาประสบการณ์นี้มาเขียนหนังสือได้อีกเล่มชื่อ Part time Startup ก็ได้เลยนะครับ

ปรับแก้จนพอใจแล้ว จะเรียกว่าเป็น Minimum Viable Product (MVP) ก็ว่าได้ (บอกแล้วว่าทำตามตำราเลย) คราวนี้ถึงเวลาจะให้ User มาลองใช้แล้ว ก็เลยประกาศใน Page เลยว่า ใครสนใจอยากใช้ OKRs Software ลงทะเบียนมาใช้ได้ฟรีเลยนะ

เชื่อไหมครับมีคนลงทะเบียนมาหลายร้อยคนแน่ะ ดีใจนะครับที่มีคนสนใจเยอะกว่าที่คิด ตอนแรกคิดว่าหลักสิบก็เยอะแล้ว แต่ปัญหาคือเวลาใช้งาน OKRs Software มันมีค่าใช้จ่ายเรื่อง Server ซึ่งผมก็เช่ามา คืออะไรที่ทำเป็นต้นทุนผันแปร ผมทำหมด เพราะอยากให้ Lean ที่สุด คือไม่ต้องมีการลงทุนเยอะแยะ

แต่ปัญหาคือต้นทุนที่ให้คนทดลองใช้คือเยอะมาก เงินส่วนตัวล้วน ๆ ครับ ไม่มี Investor ที่ไหนเลย 555 สุดท้ายก็ต้องปิดการทดลองไปหลังจากเปิดให้ใช้ฟรี 2-3 เดือนได้มั้งครับ เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว แต่ก็ได้ Feedback ดี ๆ มาพอสมควร

Feedback อันหนึ่งที่ได้มาคือเรื่อง UX/UI ใครอยู่ในวงการคงเข้าใจแหละครับ UX คือ User Experience ส่วน UI ของ User Interface คือแปลความหมายง่าย ๆ คือมีข้อคิดเห็นว่า OKRs Software ผมไม่สวย และใช้แล้วมีบางปุ่มกดยาก งง อะไรแบบนี้

เอาอีก คราวนี้ไปหาคนที่เก่ง UX/UI มาจนได้ ก็ขอให้เขามาออกแบบ UX/UI ให้ ไม่ได้จ้างเป็นพนักงานประจำอะไรนะครับ จ้างเป็นงาน ๆ นี่แหละ ออกแบบเสร็จ เพิ่งรู้ว่าต้องมาเขียน Program เพิ่มให้มันเข้ากันได้อีก อันนี้ก็เกือบปี จนตอนสุดท้ายก็เสร็จจนได้ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะสัก 4 ปีได้

ก็เริ่มมีหลายองค์กรสนใจ และก็ได้ใช้ OKRs Software นี้อยู่นะครับ เอาเป็นว่าถ้าท่านสนใจลอง Inbox มาได้ที่ Page ZeeZcore ที่ตั้งขึ้นมาสำหรับเรื่อง OKRs Software นี้โดยเฉพาะ จะมีคนส่งรายละเอียดและตอบคำถามให้ได้ครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *