คำแนะนำที่ผมมักจะบอกสำหรับคนที่จะเขียน OKRs คือ OKRs คือ Brand ส่วนตัวของเรา นะครับ ผมได้แนวคิดนี้มา ระหว่างการบรรยายให้กับองค์กรหนึ่ง และให้เขาฝึกเขียน OKRs ครับ สิ่งที่ผมมักจะเจอคือมีหลาย ๆ คนก็เขียน OKRs แบบเป็นงานประจำทั่ว ๆ ไป หรือแม้กระทั่ง บางอย่างมันก็ไม่ค่อยท้าทายสักเท่าไร เช่น ตั้ง OKRs ว่าไตรมาสนี้จะไปพบลูกค้า 2 ครั้ง อะไรแบบนี้ (คือจริง ๆ วันเดียวก็จบครับ ไม่ต้องถึงไตรมาสหรอก แล้วมันก็เป็นกิจกรรมมากกว่าเป็น Key Results)
ซึ่งก็ไม่ว่ากันครับ เพราะเขาอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ หรือ แม้กระทั่งว่า เขายังคุ้นชินกับวัฒนธรรมการประเมินผลแบบเดิม ๆ ที่ว่า ถ้าถึงเป้าหมาย ก็จะได้โบนัส ดังนั้นจึงไม่แปลก ที่เขาก็ยังติดกับความพยายามที่จะให้ตั้งเป้าหมายให้มันง่าย ๆ ต่ำ ๆ ไว้ก่อน เรียกว่า ตั้งไว้ เผื่อว่า ยังไงก็คงจะถึงเป้าหมายนั้นไม่ยาก
ถึงแม้ว่า ผมจะบอกว่า OKRs มันจะไม่ถูกนำมาใช้แบบนั้น ตั้งเป้าหมายต่ำ ๆ แล้ว ถึงทำได้ 100% ก็ไม่ได้หมายความว่า จะได้โบนัสนะ ดังนั้น ตั้งให้มันท้าทายเลยดีกว่า ถึงจะทำไม่ถึง มันก็ยังดีกว่า ตั้งเป้าง่ายสุด ๆ แล้วทำถึงซะอีก แต่ก็นั่นแหละครับ พอถึงเวลาจริง หลายคนก็ยังติดวัฒนธรรมเดิม ๆ แบบนี้อยู่ หรือไม่ก็เลยไปทำนองว่า “อยากทำนะ แต่ มันต้องขึ้นกับฝ่ายโน้น ฝ่ายนี้” ซึ่งก็เข้าใจแหละครับ แต่มันก็เป็น Mindset ประเภทที่ผมเคยได้ยินมาจากอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งว่า มันมีคน 2 แบบ คือคนแบบ “ได้ ถ้า” กับ “ไม่ได้ เพราะ”
ไม่ว่ากันครับ ตรงนั้นก็ปรับกันไป แต่มาเรื่องที่อยากเล่าต่อ คือ ระหว่างการอ่านและ Comment OKRs ผมก็เกิดความคิดว่า เอ ถ้า มันเป็นตอนรับเข้าทำงาน แล้วหัวหน้าคนที่สัมภาษณ์ถามว่า “ไหนลองเสนอมาหน่อยสิว่า ถ้าเข้ามาตำแหน่งนี้ คุณคิดว่าจะทำอะไรบ้าง” ผมเชื่อว่า เขาจะไม่ตอบว่า “ไปพบลูกค้า 2 ครั้งต่อไตรมาส” แน่ ๆ เพราะถ้าแค่นี้ บริษัทอาจจะบอกว่า งั้นไม่ต้องจ้างก็ได้
ผมก็เลยคิดเลยเถิดไปว่า เอ ถ้าองค์กรอยากใช้ OKRs จริง ๆ ก็น่าจะเอา OKRs นี่แหละครับ เป็นหนึ่งในคำถามสัมภาษณ์ เล่าให้คนสมัครงานเข้าใจสักนิดว่า OKRs คืออะไร แล้วก็บอก OKRs ของหัวหน้าไป แล้วก็ถามว่า ถ้า OKRs ผมคือแบบนี้ ให้คุณลองตั้ง OKRs คุณมา อย่างหนึ่งที่ผมค่อนข้างมั่นใจคือ คำตอบแบบ โทรหาลูกค้า 2 ครั้ง ต่อไตรมาส รับรองไม่ใช่คำตอบแน่ ๆ
และถ้าเราจะรับเขาเข้ามา เขาจะมี OKRs ติดตัวเข้ามาเลยด้วยซ้ำ จริง ๆ แล้ว ถ้าเราเอาแนวคิดนี้มาใช้กับพนักงานที่ทำงานอยู่แล้วก็ยังได้นะครับ ดังนั้นเวลาเขียน OKRs ให้คิดซะว่า มันคือ Brand ของเรา มันคือ Resume ของเรา
ถ้าเราเขียนว่า “จะโทรหาลูกค้า 2 ครั้ง ต่อไตรมาส” แล้วบอกว่านี่คือ OKRs ของเรา มันกำลังจะบอกให้โลกรู้นะครับว่า นี่แหละคือสิ่งที่ฉันทำได้แค่นี้ สำหรับไตรมาสนี้ เราจะไม่ทำแบบนี้แน่ ๆ ใน Resume เราจริงไหมครับ เวลาเราจะใส่อะไรใน Resume เรา เราต้องแน่ใจว่ามันต้องมี Impact มาก ๆ จริงไหมครับ นั่นแหละครับ OKRs ก็เช่นกัน ลองคิดกับ OKRs แบบนี้ ผมคิดว่าเราจะได้ OKRs ที่ท้าทายขึ้นแน่ ๆ
บางที นะครับ บางที ผลของ OKRs มันอาจจะไม่สำคัญ เท่ากับการตั้ง OKRs ซะด้วยซ้ำ บางที พอตั้ง OKRs ส่งมา เราก็พอจะรู้แล้วล่ะว่า ใครมีศักยภาพแค่ไหน คิดว่าจริงไหมครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!