ที่มาของ OKRs

จะว่าไปถึงแม้ว่าหลายคนเพิ่งจะมารู้จักกับแนวคิดที่เรียกว่า OKRs แต่ OKRs ไม่ใช่แนวคิดใหม่เลย จริง ๆ ถ้าจะย้อนหลังกลับไปถึง ที่มาของ OKRs ก็คงบอกว่า OKRs เป็นแนวคิดที่ต่อยอดมาจากแนวคิดที่เรียกว่า Management by Objectives หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า MBOs

MBOs ถูกคิดค้นขึ้นโดย Professor Peter Drucker โดยได้ตีพิมพ์แนวคิดนี้ไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า The Practice of Management ตั้งแต่ปี 1954 โดยมีหลักการว่าวัตถุประสงค์ขององค์กรและหน่วยงานและพนักงานควรจะต้องมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน แนวคิดนี้ได้เริ่มแพร่กระจายไปยังหลายองค์กรในช่วงปี 1960s และก็มีหลายองค์กรที่ประสบความสำเร็จจากแนวคิดนี้จำนวนไม่น้อย

อย่างไรก็ตามเมื่อมีคนใช้มากเข้าก็เริ่มมีคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวคิดนี้ เช่น มีการจัดการแบบรวมศูนย์และสั่งการมากเกินไป บางแห่งไม่ค่อยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ให้เหมาะสม หรือสนับสนุนให้แต่ละคนมองแต่เฉพาะงานของตัวเองเป็นหลัก หรือแม้กระทั่งบางคนสนใจแต่ตัวเลขของตัววัดผลการปฏิบัติงานหลัก (KPIs) เพียงเท่านั้น และที่สำคัญที่สุด MBOs มักจะถูกโยงกับการประเมินผลพนักงานเพื่อขึ้นเงินเดือนหรือให้โบนัส จึงทำให้คนไม่ค่อยกล้าที่จะทำอะไรที่ท้าทาย

ต่อมาในช่วงปี 1970s Andy Grove ซึ่งเป็น CEO ของ Intel ก็ได้นำเอาหลักการของ MBOs มาปรับใช้กับองค์กร โดยเรียกว่า iMBOs หรือ Intel Management by Objectives โดยในแต่ละ Objective นั้นจะต้องมีตัววัดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ที่เรียกว่า Key Results เสมอ โดยรวมแล้วจะว่าได้ว่า OKRs ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจาก Intel เป็นที่แรก ๆ นั่นเอง

ต่อมา John Doerr ซึ่งได้เข้ามาทำงานที่ Intel ในปี 1975 ก็ได้มีโอกาสได้รู้จักและใช้ OKRs มาตลอด จนกระทั่งปี 1980 John Doerr ก็ได้ลาออกจาก Intel เพื่อไปร่วมบริหารบริษัท Kleiner Perkins ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเงินไปลงทุนใน Startup หรือที่เราเรียกกันว่า Venture Capital

หลังจากนั้นบริษัท Kleiner Perkins นี้เองที่ได้นำเงินไปลงทุนใน Startup ที่ชื่อว่า Google และในปี 1999 John Doerr ซึ่งเป็นผู้บริหารของ Kleiner Perkins ก็ได้แนะนำให้ Google นำเอาแนวคิด OKRs ไปใช้ในองค์กร ซึ่งผู้ก่อตั้ง Google ทั้ง 2 คน คือ Larry Page และ Sergey Brin ก็ได้นำเอาแนวคิดนี้ไปใช้ใน Google ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

และเป็น Google นี่เองที่ทำให้แนวคิด OKRs ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยในปี 2013 ที่ Rick Klau ที่เป็นผู้บริหาร Google Ventures ที่ได้ออกมาเล่าหลักการ OKRs ที่ใช้ใน Google ผ่าน VDO clip ซึ่งทำให้หลายบริษัทเริ่มให้ความสนใจใช้ OKRs กันอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทยนั้น ก็มี Startup ของไทยหลาย ๆ แห่งที่ได้รู้จักและนำเอา OKRs ไปใช้มานานพอสมควร ตั้งแต่ยุคที่คำว่า Startup เริ่มได้รับการแพร่หลายในไทย โดย Startup เหล่านี้ก็รู้จัก OKRs จาก Google หรือ Startup อื่น ๆ ในต่างประเทศ รวมทั้งมีผู้ก่อตั้งบางท่านก็เคยทำงานที่ Google ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้ OKRs มาแล้ว จึงได้นำเอา OKRs มาใช้ใน Startup ของตัวเอง

แต่ OKRs ได้รับความนิยมจริง ๆ ก็น่าจะอยู่ช่วงประมาณปี 2018 ซึ่งเราเริ่มเห็นองค์กรใหญ่ ๆ ประกาศที่จะนำเอาแนวคิดนี้มาใช้แทนระบบการวัดผลเดิม ๆ ขององค์กร รวมทั้งในปีนั้นเอง John Doerr ผู้นำเอา OKRs ไปให้ Google ใช้ก็ได้ออกหนังสือ Measure What Matters มา และก็ถูกแปลเป็นไทยในเวลาต่อมา ก็ยิ่งทำให้คนไทยรู้จัก OKRs มากขึ้น

ในปัจจุบัน OKRs กลายเป็นแนวคิดที่ไม่ได้ถูกใช้เฉพาะองค์กรธุรกิจเท่านั้น ยังถูกนำไปใช้ในภาคราชการหรือองค์กรที่ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไรจำนวนไม่น้อย แต่ก็เหมือนกับแนวคิดเรื่องอื่น ๆ คือก็มีที่นำไปใช้แล้วสำเร็จ ในขณะเดียวกันที่ใช้แล้วล้มเหลวก็มีไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ที่เล่าให้ฟังแค่อยากให้ทราบว่า OKRs ไม่ใช่แนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่ประการใด ถูกใช้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่า ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน แนวคิดนี้กลับมาได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งแปลว่า OKRs น่าจะตอบโจทย์การบริหารองค์กรในสมัยใหม่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *