แนวคิดเรื่อง Objectives and Key Results (OKRs) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
แนวคิดนี้เน้นเรื่องการตั้งเป้าหมายที่น้อยแต่โฟกัสไปกับสิ่งที่สำคัญสุด ๆ และจะเชื่อมโยงกับแรงจูงใจภายในในการทำงานมากกว่าการนำไปใช้ประเมินพนักงาน
ถึงกระนั้น มีหลายองค์กรที่ได้นำเอาแนวคิดนี้ไปใช้แล้วล้มเหลว เนื่องจากพอไม่ได้ผูกติดกับการประเมินผล ก็มีพนักงานส่วนหนึ่งรู้สึกว่าทำไปก็เท่านั้น ไม่รู้จะทำไปทำไม บางส่วนก็รู้สึกว่าเป็นงานเพิ่มที่ทำไปก็เหนื่อยฟรี ๆ เพราะไม่มีผลตอบแทนทางการเงินให้
ผมเลยมานั่งคิดว่า จะทำอย่างไรดีที่จะทำให้คนทำงานรู้สึกสนุกและมีความสุขกับการทำ OKRs เพราะจากงานวิจัยที่ผมทำ ผมพบว่าเมื่อคนสนใจที่จะทำ OKRs เขาก็จะมีความผูกพันในงานมากขึ้น และเมื่อมีความผูกพันในงานมากขึ้น เขาก็จะมีผลการทำงานที่ดีขึ้น
เลยอยากนำเสนอทางเลือกอันนี้ครับ ผมเรียกว่า One OKRs คล้าย ๆ ชื่อหนังสือ The One Thing ที่อยากให้เน้นเรื่องเดียว
ต้องบอกก่อนว่าแนวคิดนี้เป็นแค่ทางเลือกนะครับ ไม่ได้บอกว่าจะให้ไปรื้อระบบ OKRs ที่ท่านใช้อยู่ทั้งหมด ใครใช้อยู่แล้วดีอยู่แล้ว ก็ทำต่อไป แต่ใครที่ใช้ระบบ OKRs เดิม ๆ แล้วรู้สึกว่ายังไม่ใช่ลองฟังทางเลือกนี้กันครับ
อย่างแรก ผมอยากให้ทุกคนตั้ง OKRs มาแค่ชุดเดียว (ถึงเรียกว่า One OKRs) ไม่ต้องเยอะครับ แค่ชุดเดียวเท่านั้น
Objective จะเป็นอะไรก็ได้ที่ตอบโจทย์ขององค์กร แปลว่าองค์กรต้องคิดโจทย์ขึ้นมาก่อนว่าเราอยากจะเน้นด้านไหน ขอด้านเดียวพอ (ซึ่งถ้าองค์กรบอกว่าเรามีกลยุทธ์ 5 ด้าน เราจะเน้น 5 เรื่อง อันนั้นก็ทำไปตามปกติครับ ไม่ได้ห้ามทำ แต่ไม่ใช่ One OKRs)
Objective ของพนักงานทุกคนที่ทำ OKRs ไม่ต้องมีตัวเลข แต่จะต้องเป็นข้อความที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา
เพื่อความชัดเจน ผมขอยกตัวอย่างของผม สมมุติว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผมทำงานอยู่ มีจุดเน้นอยากจะเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเพื่อประชาชน” แล้วผมอยากเขียน One OKRs ผมก็อาจจะเลือก Objective ว่า “Being the happy and motivated professor” หรือแปลว่า “เป็นอาจารย์ที่มีความสุขและมีแรงจูงใจ”
คราวนี้มาถึง Key Results ที่จะเป็นตัววัดวัตถุประสงค์ว่าเมื่อไรเราจะทราบว่าเราประสบความสำเร็จ สำหรับ One OKRs ที่ผมเสนอ ขอให้มี Key Results แค่ 3 ข้อเท่านั้น ไม่มากกว่าหรือไม่น้อยกว่า
Key Result ข้อแรก ขอให้เลือกเรื่องที่เราชอบทำมากที่สุด ที่วัดวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้ อย่างผมผมชอบเขียนหนังสือมากที่สุด (จริง ๆ ผมก็ชอบสอน ชอบทำวิจัยนะครับ แต่เทียบแล้ว ผมชอบเขียนหนังสือมากที่สุด) ดังนั้นผมจะตั้ง Key Result ข้อแรกเป็น “ออกหนังสือที่ติดอันดับ Best Seller จำนวน 4 เล่มต่อปี”
Key Result ข้อที่ 2 จะเป็นเรื่องที่เราต้องการพัฒนาตัวเองให้ตัวเราเก่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ในเรื่องที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของเรา และเช่นเคยเราอาจจะอยากพัฒนาตัวเองสารพัดเรื่อง แต่ขอให้เลือกมาเรื่องเดียวที่จะนำมาใส่ใน Key Result (เรื่องอื่นอยากทำก็ทำไป ไม่ได้ห้าม แต่จะไม่อยู่ใน One OKRs) เช่นผมอาจจะตั้ง Key Result ข้อที่สองเป็น “อ่านหนังสือให้ได้ 150 เล่มต่อปี”
Key Result ข้อที่ 3 จะเป็นเรื่องที่จะตอบคำถามว่า เราจะทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้นได้อย่างไร ที่ผมเขียนหนังสือและอ่านหนังสือ สิ่งเหล่านี้จะช่วยคนอื่นได้อย่างไร ผมอาจจะตั้ง Key Result ข้อที่สามไว้ว่า “ได้รับข้อความที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของสิ่งที่ทำอย่างน้อย 30 เรื่องต่อปี” อะไรทำนองนี้
โดยสรุปว่า One OKRs ของผมจะมีหน้าตาแบบนี้ครับ
O: เป็นอาจารย์ที่มีความสุขและมีแรงจูงใจ
KR1: ออกหนังสือที่ติดอันดับ Best Seller จำนวน 4 เล่มต่อปี
KR2: อ่านหนังสือให้ได้ 150 เล่มต่อปี
KR3: ได้รับข้อความที่แสดงให้เห็นถึงประโยชนของสิ่งที่ทำอย่างน้อย 30 เรื่องต่อปี
ปีหนึ่งตั้ง OKRs มาชุดเดียวแบบนี้เลยครับ แล้ว Update กันทุกไตรมาสเป็นอย่างน้อย (แต่แนะนำให้ถี่กว่านั้น เช่น เดือนละครั้ง) ส่วนงานประจำอื่น ๆ ก็ทำไป
วิธีทดสอบว่า One OKRs ได้ผลหรือไม่คือถามตัวเองครับว่า เขียนแล้วอยากทำเลยไหม ถ้ายังไม่อยาก ก็แปลว่ายังไม่ใช่ครับ ค่อย ๆ คิดค่อย ๆ ปรับกันไป
สำหรับผู้บริหาร ถ้าเราเปิดให้พนักงานเลือกทำ OKRs แบบนี้ ผมเชื่อว่าเขาน่าจะสนใจและมีความสุขในการทำ OKRs มากขึ้น แล้วผมเชื่อว่าสิ่งที่เขาเขียนมาก็น่าจะช่วยองค์กรไม่มากก็น้อย คือเรื่องงานประจำเขาต้องทำอยู่แล้ว อันนี้มันเป็นส่วนเพิ่ม เมื่อเป็นส่วนเพิ่ม แล้วเราไม่ได้มีเงินตอบแทนเขา เราจึงควรเปิดอิสระให้เขาได้มากขึ้น
หรือเราอาจจะเปิดเวลาให้ทุกคนได้ทำ One OKRs ที่เขารักแบบกำหนดไปเลยก็ยังได้ เช่น ศุกร์บ่าย ทุกคนมาลุยกับ One OKRs ของตัวเองได้เลยนะ จะไม่มีนัดประชุมหรือทำงานประจำกันในช่วงเวลานั้น อะไรทำนองนี้ หรืออาจจะบอกว่าวันจันทร์ Work From Home ได้เลย เน้นให้ทำ One OKRs กัน
แบบนี้เชื่อว่าแรงจูงใจภายในในการทำ OKRs จะเพิ่มขึ้นแน่นอน และเมื่อแรงจูงใจเพิ่ม ผลงานก็จะดีขึ้น และองค์กรก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นพร้อม ๆ กับพนักงานก็มีความสุขด้วย
ลองดูเป็นไอเดียในการทำ One OKRs กันนะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!