หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า OKRs กันมาบ้างแล้ว สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคย OKRs เป็นเครื่องมือวัดและพัฒนาองค์กร รูปแบบหนึ่ง โดยย่อมาจากคำว่า Objective and Key Results โดยองค์กรจะตั้งวัตถุประสงค์ (Objective) ขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นก็จะต้องมีการสร้างผลลัพธ์หลัก (Key Results) ซึ่งจะเป็นการบอกว่าเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้นมานั้น จะต้องทำอะไรบ้าง โดยผลลัพธ์หลักนี้จะมีการวัดผลที่ชัดเจน
เพื่อจะได้ไม่เสียเวลานานมาก ผมเคยเขียนบทความอธิบายที่มาที่ไปของ OKRs ไว้ที่ Blog นี้แหละครับ ใครอยากทราบรายละเอียดก่อนจะอ่านต่อ ก็เข้าไปที่ Link นี้ได้เลยครับ
http://www.nopadolstory.com/measurement/okrs/
มาต่อกันดีกว่า จริง ๆ แล้ว OKRs นั้น ได้รับความนิยมในองค์กรที่มุ่งแสวงหาผลกำไรก่อน โดย OKRs เริ่มต้นที่บริษัท Intel และหลังจากนั้น Google ก็นำมาใช้ และจากความสำเร็จของ Google จึงทำให้หลายบริษัทก็เริ่มที่จะใช้ตาม
แต่ OKRs ไม่จำเป็นจะต้องใช้สำหรับองค์กรที่มุ่งแสวงหาผลกำไรเท่านั้น องค์กรที่เป็น Nonprofit ก็สามารถใช้ OKRs ได้ ยกตัวอย่างเช่น The Gates Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ Bill Gates มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัท Microsoft ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคม ก็ใช้ OKRs เช่นกัน
ในขณะนี้ ในประเทศไทยก็เริ่มมีการนำมาใช้ในหลาย ๆ องค์กรมากขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ แต่ประเด็นที่ผมอยากนำเสนอในบทความนี้คือผมอยากจะนำเอาแนวคิด OKRs มาใช้สำหรับองค์กรแบบโรงเรียนในประเทศไทยครับ
อย่างที่เราทราบ ๆ กันอยู่ในปัจจุบันว่า ตอนนี้ประเด็นปัญหาในเรื่องการศึกษาในประเทศไทย มีอยู่อย่างมากมาย และหลายภาคส่วนก็พยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาของเราอยู่ และส่วนหนึ่งที่อาจจะช่วยได้คือการสร้างระบบการบริหารโรงเรียนให้ดีขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการเรียนการสอนนักเรียน
ผมเลยมองเห็นจุดนี้ว่า ในโลกธุรกิจ มันมีการพัฒนา Framework ต่าง ๆ ล้ำหน้าไปมาก ถ้าเราลองปรับเอา Framework นั้นมาใช้กับโรงเรียน ก็น่าจะมีส่วนช่วยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว OKRs ก็เป็นหนึ่งใน Framework ที่น่าจะช่วยโรงเรียนได้ไม่น้อย
คำถามคือ เอามาใช้อย่างไร
คำตอบคือ เราจะต้องเริ่มจากผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งจะมีบทบาทสำคัญมาก เพราะท่านเปรียบเสมือนเป็น CEO ของบริษัทนั่นแหละ ในแต่ละไตรมาสผู้อำนวยการโรงเรียนก็จะต้องตั้งวัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลัก (OKRs) ของโรงเรียนขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นคุณครูก็ค่อย ๆ ตั้ง OKRs ของตัวเองตาม เพื่อให้สอดคล้องกับ OKRs ของผู้อำนวยการโรงเรียน เรื่อย ๆ เป็นทอด ๆ ไป (อันนี้แล้วแต่ลำดับขั้นของแต่ละโรงเรียนนะครับ)
ยกตัวอย่างนะครับ เช่น สำหรับผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง OKRs อาจจะเป็นแบบนี้ (อันนี้แค่ตัวอย่างเฉย ๆ นะครับ ไม่จำเป็นต้องตั้งแบบนี้ การตั้งวัตถุประสงค์หลักขึ้นกับแต่ละบริบทของโรงเรียนได้เลยครับ)
วัตถุประสงค์ (Objective) นักเรียนในโรงเรียนต้องอ่านออกเขียนได้
ผลลัพธ์หลัก (Key Results) จำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ลดลงเหลือต่ำกว่า 1% ของนักเรียนทั้งหมดในไตรมาสนี้
เมื่อตรงนี้ชัด คราวนี้คุณครูสอนภาษาไทย ก็อาจจะต้อง OKRs ของตนเอง อย่างนี้
วัตถุประสงค์ (Objective) ทำให้นักเรียนในชั้นเรียนตั้งใจเรียนภาษาไทย
ผลลัพธ์หลัก (Key Results) 1) มีคนขาดเรียนในชั้นเรียนภาษาไทยต่ำกว่า 1% 2) ผลสอบวิชาภาษาไทยเฉลี่ยเกิน 70% 3) ทำการสอนเสริมสำหรับผู้ที่สอบตกอย่างต่ำ 30 นาทีต่อวัน เป็นต้น
ถามว่าแล้ว OKRs ของครู ใครเป็นคนตั้งให้ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ครับ คุณครูนั่นแหละครับ เป็นคนตั้งเอง โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องสอดคล้องกับ OKRs ของผู้อำนวยการที่ประกาศออกมาเท่านั้น
แล้วถ้าทำไม่ได้ล่ะ จะโดนลงโทษไหม
ระบบ OKRs ไม่ได้นำมาเพื่อใช้ในการทำโทษใคร ไม่ได้ใช้มาประเมินแบบเดิม ๆ ด้วยซ้ำ ว่า ถ้าไม่ถึงค่าเป้าหมาย จะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนนะ เพราะฉะนั้นคุณครูสามารถตั้งค่าเป้าหมายได้เองเลยครับ ที่คิดว่ามันท้าทาย ถึงแม้ว่าสิ้นไตรมาส มันไม่ถึงเป้าหมาย ก็มานั่งคุยกัน ตามลำดับขั้น เช่น สมมุติว่ามีหัวหน้าครูด้านภาษาไทย ก็คุยกับครูภาษาไทยว่า เอ ทำไม นักเรียนขาดเรียนเยอะ ทำไมผลสอบภาษาไทยยังไม่ดีขึ้นตามที่ควรจะเป็น อะไรแบบนี้ครับ
จะทำแบบนี้ไปทุก ๆ ไตรมาส อะไรทำสำเร็จแล้ว ไตรมาสต่อไปก็เปลี่ยน OKRs ใหม่ หาอะไรที่มันท้าทายและทำให้มันสำเร็จ
ถ้าเราทำได้แบบนี้จริง ๆ พวกระบบประกันคุณภาพแบบเดิม ๆ ที่เน้นหลักฐานเชิงเอกสารที่อาจจะเป็นยาขมของหลาย ๆ คน อาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปด้วยซ้ำครับ (หรือถ้าจำเป็นต้องทำ มันก็คือ OKRs ที่เราทำกันอยู่นี่แหละครับ)
ผมมีความหวังจริง ๆ นะครับว่าระบบนี้มันจะเข้ามาช่วยทำให้การบริหารโรงเรียนดีขึ้น และถ้ามันสามารถทำได้จริง ไม่ว่าจะกี่โรงเรียนก็ตาม มันจะมีส่วนช่วยทำให้การศึกษาเราดีขึ้นตาม และนั่นคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งหนึ่งของประเทศเลยทีเดียวครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/
No comment yet, add your voice below!