หลายคนอาจจะเริ่มได้ยินคำว่า OKRs มากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะหลัง และอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ คำว่า OKRs ย่อมาจากคำว่า Objective ที่แปลว่าวัตถุประสงค์ และคำว่า Key Results ซึ่งแปลว่าผลลัพธ์หลักครับ
ขอเริ่มจาก Objective ก่อนแล้วกันนะครับ คำนี้แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า วัตถุประสงค์ มันคือจุดมุ่งหมายสำคัญของเราครับ ในการทำ OKRs ในองค์กรนั้น ผู้จัดทำก็จำเป็นต้องสร้าง Objective ของงานของตัวเองให้ชัดเจน
ตรงนี้สำคัญมากนะครับ โดยปกติ ผู้บริหารระดับสูงจะต้องตั้ง วัตถุประสงค์ขององค์กรตัวเองขึ้นมาก่อน ไม่งั้นคนทำงานในแต่ละฝ่ายงานก็ไม่ทราบว่า เขาควรจะต้องวัตถุประสงค์ของฝ่ายงานตัวเองอย่างไร
สมมุตินะครับ ผมเป็น CEO วัตถุประสงค์หลักของผมก็คือ เพิ่มกำไรให้กับบริษัท คราวนี้ พอมาถึง ผู้จัดการฝ่ายตลาด ก็อาจจะต้องวัตถุประสงค์ที่มันสอดคล้องกับ วัตถุประสงค์หลักของ CEO ที่ต้องการเพิ่มกำไร เช่น ตั้งว่าจะต้องเพิ่มรายได้ ส่วนผู้จัดการฝ่ายผลิต ก็อาจจะตั้ง วัตถุประสงค์ว่า ต้องลดค่าใช้จ่าย
คราวนี้ แผนกขาย ซึ่งอยู่ภายใต้ฝ่ายตลาด เมื่อเห็นวัตถุประสงค์ของฝ่ายตลาด ต้องการเพิ่มรายได้ เขาก็อาจจะตั้งวัตถุประสงค์เป็น การเพิ่มจำนวนลูกค้า ในขณะนี้ แผนกสนับสนุนการขาย ก็อาจจะตั้งวัตถุประสงค์เป็น จัดทำ Website เพื่อสนับสนุนการขาย ส่วนแผนกซ่อมบำรุงที่อยู่ภายใต้ฝ่ายผลิต พอเห็นวัตถุประสงค์ฝ่ายผลิตเป็นการลดค่าใช้จ่าย ก็อาจจะตั้งวัตถุประสงค์เป็น การทำให้เครื่องจักรใช้งานได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
จะเห็นว่า วัตถุประสงค์ของแต่ละแผนก ก็จะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของฝ่ายงาน ซึ่งก็จะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ CEO ไปตามลำดับ
ในทางปฏิบัติแล้ว มีข้อแนะนำว่า วัตถุประสงค์ของแต่ละคน ไม่ควรมีเกิน 3-5 ข้อครับ เพราะปกติ OKR จะมีการประเมินรายไตรมาส การตั้งเกิน 5 ข้อ มันจะทำให้เราไม่ Focus และจะทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง
อีกประการหนึ่งคือการตั้งวัตถุประสงค์นั้น ยังไม่ต้องมีตัวเลขใด ๆ นะครับ วัตถุประสงค์จะมีลักษณะเชิงคุณภาพ เช่น เพิ่มกำไร เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย อะไรทำนองนี้
ข้อควรระวังอีกประการคือ พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งวัตถุประสงค์ในสิ่งที่เราต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น ปิดบัญชี ดำเนินการผลิต แต่ควรตั้ง วัตถุประสงค์ที่จะทำให้เราได้ผลลัพธ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น สามารถสามารถสร้างข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น หรือลดของเสียในการผลิตลง
คำต่อไปคือคำว่า Key Results ครับ Key Results คือการวัดว่าเมื่อไรถึงเรียกว่าเราบรรลุ วัตถุประสงค์ หรือ Objective ที่เราตั้งไว้แล้ว
เช่น สมมุติว่า วัตถุประสงค์ของ CEO คือการเพิ่มกำไร Key Results ก็อาจจะวัดจาก กำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 10% หรือวัตถุประสงค์ของฝ่ายตลาดคือ ต้องการเพิ่มรายได้ Key Results ก็อาจจะเป็น อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ อย่างต่ำ 20% อะไรทำนองนี้
สรุปง่าย ๆ ว่า วัตถุประสงค์คือสิ่งที่เราอยากสำเร็จ ส่วน Key Results ก็คือวิธีการวัดสิ่งนั้น วัตถุประสงค์จะเป็นอะไรที่ไม่ใช่ตัวเลข แต่ Key Results จะเป็นตัวเลขครับ
อีกอย่างครับ วัตถุประสงค์ 1 ข้อ ส่วนใหญ่จะแนะนำให้มี Key Results ไม่เกิน 4-5 ข้อครับ (คือตัววัดอย่าให้มากเกิน 4-5 ตัววัดต่อวัตถุประสงค์ 1 ข้อ นั่นเอง)
Key results อาจจะเป็นการวัดผลลัพธ์หรือการวัด Milestone ก็ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้า วัตถุประสงค์คือ จัดทำ Website เพื่อสนับสนุนการขาย Key Results อาจจะเป็น สามารถจัดทำให้ Website เสร็จสิ้น 100% ในเดือนตุลาคม (Milestone) หรือ มีคนเข้า Website อย่างน้อย 1,000 รายต่อวัน (ผลลัพธ์)
Key results เป็นผลลัพธ์ แต่ไม่ใช่กิจกรรมนะครับ ดังนั้น ถ้าเราเริ่มใช้คำว่า วิเคราะห์ ช่วยเหลือ เข้าร่วม ส่วนใหญ่แล้ว เราจะพูดถึงกิจกรรมมากกว่าผลลัพธ์ครับ ให้ลองถามต่อว่า วิเคราะห์ไปเพื่ออะไร ช่วยเหลือให้เกิดอะไร หรือ เข้าร่วมไปทำไม
มาดูตัวอย่างของ OKRs กันดีกว่าครับ เริ่มจาก OKRs ของ CEO ก่อนเลยนะครับ เริ่มต้น CEO อาจตั้ง OKRs ของตัวเองดังต่อไปนี้
Objective: เพิ่มกำไร
Key Results: กำไรมากกว่า 10%
คราวนี้ เมื่อฝ่ายตลาดจะสร้าง OKRs ขึ้นมา เขาก็ต้องดูว่า เอ CEO ต้องการเพิ่มกำไร ในฐานะของฝ่ายตลาด เราทำอะไรได้บ้าง ดังนั้น OKRs ของฝ่ายตลาดอาจจะเป็น
Objective: เพิ่มรายได้
Key Results: รายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20%
พอผู้จัดการฝ่ายตลาดสร้าง OKRs ของฝ่ายตลาดมาแล้ว แผนกขายก็เห็นโจทย์แล้วว่า ฝ่ายเราจะต้องเพิ่มรายได้ เขาก็ต้องคิดว่า เอ แล้วตัวเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง ดังนั้น OKRs ของแผนกขายอาจจะเป็นดังต่อไปนี้
Objective: เพิ่มจำนวนลูกค้า
Key Results: จำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 30%
ในขณะที่อีกแผนกที่อยู่ภายใต้ฝ่ายตลาด คือแผนกสนับสนุนการขาย ก็ต้องตั้ง OKRs เพื่อสนับสนุนฝ่ายตลาด ดังนี้
Objective: จัดทำ Website เพื่อสนับสนุนการขาย
Key Results: จำนวนผู้เข้าชม Website ไม่น้อยกว่า 1,000 รายต่อวัน
ประมาณนี้นะครับ (คือตัววัดอาจจะเป็นอื่น ๆ ก็ได้ แต่ผมอยากนำมาเพื่อแสดงให้เห็นรูปแบบเท่านั้นครับ) สำหรับแผนกอื่น ๆ ก็ทำตามแบบนี้ให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันไปครับ
หวังว่าบทความนี้น่าจะสร้างความเข้าใจในเรื่อง OKRs ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/
2 Comments
อยากส่งตัวอย่างOKRs ที่ผมลองเขียนจากKPI ของแผนกให้อาจารย์ช่วยแนะนำเพิ่มเติม
สามารถส่งผ่านช่องทางไหนได้บ้างครับ
เข้าร่วมกลุ่ม Line@ อันนี้แล้ว ส่งมาผ่าน Line ได้ครับ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho