ต้องขอเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปก่อนครับว่า หลังจากที่ผมได้ศึกษาเรื่อง OKRs และได้รับเชิญบรรยายหัวข้อนี้ให้กับหลากหลายองค์กร ก็จะได้รับการติดต่อว่าอยากให้อาจารย์มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำ OKRs ให้กับบริษัท ซึ่ง ณ เวลานั้น ด้วยภารกิจที่มีก็ได้ปฏิเสธไปทุกที่เลยครับ เพราะผมทราบดีว่าการให้คำปรึกษานั้นเป็นงานที่หนักมาก ต้องใช้เวลาอย่างมาก เพราะลักษณะของแต่ละองค์กรก็มีความแตกต่างกัน และจะให้ผมส่งคนอื่นไปช่วยทำให้ ก็ไม่อยากทำ เพราะก็ไม่แน่ใจว่าคนที่เราส่งไป เขาจะทำได้ดีหรือไม่ดีอย่างไร
แต่พอเวลาผ่านไป เมื่อผมได้มาทำวิจัยและต้องไปเก็บข้อมูลงานวิจัย ผมก็ได้ติดต่อกลับไปยังองค์กรที่ผมเคยได้รับเชิญบรรยาย เพื่อขอไปสัมภาษณ์ผู้บริหาร แต่มีหลายแห่งเลยที่ได้บอกกับผมว่าตอนนี้องค์กรไม่ได้ใช้ OKRs แล้ว ซึ่งพอผมถามว่าทำไม คำตอบที่มักจะได้ก็คือ เริ่มแล้ว ก็ไม่รู้ว่าทำถูกหรือผิด เลยไม่ค่อยแน่ใจ และทำไปทำมา ก็เลยเลิกทำไป
ส่วนตัวต้องบอกว่ารู้สึกเสียดาย เพราะผมทราบดีว่า OKRs นั้น ถ้าเราทำถูกวิธีมันจะช่วยองค์กรได้มหาศาล นั่งคิดอยู่สักพักว่าจะทำอย่างไรดี ที่จะมีส่วนช่วยให้องค์กรสามารถใช้ OKRs ได้สำเร็จ จนกระทั่งมาตกผลึกได้ ซึ่งเป็นที่มาของโครงการให้คำปรึกษาการใช้ OKRs ของผม
คือผมเชื่อว่าการให้คำปรึกษาถึงแม้ว่าจะมีส่วนช่วยให้องค์กรเริ่มทำ OKRs ได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าองค์กรไม่มีคนเรียนรู้เรื่องนี้ พอผมออกจากองค์กรไป ก็มีโอกาสที่องค์กรอาจจะเริ่มสับสนอีก หรือใช้ไม่เป็นอีก และอาจจะล้มเลิกได้อีกเช่นกัน วิธีที่จะยั่งยืนกว่าคือองค์กรควรจะต้องมีคนที่มีความรู้เรื่อง OKRs ดีมากพอที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการใช้ OKRs ได้ต่อไปหลังจากที่ผมไม่ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรนั้นแล้ว
โครงการ OKRs Consulting Project จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นโครงการภายใต้ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี โดยโครงการนี้ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ จะมีการพูดคุยกันก่อนเพื่อความเข้าใจถึงแนวคิดและขอบเขตโครงการ เพราะสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นคือถ้าบริษัทมีความตั้งใจเอา OKRs ไปใช้อย่างหนึ่ง แต่มันขัดกับหลักการ OKRs ที่ผมใช้ แบบนี้มันจะไม่ดีกับองค์กร และอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อไป
ยกตัวอย่างเช่น มีหลายองค์กรที่ติดต่อเข้ามาบอกสนใจอยากเข้าร่วมโครงการนี้ แต่พอได้นัดพูดคุยกัน ทำให้ผมทราบว่าเขาอยากเอา OKRs ไปใช้ในการประเมินพนักงานเพื่อจัดสรรผลตอบแทน ซึ่งผมก็ได้ชี้แจงว่า OKRs ในรูปแบบที่ผมจะทำ ผมไม่ได้ทำแบบนั้น ถ้าองค์กรต้องการเครื่องมือประเมินผลพนักงาน โครงการนี้อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่องค์กรจะได้เข้าใจก่อน ไม่ใช่พอเข้ามาแล้วจะรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้ตามที่คิดว่าอยากจะได้อะไรทำนองนี้
หลังจากพูดคุยกันชัดเจนเรียบร้อย และเห็นตรงกันว่าแนวทางที่ผมจะให้คำปรึกษาเป็นแนวทางที่องค์กรอยากได้ ผมก็จะให้องค์กรส่งชื่อ OKRs Champions มาจำนวนไม่เกิน 3 คนต่อองค์กร และ OKRs Champions นี่แหละครับ ที่จะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและขับเคลื่อนการใช้ OKRs ในองค์กรของเขาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สิ้นสุดโครงการนี้แล้ว องค์กรก็ยังสามารถใช้ OKRs ต่อไปได้อย่างไม่สะดุด เพราะมี OKRs Champions ที่เปรียบเสมือนผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้อยู่กับองค์กรตลอด
โครงการนี้ผมจะรับให้คำปรึกษาในแต่ละรุ่นพร้อม ๆ กันครั้งละไม่เกิน 6 องค์กร ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มากจนเกินไปจนดูแลไม่ทั่วถึง ในขณะเดียวกันที่ไม่น้อยจนเกินไปที่จะสามารถทำให้องค์กรสามารถใช้ OKRs ได้สำเร็จ โดยจะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน ในทุก ๆ เดือนผมจะนัดพบกับ OKRs Champions ของแต่ละองค์กรเดือนละ 1 ครั้ง โดยจะมีทั้งการบรรยายหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ OKRs การฝึกทำ Workshop และนอกจากนี้ก็ยังมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษา OKRs กับองค์กรต่าง ๆ หรือ เป็นผู้บริหารในองค์กรที่ผมเห็นว่าได้ใช้ OKRs ประสบความสำเร็จมาเล่าเรื่องราวการนำเอา OKRs ไปใช้ให้กับ OKRs Champions ของทั้ง 6 บริษัทนี้ฟัง
นอกจากการรับฟังความรู้เกี่ยวกับ OKRs แล้ว ในระหว่างโครงการ OKRs Champions ก็จะเริ่มขับเคลื่อน OKRs สำหรับองค์กรตนเอง ดังนั้นในแต่ละครั้ง OKRs Champions สามารถมารับคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ OKRs ในองค์กรของตัวเองได้ทุกเดือนได้เช่นเดียวกัน ถ้าหากเป็นคำถามทั่วไป ก็สามารถสอบถามได้เลยใน Session การบรรยาย ซึ่งนอกจากผมจะเป็นคนตอบแล้ว อาจจะมี OKRs Champions ขององค์กรอื่น ๆ มาช่วยแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เรื่องดังกล่าวได้อีกด้วย
เมื่อองค์กรเริ่มใช้ OKRs มาสักระยะหนึ่ง ผมจะทำการเก็บข้อมูลจากพนักงานในองค์กรนั้น เพื่อทำการวิเคราะห์ว่าการใช้ OKRs ในแต่ละองค์กรมีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไรบ้าง เพื่อที่องค์กรจะได้นำไปปรับปรุง และก่อนที่จะสิ้นสุดโครงการนี้ ก็จะทำการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์อีกครั้งว่าแต่ละปัจจัยที่เคยวิเคราะห์ไปนั้น องค์กรทำได้ดีหรือไม่ดีเพียงใด เพื่อจะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาการใช้ OKRs ให้สำเร็จได้ต่อไปในอนาคต
โครงการนี้เป็นโครงการที่ดำเนินการในรูปแบบ Online 100% เนื่องจากหากไม่ได้เป็น Online แล้ว การที่จะนัดพบ OKRs Champions พร้อม ๆ กัน 6 องค์กรคงเป็นไปได้ยากมาก เพราะจะต้องมีการเดินทาง องค์กรที่เข้าร่วมโครงการนี้มาจากทั่วประเทศ ดังนั้นการทำในรูปแบบ Online จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และน่าจะสะดวกที่สุดสำหรับทุกคน
นอกจากการนัดพบ OKRs Champions เพื่อถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแล้ว ผมยังจะเข้าไปบรรยายเรื่อง OKRs ให้กับองค์กรแต่ละองค์กร อันนี้จะเป็นกิจกรรมแยก โดยจะเป็นรูปแบบ Online เช่นเดียวกัน และในช่วงเวลาในโครงการนี้ องค์กรสามารถติดต่อเพื่อขอให้ผมให้คำปรึกษาได้ 2 ครั้ง (อันนี้แยกจากการให้คำปรึกษาที่ทำทุกเดือนกับ OKRs Champions นะครับ) โดยบางองค์กรอาจจะอยากให้ผมไปให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ OKRs ที่เขาสร้างขึ้นมา หรือบางองค์กรอยากให้ผมไปตอบคำถามผู้บริหารหรือพนักงานเกี่ยวกับ OKRs เป็นต้น
สุดท้ายแต่ละองค์กรสามารถที่จะใช้ OKRs Software ที่ผมสร้างขึ้น ชื่อ ZeeZcore อันนี้ไม่ได้เป็นข้อบังคับนะครับ เป็นเพียงทางเลือก หากองค์กรมี Software หรือระบบอื่น ๆ อยู่แล้วก็สามารถใช้ได้เลยครับ แต่ถ้าอยากใช้ OKRs Software โดยเฉพาะ ผมก็คิดว่าจะช่วยทำให้การใช้ OKRs ทำได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกันครับ
ที่ผ่านมาก็มีองค์กรหลายสิบองค์กรที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว มีทั้งบริษัญใหญ่มาก ๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทใหญ่ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ก็มี Startup SMEs ก็มีหลากหลายไป เท่าที่ได้รับ Feedback กลับมาคือทุกองค์กรที่เข้าร่วมโครงการนี้ก็มีความพึงพอใจและเท่าที่ผมทราบทุกองค์กรก็สามารถใช้ OKRs ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว มีความสนใจ ลองติดต่อมาได้ทาง Inbox Page Nopadol’s Story เพื่อขอรายละเอียดได้นะครับ ผมจะมีการเปิดรับเป็นรุ่น ๆ แต่ไม่ได้เปิดตลอดเวลา แต่ลองติดต่อเข้ามาพูดคุยกันก่อนได้ครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!