ผมว่าอันนี้เป็นอีกอันที่ผมอยากจะนำเสนอให้ผู้ที่จะใช้ OKRs ลองพิจารณากันดูครับ ผมว่าหลายองค์กรเลยที่เริ่มใช้ OKRs โดยคาดหวังว่าอยากทำให้พนักงานทำกำไรให้กับองค์กรมากขึ้น อยากทำให้พนักงานได้ทำงานตาม Job Description ของตัวเองให้ดีขึ้น
ถามว่าความคิดแบบนี้ผิดไหม คำตอบคือก็คงไม่ผิดหรอกครับ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าเรามีเครื่องมือแบบนี้อยู่แล้ว นั่นคือ KPIs ที่จะมาคอยกำกับควบคุมการทำงานของพนักงานแต่ละฝ่าย เพื่อที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายที่องค์กรต้องการ ผมว่าถ้าเราเอา OKRs มาใช้แบบนี้ มันก็คงไม่ได้ประโยชน์สักเท่าไร เพราะว่ามันก็จะไปทับซ้อนกับสิ่งที่องค์กรใช้อยู่เดิมอยู่แล้ว
ยิ่งเอามาใช้ในประเมินว่าพนักงานคนไหนทำงานได้ดีหรือไม่ดียังไง อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะนอกจาก OKRs ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อสิ่งนี้แล้ว การนำเอาไปประเมินเพื่อวัดว่าใครเก่งกว่าใคร ยิ่งไม่ยุติธรรม เนื่องจาก OKRs ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ความท้าทายของเป้าหมายของแต่ละคนก็แตกต่างกัน
บางองค์กรก็พยายามเอา OKRs มาใช้ในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ เอาจริง ๆ มันก็ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อสิ่งนี้นะครับ อยากขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้วยการวัดผลก็ทำได้ครับ เราจะมีตัววัดกลยุทธ์ก็วัดกันไปตรงนั้นไม่ได้ห้าม OKRs จริง ๆ แล้วควรนำมาใช้เพื่อผลักดันสิ่งที่เป็น Priorities มากกว่า ใช่ครับ Priorities มันก็ต้องเกี่ยวกับกลยุทธ์นั่นแหละ แต่มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับกลยุทธ์ทุกข้อ ทุกเรื่อง
เขียนมาแบบนี้ สรุปแล้วเราควรเอา OKRs มาทำอะไร สำหรับผมแล้ว OKRs ควรถูกใช้ในการทำให้คนอยากทำงานมากขึ้นครับ แต่ก่อนอื่นเรามาเรียนรู้รูปแบบการตั้งเป้าหมายกันก่อนครับ
การตั้งเป้าหมายแบ่งเป็น 2 แบบคือ Performance Goal กับ Learning Goal ในส่วนของ Performance Goal นั้น มันคือการตั้งเป้าหมายเพื่อที่จะวัดว่าสิ่งที่เราทำนั้นบรรลุความสำเร็จไหม เช่น การตั้งเป้าหมายยอดขายว่าจะต้องได้เท่านั้นเท่านี้ ถ้าทำได้ก็แปลว่าเราเก่ง Performance เราดี
ส่วน Learning Goal ตามชื่อก็คือเราตั้งเป้าหมายเพื่อที่จะทำให้เราพัฒนาไปข้างหน้า เราวัดความสำเร็จจากการที่เราได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เก่งขึ้น เช่น แทนที่เราจะตั้งเป้าหมายยอดขาย ซึ่งมีลักษณะของ Performance Goal เราอาจจะตั้งเป้าหมายที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการขายอะไรทำนองนี้ อันนี้แหละครับที่เป็น Learning Goal
สำหรับผม OKRs เหมาะที่จะใช้เป็น Learning Goal มากกว่า Performance Goal จุดมุ่งหมายคือการให้พนักงานได้เลือกตั้งเป้าหมายในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายนั้นถึงจะสำเร็จ แต่วัตถุประสงค์จะอยู่ที่การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นทุก ๆ วัน
ผมขอยกตัวอย่างของผมก็ได้ ถ้าจะวัด Performance ผม การตั้งเป้าหมายของผม (ซึ่งอาจจะเป็นมหาวิทยาลัยตั้งมาให้ก็ได้) เช่น ผมมีผลงานตีพิมพ์อย่างน้อย 1 ชิ้นต่อปี ถ้าทำได้ ได้คะแนนดี ทำไม่ได้ อาจจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือน อะไรแบบนี้ แต่ถ้าผมจะปรับเป็น OKRs ที่ผมเลือกเอง เพราะผมชอบ และอยากพัฒนา ก็อาจจะเป็นลักษณะเช่น การตั้งวัตถุประสงค์เป็น “เป็นนักวิจัยที่ยอดเยี่ยม” ส่วนผลลัพธ์หลักอาจจะเป็น “มีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ใน International Journal ในระดับ Quartile ที่ 1 อย่างน้อย 4 ชิ้นต่อปี”
ดูแบบนี้เผิน ๆ มันจะเหมือนกับว่า OKRs คือการตั้งเป้าหมายที่ยากขึ้นแค่นั้น นอกนั้นก็เหมือนกันนั่นแหละ แต่หลักไม่ได้อยู่ตรงนั้นครับ ใช่ครับ OKRs อาจจะเหมือนเป็นการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย แต่เป้าหมายนี้อย่างแรกคือมันเป็นเป้าหมายที่ผมตั้งเอง เพราะผมอยากทำ และที่ตั้งมานั้นวัตถุประสงค์หลักคือเป้าหมายนี้จะทำให้ผมอยากพัฒนาฝีมือตัวเองให้ดีขึ้น
ผมอาจจะต้องไปเรียนรู้ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลแบบใหม่ วิธีการเขียนบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ หรือเทคนิคอื่น ๆ ที่ทำให้ผมเก่งขึ้นจนกระทั่งสามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยของผมในวารสารระดับโลกได้ และถึงแม้ว่าผมอาจจะยังทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่เขียนไว้ใน OKRs ก็ไม่ได้แปลว่าผมล้มเหลวนะครับ ตราบใดที่ผมดีขึ้น เก่งขึ้น มันคือความสำเร็จแล้ว
การตั้งเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ (Learning Goal) มันจะลดความกดดันลง มันไม่จำเป็นต้องทำให้ได้ผลลัพธ์ตามที่กำหนดเดี๋ยวนี้ ตอนนี้ แต่มันเป็นการตั้งเป้าหมายให้เราได้พัฒนาตัวเราเอง ดังนั้นการที่เราเห็น OKRs ที่เขาเน้นว่าควรตั้งเป้าหมายที่ท้าทายก็เพราะเหตุนี้แหละครับ เพราะถ้าไปตั้งเป้าหมายในสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้ว เราจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น จริงไหมครับ
แต่ท่านไม่ต้องกลัวหรอกนะครับว่า เอาแต่เรียนรู้อย่างเดียว แล้วองค์กรจะสำเร็จเหรอ โดยปกติคนที่ชอบเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ก็จะเป็นคนที่มี Performance ดีอยู่แล้วครับ ถึงแม้ว่า OKRs ในทางตรงเน้นเรื่องการเรียนรู้เป็นหลัก แต่สุดท้ายองค์กรที่เต็มไปด้วยคนที่อยากเรียนรู้และพัฒนา ก็จะเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จได้ในที่สุดนั่นแหละครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!