OKRs vs KPIs การรักษาโรคกับการตรวจร่างกาย

คำถามที่มีมาตั้งแต่คนเริ่มรู้จักคำว่า OKRs คือระบบนี้มันต่างอย่างไรกับ KPIs

เกริ่นให้ฟังก่อนครับว่า OKRs เป็นตัวย่อที่มาจากคำว่า Objectives and Key Results ส่วน KPIs เป็นตัวย่อที่มาจากคำว่า Key Performance Indicators

ระบบที่คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักคือ KPIs ที่ “ส่วนใหญ่” มักจะใช้นำมาวัดผลการปฏิบัติงานของฝ่ายงานหรือของแต่ละบุคคล เพื่อจะดูว่าทำงานได้สำเร็จหรือไม่

และหลาย ๆ แห่งก็มักจะเชื่อมโยงกับการประเมินผลเพื่อขึ้นเงินเดือนหรือให้โบนัสกับพนักงาน

ส่วน OKRs เป็นระบบที่ Google ได้เอามาใช้ โดย Objective คือวัตถุประสงค์ที่ต้องการทำให้สำเร็จ ส่วน Key Results ก็คือผลลัพธ์หลักที่จะเป็นตัววัดที่จะบอกว่าจะทราบได้อย่างไรว่าเราบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ถ้ามองเผิน ๆ แค่นี้ ก็ดูเหมือนกับว่าทั้ง OKRs และ KPIs มันก็วัดผลเหมือนกัน อาจจะเรียกต่างกันเท่านั้น

แต่มีหลายอย่างที่ OKRs ไม่เหมือนกับ KPIs ครับ และสิ่งที่จะนำมาเล่าให้ฟังในบทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงจุดแตกต่างเพียงจุดเดียวก่อนคือเรื่องของ “Focus”

OKRs นั้นไม่ใช่ระบบที่จะมาวัดว่าฝ่ายงานนี้ทำงานได้สมบูรณ์ ครบถ้วน ดีเยี่ยมแค่ไหน ซึ่งจะแตกต่างจาก KPIs ที่จะมีการวัดที่ครอบคลุมในทุกเรื่องที่ทำมากกว่า

เหตุผลหลักที่ OKRs ไม่ได้นำมาวัดทุกเรื่องก็เพราะหัวใจของ OKRs คือการ Focus นี่แหละครับ

ถ้าจะให้เปรียบเทียบ ผมอยากจะเปรียบเทียบเหมือนกับการตรวจร่างกาย และการรักษาโรค

คนที่มีอายุพอสมควรส่วนใหญ่ก็มักจะไปตรวจร่างกาย เพื่อจะทำให้เห็นว่าร่างกายเรา “แข็งแรง” หรือไม่

ดังนั้นการตรวจจึง “ครอบคลุม” ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำตาล ระดับไขมันในเลือด การทำงานของปอด การทำงานของหัวใจ ฯลฯ

อันนี้แหละครับที่เป็นเหมือนกับ KPIs ในเรื่องสุขภาพของเรา

คราวนี้ถ้าสมมุติว่า คุณหมอพบว่า ค่าทำงานของตับผิดปกติไป

สิ่งที่คุณหมอจะทำคือ พยายามจะรักษาเฉพาะเจาะจงไปในเรื่องนี้ ดังนั้นก็อาจจะมีการตรวจเพิ่มในรายละเอียด ในเรื่องตับโดยเฉพาะ มีการให้ยาเพื่อการรักษา และมีการนัดกลับมาตรวจอีกครั้ง

อันนี้แหละครับคือ OKRs คือมันเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่เราควร Focus และรีบจัดการให้เร็วที่สุด

แต่สมมุติว่าสัก 3 เดือน ค่าตับกลับมาปกติแล้ว คุณหมอก็เลิกนัด OKRs เรื่องการรักษาตับก็หมดไป แต่สมมุติอีกนะครับว่า เราเกิดตัวร้อนเป็นไข้ ก็ต้องกลับมาหาหมออีก และหมอก็ตรวจแล้วพบว่าเป็นไข้หวัด ก็จะต้องรักษาเรื่องนี้อีก นี่คือ OKRs ในรอบถัดไปที่จะรักษาโรคหวัด ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับ OKRs ในรอบที่แล้ว ที่เน้นเรื่องการรักษาตับ

ส่วนการตรวจร่างกาย (KPIs) เราก็ยังทำเป็นปกติต่อไปครับ ไม่ได้แปลว่าทำ OKRs ได้แล้ว KPIs ไม่จำเป็น คือรักษาตับ หรือ ไข้หวัดหายแล้ว ไม่ได้การันตีว่าร่างกายเราแข็งแรงตลอดไป

ถ้ามองความสัมพันธ์แบบนี้แล้ว สำหรับองค์กร การเลือก OKRs มาจัดการ บางทีมันก็เริ่มจากการตรวจร่างกายองค์กรในภาพรวม จาก KPIs นี่แหละครับ

ถ้าสมมุติว่าตรวจพบว่า ตอนนี้รายได้หายไปมากแบบผิดปกติ ก็อาจจะหยิบยกเรื่องนี้มาตั้งเป็น OKRs ให้แต่ละฝ่ายช่วยกันคิดช่วยกันแก้ เมื่อรายได้กลับคืนมาแล้ว OKRs เรื่องนี้ก็อาจจะหายไป ต่อมาปัญหาอาจจะอยู่ที่ว่า ต้นทุนสูงขึ้นมากเกินไป OKRs ในรอบถัดไปก็อาจจะเป็นเรื่องนี้ก็ได้

ดังนั้นคนที่มีคำถามที่ว่า “OKRs ไม่ควรมีจำนวนมาก แต่งานผมมีตั้งหลายงาน ผมจะตั้งให้มันครบทุกงานได้อย่างไร” จึงน่าจะได้คำตอบนะครับ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *